ฝุ่นควัน เป็นปัญหาที่คนภาคเหนือเผชิญกันมาต่อเนื่องยาวนาน จนกลายเป็นวงจรชีวิตที่ทุกคนอยู่ร่วมกับมันด้วยความเคยชิน แม้ข้อมูลทางการแพทย์ รวมถึงงานวิจัยต่าง ๆ ยืนยันชัดว่า การได้หายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษเข้าไปในร่างกาย ไม่ต่างจากการ ‘ตายผ่อนส่ง’ เป็นภัยเงียบที่หลายคนเองต่างก็รู้อยู่แก่ใจ
ทำยังไงให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยมีช่องทางไหนช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้คนระมัดระวังป้องกันตัวเองได้
การบอกเล่า สะท้อนปัญหาฝุ่นควัน ผ่านนิทาน 2 ภาษา เรื่อง ‘ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ’ (Another Breath to Live) จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทาง ย้ำเตือนให้ผู้คนในสังคม รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าใจเรื่องราวปัญหาเรื้อรังของคนภาคเหนือ
The Active ชวนทำความรู้จัก แอม – วิรตี ทะพิงค์แก ผู้เขียน และเจ้าของสำนักพิมพ์เมาท์เทนมายด์ อดีตนักสื่อสารมวลชน ที่มาสะท้อนมุมมองการใช้นิทานบอกเล่าเรื่องราวสร้างความเปลี่ยนแปลงกับผู้คน
วิรตี เล่าว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านการสื่อสารมวลชนมา 20 ปี และเริ่มก้าวเข้าสู่การทำนิทานประมาณ 5 ปี พบว่า ในมิติของการสื่อสาร นิทาน มีลักษณะบางประการที่สามารถทำงานในเชิงการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในลักษณะของสื่อสารมวลชน คือ การสร้าง Impact เชิงจิตใจ และมีแนวโน้มที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้คนรู้สึกต้องลงมือทำอะไรได้มากกว่า ทำให้หันมาโฟกัสการทำนิทานมาตลอด และตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อ เมาท์เทนมายด์ (Mountain Mind) เพื่อที่จะทำนิทานในการสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นิทานฝุ่น ครบทุกมิติ ที่คนภาคเหนือต้องเจอ
ก่อนหน้านี้ วิรตี เขียนนิทานออกมาหลายเรื่อง แต่ครั้งนี้ทำประเด็นฝุ่นพิษ ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่กำเนิด หลังจากทำงานในกรุงเทพฯ และตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านกว่า 15 ปี ได้เห็นปัญหาฝุ่นควันมาตลอด
เธอเห็นฝุ่นว่าเป็นปัญหาตั้งแต่ตอนที่หลายคนยังไม่ให้ความสนใจ หรือสังเกตเห็นฝุ่นชัดเท่าตอนนี้ และช่วงนั้น นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจออกมารณรงค์อยู่บ้าง ซึ่งคุณหมอมองเห็นประเด็นปัญหาและเห็นถึงความเชื่อมโยงของภาวะความเจ็บป่วยบางประการ ว่าเกิดอะไรในฤดูแบบนี้ ที่มีความสัมพันธ์กับอัตราผู้ป่วยตลอดเวลาและได้ทำวิจัยเรื่องนี้ด้วย อีกท่าน คือ หมอหม่อง – นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่หลายคนรู้จักดี ที่ออกมาสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคมสังคม ออกมาพูดว่ามีฝุ่นที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
“เราอยากให้เห็นว่าสถานการณ์เรื่องฝุ่นมีมานานมาก เพียงแต่มันมีช่วงเวลาของการที่คนยังไม่ตระหนักรู้ คนเข้าใจแค่ว่าเป็นฝุ่นแบบนี้แหละ จะต้องมีตามฤดู แต่จริง ๆ ในภาพรวมฝุ่นมีมาตลอดและที่มันกลายเป็นเรื่องหนักหนาขึ้นมา เพราะว่าตอนนี้มันสามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่ฝุ่นเหมือนที่เคยเป็นมามาก่อน”
วิรตี ทะพิงค์แก
ปัจจัยเฉพาะ ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ
วิรตี สรุปปัญหาฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า อันดับแรก คือ ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ เมื่อเกิดควันจากการเผาหรือจากไฟป่า ควันเหล่านั้นก็จะลอยมาอยู่ในแอ่งนี้ เพราะว่ามันโดนอากาศกดครอบเอาไว้ นี่คือลักษณะของภูมิประเทศที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะเปลี่ยนฤดูรอให้อากาศยกตัว หรือมีลมพัดผ่านเข้ามาถึงจะดีขึ้น เมื่อ 10 ปีก่อนที่เราจะมาบอกว่ามันรุนแรงอย่างทุกวันนี้ คือ รอให้ธรรมชาติช่วยชีวิตมาตลอด
ปัจจัยที่สอง คือ ฝุ่นควันข้ามแดน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงมากขึ้น ฝุ่นที่เราเคยบอกว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ เพราะภูมิประเทศและมีวัฒนธรรมการเผา แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์วิกฤตมากขึ้น เราเห็นกันชัดเจนว่า “เกิดฝุ่นควันข้ามแดน” โดยเฉพาะช่วง 5 ปีมานี้ชัดเจนมาก อ้างอิงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นจุดความร้อน (Hotspot) ที่อยู่รอบประเทศไทยในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมาจากเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะอากาศเคลื่อนตัวได้ การเผาอีกที่หนึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในพื้นที่ถูกเผา แต่ว่าควันมันสามารถเคลื่อนไหลมาได้ตามทิศทางของลม
“เราที่อาศัยอยู่เชียงใหม่ แม้ไม่ใช่พื้นที่ด่านหน้าในการรับฝุ่นควันข้ามแดน แต่เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสถานการณ์ฝุ่นรุนแรงขึ้นมาก จากการที่เราติดตามสถานการณ์ เราเห็นจุดความร้อนของเพื่อนบ้านแดงขนาดนี้ พอนับเวลาไป 2-3 วัน เราจะพบว่า ที่เชียงใหม่ค่าคุณภาพอากาศจะสูงขึ้น จากระดับสีแดง เป็นสีม่วงหรือน้ำตาล และรูปแบบมันก็จะเกิดเป็นแบบนี้มาตลอด ขณะที่จังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เขาอ่วมหนักตลอดเป็นสีน้ำตาลตลอด โดยเฉพาะปีนี้ที่เชียงรายเอาจริงและตรวจสอบตลอดไม่มีจุดความร้อนในจังหวัดของตัวเอง แต่กลับพบค่าฝุ่นทะลุสีน้ำตาล”
วิรตี ทะพิงค์แก
วิรตี บอกว่า ปัจจัยภายในเป็นเรื่องหนึ่ง คือ การเผา ที่แต่ละจังหวัดต้องจัดการกัน แต่เรื่องฝุ่นควันข้ามแดนเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าและส่งผลกระทบรุนแรง หากเราติดตามจากพื้นที่ที่มีมีการเพาะปลูก ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าฝุ่นควันที่มานั้นมาจากการเผาชนิดใด กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงหรือเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งวิธีการเกิดขึ้นต่างจากฝุ่นของกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม
“ความยากลำบากจากความทุกข์ทรมานจากฝุ่น ไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขนาดในประเทศของตัวเองเรายังจัดการกันได้ยากเราก็ต้องยอมรับว่าคนที่แอบจุดไฟเผาอยู่ สิ่งที่เราต้องการสะท้อนคือปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เราจะแก้อย่างไร ถ้าเราไม่ร่วมมือกับต่างประเทศเพราะมันกลายเป็นปัจจัยหลัก และในเชิงปริมาณของฝุ่น และระยะเวลาของการเกิดจุดเผาไหม้และฝุ่นมันยาวนานมาก มันทรมานมากเลย แล้วอย่างที่เราเคยเล่าว่า เมื่อก่อนมันก็เคยมีแล้วเรารอฟ้าฝน แต่ตอนนั้นมันเป็นสีส้ม สีแดง แต่พอฝุ่นมาระดับสีม่วงสีน้ำตาลมันเกินที่คนจะอยู่ไหว”
วิรตี ทะพิงค์แก
เรื่องเล่าจากคนใน แรงบันดาลใจสื่อสารนิทานฝุ่น
วิรตี กล่าวอีกว่า แรงบันดาลใจที่ทำนิทาน คือ อยากโฟกัสเรื่องการสื่อสารผ่านนิทาน และในฐานะที่เป็นคนเชียงใหม่ รู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญ และควรจะต้องพูดให้คนเข้าใจ และการพูดครั้งนี้ คือ การพูดจากคนใน คือคนที่อยู่ในภาคเหนือเราคือคนเชียงใหม่ ซึ่งเราเข้าใจบริบทของการเกิดฝุ่นในภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้จะพูดเพื่อหาคนผิด แต่เป้าหมายของการสื่อสารคือต้องการส่งเสียงออกไปว่าเรื่องนี้สำคัญ คือ มันถึงชีวิต ที่สำคัญ เรื่องฝุ่น ควรต้องถูกมองว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ไม่ใช่ปัญหาในลักษณะสถานการณ์ ไม่ใช่แก้ปัญหาระยะสั้น
เมื่อความหวังอยู่ที่ ‘กฎหมายอากาศสะอาด’
ในนิทานของ วิรตี ยังได้สอดแทรกความสำคัญ ของการมี กฎหมายอากาศสะอาด ลงไปด้วย เธอเชื่อว่า ประเทศไทยต้องมีกฎหมายอากาศสะอาดที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
“ตอนนี้มีร่างกฎหมาย 6-7 ร่าง ในสภาฯ เป็นร่างที่เสนอโดยพรรคการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็มีร่างที่ถูกเขียนโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชน เรามองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน การมีเครื่องมือที่จะเริ่มต้นในการแก้ไขกำกับดูแล ไม่ว่าจะให้คุณหรือให้โทษ และเราเห็นตลอดเวลาการแก้ปัญหามันลูบหน้าปะจมูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจหน้าที่ งบประมาณ มีความเหลื่อมซ้อนไม่ราบรื่น นำไปสู่การร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่คำนึงถึงในแต่ละมิติที่เครือข่ายอากาศสะอาดทำ”
วิรตี ทะพิงค์แก
เพราะฉะนั้น วิรตี คิดว่า นิทานเล่มนี้จึงเป็นการพูดที่ทำให้เห็นสถานการณ์ ที่คนภาคเหนือกำลังเผชิญอยู่ในเชิงรายละเอียดของที่มาต้นกำเนิดฝุ่น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ว่าต้องขยับไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและรัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาทำเรื่องนี้ ในลักษณะที่ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อสถานการณ์
“ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูง เวลาเกิดสถานการณ์ปัญหาที่เป็นลักษณะเรื่องสุขภาวะ ปัญหาทุกอย่างจะถูกปัดไปที่ปัจเจกใครที่มีเงินก็แก้ปัญหาได้ คนที่มีเงินที่จะซื้อหน้ากากมีห้องแอร์มีเครื่องฟอกอากาศ เขาก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ไม่มีรายได้และต้องทนอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องจ่าย แต่นี่เป็นเพียงมิติทางเศรษฐกิจ แต่ในคนที่ไม่มีท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ แม้แต่เงินเลี้ยงปากท้องยังไม่เพียงพอ ก็จะเกิดภาวะทางสุขภาพ เขาไม่มีสิ่งใดที่จะดูแลตัวเองได้เลย ตรงนี้มันคือหน้าที่ของรัฐโดยตรง ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการในการดูแลสุขภาพของประชาชน ตรงนี้ต้องย้ำเลยว่า มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญการอยู่ในที่ที่สะอาดและมีคุณภาพนี่คือสิทธิของการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติสุข ซึ่งรัฐธรรมนูญของทุกประเทศต่างบัญญัติไว้เป็นข้อแรก ๆ เสมอเลย
วิรตี ทะพิงค์แก
แต่เรื่องฝุ่นควันไม่เคยถูกเชื่อมโยงไปถึงสิ่งนั้น คือ ผู้คนอาจจะหยุดกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ไม่มีใครสามารถหยุดหายใจได้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ซึ่งนิทานเรื่องนี้ก็จะพยายามนำเสนอในประเด็นเหล่านี้ทั้งหมด
ย่อยข้อมูลให้ง่าย ภายใต้การศึกษาข้อมูลเข้มข้น
วิรตี กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงาน ว่ามีการสืบค้นข้อมูลอย่างรอบด้าน และนิทานมีฟังก์ชันที่ไม่ใช่แค่ทำงานกับเด็ก แต่สามารถทำงานกับผู้ใหญ่ได้ด้วย นิทานสามารถทำเรื่องยาก ให้ง่าย ทำเรื่องที่มองไม่เห็นให้มองเห็นได้ง่ายขึ้น อย่างในเรื่องของฝุ่น เชื่อว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ ในนิทานสามารถทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็นได้ง่ายขึ้น
เบื้องต้นได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ภายในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยแจกให้กับโรงเรียน สถานศึกษา ยอมรับว่า ต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ในช่วงแรกมีการตีพิมพ์ไปแล้วจำนวน 500 เล่ม แต่ยังไม่ครอบคลุมเป้าหมายที่ต้องการให้ได้อ่าน ความตั้งใจ คือ อยากให้หนังสือเล่มนี้ได้อ่านกันทั้งภาคเหนือ จึงพยายามทำเป็น E-Book ขึ้น โดยสำนักพิมพ์ยินดีรับการสนุนการจัดพิมพ์
“ที่สำคัญได้มีการแปลเป็นสองภาษา เพราะต้องการให้คนเห็น ไม่ใช่แค่คนไทยแต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านได้อ่านและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ อย่างเชียงราย เชียงใหม่ก็เป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติมาเยอะถ้าหากเขาได้มาหยิบอ่านก็จะช่วยสื่อสารเรื่องนี้ได้อย่างดี”
วิรตี ทะพิงค์แก
สำหรับ นิทานเรื่องฝุ่นควันภาคเหนือ ได้ริเริ่มโครงการร่วมกับ จุรีรัตน์ สมบูรณ์ หนึ่งในสมาชิกชาวเชียงใหม่ของทีม No grant SMOG ที่ชนะเลิศการประกวด SMOGATHON THAILAND 2020 (จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานกงศุลในประเทศไทยและภาคีร่วม) ซึ่งชนะการประกวดด้วยแนวคิดเรื่องนิทานและบอร์ดเกมเรื่องฝุ่นควันด้วยเช่นเดียวกัน โดยมี นิพาดา ปันแจ้ ร่วมแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อขยายพรมแดนการสื่อสาร และ วีรวุฒิ กังวานนวกุล ศิลปินที่ทำงานศิลปะเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนเข้มแข็งในนาม เดอะมนต์รักแม่กลอง เป็นผู้จัดทำภาพประกอบ
สามารถดาวน์โหลด E-book หนังสือนิทาน ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ (Another Breath to Live) ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1423E0vI-ceCxoEmvpnXn1B8YFsYXTVLw/view