คุณคุยกับ ‘คนแปลกหน้า’ ครั้งสุดท้ายเมื่อไร?

คุยกับ ‘ธีรพัฒน์ อังศุชวาล’ เรื่อง “พลังของคนแปลกหน้า”

ผลกระทบจากสงครามและโรคระบาดกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปแล้ว โลกยังปั่นป่วนไม่หยุด, ชวนเราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างความจริง ความดี และความงาม ผู้คนทะเลาะกันด้วยเรื่องความฝันและความหวัง ทว่า สิ่งที่น่าแปลกใจ, คือ ความขัดแย้งที่เป็นธรรมชาติ ส่งผลให้คนใกล้ชิดกลายเป็นคนแปลกหน้ากันได้

ยังไม่นับ “คนอื่น” ที่เห็นแตกต่างจากเรา และยกระดับเป็นความรุนแรงมิติต่าง ๆ ทั้งเหตุและผลเหล่านี้ คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการเลือก “ไม่คุย” เป็นการรักษาความสัมพันธ์ไว้รูปแบบหนึ่ง แต่นั่นใช่ทางออกจริงหรือ?

ปีที่แล้ว (2021) ‘โจ โคเฮน’ (Joe Keohane) เขาเป็นทั้งนักข่าวและบรรณาธิการนิตยสารชื่อดังหลายฉบับในอเมริกา ออกหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งกำลังเป็นกระแสถูกพูดถึงอย่างมาก คือ The Power of Strangers: The Benefits of Connecting in a Suspicious World. แปลตรงตัวก็คือ พลังของคนแปลกหน้า : ประโยชน์ของการเชื่อมต่อกันในโลกอันน่าสงสัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ผู้คนที่จมอยู่ในกองความเหงาและแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายบนรถโดยสารสาธารณะ หรือกระทั่งการหลบตัวเองเพื่อพึ่งพิงอยู่ในโลกออนไลน์ ก็ต้องระวังไหวกับการโต้ตอบของผู้คนที่การเมืองฉีกความสัมพันธ์ออกจากกัน เราทุกคนถูกครอบงำโดยความกลัวต่อ “คนที่เราไม่เคยเจอ” 

เขากลับชี้ให้เห็นว่า การได้คุยกับ “คนแปลกหน้า” ซึ่งเชื่อกันมานานแล้วว่าเป็นต้นเหตุของนานาปัญหานั้น มีประโยชน์อย่างน่าประหลาดใจ มันช่วยพัฒนาความใส่ใจต่อผู้คน พัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อโลกทัศน์ สร้างความสุขเล็กน้อย ๆ บรรเทาความเหงาและการแยกตัว ช่วยสร้างพื้นที่สาธารณะ และพัฒนาความเป็นอยู่ของเมืองได้ เมื่อมัดรวมคุณค่าเหล่านี้แล้ว ‘โจ โคเฮน’ ชวนเราคิดไปไกลกว่านั้น ว่า “คนแปลกหน้า” ไม่ได้เป็นเพียงวิธีดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางเอาชีวิตรอด และเป็นกุญแจพาสังคมรอดด้วย ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมทางสังคม วิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสงคราม 

“พลังของคนแปลกหน้าคืออะไรกันแน่?” 

“คนแปลกหน้าคือใคร” หรือเป็นภาวะของความไม่คุ้นชิน

ไม่กี่คนในประเทศไทยมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ‘ธีรพัฒน์ อังศุชวาล’ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในนั้น ยอมรับว่า หนังสือมีแนวคิดน่าสนใจมาก เราเจอ ‘คนแปลกหน้า’ ทุกวันในชีวิตประจำวัน เหมือนลมหายใจ ที่บางทีเราก็ลืมไปว่าต้องมีวิธีการอย่างไรในการคุยกับพวกเขา ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ง่าย โดยไม่ผ่านการฝึกฝน หรือมีทักษะทางสังคมในการเข้าหา หรือเชื่อมต่อกับผู้คนมาก่อน

คนแปลกหน้า

ดร.ธีรพัฒน์ ​เปิดประเด็นเพื่อให้เรากลับมาสำรวจตัวเองก่อน “อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าคนแปลกหน้า ผมคิดเรื่องนี้อยู่พอสมควร อย่างง่ายที่สุด, คนแปลกหน้าคือตัวคนที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ได้ แต่ถ้าคิดไปมากกว่านั้น บางทีคนแปลกหน้า เป็นอาการลักษณะ ภาวะบางอย่างที่เราไม่คุ้นเคย แปลกไปจากสิ่งที่เรารับรู้ ดังนั้น คนที่เราเคยเจอหรือไม่เคยเจอ ในบางทีอาจจะมีมุมที่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเราได้

“ผมรู้สึกว่า ‘คนแปลกหน้า’ ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือความคาดหวัง หรือความเข้าใจที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘stranger’  หรือ ‘คนแปลกหน้า’ มากกว่า”

ขยายความมากขึ้นจากข้อสังเกตข้างต้น การเกิดขึ้นของสังคมสมัยใหม่ ความแตกต่าง ความขัดแย้งทางการเมือง การเหยียดกัน ความไม่เท่าเทียมของสังคม กำลังผลักดันให้เราโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้น ประเทศตะวันตกบางประเทศ เขาเจอปัญหาว่าระบบทุนนิยมทำให้คนเป็นปัจเจกมากขึ้น ห่างเหินกันมากขึ้น เชื่อมต่อกันน้อยลง ก็เกิดอาการเหงา เศร้า เกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ของสังคม กลายเป็นว่าเราจะเก็บตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า อาการเหงาของสังคม ไปโยนโบว์ลิ่งคนเดียว คือกิจกรรมที่จำเป็นต้องไปทำกันเป็นหมู่คณะ แต่สุดท้ายเราไปทำแค่คนเดียว ยิ่งเผชิญกับสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ทำให้เราต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น นี่คือปัญหาว่าบางทีเราไม่สามารถจัดการกับความเหงาที่มาจากโครงสร้างทางสังคมได้ จึงไม่แปลกที่บางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ จริงจังถึงขนาดว่ามีหน่วยงานภาครัฐทำงานเรื่องความเหงาทางสังคม เพราะความเหงาทางสังคมถือเป็นปัจจัย เงื่อนไข สภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้คนไม่เชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

แล้ว “การเชื่อมต่อสำคัญอย่างไร?”

“ผมรู้สึกว่าการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่รู้จัก คือพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าสังคมที่ดี ชีวิตของการคบค้าสมาคม ชีวิตที่มีการเชื่อมต่อกัน คือโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เป็นพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะและประชาสังคม” 

“เพราะว่าคนแปลกหน้าจำนวนหนึ่งมาเชื่อมต่อกัน มาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนกัน เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง ไม่เป็นไร แต่เรามาคุยกัน เกิดวัฒนธรรมของการเชื่อมต่อความเข้าใจ ทำให้เราเห็นว่าคนแปลกหน้าไม่ใช่เพียงแค่คนแปลกหน้าที่เป็นเพียงนามธรรม หรือแค่ในจินตนาการของเราที่เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร หน้าตาเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอย่างไร ความแตกต่างทางด้านทางการเมืองจะเกิดกระบวนการคิดไปเอง คือเราคิดไปเองว่าคนนั้นจะคิดอย่างนี้ คนนี้จะคิดอย่างนั้น ซึ่งบางครั้งเราเหมือนมีสมมติฐานมาล่วงหน้า บางทีก็มาจากการที่รับสื่อ การเจอคนบางกลุ่ม แล้วเราคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งจะเป็นแบบนี้ด้วย” 

“การพูดคุยกับคนแปลกหน้า ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าคนแปลกหน้าก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีรูปร่าง มีหน้าตา มีเงื่อนไข มีปัญหา มีความเข้าใจบางอย่างไม่ต่างจากเรา เพียงแค่บางเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งไม่แปลก” 

“พลังของคนแปลกหน้าทำให้เกิดการพูดคุย เกิดพื้นที่สาธารณะ เกิดประชาสังคม เกิดการรวมกลุ่ม การเกิดขึ้นของเมืองของสังคมก็วางอยู่บนสิ่งที่พูดมา คนแปลกหน้าหลายคนมาเจอกันมารวมตัวกัน คิดเห็นบางอย่างคล้าย ๆ กัน มีเป้าหมายในการสร้างเมือง สังคมร่วมกัน คือสายใยความสัมพันธ์ คือทุนทางสังคมนั่นเอง” 

แง่นี้ การรื้อฟื้นทางสังคมผ่านการเชื่อมต่อกับคนแปลกหน้าจึงเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมของการเชื่อมต่อทางการพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะนั่นเอง ดังนั้น ผู้เขียน “พลังของคนแปลกหน้า” จึงย้ำว่า นอกจากความสุขแล้ว “คนแปลกหน้า” ไม่ได้เป็นเพียงวิธีดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางเอาชีวิตรอด และเป็นกุญแจพาสังคมรอดด้วย

เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของความเหงาทางสังคม

“ยุคของผม, อาการเหงาทางสังคมแสดงออกมาเป็นปรากฏการณ์ เช่น การไปกินบุฟเฟต์คนเดียว การไปร้องคาราโอเกะคนเดียว จริงแล้ว ความเหงาสะสมของสังคมไทยมีมาก่อนโควิดนะ จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี เป็นต้นตอที่ทำให้คนไทยคุยกันน้อยลง เพราะเราจะระวังมากว่า ทั้งคนที่รู้จักและคนที่ไม่รู้จัก คนแปลกหน้าเขาอยู่ฝั่งไหน เขาคิดเหมือนกับเราไหม เรื่องบางเรื่องพูดได้ไหม ผมว่านี่คืออาการของสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านสถานการณ์บางอย่าง”

“ตอนนี้ผมอายุ 30 กว่า สมัยก่อนเราถูกสอนและถูกกดทับว่าต้องไม่พูด ผมก็ไม่พูดเลย แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าเราควรพูดได้ สังคมอื่นเขาพูดกัน แต่เราจะพูดดีไหมนะ จึงลังเล เป็นอาการของการเปลี่ยนผ่านซึ่งอาการนี้เกิดมาเกิน 10 ปี แต่เราไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้ และกลับมองว่า จะพูดทำไม พูดไปเหมือนชวนตี แตกแยก สร้างปัญหาหรือเปล่า คนที่พูดกลับกลายเป็นปัญหา ทั้งที่ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่คนพูด แต่คืออาการของสังคม” 

“สังคมที่มีความเห็นเหมือนกันหมด ไม่ใช่เรื่องดี เป็นเรื่องน่ากลัวเสียมากกว่า มีสื่อสมัยใหม่ ภาพยนตร์ สารคดี หนังสั้นหลายเรื่อง สะท้อนให้เราเห็นว่าสังคมที่เหมือนกันทุกอย่าง ทำเหมือนกันทุกอย่างหมด ผมว่าน่าขนลุกมากเลยนะ นึกสภาพนะครับ เราตื่นมาวันหนึ่ง เราเดินออกไปนอกบ้าน ทุกคนแต่งตัวเหมือนกันหมด ทุกคนพูดเหมือนกัน เดินเหมือนกัน คือถูกบังคับให้ทุกอย่างเหมือนกันหมด ท้ายที่สุด สังคมจะไม่พัฒนา เพราะความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาต่าง ๆ อยู่บนความสัมพันธ์ของการแบ่งปัน พูดจา แลกเปลี่ยน เกิดบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม เกิดจากความสัมพันธ์หลาย ๆ แบบ แล้วกลายเป็นสิ่งใหม่ พลังแบบใหม่”

“สังคมที่เห็นตรงกันทุกอย่าง คิดเหมือนกันหมด ก็ยังอยู่จุดเดิม คือสิ่งเดิมที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่เกิดสิ่งใหม่”

“เราจะคุยกับคนแปลกหน้าอย่างไร?” วิธีการทลายกำแพงแก้ว

ดร.ธีรพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า หัวใจของหนังสือพลังของคนแปลกหน้า ทำให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการพูดคุยคือการฟัง ผู้เขียนเล่าถึงคอร์สการอบรม และการฝึกฝนเรื่องการฟังและการพูดกับคนแปลกหน้าหลาย ๆ ที่ หลายโอกาส และสรุปสาระสำคัญให้เห็นว่า การฟังอย่างไรที่จะสร้างพื้นที่สร้างบทสนทนากับคนแปลกหน้า การฟังนั้น ไม่ใช่การนั่งฟังเฉย ๆ แต่ต้องเป็นการฟังที่ทำให้คนพูด หรือการพูดนั้นถูกหรือผิด เป็นการฟังที่ต้องได้ยิน 

“หมายความว่า เราไม่ได้ฟังเพื่อจะได้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่การฟังเพื่อที่จะดูว่าตรงไหนที่เราสนใจ แล้วเราก็ไปถามเขา พูดง่าย ๆ ไม่ใช่การฟังเพื่อตอบวาระของเรา เพราะถ้ารอถามสิ่งที่เราสนใจ สุดท้ายแล้ว การพูดคุยนั้นจะกลายเป็นเรื่องของเรา – ตัวเรา แต่ต้องฟังอย่างไรให้กลายเป็นเรื่องของผู้พูดด้วย เป็น ‘เป็นของเรา’  ซึ่งในทางหนึ่งคือการเคารพ ผู้ที่เรากำลังพูดคุย เคารพบทสนทนานั้น การจะทำแบบนี้ได้, อย่างน้อยที่สุดต้องรู้ว่า การฟังของเราไม่ใช่แค่ฟังเฉย ๆ  ทว่า อย่างน้อยทบทวนสิ่งที่ผู้สนทนากำลังพูดว่าเขาพูดแบบนี้ถูกต้องไหม หรือแค่เอ่ยทวนอีกครั้งไปเลยว่าที่คุณพูดอย่างนี้มาใช่ไหม เพื่อเป็นการต่อบทสนทนา”

“การพูดคุย คือบทสนทนา มันไม่ใช่แค่คำถามระหว่างกัน”

“การเชื่อมต่อกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องยาก ผมก็อึดอัดนะ ลองคิดดูเวลาเราเข้าไปอยู่ในลิฟต์ 3-4 คน ทำไมทุกคนต้องทำตัวลีบเล็ก ผมเป็นคนตัวใหญ่ด้วยนะ ผมก็ต้องทำตัวลีบเรียว ไม่รบกวนคนอื่น ไม่พูด ไม่หายใจดัง ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ แน่นอน, มีมิติเรื่องความกังวล ความปลอดภัยในการคุยกับคนแปลกหน้า เขาจะปลอดภัยหรือเปล่า หรือคนแปลกหน้ามาคุยกับเราแล้ว เขาหวังอะไรหรือเปล่า เพราะบางทีเราอยู่ในสังคมที่เราไม่ไว้ใจกัน และการคุยกับคนแปลกหน้าก็ถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมเชิงลบในวัฒนธรรมไทย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และในหนังสือ Power of Stranger แนะนำไว้ คือต้องคิดถึง 2 อย่างสำคัญ คือเรื่องของเวลาและสถานที่”

เรื่องแรกคือเมื่อไหร่ เวลาไหนที่เหมาะสมในการคุยกับคนแปลกหน้า “เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราจะคุยกับคนแปลกหน้าได้อย่างสบายใจขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์สภาพแวดล้อมภายนอกบางอย่างมาเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเกิดภัยพิบัติหรือวิกฤต เราจะคุยกับคนแปลกหน้าทันที โดยไม่รู้สึกเขอะเขิน นี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแบบหนึ่ง” 

หมายความว่า เราต้องรู้ว่า มีช่วงเวลาที่การคุยกับคนแปลกหน้าไม่ได้ทำลายธรรมเนียมทางสังคม ไม่ทำให้เรารู้สึกแปลกหรือไปเป็นคนคุกคามเขา 

หรืออาจเป็นเหตุการณ์บางอย่างที่มีการจัดกันขึ้นมา เพื่อให้คนแปลกหน้ามาคุยกัน มีโจทย์ หรือมีเงื่อนไขอยู่แล้วว่า เราต้องคุยกับคนแปลกหน้า 

หรือในบริบททางสังคมบางอย่างที่รับรู้อยู่แล้วว่า การคุยกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องปกติ เช่น ในห้องเรียน อาจารย์เจอนักศึกษาครั้งแรก ทุกคนคุยกับคนแปลกหน้ากันหมด เพราะมีกฎหรือธรรมเนียมบางอย่างที่ซ้อนทับเข้ามาบอกว่าเราต้องฟังคนแปลกหน้าที่เรียกว่าอาจารย์ หรือว่าอาจารย์จำเป็นต้องคุยกับคนแปลกหน้าจำนวนมากที่เรียกว่านักศึกษา คือมีเงื่อนไข ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดขึ้น 

“นั่นคือ เราต้องรู้ว่าเวลาใดที่เหมาะสมที่จะคุยกับคนแปลกหน้า แล้วไม่ไปทำลายหรือไปรื้อทิ้ง บรรทัดฐานทางสังคมที่ทำให้เราเชื่อมาตลอดว่า การคุยกันกับคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง”

คนแปลกหน้า

เรื่องที่สอง คุยกับคนแปลกหน้าที่ไหน? “ผมคิดว่า คุยในพื้นที่สาธารณะ ในความหมายที่ว่าเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาใช้ร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนทางสังคม เช่น ห้องสมุดที่ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่างร่วมกัน หรือว่าในห้างสรรพสินค้า ในห้องประชุมการจัดแสดงบางอย่าง ในพิพิธภัณฑ์ที่ทุกคนมีความเท่าเทียมแล้วก้าวเข้าไปในพื้นที่นั้น  หรือสวนสาธารณะ คือการทำให้มีความเท่าเทียมของคนที่เข้ามาในพื้นที่นั้น ทำให้การพูดคุยกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แล้วคนพูดคุยรู้สึกปลอดภัย เพราะอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าอื่น ๆ อีก”

สำหรับวิธีคุยกับคนแปลกหน้าที่เห็นต่างกับเรา ดร.ธีรพัฒน์ แนะนำว่า เริ่มจากคิดว่าคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่ศัตรู เขาเป็นคนแปลกหน้า คิดเห็นแตกต่างจากเรา แต่เขาไม่ใช่คนที่จะมาโจมตีเรา ทำร้ายเรา ลองคุยกันดูก่อน แล้วก็ไม่คาดหวังให้คนเห็นต่าง ต้องมาเห็นเหมือนกับเรา เป็นทักษะสังคมที่ต้องมีการฝึกฝน ฝึกฟัง อดทนอดกลั้น ให้การพูดคุยจากเรื่องของฉัน เรื่องของเขา กลายเป็นเรื่องของเราได้

“สังคมไทยรู้อยู่แล้วว่า ความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา เป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วบางทีเราก็รับรู้กันด้วยว่าความแตกต่างเป็นความสวยงาม ในแง่ที่ว่าทำให้เกิดความหลากหลาย และความแตกต่างเป็นพลังด้วย เพราะว่าสังคมซับซ้อน ความเหมือนกันไม่สามารถทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ เพราะว่าความเหมือนกันจะนำมาสู่พลังแบบเดียว”

“สังคมต้องการพลัง ในยุคที่เราพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การทำนโยบายสาธารณะที่ดี เราถึงบอกว่าต้องเกิดความร่วมมือ เพราะว่าภาครัฐมีพลังแบบนี้ ภาคเอกชนก็มีพลังแบบนั้น ภาคประชาชนชุมชนสังคมมีพลังแบบอื่น ๆ เมื่อพลัง 3 แบบมารวมกัน ก็เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นพลังแบบใหม่ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

“เราคิดเห็นต่างกัน บางคนมองว่าการพูดคุยเป็นสิ่งที่ดี บางคนมองว่า การกระทำเป็นสิ่งที่ดีกว่า สองคนนี้พอมาทำอะไรบางอย่างร่วมกันก็เกิดความสมดุล เราก็จะมองว่า ดังนั้น การพูดก็ต้องมีคนฟัง และถ้าสังคมนี้มีแต่คนพูด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่พูดไป อยู่ที่ไหน เราจะเหลือแต่ตัวเรา แล้วคนอื่นที่เราต้องสัมพันธ์ด้วยจะอยู่อย่างไร”

“สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการคุยกับคนแปลกหน้าคือ วิธีการเริ่มต้นบทสนทนา จะเริ่มต้นคำพูดแรกอย่างไร  เมื่อเริ่มเรื่องแรกแล้ว บทสนทนาจะค่อย ๆ ไปต่อเอง อาจจะเริ่มจากเรื่องดินฟ้าอากาศ หรืออะไรก็ได้ที่อยู่รอบตัวเขา ชวนเขาคุย วันนี้อากาศไม่ดีเลย เราเดินทางรถติด ฝนตก แถวบ้านน้ำท่วมหรือเปล่า แถวบ้านผมน้ำท่วมเยอะเลย หากเขาคุยกับเราต่อก็ดีไป หากเขาไม่คุยกับเราต่อก็ไม่เป็นไร คำง่าย ๆ ขอบคุณ ขอโทษ หรือเป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าพวกนี้เป็นแค่เรื่องพื้นฐานในการพูดคุย แค่เราต้องรู้สึกข้ามเส้นไป แค่ถามว่าเหนื่อยไหมบางทีก็เหนื่อยนะ แต่ก็ต้องลองทำ”

“การเชื่อมต่อคนแปลกหน้า อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยู่คนเดียว อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่าป้าเขาขายของ ป้าเจอปัญหาเหมือนเรา ให้เรารู้ว่าอย่างน้อยที่สุดก็มีคนที่เหมือนเรา แต่ถามว่าการคุยกับคนแปลกหน้าจะหายเหงาทันทีไหม มันช่วยแค่ทุเลาบรรเทาอาการ ยังมีอีกหลายเรื่องในการเหงา อารมณ์ทางสังคมเป็นปัญหาใหญ่ ที่เมืองไทยไม่ค่อยสนใจนัก เพราะเรารู้สึกว่าโตกันแล้ว มักคุยเรื่องของเหตุผล ผมว่าวิธีคิดแบบนี้คือวิธีคิดที่แย่มาก ทำให้พื้นที่ทางความรู้สึกหายไป”

พื้นที่ทางความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ โลกเราขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ การตัดสินใจของเราแทบจะไม่เคยถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผล เราเลือกซื้อเสื้อ เลือกกินข้าว เลือกคบคนที่เราชอบ การเลือกหลาย ๆ อย่างของเรา อารมณ์เข้ามามีผลเยอะมาก โดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว อารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่เหตุผลเสียทั้งหมด”

ดังนั้น โครงการ Thailand Talks คือความพยายามสร้างพื้นที่กายภาพที่ปลอดภัยให้คนได้คุยกัน ทำให้เราได้มาบริหารอารมณ์ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ซึ่งคนไทยไม่ค่อยได้ออกกำลังเรื่องนี้กันเท่าใดนัก อีกประการคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยได้ฝึกฝนคุยกับคนแปลกหน้ามากนัก ดังนั้น แพลตฟอร์มของ Thailand Talks จะช่วยเข้ามาแทรกและค่อย ๆ เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้คนแปลกหน้าได้มีโอกาสมาร่วมตัวกันและเชื่อมต่อกัน มาเรียนรู้ทักษะบางอย่าง ที่ทำให้เห็นว่าคนแปลกหน้าไม่ได้เป็นเพียงนามธรรม หรือเป็นคนไร้หน้า จริง ๆ แล้วทุกคนล้วนมีตัวตนมีความรู้สึก มาเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน อยู่ร่วมกันนั่นเอง.

The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening


สมัครเข้าร่วมโครงการ Thailand Talks เพื่อลองคุยกับ “คนแปลกหน้า”
ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active