‘น้ำตาคนชั่ว’ สู่ ‘อยากเป็นโสเภณี’ : 50 ปี มายาคติขายบริการที่เปลี่ยนไป ?

ถ้ามีเพลงจังหวะโจ๊ะ ๆ สนุกสนาน พร้อมด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ดังขึ้นมาว่า..

“เป็นนางฟ้า คือหน้าที่ฉัน

พาผู้ชายขึ้นสวรรค์นั่นแหละโสเภณี

รักตัวเองไม่ต้องรักใคร

งานมีเงินได้ เก็บออมไว้ให้ดี”

คงมีหลายคนที่แปลกใจ และบางคนคงไม่คุ้นหู เพราะนี่เป็นผลงานเพลงของ ‘น้องเดียว สุวรรณแว่นทอง’ นักร้องลูกทุ่ง และนักแสดงหนังตะลุง ที่ปล่อยเพลง ‘อยากเป็นโสเภณี’ ออกมาให้ได้ฟังกันเมื่อปี 2565

เนื้อเพลงที่ถ่ายทอดออกมา แสดงให้เห็นถึง ความภาคภูมิใจในอาชีพ ‘โสเภณี’ หรือ ‘Sex Worker’ โดยไม่สนใจสังคม มองเห็นคุณค่าของอาชีพนี้อย่างแท้จริง ไม่มีการตีตราในอาชีพนี้เลยแม้แต่น้อย ถึงขั้นยกให้โสเภณีเปรียบเป็น ‘นางฟ้า’ ที่พร้อมจะพาผู้ชายมากหน้าหลายตาขึ้นสวรรค์ ที่สำคัญชีวิตของหญิงสาวในบทเพลง ดูจะมีความสุขกับอาชีพนี้ไม่ใช่น้อย

คุณคงนึกไม่ถึงใช่ไหม ? ว่าจะมีเพลงที่พูดถึงโสเภณีด้วยใจที่ เปิดกว้างและตรงไปตรงมา อย่างเพลง ‘อยากเป็นโสเภณี’ ซึ่งกว่าที่เราจะได้เห็นเพลงที่มีทัศนะคติในแง่บวกต่อ Sex Worker แบบนี้ แน่นอนว่าสังคมมีวิวัฒนาการของเสียงเพลงที่แตกต่างกันไป

The Active ชวนส่องมายาคติสังคมต่อ ‘Sex Worker’ ผ่านตัวโน้ตและบทเพลงตลอดช่วงเวลาครึ่งศตวรรษ กับ ‘อ.หน่อง – อานันท์ นาคคง’ อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพลงที่สะท้อนแง่มุมต่อโสเภณี หรือ Sex Worker กำลังบอกอะไรกับเรา ?

‘เพลง’ หนึ่งในอนุสาวรีย์ ประวัติศาสตร์ของสังคม

กว่าจะมาเป็นเพลงให้เราได้ฟังไม่ใช่เรื่องง่าย อาศัยแค่ส่วนผสมของเครื่องดนตรี ประกอบกับจังหวะ และท่วงทำนอง คงไม่พอจะทำให้เพลงสื่อเข้าไปถึงใจของผู้ฟังได้อย่างสุดซึ้ง

หากแต่ต้องมี ‘เนื้อเพลง’ ที่สามารถร้อยเรียงด้วยภาษาที่งดงาม พร้อมเล่าเนื้อหาที่สะเทือนอารมณ์ผู้ฟัง ได้มีอารมณ์ร่วมไปกับเพลงด้วย ‘นักแต่งเพลง’ จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เพลงต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ และทำให้เพลงยังคงติดหูผู้ฟังทุกยุคทุกสมัย

เมื่อเนื้อเพลงมีหน้าที่บอกเล่าก็ต้องอาศัยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงเวลานั้น ๆ ให้ผู้แต่งได้หยิบยกมาเขียนลงในเพลง เพื่อแสดงปรากฏการณ์บางอย่าง

อานันท์ นาคคง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นี่คือคุณสมบัติที่ อ.หน่อง เชื่อว่านักแต่งเพลงต้องมี คือ ความรู้สึกหวั่นไหวต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม เมื่อสังคมเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง นักแต่งเพลงจะทำหน้าที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ยิ่งถ้าเพลงมีความไพเราะ ผู้คนนิยมฟังมากขึ้นเท่าไร เพลงก็จะกลายเป็น ‘ไอคอน’ หรือ ‘อนุสาวรีย์’ หนึ่งในสังคมที่บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ และสามารถนำไปต่อยอด หรือศึกษาได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เห็นปัญหา และรอยแผลที่พบเจอในแต่ละช่วงเวลา

การมีเพลงที่พูดถึงมุมมอง หรือชีวิตของ Sex Worker จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังรุ่นหลัง รับรู้ว่าสังคม ณ ขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น หรือมีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้นจริง ซึ่งได้ถูกบันทึกไว้มากมายในโลกของเพลงทุกแขนง ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง ป๊อบ แต่แน่นอนว่าผู้แต่งที่หลากหลาย ทัศนะคติหรือมุมมองที่มีต่ออาชีพนี้ ก็ต้องหลากหลายทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ตามสภาพผู้แต่ง และสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น

“เราจะขาดประวัติศาสตร์ทางเสียงไม่ได้ เพราะเสียงพวกนี้เป็นเสียงที่ถูกใช้งานทั้งในโลกของการบันเทิง และถูกใช้งานในแง่ของการบันทึกความทรงจำของสังคม”

หากนับเฉพาะเรื่องราวชีวิตของ Sex Worker พบว่าถูกผลิตซ้ำผ่านเพลงมาอย่างนับไม่ถ้วน ซึ่งเนื้อหาก็ล้วนแล้วแต่เป็นความชอกช้ำที่ต้องโดนสังคมประณาม หยามเกียรติจากฝ่ายชายที่ร่วมหลับนอนกับเธอ แต่ความโหดร้ายเหล่านี้กลับอยู่อย่างชาชินมาอย่างยาวนาน ทำให้ยากลำบากต่อการลืมตาอ้าปากของหญิงคนหนึ่ง ที่ต้องการมีชีวิตที่ดีเหมือนคนอื่น

หากจะคาดหวังให้ได้รับการปกป้อง คุ้มครองทางกฎหมาย คงต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ รายล้อมไปด้วย กำแพงอคติ ที่สังคมมอง โสเภณี หรือ Sex Worker เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำมาตั้งแต่อดีต จนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นด่านสำคัญที่ทำให้การมีกฎหมายคุ้มครอง Sex Worker ยากมากกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของ ‘ความเป็นมนุษย์’ และการเห็นอกเห็นใจกันและกัน

แล้วช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ กำแพงอคติเหล่านี้ลดลงไปแล้วบ้างหรือไม่ บางทีภาพสังคมที่สะท้อนผ่านบทเพลงอาจกำลังบอกอะไรเราอยู่…

ทศวรรษ 2510 : ‘น้ำตาคนชั่ว’ เพราะฉันชั่วด้วยความจำเป็น

“เห็นดอกฟ้านภาสลัว

เหมือนผู้หญิงคนชั่ว 

หมองมัวด้วยหมอกราคี”

ว่ากันว่า.. น้ำตาไม่มีเสียง คงเป็นเรื่องจริงเพราะเราไม่สามารถได้ยินเสียงของน้ำตา แต่หากจะเปรียบเปรยด้วยอารมณ์ที่สื่อออกมาผ่านบทเพลง ‘น้ำตาคนชั่ว’ ในปี 2515 ของนักร้องชั้นครู ‘เรียม ดาราน้อย’ อาจพูดได้ว่าเพลงนี้ ทำให้ผู้ฟัง ได้ยินเสียงน้ำตาของหญิงขายบริการ คนหนึ่งที่ถูกสังคมมองด้วยความรังเกียจ ซึ่งแม้แต่ตัวเองก็ยังมองว่า เป็นหญิงชั่วที่ต้องมาทำอาชีพ Sex Worker

“ต้องสู้ทนทุกข์ระกำ

ความช้ำซ่อนอยู่ภายใน”

ว่ากันว่า…‘น้ำตาจะไหลได้ ต้องกลั่นออกมาจากความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่ง’ แต่ความรู้สึกของ Sex Worker ในยุคของเพลงน้ำตาคนชั่วนี้ แน่นอนว่าคงไม่ได้เป็นความรู้สึกที่ยินดีกับชีวิตเหมือนกับคนอื่น ๆ เพราะเธอขมขื่นอยู่กับความทรมานที่ต้องขายร่างกายให้กับชายที่ไม่ได้รักมากหน้าหลายตา 

“หาเลี้ยงลูกและแม่

ดูแลน้องอีกตั้งสาม

ส่งน้องเล่าเรียนด้วยเงินแลกเปลี่ยนความช้ำ”

ว่ากันว่า…‘น้ำตาที่ไหล มันมีเหตุผลของมันเสมอ’ เพราะการที่จะเข้ามาสู่วงการขายบริการ มีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่ยากจน ชีวิตของ Sex Worker ในยุคนั้น จึงไม่มีทางเลือกมากนัก และไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ ได้ ความยากลำบากของชีวิตและคนข้างหลังที่เธอต้องคอยดูแล เธอจึงไม่ต่างจากเสาหลักของบ้านที่คอยพยุงให้ครอบครัวมีกินใช้และสุขสบาย ซึ่งก็ต้อง แลกมาด้วยเรือนร่างของเธอที่ต้องจำยอม ด้วยความยากจน

เพลงน้ำตาคนชั่ว จึงทำให้ภาพชีวิตของ Sex Worker ในขณะนั้นมีแต่ความมืดมิด และทุกข์ทนอยู่กับความทรมานที่สังคมตีตราเธอว่าเป็นหญิงชั่ว ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี และไม่มีใครเห็นใจแม้แต่ตัวเธอเองก็ตาม

ทศวรรษ 2520 : “น้ำตานองอาบสองแก้ม”…น้ำตาที่มีคนเข้าใจ

วัน เวลาที่เปลี่ยนไป ยุคสมัยของเพลงก็เปลี่ยนตาม จากเพลงลูกทุ่ง มาสู่ เพลงเพื่อชีวิต นับตั้งแต่เพลงน้ำตาคนชั่ว ของ เรียม ดาราน้อย ในปี 2515 ได้ถูกปล่อยออกมา แต่คำว่า ‘น้ำตา’ ที่แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานของชีวิต Sex Worker ก็ยังคงอยู่ในเพลง

จนมาปรากฎกับเพลงในตำนาน ‘นางงามตู้กระจก’ ในปี 2527 เรียกได้ว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไม่ได้รังเกียจอาชีพ Sex Worker อีกต่อไป

“นํ้าตานองอาบสองแก้ม

สายลมแย้มพัดผ่านมา

นาฬิกาบอกเวลา

ดังเตือนว่าเลยเวลานอน”

เสียง Intro อันเป็นเอกลักษณ์ ตามมาด้วยเสียงแหบทรงเสน่ห์ของ ‘เทียรี่ เมฆวัฒนา’ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในตำนานวงคาราบาว เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในเพลงชาติของหญิงขายบริการ ที่หลายคนคุ้นหูกันมาถึง 40 ปี จนมาถึงปัจจุบันก็ยังคงผ่านหูกันบ่อย ๆ มีศิลปินหลายคนนำมาร้อง Cover อย่างต่อเนื่อง

“ชํ้าเพราะความที่เธอจน

นี่หรือคนสังคมรังเกียจ

ช่วยผู้ชายระบายความเครียด

สิบร้อยพันยันรัฐมนตรี”

แม้น้ำตาที่ถูกสื่อผ่านเพลงยุคนี้ ยังคงวนเวียนอยู่กับความเจ็บปวดของหญิงขายบริการ ที่ต้องพลีกายให้กับชายมากหน้าหลายตา ไม่ต่างจากเพลงน้ำตาคนชั่ว แต่น้ำตาของเพลงนางงามตู้กระจกกลับ ยังมีคนเข้าอกเข้าใจและเห็นใจ ซึ่งไม่ได้มองว่า เธอทำอาชีพที่ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี เหตุเพราะความจน และก็ยังเป็นครอบครัว คนข้างหลังอีกเช่นเคยที่พัดพาให้เธอเข้ามาสู่วงการ ขายบริการอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพลงนางงามตู้กระจก ยังทำให้เห็นว่าสังคมมีจุดเปลี่ยน และลดกำแพงอคติลงไปมาก ความเลวร้ายที่หญิงสาวคนหนึ่งถูกตีตรา เริ่มหายไป จนทำให้เห็นว่าสังคม หรืออย่างน้อยผู้แต่งเพลง เข้าใจ และเห็นใจหญิงขายบริการมากขึ้นกว่าในอดีต

ทศวรรษ 2530 : “นึกว่าไปได้ดี โอ้ศรีน้องมาขายตัว” กับ ปรากฏการณ์ ไม่ตั้งชื่อลูกว่า ‘สมศรี’

เชื่อไหมว่า ? ครั้งหนึ่งไม่มีใครตั้งชื่อลูกว่า ‘สมศรี’ เพียงเพราะอัลบั้ม สมศรี 1992 ของ ‘ยิ่งยง ยอดบัวงาม’ ทำให้ชื่อเรียกสมศรี เป็นภาพแทนของหญิงขายบริการ

นี่เป็นคำบอกเล่าของ อ.หน่อง ที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลจากยอดขายเทปทะลุกว่า 100 ล้านบาท ของเพลง ‘สมศรี 1992’ ในปี 2535 มีพลังต่อสังคมจนเกิดปรากฏการณ์ไม่ตั้งชื่อลูกว่าสมศรีขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ และได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานเพลงที่ฟื้นคืนชีพวงการลูกทุ่งหลังซบเซามานาน

แม้ว่าในเนื้อเพลงไม่ได้บอกว่าสมศรี เข้าสู่วงการขายบริการ ด้วยความจำยอมเหมือนเพลงอื่น ๆ ในยุคก่อนหน้านี้ และมีเสียงเหยียดหยามจากชายคนรักจนถึงขั้นจะพาไปล้างคาวด้วยน้ำมนต์ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ชายคนรักก็พร้อมยอมรับถึงหญิงคนรักจะยังมองอาชีพขายบริการเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจก็ตาม

สิ่งนี้เองทำให้เห็นว่า การเปิดกว้างของสังคมเริ่มมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงอิสระในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงที่ต้องการประกอบอาชีพตามที่ตนต้องการขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว

เกือบ 50 ปี แทบไม่มีนักร้องหญิง ร้องเพลงเกี่ยวกับ Sex Worker บ่งบอกอะไร ?

ตั้งแต่ปี 2520 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงที่เกี่ยวกับ Sex Worker ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายร้องเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพลง ‘สาวน้อยกลับบ้าน’ ของ ‘อ้อย กระท้อน’ เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในช่วงเวลาที่ The Active พยายามค้นหาเพลงที่เกี่ยวกับอาชีพนี้ได้

อ.หน่อง มองว่า สิ่งนี้คือการแสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะประกาศต่อสังคมว่าชายเหล่านี้ยอมรับในตัว Sex Worker ได้ แม้ว่าจะมีบางเพลงอย่าง ‘สมศรี 1992’ ที่มองว่าอาชีพนี้ต้องเสียศักดิ์ศรี หรือเป็นคนไม่ดีก็ตาม แต่ด้วยเจตนาดี และซื่อสัตย์ในการยอมรับ เพลงจึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้สังคมหันมาสนใจ Sex Worker ผ่านเสียงเพลงที่ถูกขับร้องอย่างไพเราะ ในหลายมิติ หลายมุมมอง ซึ่งต่างจากช่วงก่อนที่ถูกร้องโดยผู้หญิง ซึ่งมีความกล้า ๆ กลัว ๆ ในการพูดถึงชีวิตของโสเภณี

ทศวรรษ 2560 : ประกาศให้โลกรู้ว่าฉัน.. ‘อยากเป็นโสเภณี’

จากปี 2530 เรากระโดดมาอีก 30 ปี การไต่ระดับเรื่อง ‘สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย’ ตั้งแต่เพลงสมศรี 1992 และการยอมรับมากยิ่งขึ้นของสังคมในเรื่องของการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ดูเหมือนมีวิวัฒนาการ ทัศนคติของสังคมเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เพราะถ้าได้ฟังเพลง ‘อยากเป็นโสเภณี’ จบทั้งเพลง จะเห็นว่าอารมณ์การเล่าเรื่องชีวิตของ Sex Worker แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง เมื่อเธอไม่ต้องจำใจ หรือทนทุกข์กับการบริการชายทั้งหลายเช่นเดิมแล้ว อีกทั้งความรู้สึกที่มองตัวเองว่าชั่วหรือมั่วโลกีย์ ก็ไม่หลงเหลืออยู่ในเพลงนี้เลยแม้แต่น้อย ทุกภาพจำที่เคยเกิดขึ้น ถูกเปลี่ยนใหม่ด้วยการยกให้หญิงขายบริการคนหนึ่งเปรียบดั่ง ‘นางฟ้า’

“เป็นนางฟ้า

คือหน้าที่ฉัน

พาผู้ชายขึ้นสวรรค์นั่นแหละโสเภณี”

เนื้อเพลงทำให้เห็นว่าผู้แต่ง มองอาชีพนี้อย่างมีคุณค่า ที่ได้ช่วยเหลือชายขี้เหงาให้สุขสมไม่ต่างกับอยู่บนสวรรค์ ซึ่งการเจอชายมากหน้าหลายตา อาจมองไปได้ว่าหญิงสาวยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นตามจำนวนชายขี้เหงาเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงิน’ ยังเป็นปัจจัยหลัก ๆ ของการเดินเข้าสู่เส้นทางขายบริการ เหมือนกับเพลงในช่วงเวลาก่อน ๆ แต่เมื่อดูในเนื้อเพลง ‘อยากเป็นโสเภณี’ จะเห็นว่า ผู้แต่งมีความคิดนำล้ำสังคมไปไกลกว่าอดีต และปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะผู้แต่งมองไปถึงการใช้อาชีพนี้สร้างความมั่นคงให้กับตัวเองเมื่อเข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต

“รักตัวเองไม่ต้องรักใคร

งานมีเงินได้ ออมไว้ให้ดี

เลยวัยหน่อยแล้วค่อยเกษียณ

ไม่ยุบไม่เหี้ยน ไม่ต้องเปลี่ยนคัสซี”

สิ่งนี้เองทำให้เห็นว่า Sex Worker ก็สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองได้ หากมีการวางแผนและดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากอาชีพอื่น ๆ เพียงแค่ใช้ร่างกายในการเป็นทุนเพื่อแลกกับเงินตราหรือความสุขสบาย และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะขายบริการไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

“เพลงอยากเป็นโสเภณี เป็นการเปิดพื้นที่อย่างชัดเจนมาก ๆ มีความก้าวหน้าในความคิดว่า สิ่งนี้คืออาชีพหนึ่งที่มีความบริสุทธิ์ มีความจริงใจ ต่อการทำงาน และไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียหาย หรือไปฆ่าใคร มันคือหนึ่งในวิถีชีวิตที่เธอเลือก”

50 ปี มายาคติ (ขายบริการ) ที่เปลี่ยนไป ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ยังมองว่า การมีอยู่ของชีวิตโสเภณีได้ผ่านการมีอยู่ของเพลง แม้ว่าการอยู่ได้อย่างยั่งยืนของเพลงอาจจะไม่ใช่คำตอบที่สามารถยืนยันได้ว่า “เรามองชีวิตโสเภณีผ่านเพลงได้เลยทันที” แต่การที่เพลงอย่าง น้ำตาคนชั่ว นางงามตู้กระจก สมศรี 1992 คงอยู่และติดหูคนในสังคมมาอย่างยาวนาน นั่นหมายความว่า มีพลังบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างเพลง สังคม และชีวิตโสเภณีแล้ว

แต่ในโลกของบทเพลง ต้องยอมรับเช่นกันว่า มีเรื่องราวเชิงพาณิชย์ที่ต้องคำนึงถึงยอดขาย การที่จะทำเพลงเกี่ยวกับหญิงขายบริการจึงอาจเป็นเรื่องยาก และไม่ได้สะดวก เหมือน Sex Creator ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง การทำเพลงออกมาจึงต้องคำนึงถึงกระแสตอบรับต่อสังคม ซึ่งต้องอาศัยความงดงามของดนตรีและภาษาด้วยชั้นเชิงของนักแต่งเพลง

โดยในช่วงแรก ๆ จะเห็นว่าวิธีการเล่ายังไม่ได้พูดเรื่องชีวิตของโสเภณีแบบตรงไปตรงมา หรือโจ่งแจ้ง ไม่เหมือนกับเพลงในปี 2565 อย่าง เพลงอยากเป็นโสเภณี ที่ใช้ภาษาอย่างดิบ ๆ และชัดเจนของน้ำเสียงแบบนักร้องพื้นบ้าน

แต่ถ้าลองมองมาที่เพลงน้ำตาคนชั่ว จนมาถึง เพลงอยากเป็นโสเภณี ทำให้เห็นถึงความแตกต่างในการสื่อสารเรื่อง Sex Worker อย่างชัดเจน ซึ่งกว่าจะมาถึงยุคปัจจุบันต้องผ่านการทดลองและหาวิธีสื่อสารผู้ฟังอย่างสร้างสรรค์ จนทำให้เสียงดนตรีและเสียงร้องเข้าไปกระทบใจผู้ฟังและรู้สึกหวั่นไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเนื้อเพลง

“นี่มันคือเพลงที่ปล่อยออกมาในสังคม แล้วสังคมต้องเลือกรับ ดีเจต้องกล้าเปิด หรือช่องทางที่สามารถเล่าเรื่องพวกนี้ได้ ก็ต้องใช้ศิลปะด้วย มันพูดไม่ได้อย่างซื่อ ๆ ตรง ๆ และศิลปะเหล่านี้ออกมาด้วยชั้นเชิงต่าง ๆ ด้วยภาษาที่เขียน ด้วยเนื้อหาที่หยิบมาเล่า สามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ การขับร้องหรือดนตรีประกอบให้กระทบหัวใจของผู้คน”

‘น้ำตาคนชั่ว’ สู่ ‘อยากเป็นโสเภณี’ จึงทำให้เห็นการไต่ระดับของทัศนคติคนในสังคม ว่ามีการเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้างมากขึ้นอย่างไรบ้าง เริ่มจากการมองตัวเองเป็นหญิงชั่ว สู่การยอมรับที่มากขึ้นของสังคมผ่านเพลงจากชายคนรัก จนสุดท้ายก็ได้เห็นความภาคภูมิใจและคุณค่าของอาชีพ Sex Worker ซึ่งเมื่อเทียบกับอารมณ์ที่สื่อออกมาจากเพลง ดูเหมือนว่าภาษาหรือเนื้อร้องก็ค่อย ๆ ไต่ระดับความตรงไปตรงมาเช่นกัน

เช่นกันกับความพยายามผลักดัน ยกเลิก ปรับแก้กฎหมายที่หลายคนกำลังเรียกร้องกันมาหลายสิบปี คงต้องเริ่มด้วยวิธีการเดียวกันกับเพลงแบบค่อยเป็นค่อยไป จนสุดท้ายทำให้เกิดความเข้าใจ และที่มากกว่านั้นคือการคุ้มครองความเป็นมนุษย์ ที่คนทุกอาชีพ รวมทั้ง Sex Worker คู่ควรกับการถูกยอมรับ

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น