เลือกตั้งซ่อมภาคใต้ ชี้ชะตา “ประชาธิปัตย์”

ศึกวัดใจพรรคร่วมหรือต้องเอาชนะเพื่อความอยู่รอด? 

  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ 5 ส.ส. แกนนำกลุ่ม กปปส. สิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาพ โดยนับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 และ 2 ใน 5 เป็น ส.ส.เขตของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้
  • การเลือกตั้งซ่อม ชุมพร เขต 1 และ สงขลา เขต 6 ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ในช่วงแรก พรรคพลังประชารัฐ ประกาศจะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในจังหวัดชุมพร อาจเพราะ “สัญญาใจ” ที่เคยมีไว้กับตระกูลจุลใส แต่ไม่นานก็เปลี่ยนใจ ส่งผู้สมัครลงชิงชัยทั้งสองสนาม
  • การปราศรัยหาเสียงของทั้งสองพรรค โจมตีกันไปมา เหมือนว่านี่เป็นศึกวัดใจการไปต่อของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือจริง ๆ แล้วเพียงต้องเอาชนะ เพื่อความอยู่รอดของพรรคการเมืองเก่าแก่
  • รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเกิดและเติบโตในภาคใต้ วิเคราะห์ว่า พรรคพลังประชารัฐ เองก็ต้องการสร้างเครือข่ายทางการเมืองและฐานเสียงด้วยตัวเอง จึงไม่ให้ราคากับคำว่า “มารยาททางการเมือง” ที่คนประชาธิปัตย์ออกมาถามหาอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่า ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมเป็นใคร แต่การเลือกตั้งซ่อมทั้ง 7 ครั้ง หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 “พรรคพลังประชารัฐ” กวาดชัยชนะไป 5 จาก 7 สนาม คือ ขอนแก่น กำแพงเพชร ลำปาง สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช ส่วนอีก 2 สนาม เป็นของชาติไทยพัฒนาและอดีตอนาคตใหม่ แม้ ส.ส. จากพรรคหลัง จะย้ายขั้วไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยแล้วก็ตาม

สัญญาณนี้ แม้เป็นผลดีต่อคะแนนเสียงและจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่จะเป็นผลดีต่อสัมพันธภาพของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยหรือไม่ ปฏิกริยาที่แสดงออกระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมในสนามภาคใต้ “ชุมพร – สงขลา” หลังคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของการเป็น ส.ส. สาย กปปส. สิ้นสุดลง คงพอเป็นคำตอบ

อาจกล่าวได้ว่า ผลเลือกตั้งปี 2562 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อ ชนชั้นกลางในเมืองหลวง ไม่ได้ทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ชนะเลือกตั้งอีกแล้ว ขณะเดียวกัน “พรรคประชาธิปัตย์” ก็ไม่ได้เหมา ส.ส. ภาคใต้ได้อีกเช่นกัน ศึกเลือกตั้งซ่อม 2 สนามใหญ่ ที่พรรคเก่าแก่ครองพื้นที่มาอย่างยาวนานจึงสั่นคลอน

ที่สำคัญ เป็นการสั่นคลอนฐานคะแนนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง …

เลือกตั้งซ่อม

ฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้

ภาวะผู้นำของ “ชวน หลีกภัย” เริ่มต้นเมื่อปี 2534 หลัง ส.ส.จังหวัดตรัง คนนี้ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์สร้างความนิยมในภาคใต้มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2535 รวมถึงผู้นำรุ่นเก่าในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่ได้รับความนิยมและความศรัทธา ยังไม่นับว่า “อัตลักษณ์เฉพาะตน” ที่เข้มแข็งของ “คนใต้” ได้ส่งผลต่อการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ

‘วารุณี ลีเลิศพันธ์’ และ ‘รศ.สุรพล ราชภัณฑารักษ์’ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ไว้ในงานวิจัย “การสร้างฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้” ว่าอัตลักษณ์เฉพาะตนดังกล่าว คือ 1) อัตลักษณ์ทางสังคม 2) อัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจ และ 3) อัตลักษณ์ทางการเมือง ผ่านการซึมซับจากครอบครัวและวัฒนธรรม ส่งผลให้การสร้างฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดเป็นท้องถิ่นนิยมหรือภูมิภาคนิยม และทำให้คนใต้มีความสนใจด้านการเมืองสูง ติดตามเหตุการณ์ทางการเมืองตลอดเวลา

ในทางกลับกัน ‘ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช’ ให้ความเห็นไว้เมื่อปี 2539 ว่าท้องถิ่นนิยมหรือภูมิภาคนิยมเป็นปรากฏการณ์อันเกิดจากระบบ การเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง หรือผู้นำมีแนวโน้มที่จะไประดมเสียงของประชาชน โดยอาศัยความผูกพันขั้นพื้นฐานที่สุด คือ เป็นพวกเดียวกัน ปักษ์เดียวกัน หรือเป็นคนใต้และคนอีสานด้วยกัน เพราะไม่สามารถอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยยังอ่อนแอ ดังนั้น เมื่อระบบการเมืองอ่อนแอ นำสู่พรรคการเมืองและจะนำไปสู่พรรคภูมิภาค เพราะพรรคไม่สามารถอ้างเอาอะไรมาระดมเสียงได้ดีเท่ากับความผูกพันกับภูมิภาคหรือท้องถิ่น

ขณะที่ ‘รศ.วิชัย กาญจนสุวรรณ’ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงการเมืองของภาคใต้ไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ว่า “เปลี่ยนอย่างนึกไม่ถึง” เพราะสำหรับภาคใต้ที่เคยคิดว่าใครสวมเสื้อประชาธิปัตย์ก็จะชนะ จนมีวลีติดตลกว่า “เอาเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” แต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ เข้ามากุมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ เฉพาะสงขลาชนะประชาธิปัตย์ได้ถึง 4 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ซึ่ง รศ.วิชัย วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ 1) คู่แข่งของ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีเพียงแค่ประชาธิปัตย์ พรรคเดียวอีกต่อไป 2) ช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในการเลือกพรรคการเมือง 3) บารมีของผู้นำอย่าง ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ และ 4) ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค

ศึกครั้งใหม่ เลือกตั้งซ่อม เดิมพันอนาคต “พรรคประชาธิปัตย์”

“ในการต่อสู้ พี่น้องก็คงจะเห็น อำนาจรัฐลงไปอย่างเข้มข้น กดดัน บดขยี้ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเราถือว่าเป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง เราต่อสู้โดยใช้ไมค์ เราปราศรัย เราเข้าหาประชาชน แต่ฝั่งเขาเอากลไกอำนาจรัฐบดขยี้ต่อสู้… ที่ชุมพรและสงขลา ถาวร (เสนเนียม) กับลูกหมี (ชุมพล จุลใส) คือคนที่ต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมืองมาก่อน และสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จนทำให้พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ พลังประชารัฐไม่ควรส่ง”

ไม่ว่าถ้อยคำปราศรัยของ ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ ผอ.เลือกตั้งซ่อม เขต 1 ชุมพร ประกาศบนเวทีหาเสียงในอำเภอสวี เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา จะเรียกว่า “ทวงบุญคุณ” หรือ “พร้อมแตกหัก” กับพรรคพลังประชารัฐ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ประชาธิปัตย์ ยังคงอาศัยคะแนนนิยมจากนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และตัวนายรัฐมนตรี “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เนื้อหาการปราศรัย ตลอด 25 นาที ของสาทิตย์ กล่าวถึงบทบาทของ ‘ชุมพล จุลใส’ หรือ อดีต ส.ส. “ลูกหมี” ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม ที่ส่ง ‘อิสรพงษ์ มากอำไพ’ หรือ “เลขาฯ ตาร์ท” หลานชายของภรรยา และทีมงานของตระกูลจุลใสยังเป็นกำลังพลหลักในการสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชุมพร เขามองว่า การนำของลูกหมีในฐานะ แกนนำ กปปส. มีส่วนสำคัญอย่างมากในการตัดตอน “ระบอบทักษิณ” และเกิดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ซึ่งนำมาสู่ชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ เขาจึงเรียกสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า “เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมคืนให้กับคนชุมพร”

Democrat Party เลือกตั้งซ่อม
ภาพ: พรรคประชาธิปัตย์

“เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้คิดล้มรัฐบาล ไม่ได้คิดล้ม พล.อ. ประยุทธ์ เลือกตั้งเสร็จ รุ่งเช้า พล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี…

เพราะฉะนั้นการหาเสียงของพรรคการเมืองใดก็ตาม โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่บอกให้เลือกเขา เพราะโครงการนั้น นโยบายนี้ มันไม่ใช่ นี่คือเลือกตั้งซ่อม ที่เราจะเรียกร้องหัวใจ ของพี่น้องที่รักชาติบ้านเมือง คืนความเป็นธรรมให้ลูกผู้ชาย ที่ชื่อลูกหมี ชุมพล จุลใส

เขากลับมาจากกรุงเทพฯ เจอคดี ถูกตัดสิน พื้นที่ตัวเองก็เหลือน้อยอยู่แล้ว วันนี้ยังส่งพวกมายึดพื้นที่ที่เหลือน้อยอีก มีแต่พี่น้องที่รักษาพื้นที่ไว้ได้ วันนี้ พลังประชารัฐ มี ส.ส. 122 คน ประชาธิปัตย์ เหลืออยู่ 50 ถ้วน ถ้าเขตนี้แพ้ เราก็ลดลง การลดลงของประชาธิปัตย์มีความหมายมาก มีนัยยะมากในทางการเมือง”

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจส่ง “ทนายแดง” ชวลิต อาจหาญ ลงแข่งขันอีกครั้งที่จังหวัดชุมพร เขามีคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งก่อนกว่า 3 หมื่นคะแนน เป็นอันดับสองรองจากอดีต ส.ส. ลูกหมี ราว 1 หมื่นคะแนน

ไม่เพียงแค่ที่ชุมพร แต่เดิมพันที่สูงในภาคใต้ทำให้การแข่งขันที่สงขลา พรรคพลังประชารัฐส่ง ‘อนุกูล พฤกษานุศักดิ์’ หรือ “โบ๊ต” จากกลุ่มธุรกิจศรีตรัง ที่ก่อนหน้านี้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เลือกส่ง ‘สุภาพร กำเนิดผล’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้ำหอม” อดีตรองนายก อบจ. สงขลา และเป็นภรรยาของ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ หรือ “นายกฯ ชาย” ส.ส. เขต 5 จ.สงขลา ของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ ถึงบอกว่า “แพ้ไม่ได้”

‘รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเกิดและเติบโตในภาคใต้ ให้เหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งซ่อมสนามภาคใต้ จึงสำคัญ นั่นเพราะเป็นการต่อสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่พรรคหนึ่งเป็นพรรคเจ้าของพื้นที่เดิมยาวนาน ส่วนอีกพรรค เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล วลี “มารยาททางการเมือง” ที่ส่งสัญญาณในช่วงแรก ๆ โดย ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ ในฐานะรองหัวหน้าตามภารกิจของประชาธิปัตย์ ก็ไม่ถูกให้ราคาจากอีกพรรคการเมือง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ รศ.โอฬาร วิเคราะห์ว่า เพราะนี่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเพื่อให้มี ส.ส. เพิ่ม แต่เป็นการประเมินการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นการประชันฝีไม้ลายมือของตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุน เช่น ผู้อำนวยการเลือกตั้งในสนามภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ อย่าง ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ที่กล้าประชันหน้ากับตระกูลจุลใส ซึ่งมีบารมีอย่างมากในการเมืองทุกระดับที่ชุมพร ส่วนที่จังหวัดสงขลา คือ ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ที่เรียกได้ว่าเป็นสายตรงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนในโค้งสุดท้าย ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ และ ‘ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า’ ก็นำทัพลงหาเสียงทั้งสองจังหวัดด้วยตัวเอง

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะแข่งขันกันเองของพรรคร่วมรัฐบาลในศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ รศ.โอฬาร มองว่า การไหลออกของผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ตั้งแต่ ‘กรณ์ จาติกวณิช’, ‘นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม’, ‘วิฑูรย์ นามบุตร’ และ ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ รวมถึง ‘ถาวร เสนเนียม’ ที่เพิ่งขอให้ถอนชื่อจากออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนหน้านี้ ได้ส่งสัญญาณไม่เข้าข้างใคร เพราะมีความสัมพันธ์กับผู้สมัครทั้งจากประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ก็สะท้อนภาพการไม่มีผู้มีบารมีทางการเมืองหลงเหลืออยู่ ส่งผลให้ พรรคพลังประชารัฐ ประเมินแล้วว่า สนามเลือกตั้งซ่อมจึงไม่จำเป็นต้องให้ค่ามากนัก การสร้างขุมกำลังพลทางการเมืองด้วยตนเองจึงเป็นทางเลือก

“คนที่ติดตามการเมือง คนที่เป็นเสนาธิการของพรรคพลังประชารัฐ คงเห็นแล้วว่าในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์คงถดถอยไปอีก สถานการณ์แบบนี้ในสนามภาคใต้ จึงเป็นความจำเป็นที่พรรคพลังประชารัฐต้องบดขยี้พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เวลานี้”

นอกจากนี้ รศ.โอฬาร ยังมองว่าความเป็นไปได้ของการยุบสภา หรือวาระของรัฐบาลที่เหลือน้อยลงทุกที ได้ลดทอนความจำเป็นของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลลงไป สัมพันธภาพทางการเมืองก็ไม่เหมือนตอนตั้งพรรคร่วมรัฐบาล เกิดเป็นภาพที่พรรคพลังประชารัฐไม่ให้ราคาผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

ศึกแห่งศักดิ์ศรี? หมดเวลาวัดใจพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่ว่าจะเหตุผล “มารยาททางการเมือง” หรือ “เสรีภาพการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย” ต่างฝ่ายต่างเลือกมาตอบโจทย์เป้าหมายทางการเมืองของพรรคตนเอง สิ่งนี้ รศ.โอฬาร มองว่า ฟากของพลังประชารัฐ มองเป็นจุดอิ่มตัวทางการเมืองที่เพียงพอสำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้า มีความมั่นใจว่ากลไกทางการเมือง เครือข่าย และทรัพยากรที่พรรคมีอยู่ สามารถทำให้พรรคมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ส่วนประชาธิปัตย์จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยุบสภาเร็วขึ้น เขามองว่า หากผลการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ภาคใต้ ฝ่ายกุมชัยชนะคือพลังประชารัฐ “พรรคประชาธิปัตย์” จะเป็นตัวแปรสำคัญเร่งให้เกิดการยุบสภา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องเอาคืนพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน

“ไม่ว่าพรรคไหนจะแพ้หรือชนะในการเลือกตั้งซ่อม สัมพันธภาพระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ หลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิม และอาจมีการเอาคืนแน่ในการจัดประชุมของรัฐบาล เพราะยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ ที่อาจทำให้รัฐบาลคว่ำได้ ประชาธิปัตย์เขาก็มีชั้นเชิง คงไม่ปล่อยให้รัฐบาลทำย่ำยีตลอด”

อีกหนึ่งสัญญาณที่ส่อแววไปในทิศทางเดียวกัน เช่น สภาล่ม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง ซึ่งวิป (คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล) ก็ทำงานไม่ได้เต็มศักยภาพ จึงมีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสร้างเงื่อนไข เช่น ไม่เข้าร่วมประชุม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการยุบสภา ไม่ว่าหลังการเลือกตั้งซ่อม ผลจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม

“ถ้ามีการยุบสภาจริง ผมคิดว่าในสมการทางการเมือง ประชาธิปัตย์อาจไม่เข้าร่วมแล้ว เพราะจะต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าพูดไปอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง ประชาชนจะรู้สึกถดถอยมากขึ้น ขณะเดียวกันพลังประชารัฐก็ไม่เอาประชาธิปัตย์เป็นสมการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เพราะถ้ายังแคร์ประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ต้องให้เกียรติกันบ้างในทางการเมือง แต่ดูเหมือนพลังประชารัฐไม่ให้ราคา

ผมมองไปไกลว่าหากมีการยุบสภาและเลือกตั้งจริง ๆ การจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลด้วย”

ขั้วตรงข้าม ที่ไม่ควรมองข้าม

ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมในสนามภาคใต้ ไม่ได้มีเพียงคู่แข่งจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่พรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง “พรรคกล้า” ก็เลือกส่งผู้สมัครลงสนามแข่งขันประลองฝีมือด้วยทั้งสองสนาม แม้พรรคกล้าอาจยังไม่สามารถสลัดภาพจำแบบคนประชาธิปัตย์ไปได้ แต่นี่จะเป็นการทดสอบเพื่อประเมินแนวทางที่พรรคพยายามขายสิ่งที่แตกต่างจากพรรคอื่น เช่น การส่งผู้สมัครมีดีกรีเป็นทนายความอาสาด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน อย่าง “ทนายอาร์ม” พงศธร สุวรรณรักษา ลงแข่งในพื้นที่สงขลา และ “ผู้กำกับหนุ่ย” พ.ต.อ. ทศพล โชติคุตร์ ซึ่งทั้งสองคนเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ ไม่เคยผ่านสนามกับพรรคใดมาก่อน เพื่อทดสอบว่าทางเลือกแบบนี้คนภาคใต้สนใจหรือไม่ ภายใต้ตัวแปรอย่างความเบื่อหน่ายพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเฉพาะกิจแบบพลังประชารัฐ รศ.โอฬาร มองว่าถ้าแนวทางแบบพรรคกล้าขายได้ จะนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ทางการเมืองหลังจากนี้

ส่วนอีกพรรคที่น่าจับตามอง เพราะเรียกว่าเป็น “ฝ่ายค้าน” เต็มตัวหนึ่งเดียวในสนามแข่งขันนี้ อย่าง “พรรคก้าวไกล” ก็เดินหน้าหาเสียงและชูความเป็น “คนรุ่นใหม่” ไม่ต่างจากครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ การเลือก ‘ธิวัชร์ ดำแก้ว’ มือขวาของหัวหน้า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่ว่าจะด้วยวาระหรือเวลาที่เหมาะสม แต่เขาคือคนรุ่นใหม่ที่เกิดในอำเภอสะเดา และเติบโตในจังหวัดสงขลา เป็นที่รู้จักในนามนักรณรงค์และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นประเด็นที่แจ้งเกิดให้กับพิธา ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ด้วย ขณะที่พื้นที่ชุมพร ส่ง ‘วรพล อนันตศักดิ์’ ด้วยการชูความเป็น ไรเดอร์ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างเครือข่ายของพรรคในพื้นที่ภาคใต้ อดีตผู้ประสานงานประจำจังหวัดชุมพร และเป็นอดีตผู้ช่วยของ ‘ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ ซึ่ง รศ.โอฬาร วิเคราะห์ว่า แม้วรพลจะถูกโจมตีอย่างหนักระหว่างการหาเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นี่จะเป็นการทดสอบคะแนนที่แท้จริงครั้งสำคัญ ต่อแนวทางการเมืองแบบนี้ในพื้นที่ภาคใต้

แม้คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เขต 1 จังหวัดชุมพร จะเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 10,347 รองจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ และเขต 6 จังหวัดสงขลา อยู่ในอันดับ 4 ด้วยคะแนน 11,966 ห่างจาก อันดับ 1-3 อย่าง ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา นับหมื่นคะแนน แต่ รศ.โอฬาร มองว่าแม้การแข่งขันครั้งนี้ในนามพรรคก้าวไกล อาจยังไม่ชนะในระบบเลือกตั้งแบบเขต แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม ทั้งหมดก็เพื่อพิสูจน์ว่าการทำงานการเมืองตามแนวทางที่เชื่อ มีผลอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งคะแนนจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความหมายต่อการถอดบทเรียนและวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเป็นอย่างมาก

พยากรณ์อนาคต “ประชาธิปัตย์” จะยังเป็น “พรรคของคนใต้” ?

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ส่วนแบ่ง ส.ส. ในพื้นที่ภาคใต้ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และรวมพลังประชาชาติไทย รวมถึงพรรคประชาชาติ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รศ.โอฬาร มองประเด็นนี้ว่า พรรคการเมืองอื่น ๆ อาจจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่า ความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ ทั้งจากกลุ่มชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ นั้นแตกต่างจากช่วงทศวรรษ 2530 ที่คนใต้ต้องการตัวแทน ส.ส. กล้าพูด เป็นดาวสภา มีภาพลักษณ์ในการต่อสู้ มีวัฒนธรรมการเมืองแบบ “ไม่รบนายไม่หายจน” แต่เมื่อถึงทศวรรษ 2540 โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นั้นเปลี่ยนไป ประชาชนมีความคาดหวังมากกว่า ส.ส. นักพูด แต่ต้องการการพัฒนาภูมิภาค เพราะประชาชนเริ่มมองว่าภาคใต้มีทรัพยากร มีความพร้อมในการพัฒนาทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ การไม่ได้เป็นรัฐบาลมานาน แต่เมื่อมีโอกาส เช่น ยุคของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ก็ยังไม่เห็นภาพการทำงานจริงจัง ทั้งที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ส่วน “การกระจายอำนาจ” หลังปี 2540 แม้เพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งกลับสร้างวัฒนธรรมความเป็นบ้านใหญ่ ความเป็นตระกูลทางการเมือง จึงทำให้ประชาชนมองว่าการทำงานการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลัง ไม่ได้ต่างจากที่เคยโจมตีพรรคการเมืองอื่น

แม้เคยเป็น “พรรคของคนใต้” แต่การปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และไม่สามารถสร้างนโยบายที่โดดเด่น เป็นตัวของตัวเองเพื่อเสนอให้กับประชาชน รศ.โอฬาร มองว่าอีกปัจจัยคือปัญหาภายในของพรรคประชาธิปัตย์เอง กล่าวคือ ตัวละครหลังปี 2540 ไม่ได้มาด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนในอดีต แต่เป็นนักธุรกิจการเมือง ทำให้เกิดการปะทะกัน ซึ่งกลายเป็นว่าผู้ที่ยังอยู่ได้ในพรรค มีเครือข่าย มีทรัพยากร และมีกำลังในการกดดันให้ผู้หลักผู้ใหญ่อีกกลุ่มต้องออกจากพรรค

รวมถึงพรรคภายใต้การนำของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่เลือกใช้วิธี “ลอยตัวออกจากปัญหา” ซึ่งมองว่า การปล่อยให้พรรคตกต่ำอย่างที่สุด อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้พรรคได้มีโอกาสเลือกใหม่ว่าจะเดินต่อไปในทิศทางไหน เพราะความเชื่อมั่นว่า การเป็นสถาบันทางการเมือง อย่างไรเสีย พรรคก็จะไม่ยุบลงได้ง่าย ๆ และจะกลับคืนมาอีกครั้ง แต่เท่านั้นอาจไม่พอ

Democrat Party จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์[
ภาพ: พรรคประชาธิปัตย์

“ในทางการเมืองเป็นไปได้เสมอ 1 เปอร์เซ็นต้องเว้นไว้ เผื่อความไม่แน่นอนทางการเมือง”

รศ.โอฬาร ขยายความประโยคนี้จากกรณีที่พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จะยังคงครองพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้อยู่ แม้มีโอกาสน้อยที่จะขยายออกมาในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดอื่น ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้สำหรับพรรคพันธมิตร หรือพรรคการเมืองขั้วเดียวกันอย่าง พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เป็นไปได้เสมอ

ขณะที่พื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน พรรคภูมิใจไทย ก็สามารถขยายพื้นที่ได้ เพราะมี ส.ส. ในจังหวัดระนอง กระบี่ สตูล ที่ปักธงได้แล้วส่วนพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะแพ้ภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็นได้ ขณะที่ฝั่งจังหวัดอ่าวไทย พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. ในมือ 14 – 15 คน หากได้เพิ่มจากชุมพรและสงขลาอีก นี่คือยุทธศาสตร์รุมกินโต๊ะ ขณะที่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีพรรคพรรคประชาชาติ

“พรรคประชาธิปัตย์จะหายไปจากสมการการเมืองภาคใต้”

เมื่อวิธีการสร้างฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ด้วยการ “ขายตรง” ผ่าน ส.ส. ภาคใต้ สาขาพรรคและแกนนำในภาคใต้ รวมถึงผู้นำชุมชน อย่างที่เคยเป็น เริ่มสั่นคลอนและใช้ไม่ได้ผล สถานการณ์เช่นนี้ อาจประเมินได้ไม่ยากจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ แต่สิ่งสำคัญคือการประเมินสถานการณ์แบบเดียวกัน ก็เกิดขึ้นในพรรคการเมืองอื่นที่ต้องการสร้างขุมกำลังทางการเมืองด้วยตนเองเช่นกัน

ถึงเวลานั้น เมื่อ “การเป็นพรรคของคนใต้” ใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว ยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบไหนที่จะหลงเหลือให้พรรคเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ได้ในสนามการเมือง


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์