สัญญาประชาคม ส.ว. แนวทางป้องกัน ‘ความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง’​ I ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

วิเคราะห์ 3 ภาพอนาคต

 ปัจจัยเสี่ยงบน ‘นิเวศวิทยาความขัดแย้ง’

‘การเลือกตั้ง’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้านี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย ทั้งในมุมของการกำหนดทิศทางว่าอีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ด้วยการชี้ขาดกันที่คะแนนเสียงของประชาชนคนไทย ที่จะเข้าคูหาเลือกอนาคตของตัวเองผ่านกระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย     

ในอีกมุมหนึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังถูกตั้งความหวังว่าจะเป็น ‘กลไก’ สลายความขัดแย้งที่ค้างคามายาวนานเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ให้หมดไป  ด้วยการรีเซ็ตระบบและเดินหน้าเข้าสู่ระบบตามปกติ

แต่ในมุมมอง ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์  นักวิชาการที่มักส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเมื่อเห็นปัจจัยเสี่ยงความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย  กลับมองเห็นสัญญาณอันตรายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ ‘ความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง’ (Post-Election Conflict) โดยเฉพาะจากปัจจัยสำคัญอย่าง ส.ว. ที่จะเข้ามามีบทบาทในการร่วมเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ​

“ส่วนสำคัญที่สุดสำหรับการเลือกตั้งคราวนี้อาจไม่ใช่ภาพระยะไกลของสังคมไทย แต่คืออนาคตระยะสั้นต่างหาก ผมถามอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่คณะรัฐศาสตร์  ท่านทำงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ผมได้ถามว่า ดูการเลือกตั้งครั้งนี้คุณเห็นสัญญาณที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงไหม คำตอบคือไม่ชัดและไม่เยอะ อาจจะมีการซื้อเสียงสู้กัน แต่ถึงขั้นฆ่ากันไม่น่าจะเยอะ แต่ปัญหาที่เกิดมันจะคือเรื่องอะไร  อาจารย์ประจักษ์ เรียกว่า Post-Election Conflict (ความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง) คือถ้าคนไม่ยอมรับ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นทันทีหลังการเลือกตั้ง ต่อให้ฝ่ายนี้ชนะ เขาก็จะบอกว่าซื้อเสียง หรืออีกฝ่ายถูกรังแกจึงไม่ชนะ”  

ส.ว.กลุ่มนี้ 250 คน ถูกเลือกโดยคนแค่ 6  คน แล้วขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจในส่วนของการเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้เราก็ได้ยินเสียงของบางคนว่าถ้า อุ๊งอิ๊ง-แพรทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาได้ เขาก็ ไม่เลือก ​แปลว่าเขาไม่คิดจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ แต่เขาถือว่าเป็นหน้าที่ในการพิทักษ์อะไรบางอย่างของเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วถือว่ากลุ่มนี้ไปรบกวนสิ่งนั้น นี่คือภาพทั่วไป

ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนั้น มีความชอบธรรมตรงไหน  และเอาความชอบธรรมอะไรเป็นฐาน หลังรัฐประหารปี 2557 เขาสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ตอนแรกเป็นธรรมนูญ มีคณะรัฐประหาร มี ส.ว. แล้วรัฐธรรมนูญใหม่ก็มี ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่ ‘เลือกนายก’ คือเป็นเสียงหนุนนายกฯ  นายกฯ ไม่ต้องขึ้นกับสภาฯ  แล้วถามว่า ส.ว. 250 คนมาจากไหน ก็มาจาก 6 คนเลือก ตกลงคน 6 คนเลือกเท่ากับคน 40 ล้านคนในประเทศจริงหรือ คุณเอาความชอบธรรมอะไรมาใช้  บอกว่าคน 6 คน ศักดิ์สิทธิ์กว่า สำคัญกว่า มีอำนาจและมีความรู้มากกว่าคนอีก 40 ล้านคน  เพราะฉะนั้นฉันก็เลือกคนที่ดีมาเตรียมจัดการ regulate (ควบคุม) เส้นทางของการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาก็ทำแบบนี้และก็อยู่กันมาได้ตั้ง 8 ปี

การเลือกตั้ง คือ นวัตกรรมจัดการความขัดแย้ง  

ศ.ชัยวัฒน์ เล่าย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของจุดกำเนิดการเลือกตั้งว่า ในประวัติศาสตร์โลกเวลาผู้มีอำนาจจะแย่งกันครองอำนาจรัฐ เขาจะนับทหาร นับอาวุธ(หลาว แหลม ธนู ปืน กระสุน ฯลฯ) ใครมีมากกว่าคือผู้ชนะ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมก็เกิดการปะทะกัน จึงเป็นที่มาของการเกิดสงครามกลางเมือง หรือรูปแบบไหนก็ตามเพื่อจะบอกว่าตกลงใครจะขึ้นมาครองอำนาจรัฐ หน้าที่ของการเลือกตั้งคือการมาทดแทนเรื่องนี้ด้วยวิธีที่ฉลาด แทนที่จะไปนับจำนวนอาวุธ จำนวนคน แต่นำจำนวนคนมาแสดงตัวผ่านสิ่งที่เรียกว่า “บัตรเลือกตั้ง”  เปลี่ยนแปลงจาก Bullets (กระสุน) ไปเป็น Ballots (บัตรเลือกตั้ง)

ถ้าเราพูดถึง Innovation ทางการเมืองนี่คือนวัตกรรมยิ่งใหญ่ สุดยอดเลย แล้วโลกก็ใช้มันมา หมายความว่าถึงเวลาก็สู้กัน แต่ว่าในกติกาการต่อสู้นี้  อีกฝ่ายไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นคู่แข่ง การเลือกตั้งต้องมีฝ่ายค้าน ฝ่ายตรงข้าม ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสองสิ่งนี้ก็ไม่ใช่การเลือกตั้ง ดังนั้น การดำรงอยู่ของฝ่ายที่ไม่เหมือนกันกับคุณจึงสำคัญกับคุณในฐานะคู่แข่ง ใครชนะก็เดินหน้าบริหารประเทศ  สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ไม่ใช่การดำเนินการบริหารไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่มีกรอบเวลากำหนดไว้ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 4 ปี และถ้าไปต่อได้ก็บวกอีก 4 ปี แล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้น ในแง่การเลือกตั้ง กับเรื่องความขัดแย้งจึงเกี่ยวข้องกันเยอะมาก  มันแปลงความขัดแย้งให้การอยู่ในสังคมศิวิไลซ์หรือสังคมที่มีอารยะยอมรับและอยู่ด้วยกันได้ เมื่อแข่งกันและใครชนะก็ยอมรับบทบาทของผู้ชนะ

เลือกใคร เลือกอะไร เลือกทำไม ใช้เกณฑ์อะไรเลือก?

Election (การเลือกตั้ง) มาจากรากศัพท์ภาษาละติน หมายถึง การเลือกบางสิ่งออกจากกอง ความสำคัญ คือ การเลือกตั้งใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก เหมือนการเลือกผ้า เลือกยี่ห้อน้ำหอม หรือเลือกอาหาร ทำไมจึงเลือกร้านนี้ ไม่ใช่ของอีกร้านหนึ่ง นี่คือสิ่งที่สะท้อนตัวคุณ  สิ่งที่คุณอยากได้และเลือกหรือหยิบมันออกมาด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือก และเลือกไปทำไม แล้วเวลาเขาปรากฏตัวเขาเสนออะไรในสิ่งที่คุณชอบ กรณีประเทศไทย ในฐานะพลเมืองไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในปีนี้ เราก็ไปเลือกในฐานะพลเมือง มันเป็นหน้าที่  เลือกอะไร  เลือกใคร เลือกทำไม เกณฑ์อะไร  และเลือกไปทำอะไร อาจจะเลือกเพราะชอบคนพูดเก่ง เลือกเพราะคนนั้นจะนำอะไรบางอย่างมาให้ หรืออาจจะไม่สนใจสารที่ส่งมาเลย แต่เลือกแค่เพราะสนใจเขาอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ในคำว่าเลือกตั้งจึงมี 4 คำถาม เนื่องจากคำว่า ‘เลือก’ ไป ‘ตั้ง’ เป็นอะไร ก็เพื่อเลือกไปตั้งเป็นผู้ปกครองรัฐ ฉะนั้นการเลือกตั้งจึงสำคัญมาก ๆ แต่เวลาคิด มักจะคิดกันไปว่า เป็นรัฐบาลแล้วถึงจะมีอำนาจ ก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือเขาเป็น “ผู้ครองอำนาจของรัฐ” และรัฐก็มีหน้าที่ มีบริหารทรัพยากรหลาย ๆ อย่างที่จะทำได้

ผู้แทนฯ ไม่ใช่ตัวจริง  ตัวจริง คือ ประชาชน

​อย่างไรก็ตาม ของที่เราจะไปเลือก ไม่ใช่ของจริง หมายความว่า เขาเป็นแค่ตัวแทนไม่ใช่ตัวจริง ดังนั้น สภาฯ จึงไม่เคยถูกเรียกว่า House of the real (สภาตัวจริง) แต่จะถูกเรียกว่า House of representative “สภาผู้แทน” ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราเลือกไม่ใช่ตัวจริง แต่ตัวจริงคือ ”คนเลือก”   ที่เรียกว่า parliament  (รัฐสภา) ภาษาฝรั่งเศสก็จะเรียกว่า parle’ ที่แปลว่า พูด เป็นที่พูด หมายความว่าในทางการเมืองประชาธิปไตยแบบที่มีสภาแบบใด ๆ ก็ตาม จะให้ความสำคัญกับการพูด การเชื่อในพลังอำนาจของการพูดไม่ได้เชื่อในพลังอำนาจของการบังคับ ไม่เชื่อในพลังอำนาจของอาวุธ เพราะฉะนั้น คำพูดจึงเข้ามาแทนของเหล่านั้น ในคำพูดจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและมีความสำคัญ และมีหลักฐาน ข้อมูล

 สิ่งสำคัญอีกก็คือต้องมี “ระบบเหตุผล” จะเห็นว่าในหลาย ๆ ประเทศที่เราเห็นคนพูดเก่ง ๆ นั่นเพราะสภาฯ เป็นที่ให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการให้คำพูดที่จับใจคน” ไม่ใช่เรื่องของการพูดเก่งหรือไม่เก่ง แต่คำพูดถูกเชื่อว่ามีพลังพอที่จะเข้าไปอยู่ในใจคนได้ สิ่งนี้แหละคือ parliament    

‘ความชอบธรรม’ ของฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง

ในมุม ‘นิเวศวิทยา’ ของการเลือกตั้ง ศ.ชัยวัฒน์  อธิบายว่า จากที่เราพูดว่าการเลือกตั้งคือนวัตกรรมทางการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความชอบธรรมให้กับคนที่ชนะ​ เช่น ถ้าบอกว่า คนชนะได้ครองอำนาจเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศเลือก ต้องอธิบายได้ว่า ที่คนส่วนใหญ่เลือกก็มาจากการมีข้อเสนอที่ดีหรือมีข้อเสนอที่ถูกใจคนเลือก (เช่น ข้อเสนอแก้ปัญหาการว่างงาน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ) คุณไปดูข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้งหลายมีแต่เสนอเรื่องให้เงิน  เพราะพรรคการเมืองคิดว่าปัญหาใหญ่คือเงิน

ถ้าพรรคการเมืองแข่งกันเรื่องเงิน ก็เกิดคำถามตามมาว่าจะเอาเงินมาจากไหนถ้าต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ถ้าไม่เอามาจากภาษี ก็ต้องไปกู้เงินมาหรือ ซึ่งมันทำไม่ได้  แต่ถ้าจะเอามาจากภาษี ภาคธุรกิจก็จะเดือดร้อนเพราะธุรกิจเป็นตัวเดินระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย มันจะต้องมีคำตอบด้วยว่าจะต้องทำยังไงจะเอาเงินมาจากไหนและจะพาประเทศไปทางไหน นี่เป็นประเด็น 

ปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดปัญหาในหลังการเลือกตั้งได้ก็คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นพรรคธรรมดา หมายถึง ไม่มีอุดมการณ์จัด มี Policy platform (นโยบายที่แถลงก่อนเลือกตั้ง) ที่เห็นชัดในแง่การจัดการทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องการเพิ่มรายได้ ​การประกันรายได้ตามระดับการศึกษา ฯลฯ แต่บางพรรคไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้เท่ากับการตั้งใจบอกถึงการปรากฏตัวว่า มีจุดประสงค์เพื่อพิทักษ์อะไร ที่คนเชื่อว่าวิเศษและศักดิ์สิทธิ์ และคนใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้สร้างโลกความเป็นจริงนำทางโดยสื่อประเภทหนึ่ง ก็จะอยู่ในนิเวศวิทยาอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเห็นอีกรูปแบบหนึ่ง

นิเวศวิทยาแห่งความขัดแย้ง

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดในนิเวศวิทยาแบบนี้จึงไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าปรากฏการณ์ ‘นิเวศวิทยาแห่งความขัดแย้ง’ แบบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร  เราจะต้องตอบจากคำถามที่ว่า อะไรคือความแตกแยกแบบแบ่งขั้ว/ มีมิติที่ลึกขนาดไหน/ ลักษณะของคนที่อยู่ในนิเวศวิทยาแบบนี้เป็น แม้แต่ในอินเดีย บราซิล ฯลฯ ก็เกิดสถานการณ์แบบนี้เหมือนกัน ในประเทศก้าวหน้าอย่างอเมริกาก็เกิดเหมือนกัน ผลของมันคือ มีการเลือกตั้งแต่มีฝ่ายที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นตลอด 200 ปี ของประวัติศาสตร์อเมริกา แต่เกิดในสมัยเลือกประธานาธิบดีไบเดน

ในมุมของ นิเวศวิทยาแห่งความขัดแย้ง ปัจจุบันลักษณะนิเวศวิทยามันมีอาการที่โลกกำลังให้ความสนใจในเรื่อง Polarization (การแยกขั้วแบ่งข้าง)  ในอดีตเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่ไม่แรงขนาดนี้ ปัจจุบันที่มันแรงขนาดนี้  มาจาก 2 ปัจจัยที่อธิบายได้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นตอนนี้  คือ  1.  ‘ประเด็น’ ที่เกิดการแยกขั้วแบ่งข้างคืออะไรที่เป็นตัวแยก จุดแยกอยู่ตรงไหน 2. อะไรทำให้การแยกขั้วแบ่งข้างเกิด ‘การระบาด’  ข้อนี้ต้องให้เครดิตกับโซเชียลมีเดียและการพัฒนาใหม่ ๆ ของสื่อ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสื่อทั้งสตรีมมิงที่สามารถดูได้โดยไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่าความจริงแล้ว

“การเมือง” หรือ “การมอง”

หากเปรียบกับภาพของคนสองคน คนหนึ่งดูผ่านรูกำแพงสิ่งที่เขาเห็นคือ “ฝนตก”  แต่อีกคนหนึ่งปีนกำแพงดูกลับบอกว่า “ฝนไม่ตก” แดดสว่างดี แต่สิ่งที่อีกคนหนึ่งเห็นคือ รอยรั่วจากถังน้ำแล้วมันกระจายออกมาเหมือนฝนเลยบอกว่าฝนตก พูดยังไงก็ไม่เชื่อเพราะว่าเห็นกับตาเพราะสิ่งที่คุณเรียกว่าเห็นกับตาหรือความน่าสนใจ สิ่งที่เรียกว่า “การเมืองหรือการมอง” สำคัญมากจนแทบจะไม่เห็นความสำคัญจริง ๆ ว่าเป็นยังไง Polarization (การแยกขั้วแบ่งข้าง) ผมมีคำถาม 3 ข้อ คือ 1. ที่บอกว่าแตกแยก “แตกตรงไหน”  2. (รอยแตก)ลึกไหม 3. สภาพของคนที่อยู่(ในสถานการณ์นี้) อยู่อย่างไร การตอบคำถามว่า “เวลาสังคมแตกแยกมันแตกที่ไหน” เพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้หลายที่ เหมือนรอยร้าวบนอาคารอาจจะเกิดจากผนังหรือฐานรากก็ได้  

เวลาเราบอกว่า ‘สังคมขัดกัน’  ที่ที่มันขัดมันไม่ใช่ที่ปกติแล้ว มันขัดกันในที่ที่บางคนเรียกว่า “ระบบทำงานทางศีลธรรมแตก” Moral working order (ลำดับการทำงานทางศีลธรรม) ที่ทำงานในสังคมเชื่อว่าสิ่งนั้นถูก สิ่งนั้นผิด เป็นเรื่องแปลก ในพัฒนาการของสังคมที่เกิดขึ้นในระยะหลัง เช่น เรื่องการทำแท้ง ข้อตัดสินที่ศาลสูงในอเมริกาเปลี่ยนข้อตัดสินจากเมื่อ 60-70 ปีก่อน เรื่อง Roe v. Wade (คดีระหว่างโรกับเวด เป็นคำวินิจฉัยหลักหมุดของศาลสูงสุดสหรัฐ โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐคุ้มครองเสรีภาพของหญิงมีครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยปราศจากข้อจำกัดของรัฐบาลเกินควร)  ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการทำแท้งมันเปลี่ยนไปเพราะองค์ประกอบของ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไป ​ฝั่ง conservative (อนุรักษ์นิยม) ก็ไม่ยอมรับ ผลออกมาเป็นมหากาพย์ในโลกของอเมริกันเลย เพราะเขาถือเป็นเรื่องของสิทธิ แต่ก็มีปัญหาอื่นซ้อนอยู่คือเรื่องของสิทธิเด็กในครรภ์ เมื่อไหร่เขาเป็นชีวิต เขาเป็นชีวิตไหม มันเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาแล้ว ความขัดแย้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่ปะทะกันในโลกปัจจุบันนี้

ดังนั้น นโยบายต่าง ๆ ​ถ้ามันไม่สำคัญก็จะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น แต่ถ้านโยบายนั้นลึกพอที่จะไปสัมพันธ์กับ operating system (ระบบปฏิบัติการ) ที่เป็นฐานสำคัญ คนก็จะทะเลาะกันและจะไม่ยอม อย่างเช่น มาตรา 112 ก็เป็นเรื่องแบบนี้  

ประชาคม ส.ว. ก่อนเลือกตั้ง ทางออกป้องกัน Great Protest หลังเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาที่ประเด็นความเสี่ยงขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง สมมติเรามองโลกในแง่ดีไปก่อน แล้วมองแบบมุมมองใหม่ว่า ส.ว. ไม่ใช่อุปสรรค แต่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาใครครองอำนาจรัฐลงตัวได้ ถ้าคิดแบบนั้น ยุทธวิธีการจัดการกับเขาก็จะแตกต่างไป เช่น ถ้าเราบอกว่า ส.ว. เป็นปัญหา สิ่งที่เราจะทำก็คือกัน ส.ว. ออกจากสมการนี้ แต่ถ้าบอกว่าก็มันอยู่ตรงนี้แล้ว แทนที่จะคิดว่ามันเป็นปัญหา จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นปัญหา แต่มันตอบคำถามนี้โดยจัดการให้เห็นความสำคัญของความคิดเห็นประชาชน ก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะออกมาเป็นยังไงเป็นเรื่องการต่อสู้กัน  ​นโยบายก็สำคัญเพราะในที่สุดแล้วมันจะทำให้คนไปเลือกด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างเช่น ผู้สูงอายุเลือกเพราะพรรคนี้เสนอเบี้ยชราเพิ่มจาก 700 บาท เป็น 1,000 บาท ก็ว่ากันไป เข้าใจได้ 

“ถ้าเรามองแบบนี้เราจะมีวิธี engage (ทำข้อตกลง) กับ ส.ว.ก่อนการเลือกตั้งไหม เราสามารถมีสัญญาประชาคม​ได้ไหม  ถ้าเราคิดเรื่องนี้จริงจังว่าใน social contract (สัญญาประชาคม )กับ ส.ว. จะมีอะไรบ้าง ส.ว. เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ Scenario Post-Election (ฉากทัศน์หลังการเลือกตั้ง) ก็คือคุณได้เจอ Great protest (การประท้วงใหญ่) ใครจะอยู่เฉย ๆ ถ้าพรรคการเมืองถูกกระทืบลงไป และถูกบอกว่า  ‘ไม่ใช่’  อีก แล้วก็มีนายกฯ ที่ยังเชื่อว่ามองเห็น  ‘ฝนตก’ ทั้ง ๆ ที่แดดออก เขาเชื่อในการมองช่อง ๆ นี้เขาก็เห็น”

ถามย้ำว่า ทางออกเดียวที่จะก้าวออกจากความขัดแย้ง คือการทำสัญญาประชาคม กับ ส.ว.?

ศ.ชัยวัฒน์  วิเคราะห์ว่าเป็นวิธีหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังคิดวิธีอื่นได้ไม่ชัด แต่ถ้าถามเป็นรูปธรรมก็น่าสนใจที่จะชวน ส.ว.มา แล้วเปิดรูปแบบการพูดคุยที่แสดงถึง 1. การให้ความสำคัญกับ ส.ว. ไม่ใช่เพราะว่าเราให้หรือรัฐธรรมนูญให้  2. ให้ความสำคัญกับ ส.ว. เพราะบทบาทหลังการเลือกตั้ง 3. สังคมควรจะคิดเรื่องนี้แล้ว หาวิธี engage ส.ว. ก่อนการเลือกตั้ง

แต่วิธี engage จะทำไม่ได้ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการพูดว่า ส.ว. เป็นเครื่องมือเผด็จการ ถ้าเริ่มแบบนั้นจะไปต่อไม่ได้เลย แต่ถ้าเริ่มว่าเขาเป็นตัวละครในการเมืองไทยซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนได้ เราอาจจะมีวิธี social contract บางอย่างกับเขาก่อนการเลือกตั้ง ให้เขายอมรับเกณฑ์บางลักษณะแล้วเขายอมได้ ซึ่งก็ยังนึกเกณฑ์นั้นไม่ออกเพราะค่อนข้างต้องใช้สติปัญญาในการคิดเรื่องนี้เยอะ

“ต้องหาวิธีอธิบายให้เขาเห็นว่า scenario ของ Post-Election conflict คืออะไร เหตุผลที่วันนี้ผมมาคุยกันก็เพราะเรื่องนี้ เพราะมันมีความเสี่ยง ต้องลดความเสี่ยงยังไง ต้อง engage กับใคร ผมคิดว่าวุฒิสภาเป็น target(เป้าหมาย) เป็นคนกลุ่มเดียวที่รัฐธรรมนูญส่งผลให้เขาทำการเลือกตั้งไปอีกทางหนึ่งได้ ไม่มีคนอื่นทำได้”

3 ภาพอนาคต ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งกับความขัดแย้ง

ศ.ชัยวัฒน์  ประเมิน 3 ฉากทัศน์ หลังการเลือกตั้งกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น คือ 1. เลวร้ายที่สุดก็จะเป็น Extreme violence ผมก็หวังว่าจะไม่ไปถึงตรงนั้น​ 2. การประท้วงเกิดขึ้นแน่นอนถ้าไม่เป็นไปตามเสียงคนส่วนใหญ่  3. แต่ถ้าเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ก็อาจจะมีประท้วง แต่มีความรู้สึกว่ามันอาจจะเล็กกว่าหน่อย

บางความขัดแย้งสามารถจัดการได้  เช่น เราแบ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาแล้ว เขาไม่เห็นด้วยกับการประท้วง​ ถ้าเขาจะ ​ประท้วง มันก็จะเล็กกว่าอันแรก เพราะว่าขึ้นอยู่กับจำนวนคนลงคะแนนเหมือนกัน สมมติคนลงคะแนน 70% ในประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้ง (ประมาณ 28 ล้านคน จากประชากร  40 ล้านคน)   แค่คนออกมา 2.8 ล้านออกมาก็เป็นเรื่องแล้ว

ตอนนี้นอกจากนิเวศวิทยาทั้งหลายแล้ว แล้วเราอยู่ในยุค The age of Anger เป็นภาษาไทยว่า ‘ยุคคนเดือด’ มันมารวม ๆ กัน คืออาจจะไม่ใช่ปัญหาที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง แต่โกรธเพราะโดนรีดไถ พอมีคนออกไปประท้วงคนเหล่านี้ก็ออกไปด้วย ถึงแม้คนที่ไปประท้วงเขาจะมีกฎเกณฑ์ห้ามพกอาวุธหรือห้ามทำร้ายใคร แต่คนที่ไปบางคนพกปืนพกมีดไปด้วยเพราะมีความโกรธ มีอะไรห้ามไว้ได้หรือ

ที่พูดไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ที่อื่นก็เป็น ยุคนี้ความไม่พอใจของคนมันสูงมาก ขอบฟ้าแห่งชีวิตมันถูกกดให้สั้นโดยความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น วิธีที่แสดงออกมาก็คือแสดงออกผ่านความโกรธ ถ้าถามว่าแบบนี้ในสังคมไทยมีไหม ถ้ามีมันก็จะเป็นลักษณะของเชื้อไฟ extreme violence ได้