ทันทีที่อีเว้นท์ “แข่งนุ่งกางเกงช้าง กินปาท่องโก๋-ป๊อปคอร์น” ถูกโปรโมทขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หวังจุดกระแส Soft Power ให้ปัง แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานดันเจอกระแสดรามา ที่มาพร้อมกับคำถามว่า “ใช่เหรอ ? Soft Power”
ททท. เดินหน้าบันทึกความเป็นที่สุดของโลกผ่านกิจกรรม THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE โดยร่วมมือกับ Guinness World Records ขานรับ นโยบาย Soft Power ของไทย เพื่อเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับ 5F ได้แก่ Food (อาหาร) Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) Film (ภาพยนตร์) Fight (มวยไทย) Festival (เทศกาลประเพณีไทย)
โดยรูปแบบการแข่งขันใน 5 หัวข้อที่สุดของโลก ประกอบด้วย
- ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
- กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที
- กินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
ททท. ระบุว่า การแข่งขันแต่ละรายการ ได้เลือกเอาสินค้าท่องเที่ยว และ Soft Power ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานำเสนอ ในแง่ของการแสดงอัตลักษณ์สินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวไทย เพื่อทำให้ประเทศไทย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้าน Soft Power รวมถึงดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยกิจกรรมดังกล่าว เตรียมจัดขึ้นในวันที่ 21 – 27 กุมภาพันธ์นี้ ที่สยามพารากอน ไฮไลท์สำคัญอยู่ในวันสุดท้าย ที่คณะกรรมการจะดูผลการแข่งขันจาก VDO ที่ถูกบันทึกไว้ระหว่างการแข่งขัน ผู้ที่ทำสถิติสูงสุด เป็นอันดับที่ 1 จะถูกบันทึกสถิติ และรับประกาศนียบัตรจาก Guinness World Records ไปครอง
แม้จะมีแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกตั้งคำถามไม่น้อย ถึงเกณฑ์การคัดเลือกสินค้า อาหาร วัฒนธรรม ว่าเป็น Soft Power ของไทย แบบใด ? รวมถึงรูปแบบการแข่งขัน จัดกิจกรรมของบ้านเราที่อะไร ๆ ก็ต้องเป็น “สถิติโลก” คุ้มค่าแล้วใช่ไหม ?
“กางเกงช้าง” ซอฟต์พาวเวอร์ แบบใด ?
The Active สำรวจเสียงของผู้คนในโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (20 ก.ค. 66 – 20 ม.ค 2567) พบว่า “กางเกงช้าง” ถูกพูดถึง 4,664 ข้อความ 1,747,684 Engagements ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ พบว่า
Facebook ถูกพูดถึงสูงสุด 53.43%
X (Twitter) 30.72%
Youtube 7.10%
Instagram 6.02%
TikTok 1.82%
Forum 0.91%
เมื่อมาดูเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเรียงตามไทม์ไลน์ที่ “กางเกงช้าง” ถูกกล่าวถึง เช่น
- 29 ก.ค. 66 มีการพูดถึง 170 ข้อความ 99,373 Engagements
เพจ Official Liverpool โพสต์ภาพ 4 นักเตะ อิบราฮิมา โกนาเต้, หลุยส์ ดีอาซ, โดมินิกซ์ โซบอสไลน์ และ อาเดรียน สวมใส่กางเกงช้าง ก่อนที่จะลงสนามกับเลสเตอร์ซิตี้ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ที่ประเทศสิงคโปร์
- 26 กันยายน 2566 มี 58,210 Engagements
คลิปวิดีโอตัวละครในเกม Free Fire สวมใส่กางเกงช้างจากแพลตฟอร์ม TikTok
- 30 กันยายน 2566 มีการพูดถึง 93 ข้อความ 99,403 Engagements
เพจขยี้นางงาม โพสต์ภาพ “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ตัวแทนนางงามจากประเทศไทย ในเวทีนางงามจักรวาล หรือ มิสยูนิเวิร์ส ปี 2023 สวมใส่กางเกงช้าง พร้อมข้อความ “และชุดประจำชาติที่ #แอนโทเนีย จะเอาไปจักรวาล”
- 1 ตุลาคม 2566 มี 25,174 Engagements
มิ้นท์-นวินดา เบอร์ต๊อดตี นักแสดงและนางแบบสังกัดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โพสต์ภาพตนเองสวมกางเกงช้างพร้อมข้อความ “Soft power กุงเกงช้างงง 🐘🐘 🇹🇭🇹🇭 มาเดินตลาดนัด ล่าของกินฮะ 🐷🐷🐷 streetfood hunting” ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram
- 25 ตุลาคม 2566 มี 55,747 Engagements
มาเวริค บีญาเลส นักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ระดับโลก โพสต์ภาพตนเองและทีมงานสวมกางเกงช้างบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ผ่านแพลตฟอร์ม Instagram
- 20 พฤศจิกายน 2566 มี 88,782 Engagements
แอ็กเคานต์ @Lookatyourfab แสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ถึงไอเดียการทำกางเกงที่ระลึก 77 ลาย 77 จังหวัด สำหรับชาวต่างชาติ “จริงๆควรมี 77 ลายอะ เป็นไอเทมให้ต่างชาติมาเก็บเป็น souvenir เหมือนไปญี่ปุ่นแล้วปั๊มตรา อันนี้มึงก็ซื้อกางเกงช้าง กางเกงพญานาค กางเกงเจดีย์ไปจ้ะ”
- 21 พฤศจิกายน 2566 มีการพูดถึง 73 ข้อความ 2,232 Engagements
หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นโดยใช้ลาย KORAT MONOGRAM ที่ชนะเลิศการประกวดมาพิมพ์ลงสินค้าต่าง ๆ จนได้รับเสียงฮือฮาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “กางเกงแมวโคราช” ที่ ไพจิตร มานะศิลป์ กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ยกให้กางเกงแมวโคราชเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดโคราช เช่นเดียวกับกางเกงช้างที่ถูกกล่าวถึงในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
- 20 พฤศจิกายน 2566 มี 88,782 Engagements
แอ็กเคานต์ @Lookatyourfab แสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ถึงไอเดียการทำกางเกงที่ระลึก 77 ลาย 77 จังหวัด สำหรับชาวต่างชาติ “จริงๆควรมี 77 ลายอะ เป็นไอเทมให้ต่างชาติมาเก็บเป็น souvenir เหมือนไปญี่ปุ่นแล้วปั๊มตรา อันนี้มึงก็ซื้อกางเกงช้าง กางเกงพญานาค กางเกงเจดีย์ไปจ้ะ”
- 24 พฤศจิกายน 2566 มีการพูดถึง 84 ข้อความ 1,905 Engagements
ประชาชนชาวโคราชเกือบ 200 คน ยืนต่อแถวเพื่อซื้อกางเกงแมวกัน ในงาน “มามูย่า” บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโม หลังจากหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาเปิดตัว กางเกงแมวโคราช จนเป็นกระแสดังในโลกออนไลน์
- 14 มกราคม 2567 มี 308,172 Engagements
ปอนด์-ณราวิชญ์ เลิศรัตน์โกสุมภ์ นักแสดงสังกัดจีเอ็มเอ็มทีวี โพสต์ภาพตนเองพร้อมข้อความ “อยากใส่กางเกงช้าง 📸”
- 17 มกราคม 2567 มีการพูดถึงมากที่สุด 198 ข้อความ 21,065 Engagements
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผุดไอเดีย จัดแข่งขันผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ผ่านการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หรือ Guinness World Records โดย “การแข่งขันใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที” เป็นส่วนหนึ่งใน 5 ของการแข่งขันดังกล่าว
จะเห็นว่าทุกครั้งที่กางเกงช้างถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ มักเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์สำคัญ หรือบุคคลที่อยู่ในความสนใจสวมใส่ และมีเพียง 1 ครั้งที่ถูกพูดถึงควบคู่กับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ของไทย คือ การแข่งขันใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
ทำไม ? ต้องเป็นที่สุดในโลก ไทยถึงจะได้รับความสนใจ
“กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์” (Guinness Book of World Records) หรือ “กินเนสส์บุ๊ก” ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้บันทึกสถิติความเป็นที่สุดในโลกด้านต่างๆ โดยมีการเผยแพร่เป็นรายปี ตีพิมพ์ครั้งแรก 1,000 เล่ม เมื่อปี ค.ศ. 1954 จุดเริ่มต้นมาจากในปี 1951 เซอร์ฮิวจ์ บีเวอร์ (Sir Hugh Beave) กรรมการผู้จัดการของโรงเบียร์กินเนสส์ (Guinness Brewery) กำลังออกไปล่าสัตว์กับเพื่อนฝูง ซึ่งเขาถกเถียงกับเพื่อนในเรื่องที่ว่า นกหัวโตสีทองนั้นเร็วสุดในยุโรป แต่เพื่อนเขากลับเถียงว่าไก่ฟ้าเร็วกว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น จุดประกายความคิด ในการสร้างสมุดบันทึกสถิติเพื่อแก้ไขปัญหาถกเถียง จนออกมาเป็น Guinness Book of Records โดยมีเป้าหมายในการรักษาความสงบจากข้อพิพาทเมื่อมีการถกเถียงกันว่า อะไรคือที่สุดในโลก
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ยื่นใบใบสมัครขอเป็นที่สุดในโลก มากกว่า 1,000 ใบต่อสัปดาห์ โดยใช้ระยะเวลารอสูงสุด 12 สัปดาห์ แต่ก็ยังมีวิธีทำให้การอนุมัติไวยิ่งขึ้น ด้วยการจ่ายเงินค่าธรรมเนียม ราคาตั้งแต่ 12,000 ถึง 500,000 เหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินไทยราว 427,230 – 17,801,250 บาท ผลพลอยได้จากสถิติถูกบันทึกลงในหนังสือ หรือเว็บไซต์ Guinness Book of Records หมายถึง เจ้าของสถิติจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากมายที่ไปเยือน
แน่นอนว่าเจ้าแห่งการแข่งขันอย่างไทยเราเอง ก็ส่งเข้าไปช่วงชิงความเป็นที่สุด หรือ ทำลายสถิติโลก อยู่หลายรายการเหมือนกัน เช่น
- ต้มยำกุ้งใหญ่ที่สุดในโลก โดยการทำต้มยำกุ้งใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 5,000 ลิตร ใช้กุ้งแม่น้ำรวม 500 กิโลกรัม
- ข้าวเหนียวมะม่วงที่เยอะและแพงที่สุดในโลก จัดโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- เดินทางด้วยเท้าบนกลีบดอกบัวยาวที่สุดในโลก
- บุฟเฟ่ต์ยาวใหญ่ที่สุดในโลก
- เลี้ยงอาหารช้างใหญ่ที่สุดในโลก
- จูบงูจงอางติดต่อกันหลายตัวเยอะที่สุดในโลก
- คนอยู่ในตู้ร่วมกับแมงป่องกว่า 3,000 ตัว นานที่สุดในโลก
- พับช้างด้วยผ้ามากที่สุดในโลก
- ล้างจานได้เยอะและเร็วที่สุดในโลก
- ไหว้ครูมวยไทยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบันการเป็นที่สุดของ Guinness Book of Records ไม่ใช่คำตอบเดียวของกลยุทธ์ทางการตลาด เนื่องจากกระแสความนิยมของหนังสือและเว็บไซต์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงต้นทุนการสมัครและการจัดกิจกรรม เพื่อบันทึกหรือทำลายสถิติโลก อาจจะไม่คุ้มค่าต่อการรับรู้ของประชาชน กลายเป็นแค่อีเว้นท์ เสมือนจุดพลุสว่างแล้วดับไป ไม่ใช่กระแสที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริง…
แล้วคุณล่ะ ยังจำอะไร ที่เป็น “ที่สุดของไทย” ได้บ้างไหม ?
ที่มา : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำลายสถิติและขั้นตอนการสมัครของ Guinness World Records