‘ตากใบ’ นับถอยหลัง… อวสาน ‘สันติภาพ’ ชายแดนใต้ ?

ต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา The Active มีโอกาสติดตามการลงพื้นที่ของ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นครั้งท้าย ๆ ของการทำงานรับฟังความคิดเห็นผู้คน ก่อนรวบรวมข้อมูล มาจัดทำเป็นข้อเสนอเดินหน้าการสร้างสันติภาพ หนึ่งในสาระสำคัญของการเดินสายลงพื้นที่ครั้งนั้น คือ การไปรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ตากใบ

นี่คือเหตุผลที่เชื้อเชิญให้เราร่วมเดินทางไป จ.นราธิวาส หวังมีโอกาสได้ยินเสียงของครอบครัวเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ ให้ได้รับรู้ว่า ความสูญเสีย และผลกระทบที่พวกเขาเผชิญมาตลอด 20 ปี อยู่ตรงไหนของสันติภาพ ที่กำลังตามหา

สถานที่พูดคุยถูกจัดแจง นัดแนะไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่ทันทีที่ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เดินทางไปถึง เก้าอี้ในส่วนที่นั่งของชาวบ้านตากใบ กลับว่างเปล่า… ในทางกลับกัน ที่นั่งในห้องประชุม เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานปกครอง แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไม่เห็นเงาชาวบ้านสักคน

นี่คือสัมผัสแรกที่ชวนให้เราอยากรู้เหตุผลว่า ทำไม ? ชาวบ้านจึงปฏิเสธเข้าร่วมเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการวงนี้ในนาทีสุดท้าย แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ ไม่เกินการคาดเดา พวกเขาไม่อยากผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทหาร ตำรวจ

สำหรับผู้สูญเสีย นี่คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตั้งแต่เหตุการณ์ ผ่านมา 20 ปี บาดแผล ความเจ็บปวด ยังคงติดค้างคาใจ เนื่องจากตลอดมาพวกเขาแทบไม่เคยได้รับรู้ถึงความพยายามแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียบุคคลที่รักของครอบครัว สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่เรารับรู้ได้

สำหรับชาวบ้านแล้ว ในตอนนั้นยังเป็นช่วงเวลาเริ่มต้น ที่พวกเขารวบรวมความกล้า ด้วยแรงฮึดสุดท้าย ร่วมกัน 48 คน เป็นโจทก์ ลุกขึ้นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แม้ไม่มีใครปฏิเสธว่าชาวบ้านได้รับการเยียวยาด้วยตัวเงินกันไปแล้ว แต่การเยียวยาด้วยความจริง และความยุติธรรม คือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่า

เมื่อไม่สามารถพบกับชาวบ้านผ่านเวทีดังกล่าว เราจึงประสานขอติดต่อพูดคุยกับชาวบ้านผ่านทางทนายความ และนั่นเป็นที่มาของเรื่องเล่าจากปากของครอบครัวผู้สูญเสีย

4 เดือน…ก่อนคดีตากใบ หมดอายุความ : เรื่องเล่า บาดแผล เหยื่อ!

ช่วงบ่ายของวันที่ 2 มิถุนายน 2567 เรานัดหมายกับชาวบ้านที่ บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่นี่เป็นชุมชนเล็ก ๆ เงียบสงบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา มีสวนปาล์ม สวนยาง และสวนผลไม้

ที่บ้านของ “ก๊ะบ๊ะ” – มือแย โซ๊ะ ยังมี “ก๊ะฮะ” – สะรีฮะ มัยเซ่ง และ “ก๊ะยะ” – สีตีรอกายะห์ สาและ นั่งรอเราอยู่ พร้อมด้วยน้ำอัดลม และกือโป๊ะจานใหญ่ ไว้ต้อนรับ เราใช้เวลานานนับชั่วโมงกับบทสนทนาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน จากที่ไม่ค่อยยิ้ม พูดน้อย ก็เริ่มได้ยินเสียงหัวเราะ ด้วยความเป็นกันเองมากขึ้น

ก๊ะบ๊ะ หยิบอัลบั้มรูปเก่าให้เราดู พร้อมชี้ให้ดูรูปลูกชายคนโต “มูฮำหมัด โซ๊ะ” ก๊ะบอกว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ลูกชายกำลังเป็นวัยรุ่น ในวัย 20 ต้น ๆ พยายามทำงานหาเงิน ช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน วันเกิดเหตุที่หน้า สภ.ตากใบ เธอไม่รู้เลยว่า ลูกชายไปอยู่ที่นั่น คิดว่าลูกไปซื้อของที่ตลาดเพื่อรอออกบวช จนสุดท้ายได้ทราบข่าว ว่าถูกทหารจับตัวไป ก็ตกใจ คิดว่าจะทำยังไงถึงจะช่วยลูกได้ เขาคงกลัวมาก

“ตอนนั้นรู้แค่ว่าลูกถูกจับ หลังจากเขาสลายการชุมนุม ก็คิดว่าเดี๋ยวเขาคงปล่อยตัว แต่ผ่านไป 2 – 3 ลูกก็ยังไม่กลับมา จนมารู้อีกทีว่า เขาตายแล้ว ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูก ยิ่งมารู้ว่าตายมาบนรถทหาร ยิ่งโกรธมาก ทำไมมาทำกับลูกเราอย่างกับไม่ใช่คน”

ก๊ะบ๊ะ ย้อนความทรงจำที่เจ็บปวด

นั่นเป็นชะตากรรมเดียวกันกับ “อับดุลฮาดี อุเซ็ง” ลูกชายของ ก๊ะฮะ ที่ต้องจบชีวิตลงจากการขนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ก๊ะฮะ บอกกับเราว่า รับไม่ได้ที่ลูกต้องมาเจออะไรแบบนี้ เป็นการกระทำที่เลวร้ายมาก ทำเหมือนขนย้ายสัตว์ ไม่รู้ว่าลูกชาย และคนอื่น ๆ ที่อยู่บนรถจะทรมานแค่ไหน

“ก๊ะฮะ” – สะรีฮะ มัยเซ่ง

“จริง ๆ ก๊ะอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็ทำใจมาตลอด คนมุสลิมเราถือว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มันถูกกำหนดมาแล้ว เหมือนเราถูกรถชน นั่นก็เกิดได้ มันเป็นอุบัติเหตุ แต่ที่ลูกชายก๊ะโดน มันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุมาก ฝ่ายรัฐอยากให้ชาวบ้านลืม แต่เราลืมไม่ลง”

ก๊ะฮะ เผยความในใจ

บทสนทนาแม้ไม่มากมาย เพราะด้วยภาษาที่ไม่ถนัดนัก จึงไม่ง่ายสำหรับชาวบ้านที่จะกลั่นแต่ละคำพูดออกมาด้วยภาษากลาง แต่สิ่งที่สัมผัส คือ แววตาที่ยังคงแฝงไปด้วยความห่วงกังวล

เราใช้เวลาอีกสักพัก แดดเริ่มหุบแทนทีด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้ามาแต่ไกล จนก๊ะบ๊ะ ถามเราว่า “จะกลับหรือยัง ถ้ายังไม่รีบจะพาไปที่กุโบร์” ก๊ะเห็นเราใส่กางเกงขาสั้นมา จึงเดินเข้าไปหยิบโสร่งมาให้ใส่เพื่อเข้าไปยังกุโปร์ ตามหลักปฏิบัติ

ขับรถจากบ้านไม่นาน เราก็มาถึงกุโบร์ของบ้านจาเราะ ที่นี่ดูสะอาดตาเพราะผืนดินเป็นดินทรายขาวโพลนไปทั่วพื้นที่ ก๊ะบอกเราว่า ไม่ได้มานานแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่ครู่หนึ่ง จึงจะหาหลุมศพของลูกชายเจอ จากนั้นแม่ก็นั่งลงกับพื้นใช้เวลาอยู่อีกครู่ใหญ่ เสมือนนั่งระลึกถึงผู้ที่จากไป ก๊ะบอกว่า ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ยังมี 4 คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งทุกคนก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน แน่นอนว่าอะไร ๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความรัก ความคิดถึงไม่เคยหายไปไหน

ใช้เวลาอยู่ที่กุโบร์ไม่นานฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จนเราต้องขอตัวกลับเข้าเมือง ก๊ะบอกว่า “ไว้ฤดูผลไม้แวะมาหาใหม่ จะเอามังคุด ลองกองให้กิน” เราตบปากรับคำด้วยความยินดี…

เช้าวันต่อมาเราไปพบกับ “แบดิง” – หะยีดิ้ง มัยเซ็ง ซึ่งอยู่ที่ บ้านมาเดาะมาตี ต.ไพรวัน อ.ตากใบ ไม่ไกลจากบ้านจาเราะที่ไปมาก่อนหน้านี้ แบดิง เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุม แต่บาดแผล และภาพความทรงจำเมื่อ 20 ปี ก่อน ยังคงจดจำ และเกิดคำถามในใจเขามาจนถึงทุกวันนี้

“แบดิง” – หะยีดิ้ง มัยเซ็ง

แบดิง เล่าย้อนที่มาที่ไปของวันเกิดเหตุให้เราฟังว่า ได้ยินเขาประกาศให้ไปรับของที่หน้า สภ.ตากใบ ซึ่งเขาก็กำลังจะไปตลาดตากใบอยู่แล้วเพื่อเตรียมซื้อข้าวปลาอาหารมาไว้ตอนออกบวช ตอนนั้นก็ไปกัน 4 – 5 คน นั่งรถกระบะกันไป พอไปถึงสามแยกโก-ลก มีรถตำรวจมากั้นปิดถนนไว้ บอกว่าที่หน้า สภ.ตากใบ มีการชุมนุม แต่เขามีเพื่อนเป็นตำรวจ เลยขอเข้าไปเพื่อจะไปซื้อของที่ตลาดเท่านั้น พอไปถึงคนเยอะมาก ไม่นานก็ได้เสียงปืนยิงขึ้นฟ้า แล้วคนก็แตกฮือออกมา จนทหารบอกให้ทุกคนหมอบลง

“เขาให้หมอบตัวลงกับพื้น แต่ตรงที่นอนหมอบอยู่มันคับแคบ ด้านหน้ามองเห็นที่ว่าง ก็กะว่าจะลุกขึ้นแล้วย้ายที่หมอบไปด้านหน้า พอลุกขึ้นก็ได้ยินเสียงปืนดังจากนั้นเราก็เหมือนภาพตัดไปเลย สลบไปตอนไหนไม่รู้ ไม่รู้สึกตัวเลย เพื่อนที่มาด้วยกันบอกว่า เราโดนยิงแล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาลากตัวไปไว้ที่หน้า สภ.ตากใบ ตรงสนามเด็กเล่น จากนั้นไปรู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลปัตตานี หมอบอกว่ากระสุนเฉียดปอดไปนิดเดียว ไม่โดนปอดจึงไม่โดนจุดสำคัญ ก็นอนรักษาตัวอยู่ 16 วัน”

แบดิง ย้อนวินาทีเฉียดตาย
ร่องรอยกระสุนปืนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ

พอออกจากโรงพยาบาล แบดิง ต้องถูกเชิญตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธฯ ต่ออีก 1 วัน 1 คืนเต็ม ๆ ซึ่งทหารถามอะไรเยอะแยะไปหมด ถามว่าทำไม ? ไปอยู่ตรงนั้น ใครใช้ให้ไป ? คุยอยู่นานเขาก็ให้กลับบ้าน แต่ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านมารับตัวกลับ

เขา ยอมรับว่า แม้โชคยังเข้าข้าง ดีที่กระสุนปืนไม่โดนจุดสำคัญ แต่บาดแผลที่มีร่องรอยให้เห็นบริเวณสีข้างด้านขวา และแผลแตกตรงหัว ทำให้เขากลับมาสภาพไม่เหมือนเดิม จากที่เคยทำสวน ทำงานก่อสร้าง ก็ทำไม่ได้ เหนื่อยง่าย ทำงานหนัก ๆ แล้วหัวใจเต้นแรง ดีที่ว่ามีลูกเยอะถึง 8 คน ลูก ๆ ก็ต้องมาหาเลี้ยง จากที่เคยทำงานดูแลคนทั้งบ้าน  

แบดิง เป็นหนึ่งใน 48 โจทก์ที่ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจากกรณีสลายการชุมนุม เขายอมรับว่า ที่ต้องฟ้องก็เพราะอยากให้เจ้าหน้าที่ทำกับประชาชนให้ดี ๆ ให้ถูกต้อง เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อย่าทำแบบนี้อีก บางคนเขาไม่เกี่ยวข้อง เป็นคนบริสุทธิ์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย ก็ต้องมาพลอยรับเคราะห์กรรม ชีวิตไม่เหมือนเดิม บางคนโชคร้ายก็ต้องตายไป ที่สำคัญคือ เกิดเหตุรุนแรงขนาดนี้จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ

“โกรธนะ ที่เขาทำไม่ถูกต้อง ทำผิดแต่ไม่มารับผิดชอบ ไม่ขอโทษ คนตายขาดอากาศหายใจ แล้วใครล่ะเป็นคนทำ เจ้าหน้าที่ต้องยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำลงไป แต่นี่ทำให้รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย”

แบดิง เผยความรู้สึก

สิ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือ ระยะเวลาที่ล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ แต่ยังไม่มีใครได้เข้าใกล้ความยุติธรรม และการรู้ความจริง จากเหตุการณ์ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อความยุติธรรม ยังยากที่จะมองเห็นจากกรณีนี้ หรือนี่อาจกำลังย้อนกลับไปสู่การไร้ซึ่งบทเรียนที่สังคมไทยควรได้เรียนรู้

8 วัน…ก่อนคดีตากใบ หมดอายุความ : เมื่อความอยุติธรรม ผลิตซ้ำ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’

เมื่ออายุความของ คดีตากใบ ใกล้จะหมดลง โดยไม่มีการตั้งคำถามจากคนในสังคม ว่า ทำไม ? กระบวนการที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย ถึงถูกทำให้ล่าช้ามาตลอด 20 ปี

สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยไม่เรียนรู้และเพิกเฉยกับ ‘ความอยุติธรรม’ แม้ว่าการเพิกเฉยจะเป็นไปโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ก็เท่ากับว่า สังคมกำลังอนุญาตให้ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ กระทำความผิดจนสำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอยู่ในสังคมตลอดเวลา

นี่เป็นคำถามสำคัญ ที่สังคมไทยควรจริงจังกับการค้นหาคำตอบ ที่ ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนให้สังคมไทยกลับไปคิดทบทวนว่า ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์คนผิดลอยนวลกี่ครั้งแล้ว และแต่ละครั้งเป็นการทำให้เชื้อเพลิงความรุนแรงสะสม และมีพลังงานมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดความรุนแรงระลอกใหม่หรือไม่ ?

ผศ.พัทธ์ธีรา ยกตัวอย่างปัญหาสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรม เชิงโครงสร้างอำนาจ และให้สังคมเคยชินกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม คณะรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งเป็นการออกกฎหมายยกโทษให้คณะรัฐประหารพ้นผิด ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรมในเชิงกฎหมาย เนื่องจากในระบบความยุติธรรมไม่มีใครลุกขึ้นมาคัดค้าน และตั้งคำถามว่าทำการออกกฎหมายยกโทษตัวเองเช่นนี้ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ หรือเป็นการโยนบาปให้สังคมแบกรับกันมาตลอด

“ไม่ใช่แค่รัฐ แต่ประชาชนทั่วไปที่ทำความผิดก็มีโอกาสเอาตัวเองลอยนวลพ้นผิดได้ เพียงแค่ต้องพิจารณาเรื่อง ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าส่งผลขนาดไหน และใครได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจที่เป็นต้นเหตุของความอยุติธรรมนี้เป็นอำนาจของใคร ซึ่งถ้าเป็นการลอยนวลพ้นผิดในระดับประชาชนทั่วไปก็อาจจะไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างได้เท่ากับสถาบันหรือองค์กรของรัฐ ที่มีทั้งอำนาจและทรัพยากรจนก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบความยุติธรรมของรัฐ”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

“ได้เงินชดเชยเยียวยาไปแล้ว ทำไมถึงต้องมาเรียกร้องอีก”

“จะมีอาชีพอะไรที่จะทำให้ได้เงินขนาดนี้”

นั่นเป็นตัวอย่างคำถาม ที่ถูกระบุว่าเป็นวาทกรรมที่ ผศ.พัทธ์ธีรา ชี้ให้เห็น การผลิตซ้ำและเป็นการซ้ำเติมเหยื่อให้ต้องเจ็บปวดมากขึ้น เพราะเรื่องของ เงินเยียวยา จริง ๆ แล้วไม่สามารถชดเชยได้เท่ากับชีวิตของคนที่เรารัก และไม่ได้เป็นการคืนความยุติธรรมที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดสำหรับผู้เสียหายตราบใดที่ยังมีผู้ลอยนวลพ้นผิด เพราะศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่สามารถซื้อขายได้

นอกจากนี้ วาทกรรมที่เกิดขึ้นยังสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในแง่มุมที่ผิด จนอาจเกิดความเกลียดชังและอคติกับผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับรู้สารจึงจะต้องรู้เท่าทัน และไม่ติดกับดักวาทกรรมต่าง ๆ นี้ แต่หากมีข้อสงสัยก็ควรตั้งคำถามเชิงวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา รอบคอบ และรอบด้าน เพื่อไม่ให้ติดกับดับของอคติและความเกลียดชังที่มีต่อผู้เสียหายหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย

นักสันติวิธี ยังยอมรับว่า ในเรื่องของสันติภาพ การจินตนาการและความหวังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อไรที่หมดสิ้นความหวัง เมื่อนั้นก็จะไม่เห็นทางออก สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้ คือ องค์ความรู้ ซึ่งประเทศไทยมีองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับเรื่องการแสวงหาทางออกจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด แต่สิ่งที่ทำให้การก้าวข้ามนี้เป็นเรื่องยาก เพราะประเทศไทยไม่มีเสรีภาพที่จะใช้ความรู้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และปัญหาในเชิงวัฒนธรรมที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายจึงปล่อยให้เป็นไปโดยไม่ต้องแก้ไขอะไร หรือ ปล่อยให้กรรมทำงาน

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

หากจะต้องหาวิธีก้าวข้ามวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ต้องเริ่มจากวันนี้ คือ ทุกคนจะต้องไม่เงียบ และจะต้องยืนยันว่าถ้าปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความรุนแรงโดยรัฐก็จะเกิดขึ้นได้อีก เราผ่านความรุนแรงโดยรัฐมาหลายครั้งแต่เรากลบฝัง และเมื่อมีคนอกมาเรียกร้องก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกก้าวร้าว ต้องการล้มรัฐ ซึ่งเป็นมายาคติที่บิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

รัฐบาลไม่จริงจัง ? แก้ปม ‘คดีตากใบ’

การปล่อยให้ประชาชนชินชากับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยังมีส่วนที่บ่งชี้ชัดเจนต่อความรู้สึกว่า รัฐเองก็ไม่จริงจังที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องตากใบ ในฐานะที่ทำงานศึกษา วิจัย คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มานับสิบปี นี่คือสิ่ง ผศ.พัทธ์ธีรา สัมผัสได้จากความรู้สึกของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบว่าสัญญาณอะไรทำให้ประชาชนกล่าวหารัฐว่าไม่มีความใส่ใจ หรือจงใจไม่คืนความยุติธรรมกลับไปให้กับผู้เสียหาย

หากต้องหาองค์ประกอบที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ผศ.พัทธ์ธีรา ชวนให้มองสัญญาณดังต่อไปนี้

25 ตุลาคม 2547 : วันเกิดเหตุ

  • เหตุการณ์เกิดขึ้นใน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี นั่งแม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น

ปัจจุบัน

  • พล.อ.พิศาล ลาออกจากการเป็น สส.พรรคเพื่อไทย และได้รับการอนุมัติทันทีในวันเดียวกันกับวันที่ยื่นลาออก (14 ต.ค. 67) ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดคำถามจากประชาชนว่า “ทำไมการเรียกร้องความยุติธรรมที่กินเวลามาเกือบ 20 ปี ไม่ได้รวดเร็วเหมือนกับกรณีการยื่นหนังสือลาออกของ พล.อ.พิศาล”

  • การแถลงนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ รัฐบาลเศรษฐา จนมาถึง รัฐบาลแพทองธาร ไม่ได้มีข้อความที่ให้ความสำคัญและความชัดเจนกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้โดยตรง

  • ในกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เคยทำงานร่วมกับ ทักษิณ และเคยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นคนสำคัญที่ทำเรื่องเยียวยากรณีตากใบ แต่ไม่เห็นความเอาจริงเอาจังในการลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย

  • ประธานรัฐสภา มาจากพรรคประชาชาติ ซึ่งเคยทำงานกับทักษิณมาก่อน

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นการย้อนกลับมาว่าการลาออก พล.อ. พิศาล ไม่ใช่เป็นการรับผิดชอบหรือรับผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการประกาศเจตจำนงที่จะปฏิเสธการรับผิดชอบโดยตรง และโจ่งแจ้งที่สุด และเป็นคำถามใหญ่สำหรับสังคมไทยว่า รัฐจะปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปแบบนี้ แล้วให้สังคมกลบฝังเอาวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดไปสุมขอนเตาไฟในเตาเพลิงที่ไม่มีวันดับสิ้นอย่างนั้นหรือ”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

3 วัน…ก่อนคดีตากใบ หมดอายุความ : ตากใบ ใคร ? ทำเต็มที่

แล้วอะไรที่พอจะบอกได้ว่าใคร ? ทำเต็มที่แล้วกับกรณีตากใบบ้าง รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ชวนให้พิจารณาจาก 3 อำนาจอธิปไตยของไทย ถ้าลองมองไปที่ ‘ฝ่ายนิติบัญญัติ’ จะเห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบทบาทของสภาฯ ล่าง สภาฯ บน ทำได้เต็มที่สุดความสามารถกับกรอบบทบาทหน้าที่ที่ทำได้แล้ว

รอมฎอน ปันจอร์

สส. เรียกข้อเท็จจริงเอามาเปิดเผยความจริง ใช้กลไก อภิปราย กลไกกรรมาธิการสามัญฯ ทั้งรับหนังสือข้อร้องเรียนจาก ศูนย์ทนายความมุสลิม ใช้อำนาจเรียกเอกสาร เรียกหน่วยงานมาชี้แจง จนในที่สุดก็ได้พบปมข้อเท็จจริงใหม่ ๆ และทำให้เห็นโอกาสจนนำมาสู่การที่ชาวบ้านตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นทำให้เห็นว่าชาวบ้านคาดหวังแต่กับกลไกตำรวจอย่างเดียวไม่พอ แต่กลไกนิติบัญญัติ ได้ช่วยเสริมแรงอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาความจริง และคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวเหยื่อตากใบ

“เราไม่มีอำนาจสั่งการ แต่เราใช้กลไกกรรมาธิการฯ ชุดต่าง ๆ ทั้ง สส. สว. แทบทุกกลไก ทำให้คดีตากใบ ไม่เงียบ คอยกระตุ้น กระทุ้ง จนเรื่องราวเดินมาถึงวันนี้”

รอมฎอน ปันจอร์

ขณะที่ ‘ฝ่ายตุลาการ’ ในมุมมองของ รอมฎอน ย้ำว่า เดินมาสุดอย่างที่ไม่นึกไม่ฝัน โดยเฉพาะการไต่สวน รับคดีมาไต่สวน การประทับรับฟ้อง ศาลเร่งรัดให้เร็วที่สุด ทำให้กระบวนการต่าง ๆ รวดเร็ว พอจำเลยไม่มาศาล ศาลก็ออกหมายจับ ทำงานเชิงรุกในช่วงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ศาลให้เวลาเต็มพิกัด คือ ถ้าจำเลยมาปรากฎตัวต่อศาล ถ้าเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจที่ไหน ศาลได้มีมาตรการเอาไว้แล้ว

“สิ่งนี้บ่งชี้ชัดเจนว่า ภายใต้เวลาที่นับถอยหลังแบบนี้ แต่ฝ่ายตุลาการก็ได้ทำเต็มที่แล้ว เพราะศาลเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เป็นปัญหาความรุนแรง และเกี่ยวข้องกับสันติภาพชายแดนใต้ และไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์เท่านั้น แต่ยังเป็นผลประโยชน์ต่อจำเลยด้วย เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริง”

รอมฎอน ปันจอร์

คำถามตัวโต ๆ เวลานี้ จึงหนีไม่พ้น ‘ฝ่ายบริหาร’ ในฐานะรัฐบาล ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการเร่งรัด การติดตามตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ ตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล แต่ รอมฎอน มองว่า รัฐบาลทำงานน้อยไปหน่อย ไม่แสดงความจริงจังการล่าตัวจำเลยมาศาลให้ได้ สะท้อนให้เห็นว่า เจตจำนงค์ทางการเมือง การบังคับบัญชายังไม่ดีพอ ในสายตาประชาชน เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่น ๆ อย่าง การตามตัว แป้ง นาโหนด

เช่นเดียวกับขีดความสามารถในแง่การข่าว การสืบสวน การติดตาม แกะรอย เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่น ๆ ที่สามารถแกะรอยได้อย่างรวดเร็ว รู้ความเคลื่อนไหวตลอด อย่างการติดตามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง บางครั้งไม่ต้องรอให้มีหมายจับก็สามารถรู้ทุกอย่างแล้ว ดังนั้นการหาร่องรอย เบาะแสจำเลยคดีตากใบ ขีดความสามารถที่มียังใช้ได้ไม่เต็มที่แน่นอน

“เรายังต้องการอำนาจทางการทูต ขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่พบว่าจำเลยหลบหนีไปอยู่ ต้องอาศัยรัฐบาล ของพวกนี้เรายังไม่เห็นความตั้งใจของรัฐบาล เราเห็นการปัดความรับผิดชอบ”

รอมฎอน ปันจอร์

2 วัน…ก่อนคดีตากใบ หมดอายุความ : บาดแผลสด เรื่องเล่าร่วมสมัย โจทย์ยากเดินสู่ ‘สันติภาพ’

สอดคล้องกับมุมมองของ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เวลานี้หมวกอีกใบก็คือ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ แสดงความเป็นห่วงไว้เช่นกันว่า หากคดีตากใบถูกปล่อยให้นิ่งเฉยแบบนี้ นอกจากสะท้อนชัดเจนถึงความไม่พยายามของรัฐ การตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแล้ว ยังอาจเป็นชนวนเหตุสำคัญไปสู่การต่อต้านรัฐของกลุ่มขบวนการได้เช่นกัน

รุ่งรวี ยอมรับว่า จากการทำงานศึกษา วิจัยความขัดแย้งในชายแดนใต้ และการเข้าสู่กลุ่มขบวนการ ต้องถือว่าเรื่องเหตุการณ์ตากใบ เป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายขบวนการฯ นำไปใช้ปลุกระดมคนมาสู้กับรัฐ เพราะเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย ที่ชี้ให้เห็นภาพความอยุติธรรมที่คนมลายูมุสลิมถูกกระทำจากรัฐไทยที่ชายแดนใต้อย่างชัดเจน

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

“เรื่องตากใบเป็นเรื่องร่วมสมัย พอพูดถึงคนมีภาพจำ มีประสบการณ์ตรง หรือเคยผ่านเหตุการณ์ความเจ็บปวดนี้มา ซึ่งก็พบว่า คนที่มาจากผลพวกของเหตุการณ์ตากใบ จำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมกับกลุ่มขบวนการ ดังนั้นการที่คดีตากใบจะจบลงแบบหมดอายุความ โดยไม่ได้ตัวคนรับผิดชอบเลย จะตอกย้ำ ให้คนรู้สึกว่าถูกกระทำที่ชายแดนใต้ชัดเจนมาก ๆ อีกครั้งหนึ่ง”

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

และในฐานะของ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ยอมรับเลยว่า แม้ตากใบเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความขัดแย้งรุนแรง แต่อาจยิ่งทำให้โจทย์การสร้างสันติภาพยาก และท้าทายขึ้นไปอีกขั้น ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วกรอบใหญ่ของการไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพที่พยายามจัดทำข้อเสนอยังคงเดิม โดยมองไปที่ปัญหาใหญ่ที่สุดนั่นคือ เจตจำนงทางการเมืองของผู้นำประเทศ เพราะการเดินหน้าเจรจาสันติภาพ ถ้าผู้นำแสดงออกชัดเจนจะมีผลสำคัญ หลายประเทศที่เห็นสร้างสันติภาพได้สำเร็จ เจตจำนงทางการเมืองต้องมาก่อน กรณีไทยถ้าจะสำเร็จได้ต้องมีสัญญาณที่ชัดเจนทางการเมือง

“จริง ๆ รัฐบาลเพื่อไทย ริเริ่มการพูดคุย ตั้งแต่ปี 2556 ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญจริง แล้วสานต่อ ก็เป็นไปได้ที่จะส่งผลความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม กับการเดินหน้าไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ โดยเชื่อว่าระยะเวลา 3 ปี อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ถ้าชัดเจนมากพอ”

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

แน่นอนว่ากรณีคดีตากใบ กลายเป็นพัฒนาการเชิงลบ ย้ำภาพการลอยนวลพ้นผิดที่ยังคงอยู่ นี่คือโจทย์หนักที่ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ จะทำอย่างไรทำให้เรื่องนี้หายไป ต้องนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ปัญหา เช่น การแก้ไขเรื่องอายุความ เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ กมธ. น่าจะต้องพิจารณาในเชิงนโยบายต่อไป แต่ภาพใหญ่การเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นจากรัฐบาลเพื่อไทย ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้

“ความรุนแรง ที่อาจตามมาจากประเด็นร่วมสมัย อย่างตากใบ ยังเป็นแผลสดอยู่ มีคนจำนวนมากมีประสบการณ์ตรง มีประสบการณ์ร่วม ยังมีบาดแผลทั้งร่างกาย จิตใจ เรื่องเล่าเหล่านี้จะทรงพลัง ปลุกให้คนลุกขึ้นมาสู้กับรัฐได้อีกมาก ที่ชี้ให้เห็นไม่ใช่การชี้ทาง หรือฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ในการกระบวนการสร้างสันติภาพ เราต้องต้องจัดการกับบาดแผลในอดีต ไม่ใช่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม หากต้องการให้สังคมอภัย กระบวนการต่าง ๆ ต้องทำให้เหยื่อ หรือผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่า ได้สัมผัสความยุติธรรมที่เพียงพอ ที่มากกว่าการเยียวยาด้วยตัวเงิน เพราะการเยียวยาจิตใจ ความรู้สึกทดแทนไม่ได้ด้วยตัวเงิน ความเป็นธรรมจะนำไปสู่ความรู้สึกที่จะให้อภัยได้ ผู้กระทำก็ต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีตด้วย”

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

เรื่องราวมากมายในรอบ 20 ปี ของหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกยกให้เป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ชายแดนใต้ กำลังใกล้ถึงจุดจบ…ที่ไม่มีใครอยากให้จบแบบนี้

คดีตากใบจะทำให้สันติภาพเดินมาถึงทางตันจริงหรือ ? คำตอบอยู่ที่ว่า ถ้ารัฐไม่เคยเรียนรู้บทเรียน และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นแบบเดิม สันติภาพชายแดนใต้ที่ตามหา ก็คงริบหรี่เต็มทน แม้ทุกอย่างยังคงขับเคลื่อนด้วยความหวังก็ตาม…



 

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น