‘ชรารีไซเคิล’ หน่วยคัดแยกขยะโดยผู้สูงอายุไร้บ้าน ที่ฝันจะแยกขยะให้ทั้งกรุงเทพฯ

โอกาสของชีวิต จากคนไร้บ้าน… สู่คนช่วยพัฒนาเมือง ​

ไร้บ้านก็แย่แล้ว แต่ถ้าไร้บ้านด้วย เป็นผู้สูงอายุด้วย ข้อจำกัดในชีวิตมันยากต่อการมีชีวิตเอามาก ๆ เพราะเรี่ยวแรงที่มีน้อยลงตามสังขาร ประกอบกับโรคประจำตัวต่าง ๆ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ จึงจัดตั้งโครงการ “ชรารีไซเคิล” ชวนผู้สูงอายุไร้บ้านมาแยกขยะสร้างรายได้ และยังช่วยรักษาความสะอาดให้กับ กทม. ด้วย

ผู้สูงอายุไร้บ้าน สมาชิก โครงการ ชรารีไซเคิล

รู้จักโครงการ ‘ชรารีไซเคิล’

เรียกว่าเป็นโครงการใหม่เอี่ยมสำหรับ มูลนิธิกระจกเงาที่ทุกคนทราบดีว่างานหลักคือการตามหาคนหาย แต่นอกจากนั้นก็ยังมีโครงการน่าสนใจอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสร้างวัฒนธรรมของการแบ่งปันในสังคม หากใครเคยได้มาสำนักงานและโกดัง ของมูลนิธิที่ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต เขตบางเขน กรุงเทพฯ จะเห็นว่ามีข้าวของมากมาย เป็นสิ่งที่ผู้มีน้ำใจเอามาบริจาคเพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม ทั้งในรูปแบบของสิ่งของที่รับมาโดยตรง และในรูปแบบของทุนทางสังคมด้านอื่นๆ ผ่านรายได้จากการเอาของบริจาคไปขายเป็นสินค้ามือสอง

ย้ำความคิดว่า “อะไรที่เราไม่ต้องการ มันอาจมีค่าสำหรับผู้อื่นเสมอ” ทุกอย่างที่ถูกส่งต่อมายัง มูลนิธิกระจกเงา จึงเปรียบเหมือนสมบัติมหาศาล สมชื่อผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ หรือ พี่หนูหริ่ง ที่หลาย ๆ คนรู้จักในนาม “บก.ลายจุด”

เขาเล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการคือการพบว่า สิ่งของที่ถูกนำมาบริจาค มีส่วนผสมของพลาสติกรวมอยู่ด้วย บางชิ้น บางประเภทไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ เนื่องจากสังคมไม่นิยมและต้องการแล้ว เช่น แผ่นซีดี ดีวีดี หรือสิ่งของที่ชำรุด หากจะทิ้งให้เป็นขยะก็จะกลายเป็นภาระของ กทม. ที่ต้องจัดเก็บและนำไปกำจัด ขณะเดียวกันมองเห็นโอกาสที่สามารถนำมาคัดแยก เพื่อนำไปขาย รีไซเคิลเป็นรายได้ กลับมาช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านได้ และลักษณะงานนี้เองที่ผู้สูงอายุไร้บ้านสามารถทำได้ งานนี้จึงช่วยสังคมทั้งจัดการลดขยะ ทำให้พลาสติกนำไปรีไซเคิลได้ ประการที่สองคือแก้ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง ซึ่งเขามองว่าโมเดลนี้ สามรถขยับขยายพื้นที่ทำงานให้กว้างขึ้นได้ เกิดเป็นแนวทางรับบริจาคขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แล้วให้คนชรา หรือคนไร้บ้านที่ต้องการทำงานประเภทนี้ สามารถสร้างรายได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้บริจาคจะต้องคัดแยกขยะเบื้องต้น คือขยะเปียกและขยะแห้ง

“โครงการนี้เรากันไว้สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะถ้าเป็นคนที่มีกำลังสามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ แต่เราจะกันงานเบา ๆ แต่มีความต่อเนื่อง ให้ผู้สูงอายุทำ เพราะสอดรับกับร่างกาย ส่วนค่าตอบแทนพิจารณาจากต้นทุนชีวิต บางคนมีสามี มีลูก ที่ป่วยติดเตียงอยู่บ้านต้องดูแล เราจึงจ่ายให้เขาวันละ 500 บาทต่อคน เพื่อให้มีเงินเพียงพอไปจุนเจือครอบครัว ซื้ออาหาร เช่าบ้านได้”

ตอนนี้มีสมาชิกในโครงการ ชรารีไซเคิลราว 8-10 คน หมุนเวียนมารับงานเพื่อกระจายรายได้ แต่โครงการจ้างงานคนไร้บ้าน ร่มใหญ่ที่มีคนหลากหลายวัย ชื่อโครงการ “จ้างวานข้า” มีสมาชิก 150 คน รับงานทำความสะอาดในที่สาธารณะ ในพื้นที่เขตต่าง ๆ เป็นกำลังเสริมให้กับพนักงานรักษาความสะอาดของ กทม. รวมถึงช่วยงานในมูลนิธิด้วย เช่น คอยช่วยประสานงานเมื่อมีผู้นำสิ่งของมาบริจาคที่มูลนิธิ และคัดแยกสิ่งของบริจาคภายในมูลนิธิ ซึ่งจะมีการพิจารณารายบุคคล ว่าเหมาะสมกับการทำงานด้านไหนอย่างไร ให้สอดรับกับความรับผิดชอบของแต่ละคน

โอกาสของชีวิต จากคนไร้บ้านสู่คนช่วยพัฒนาเมือง ​

บก.ลายจุด เล่าว่า คนไร้บ้านบางคนต้องการทำงานแค่สร้างรายได้ ไม่ได้ต้องการทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์แบบพวกคนทั่วไป เพียงขอแค่ได้เงิน มีข้าวกิน แต่กระบวนการสร้างงานสร้างเงินแบบนี้ เป็นความพยายามนำเขาเข้ามาสู่การทำงานอย่างมีระบบ มีตารางงานที่ชัดเจน จะทำให้คนไร้บ้านเห็นทางเลือกของชีวิตมากขึ้น ว่าจะนั่ง จะนอนเฉย ๆ หรือจะลุกขึ้นมาทำงาน มีชีวิตในสังคม มีศักยภาพในการเช่าห้องราคาถูก และยกระดับชีวิตตัวเองได้

“จะมีคนจำนวนนึงเข้า ๆ ออก ๆ โครงการ แบบมีเงื่อนไข แต่พอเราจัดงานแบบมีความต่อเนื่อง ก็จะต้องคัดเลือกคนที่มีวินัย มีความสอดคล้องกับความต้องการ เราก็จะค่อยๆ ทำกระบวนการเรียนรู้วินัยการทำงานขึ้นมา มีการจัดประชุม ปรึกษาหารือ เพื่อทำความเข้าใจชีวิตของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร”

ปัจจุบัน การจ้างงานโครงการชรารีไซเคิล จ้างงานเต็มศักยภาพความต้องการแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนไร้บ้านที่มีศักยภาพจะทำงานด้านนี้อีกจำนวนมาก จึงกลายเป็นข้อเสนอของมูลนิธิกระจกเงา ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์’ ในข้อเสนอให้คนไร้บ้านช่วยคัดแยกขยะทั่วกรุงเทพฯ

“เราเสนอโมเดลแก้ปัญหา สองปัญหาด้วย หนึ่งเชิงปฏิบัติงาน การจัดการเรื่องขยะ และสองการจัดการคนไร้บ้าน คนจนเมือง หากเราสามารถเอาสองเรื่องนี้มาบูรณาการร่วมกันได้ เหมือนที่กระจกเงาทำก็พบว่ามันมีประสิทธิภาพมาก แต่ถ้าคิดแบบแยกส่วนต้นทุนการจัดการจะสูงมาก เราเลยขออกาสคนไร้บ้านได้เข้าไปจัดการขยะที่ถูกคัดแยกในเบื้องต้น ถ้าจะคัดแยกให้ได้เราเชื่อว่าจะมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเมื่อคัดแยกและเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ก็จะช่วยลดขยะมวลรวมของ กทม. ถ้าจัดการดี ๆ กทม. อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างคนไร้บ้านด้วยซ้ำ”

ความหวังร่วมงานกับ ‘ชัชชาติ’ จะเกินฝันไหม

บก.ลายจุด มองว่า หากจะแยกคัดให้ได้ มูลนิธิกระจกเงา และโครงการจ้างวานข้า โครงการชรารีไซเคิล พร้อมที่จะให้การสนับสนุน แต่งานใหญ่คือ กทม. จะต้องแยกขยะจากครัวเรือน เปียก-แห้งในเบื้องต้นให้ได้ก่อน ที่ไม่ใช่ขยะอินทรีย์ ซึ่งต้องอาศัยการรณรงค์กับประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้นหากเป็นไปได้ ก็ควรจะแยกประเภทด้วย เช่น หมวดขวดพลาสติก หมวดกระดาษ หากคัดแยกแบบนี้ได้ จะทำให้คนที่เข้าไปจัดการต่อจากนั้นทำงานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว

“ผมพยายามขายไอเดียกับ อ.ชัชชาติว่าให้ใช้ถังเก็บขยะแห้งเฉพาะ ที่จะทำให้ขยะไม่ส่งกลิ่นเหม็น เพราะไม่ใช่ขยะอินทรีย์ ดังนั้นก็สามารถไปตั้งที่ไหนก็ได้ หลังจากนั้นต้องมีคนคอยคัด ให้เจ้าหน้าที่คอยดูไม่ให้ใครเอาของที่ไม่เกี่ยวข้องไปใส่ไม่ได้ หากมีจุดรับขยะแห้งแบบนี้กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆ เวลาชาวบ้านมีขยะแยกแล้วก็ใส่ถุงขยะมาดรอปเอาไว้ที่เดียวกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วก็จัดเก็บใส่ถัง ถ้ามีแบบนี้คนไร้บ้านที่นั่งเฝ้าอยู่ก็จะมีของไปขายมีรายได้ กทม.เผลอ ๆ ไม่ต้องจ้างเพียงแต่ กทม.ต้องเปิดช่องทางให้”

บก.ลายจุด กล่าวเสริมว่า เพื่อที่จะทำให้การจัดเก็บเป็นระบบ ควรจะมีการปักหมุดจุดตั้งถัง และอาจจะมีรถวิ่งรับขยะส่วนนี้โดยเฉพาะ แยกส่วนกับรถเก็บขยะมูลฝอยในปัจจุบัน อาจจะเป็นรถเล็กๆ รถสามล้อเล็ก ๆ ที่มีความคล่องตัว วิ่งในรัศมีที่ตั้งถัง อาจจะเป็นรถไฟฟ้าลดคาร์บอน เมื่อตัดภาระได้ตั้งแต่ต้นทาง ค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะต้องเอาขยะไปเผาไปฝังกลบก็จะลดลงด้วย

“ถ้าสามารถแยกได้ ขยะทั้งหมดอาจจะเหลือแค่ไม่ถึง 20% ถ้าเราแยกขยะดีๆ บางอันไปรีไซเคิล รียูสได้ อย่างถุงดำที่คนใส่ของมาบริจาค ที่แกะแล้วยังมีสภาพดีอยู่ทางมูลนิธิก็จะเก็บเอาไว้ใช้ใส่ขยะภายในมูลนิธิ เราไม่ได้ซื้อถุงขยะมาหลายเดือน และยังแบ่งปันให้เพื่อน ๆ คนอื่น​ เอาไปใช้ด้วย หรือแม้แต่โฟมเราก็แยกและเอาไปส่งโรงงานรับซื้อ ส่วนอะไรที่ใช้ไม่ได้แต่เผาได้ ก็ส่งไปขายไปเผาทำพลังงานไฟฟ้าได้ หรือแม้แต่เศษอิฐปูนที่ก็ยังเผาไม่ได้ แต่ก็จะมีบางคนที่ต้องการรับไปถมที่ กทม.ถ้าเป็นหลักให้ได้ประสานงานได้ เขาก็จะเอาไปลงได้”

บก. ลายจุด มองว่า หากมีระบบในการจัดการตรงนี้ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่การคัดแยกขยะ ซึ่งช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคน หากเห็นความสำคัญว่าทุกอย่างมีประโยชน์ แม้แต่เศษใบไม้ต้นไม้ที่ถูกตัดทิ้งตามหมู่บ้านจัดสรร ถ้าเรียกรถ กทม.มาขนต้องจ่าย 2,400 บาท ซึ่ง กทม. ก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่หากมีการเก็บและจัดการได้ ส่งต่อไปโรงไฟฟ้าได้ก็จะได้เงินกลับมาแทน ซึ่งมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ยินดีจะเอารถออกมารับให้ด้วยซ้ำ หากระบบนี้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะทำให้ขยะมีค่าในทางเศรษฐกิจ

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา

ฮาวทู ทิ้งให้เกิดประโยชน์ : ทิ้งที่ มูลนิธิกระจกเงา

บก.ลายจุด กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิกระจกเงา มีศูนย์รับบริจาคของที่จะนำไปบริหารจัดการต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น หนังสือ อุปกรณ์กีฬา เครื่องเขียน เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เหล่านี้คือสิ่งที่รับมาประจำ เป็นการเริ่มต้นจากสิ่งที่ใช้ได้ และนำไปส่งต่อ แต่เมื่อพบว่าของที่บริจาคมามีของที่เสียหายด้วย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหาย ปัจจุบันก็มีหน่วยซ่อมแซมแล้วหากเสียในลักษณะที่พอแก้ไขได้ มีสภาพใหม่คุ้มค่าในการซ่อม แต่ในกรณีที่ซ่อมไม้ได้ก็จะมีซาเล้งมารับไป

“เมื่อพบพลาสติกจำนวนมาก ที่ย่อยสลายหรือใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้ และเป็นปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เราขอประกาศเป็นหนึ่งในองค์กรที่เสนอตัวเองเป็นองค์กรจัดการขยะพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสองคือมีประโยชน์ในการแก้ปัญหา หรือจ้างงานคนไร้บ้าน หรือคนจนเมือง เราจึงเปิดโครงการชรารีไซเคิล วันนี้จัดการขยะในมูลนิธิได้ 100% แล้ว และยังไม่พอ ดังนั้นเราต้องการพลาสติกจากประชาชน ผู้บริจาคที่เก็บพลาสติก กระดาษ แยกมาแล้ว เอามาบริจาคที่ดี หรือแม้แต่ซีดี ม้วนวิดีโอเก่า เราสามารถแยกแล้วเอาไปรีไซเคิลได้”

สถานการณ์ขยะ กทม. ในปัจจุบัน เรื่องท้าทายต่อการจัดการ

9 เดือนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครรายงานว่าจัดเก็บขยะได้ทั้งหมด 2,403,592.93 ตัน หรือเฉลี่ย 8,804.37 ตันต่อวัน ปริมาณสูงขึ้นเมื่อเทียบกับขยะมวลรวมทั้ง 12 เดือน ของปีงบประมาณ 2564 มีการคาดการณ์ว่าจบปีงบประมาณ 2565 นี้ จะมีค่าเฉลี่ยขยะรวม 16,469 ตันต่อวัน โดยพบว่าเขตที่มีแนวโน้มปริมาณขยะสูงขึ้น 3 อันดับแรกคือ เขตหนองจอก เขตคลองสามวา และเขตทวีวัฒนา

ในช่วงที่ฝนตกหนักสัปดาห์ปลายเดือนกรกฏาคม กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าฝนตกหนักที่สุดในรอบ 67 ปี ทำให้ กทม. น้ำท่วมรอการระบายในหลายพื้นที่ แต่นอกจากปริมาณน้ำมหาศาล สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ยังพบว่า มีขยะจำนวนมากถูกทิ้งในลำน้ำและกีดขวางทางไหลของน้ำทำให้น้ำระบายไม่สะดวก อย่างที่ อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องจักรเคลื่อนย้ายขยะชิ้นใหญ่ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ผ้านวม โซฟา ที่นอน รวมทั้งขยะชิ้นเล็ก ๆ ทั้งกล่องโฟม ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ที่ติดอยู่ปากอุโมงค์ฯ

ยังไม่รวมถึงปัญหากลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชนโดยรอบโรงกำจัดขยะอ่อนนุชและหนองแขม กระบวนการกำจัดด้วยการฝังกลบยังเสี่ยงสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนในธรรมชาติ ส่วนการกำจัดด้วยเผาก็เสี่ยงเพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ เรียกว่า “ขยะ” คำเดียว สร้างปัญหาได้อีกล้านแปดประการ

น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดวิธีการจัดการใหม่ ๆ ให้ปัญหาเดิม ๆ ถูกแก้ไขเสียที…

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้