เปิดคลาส ‘สัญชาติไทย 101’ : “ถ้ามีคนที่กลมกลืนกับเรา จะต้องไม่ให้เขาเป็นอื่น”

“ขายชาติ แถมปล่อยต่างด้าวเต็มบ้านเมือง”

“ขายชาติว่าแย่แล้ว นี่เอาสัญชาติไปแจกฟรี รัฐสวัสดิการภาษีคนไทยแต่แจกต่างด้าวใช้ฟรี”

“ตลกแล้วครับ อยู่ดี ๆ จะให้สัญชาติต่างด้าวเฉย ๆ ตั้งครึ่งล้าน”

ความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น จากข่าวที่ Thai PBS นำเสนอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 29 ต.ค. 67 ที่มีมติเห็นชอบในหลักการ “หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย” ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาการดำเนินงาน จากกว่า 100 วัน เหลือ 5 วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน

สิ่งที่สะท้อนออกมาในโลกออนไลน์บางส่วน สะท้อนความ เข้าใจ ที่อาจไม่สอดคล้องกับ ข้อเท็จจริง ของหลักเกณฑ์ใหม่ที่ ครม. มีมติไปก่อนหน้านี้

อ.ปลาทอง – ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา

เพื่อชวนให้สังคมได้กลับมาตั้งหลัก และเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น The Active ชวนสนทนากับ อ.ปลาทอง – ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา ในฐานะของนักวิชาการด้านกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือประเด็นสัญชาติและสถานะบุคคลมาโดยตลอด เพื่อช่วยทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้ถูกอธิบายถึง เจตนา ของหลักเกณฑ์ตาม มติ ครม. ดังกล่าว

‘รับรอง’ ไม่ใช่ ‘แจก’ สัญชาติไทย

เพราะจริง ๆ แล้วเราอาจต้องเปลี่ยนคำที่ใช้ในกระบวนการแก้ปัญหานี้เป็น ‘รับรองสัญชาติ’ ให้กับผู้ที่ควรได้รับสิทธิ์ในสัญชาติไทยมานาน แทนการใช้คำว่า ‘ให้สัญชาติ’ เพราะประเด็นนี้ไม่ต่างจากการที่ บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีน เคยได้รับการรับรองสัญชาติมาตั้งแต่อดีต 

สิ่งแรกที่ อ.ปลาทอง ชวนทำความเข้าใจก่อนเลย คือ มติ ครม. ใหม่ ไม่ใช่การให้สัญชาติ เพราะเรื่องสัญชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะให้กันได้ แต่เป็นเรื่อง การรับรองสําหรับคนที่กลมกลืนแล้วกับประเทศไทย

ดังนั้น มติ ครม. ครั้งนี้ ไม่ใช่การกําหนดสิทธิ์ แต่เป็นมติที่ปรับปรุงขั้นตอนการทํางานให้มีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง ซึ่งการทํางานที่กําลังพูดถึง คือ การจัดการประชากร (People Management) สําหรับคนที่กลมกลืนแล้วกับประเทศไทย

“เป็นเรื่องเดิมที่ประเทศไทยทํามาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามีขั้นตอนการดําเนินการหลายเรื่อง ที่สร้างการเรียกร้องพยานหลักฐานจํานวนมาก และเอื้อทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นการปรับปรุงขั้นตอน ช่วยให้การดําเนินการ มีความชัดเจน และป้องกันปัญหาทุจริตได้ การจัดการประชากรครั้งนี้ จะดำเนินการเฉพาะคนที่ไร้สัญชาติและกลมกลืนกับประเทศไทย

อุปสรรค ความล่าช้า ‘รับรองสัญชาติ’!!

การรับรองสัญชาติ ที่ มติ ครม. เดิมมีแต่ทำได้ล่าช้า อ.ปลาทอง ชี้ให้เห็นว่า มาจากหลายปัจจัยดังนี้

  • ความไม่รู้ ของทั้งภาครัฐของทั้งภาคประชาชน เพราะการจัดการประชากรไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่าย กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง มีมากมายไปหมด พอเวลามีการประกาศหลักเกณฑ์ แล้วมีขั้นตอนจํานวนมากให้ทํา ไม่ได้ง่ายต่อเจ้าหน้าที่ที่จะทํางานแล้วประชาชนพอไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่

  • เกิดอคติ อาจจะเป็นอคติในความไม่ชอบความยุ่งยากของงานทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากรับงานนี้ ส่วนชาวบ้านก็รู้สึกว่าต้องรอนานแล้วไม่ได้ทำเรื่องเสียที ก็มีอคติที่ไม่ดีต่อกันและกัน เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกัน

  • การทุจริต คอร์รัปชัน ที่เข้ามาแทรกในทุก ๆ จุด เพื่อจะให้เรื่องเร็วขึ้น นำมาสู่การเรียกรับจ่ายเงิน ซึ่งบางคนทำได้สำเร็จ บางคนก็จ่ายเงินแล้วถูกทิ้ง ทำให้บรรยากาศของการขอรับรองสัญชาติ “เป็นบรรยากาศแห่งความทุกข์ไปหมด”

“ในหลักการจริง ๆ ดีนะ ถ้าเราถ้าเราไม่ได้มีอคติเรื่องว่าจะไปแจกสัญชาตินะ มานั่งคิดดี ๆ หมายถึงหลักการของอันนี้ ว่าการตรวจสอบว่าใครสักคน ป็นคนไร้สัญชาติไหม เราไม่มีฐานข้อมูลในทะเบียนเขาอยู่ในทะเบียนราษฎรเรามานานแล้วมันเป็น 20-30 ปี ก็ไปดูทะเบียน จะเอาพยานไปทําไม เรียกร้องคนมายืนยันเพราะอะไร คือ เขาไม่ใช่คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่”

ความกังวลคนทั่วไป ทำไม ? รัฐต้องแจกสัญชาติ

เรื่องต่อมาที่อยากทำความเข้าใจ อ.ปลาทอง ย้ำว่า ที่หลายคนกังวลจะเป็นการแจกสัญชาติ ให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทํางาน ยืนยันว่า กรณีนี้ไม่อยู่ใน มติ ครม.มาตั้งแต่ต้น และสังคมต้องทําความเข้าใจใหม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์นี้ เกี่ยวกับคนที่ กลมกลืนแล้วกับประเทศไทย 4 แสนกว่าคน คนกลุ่มนี้ คือ คนที่มีฐานข้อมูล อยู่ในระบบกรมการปกครองเรียบร้อยแล้ว และหลายคนเข้ามาอยู่ในไทยเป็นระยะเวลา 20 กว่าปีแล้ว ฉะนั้นฐานข้อมูลตรงนี้มีการทําเอกสาร ทะเบียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนประวัติ รวมไปถึงการเก็บ Database เก็บใบหน้า พิมพ์ลายนิ้วมือ ทุกอย่างไว้หมดแล้ว

ดังนั้นการที่จะบอกว่าใครเป็นใคร คงไม่จําเป็นต้องไปหาพยานมายืนยัน ถ้าเขาเองมาปรากฏตัว ก็สามารถนำเอกสารที่มีอยู่ มายืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเพียงพอแล้วที่บอกว่าคนนี้เป็นใคร และคุณสมบัติที่จะบอกว่า ใครสักคนยังไม่ถูกรับรองสัญชาติ ก็คือการเข้าไปดูใน Database ของกรมการปกครองเดิม ว่า ตั้งแต่บันทึกจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยถูกรับรองสัญชาติไหนเลย ไม่มีประเทศต้นทาง

“คนกลุ่มนี้ก็ไม่จําเป็นต้องไปเรียกร้อง ไปสอบพยาน หรือ บางครั้งเขาก็ถูกบอกว่าจะต้องไปหากํานัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ไปหาข้าราชการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทําให้เกิดการใช้ระยะเวลาจํานวนมาก และยังเพิ่มภาระงานให้เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงเอื้อกับการทุจริตคอร์รัปชัน”

หน.คลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา ยังระบุด้วยว่า หากลดขั้นตอนการเรียกพยานบุคคลเพื่อตรวจสอบเรื่องการยืนยันตัวตน รวมไปถึงการยืนยันเรื่องความประพฤติ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จะช่วยเอื้ออํานวยให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้อย่างมาก

“แต่พอมติ ครม. ออกมา หลายคนไปโฟกัสเรื่องของการให้สัญชาติ จะเป็นเพราะว่าจะให้สัญชาติคนต่างด้าวหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วที่อาจารย์เล่า ก็คือว่า มีการให้ลักษณะแบบนี้มายาวนานหลายปี”

กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ ไทยจัดการประชากรอย่างไร ?

แนวคิดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการให้สัญชาติใคร แต่เป็นเรื่องของ การจัดการประชากร ซึ่ง อ.ปลาทอง ย้ำถึงประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ “ถ้ามีคนที่กลมกลืนกับประเทศเรา จะต้องไม่ให้เขาเป็นอื่น”

โดยคําว่า กลมกลืน กลุ่มแรก ก็คือ คนที่เข้ามาอยู่นานแล้ว กลุ่มที่ 2 คือ คนเกิดและเติบโตที่ประเทศนั้น ๆ ซึ่งเป็นหลักการสากล และหลักการนี้ก็จะมากําหนดในกฎหมายสัญชาติ หรือกฎหมายการเข้าเมืองของแต่ละประเทศ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

อ.ปลาทอง ชวนย้อนทบทวนความเข้าใจ ไปก่อนปี 2548 ตั้งแต่การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านประชากรในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยจัดการประชากรที่อพยพมาจากจีนก็ใช้หลัก Socialization คนจีนที่ล่องเรือสําเภาเข้ามา ทําไม ? ลูกหลานคนจีน ถึงได้ถือบัตรประชาชน เพราะว่า เขาก็ใช้หลักการนี้ ทํามาตลอดหลายรุ่น

กลุ่มหนึ่งก็คือ ถือใบต่างด้าว จะมีการรับรองสิทธิอยู่อาศัยถาวร อีกกลุ่มหนึ่งก็ไปสู่การแปลงชาติ คือ ให้ถือสัญชาติไทย ดังนั้นพอคน 2 กลุ่มนี้ มีสถานะอยู่ถาวรในไทย หรือได้รับการแปลงชาติแล้ว ลูกที่เกิดในประเทศไทยก็จะมีสัญชาติไทยตามหลัก และ รุ่นต่อมาก็จะเป็นหลักสืบสายโลหิต ความกลมกลืนก็จะกลายเป็นว่า เขากลายเป็นคนของประเทศเรา

“ตระกูลคนจีน ก็หลักการเดียวกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้เรียก มติ ครม. มันเป็น พ.ร.บ.แปลงชาติ ก็จะใช้รูปแบบกฎหมายในยุคก่อน คือ กวาดเลย นี่ไม่ใช่การกวาดครั้งแรก เพียงแต่ประเทศไทยไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์การจัดการประชากรของตัวเองเลย คิดว่าการทําให้ประเทศ Peaceful (สงบสุข) เป็นเรื่องอันตราย จริง ๆ นี่คือหลักการทําให้ประเทศมันมีสันติ การทําให้คนที่อยู่มาแล้วเขาถูกยอมรับ ว่าเขาเป็นหนึ่งเดียวกับเรา มันคือการสร้างสันติสุขนะ มันขจัดความเป็นอื่น จริง ๆ มันคือแนวคิดขจัดความเป็นอื่น เพราะถ้าใครสักคนอยู่มานานแล้วรู้สึกเป็นอื่น มันก็จะเกิดการตั้งกลุ่ม ตั้งก๊ก ต่อต้าน เกิดสงคราม”

ทั้งนี้หลักของการรับรองสัญชาติไทย ยังทำให้ไม่เกิดความรู้สึกเป็นอื่น เกิดความจงรักภักดี ส่งผลให้เกิดความอยากพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคนเชื้อสายจีนจํานวนมาก และเขาก็ไม่เคยคิดว่าเขาเป็นจีน 100% เขาคือคนไทยเชื้อสายจีนหรือเรียกว่า จีนสยาม

“ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ ในอาเซียน ไทยได้รับคําชื่นชม เราเป็นอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาประชากรกลุ่ม เพราะในอาเซียนยังแก้อะไรไม่ได้ ในการประชุม UN ก็เอาตัวอย่างของประเทศไทย ไปนำเสนอ”

เปิดทาง…แก้โรค ‘ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ’

อ.ปลาทอง อธิบายอีกว่า หลังสมัยรัชกาลที่ 5 กฎหมายและนโยบายของไทย ถูกพัฒนาเรื่อย ๆ ถ้าย้อนที่ชัดเจนที่สุด คือ ยุคแห่งการจัดการประชากรครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีการออกมติ ครม. รองรับเรื่องรับรองสิทธิ์อยู่อาศัยถาวรบ้าง รับรองสัญชาติบ้าง ซึ่งมีมาต่อเนื่อง เพียงแต่กระบวนการไม่แล้วเสร็จ แล้วทำให้จำนวนคนที่มีปัญหาค้างในระบบการแก้ไขจํานวนกว่า 4 แสนคน ตามที่ ครม. ระบุตัวเลขออกมา

“คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นคนที่ค้างจากการแก้ไขปัญหา เหมือนเรากําลังพูดถึงคนที่ป่วย แล้วเราเลี้ยงไข้เขามา 20 – 30 ปีแล้ว มติ ครม. กําลังจะบอกว่าต้องรักษาเขาได้แล้ว แก้ไขปัญหาให้เขาได้แล้ว เราจะปล่อยให้ใครสักคนไร้รัฐไร้สัญชาติไปจนตาย อย่างที่ อ.เตือนใจ ดีเทศน์ พูดถึง บางคนก็ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ จนอายุ 90 ปี หรือเสียชีวิตไปแล้วยังไม่ได้ถือบัตรประชาชนไทยเลย ทั้งที่อยู่ไทยมาตลอดชีวิต”

ถ้าลองเปรียบเทียบ มติ ครม. 29 ต.ค. 67 ว่าเหมือนเป็นเส้นทางที่ทำให้เป็นเหมือนรถพยาบาล สําหรับคนป่วยที่มีปัญหามายาวนาน ได้รับการแก้ไขปัญหาในหลายประเด็น

  • ขั้นตอนที่มีความชัดเจน

  • ขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมาอํานวยความสะดวก

  • ขั้นตอนที่ปรับแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันออก

ความหวัง ฉากต่อไป ของผู้ได้ ‘รับรองสัญชาติไทย’ นับจากนี้ 

ถึงตรงนี้ แน่นอนว่าทันทีที่มี มติ ครม. ออกมา หลายคนคิดว่าจะช่วยยืนยันให้ตัวเองได้รับรองสัญชาติไทย แต่อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ อ.ปลาทอง จึงย้ำอีกครั้งว่า สําหรับคนที่เกิดในประเทศไทย การแก้ไขปัญหาครั้งใหญ่ก็คือปี 2559 ที่พูดถึงว่า เด็กที่เกิดในไทยทุกคนจะได้ถือบัตรประชาชนไทย เด็กที่เป็นลูกของคนที่เข้ามาอยู่ในไทยนานแล้ว ไม่ต้องรอเงื่อนไขอื่น ๆ สามารถยื่นคําร้องได้เลย ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้ามาสู่การแก้ไขปัญหาขั้นตอนที่รวดเร็วขึ้น ตามมติ ครม.

ส่วน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มของคนที่อพยพเข้ามานานแล้ว และเป็นคนชนกลุ่มน้อยที่ถูกสํารวจมาต่อเนื่องยาวนาน ขั้นตอนคือ จะยังไม่ไปถึงบัตรประชาชนทันที แต่เขาจะไปถึงการรับรองสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการถาวร ตามมติ ครม. 24 มี.ค. 64 ก่อน และหลังจากนั้นถึงไปสู่กระบวนการแปลงสัญชาติเป็นไทย ซึ่งไม่ใช่ 5 วัน แต่ยังเป็นไปตามขั้นตอน

“ขณะนี้เรากําลังรอ ประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างประกาศใช้ ก็จะมีการปรับปรุงขั้น ขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น ลดทุจริตคอร์รัปชัน แล้วก็ดูแลคนที่เข้ามานานแล้วได้ดีขึ้น”

หน.คลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา ยังระบุถึง บางคนที่มีข้อมูลผิดพลาดในระบบ แต่ มติ ครม.นี้ จะเป็นการรับรองให้กับบุคคลที่มีข้อมูลครบในระบบ มีพยานหลักฐานครบหมดแล้ว ว่า เข้ามาปีไหน เกิน 15 ปี ใช่หรือไม่ หรือเป็นเด็กที่เกิดในไทย มีข้อมูลหลักฐานการเกิดแล้ว กลุ่มเหล่านี้จะเดินหน้าตามมติ ครม. ก่อน 

สําหรับกลุ่มที่อพยพเข้ามาเกิน 15 ปี แต่อาจมีการบันทึก ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ผิดพลาด เสนอว่า ให้ไปยื่นคําร้องไว้ แล้วให้มีการตอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า เขามีสิทธิ์ตามมติ ครม. นี้หรือยัง ถ้ายัง ควรทำให้เกิดการชี้แจงว่า จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหา ในการตีความพยานหลักฐาน หรือจําเป็นต้องมี มติ ครม. ใหม่ ที่หยิบเรื่องราวนี้มาพิจารณา ว่า เขาเข้ามาเกิน 15 ปี แต่มีการบันทึกชื่อกลุ่มแปลก ๆ ขึ้นมา หรือ อาจจะมีการแก้ไขปัญหา เชื่อว่า กระทรวงมหาดไทย ก็พอรู้อยู่แล้วว่ามีปัญหานี้จะเกิดขึ้น แต่จะประกาศเป็นการทั่วไปว่าปลดล็อกให้เท่ากันหมดทุกคน ก็เป็นไปไม่ได้

“ถ้าเห็นปัญหาเป็น กรณี ๆ ไป แล้วหยิบขึ้นมาสร้างหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน ก็จะเกิดการแก้ไข สําหรับทุกกลุ่มได้เหมือนกัน อีกประเด็นที่ต้องยอมรับคือ การรับรองสัญชาติ เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมติ ครม. ปี 2548 สนช. คือต้นเรื่องความคิด เพราะการจัดการประชากร คือ หน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เขาคิดเรื่องสันติภาพมาเป็นอันดับแรก แต่โจทย์ก็คือทําอย่างไรให้มีสันติภาพ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ คือ ต้องเอื้ออํานวยกลไกบางอย่าง ที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชน”

เท่าที่อธิบายมาทั้งหมด สรุปอีกครั้ง คือ มติ ครม. 29 ต.ค. 67 หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ไม่ใช่การมอบสัญชาติให้ใคร แต่เป็น การรับรองสิทธิ์ ให้กับคนที่มีสิทธิ์จะได้รับด้วยกฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นการรับรองสิทธิ์ที่อาศัยถาวรของคนที่อยู่มานาน, รับรองสิทธิ์ในสัญชาติของคนเกิดในประเทศไทย ตามที่ มติ ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไข ที่ปรับปรุง เร่งรัดขั้นตอนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกําหนดสิทธิ์ใหม่ แต่อ้างอิงจากฐานข้อมูลเดิม (Database) ที่มีอยู่แล้วของรัฐ และมีพยานหลักฐานของประชาชนที่ชัดเจน

สิ่งนี้จะทำให้รัฐได้รู้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า มีกลุ่มไหนอีกบ้างนอกจาก 483,626 คน ที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ที่สำคัญจะเป็นการปิดช่องโหว่ ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการหากินบนความ ไร้สิทธิ์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

พวกเขาคือ คนป่วยหนักที่ถูกเลี้ยงไข้ และ รอการรักษา มติ ครม.นี้ คือ รถพยาบาล ที่เอาคนป่วยหนัก ป่วยเรื้อรัง เข้ารับการรักษาพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นโรคอย่างหนึ่ง

อ.ปลาทอง ทิ้งท้าย