นักเรียนเลว: เราสูญเสียวัยเด็กไปกับการถูกรัฐคุกคาม

เวลาอยู่ข้างเรา? EP.3

“เราสูญเสียวัยเด็กไปกับการถูกรัฐคุกคาม”

อันนา อันนานนท์ – นักเรียนเลว

“นักเรียน” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องทางการเมืองในช่วงม็อบราษฎรที่ผ่านมา เสียงลุกฮือของเยาวชนเริ่มจุดติดตามรั้วสถานศึกษา ก่อนจะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยที่ข้อเรียกร้องของพวกเขาเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาที่ดูเล็ก แต่สะท้อนถึงรากปัญหาใหญ่ นั่นคือ “ระบอบอำนาจนิยม” ในสังคมจำลองที่เรียกว่า “โรงเรียน” เสียงของวัยเยาว์ร่วมตั้งคำถามว่า “หากสถานศึกษาไม่อาจมองให้ผู้ใหญ่และเด็กเท่าเทียมกันได้ ประชาธิปไตยในสังคมจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

ผลผลิตที่ผิดพลาด ในระบบการศึกษาที่แสนดี…นี่เป็นนิยามแทนตัวเองของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่สะท้อนระบบการศึกษาไทยที่ไม่เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย และถนัดแต่การคัดเกรดเพื่อเฟ้นหาความเป็นเลิศ พวกเขาตระหนักดีว่า หากไม่เริ่มลงมือแก้ไขและเรียกร้องเสียแต่ตอนนี้ เด็กไทยจะสูญเสียช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ และอนาคตของชาติจะไปต่ออย่างไร หากผู้ใหญ่ในสังคมยังไม่รู้จักรับฟัง

จริงหรือไม่ ที่วันเวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เสมอ ในเมื่อเหล่า ‘เยาว์วัย’ นั้นห่างไกลจาก ‘วัยเยาว์’ ขึ้นทุกวัน

The Active ชวนผู้อ่านทำความรู้จักหน้าตาของ ‘กาลเวลา’ และตั้งคำถามถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ยังคงเป็นพยานในทุกการต่อสู้ถึงสังคมใหม่ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และซัดทอดจนมาถึง 16 ตุลาคม 2563 ผ่านบทสัมภาษณ์ของ อันนา อันนานนท์ – นักเรียนเลว

ที่มาของภาพ: ไข่แมวชีส

เห็นด้วยกับคำว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” มากน้อยแค่ไหน?

ส่วนตัวแล้ว เราเชื่อว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ถ้าเราไม่ทำงานแข่งกับเวลา ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป เราก็จะตามไม่ทันประเด็นในสังคมที่มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน เรื่องความไม่สมเหตุสมผลของกฎระเบียบ มันไม่ใช่เรื่องที่ จู่ ๆ เรานอนแล้วตื่นมาจะเข้าใจได้ทันทีเลย ฉะนั้น ในฐานะนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องทำงานกับความคิดคน ทำความเข้าใจความคิดคนตลอด จนกว่าที่สังคมส่วนใหญ่จะคล้อยตามไปกับข้อเรียกร้องของเรา หรือแม้กระทั่ง วันนั้นมาถึงแล้ว วันที่คนส่วนมากเห็นด้วยกับเราแล้ว เราก็ยังคงมีหน้าที่จับตาประเด็นทางสิทธิเด็กต่อไป เพื่อไม่ให้มันเกิดซ้ำขึ้นอีก

ในฐานะนักเคลื่อนไหว เราสูญเสียอะไรไปบ้าง?

สำหรับนักเคลื่อนไหวเยาวชน สิ่งที่เราคิดว่าเราสูญเสียไประดับหนึ่งคือ “วัยเด็ก” เราสูญเสียวัยเด็กไปให้กับการถูกรัฐคุกคามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ หรือในเชิงโครงสร้างเองก็ตาม ทุกคนที่เป็นเด็กเองก็อาจจะถูกคุกคามอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อย่างเช่น การที่เยาวชนนักเคลื่อนไหวโดนเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม ทั้ง ๆ ที่กำลังเที่ยวกับเพื่อน ๆ

เราโดนห้ามเข้างานวันเด็ก ทั้ง ๆ ที่เราเองก็เป็นเด็ก

อันนา อันนานนท์

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราสูญเสียไปคือ ความปลอดภัยในชีวิต อย่างเช่น เวลาไปเรียนหนังสือแล้วโดนเจ้าหน้าที่ตามสะกดรอย หรือคนที่บ้านเองก็พลอยโดนตามเหมือนกัน ในช่วงแรก ๆ เราก็รู้สึกไม่ปลอดภัยมาก ทั้ง ๆ ที่เราเรียกร้องตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนพึงมี แม้จะในฐานะเยาวชน ก็ควรจะยิ่งสามารถทำได้ในพื้นที่ปลอดภัยอย่างโรงเรียน อีกอย่างคือ รัฐได้พรากสุขภาพของเราไปสิ้นเชิง เพราะหลังจากที่เราโดนคุกคาม เราก็มีอาการไมเกรนหนักมาก อย่างที่ทุกคนได้เห็นเราไปเทยาแก้ไมเกรนที่หน้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ นั่นคือความสูญเสียที่เป็นรูปธรรมที่สุด เราเสียดายที่สุดแล้ว เพราะสุขภาพเป็นสิ่งที่เราเอากลับคืนไม่ได้

พึงพอใจกับการศึกษาไทย ที่เราเรียกร้องมาตลอดมากแค่ไหน?

น้อยมากค่ะ ที่ผ่านมาเราเสนอข้อเรียกร้องง่าย ๆ อย่างการแก้ไขทรงผม การขอไม่ให้ครูละเมิดสิทธินักเรียน จนถึงการปฏิรูปการศึกษา เราบอกเลยว่า เราไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เรื่องปฏิรูปการศึกษามันพูดกันมากี่สิบปีแล้วก็ไม่รู้ เรารู้ทั้งรู้ว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหา มีเด็กตกหล่นออกจากห้องเรียน หลักสูตรก็ล้าหลัง แถมโลกสมัยใหม่ยังมีความท้าทายของเทคโนโลยีอีก แต่เรายังติดอยู่กับการเรียนแบบท่องจำ เราเห็นปัญหานี้มาตลอด เรียกร้องมาตลอด แต่มันก็ยังไม่สำเร็จเสียที จะเปลี่ยนรัฐมนตรีกี่คนก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย

อย่าลืมนะคะว่า ยิ่งเราแก้ไขปัญหาการศึกษาช้ามากแค่ไหน นั่นหมายถึงโอกาสที่นักเรียนจะได้พัฒนาตัวเองก็ยิ่งมีน้อยลงไปด้วย เรื่องการศึกษามันไม่ใช่ว่า ทำวันเดียวแล้วเสร็จ มันเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา บอกเลยว่าถึงเราจะแก้ตั้งแต่วันนี้ เราก็ต้องอาศัยเวลารอให้ระบบทำงานต่อไปอีก ระหว่างนี้เราก็ต้องจับตาดูอีกว่ามีปัญหาแทรกซ้อนอะไรไหม แต่อย่างที่บอกไปว่า แม้แต่จะเริ่มแก้ไขให้มันดีขึ้น ยังไม่มีรัฐบาลไหนเริ่มปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเลย

แล้วทศวรรษที่สาบสูญส่งผลต่อระบบการศึกษาอย่างไรบ้าง?

น่าเศร้าที่การศึกษาไทยสูญเสียเด็กในระบบ ไปจากการต่อสู้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ต่อสู้ให้ตัวเองได้มีสิทธิเรียนต่อ เด็กที่หล่นไปจากห้องเรียนในช่วงโควิดที่ผ่านมา เด็กที่ถูกครูทำร้ายจิตใจ ถูกคุกคามทางเพศ แม้กระทั่งเด็กที่อยากจะเรียนให้เก่งขึ้นแต่กลับถูกระบบการศึกษาคัดแต่เด็กเรียนดี และหลงลืมเด็กที่เขามีความพยายามเหล่านี้ จนมาถึงเรื่องของหยกที่ถูกโรงเรียนและผู้อำนาจพยายามผลักไสให้ออกจากรั้วโรงเรียน

ไม่ต้องเป็นหยกก็ได้ เราลองถอดชื่อหยก แล้วเหลือแค่ภาพของนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่ควรถูกปฏิบัติแบบที่หยกโดน

อันนา อันนานนท์
No photo description available.
ที่มาของภาพ: ไข่แมวชีส

ถ้าเด็กตกหล่นจากห้องเรียน รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีความจำเป็นต้องเป็นเสมือนผู้ปกครอง ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กที่มีเงื่อนไขเดียวกับหยกได้เรียนต่อได้ ตั้งโต๊ะเจรจาพูดคุยกัน โดยให้เด็กมีส่วนร่วม แต่ทุกวันนี้ เราเห็นได้ว่าการศึกษาผลิตคนออกมาเป็นรูปแบบเดียวกัน ใครที่กล้าตั้งคำถามต่อความผิดปกติ ก็จะถูกผลักออกมาจากระบบ เหมือนกรณีน้องหยก

การที่เด็กคนหนึ่งถูกรัฐคุกคาม มันไม่ใช่เรื่องว่าเด็กเลวออกมาต่อต้านผู้ใหญ่ ทำตัวผิดไปจากขนบอันดีงาม แต่เด็กทุกคนถูกรัฐคุกคามมาแต่ต้น ทั้งในเชิงโครงสร้างก็ตาม หรือในเชิงกายภาพก็ตาม ระบอบอำนาจนิยมและกฎระเบียบที่ล้าหลัง เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่เยาวชนไทยถูกรัฐคุกคามมาโดยตลอด

เหตุการณ์เดือนตุลาในภาพจำของเรา เป็นภาพของอะไร?

เหตุการณ์เดือนตุลาไม่ว่าจะเป็นปีไหน ๆ ก็ตาม ที่ผ่านมา สำหรับเราก็เห็นเป็นภาพของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่มีมาตลอดในสังคมไทย เราเห็นรัฐและผู้มีอำนาจสามารถฆ่าคน ละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วก็ลืม ๆ มันไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น คนผิดยังลอยนวล คนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่เคยได้รับการเยียวยา ไม่มีการพิพากษาจากศาลถึงการชดเชยและตกผลึกบทเรียนแต่อย่างใด เราก็ยังเห็นความรุนแรงจากรัฐถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ รุ่นสู่รุ่น 

มันน่าเหลือเชื่อมากที่เรื่องราวความขัดแย้งเก่าเก็บตั้งแต่ 50 กว่าปีที่แล้ว ยังส่งผ่านกาลเวลามาถึงยุคสมัยของเรา และเราก็ได้สัมผัสกับมันโดยตรง อย่างเรื่องวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เราก็สัมผัสได้จากกรณีของเราเอง ที่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่มาคุกคามเรา แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ลอยตัว จนได้เลื่อนตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่มีประวัติคุกคามเด็ก เด็กอย่างเราที่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่หยุดคุกคามเด็ก ส่วนเราคนที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องมานั่งภาวนาในทุกวันหลังตื่นเช้าว่า

ความยุติธรรมจะมาชาติไหน ชาตินี้หรือชาติหน้า

อันนา อันนานนท์
May be an image of 2 people, child and text that says 'ฉัน เคยถูกพ.คุก'
ที่มาของภาพ: ไข่แมวชีส

ตั้งแต่ 14 ตุลา – 6 ตุลา จนมาถึง 16 ตุลา 63 สังคมไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป?

จริง ๆ ประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไป ก็มีเรื่องของโทษมาตรา 112 นี่แหละ ที่เพิ่มความหนักของโทษมากขึ้นด้วย แต่ก่อนโทษ 112 มันไม่ได้รุนแรงและกว้างขวางเท่าทุกวันนี้ กฎหมายลักษณะอาญา ม. 127 ในอดีต โทษแรงสุดคือจำคุก 10 ปี แต่ตอนนี้สามารถตัดสินโทษไปได้มากถึง 3 – 15 ปี ซึ่งการเพิ่มโทษนี้ก็มีผลพวงมาจากประกาศของคณะปฏิวัติ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นี่แหละค่ะ

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้เวลามีความหมายต่อเรา?

ไม่ว่ายังไง เราหรือรัฐต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองให้ได้มากที่สุด ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่หกตุลา พฤษภาทมิฬ เสื้อแดง รัฐประหารยุคประยุทธ์ มาจนถึงม็อบราษฎรปี 63 ที่มีการดำเนินคดี 112 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เราจำเป็นต้องลบล้างผลพวงของเผด็จการที่สืบทอดมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรา 112 ที่มีการเพิ่มโทษจากคณะปฏิวัติ รวมถึงพวกวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเองก็ตาม สังคมต้องหยุดวัฒนธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ฉะนั้น ความไม่เกรงกลัวต่อการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะยังคงมีต่อไป

ทั้งหมดนี้ ทุกการกระทำของคณะรัฐประหารส่งผลกระทบหมด รวมถึงเด็กนักเรียนด้วย อย่างทรงผมนักเรียนนี่ก็เป็นผลพวงจากคณะปฏิวัติสมัยนั้น ที่ประกาศให้ตัดผมเกรียน เราจะเห็นว่าสังคมใหญ่มีความเป็นอำนาจนิยมอย่างไร โรงเรียนก็จะมีลักษณะตามนั้น ดังนั้นแล้ว เราจึงคาดหวังมากว่า การศึกษาไทยจะดีกว่านี้ได้ เราเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายทั้งครู นักเรียน คนตัวเล็ก ๆ ในระบบที่ไม่ย่อท้อต่อวันเวลา เสียงของพวกเขาเหล่านี้มีความหมายมาก และเชื่อนะว่า การทำงานทางความคิดอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ สักวันเวลาจะเป็นของเรา


เนื้อหาอื่น ๆ ในซีรีส์ เวลาอยู่ข้างเรา?

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง