ขอคนละครึ่งทาง ระหว่าง ‘คนเดินเท้า’ กับ ‘หาบเร่แผงลอย’

สะดวกเท้า สบายท้อง : จุดสมดุลกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

กทม. มีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 170,000 ราย สมฉายา เมืองแห่ง ‘สตรีทฟู้ด’ สร้างมูลค่าเงินสะพัดใน กทม. กว่า 67,728 ล้านบาทต่อปี แต่หาบเร่แผงลอยก็ตกเป็นจำเลยในข้อหาทำให้เมืองสกปรก และเป็นสิ่งกีดขวางการเดินบนทางเท้า หาทางออกยังไงดีกับเรื่องนี้…

ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร The Active ชวนดูข้อมูลการสำรวจตลาดแหล่งอาหารในกรุงเทพฯ นโยบายการจัดการหาบเร่แผงลอย รวมถึงความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ ปากท้องของคนในเมือง ของ Rocket Media Lab

7 ปี แผงลอยลดลง 93.34 %

Rocket Media Lab เปิดเผยข้อมูลจำนวนสถานประกอบการอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักอนามัย กทม. แยกสถานประกอบอาหารออกเป็น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ต แผงลอย และตลาด

พบว่าเขตที่มีแหล่งอาหารมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ วัฒนา จำนวนรวม 1,352 แห่ง โดยที่เขตวัฒนานั้นมีร้านอาหารมากที่สุด แต่ไม่มีแผงลอยที่ได้รับใบอนุญาตเลย รองลงมาคือปทุมวัน จำนวนรวม 1,186 แห่ง โดยมีร้านอาหารมากที่สุดเช่นเดียวกัน และมีแผงลอย 72 แผง แต่มีตลาดเพียง 1 แห่ง ตามมาด้วย จตุจักร คลองเตย และบางรัก ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากเขตวัฒนาแล้ว มีแผงลอยทั้งสิ้น

ส่วนเขตที่มีแหล่งอาหารน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ ทวีวัฒนา จำนวนรวม 98 แห่ง โดยมีร้านอาหารมากที่สุด และไม่มีแผงลอยที่ได้รับใบอนุญาตเลย แต่ทวีวัฒนานั้นมีตลาดสูงถึง 16 แห่ง ตามมาด้วยหนองจอก จำนวนรวม 110 แห่ง

เมื่อเทียบข้อมูลของปี 2563 กับข้อมูลในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่สามารถสืบค้นรายงานจำนวนสถานประกอบการอาหารของกรมอนามัย กทม. ได้ จะพบว่า ในส่วนของร้านอาหารนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 14.39% จาก 12,512 ร้านในปี 2557 เป็น 14,313 ร้านในปี 2563 เช่นเดียวกันกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เพิ่มขึ้นจาก 212 แห่ง เป็น 252 แห่ง คิดเป็น 18.87% มินิมาร์ต ที่เพิ่มขึ้นจาก 3,294 แห่ง เป็น 3,935 แห่ง หรือเพิ่ม 19.46% และตลาด ที่เพิ่มขึ้นจาก 367 แห่ง เป็น 472 แห่ง คิดเป็น 28.61%

มีเพียงสิ่งเดียวที่ลดลงก็คือ แผงลอย จากที่มีสูงถึง 7,085 แผงในปี 2557 ลดลงเหลือเพียง 472 แผงในปี 2563 หรือคิดเป็น 93.34% เลยทีเดียว

หาบเร่แผงลอย เศรษฐกิจฐานราก

จากรายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน’ ของ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พบว่าในปี 2560 ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารริมทางในไทยสามารถสร้างยอดขายได้ส่งถึง 271,355 ล้านบาทต่อปี และจากข้อมูลของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินว่าในปี 2559 มีร้านอาหารริมทางทั่วประเทศประมาณ 103,000 ร้าน คิดเป็น 69% ของร้านอาหารทั้งหมดในประเทศ

ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 2,760,251 ราย จัดเป็นกลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย 569,039 ราย โดยกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจนอกระบบ ประมาณ 135,369 ล้านบาทต่อปี กระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอีก 89,944 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 224,713 ล้านบาทต่อปี

หากนำวิธีคิดนี้มาคำนวณกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะพบว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 40,800 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 26,928 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 67,728 ล้านบาทต่อปี 

กระบวนการจัดการ หาบเร่แผงลอย

ในยุคของ ผู้ว่าฯ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีการขีดแนวเส้นอนุญาตเป็นบริเวณที่แน่นอนให้ผู้ค้าแต่ละราย ยุคผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างป้าย “จุดผ่อนผัน” สำหรับหาบเร่แผงลอย ในขณะที่ สมัคร สุนทรเวช อนุญาตให้หาบเร่แผงลอยขายได้ทุกวัน หลังจากที่ จำลอง ศรีเมือง ให้หยุดขายทุกวันพุธเพื่อทำความสะอาด จากนั้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน มีนโยบายให้หยุดขายวันจันทร์ ซึ่งยังคงมีการปฏิบัติกันอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้

ส่วนนโยบายไม้แข็งนั้นเริ่มมาจากยุค สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เริ่มยกเลิกจุดผ่อนผัน ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ในปี 2559 ในยุคของ อัศวิน ขวัญเมือง ให้ทุกเขตยกเลิกจุดผ่อนผัน ทำให้หาบเร่แผงลอย รวมถึงร้านอาหารรถเข็นในกรุงเทพฯ หายวับไปกับตา

เมื่ออาหารริมทางในแบบหาบเร่แผงลอย ที่เป็นแหล่งฝากท้องของคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก ถูกกำจัดไปจากทางเท้า รูปแบบการเยียวยาที่เกิดขึ้นคือให้พ่อค้าแม่ค้าไปขายใน ตลาดประชารัฐ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ทดแทนในแต่ละเขต แต่เนื่องจากตลาดประชารัฐไม่ได้อยู่ในย่านชุมชน ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถค้าขายได้ สรุปผลการดำเนินงาน มีผู้ค้าที่ลงทะเบียนกับตลาดประชารัฐรวมทั้ง 50 เขต เพียง 7,810 ราย และสละสิทธิไป 6,438 ราย หรือคิดเป็น 82.43%

สะดวก’เท้า’ แต่ ไม่สบาย ‘ท้อง’

จากการให้สัมภาษณ์ ของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ในปี 2561 กรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผัน 1,400 แห่ง ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเหล่านี้มีประมาณ 50,000-60,000 ราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่อยู่ในจุดผ่อนผันด้วย ซึ่งมีประมาณ 120,000 ราย รวมแล้วในกรุงเทพฯ น่าจะมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 170,000 ราย

ด้วยลักษณะแผงลอยที่เคลื่อนย้ายง่าย เราจึงได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า “หนีก่อนเดี๋ยวเทศกิจมาไล่” ไม่ก็ติดสินบนเจ้าหน้าไปเลย เพื่อเคลียร์ทางได้สะดวก สุดท้ายการแก้ปัญหาก็ไม่ประสบความสำเร็จ

พอ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ เข้ามารับตำแหน่งก็มาพร้อมกับ นโยบายแก้ปัญหา แบ่งพื้นที่บางส่วนของทางเท้าที่มีขนาดกว้างให้กับหาบเร่ได้ขายของ โดยต้องไม่เบียดเบียนเส้นทางการเดินจนเกินไป แต่ต้องบอกว่าทางเท้าที่มีขนาดตามมาตรฐานและกว้างพอจะแบ่งทางกันได้ก็มีไม่มาก โดยอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ที่จะมาช่วยกันหาทางออกแบบสมประโยชน์ร่วมกัน

หากจะจัดการโดยให้ยกเลิกการขายทั้งหมด ทางเท้าคงโล่งเดินสบายเลยทีเดียว แต่สะดวกเท้าอาจไม่สบายท้อง เพราะคนที่พึ่งพิงความอิ่มจากข้างทางก็คงเดือดร้อนเป็นรายต่อไป

หาบเร่แผงลอย แหล่งอาหารของคนรายได้น้อย

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กร WEIGO พบว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญของหาบเร่แผงลอย คือพนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ โดย 60% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 35-40% จะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน และผู้ซื้อ 50% มีมูลค่าการซื้อแต่ละครั้งมากกว่า 100 บาท ซึ่งสัดส่วนการซื้อหาบเร่แผงลอยนั้น 50.33% คือผู้ที่สัญจรไปมา และ 47.87% เป็นประชาชนในพื้นที่ที่ตั้งหาบเร่แผงลอย

ดังนั้น หากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป มีการคำนวณว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้น และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 357 บาท เลยทีเดียว หาบเร่แผงลอยจึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจนอกระบบเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อผู้มีรายได้น้อยในเมืองหลวงแห่งนี้อีกด้วย

ในอีกแง่หาบเร่ เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐเลยต้องผ่อนปรนช่วยเหลือให้มีเงื่อนไขการทำการค้าได้คราวละ 2 ปี ผ่านประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ (ฉบับที่ 3) โดยให้สำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพในการพิจารณาเงื่อนไขและความเหมาะสม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครพิจารณา

รวมไปถึงการพิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเยาวราชและถนนข้าวสารเป็นข้อยกเว้น ให้ค้าขายบนทางเท้าและริมถนนได้ เนื่องจากถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาทางออก

เรื่องปัญหาทางเท้าของไทย ดังไกลไปถึงเยอรมัน เพราะเมื่อคนไทยไปใช้ชีวิตอยู่ที่เบอลิน ก็มีวิถีคล้ายกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นที่สวนสาธารณะ พร็อยเซนพาร์ค คนไทยไปเที่ยวก็ปิคนิค ไป ๆ มา ๆ ก็เปิดครัวกัน จากทำเองก็ทำขาย กลายเป็นปัญหาเรื่องความสกปรก ไม่ถูกสุขอนามัย และยังไม่ถูกจัดเก็บภาษีด้วย สำนักงานเขตพื้นที่ก็เลยออกมาตรการให้ร้านอาหารลงทะเบียนกับผู้จัดการตลาดนัด ต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการ และให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอลิน ทำโครงการออกแบบแก้ปัญหา ให้องค์ความรู้จากสถานศึกษาคืนสู่สังคม

เรื่องของทางเท้า ไม่ใช่ แค่นโยบาย กทม. เพียงอย่างเดียวจะจัดการได้ เพราะถนนและซอยในกรุงเทพฯ มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ 3 ประเภทหน่วยงาน คือ สำนักการโยธา กทม. สำนักงานเขต และหน่วยงานที่ไม่ได้สังกัด กทม. ด้วย เช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปจนถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หน่วยงานทางทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างพ่อค้าแม่ค้า และคนใช้บริการทั้งหมด จำเป็นต้องหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้