ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ชวนมองหาทางถอยฝ่ายรัฐ ถอยอำนาจ “ส.ว.” ปลดชนวนขัดแย้ง
“เพียงทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 เท่ากับก่อนหน้า 22 พ.ค. 2557 ถ้า ส.ว. เลือกนายกไม่ได้ เหตุผลการชุมนุมก็ไม่มี เพราะการชุมนุมที่แท้จริง คือ การสืบทอดอำนาจ แก้ที่เหตุ ถอยคนละก้าว… ประชาชนขอไม่มากเกินไป เพราะท่านเอาไปแล้ว ท่านยังไม่คืน…”
นี่คือมุมมองส่วนหนึ่งของ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ทั้งในฐานะอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต ที่หลายครั้ง ชื่อของเขาปรากฏขึ้น พร้อมกับความเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคปัจจุบัน อย่างน้อยก็ในความสัมพันธ์และกิจกรรมทางการเมืองที่จัดโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The Active สนทนากับ ผศ.ปริญญา ถึงมุมมองการ “ถอยคนละก้าว” ท่ามกลางวิกฤตระหว่าง “รัฐ กับ ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม”
เขามองว่า ต้นเหตุหลักของการออกมาเรียกร้อง คือ “การสืบทอดอำนาจของ คสช.” ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมแนะทุกฝ่าย มีบทบาทช่วยประคับประคองสถานการณ์ความรุนแรง ปลดชนวนความขัดแย้ง
“สืบทอดอำนาจ” ต้นเหตุที่แท้จริง
ผศ.ปริญญา ชวนมองว่า หากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการสืบทอดอำนาจ รูปแบบการประท้วงในวันนี้จะแตกต่างไปจากเดิม อาจจะเป็นการประท้วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทน…
แต่รอบนี้ ต้นเหตุที่แท้จริงของการออกมาชุมนุม คือ “การสืบทอดอำนาจ” ของ คสช. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมแนะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เท่ากับฉบับก่อหน้า 22 พ.ค. 2557 (ก่อนการรัฐประหาร ปี 2557) ก็จะไม่มีเหตุผลให้ต้องออกมาชุมนุม นี่จึงเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องที่รัฐบาลทำได้ง่าย และควรทำเร่งด่วนที่สุด
หากเราย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง จากเสียงของพรรคที่ประกาศสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ ในช่วงแรก มีเพียง พรรคพลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย และประชาชนปฏิรูป ซึ่งรวมกันแล้วมีราว 8.8 ล้านเสียง ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันมีอยู่ 16 ล้านเสียง มากกว่า 2 เท่า แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้มาเพราะการโหวตเลือกของวุฒิสมาชิก (ส.ว.)
สิ่งนี้กำลังสะท้อนว่า หากย้อนกลับไปก่อน 22 พ.ค. 2557 แล้วทำตามหลักการของประเทศ คือ 1 คน 1 เสียง ก็จะจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง
แต่ผ่านมาวันนี้ 1 คน 1 เสียง ก็ยังถูกตั้งคำถาม เช่นเดียวกับอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลก็ทำไม่ได้ เช่น กรณีนาฬิกาหรูของรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯลฯ และอีกหลายเหตุการณ์ในบ้านเมืองที่สะท้อนชัดว่า ทำไม่ได้ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างแน่นอน
ผศ.ปริญญา มองว่า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็น “ข้อเรียกร้องที่ไม่มากเกินไป เพราะท่านนายกฯ เอาไปแล้วยังไม่คืนประชาชนเท่านั้น…”
แนะ นายกฯ รับผิดชอบด้วยกลไกรัฐสภา
การประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในกรุงเทพฯ อาจเป็น 1 สัญญาณบวกจากทางรัฐบาล เช่นเดียวกับการเดินหน้าเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ต.ค. จึงไม่แปลกที่จะเห็นการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เพื่อกดดันให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
พร้อมกับแนะนำนายกรัฐมนตรีว่า มีหน้าที่ต้องผลักดันให้อำนาจและเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 275 เสียง จาก 500 เสียง วุฒิสภา 250 เสียง นำมาสู่การแก้ปัญหา อย่าทำให้เป็นเพียงการพูดคุยแบบไม่ได้นำไปสู่ทางออกเหมือนหลายครั้งที่กลไกรัฐสภาถูกตั้งคำถาม
เบื้องต้นจึงขอเพียงทำให้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เท่ากับก่อนหน้า 22 พ.ค. 2557 ให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเลือก นายกฯ และขั้นต่อไปจะ ยุบสภาฯ หรือ ลาออก ก็ว่ากันต่อ
“เพราะการไม่ยอมให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตนายกฯ เท่ากับไม่สืบทอดอำนาจ”
หากปลดล็อกชนวนนี้ จะช่วยผ่อนคลายอุณหภูมิ และความตึงเครียดได้
ผศ.ปริญญา ยังเสนอให้ นายกรัฐมนตรี เลิกการกล่าวอ้างถึงสภาบันพระมหากษัตริย์ในทุกกรณี เพื่อไม่ทำให้ความไม่พอใจรัฐบาลถูกเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะหลักการของการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ The King can do no wrong พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ว่าง่าย ๆ คือ รัฐบาลต้องออกหน้าแทน
“ผมขอเรียนว่า ท่านนายกฯ อาจจะไม่ทราบหลักการนี้ ท่านต้องทราบว่า หลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั่วโลก คือ ระบบรัฐสภา นายกฯ จะเป็นคนรับผิดชอบเองทุกอย่าง ไม่ถึงพระมหากษัตริย์ นายกฯ ต้องยึดมั่นในหลักข้อนี้ และดำเนินการจริง ๆ”
“ยุบสภาผู้แทนราษฎร” อีกตัวเลือกการถอย
แนะ “ประชาธิปัตย์” ถอนตัวพรรคร่วมรัฐบาล แก้วิกฤตบ้านเมือง
ผศ.ปริญญา ระบุว่า เวลานี้หากมีพรรคใดถอนตัว รัฐบาลจะกลายเป็นเสียงข้างน้อยทันที เวลานี้ พรรคประชาธิปัตย์ มีความชอบธรรมที่จะถอนตัว เพราะเคยแถลงจุดยืนไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่มติพรรค แต่เข้าร่วมรัฐบาลเพราะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ จึงสามารถอ้างความชอบธรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะในทางการเมืองแล้ว หากพรรคร่วมถอนตัว สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องทำ คือ การยุบสภา
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า นี่เป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นพระเอกช่วย แก้ไขบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้
แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง การยุบสภาก็ยังมีข้อโต้แย้ง เพราะยุบไปแล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กลับมาใหม่ได้ เพราะยังคงให้อำนาจ สว.เลือกนายกฯ อาจจะเรียกว่าเป็นทางลงที่ไม่ทำให้เสียหน้า แล้วค่อย ๆ ถอยกลับไปเลือกตั้งใหม่แบบในปี 2562 ซึ่ง ผศ.ปริญญา ย้ำว่า ถ้าเดินเส้นทางนี้จะต้องไม่ไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งอีก เพราะสิ่งที่ตามมามักจะเป็นการปฏิวัติ ไม่ว่าจะถอยแบบนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องคิดว่า ทำอย่างไรไม่ให้สถานการณ์บานปลาย มีความขัดแย้งนองเลือด
ถอดบทเรียน รสช. ถอยอำนาจ ส.ว.
“ผมว่าเรื่องเร่งด่วน หนีไม่พ้น อำนาจ ส.ว. หากนายกฯ ยอมถอยจะเหมือนกับที่ รสช.เคยยอมถอย สิ่งนี้ทำให้ชนวนเหตุของปัญหา หายไปเกินครึ่ง”
หากเปรียบเทียบการออกมาชุมนุมเรียกร้องในวันนี้ จะใกล้เคียงกับการออกมาชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาในช่วงปี 2534 ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ รสช. นำโดยนายทหารผู้ใหญ่ 5 คน คือ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพลเอก อิสระพงษ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นมาก็ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 (ที่มา: บทความพระปกเกล้า)
ผศ.ปริญญาเล่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็เกิดขึ้นจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ เช่นกัน โดยภายในร่างแรก กำหนดให้ รสช. เลือก ส.ว.ชุดแรก โดยให้อำนาจ ส.ว.เลือกตัวนายกรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เหมือนยุคปัจจุบันที่กำหนดอำนาจ ส.ว. ไว้ในบทเฉพาะกาล และเป็นชนวนเหตุให้บรรดานักศึกษาออกมาประท้วงหน้าสภาฯ ด้วยปม “สืบทอดอำนาจ” แต่สุดท้าย รสช. ก็ยอมถอย ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป
“ตอนคนประท้วง รสช. ยอมถอย ยอมตัดอำนาจ ส.ว. ทำไม คสช. ไม่ถอยบ้าง… ประเด็นคือ ตอนนี้คนประท้วงมากกว่าปี 2534 แล้วนะครับ… ช่วยกันเถอะครับ อย่าให้เกิดเหตุที่รุนแรงไปกว่านี้ ท่านเป็นนายกฯ มา 6 ปี ท่านต้องพิจารณาแล้วว่า จะถอยอย่างไร”
บทส่งท้าย
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า วิธีที่รัฐบาลใช้ยุติการชุมนุม ทำให้เราเห็นกระแสตีกลับของสังคมชัดเจน รัฐบาลได้รับบทเรียนว่า ทุกฝ่ายควรช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ดังนั้น รัฐ ต้องไม่คิดว่า จับแกนนำแล้วเรื่องจะจบ เพราะทุกคนมีสิทธิ์สู้คดีนอกศาล มีเพียงศาลที่ชี้ชัดว่าใครทำผิด รวมถึงสิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐานที่ฝ่ายบ้านเมืองจำเป็นต้องเคร่งครัด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2563 มาตรา 29 วรรค 2 ระบุไว้ว่า “…ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้…”
เป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องเคร่งครัด เพื่อไม่เติมเชื้อไฟ ความไม่พอใจของผู้คนในสังคม