แค่ ‘แยกเศษอาหาร’ กองขยะมหาศาลจะหมดไป

ไม่เทรวม : แคมเพนคัดแยกขยะของ กทม.
นับ 1 ขบวนการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

แต่ละวัน กทม. มีขยะที่ต้องจัดการเกือบๆ 10,000 ตัน (หรือเท่ากับวาฬโตเต็มวัยราวๆ 100 ตัวมัดรวมกัน) ต้องอาศัยกำลังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดกว่า 10,000 คน และงบประมาณในการจัดการหลาย 10,000 ล้านบาทต่อปี พูดกันบ่อยเรื่อง ‘ปัญหาขยะล้นเมือง’ แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ สองมือสองไม้ของทุกคน จะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ แค่ แยกขยะจากอาหารเหลือทิ้ง กับแคมเพน ‘ไม่เทรวม’ คัดแยกขยะ กับ กทม. เพราะว่าความจริงคือ ต่อให้ผู้ว่าฯ แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อย่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ก็ไม่อาจทลายกองภูเขาขยะได้เพียงคนเดียว แต่พลังของทุกคนรวมกันต่างหาก ที่จะทำให้ฝันเห็นเมืองน่าอยู่เกิดขึ้นได้จริง

The Active ชวนคุยกับ 3 บุคคล จากมุมของคนเก็บขยะ คนคัดแยกขยะ และคนคิดนโยบายกำจัดขยะของเมือง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ ไอเดีย และโอกาสดี ๆ ที่จะเปลี่ยนเมืองของเราให้ดีขึ้น เชิญอ่านกันเลย!

เรื่องในบ้าน ของ ‘แอนนา เสืองามเอี่ยม’

สมชาย เสืองามเอี่ยม แอนนา เสืองามเอี่ยม และ สมพร ศรีบุญเรือง
ภาพจาก ig: annasnga_1o

หลายคน รู้จัก แอนนา เสืองามเอี่ยม ในนามของ Miss Universe Thailand 2022 หากเคยได้อ่านประวัติก็อาจจะทราบว่า คุณพ่อและคุณแม่ของเธอเป็นพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานครมานานกว่า 20 ปี อาชีพนี้เองที่เลี้ยงดูให้เธอเติบโตมาเป็นแอนนาทุกวันนี้

นอกจากต้องจัดการขยะมหาศาล พนักงานเก็บขยะยังต้องเสี่ยงอันตรายจากขยะที่ทิ้งรวม แอนนา บอกว่า คุณพ่อของเธอมักถูกแก้วบาด และไม้จิ้มทิ่มมือบ่อยมาก ทำให้ต้องปวดมือไปอีกหลายวัน ซึ่งการที่ออกมาพูดเรื่องการแยกขยะในวันนี้ อย่างน้อยแอนนาก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำงานโดยมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ถ้ามองในภาพใหญ่เราจะเห็นว่าขยะมีปริมาณมากขึ้นทุกปีและภาครัฐใช้งบประมาณเกี่ยวกับการดูแลขยะจำนวนมาก ถ้าสามรถจัดการขยะได้ดีมากขึ้น รัฐอาจใช้งบฯ จัดการในเรื่องนี้น้อยลง และหยิบยกงบฯ ตรงนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชในด้านอื่น ๆ ได้ และช่วยลดมลพิษทางอากาศของเมืองด้วย ดังนั้นไม่มีอะไรที่เสียหายเลยหากจะแยกขยะโดยเริ่มจากตัวเรา

“หลายคนมักเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่แยกขยะ แต่สิ่งที่เราควรโฟกัสมากที่สุดคือตัวเรา ว่าเราคัดแยกขยะก่อนที่เราจะโยนขยะทิ้งไปหรือเปล่า เป็นเราหรือเปล่าที่เทขยะรวมโดยไม่ได้แยก เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นจากมือเรา เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ โดยแอนนาและ TPN ได้เริ่มรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะมาสักพักแล้ว และวันนี้มีโครงการดี ๆ มากมายของ กทม. ที่ทำให้เห็นว่า ขยะที่ถูกแยกออกมามีประโยชน์มากขนาดไหน เช่น ชุดสะท้อนแสงที่ทำจากขวดแก้ว หลายคนอาจจะคิดว่าขยะก็แค่ขยะ แต่ขยะมีประโยชน์จริง ๆ ถ้าเรารู้จักที่จะจัดการ”

รวมพลังคนรักสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการแยกขยะในเมือง

ตัวแทน บ.Tact ก้องกรีนกรีน และอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก Facebook: Tact

ชยุตม์ สกุลคู ผู้ก่อตั้ง Tact ธุรกิจเพื่อสังคม ในนามภาคีภาคเอกชน ร่วมแคมเพน ‘ไม่เทรวม’ สะท้อนว่า ที่ผ่านมามีหลายองค์กรพยายามทำงานเพื่อจัดการขยะในเมืองอยู่แล้ว แต่ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครผลักดันประเด็นการจัดการขยะ และเปิดโอกาสให้มีความเชื่อมโยงการทำงานของภาคประชาสังคม องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม สตาร์ตอัปต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับ กทม. ก็มองว่าจะช่วยจัดการขยะได้ดีมากขึ้น

“เราจึงร่วมกันทำกลยุทธ์ในการคัดแยกขยะ โดยวางแผนว่าเราจะคัดแยกขยะกันอย่างไร ลงมติว่าจะเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่า กทม. ไม่เทรวมขยะที่เก็บมาจากครัวเรือน และขอให้ประชาชน คัดแยกขยะเปียก-แห้ง มาจากต้นทางด้วย ซึ่งมีแผนที่จะทำต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ”

เป้าหมายแรกคือ จะลดปริมาณขยะที่จะลงไปในหลุมฝังกลบให้ได้มากที่สุด นโยบายแรกจึงมุ่งเน้นเรื่องการคัดแยกที่ต้นทาง จะทำยังไงให้โรงเรียนอาคาร สถานที่ หรือพื้นที่สาธารณะของ กทม. มีการคัดแยกขยะ ข้อความที่ตั้งใจสื่อสารกับประชาชนผ่านการหารือร่วมกันทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม คือ ‘ไม่เทรวม’

สำหรับสิ่งที่ tact ช่วยทำโดยเฉพาะคือ จุดทิ้งขยะที่ออกแบบให้คนแยกขยะได้ง่ายขึ้น สำหรับงานอิเวนต์ จะจัดให้มีจุดทิ้งขยะที่ประกอบไปด้วยป้ายดีไซน์ตั้งอยู่ที่ถังทิ้ง มีการอบรมแนวทางจัดการเพิ่มเติมให้กับสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถจัดการต่อได้สะดวก ซึ่งชุดเซ็ตสำหรับการแยกขยะง่าย ๆ ก็ได้จัดไปตั้งไว้แล้วหลายที่ของ กทม.

”เราพยายามกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะในงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ถูกจัดขึ้น เทคนิคคือเราต้องให้เขาแยกน้ำ กับอาหารออกมาก่อน ถ้าน้ำกับอาหารไม่ปนกับสิ่งอื่น ๆ ที่เหลือสามารถเอาไปกำจัดได้ เช่น เอาไปรีไซเคิล หรือเผา เราจะต้องกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่ามันต้องแยกนะ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการมีคนยืนบอกก็ช่วยได้ หรือการมีตัวอย่างขยะที่เห็นชัด ๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน กระบวนการแบบนี้ไม่ว่าใครก็ทำได้ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของงานอิเวนต์ที่ทำได้เลย”

ชยุตม์ บอกว่า หลังจากนี้จะมีการพัฒนา Zero Waste Program ในสถานที่ต่าง ๆ โดยพยายามจะทำเหมือนแผนที่ขึ้นมา เพื่อปักหมุดเชิญชวนโรงเรียน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เป็นภาคเอกชนเข้ามาทำโครงการรณรงค์ให้ขยะเป็นศูนย์ร่วมกัน และ กทม. อาจจะมีกลไกประกาศความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงความพยายามทำเพื่อสังคมของภาคส่วนต่างๆ กทม. จะได้เป็นเหมือนคนช่วยรวบรวมฐานข้อมูลความสำเร็จตรงนี้ไว้ด้วยกัน

”เราอยากจะให้ กทม. เก็บข้อมูลแล้วนำมาลดค่าขยะด้วยซ้ำ ซึ่งเราจะเห็นว่าค่าขยะทุกวันนี้มันถูกมาก อาจจะมีการขึ้นค่าขยะสำหรับคนที่ไม่แยกขยะ และลดค่าขยะให้กับคนที่แยก ก็ชั่งไปเลยว่า ขยะ 5 ตัน ถ้าวันนี้คุณแยกขยะรีไซเคิลไป 3 ตัน คุณก็ลดค่าขยะ จ่ายน้อยกว่าคนที่ทิ้งรวม”

ถามว่า กทม. ควรทำอะไรต่อหลังจากนี้ ? ชยุตม์ เสนอ 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่งการสร้างแรงจูงใจ เช่น ช่วยให้คนคัดแยกขยะได้แบรนด์ ได้ชื่อเสียง หากเป็นเอกชนอาจจะได้ลดราคาค่าขยะ หากเป็นครัวเรือนจะทำยังไงให้การแยะขยะง่าย สะดวกมากขึ้น สุดท้ายคือสร้างจิตสำนึกให้คนทั่วไป สิ่งนี้สำคัญ เพราะวันนี้เห็นว่าหลายคนตื่นตัวมากขึ้นแล้ว หลายบ้านแยกได้แล้ว แต่จะทำยังไงให้การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและต่อเนื่อง

”หลายคนตั้งคำถามว่า นำร่อง 3 เขตแล้วพื้นที่ฉันหละ ผมว่าถ้า กทม.​ ทำให้เร็วได้ในเรื่องการจัดการทรัพยากร เช่น ระบบการจัดเก็บขนส่ง รถจัดเก็บ พนักงานที่พร้อม การสื่อสารที่ชัดเจน แรงจูงใจของเอกชน ภาคประชาชน คิดว่าขยะ 10,000 ตันที่เป็นปัญหาในแต่ละวันอาจจะแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว”

ชยุตม์ ย้ำว่า หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการขยะ เขามีการปลูกฝังให้การศึกษามาตั้งแต่ในโรงเรียนตั้งแต่เรื่องประเภทขยะ ก็เลยง่ายสำหรับเขา แต่ถ้าจะมาใช้กับทั้ง กทม. ในทันที ก็คงต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ประชาชนร่วมมือ อาจจะต้องอิงกับปัจจัยทางการเงิน หรือพฤติกรรมศาสตร์ ความยากคือจะชวนยังไงให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเราไม่สามารถแจกเงินให้ทุกคนที่แยกขยะได้ ขยะหลายชนิดแยกมาก็ขายไม่ได้แต่จะทำยังไงให้คนรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองรูปแบบใหม่

‘ไม่เทรวม’ ทั้งคนทิ้ง ทั้งคนเก็บ

“คำว่าไม่เทรวม มีความหมายที่ลึกซึ้ง ทั้งชวนให้ประชาชนไม่เทขยะทุกประเภทรวมกัน และอีกอย่างก็บอกประชาชนว่าต่อไปนี้ กทม. ไม่เทรวมแล้วนะ คือการเจอกันครึ่งทาง ระหว่างประชาชนกับ กทม.​ เมื่อก่อนเราขอให้ประชาชนแยกขยะเยอะ ยุ่งยากชีวิต แต่ตอนนี้เราบอกว่าจะมาเจอกันครึ่งทาง คุณแยกหน่อยไม่ต้องยากมาก แยกแค่เศษอาหารอย่างเดียว แล้ว กทม. ก็จะแยกด้วย เราก็มาเจอกันคนละครึ่งทาง”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ มาจากการที่ประชาชนตั้งคำถามว่า จะแยกขยะทำไมเดี๋ยว กทม.​ ก็จะมาเทรวม อย่างที่สองคือสถิติพบว่า ขยะจากเศษอาหารมีจำนวนเยอะมากราว 45% ดังนั้นถ้าสามารถแยกขยะอาหารออกมาได้ก่อน ที่เหลือก็จัดการได้ง่ายขึ้น กทม. ก็เลยไปหาแนวทาง อย่างแรกคือทำยังไงให้ประชาชนไม่เทรวม ด้วยการแยกเศษอาหารออกมาก่อน ตอนนี้ขอแค่ 2 ประเภท คือ เศษอาหารและอื่นๆ จะใส่ถุงเขียว ถุงดำ ถุงก้อปแก้ป อะไรก็ได้ คิดว่าง่ายมากกว่าการขอให้แยกขยะทุกประเภทเหมือนก่อนหน้านี้ และเริ่มเป็นเส้นทางนำร่องเพียงบางพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 ระยะเพื่อติดตามประเมินและปรับปรุงแก้ไข

“เหตุผลที่วันนี้เลือกแค่ 3 เขต เพราะเราอยากทดลองให้โมเดลมันชัด ว่าทำได้ดีนะ แล้วจึงจะขยายผล โดยเริ่มจาก พญาไท หนองแขม และปทุมวัน ซึ่ง 2 เดือนนี้ที่ทำก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่เขต แต่จะเป็นเส้นทางนำร่องก่อนราว ๆ พันว่าครัวเรือน เพื่อให้มั่นใจว่าทำได้ในเชิงปฏิบัติ ว่าถังขยะท้ายรถรองรับได้จริงไหม ต้องถามความเห็นจากพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด ด้วย และจะมีการจัดรถเปิดข้างวิ่งในเส้นทางที่มีเศษอาหารเยอะ เราก็จะมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงไปเรื่อย ๆ”

สำหรับแผนดำเนินแคมเพน ไม่เทรวม ระยะที่ 1 (ก.ย.-ต.ค. 65) ช่วงนำร่อง กำหนด 1 เขต 1 เส้นทาง จากนั้นระยะที่ 2 (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะขยายเป็นเก็บทุกเส้นทางในระดับแขวง และระยะที่ 3 (ม.ค.- มี.ค.66) จะขยายทั่วทั้งพื้นที่ 3 เขตนำร่อง ขยายผลเต็มพื้นที่เขต สำหรับการเก็บขยะแยกประเภท แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ใช้รถก็บขนมูลฝอยแบบเปิดข้าง ขนาด 1.5 ตัน จำนวนเขตละ 1 คัน จัดเก็บขยะเศษอาหาร คนละเวลากับการเก็บขยะทั่วไปปกติ รวมทั้งดัดแปลงรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน โดยติดตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารที่ท้ายรถเพิ่มเติม 1 ถัง พร้อมถังสำรองติดตั้งบริเวณคอรถอีกจำนวน 2 ถัง สำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารพร้อมกับการเก็บขยะทั่วไป

สำหรับขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้สำนักงานเขตจะรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุช (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไป

พรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘รถ’ สร้างความเชื่อมั่น แต่ กทม. ก็อยากจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะเพิ่มเติม อาจจะเป็นเรื่องของการให้สติกเกอร์บ้านที่คัดแยกขยะ ตามทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ปลุกกระแสว่าคนอื่นทำกันเราก็ทำด้วย ไม่ด้อยไปกว่ากัน และในอนาคตอาจจะพิจารณาค่าธรรมเนียมเรากำลังพูดคุยกันอยู่ว่า ถ้าบ้านไหนแยกขยะ สามารถลดค่าขยะได้ไหม เหมือนเป็นแรงจูงใจอีกมิติหนึ่งด้วย

“กทม. มีที่ใช้ประโยชน์สำหรับเศษอาหารอยู่แล้ว ทั้งพื้นที่สำหรับทำปุ๋ย หรือแม้แต่การส่งต่อไปผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้า เราก็มีกระบวนการพร้อมรองรับอยู่แล้ว ตั้งแต่ต้นน้ำคือการแยกขยะ กลางน้ำคือตัวรถไม่เทรวม และสุดท้ายขยะเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ทางที่ดีไม่ต้องรอ กทม. มาเก็บ คุณใช้ประโยชน์ได้เลย ถ้าที่บ้านมีพื้นที่ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ถ้าลดได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด กทม. ก็ไม่ต้องมาเก็บ เป็นการลดตั้งแต่ต้นทาง”

ในเชิงกลไกการบริหาร กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร’ มีบทบาทในการกำหนด ติดตาม และทำให้แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการขยะของเมืองได้จริง ดังนี้

1. กำหนดยุทธศาสตร์แผนการดำเนินการการจัดการขยะต้นทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

2. ติดตาม เร่งรัด และผลักดันการดำเนินตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยุทธศาสตร์ตามข้อ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะต้นทางทั้งหมด

3. ส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษา รวมถึงเสนอแนะแนวทางและข้อคิดเห็นใน การจัดการขยะต้นให้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงประชาชนในพื้นที่

4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร

5. ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง

6. ปฎิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย

สำหรับกระบวนการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) กำหนดเป้าหมายการเป็น “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเมืองครบวงจร รวมถึงการกำกับ ควบคุม คุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งด้านคุณภาพอากาศ เสียง และขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองอย่างสอดประสานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้