ปฏิรูปการศึกษา กับภาพฝันของหนู

กว่า 7 ปีของการ ปฏิรูปการศึกษา ภายใต้การกำกับของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมมีผู้คาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง…

หรืออย่างน้อย ก็เห็นแนวโน้มของการเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลง

แต่เสียงของเด็ก ๆ ใน “ม็อบนักเรียนเลว” ต่อปัญหาของระบบการศึกษาไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 สะท้อนว่า การศึกษาไทยยังไม่ถูกปฏิรูป อย่างน้อยก็ในมุมมองความคิดของเด็ก ๆ

แล้วการปฏิรูปการศึกษาในความฝันของเด็กรุ่นนี้ คืออะไร ?

The Active ชวนเด็ก ๆ ในม็อบเล่าภาพฝันของการปฏิรูปการศึกษาที่เขาอยากเห็น

ปฏิรูปการศึกษาภายใต้การนำของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ประเทศไทยใช้เวลากว่า 20 ปี พยายามปฏิรูปการศึกษา โดยเวลาเกือบ 7 ปี หรือ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด หากนับจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศตั้งแต่เข้ามามีอำนาจหลังการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า จะลดความขัดแย้ง เดินหน้าปฏิรูปประเทศ และย้ำเสมอว่า ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา

การปฏิรูปการศึกษา ภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตั้งกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่

1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

2. คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

3. คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

4. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ตั้งเมื่อ 16 ก.ค. 2563)

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่ง คสช. อย่างน้อย 8 ฉบับ แต่เน้นหนักไปที่แก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการและลดกระแสคัดค้าน และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา อย่างน้อย 3 ฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 และ พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามขมวดปมปัญหาการศึกษาไทยให้เห็นชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการวิเคราะห์ของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ชี้ว่าการศึกษาไทยมี 4 ปมปัญหาใหญ่ คือ คุณภาพต่ำ, ความเหลื่อมล้ำสูง, แข่งขันกับนานาประเทศไม่ได้ และการบริหารจัดการ ด้อยประสิทธิภาพ มีปัญหาด้านธรรมาภิบาล

แต่เสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ใน “ม็อบนักเรียนเลว” ต่อปัญหาของระบบการศึกษาไทย มองว่าทั้งหมดนี้ ไม่มีเรื่องไหนที่ตรงกับภาพฝันของพวกเขา แล็วอะไรคือการปฏิรูปการศึกษาที่เด็ก ๆ อยากเห็น?

อยากเห็นการศึกษาที่เท่าเทียม

อยากเห็นการใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่านี้ ไม่ใช่เน้นการเพิ่มงบฯ อบรมครู จนทำให้ครูไม่ได้สอนนักเรียน และควรเพิ่มเงินเดือนครูจบใหม่ให้มากกว่าเดิม ที่ได้แค่ 9,120 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจและแก้ปัญหาบางโรงเรียนขาดแคลนครู

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจมีคนมองว่า เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษา แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะสิ่งที่ทำคือเพิ่มงบฯ อบรมครู แต่ไม่ได้ให้ชั่วโมงครูในการสอน ครูบางคนต้องสอนหลาย ๆ วิชา ซึ่งบางคนไม่ได้จบด้านนั้นโดยตรง บางครั้งครูสอนคณิตศาสตร์ ต้องไปสอนสังคมศึกษา เพราะมีครูไม่พอในโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่มีครูจบใหม่จำนวนมาก แต่เงินเดือนเริ่มต้น คือ 9,120 บาท

พวกเขาสะท้อนว่า บางโรงเรียนในต่างจังหวัดมีครูแค่คนเดียว แต่ต้องสอนตั้งแต่ ป.1 – ป.6 ซึ่งไม่ควรจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งที่มีจำนวนคนจบครูในแต่ละปีจำนวนมาก แต่กลายเป็นว่าไม่เพียงพอ และคนที่จบครูไปทำอาชีพอื่น

“ที่เขาบอกว่าจะปฏิรูปการศึกษา สุดท้ายแล้ว ก็เป็นแค่การเพิ่มงบฯ ให้ครูเอาไปทำอะไรแปลก ๆ เช่น อบรมนอกโรงเรียนเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ควรเพิ่มเงินเดือนครูให้มีแรงจูงใจที่จะมาสอนมากกว่า อาจารย์หลาย ๆ คนที่เคยสอนหนูทุกวันนี้ ก็ไม่ได้เป็นครูแล้ว เพราะเงินเดือนครูเริ่มต้นน้อยมาก ๆ จริง ๆ การเรียน 5 ปี เงินเดือนเริ่มต้นคือ 16,000 บาท แต่บางโรงเรียนก็กดให้เป็นได้แค่ครูผู้ช่วย ทำให้ได้เงินแค่ 9,120 บาท ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเงินเดือนครูมันควรจะมากกว่านั้น และไม่ควรถูกกด”

เด็กรุ่นนี้มีสิ่งที่แตกต่างคือความคิด เพราะเด็กรุ่นนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ทีวีหรือวิทยุ แต่เด็กได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นข้อมูลมากขึ้นและมากกว่าที่รัฐอยากให้รู้ แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับข้อมูลเท่ากัน เด็กต่างจังหวัดอาจจะไม่ได้รับข้อมูลเท่าเด็กในเมือง

“ทำให้หนูคิดว่ารัฐบาลควรปฏิรูปการศึกษา ควรทำให้การศึกษามันดีได้แล้ว อย่างน้อย ๆ ทำให้เท่าเทียมกัน ถึงแม้หนูจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ออกมาต่อสู้เพื่อคนที่ออกมาไม่ได้”

อยากเห็นการศึกษาที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของเด็ก

อยากให้โรงเรียนเคารพสิทธิและเสรีภาพ และเข้าใจความหลากหลายในตัวนักเรียน ว่า นักเรียนแต่ละคนไม่ได้มีความชอบหรือความสามารถเหมือนกัน และครูก็สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพที่ไม่เหมือนกันของเด็กแต่ละคนไปให้ได้มากที่สุด และอยากเห็นกฎระเบียบในโรงเรียนที่เคารพสิทธิเสรีภาพ อยากเห็นโรงเรียนมีสวัสดิการที่ดีให้นักเรียน อยากเห็นการนำภาษีมาใช้ในเรื่องการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

อยากให้ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัย

อยากให้ลดกฎระเบียบที่ล้าหลังหรือไม่ทันสมัย พวกเครื่องแต่งกายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ล้าสมัยไปแล้ว เช่น วิธีการแสดงความเคารพที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน เพราะทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน และอยากให้ยกเลิกหลักสูตรการศึกษาที่ล้าหลังและไม่ทันโลกปัจจุบัน เช่น วิชาสุขศึกษา ก็ยังแบ่งเพศเป็นหญิงชาย และบอกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความผิดปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนก็เหมือนกันหมด ไม่มีใครผิดปกติเพียงแค่เพราะเรามีเพศที่เราอยากเป็นไม่ตรงกับเพศกำเนิดของเรา

อยากให้หลักสูตรที่สอน สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต

หลักสูตรเหมือนแค่ให้ใช้ไปสอบ แต่ไม่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ นักเรียนต้องไปเรียนเสริม ทั้งที่โรงเรียนควรเป็นสถานที่หลักในการให้ แต่มันกลับไม่ใช่ คุณครูในโรงเรียนก็สอนพิเศษเพื่อให้รู้ข้อสอบและทำเกรดได้ แต่ถ้าถามว่าเอาไปใช้ได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ ถ้ามีหลักสูตรที่ดีกว่านี้ คนตกงานจะน้อยลง คนมีความสุขจะเยอะขึ้น บางวิชาก็ไม่ตอบสนองต่อโลกปัจจุบันแล้ว

อยากให้เด็กได้รับการศึกษาฟรี

อยากให้การศึกษาฟรี 100% โครงการเรียนฟรี 15 ปีก็ไม่จริง เพราะแม้ไม่ได้จ่ายค่าเทอม แต่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา และเด็กในชนบทก็ได้การศึกษาไม่เท่าเด็กกรุงเทพฯ อยากให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกคน

บทส่งท้าย

การสร้างระบบการศึกษาให้เด็กไทยไม่ผูกติดแต่ “อดีต” อาจเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและรวดเร็ว จึงอาจจะไม่มีเหตุผลใด เมื่อ “ผู้ใหญ่ในอนาคต” เรียกร้องภาพฝันการศึกษาที่เขาอยากเห็น เพื่ออนาคตที่เขาอยากเป็น

แล้ว “ผู้ใหญ่ในปัจจุบัน” จะไม่รับฟัง และปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

จบรัฐศาสตร์ IR แต่ออกมาหล่อเลี้ยงกายาด้วยงานช่างภาพและกราฟิก หล่อเลี้ยงความคิด ด้วยเรื่องวิทย์ ๆ จิตวิทยา ปรัชญา และการแพทย์