ครบ 1 สัปดาห์เต็มกับ โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ นำมาซึ่งความสูญเสีย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แม้ทุกอย่างผ่านไปแล้ว แต่ในเมื่อเหตุการณ์นี้ได้ปลุกให้สังคมหันกลับมาตระหนักถึงความปลอดภัยการเดินทางกันจริง ๆ จัง ๆ อีกครั้ง ก็ไม่ควรปล่อยเรื่องนี้ทิ้งไว้ ให้ลืมหายไปตามกาลเวลา เหมือนที่ผ่าน ๆ มา
The Active ถือโอกาสในช่วงเวลาหลังผ่านพ้นเรื่องราวความโศกเศร้า ชวนตั้งคำถามจากกรณีดังกล่าวเพื่อไปต่อ…เรายังมีอะไรให้ต้องทำความเข้าใจ และหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้
หากลองตั้งคำถามว่า ใคร ? ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้ ในมุมองความคิดเห็นของประชาชน ผ่านผลสำรวจของ ซุเปอร์โพล ก่อนหน้านี้ ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ชัดไปที่ เจ้าของรถบัส ว่า ต้องรับผิดชอบมากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียน, กรมการบนส่งทางบก และ กระทรวงศึกษาธิการ
นั่นเป็นความเห็นที่สะท้อนผ่านผลโพล แต่ถ้าถอยออกมาแล้วมองย้อนเหตุการณ์อย่างเปิดใจ เชื่อว่าแม้แต่เจ้าของ รถบัส หรือ คนขับ ที่ควรต้องรับผิดชอบมากที่สุดตามที่โพลระบุ ก็คงไม่อยากเห็นการเดินทางทัศนศึกษาของนักเรียนลงเอยแบบนี้
เพราะสิ่งที่ต้องยอมรับความจริง คือ ไม่ว่าใครก็อาจต้องรับผิดชอบกับเรื่องราวแบบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าใคร ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด การบีบบังคับของระบบ หรือแม้แต่โครงสร้างบางอย่าง ที่อาจกำลังกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต หากสังคมไม่ช่วยกันระงับ ยับยั้ง เหตุการณ์สะเทือนใจแบบนี้ อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ผลจากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ระหว่างวันที่ 1 – 7 ต.ค. 67 ทำให้เห็นว่า โลกโซเซียลฯ กำลังคิดเห็นต่อกรณีรถบัสไฟไหม้ อย่างน่าสนใจเช่นกัน
โดยเฉพาะ บทบาทของ ครู และ โรงเรียน ที่โลกโซเซียลฯ ต่างชื่นชมในจิตวิญญาณความเป็นครู ที่ยอมสละชีวิตปกป้องนักเรียน แต่ในความจริงกลับไม่มีอะไรจะการันตีได้เลยว่า อะไร ? จะทำให้ครูทั่วประเทศไม่ต้องมาเผชิญเรื่องแบบนี้อีก
ปกป้องความปลอดภัย ‘เด็ก’ บนความรับผิดชอบ
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและด้านคุ้มครองเด็ก ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ บอกกับ The Active ว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องมีระบบบางอย่าง ที่ทำให้ครูมีเครื่องมือดูแลความปลอดภัยทั้งตัวเอง และนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า ครู ที่พานักเรียนไปทัศนศึกษา จำเป็นต้องผ่านการซักซ้อมทำความเข้าใจแนวทางการดูแลเด็ก เพราะการไปนอกสถานที่กับโรงเรียน ต่างจากการที่เด็กไปกับผู้ปกครอง โดยมองว่าครูไม่มีทางดูแลเด็กได้ทั่วถึง
สรรพสิทธิ์ ชี้เป้าว่า สิ่งสำคัญคือโรงเรียนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 63 ที่กำหนดให้ “โรงเรียน และสถานศึกษา ต้องมีระบบงาน มีกิจกรรมแนะแนว ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่ครู ผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย”
นั่นหมายความว่า จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัย ให้ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองร่วมกันคิด ร่วมกันจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก พร้อมแนวทางแก้ไขและป้องกัน ซึ่งไม่เห็นว่าโรงเรียนไหนจะทำเรื่องนี้เลย
“ตัวชี้วัดมันไม่ได้กำหนดให้ ทั้งครู และผู้บริหารโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับเด็ก นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาเรา และลามมาถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย”
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์
‘ครู’ สภาพจำยอม กับ ภาระที่เกินจะรับผิดชอบ
ถ้ามองบนเงื่อนไขที่ว่า ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้น สำหรับครูเองแล้ว บางครั้งก็ตกอยู่ในสภาพจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีครูจำนวนไม่น้อย ยอมรับว่า รู้สึกลำบากใจ และเป็นกังวลใจทุกครั้งที่ต้องพาเด็กออกไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน แต่ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบไว้แล้วในกระบวนการเรียนรู้
ในฐานะอดีตครูโรงเรียนขยายโอกาส ก่อนผันตัวเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ยอมรับว่ากับ The Active ว่า ครูที่ไม่อยากไปทัศนศึกษา ก็เพราะเกินความรับผิดชอบหากเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับนักเรียน ดังนั้นถ้าเลือกได้ ไม่พานักเรียนไปจะดีกว่า แต่ในความจริงก็มีครูอีกจำนวนมาก ที่พร้อมแบกภาระความรับผิดชอบ เพราะอยากให้เด็กไปเห็น ไปเรียนรู้ โลกกว้างที่มากกว่าแค่ในห้องเรียน
“ผมอยากพาเด็กไปทัศนศึกษาทุกปี จำได้ว่าทุกครั้งที่พาเด็กไป ตัวเองจะทำการบ้านอย่างหนัก ดูว่าที่ที่จะพาเด็กไป เด็กจะได้เรียนรู้อะไร สอดคล้องกับหลักสูตรที่เรียนอย่างไร เมื่อเด็กได้ไปเห็นแล้ว จะสามารถต่อยอดกับการเรียนได้อย่างไร สำหรับผมแม้เป็นงานหนัก แต่ก็ตื่นเต้นทุกครั้ง ไม่ได้ตื่นเต้นเพราะกลัว แต่อยากทำให้การทัศนศึกษาสมบูรณ์แบบที่สุด ได้เห็นแววตาเด็กที่มีความสุข จึงไม่เคยหนักใจเลย ทุกครั้งที่ไปก็จะดูระยะทาง สถานที่ให้เหมาะสม เรารู้ดีว่าการนั่งรถมีความเสี่ยงตลอดเส้นทาง แต่ก็พยายามลดความเสี่ยงที่ตัวเด็กเอง ครูก็ต้องพร้อม ตื่นตัวให้มากที่สุด”
จตุรงค์ คงแก้ว
ในมุมหนึ่ง สรรพสิทธิ์ ก็ให้ความเห็นว่า ถ้าทุกเรื่องโยงไปที่ตัวเด็ก สิ่งที่ครู และโรงเรียนต้องคำนึงถึง คือ ความปลอดภัยของเด็กในโรงเรียน จะต้องไม่เผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ระบบการศึกษาธิการไทย ที่ยังเน้นประเมินความสามารถครู ด้วยการให้ครูทำเอกสาร โดยผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา ก็ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการระแวดระวังความปลอดภัยให้กับนักเรียน
“ที่ผ่านมา ก็จะเห็นโรงเรียนพาเด็กไปฝึกนั่นนี่ โดยที่ไม่ได้ดูความพร้อมเรื่องสุขภาพของเด็ก ให้เด็กโหนเชือกผ่านน้ำ เด็กเป็นโรคหัวใจ เขาหมดแรงปล่อยมือ ตกลงไปจมน้ำเสียชีวิต เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่มีการทำงานที่ยึดโยงถึงตัวเด็ก”
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์
สถานะ ‘โรงเรียน’ ตัวบ่งชี้ การยึดโยงที่ตัวเด็ก
คราวนี้หากมองไปที่ความรับผิดชอบของ โรงเรียน เปรียบเทียบการบริหารระหว่างโรงเรียนรัฐ กับ โรงเรียนเอกชน จะเห็นภาพชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ หรือข้อผิดพลาดใด ๆ มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในสถานศึกษาเอกชน สรรพสิทธิ์ ให้เหตุผลว่า โรงเรียนเอกชนอาจยึดโยงที่ตัวเด็กมากกว่า ที่สำคัญคือเรื่องเงิน ที่ทำให้มาตรฐานของเอกชน ดีกว่าโรงเรียนรัฐชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อโรงเรียนรัฐแทบไม่มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้ที่โรงเรียนจะได้รับ เพราะมีนโยบายเรียนฟรี มีเงินอุดหนุนที่รอให้รัฐจัดสรรให้ นำมาซึ่งการปฏิบัติที่อาจจะหละหลวม ขณะที่โรงเรียนเอกชน หากบริหารจัดการไม่ดี ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่มีกำลังมากพอ จึงมีสิทธิเลือกได้
สังกัดของโรงเรียนทั้งรัฐ หรือ เอกชน จึงถูกเชื่อมโยงกับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นี่คืออีกปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่า มีผลต่อมาตรฐานความปลอดภัยที่เรากำลังพูดถึง
‘ความยากจน’ ปมใหญ่สะท้อนความปลอดภัยในเด็ก
สำคัญกว่านั้น กรณีความปลอดภัยของรถบัสทัศนศึกษา ยังชี้ปมปัญหา ความยากจน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน นี่เป็นมุมมองที่ จตุรงค์ เคยให้ความเห็นเอาไว้ในช่วงที่เพิ่งเกิดเหตุ ซึ่งตอนนั้นสังคมกำลังถกเถียงกันอย่างหนักว่า ทัศนศึกษา ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ ซึ่งความยากจน ที่เขาพูดถึง ได้ย้ำภาพความจริง โดยเชื่อว่า หากเป็นโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนดัง หรือ โรงเรียนเอกชน คงไม่มีทางได้ใช้รถบัสที่ไร้มาตรฐานความปลอดภัย อย่างของบริษัทที่เกิดเหตุ เพราะความสามารถในการเลือกรับบริการ สัมพันธ์โดยตรงกับงบประมาณที่โรงเรียนมีในมือ
“ถ้าเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัด ไปทัศนศึกษาแต่ละที ก็ต้องจำกัดงบฯ ให้มากที่สุด เลยมาลงเอยที่ว่า ทำไมต้องเอาเด็กอนุบาล เด็กประถมฯ เด็กมัธยมฯ ไปด้วยกัน ผมพูดในฐานะคนเคยเป็นครู เราอยากให้ลูกศิษย์ได้รับโอกาส แต่เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องงบฯ ก็เลยจำเป็นต้องเลือกรถที่พอจะจ่ายได้ เสี่ยงกับการได้รถที่แทบไม่มีคุณภาพซึ่งเรื่องแบบนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นกับโรงเรียนดัง ๆ โรงเรียนใหญ่ ๆ ที่มีกำลังจ่ายได้เลย”
จตุรงค์ คงแก้ว
คราวนี้ถ้าเรามองว่า โรงเรียน มีส่วนต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ความสูญเสีย ก็ต้องไม่ลืมข้อจำกัดที่โรงเรียนแต่ละแห่งต้องแบกรับด้วย ประเด็นนี้ จตุรงค์ หยิบยกเรื่อง งบประมาณ หรือ เงินอุดหนุน จากรัฐมาอธิบาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการนำมาซึ่งมาตรฐานความปลอดภัย
ตอนนี้ไม่มีใครเถียงแล้วว่า ถึงอย่างไรทัศนศึกษาก็ยังจำเป็น แล้วมีงบฯ ส่วนไหนบ้างที่สามารถพาเด็ก ๆ ไปเปิดโลกกว้างได้ โดยส่วนแรก คือ งบฯ พัฒนาผู้เรียน ส่วนที่สอง คือ งบฯ ที่โรงเรียนได้รับการจัดสรรเหมาจ่ายรายหัว ส่วนที่สาม คือ งบฯ ที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายถ้ามีการเรียกเก็บ แต่สำหรับโรงเรียนใหญ่ ๆ ดัง ๆ จะมีงบฯ ส่วนที่สี่งอกออกมาสนับสนุน คือ งบฯ จากมูลนิธิ สมาคมศิษย์เก่าต่าง ๆ นั่นหมายถึงโอกาสที่ต่างกันด้านมาตรฐาน และประสิทธิภาพการทัศนศึกษาของแต่ละโรงเรียน
เขาจึงมองว่า การจัดสรรเงินอุดหนุนมีปัญหา เพราะที่ผ่านมาอาจคิดว่าเมื่อจัดเงินอุดหนุนต่อหัวทุกคนได้เท่ากัน นั่นคือความเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ยกตัวอย่าง เรื่องอาหารกลางวัน โรงเรียนใหญ่ มีเด็กเยอะ คุณภาพอาหารกลางวันก็อาจได้เปรียบโรงเรียนเล็ก เพราะได้เงินอุดหนุนที่มากกว่าตามจำนวนเด็ก อาจมีกำลังพอจ้างแม่ครัวดี ๆ หาซื้อวัตถุดิบดี ๆ แต่โรงเรียนที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย ก็อาจทำได้แค่ซื้อของในราคาที่ถูกลงมา ดังนั้นมองว่า วิธีคิดค่าหัวต้องคิดให้ได้เท่ากับขั้นต่ำของคุณภาพก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดงบฯ เพิ่มเติมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน
“เช่นกันกับ ทัศนศึกษา ที่ได้งบฯ อุดหนุนไม่เยอะ บางโรงเรียนต้องเจียดไปให้กับกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารีด้วย ก็ทำให้ไม่พอ โรงเรียนใหญ่ ๆ ที่ได้งบฯ จากทุกทาง ผู้ปกครองสมทบได้ มีสมาคมหนุนอีก ระดมทุนได้ แน่นอนว่า เลือกมาตรฐานดี ๆ ได้ แต่พอโรงเรียนเล็ก ก็ได้มาตรฐานตามงบฯ ที่มี ได้รถไม่เท่ากัน ได้ที่พักไม่เท่ากัน ถ้ามองที่ความเป็นผู้ปกครอง คนเป็นพ่อ เป็นแม่ ก็อยากช่วยลูกตัวเองเข้าถึงประสบการณ์ดี ๆ ทั้งนั้น แต่เมื่อเลือกไม่ได้ ไม่มีปัญญาส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ ที่อาจช่วยการันตีความปลอดภัยให้กับลูกหลานได้ แล้วพ่อแม่ จำเป็นต้องจำยอมรับกับสภาพที่ไม่ได้มาตรฐานแค่นี้เหรอ ต้องรอความเสี่ยงแค่นี้จริง ๆ เหรอ”
จตุรงค์ คงแก้ว
หนุน ‘งบฯ’ ทัศนศึกษา ปิดช่องว่างสู่มาตรฐาน ความปลอดภัยที่เลือกได้
ในฐานะอดีตครูบ้านนอก จตุรงค์ ยอมรับว่า อยากทำหน้าที่ครูอย่างดีที่สุด อยากให้นักเรียนได้โอกาสเหมือนคนอื่น ๆ ซึ่งเขาเชื่อว่า ผู้บริหาร และครูโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม ก็คิดแบบเดียวกัน โรงเรียนพยายามที่สุดแล้วเพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสสักครั้งในชีวิต ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดที่สุด
เมื่อไกลเกินกว่าหน้าที่ของโรงเรียนจะรับผิดชอบไหว แล้วระดับนโยบาย อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างไร ?
จตุรงค์ เริ่มต้นอธิบาย โดยหยิบข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2667 พบว่า เรามีนักเรียนอยู่ 6,438,167 คน แยกเป็น ระดับก่อนประถมศึกษา 81,8497 คน ประถมศึกษา 287,5979 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 1,667,458 คน และ มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,076,233 คน
หากอยากให้นักเรียนทุกคนได้ไปทัศนศึกษาเหมือนที่ลูกหลานชนชั้นกลาง ที่ได้เรียนโรงเรียนดี ๆ ได้รับ ทำไม ? กระทรวงศึกษาธิการ ไม่จัดเงินอุดหนุนเฉพาะสำหรับการทัศนศึกษาแก่นักเรียนไปเลย
โดยเสนออุดหนุนงบฯ ทัศนศึกษาให้กับ นักเรียนก่อนประถมศึกษา 500 บาทต่อหัว, ประถมฯ 1,000 บาทต่อหัว, ระดับม.ต้น และม.ปลาย 1,500 บาทต่อหัว เชื่อว่าถ้าคิดแบบนี้ กระทรวงฯ จะใช้งบประมาณแค่ประมาณ 7.5 พันล้านบาทต่อปี
“ยืนยันว่าเราไม่ใช่ประเทศที่ยากจน แต่เราบริหารจัดการงบประมาณไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่างหาก เงิน 7 พันกว่าล้าน ต่อปี ถ้าจัดการดี ๆ ตัดงบฯ ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เราจะได้เงินเหลือ ๆ ให้นักเรียนได้ไปทัศนศึกษากับรถดี ๆ มาตรฐานดี ๆ ได้แล้ว”
จตุรงค์ คงแก้ว
ปรับ ‘กฎ กติกา’ ตั้งค่ามาตรฐานใหม่
จากเรื่องงบฯ แล้วถ้าลองคลี่ต่อว่า อะไร ? เป็นข้อจำกัดให้เกิดช่องโหว่การไปถึงมาตรฐานความปลอดภัยของการทัศนศึกษาอีกบ้าง ที่ต้องไม่ลืม หนีไม่พ้น กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการเอง ที่อาจไม่มีช่องว่างด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562”
พบว่าแทบไม่มีเรื่องความปลอดภัยเลย ที่ต้องมีผู้ควบคุมให้อยู่ในความปลอดภัย ไม่ครอบคลุมสถานการณ์ปัจจุบัน การให้อำนาจหัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาเลือกเส้นทาง ควรออกมาให้ชัดเจน เช่น เด็กอนุบาล ระยะทางไม่ควรเกินกี่กิโลเมตร ควรจัดให้มีรถนำขบวน ควรจัดให้มีบริษัทกลางสำหรับการคัดเลือกรถบัสที่ได้มาตรฐาน มีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง รถระบุให้ชัดไปเลยว่าใช้เชื้อเพลิงอะไร เอาแต่รถน้ำมัน ไม่เอารถติดแก๊ส หรือยังไงก็ให้ระบุให้ชัด ต้องมีประตูฉุกเฉินที่ใช้งานได้ มีขั้นตอนการซ้อมหนีภัยก่อนออกรถ ทำยังไงก็ได้ให้ระเบียบย้ำชัดให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนต้องเช็คลิสต์ความปลอดภัยไว้เลย สิ่งเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการทำได้เลย ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ค่อยขยับไป
“ถ้าจะมองเรื่องการแก้ปัญหาเพาะหน้าเร่งด่วน เราไม่ควรมองไปที่คนอื่น แต่ต้องมองตัวเองก่อน กระทรวงศึกษาธิการ มีกฎ ระเบียบที่ต้องทำให้ครอบคลุมความปลอดภัย ซึ่งสามารถทำ ปรับแก้ได้เลย โดยไม่ต้องไปรอพึ่งพาระเบียบมาตรฐานจากกรมการขนส่ง เราออกเกณฑ์ได้เลยเรื่องรถบัส ถ้าเราเซ็ตระบบ เพิ่มกฎ กติกาที่เข้มงวด จริงจังเข้าไป ระบบเหล่านี้จะช่วยคัดกรองให้เรา อันไหนไม่ได้ตามคุณภาพก็จะถูกคัดออกไปเอง นี่คือสิ่งที่เราทำได้ทันที เพื่อสะท้อนความเอาใจใส่ที่กระทรวงศึกษาธิการควรมีหลังเกิดเหตุการณ์ความสูญเสีย”
จตุรงค์ คงแก้ว
แม้ในที่นี่ ครู โรงเรียน ไปจนถึงกระทรวงศึกษาธิการ ต่างต้องมีส่วนรับผิดชอบหากเกิดเรื่องราวเลวร้ายต่อนักเรียน แต่เราก็พยายามสะท้อนภาพอีกมุม ที่ทำให้เห็นข้อจำกัดต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอ ทางออก ที่พอเป็นไปได้ เพื่อเป้าหมาย…ทำยังไง ? ให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นกับทุกคนได้จริง
เมื่อที่ของเด็ก ไม่ใช่ ‘Safe Zone’
นั่นเป็นความพยายามหาแนวทางสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กโดยมองจากทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ถ้ายอมรับความจริง แล้วย้อนดูเหตุโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็ก หลายครั้งมักเกิดขึ้นในพื้นที่ หรือกิจกรรมที่ควรเป็น พื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน สนามเด็กเล่น รถโรงเรียน
สำหรับประเด็นนี้ สรรพสิทธิ์ พุ่งเป้าไปที่กระทรวงศึกษาธิการอีกตามเคย เชื่อว่า ไม่เคยคิดถึงเรื่องพวกนี้เลย เพราะหลังเกิดเหตุใหม่ ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาประกาศ งดทัศนศึกษา แต่กลับไม่พูด หรือมองไปที่การ ค้นหาสาเหตุ หรือ หามาตราการ แผนการป้องกัน ที่ชัดเจน
“ถ้ากระทรวงศึกษาธิการทำเองไม่ได้ ก็ควรหาผู้เชี่ยวชาญมาทำ พูดคุยแลกเปลี่ยน ออกมาเป็นระเบียบ คำสั่ง แต่เขาไม่ได้ทำ ที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงฯ ไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้เลย กลายเป็นเรื่องของกระทรวงอื่นหมด อย่างเหตุที่เกิดกับ จ.หนองบัวลำพู ก็ไม่เคยลงไปดูปัญหา”
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์
โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบ ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ยอมจัดบุคลากร เมื่อก่อนกระทรวงศึกษาธิการ มักอ้างว่าบุคลากรไม่เพียงพอ ในปัจจุบันจำนวนนักเรียนลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่อัตราการจ้างบุคลากรทางการศึกษายังเท่าเดิม
“เขาควรแต่งตั้งตำแหน่งงานที่ควรจะมี แต่กลับไม่มีในโรงเรียน ทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่ดูแลเรื่องสุขภาพใจ และอารมณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก มันจะเกิดหลักประกันต่อความปลอดภัยของเด็กระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำตาม มาตรา 63 ก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่เขาไม่ได้ทำ”
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์
ปลดเงื่อนไข ยกเครื่องกลไกสร้างมาตรฐานความปลอดภัย
ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ยังเชื่อว่า จากกรณีรถบัสไฟไหม้ มีปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมอีกมาก สะท้อนผ่านทั้งโครงสร้าง และวิสัยทัศน์จากระดับกระทรวง ที่ไม่ยึด ผู้รับบริการ หรือ นักเรียน เป็นศูนย์กลาง
ถ้ามองไกลออกจากโรงเรียนจะพบว่า เงื่อนไขหลักเกณฑ์ด้านมาตรฐานความปลอดภัย ก็ยังขาดกลไกติดตาม ตรวจสอบให้เกิดความเข้มงวด พบช่องโหว่ในแทบทุกเรื่องซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยทั้งสิ้น จึงมองว่า ยังมีอีก 3 ประเด็นหลัก ที่ต้องแก้ไข คือ
- คนขับรถรับจ้างสาธารณะ ต้องมีความสามารถในการตรวจสภาพความเรียบร้อยของยานพาหนะก่อนออกเดินทาง เช่น ล้อยางรถยนต์ที่ต้องตรวจสอบ
- สถานประกอบการอู่ซ่อมรถ ยังขาดกลไกการตรวจสอบ ติดตาม การดัดแปลงสภาพรถ คือ อาจจะมีการดูแลเฉพาะอู่ที่ถูกกฎหมายแต่จริง ๆ ต้องตรวจสอบทุกอู่ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หากพบว่าอู่ไหนให้บริการดัดแปลง เปลี่ยนสภาพรถ ก็ต้องถูกดำเนินคดี จะทำให้ไม่มีอู่ไหนที่กล้าติดตั้งอุปกรณ์ หรือดัดแปลงสภาพรถที่ผิดกฎหมายอีก
- การตรวจสภาพรถรับจ้างสาธารณะ ควรจะมีระบบการตรวจสอบพิเศษ ที่ต่างออกไปจากรถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากมีการบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก จำเป็นต้องตรวจอุปกรณ์ ความปลอดภัยว่ามีครบถ้วนหรือไม่ เช่น ประตูฉุกเฉินที่ควรเปิดปิดได้โดยผู้โดยสารทั้งภายในและนอกรถ ไม่ใช่แค่ที่คนขับ หรือ มีแค่ค้อนทุบกระจกหน้าต่าง
ถึงตรงนี้หากถามว่า ใครต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ความสูญเสียกรณีรถบัสไฟไหม้ คำตอบคงมีอยู่แล้วในทางคดีความ แต่ใครจะรับผิดชอบไม่ให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอีก ที่ไม่ใช่แค่ “วัวหายแล้วล้อมคอก”
ดังนั้นในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายกำลังตื่นตัว และมองเห็นปัญหาแล้ว จะสามารถต่อยอดอย่างจริงจังได้หรือไม่ แน่นอนไม่มีใครคาดหวังความสมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยทางเลือกเฉพาะหน้าที่ถูกพูดถึงในที่นี้ ทั้งเรื่องความเข้มข้นของหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงฯ การพิจารณางบฯ อุดหนุนเฉพาะ หรือแม้แต่การต้องสร้างกลไก ตรวจสอบความปลอดภัยที่เริ่มได้จากตัวเอง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง และอาจสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอปรับแก้กฎ กติกาอะไรให้ยุ่งยากซับซ้อน
เป็นไปได้ไหม ? ที่ประเด็นเหล่านี้จะถูกนำไปพิจารณาในระดับนโยบาย เพื่อร่วมกันมองหาทางออก ในฐานะผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบการทำหน้าที่สนับสนุนให้ทุกพื้นที่การเรียนรู้เกิดความปลอดภัยอย่างแท้จริง