จับตากระทรวงหมอ ยังไงต่อ ? ‘นโยบายสาธารณสุข’ ของรักของหวง ‘เพื่อไทย’

ในห้วงระยะเวลาเกือบปีของรัฐบาลเศรษฐา กระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการฯ มาแล้ว 2 คน คนแรก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อยู่ในตำแหน่ง 7 เดือน ก็ถูกปรับออกจาก ครม. แทนที่ด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้เพียง 4 เดือน ก็ต้องอยู่ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการ พร้อม ๆ กับ เศรษฐา ทวีสิน​ ที่ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี

ปฎิเสธไม่ได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข ในยุค นพ.ชลน่าน มีการแก้กฎกระทรวงยาบ้าห้าเม็ดคือผู้เสพ แต่เมื่อ สมศักดิ์ มารับช่วงต่อก็ปรับมาเหลือหนึ่งเม็ด เพื่อลดกระแสสังคม 

เช่นเดียวกับนโยบายกัญชา ช่วงแรก นพ.ชลน่าน เห็นด้วยที่จะเป็นทำเป็นร่างกฎหมาย แต่เมื่อ สมศักดิ์ เข้ามา กลับยืนยันเดินหน้าให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จนในที่สุดกระแสการเมืองพรรคร่วม อย่าง พรรคภูมิใจไทย ส่งผลให้ นายกฯ เศรษฐา ในเวลานั้น ต้องกลับลำ มาเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา สมศักดิ์ ก็เคยเปรยกับสื่อว่า “กฎหมายจะผ่านไปได้ ก็ต่อเมื่อการเมืองนิ่ง” 

“ถ้าการเมืองมีความมั่นคงพร้อมกัน
กฎหมายมันก็เดินไปได้”

สมศักดิ์ เทพสุทิน  

ทว่ายังมีอีกหลายนโยบายจากยุค นพ.ชลน่าน ที่ได้รับการสานต่อมาถึงยุคของสมศักดิ์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยังอยู่ในมือของ พรรคเพื่อไทย ทั้งในเรื่องของมินิธัญญารักษ์, บำบัดผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน, การแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกมาจาก ก.พ. ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เพียงไม่กี่เดือน สมศักดิ์ สามารถขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขผ่านการร่างกฎหมายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาก่อน 

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีร่างกฎหมายที่สำคัญอยู่  3 ฉบับ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้น คือ

  1. ร่าง พ.ร.บ.อสม. 

  2. ร่าง พ.ร.บ. ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข

  3. ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต

ยังไม่นับรวม แผนยุทธศาสตร์เพิ่มกำลังคนสาธารณสุข ที่จะเพิ่มหมอและพยาบาลนับแสนคนภายใน 10 ปี ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมนตรี และจะต้องใช้วงเงินถึง 3.8 แสนล้านบาทด้วย

ส่วนหนึ่งในนโยบายธงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาจนถึง 30 บาทรักษาทุกที่ ในมือของเพื่อไทย ก็เคยถูกตั้งข้อสังเกตว่าเพราะ นพ.ชลน่าน เอาข้าราชการไม่อยู่ จึงถูกปรับออกจาก ครม. แต่เมื่อ สมศักดิ์ เข้ามากุมอำนาจกระทรวงหมอ แม้ผิวเผินมองว่านโยบายรักษาทุกที่ มีการขยายจากเฟส 1 เฟส 2 และเฟส 3 โดยพยายามย้ำภาพความสำเร็จนี้ ตั้งแต่ยุค นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และย้ำภาพของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งลงพื้นที่เปิดตัวนโยบายด้วยตัวเอง 

แต่หากมองลึกลงไปในแวดวงสาธารณสุข กลับพบว่า มีคลื่นใต้น้ำที่ถกเถียงกันอย่างมากระหว่าง คณะแพทย์ กับ สปสช. ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายจากฝ่ายการเมือง 

“รักษาทุกที่แล้วไปที่ไหนก็ได้ อาจจะผิดตั้งแต่คนติดกระดุมเม็ดแรก ที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อันนี้พรรคการเมืองหาเสียง ส่วนงานวิจัยที่บอกว่ารักษาทุกที่ไม่ได้เพิ่มความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ไม่จริง”

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย

“ยุค 30 บาทรักษาทุกโรค มีกลุ่มหมอคัดค้านใส่ปลอกดำ เราก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว ไม่ว่านโยบายการเมืองมาอย่างไร อยากให้มองเป็นโอกาส ผมในฐานะเลขา สปสช. คิดว่า 30 บาทรักษาทุกที่ ก็พูดทุกครั้งว่าไม่ได้ให้คนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่ ตรงกันข้ามต้องไปโรงพยาบาลลดลง แต่จะไม่บังคับให้ไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการใกล้บ้าน“ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

ต้องยอมรับว่า ปัญหาหลักของนโยบายรักษาทุกที่ อยู่ที่งบประมาณ และนิยามหลักการระบบสุขภาพที่ควรเป็น จริงอยู่รักษาทุกโรคทำได้ แต่หากจะรักษาทุกที่นั้น อาจจะต้องขอเป็นแค่หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งเรื่องนี้ สมศักดิ์ เองก็ยังคงแก้ปัญหาใบส่งตัวใน กทม. ตามที่ผู้ป่วยเรียกร้องไม่ได้เลย  

เมื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับการยืนยันแล้วว่ายังคงอยู่ในชายคาพรรคเพื่อไทย ก็เชื่อแน่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ คงได้เดินหน้าต่อไป แม้ยังคงมีข้อถกเถียงให้ต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก แต่ถึงยังไงกำหนดการ kickoff รักษาทุกที่ กทม. ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ก็ยังคงมี แพทองธาร ชินวัตร มาร่วมงานไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย คงหนีไม่พ้นชื่อ แพทองธาร ชินวัตร ถึงตรงนั้น ครม. ชุดใหม่ จะยังเป็นชื่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่หรือไม่ยังคงต้องลุ้นกันต่อ แต่ที่แน่ ๆ ไม่ต้องลุ้น ก็คือ หากพรรคเพื่อไทย ยังเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล คงไม่มีทางปล่อยกระทรวงสาธารณสุขไปอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS