ผ่านพ้น “วันเด็ก” ไปอีกปี ความสุข รอยยิ้ม ที่เด็ก ๆ ได้รับเนื่องในวันสำคัญ ยังคงช่วยแต่งแต้มสีสันให้หลายครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่อาจตรงกันข้ามกับบางบ้าน ยังมีเด็ก เยาวชน จำนวนหนึ่ง ที่อาจไม่ได้มีวันเด็กเหมือนกับเพื่อน ๆ
เมื่อชีวิตที่เคยเป็นส่วน “เติมเต็ม” กลับกลายเป็น “ส่วนเกิน” ของครอบครัว บ้านไม่น่าอยู่สำหรับพวกเขาอีกต่อไป อนาคตของเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะเดินต่อกันแบบไหน
The Active ชวนหาคำตอบกับเรื่องราวของ “เด็กชายฝาแฝด” วัย 9 ขวบ ในวันที่ความเปราะบางของ “สถาบันครอบครัว” ผลักให้พวกเขาต้องเก็บข้าวของออกจากบ้าน มาอยู่ “วัด”
นับตั้งแต่วันนั้น ผ่านเวลามาเกือบปีแล้วที่เด็กชายมี “วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี” เป็นบ้านหลังใหม่ และเรื่องราวของ “เด็กวัด” ก็เริ่มต้นขึ้น
ทันทีที่รถจักรยานยนต์ของคนงานวัดสวนแก้ว เลี้ยวมาจอดในวัด เด็กชายฝาแฝด รีบลงจากรถวิ่งเข้าไปยังห้องเล็ก ๆ ภายในอาคารพักนอนของผู้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งนับจากวันที่ย้ายเข้ามา ที่นี่คือห้องนอนใหม่ของพวกเขา
2 หนุ่มน้อยรีบเปลี่ยนชุดนักเรียน แล้วไม่รีรอออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนลูกหลานคนงานในวัด เพราะวันนี้พวกเขาทำการบ้านเสร็จมาจากโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว
แต่ก่อนออกไปปล่อยพลัง เราขอตัวทั้ง 2 คน มาคุยด้วยสั้น ๆ …
ทั้งคู่เนื้อตัว เสื้อผ้ามอมแมม จากการเล่นซุกซนตามประสา แต่พวกเขากล้าพูด ไร้ความเขินอาย
ชอบวิชาอะไรมากที่สุด ? แฝดคนพี่ตอบคำถามด้วยท่าทางทีเล่นทีจริง ว่า “ชอบภาษาอังกฤษ” แล้วก็ไม่ลืมตอบแทนน้องด้วยว่า “ชอบวิชาเลข”
“อยู่โรงเรียนชอบทำอะไร ?” คราวนี้แฝดน้องตอบด้วยตัวเอง ว่า “ชอบเล่นคอมพ์ ชอบเล่นเกม” ส่วนคนพี่บอกว่า “ชอบเล่นฟุตบอล”
เมื่อถามถึงความใฝ่ฝัน พี่ก็พูดใส่น้อง พร้อมกับหัวเราะว่า “เขาอยากเป็นโจร อยากเป็นนักเลง” ทั้งที่ความจริงน้องก็แอบกระซิบอีกที ว่า “ยังไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย เพราะครูไม่เคยถาม”
“อยู่วัดสนุกไหม ?” เราถามต่อ ทั้งคู่บอกเสียงดังฟังชัดพร้อมกันว่า “สนุกมาก”
ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นว่าที่ตรงนี้ “ดีกว่า” ที่ที่พวกเขาจากมา เมื่อสีหน้า ความรู้สึก ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคำพูด บ่งบอกทันทีที่เราถามพวกเขาว่า “อยากกลับบ้านไหม ?”
“ผมไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ เพราะแม่ชอบแกล้ง กลางคืนไม่ได้นอนเลย”
นี่คือคำตอบที่เด็กแฝดบอกกับเรา ก่อนวิ่งหนีไปเล่นตามประสา โดยทิ้งความรู้สึกที่เราสัมผัสได้ว่าหนุ่มน้อย มีความทรงจำที่เลวร้ายแค่ไหน เมื่อต้องพูดถึง “บ้าน” และ “ครอบครัว”
“เด็กวัด” ในอ้อมกอด แม่(จำเป็น)
นิลวดี มโนสา ผู้ปฏิบัติธรรมวัดสวนแก้ว อายุ 52 ปี คนที่นี่เรียกว่า “แม่ขาวหมู” ส่วนเด็กแฝดเรียก “แม่หมู” เต็มปากเต็มคำ เพราะคงไม่ต่างกับแม่จำเป็น ที่ต้องคอยเลี้ยงดูเด็กชาย เธอเล่าว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคมปีที่แล้ว พ่อ และ แม่เลี้ยงของเด็กแฝด พาพวกเขามาที่วัด และยกให้หลวงพ่อพยอม โดยให้เหตุผล ว่า “เลี้ยงไม่ไหว”
“แม่แท้ ๆ ของพวกเขาเสียชีวิต พ่อไปมีภรรยาใหม่ และมีลูกด้วยกันอีกคน ทำให้ลูกจากภรรยาคนเดิม ไม่เป็นที่รักอีกต่อไป ส่วนพ่อก็ติดเหล้าไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ก็เลยพาเด็กทั้ง 2 คนมาไว้ที่วัด ฝากไว้กับหลวงพ่อพยอม ตอนมาใหม่ ๆ มีแค่เสื้อผ้าไม่กี่ชุด เอกสารประจำตัว ใบเกิด บัตรประชาชน และเอกสารผลการเรียน ด้วยความเมตตาสงสาร หล่วงพ่อพยอม จึงรับอุปการะ และมอบหมายหน้าที่การดูแลให้กับ แม่ขาวหมู และ แม่ขาวดวง”
แม่ขาวหมู
ในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนนั้น แม่ขาวหมู เล่าอีกว่า เอกสารการเรียนที่ครอบครัวเด็กให้มา เป็นของระดับชั้นอนุบาล ตอนนั้นก็พยายามติดต่อหาโรงเรียนประถมฯ ที่เก่า ซึ่งอยู่ที่ จ.อุดรธานี ที่พ่อเด็กเคยเอาไปฝากไว้กับคนรู้จักก่อนจะเดินทางมาที่นี่ เพื่อขอหลักฐานสมัครเข้าเรียนใหม่ จนได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เด็กเคยอยู่ในสถานสงเคราะห์มาก่อนด้วย ปัจจุบันเด็กแฝด ก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนก็อยู่ไม่ไกลจากวัดสวนแก้วมากนัก เพื่อให้สะดวกเดินทาง โดยจะมีคนงานของวัดขี่จักรยานยนต์คอยรับ-ส่งทุกวัน
“จากอายุเขา ที่จริงจะต้องอยู่ชั้น ป.3 แล้ว แต่เขาอ่อนเรื่องการเขียน การอ่าน ครูได้ให้ทดสอบก่อนเข้าเรียน เลยให้เรียนชั้น ป.2 ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเด็กจะเครียดกับการเรียน”
แม่ขาวหมู
ส่วนเงินที่ใช้ประจำวัน แม่ขาวหมู บอกว่า หลวงพ่อพยอมท่านเป็นผู้มอบให้ โดยจะให้เด็กไปช่วยงานวัด เช่น เก็บใบไม้ ได้เป็นค่าขนมครั้งละ 100 บาท ทำไปเล่นไป ก็ให้ เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าของเงินที่ได้มา
“ไม้อ่อนดัดง่าย” หวังให้เด็ก “ได้ดี”
“แม่ขาวดวง” ดวงใจ มั่นวงศ์ อายุ 62 ปี หรือ “แม่ดวง” ของเด็ก ๆ เล่าว่า ก่อนจะมาอยู่ที่วัด ไม่รู้ว่าเด็กมีพื้นฐานการเลี้ยงดูมาอย่างไร แต่พอได้เลี้ยงเขามาเกือบ 1 ปี เด็กค่อนข้างดื้อ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่บ้าง เธอจึงอาศัยประสบการณ์ความเป็น “แม่” มาคอยอบรม สั่งสอนว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ โดยเฉพาะการไม่หยิบจับของผู้อื่นโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
“ถ้าไม่ได้รับโอกาสมาอยู่ที่นี่ เด็กอาจจะกลายเป็นคนก้าวร้าว ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เพราะเด็กมีแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่บ้าง ก็จะคอยสอนว่าแบบนี้ไม่ดี เด็กทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ขอเล่นเกม ขอไปเที่ยวกับเพื่อน ขอเงินซื้อขนม ไอศกรีม ซื้อน้ำอัดลม ในส่วนของเล่นที่เพื่อน ๆ เขามีกัน เขาก็เคยมาขอให้ซื้อ แต่อธิบายว่าเราไม่มีเงิน เด็กก็ไม่ได้งอแงขออีก เชื่อว่าเขาน่ารู้ตัวว่าอยู่วัด และแม่ขาวไม่ใช่แม่แท้ ๆ อาจจะรู้ว่าอะไรได้ไม่ได้ เด็กไม่ได้ดื้อในเรื่องนี้”
แม่ขาวดวง
พยายามให้รู้สึกถึงความเป็น “ครอบครัว”
แม่ขาวดวง คอยดูแลเด็ก ๆ ปลุกอาบน้ำ ล้างหน้า แต่งตัวไปโรงเรียน จัดหาอาหารให้กิน เพราะพักอาศัยอยู่ในอาคารเดียวกัน เมื่อถามว่า เด็ก ๆ ดูมีความสุขไหม ? แม่ขาวดวง บอกว่า เขาไม่ได้พูดถึงทางบ้าน ไม่เคยพูดเลยว่าอยากกลับบ้าน เวลาหลวงพ่อให้ไปเก็บใบไม้ หรือทำอะไร เขาก็จะไป เวลาบอกให้ทำอะไรก็ทำตาม แม่ขาวที่นี่ใจดี ให้เงินกินขนมครั้งละ 5 บาท 10 บาท
สำหรับที่หลับที่นอนของเด็ก ๆ นั้น แม่ขาวดวง บอกว่า เป็นอาคารพักรวมแบ่งเป็นโซน เด็กสองคนนอนคนละเตียง กางมุ้งให้ มีโซนแต่งตัว ทำการบ้าน อ่านหนังสือ และมีของเล่นวางอยู่ เสื้อผ้าชุดนักเรียน ถูกซักรีดเตรียมไว้ครบทั้งสัปดาห์
“เตียงเขาคนละตียงนะ ตอนหัวค่ำก็นอนใครนอนมัน แต่พอดึก ๆ ลุกมาดูอีกที เขาก็ไปนอนกอดกันในมุ้งเดียวกันแล้ว”
แม่ขาวดวง
“แม่อายุเยอะ 60 กว่าแล้ว เราก็จะเลี้ยงเขาเท่าที่เราให้ได้ คืออยากให้เด็กเป็นคนดี เราไม่หวังให้เขามาดูแลเรา ขอให้เขาเป็นเด็กดีของสังคม อย่ามือไว อย่าหยิบจับของที่ไม่ใช่ของเรา เพราะอนาคตเราก็อยากให้เขาได้ดี เขามาไกลแล้ว มาจากต่างถิ่นที่ได้มาอยู่ตรงนี้มาอยู่กับแม่ขาว”
แม่ขาวดวง
“เขาก็มองเราเป็นครอบครัวนั่นแหละ ก็ต้องให้เขารู้สึกว่าเราเป็นครอบครัว เขาจะได้อยู่ในโอวาทเราด้วย เชื่อฟังเราด้วย”
แม่ขาวหมู
ไม่ใช่ “เด็กวัด” ทุกคน ที่มีโอกาสแบบนี้
หากมองอีกด้านของสังคมไทย ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกวัดจะมีความพร้อม ทั้งด้านการเงิน และผู้ดูแล เหมือนวัดสวนแก้ว โดยเฉพาะหากเป็นวัดขนาดเล็ก หรือวัดในชนบท ที่ผู้คนไม่ได้เข้าไปทำบุญมากนักปัจจัยก็แทบไม่มีซึ่ง พระราชธรรมนิเทศ หรือ “พระพยอม กัลยาโณ” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกว่า ถ้าเป็นวัดเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัด เมื่อเด็กไปอยู่อาจจะแย่ก็ได้
สมมติว่าในวัดมีแค่หลวงตา แต่ก็ต้องรับเด็กมาดูแล อาจไม่มีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็ก ไม่รู้ว่าเด็กจะเติบโตไปอย่างไร ส่วนที่วัดสวนแก้ว ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาหลายปี จัดงานวันเด็กทุกปี ส่วนเด็กวัดที่วัดสวนแก้ว ปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 คนที่เป็นเด็กแฝด ส่วนที่เหลือ ก็เป็นลูกคนงานที่มาอาศัยใบบุญ ซึ่งหลวงพ่อจะสอนตลอดให้เด็กรู้คุณค่าของเงิน และโอกาส โดยการ “ให้งาน แลกเงิน”
“จะคอยเรียน คอยรู้ จะเจอเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ จะคอยปลูกฝังให้รู้จักมีสัมมาคารวะ เก็บใบไม้ก่อน 2 ใบ เราก็แจกขนม พอโตขึ้นมาหน่อย ต้องไปเก็บใบไม้ใส่กระสอบ เราจะให้เงินไว้ไปโรงเรียน เราจะเน้นให้เด็กต้องลงมือทำ ใครจะหาว่าเราใช้แรงงานเด็ก แต่เราไม่คิดแบบเขา เราคิดว่าต้องฝึกเด็ก”
พระพยอม กัลยาโณ
บทบาท “สถาบันครอบครัว” ใครจะทดแทนได้
แม้โอกาสของเด็กอีกหลายคน อาจไม่โชคดีเหมือนกับเด็กชายฝาแฝดที่วัดสวนแก้ว แต่อย่างน้อยเรื่องราวพวกเขาก็พอสะท้อนให้เห็นแง่มุมความเปราะบางของสังคมไม่น้อย The Active เลยชวนมองประเด็นนี้ให้ชัดมากขึ้นกับ รศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิยาลัยมหิดล โดยอธิบายว่า สถาบันที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับเด็กที่สุด คือ “สถาบันครอบครัว” ที่มีส่วนทำหน้าที่ในหลายเรื่อง ทั้งสนับสนุนให้เด็กคนหนึ่งเกิดมาได้รับการดูแล และมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย รองลงมาในช่วงชีวิตของเด็กก็จะมี “สถาบันการศึกษา” เข้ามาเกี่ยวข้องตามช่วงวัย ตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย
แต่หากลงลึกไปที่ครอบครัว บทบาทหน้าที่สำคัญในการเลี้ยงเด็กมีด้วยกัน 4 ด้าน ประกอบด้วย
- ด้านการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย คือ การเลี้ยงดู จัดหาอาหารที่เหมาะสม สนับสนุนการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เพียงพอ เพื่อที่จะได้เป็นเด็กที่มีความแข็งแรง ดังนั้น หากเด็กได้อยู่กับครอบครัวที่มีความรับผิดชอบ ในการดูแล เด็กก็จะได้รับการสนับสนุนทางด้านร่างกายที่ดี และเหมาะสม
- ด้านการสนับสนุนทางด้านจิตใจ ความรู้สึกต่าง ๆ ความอบอุ่นที่เขาต้องการจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นจากพ่อหรือแม่
- ด้านการสนับสนุนด้านการเรียนรู้ด้านการศึกษา เด็กจำนวนมาก ที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว แล้วทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา เด็กบางคนอาจไม่ได้เข้าเรียน หรือ เข้าเรียนช้า ไม่มีคนส่งเสียให้เรียน แม้ว่าจะมีเรียนฟรี แต่ว่าด้วยตัวเด็กเองตามธรรมชาติถ้าไม่มีคนดูแลเขาก็คงไม่สามารถเดินไปเข้าโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กบางคนเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบการศึกษา
- ด้านการอบรมเลี้ยงดู สั่งสอน ขัดเกลาให้มีจิตสำนึก มีคุณธรรม หากเด็กไม่ได้อยู่กับครอบครัว ก็มีแนวโน้มที่จะขาดคนที่จะให้เวลาในการบรมสั่งสอน หลายครั้งเราจะพบว่า เด็กที่มีปัญหาด้านนี้ เด็กจะมีพฤติกรรมแสดงออกไปในเชิงก้าวร้าว รุนแรง ซึ่งพบเห็นบ่อยครั้งในสังคม
สำหรับกรณีเด็กวัด รศ.ปิยวัฒน์ ก็มองว่าน่าเป็นห่วง เพราะต้องยอมรับว่าเด็กจะต้องอยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติ ให้ลองนึกภาพตามว่า พระหรือนักบวชที่อยู่ในวัดมีกิจที่ต้องปฏิบัติหลายอย่าง อาจทำให้มีเวลาดูแลให้ครบมิติทั้ง 4 ด้านได้ยาก ไม่เทียบเท่ากับที่พ่อแม่ดูแลได้
แต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นคือเมื่อครอบครัวไม่มีความพร้อม หรือ ไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กอยู่ด้วย ประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ “สถานสงเคราะห์” แต่ต้องยอมรับความจริง ว่า เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ อาจจะมีความรู้สึกว่าการที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งแล้วไปอยู่รวมกันตรงนั้น อาจกลายเป็นปมในใจของพวกเขา
“ผมคิดว่าสิทธิพื้นฐาน และการดูแล สถานสงเคราะห์น่าจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์กว่า การไปอยู่วัด เพราะวัดแต่ละที่ก็มีความแตกต่าง มีวิธีการเลี้ยงดู ทำความเข้าใจพัฒนาการ ความสำคัญกับเด็กไม่เท่ากันกับครู หรือพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์ ซึ่งในประเทศไทยมีสถานสงเคราะห์อยู่ แต่จะเพียงพอหรือไม่ ต้องดูข้อมูลรายละเอียด”
รศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
นอกจากนี้อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ยังระบุด้วยว่า อัตราการหย่าร้างในครอบครัวไทยปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่า “เด็กที่อยู่ในครอบครัวหย่าร้างก็เพิ่มขึ้น” แต่ก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่หย่าร้างจะมีปัญหาเสมอไป ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีความสามารถดูแลบุตรได้ ทำให้สัดส่วนเด็กที่ต้องออกมาอยู่ตรงนี้ (วัด สถานสงเคราะห์) ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
รศ.ปิยวัฒน์ บอกอีกว่า โอกาสในชีวิตของทุกคน ไม่เหมือนกัน เด็กที่เกิดมาก็จะเจอความท้าทายของครอบครัว แตกต่างกัน ในกรณีเด็ก 2 คนนี้ คิดว่าพวกเขาโชคดี และ มีโอกาสได้พึ่งใบบุญการดูแลของพระพยอม ซึ่งท่านมีกองทุน มีทรัพยากรดูแลเด็กเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ได้อยู่ในจุดที่เบาใจได้ว่ามีคนดูแล
“ดูแลสุขภาพใจ” เด็กถูกผลักออกจากครอบครัว
สำหรับวัดที่มีเด็กอาศัยอยู่ ที่ไม่ใช่วัดสวนแก้ว ที่มีกองทุน มีเครือข่ายคอยดูแลเด็ก สิ่งน่าเป็นห่วง คือ “สภาพจิตใจ” เพราะเด็กอาจถูกกระทำความรุนแรง หรือถูกกลั่นแกล้ง อาจสังเกตได้จากการแสดงออกทางวาจา ความรุนแรง ดังนั้นมองว่า จำเป็นต้องมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เข้าไปประเมินสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด เพราะระยะสั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็ก และอาจจะลุกลามไปถึงพฤติกรรมเด็ก ที่อาจจะเป็นไปในทางก้าวร้าว หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เรื่องนี้จำเป็นอย่างมาก เมื่อพบเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ
“เมื่อระบบครอบครัวขาดไป แม้อยู่วัด อาหารการกินมีแน่ ๆ เรื่องจิตใจอาจะไม่รู้สึกเหงา เนื่องจากไม่มีใครแกล้ง ไม่มีใครทำให้เศร้า ไม่มีใครทำให้เจ็บ มีเพื่อนเล่น แต่ในวันที่เขาต้องการความอบอุ่น ลึก ๆ จริง ๆ หากแม่ชีสามารถซัพพอร์ตได้ก็จะดี แต่กรณีนี้เราได้เห็นพฤติกรรมคำพูดบางอย่าง ที่อาจไม่ได้เหมาะสมกับช่วงวัย อาจแสดงถึงปัญหาบางอย่างออกมา การอบรมการให้ข้อแนะนำจึงสำคัญอย่างยิ่ง”
รศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา