สถานชีวาภิบาล บ้านหลังสุดท้ายของใคร?

ที่พึ่งสุดท้ายของ ผู้สูงอายุไทยในภาวะพึ่งพิงจะครอบคลุมแค่ไหน?
 แล้วใครบ้างที่จะได้เข้าไปอยู่ในสถานชีวาภิบาลของรัฐ 

จะเป็นอย่างไรถ้าผู้สูงอายุในบ้านเรา เริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือที่เรียกว่าเป็น “ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง” ขณะที่ลูกหลานก็ต้องออกไปทำงาน แล้วใครจะเป็นคนดูแล ถ้าจะให้ลาออกมาดูแลผู้สูงอายุในบ้านก็ทำไม่ได้เพราะเงินก็สำคัญ

การมีสถานที่มารองรับพร้อมกับมีคนมาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้แทนลูกหลานที่ต้องออกไปทำงาน จึงจำเป็นอย่างมากหลังจากที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ที่นับวันจะมีผู้สูงอายุให้ต้องดูแลมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“1 จังหวัด 1 สถานชีวาภิบาล” เป็นนโยบายเร่งด่วนหรือควิกวินของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 นั่นหมายความว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 100 วันหรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะมีทุกจังหวัด แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรับเป้าลงมาเป็นเพียงแค่ทุกเขตสุขภาพ 13 เขตในเฟสแรก เพราะยอมรับในข้อจำกัดหลายด้าน 

สถานชีวาภิบาลคืออะไร

เดิมสถานชีวาภิบาล คือหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ดูแลผู้สูงอายุในระยะสุดท้ายแบบประคับประคองนี่แหละ ซึ่งปัจจุบันในหอผู้ป่วยแบบนี้ทุกโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยเต็มแทบทุกเตียง  

คำว่า “ชีวาภิบาล” เป็นคำที่มาจากคำสองคำคือ “ชีวา” หรือ “ชีวิต” บวกกับ “อภิบาล” คือ การบำรุง ดูแลอย่างรอบด้าน เมื่อรวมกันจึงเป็น “ชีวาภิบาล” หมายถึง การบำรุงดูแลชีวิต ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Palliative Care Center 

สถานชีวาภิบาลจึงเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตช่วงท้ายของผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเน้นการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใส่ท่อ ไม่เจาะคอ เพียงแต่บรรเทาอาการไม่ให้เจ็บปวด และจากไปอย่างสงบ หรือที่เรียกว่า “ตายดี” นั่นเอง 

จากสถานการณ์ “หอผู้ป่วยชีวาภิบาล” ในโรงพยาบาลที่ครองเตียงกันเกือบเต็ม เพื่อให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า โรงพยาบาลจึงส่งตัวผู้ป่วยที่อาการคงที่กลับมารักษาต่อที่บ้าน ทำให้เกิดธุรกิจรับดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง และเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างรุนแรงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มาอยู่ใน “เนิร์สซิ่งโฮม” 

เนิร์สซิ่งโฮม กำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตมากพร้อมกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยที่นี่จะมีพยาบาล และคนที่จะมาดูแลผู้สูงอายุอย่างมืออาชีพโดยเฉพาะ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเนิร์สซิ่งโฮมที่มาตรฐานดีเรียกเก็บค่าบริการเริ่มต้น เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งผู้สูงอายุในครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำทั่วไป เข้าไม่ถึงแน่นอน 

ผู้สูงอายุที่ เนิร์สซิ่งโฮม แห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ส่วนใหญ่เป็นโรคสมองเสื่อม

สถานชีวาภิบาลคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

แต่ต้องยอมรับว่าครอบครัวในเมืองอย่างกรุงเทพฯ หลายครอบครัว ส่งผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปอยู่ที่ เนิร์สซิ่งโฮม เหล่านี้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงก็ตาม เห็นได้จากตัวเลข ปี 2558 มีเนิร์สซิ่งโฮมใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนเพียง 12 แห่ง และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอีก 9 ปีต่อมาล่าสุดปี 2566 ในกรุงเทพพบเนิร์สซิ่งโฮมที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็น 290 แห่ง 

เนิร์สซิ่งโฮม บรรยากาศคล้ายหอผู้ป่วยชีวาภิบาล ดูแลผู้สูงอายุ Long Term Care และ Palliative Care

จากความต้องการการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น นโยบาย 1 จังหวัด 1 สถานชีวาภิบาลซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทำให้ผู้สูงอายุในครอบครัวที่ไม่มีกำลังส่งผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุแบบประคับประคอง หรือเป็นผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้งตามลำพัง เข้ามาดูในความดูแลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

อีกเรื่องที่ต้องเตรียมรองรับ คือ “กำลังคน” โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ที่ต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ นักบริบาล หรือกำลังคนระดับผู้ช่วย ซึ่งในอนาคตกำลังคนที่จะขาดแคลน ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ CM และนักสังคมสงเคราะห์ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการเพิ่มกำลังคนเหล่านี้เข้าไปสู่ระบบ ไปพร้อมกัน 

คาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง 

 พ.ศ.2563 พ.ศ.2569พ.ศ.2573
ประชากรผู้สูงอายุ12,621,65515,638,57217,578,929
จำนวนผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง2,473,8443,065,1603,445,470
ที่มา: วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งสถานชีวาภิบาล แยกเป็น 2 พื้นที่คือ “ต่างจังหวัด” กับ “กรุงเทพมหานคร” สำหรับในพื้นที่ กทม. วางแผนทำเรื่องสถานชีวาภิบาลโดยจะดึง เนิร์สซิ่งโฮม ภาคเอกชน มายกระดับเป็น “สถานชีวาภิบาล” แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเนิร์สซิ่งโฮมเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูง การเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. หรือ สิทธิบัตรทองจึงยังเคาะกันไม่จบ 

ขณะที่ในต่างจังหวัดในระยะแรกมีแนวคิดจะใช้ “วัด” เป็นหนึ่งในสถานชีวาภิบาลดูแลผู้สูงอายุ โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ บอกว่าวัด มีความพร้อม มีทรัพยากร และมีความตั้งใจจะดูแลประชาชน จึงจะนำร่องสถานชีวาภิบาลในวัด และเรียนรู้ ส่วนรัฐต้องสนับสนุนค่าจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยขั้นตอนว่า เริ่มจากการสำรวจผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในระดับตำบลว่ามีความต้องการเท่าไร จากนั้นหาสถานที่จัดทำสถานชีวาภิบาล ที่มีความพร้อมในชุมชน ออกกติกาการเงินเข้ามาเสริม สิ่งที่จะอนุมัติเพิ่มเติมคือคือหน่วยงานที่จะเข้าไปดูแล

“ในต่างจังหวัดเราไม่ได้ดูค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน แต่เราดูจำนวนคนที่ต้องดูแล เช่น 1 ตำบลมีผู้สูงอายุ 100 คนที่ต้องดู แปลว่าเราจ่ายเงิน 1-2 ล้าน และจ้าง Care Giver อีก 5 แสนบาท เงินที่เหลือก็ซื้ออุปกรณ์ ดังนั้นในพื้นที่ต่างจังหวัดเชื่อว่ามีเพียงพอ” 

ใครที่จะได้อยู่ในสถานชีวาภิบาลของรัฐบาล 

มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงมีคำถามว่า แล้วจะเข้านำผู้สูงอายุในบ้านที่มีภาวะพึ่งพิงขณะที่ครอบครัวเองก็ดูแลไม่ไหว ไปใช้บริการในสถานชีวาภิบาลเหล่านี้ได้อย่างไร?

เรื่องนี้ยังค่อนข้างเป็นเรื่องเทคนิคโดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินจากสิทธิบัตรทองว่าได้มากน้อยแค่ไหน หรือหากต้องร่วมจ่ายก็จะมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของแพ็คเก็จในการดูแลตามมา 

เบื้องต้นที่มีการคุยกันคือ ต้องเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ที่เข้าสู่การรักษาตัวในระยะท้าย หรือPalliative Care ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิ์ แล้วโรงพยาบาลนั้น ส่งตัวต่อมายังสถานชีวาภิบาลประจำจังหวัด หรือ เนิร์สซิ่งโฮม ชีวาภิบาลเอกชน ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย และเป็นเครือข่ายที่เชื่อมกับ สปสช. ในฐานะ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” 

นนทวัฒน์ บุญบา ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย ในฐานะหน่วยงานที่ช่วยเหลือคนที่ตกหล่นเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 บอกว่า ยังมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกหลายคนที่ซ่อนอยู่ในชุมชนหลายแห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่มีคนคอยดูแล จึงอยากให้รัฐทำงานให้ยืดหยุ่นกับภาคประชาสังคม ไม่ทำทับซ้อนแต่ทำต่อเนื่องกัน รัฐควรเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับการทำงานของภาคประชาสังคม ช่วยกันผลักดัน 

เขาตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐว่า ลักษณะผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่สามารถรอได้ แต่ที่ผ่านมาการใช้กระบวนการของรัฐต้องผ่านการรอ การประเมิน ขณะที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีเวลาสั้น เราอยากให้เขาจากไปสงบหรือ “ตายดี” ก็ควรจะรวดเร็วในการรับเคสผู้ป่วยเข้าไปดูแล 

ส่วนเงื่อนไขการรับผู้สูงอายุเข้าไปอยู่ในสถานชีวาภิบาล ควรจะรวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง เพราะต้องบอกว่าปัจจุบันผู้สูงอายุที่อยู่ ติดบ้าน ติดเตียง ถูกทอดทิ้งมีจำนวนมาก ขณะที่สถานดูแลผู้สูงในกทม.และปริมณฑลมีไม่เพียงพอ

การเข้าถึงสถานชีวาภิบาลของรัฐอาจไม่ง่าย หากดูจากเกณฑ์การเลือกผู้สูงอายุเข้าไปดูแล และคงไม่ใช่ทุกครอบครัวจะส่งผู้สูงอายุไปอยู่ในสถานชีวาภิบาลได้หรือไม่ ยังต้องรอความชัดเจน และจับตาว่านโยบายนี้ จะสามารถดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ได้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ อย่างที่สังคมคาดหวังได้จริงหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS