พิภพ อุดร : คู่มือ “ผู้ใหญ่” ในการเมืองศตวรรษที่ 21

ปรากฏการณ์ “ชูสามนิ้ว” ในโรงเรียนมัธยม ไม่ได้สะท้อนให้เห็นแค่ภาพ “ความรู้สึกทางการเมือง” ของเด็กในวัย “กระโปรงบานขาสั้น” เท่านั้น

แต่ปฏิกิริยาของ “ครู” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังสะท้อนให้เห็น “ความคิดของผู้ใหญ่” ต่อการแสดงออกทางการเมืองของเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้หลายคนรู้สึกเป็นกังวล

เมื่อเด็ก คือ อนาคต เราอยากให้อนาคตสังคมและการเมืองเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของผู้ใหญ่ในปัจจุบัน

The Active พูดคุยกับ “รองศาสตราจารย์พิภพ อุดร” อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอ How To การเป็น “ผู้ใหญ่” ในศตวรรษที่ 21 บ้าง

พลังคนหนุ่มสาว : ปรากฏการณ์ร่วมของเจเนเรชันของทั้งโลก

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร ยืนยันว่า เป็นปรากฏการณ์ร่วมของเจเนเรชันของทั้งโลก หากมองย้อนกลับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นค่อนข้างมากในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในอเมริกา ก็เกิดความเคลื่อนไหวเหมือนกันหมด มีคนหนุ่มสาวออกมาเรียกร้องในประเด็นที่เป็นคุณค่าร่วมของเจเนเรชัน

“ถ้าดูความเคลื่อนไหว มันมีประเด็นร่วมกันไม่กี่เรื่อง การเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมที่ปฏิบัติต่อกัน รวมไปถึงการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปด้านการศึกษา ด้านโครงสร้างสังคม ที่สำคัญ เรื่องใหญ่ของเขามันถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดที่มีความเป็นประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกัน”



อาจารย์อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้นก็คือ “เทคโนโลยี” ที่ทำให้เรื่องหนึ่งที่อาจเกิดที่มุมหนึ่งในโลก ก็จะเกิดการแชร์และเห็นร่วมกัน ในเวลาที่สั้นมาก ๆ ทำให้คนหนุ่มสาวในปัจจุบันจึงมีวิธีคิดว่า อะไรก็ตามที่เขาไม่เข้าใจ เขาสามารถหาคำตอบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ หากเรามองเขาด้วยเลนส์ของคนในเจเนเรชันก่อน เราจะไม่เข้าใจเหตุผลและการแสดงออกของเขา

“ถ้าเรามีสมมุติฐานหลายเรื่องที่อาจจะผิดและไม่ตรงกับที่เขาคิด หลายเรื่องเรามองว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวถ้าไม่เรียนก็จะไม่รู้ หลายเรื่องเราคิดว่าเขาถูกหลอกง่าย ในขณะที่จริง ๆ แล้วพวกเขาสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วด้วยปลายนิ้วของเขา และเขาฉลาดพอที่จะค้นจากหลายแหล่ง ดังนั้น หากเราไปตัดสินเขาโดยยังไม่ทันได้ฟัง นี่คือเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดการปะทะได้”



เรื่องใหญ่ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจว่าสังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน มีความหลากหลายสูงมาก สังคมแบบที่เราเรียกว่า โลกสองขั้ว หรือ สังคมสองข้าง ไม่มีอีกต่อไป เราไม่สามารถจะพูดได้ว่าคนนี้ซ้าย คนนั้นขวา คนนี้คือเสื้อเหลือง คนนี้คือเสื้อแดง มันมีระหว่างกลางและระหว่างทางจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่อาจจะเหมาโหลได้ว่าใครเป็นอย่างไร เพราะแต่ละคนมีความคิดอ่านที่สลับซับซ้อน

“หลายเรื่องที่เราคิดว่าเขาไม่เอา แต่จริง ๆ เขาเอา เขามีข้อเรียกร้องบางอย่างที่ต้องการให้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง เราต้องเข้าใจว่าโลกตอนนี้ต่างไปจากเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หรือแม้แต่ปีที่แล้วกับปีนี้ โลกก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งของที่ยังดำรงอยู่ได้ในสังคม คือของที่ถูกปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก”


รศ.ดร.พิภพ ย้ำว่าความจริงที่ผู้ใหญ่ต้องยอมรับ คือ ของทุกอย่างที่ยังอยู่ในสังคม ต้องมีบทบาทและฟังก์ชั่นที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ส่วนของที่หายไปก็คือของที่หมดบทบาทและไม่มีฟังก์ชั่นใด ๆ ในสังคม อันนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมทั่วโลก

ไม่ตัดสินด้วย “คุณค่า” ของคนต่างเจเนเรชัน

อาจารย์กล่าวว่า สิ่งแรกที่คนรุ่นก่อนต้องทำคือ ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเจเนเรชัน คนรุ่นเก่าต้องไม่ถือตัวว่าเรารู้มากกว่า ฉลาดกว่า หรือเห็นโลกมากกว่า

“การที่คนในเจเนเรชันเกิดก่อนและเติบโตมาในชุดความรู้ที่แตกต่างกันกับคนรุ่นปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าเราฉลาดกว่าเขา ไม่ได้แปลว่าเราเห็นโลกแล้วรู้ดีกว่าเขา เพราะเราต้องมองโลกอย่างที่มันเป็นไป หมายความว่ามองโลกด้วยความพยายามทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปมากกว่าที่จะเอาค่านิยมส่วนตัวของเราไปจับว่า อะไรดี อะไรไม่ดี เรื่องนั้นต้องมาทีหลัง แต่เราต้องเข้าใจก่อน”



ถ้านึกย้อนกลับไปสมัยที่ผู้ใหญ่ยังเป็นเด็ก ตอนนั้นผู้ใหญ่เองก็อาจจะโดนมองจากคนรุ่นเก่ากว่าว่า มีอะไรหลายอย่างที่ทำแล้วดูไม่ค่อยสมควร เพราะมันเป็นการตัดสินใจ Value ของคนที่ต่างเจเนเรชัน ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นเรื่องแรกคือ “ฟัง”

“ฟังความคิดเขา ฟังอย่างให้เกียรติ ฟังอย่างคนที่เท่าเทียมกัน ฟังโดยไม่ตัดสินว่าเขาไม่รู้เรื่องหรือถูกหลอก หรือเพราะเขาเป็นเด็ก ซึ่งถ้าหากผู้ใหญ่มีความรู้สึกเช่นนั้น มันคือการดูแคลนตั้งแต่ต้น ถ้าเราดูแคลนกันแล้ว การจะไปเจรจาหาทางออกร่วมกันคงเป็นไปได้ยาก”



ในทางปฏิบัติ ผู้ใหญ่ต้องมองว่าในคนเจเนเรชันใหม่ก็มีวิธีคิดอ่านของตนเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่เขาใช้หรือท่าทีที่แสดงออก ผู้ใหญ่ต้องมองว่ามันเป็นเพียงเปลือกที่ห่อหุ้มเท่านั้น แต่ต้องมองทะลุเปลือกที่ห่อหุ้มลงไปลึกถึงเนื้อหาที่เขาเสนอว่ามีเหตุผลไหม ซึ่งอาจจะไม่มีเหตุผลทุกเรื่อง อาจจะไม่สมเหตุผลทุกอย่าง แต่อะไรคือสิ่งที่สมเหตุสมผล อะไรคือสิ่งที่รับได้ อะไรที่ควรจะต้องฟัง

“ถ้าเทียบเป็นดนตรีเด็กก็อาจจะมีท่วงทำนองที่เราไม่ชอบ แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องฟังว่าเนื้อของเขาพูดว่าอะไร นี่คือเรื่องใหญ่ เด็กจะเป็นอย่างไร ท่าทีของเขาก็เป็นเรื่องที่ปรับได้ และมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เนื้อหาต่างหากที่เราต้องฟัง และถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราต้องใจกว้าง”

สถาบันการศึกษา : พื้นที่ปลอดภัยของเด็ก

ถ้าทุกคนยืนอยู่บนจุดของตนเองและไม่ฟัง ไม่พยายามเข้าใจอีกฝ่าย มันนำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกัน ซึ่งหากถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน อาจารย์ย้ำว่า ผู้ใหญ่ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่า ความอดทนอดกลั้นของผู้ใหญ่ควรจะสูงกว่า ผู้ใหญ่ควรมีวุฒิภาวะมากกว่าเด็ก ผู้ใหญ่ควรที่จะใจกว้าง รับฟัง เข้าอกเข้าใจ หากเริ่มต้นด้วยแบบนี้ เราก็จะคุยกับเด็กอีกเจเนเรชันได้

“แม้เด็กในเจเนเรชันใหม่มีวิธีคิดเป็นของตนเอง แต่ก็ต้องมีเหตุผล สิ่งที่เขาไม่รับคือการบอกให้เขาทำ เชื่อ หรือปฏิบัติอะไร โดยไม่มีเหตุผล มีแต่ต้องอธิบายและโน้มน้าวเด็กเท่านั้น เพราะสิ่งที่เด็กต้องการคือ การบอกว่าจะต้องทำอะไรด้วยเหตุอะไร ถ้ามีเหตุผล เข้าใจได้ และเห็นด้วย เขาทำตาม เด็กรุ่นใหม่เป็นแบบนี้”



ผู้ใหญ่อยู่ในสังคมที่เติบโตมาด้วยความเคยชิน หลายเรื่องผู้ใหญ่ไม่เคยตั้งคำถาม เพียงแต่ปฏิบัติไปเพราะมันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมา แต่เด็กที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อเขาเริ่มใช้ชีวิตในสังคม เขามีสิทธิตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องปฏิบัติอย่างว่า ซึ่งหากไม่มีคำตอบที่เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ ก็ไม่แปลกอะไรที่เขาจะไม่รับเรื่องแบบนี้ นี่คือลักษณะที่ดีของคนรุ่นใหม่ ใช้เหตุผลเป็นหลักและคุยกันมากกว่าที่จะยอมรับประเพณีปฏิบัติหรือวิถีปฏิบัติที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลใด ๆ ได้

เมื่อต้องเจรจากับเด็ก ผู้ใหญ่ไม่มีสิทธิใช้อารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ต่างจากเด็ก ถ้าบอกว่าเราเป็นผู้ใหญ่ แปลว่าเราต้องมีวุฒิภาวะสูง ความอดทนอดกลั้นควรจะสูงกว่าเด็ก เราพึงมีเมตตาต่อเด็ก ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากการมีเมตตาต่อเขา เราก็จะเห็นเขาเป็นศัตรู และจะเป็นการผลักเขาไปอยู่อีกฝั่ง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

เด็กเหล่านี้คืออนาคตของชาติ คือคนที่จะมานำและเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งหากผู้ใหญ่คิดว่าเขาไปในทางที่ไม่ถูก ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ค่อยๆ ขัดเกลาเด็ก ไม่ใช่ไปปะทะ จับผิด หรือไล่ล่าทำลายกัน เรื่องแบบนี้ไม่ช่วยสร้างอนาคต

“ประชาธิปไตยในยุคนี้ มีคำสำคัญที่เราต้องเข้าใจคือ Diversity และ Inclusion คือเราต้องเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลาย ต้องเห็นความต่างเป็นความงาม ต้องเห็นความไม่เหมือนกันเป็นจุดที่นำไปสู่การพัฒนาที่งอกงาม ต้องเห็นการไม่เห็นด้วยที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง”



เมื่อเกิด Diversity มาก ๆ อาจารย์กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ควรถูกนำมาใช้คือ Inclusion คือต้องไม่ให้ใครถูกทิ้งอยู่วงนอก ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีที่แสดง ถ้าเมื่อไหร่ที่เรา “กันความเห็นต่างออกไป” ไล่ออกนอกประเทศ ไล่ลงใต้ดิน มันก็ลงใต้ดินจริง แล้วก็กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดเป็นระเบิดเวลา ที่จะปะทุขึ้นมาในอนาคต ดังนั้น หลักสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้ความต่างมีที่ยืน

“จะให้เขายืนตรงไหน ในสถาบันการศึกษาสำคัญที่สุด เพราะนี่คือแหล่งบ่มเพาะปัญญา หากในสถาบันการศึกษายังไม่เปิดที่ยืนให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่อื่นก็จะไม่มี”

Author

Alternative Text

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว