ต่อลมหายใจ… ศิลปกรรมกรุงเก่า กลางเมือง

เราจะสามารถเรียนรู้ต้นแบบของศิลปะกรรมไทยได้อย่างไร? 
ถ้าของเดิมไม่หลงเหลือให้เห็น 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ และทศชาติชาดกที่ปรากฏอยู่บนผนังพระอุโบสถ วัดช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แม้บางส่วนจะเลือนหายไปเพราะความชื้น แต่ที่ยังหลงเหลืออยู่ คือความงดงามตามต้นตำรับกรุงศรีอยุธยาดั้งเดิม ทั้งลายเส้นที่เป็นธรรมชาติและการใช้สีเพียงไม่กี่สี ที่โดดเด่นที่สุดคือ “สีแดงชาด” แบบโบราณ 

สีแดงชาด ที่ปรากฎบนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดช่องนนทรี

พระอุโบสถวัดช่องนนทรี มีอายุกว่า 400 ปี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย การสร้างวัดในพื้นที่บริเวณนี้สะท้อนว่าที่นี่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่โบราณ โดยด้านหน้าพระอุโบสถติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรและการค้าที่สำคัญในอดีต 

สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ของพระอุโบสถหลังนี้ได้รับได้ยกย่องว่ายังคงความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่จะสะท้อนถึงฝีมือ ของคนยุคกรุงเก่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งแม้เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาไปถึง 255 ปีแต่นี่อาจเป็นลมหายใจที่ยังเหลืออยู่ ที่จะได้พอจะสัมผัสและจินตนาการ ถึงอดีตได้ชัดเจน 

The Active ติดตาม “พี่จิตรา” หรือ “จิตรา กาญจนะคูหะ” ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย เก็บข้อมูลรายละเอียด เพื่อวางแผนการบูรณะ

จิตรา กาญจนะคูหะ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พี่จิตรา เดินทางมายังวัดพระอุโบสถ วัดช่องนนทรี แต่ย้อนไปในวัย 18 ปี ภาพจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังนี้คือ “ต้นแบบ” ที่เธอใช้เป็น “ครู” ในการศึกษาศิลปกรรมไทย วันนี้เธอกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อทำภารกิจสำคัญในการต่อลมหายใจ ศิลปะกรุงศรีอยุธยาให้คงอยู่ต่อไป

“ตอนนั้นที่พี่มาดู ภาพยังมีเยอะกว่านี้ไม่ได้เลอะเลือนขนาดนี้ ปัจจุบันนี้ พี่ก็อายุประมาณ 52 ปีแล้ว”

ภาพจิตรกรรมบางส่วนที่เลือนหายไปเพราะความชื้น

เธอเล่าย้อนไปในช่วงในสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักศึกษาว่าใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพจิตรกรรมยังเป็นสีขาวดำ ต้องล้างเองอัดเอง แล้วก็มานั่งลงสีที่นี่ สมัยก่อนจะมีเด็กสถาปัตย์ จากจุฬาฯ จากศิลปากรแวะเวียนมาดูกัน เป็นจุดที่ทำให้ได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบัน จนวันหนึ่งมาทำงานก็ได้เจอกัน นี่คือสิ่งที่ประทับใจหลังจากที่ได้มาเรียนรู้ที่นี่ 

“เป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ในมุมของพี่ แม้แต่งานประณีตศิลป์คืองานปูนปั้นเช่น ลายก้ามปู ลายประจำยาม ที่ฐานชุกชีที่ปั้นด้วยปูนสด ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พี่เรียกว่าเป็นงานที่สวยมากๆ ที่ใช้สีแดงชาดเยอะมาก เป็นสีโบราณจริง ๆ” 

ปูนปั้นฐานชุกชีลายก้ามปู และลายประจำยาม ต้นแบบงานช่างสิบหมู่ในปัจจุบัน
พี่จิตรากำลังสเก็ตลายฐานชุกชีพระประธาน

งาน  Abstract ยุคกรุงศรีอยุธยา

ถ้าให้เทียบสมัยอยุธยากับปัจจุบัน พี่จิตรา บอกว่า คนสมัยโบราณคิดยังไงเขียนอย่างนั้น แต่ปัจจุบันคือมีการปรุงแต่ง มันต้องวิจิตร ต้องซ้อน ต้องเหลื่อม เพราะฉะนั้นลายเส้นและการลงสีมันจะบ่งบอกได้เหมือนลายนิ้วมือของผู้วาด ในสมัยอยุธยาน่าทึ่งเรื่องการใช้สี เพราะต้องผสมสีเอง คิดสีเอง ไม่มีขายตามท้องตลาด สมัยนี้มีสีตามท้องตลาด แต่คนโบราณต้องไปหาจากรากไม้ จากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเป็นสีเคมี สีวิทยาศาสตร์

“ถ้าสังเกตดูมันจะเป็นสีตรงข้ามตรงข้ามกัน มันจะไม่มีสีกลมกลืน​ แดงเขียว แดงเขียว น้ำเงิน​ จะบอกว่าถ้าเป็นสมัยนี้ทางด้านศิลปะต้องบอกว่าศิลปินเป็นคนที่กล้ามาก​ ใช้สี contrast คนที่ใช้สีตรงกันข้ามในศิลปกรรมเป็นเรื่องยากมากที่จะมองแล้วสวย​ สมัยนี้ มันก็จะเป็นดูเป็นงาน Abstract” 

สีสันฉูดฉาดบนภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ดูจากฝีมือคนวาดจิตรกรรมฝาผนัง เธอเชื่อว่าจะต้องเป็นศิลปินนักปราชญ์ แต่วัดนี้ไม่ปรากฏข้อมูลในบันทึกประวัติศาสตร์ว่าใครสร้าง แต่จากประสบการณ์ในการดูงานหลากหลายชนิด ก็พอจะดูออกว่าผู้วาดเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร ใส่ใจในเรื่องรูปทรงสัดส่วน ความเป็นมาของพุทธศาสนา อย่างเช่นรูปพระพุทธเจ้าชนะมาร จะต้องมีแบ่งเป็น 2 ฝ่าย แต่อันนี้ก็แบ่งเป็น 2 ฝ่ายแต่เลือกใส่ราชสีห์ลงไป ซึ่งโดยปกติแล้ว ในน้ำจะต้องมีปลาอานน​ 

ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าชนะมาร

“มันอาจจะไม่ได้ตรงเป๊ะอย่างที่อยากจะให้เป็นอย่างเช่นสี่เหลี่ยม จัตุรัสคือจัตุรัสแต่สมัยก่อนรูปทรงเรขาคณิตอาจจะวาดขึ้นเองโดยไม่ใช้เครื่องมือ จะเท่าหรือไม่เท่าไม่สำคัญเท่ากับว่ามันงามหรือไม่งาม” 

เห็นคุณค่าสู่การบูรณะให้คงอยู่สืบไป 

ย้อนไปเมื่อราวเดือนเมษายน 2565  The Active ได้รับข้อมูลจากชาวชุมชน และพระวัดช่องนนทรีถึงความกังวลว่าตัวโครงสร้างของโบราณสถานแห่ง นี้กำลังอยู่ในภาวะทรุดโทรมขั้นวิกฤตจนอาจจะทรุดลงมา เราจึงเดินทางไปทำข่าวและติดตามความคืบหน้า กระทั่งได้มีโอกาสสัมภาษณ์รองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งรับทราบปัญหาและมองเห็นคุณค่าร่วมกันที่จะบูรณะให้คงอยู่ต่อไป นำมาสู่การอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน และมอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดีลงพื้นที่ด้วยตนเอง 

จากการสำรวจพบว่าภายนอก บัวหัวเสาของพระอุโบสถที่มีอายุหลายร้อยปี คือสิ่งที่ต้องซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะทรุดลงมา ขณะที่อีกสิ่งที่น่ากังวลคือความชื้นของฐานชุกชี ทำให้ปูนหมักเสื่อมตามสภาพจากอากาศร้อนชื้นสลับร้อนเย็น อาจจะค้ำยัดตัวองค์พระประธานไม่ให้ล่วงลงมา 

ช่างกำลังซ่อมบัวหัวเสาหน้าพระอุโบสถ
ฐานชุกชีองค์พระประธานที่ชำรุดเพราะความชื่น
ชาวบ้านเรียกพระประธานในพระอุโบสถหลังนี้ว่า “หลวงพ่อดำ”

พี่จิตรา บอกว่าหลังจากของบประมาณฉุนเฉินได้ในรอบแรก จะขอให้อนุมัติรอบ 2 บูรณะในส่วนขอนงานศิลปกรรมไปสัก 70% อีก 30% เป็นตัวความชื้นที่เราจะต้องทำ เพื่อที่ไม่ให้ความชื้นขึ้นไปยังงานศิลปกรรมในส่วนของผนัง เพื่อรอการบูรณะครั้งใหญ่ โดยกระบวนการในการเบิกจ่ายงบประมาณจำเป็นต้องทำแผนเสนอล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ถูกบรรจุในปีงบประมาณ 2567 โดยการบูรณะในขณะนี้เป็นการบูรณะขั้นต้นเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรง

รูปทรงฐานท้องสำเภายังหลงเหลือให้เห็นศิลปะเฉพาะตัว ที่บ่งบอกให้รู้ว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS