เบาะรอง “เด็กและเยาวชน” ในสนามการเมือง

มองหา “เบาะรอง” ของเด็กและเยาวชน โดยไม่ลืมจัดวาง “กำแพงพักใจ” ของผู้คนที่คิดต่างในสนามการเมือง

เมื่อความเห็นต่างทางการเมือง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ราบรื่น สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นสนามอารมณ์ เพื่อระบายความอัดอั้นของเด็กและเยาวชน จะทำอย่างไรให้ “บ้าน” เป็นที่พึ่ง ที่ปลอดภัย แม้เราจะอยู่กันบนความเห็นที่แตกต่าง 

The Active รวบรวมทางเลือก และแนวคิดจากแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยทำให้ ผู้ปกครอง และ เยาวชน มีสถานที่พักใจเมื่อต้องเหนื่อยล้ากับความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว

“ถ้าหนูโดนยิงจริง ๆ แม่จะโทษที่หนูไปม็อบ หรือแม่จะโกรธคนที่ยิงหนู”

“พ่อบอกว่าที่ด่า เพราะเป็นห่วง แต่พูดดี ๆ ก็ได้ ทำไมพ่อไม่ทำ”

นี่คือตัวอย่างข้อความสะท้อนความรู้สึกเจ็บปวด บอบช้ำของเด็กเยาวชน ที่แอดมินเพจ “ไม่อยากกลับบ้าน” รวบรวมจากสเตตัสผู้คนรอบตัวในทวิตเตอร์ ที่โพสต์เรื่องราวความเห็นต่างในครอบครัว โดยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำเพจเพื่อทำให้เสียงของเด็กและเยาวชนดังขึ้น และทำให้สังคมเข้าใจว่าปัญหา ครอบครัวเป็นปัจเจก และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว

เมื่อสังคมล้อมกรอบไว้ว่า ครอบครัวต้องเป็น Safe Zone พ่อแม่ต้องรับฟังและเข้าใจปัญหา แต่ในความจริงไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เมื่อการพูดคุยกับครอบครัวเป็นเรื่องยากมากขึ้น เวลานี้ เราจึงเห็นหลายหน่วยงานออกมาทำงานเชิงรุก เพื่อทำหน้าที่เป็นเบาะรองช้ำรับความเจ็บปวดกันมากขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือการตามหาคนหาย และเยียวยาบาดแผลระหว่างคนในครอบครัว ที่เพิ่งเปิดตัวสายด่วน 063-363-6014 เพื่อไม่ให้ความคิดต่างทางการเมือง เป็นเหตุผลหนึ่งของจุดแตกหักภายในครอบครัว

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า หลังเปิดสายด่วนได้เพียง 2 วัน (เริ่ม 20 ต.ค. 2563) มีเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาแล้ว และมีบางกรณีหนีออกจากบ้านจริง แต่สุดท้ายก็กลับบ้านไปเมื่อผ่านกระบวนการช่วยเหลือให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกระจกเงา

“ในฐานะองค์กรที่ทำเรื่องเด็กหายมาก่อน มองเห็นเด็กหลายคนที่ออกจากบ้านไปเราบอกเลยว่า อันตราย… โลกภายนอกมันอันตราย ดังนั้นทำอย่างไรให้อย่างน้อยเด็กปลอดภัยในครอบครัวตัวเองก่อน”

เขายังบอกอีกว่า “ไม่อยากจะให้ความคิดต่างทางการเมือง ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีมานาน…”

เมื่อสถานการณ์การชุมนุม เกี่ยวข้องกับคนหาย

การสลายการชุมนุม ช่วง 14-15 ต.ค. ที่ถนนราชดำเนินและแยกปทุมวัน ช่วงเวลานั้น มีการประกาศตามหาคนหายในโลกออนไลน์ ขณะที่อีกกลุ่ม คือ เด็กและเยาวชน บางส่วนก็กำลังประสบปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ราบรื่นนัก

บางรายหนีออกจากบ้านเพียงเพราะความคิดต่าง  นำไปสู่ “ความรุนแรงทางคำพูด-ทำร้ายจิตใจ กระทบกระทั่งแดกดัน ตัดพ่อ-ตัดลูก ตัดความสัมพันธ์” ทั้งที่พื้นฐานสำคัญที่อยู่ภายในใจของผู้ปกครอง และบุตรหลาน คือความรู้สึกห่วงใย และกังวลในความปลอดภัยของกันและกัน 

แต่ทว่าโลกความจริงไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ตลอดการทำงานหลายสิบปีของมูลนิธิกระจกเงา พบว่า เด็กและเยาวชนที่ตัดสินใจออกจากบ้าน มีอันตรายและมีข้อจำกัดในการปกป้องดูแลตัวเอง การให้คำปรึกษาอย่างทันท่วงทีก่อนเกิดเหตุบานปลาย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่รัฐเป็นคู่กรณีความขัดแย้ง การเปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เด็กและเยาวชนไว้ใจ จึงเป็นเรื่องจำเป็น

สถิติคนหายและสาเหตุการหายไป

ปัจจุบัน แม้ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา จะมีทีมงานเพียง 5 คน แต่ทั้งหมดมีประสบการณ์รับแจ้ง และแก้ปัญหาให้กับครอบครัวคนหายมานับร้อยครอบครัว และมีประสบการณ์ทำงานมานานนับ 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2546) 

จากข้อมูลคนหายพบว่าตั้งแต่ปี 2546-ปัจจุบัน รับเรื่องแจ้งหายมาทั้งสิ้น 11,640 กว่าราย ในจำนวนนี้ พบแล้ว 10,000 กว่าราย เหลือเพียง 1,000 กว่าราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นจุดแตกหักมากที่สุด คือ การใช้ถ้อยคำรุ่นแรงของคนต่างรุ่น (Generation) ทำให้เด็กไม่สามารถปรึกษาเล่าเรื่องทุกข์ร้อนของพวกเขาได้

การสมัครใจหนีออกจากบ้านของคนทุกเพศทุกวัย จึงมีมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ รองลงมา คือ ผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยทางจิตเวช สมองเสื่อม ถูกลักพาตัว พลัดหลง และอันดับสุดท้ายที่พบ คือ การหายตัวของสามี-ภรรยา เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว

อย่าให้ถึงวันที่รู้สึกได้ เมื่อ “ลูกหาย”

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ยังเชื่อว่า ความรู้สึกพ่อแม่เห็นต่าง แต่ยังมีความผูกพัน การใช้อารมณ์จนขั้นขับไล่ ตัดขาดความสัมพันธ์ ก็ใช่ว่าจะไม่มีสายใย เพราะการเลี้ยงลูกมาเป็นสิบ ๆ ปี มันยึดโยงกันอยู่ด้วยความรักและการเลี้ยงดู แต่หากปล่อยให้ปะทุบานปลาย จนวันหนึ่งอารมณ์เบาลง ผ่านไปสัก 5-10 วัน เมื่อนั้นพ่อแม่จะเริ่มมาแจ้ง มาบอกให้ช่วยตามหา และหากยิ่งปล่อยให้ช้าไปกว่านั้น โอกาสจะติดตามเจอยิ่งยาก ความไม่ปลอดภัยกับเด็กเยาวชนยิ่งมีสูง

“เราต้องช่วยป้องกันก่อน พอมีสัญญาณความรุนแรง ให้ทั้ง พ่อแม่ และเด็ก โทรมาคุยกับเรา เปลี่ยนเป็นการพูดด้วยความรู้สึกใจเย็น พูดด้วยเหตุผล เช่น ลูกไปชุมนุมได้นะถ้าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในขณะที่ลูกก็มีจุดยืน ต้องการจะไปเพื่อสร้างอนาคตของพวกเขาและผมเอง ในฐานะมูลนิธิฯ ก็กำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นให้กับเด็กด้วย”

“เห็นต่างได้ แต่ต้องเคารพสิทธิกันและกัน ผมยังเชื่อว่าเด็กทุกวันนี้เขามองถึงอนาคต มองภายภาคหน้า เพื่อสร้างอนาคต ผมไม่อยากให้ผู้ปกครองมองว่าเนรคุณ ทำร้าย ความขัดแย้ง กระทบกระทั่งเกิดขึ้นได้ทุกเรื่อง พยายามรักษาความเห็นต่าง เมื่อโกรธอย่าใช้อารมณ์”

ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้ เขาย้ำว่า เมื่อเด็กก้าวเท้าออกจากบ้านไป เห็นได้เลยว่ามีอันตรายอยู่รอบตัว พ่อแม่ไม่สามารถไปปกป้องคุ้มครองในห้วงเวลาที่เขาก้าวออกจากบ้านไปได้ ทำอย่างไร ให้เราเดินไปด้วยกันด้วยการเห็นต่าง

ไม่เพียงสายด่วนสำหรับครอบครัวเท่านั้น เวลานี้ยังมีภาคเอกชน และ กลุ่ม Start Up ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคมในภาวะวิกฤต เช่น แคมเปญ Stand by me  ซึ่งหมายถึง “ไม่ต้องกังวล พวกเราอยู่ข้างกัน เป็นกำลังใจให้คุณเสมอไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม ตามจรรยาบรรณแพทย์ และนักจิตวิทยา” ที่โพสต์อยู่ในเพจ OOCA (อูก้า)

OOCA อีกช่องท่องทางพักใจ ช่วงวิกฤตทางการเมือง

The Active พูดคุยกับ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือ หมออิ๊ก ผู้ก่อตั้ง OOCA 

เธอเล่าว่า แคมเปญนี้เกิดขึ้นหลังวันสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน เป็นแคมเปญที่ต่อยอดมาจากการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจตั้งแต่ช่วงที่มี เหตุกราดยิงที่โคราช ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงด้านสภาพจิตใจ ตอนนั้นกระแสตอบรับดีมาก เพียงติด #Saveโคราช มาที่เพจของเรา ก็รับบริการให้คำปรึกษาฟรี เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง ทั้งฝั่งของผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผลกระทบจากการเสพสื่อ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งก็ตาม

“ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เจ็บป่วย เมื่อถูกกระทบใจ จากเหตุการณ์เหล่านั้น และจากที่อูก้า ได้มอนิเตอร์สังคมตลอด ก็มีคนติดต่ออยากให้เราเปิดศูนย์บรรเทาจิตใจ เราในฐานะผู้มีทั้งทรัพยากรและเทคโนโลยี จึงควร Take action ช่วยเหลือผู้คนอย่างฉับไว”

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของ แคมเปญด่วน “Stand by me” ซึ่งหมายถึง ไม่ต้องกังวล พวกเราอยู่ข้างกัน เป็นกำลังใจให้คุณเสมอไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม ตามจรรยาบรรณแพทย์ และนักจิตวิทยา และยังเปิดรับบริจาคเพื่อสมบททุนช่วยเหลือผ่านมาทางเพจอูก้า

แอปพลิเคชัน OOCA เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงจิตแพทย์ นักจิตวิทยาที่มีจำนวนน้อย ปัจจุบันแพทย์ 1 คน :  ผู้ป่วย 80,000 คน การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ และที่สำคัญไปกว่านั้น ในช่วงวิกฤตการเมือง Start up อย่าง OOCA ยังสามารถปรับรูปแบบให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การทางการเมืองได้อย่างทันท่วงที และไม่มีค่าใช้จ่าย

ก่อนหน้านี้ Start up อูก้า ยังเคยทำโครงการชื่อว่า Wall of sharing กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กเยาวชนมีที่พึ่ง มีที่ปรึกษาทางใจผ่านระบบออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเตรียมจะเปิดเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

บทส่งท้าย

ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปที่คิดต่างทางการเมือง แต่รู้สึกบอบช้ำ เหนื่อยล้า สามารถเลือกใช้ช่องทางสายด่วน หรืออนไลน์ที่รวบรวมมาให้ตามความสะดวกใจ แต่ยืนยันว่า ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน