กว่าจะเป็น ‘ติ่งเกาหลี’ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

เทียบเอกลักษณ์การทูตไทย-เกาหลีใต้ : รศ.ปิติ ศรีแสงนาม

เรารู้จักเกาหลีใต้เพราะอะไร?

“Hallyu” “Korean Wave” หรือ “กระแสเกาหลี” คือ วัฒนธรรม K-pop ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มีทั้งละคร ภาพยนตร์ อาหาร เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ภาษา วัฒนธรรม ที่สามารถสร้าง “Demand สูง” ในตลาดโลกขณะนี้

เกาหลีใต้ จากประเทศที่เคยถูกจัดอันดับว่ายากจนที่สุดในโลก เพราะมีสงคราม สู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกในวันนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 30,757 เหรียญสหรัฐต่อปี อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในกลุ่ม The Next Eleven (or N-11) หรือประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การทูต เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในการสร้างความนิยมของเกาหลีใต้ ซึ่ง เกาหลีใต้ให้ความสำคัญแก่การทูตสาธารณะในฐานะเครื่องมือบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติเป็นลำดับที่สอง รองลงมาจากการแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือและการสร้างสันติภาพถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี

The Active ชวนมองการทูตทุกมิติ กับ รศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มองการทูตของเกาหลีใต้เปลี่ยนไปหรือไม่? เมื่อมีประธานาธิบดีคนใหม่ “ยุน ซอกยอล”

เปลี่ยนไปแน่นอน การเข้ามาของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ต้องเข้าใจว่านโยบายแต่ละประเทศมีหลายมิติ มิติหนึ่งที่มีความสำคัญคือเรื่องของความมั่นคง 

“ในกรณีเกาหลีใต้ มิติสำคัญอย่างความมั่นคง คือ การอ้างอิงสหรัฐอเมริกา และหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็น รปภ. รักษาความปลอดภัย ทำหน้าที่ปกป้องด้านความมั่นคงให้กับเกาหลีใต้”

ซึ่งภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเกาหลีใต้ก็คือเกาหลีเหนือ เมื่อเห็นประเพณีแบบนี้มาโดยตลอด พอผู้นำสหรัฐฯ มีนโยบายไปในทิศทางไหน ผู้นำเกาหลีใต้ก็มักจะมีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น เช่น ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (โจ ไบเดน) แข็งกร้าวกับ คิม จองอึน จึงไม่แปลกที่ ยุน ซอกยอล จะแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือด้วย แต่ในสมัยที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ไปจับมือกับ คิม จองอึน ถึง 3 รอบ  เราก็เลยเห็นภาพประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไปจับมือกับคิม จองอึน ด้วย แต่นี่เป็นมิติหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่มิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทางด้านวัฒนธรรม เกาหลีใต้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ เพราะเขาเริ่ม ทำ Hallyu หรือ The Korean Wave ให้เป็นการทูตวัฒนธรรม เศรษฐกิจ Soft power ที่หวังผลในเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

ติ่งเกาหลี
ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

‘แนนซี เพโลซี’ ไม่ได้พบกับ ‘ยุน ซอกยอล’ เมื่อครั้งเดินทางไปยังกรุงโซล เบื้องหลังคืออะไร?

หากดูตาม Protocol จริง ๆ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องพบ โดย ตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คือประมุขของประเทศ คือ หัวหน้าคณะบริหาร ขณะที่ แนนซี เพโลซี เป็นประธานรัฐสภาสหรัฐ ไม่ได้เป็นระดับประมุขของรัฐ  ฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องพบกัน ถ้าจะให้เป็นธรรมเนียมการทูต ก็ควรจะเป็นคนในระดับเดียวกัน อย่างเช่น ประธานรัฐสภามาเจอกันจะเหมาะสมกว่า แต่ว่าแน่นอนในทางมารยาท เกาหลีใต้พึ่งพาทางด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ เป็นหลัก ทุกคนเลยคาดหวังว่าประธานาธิบดีของเกาหลีใต้จะต้องมาพบกับแนนซี เพโลซี  

แต่เมื่อนโยบายสหรัฐฯ แข็งกร้าวมากในเรื่องของจีน แต่การเดินทางของแนนซี เพโลซี ที่เยือนมาเลเซีย เยือนญี่ปุ่น เยือนเกาหลีใต้ เป็นเพียงแค่ฉากบังหน้า เอาเข้าจริงมีเรื่องอะไรที่คุยกับประเทศเหล่านั้น ไม่มีนะครับ มีแต่เรื่องที่จะแซะช่องแคบไต้หวัน แล้วใช้ประเทศเกาหลีใต้เป็นข้ออ้าง

ติ่งเกาหลี
แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

ความขัดแย้งของรัสเซีย – ยูเครน เกาหลีใต้วางตัวอย่างไร

เกาหลีใต้สูตรเดิม ตามแนวทางของสหรัฐฯ ยืนยันการเคารพอำนาจอธิปไตย เหนือดินแดน บูรณภาพแห่งดินแดน เขาไม่ได้ต้องการให้มีผู้รุกรานเข้ามา การประนามรัสเซีย จึงเป็นเรื่องที่เขาจะต้องทำ เพราะผลประโยชน์ของเกาหลีใต้อยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมากกว่าอยู่ที่รัสเซีย แต่แน่นอน ทำเลที่ตั้งรัสเซีย ไม่ได้อยู่ห่างไกลเกาหลีใต้มาก เราคงจะไม่ได้เห็นเกาหลีใต้สนับสนุนทางการทหาร หรือทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

จากการทูตของเกาหลีใต้…แล้วหากมองการทูตของไทย?

มองว่าประเทศไทยวางตัวเป็นสถานะ ไม่เลือกข้าง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย พยายามวางตำแหน่งของตัวเองให้สามารถมีอำนาจต่อรองได้ เล่นบทบาทนำในอาเซียน เป็นเอกลักษณ์การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นนโยบายของประเทศไทยมาโดยตลอด ในด้าน soft power เราก็พยายามในการที่จะสร้าง Friends of Thailand ผ่านการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด จุดยืนแบบนี้เป็นจุดยืนที่ดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่เลือกข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จะมีแต่ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

“ลองนึกภาพว่าประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ มี 193 ประเทศ ประเทศไทยเราไม่มีประเด็นร้อน หรือประเด็นขัดแย้งกับใครเลย แม้แต่ประเทศเดียว เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตในรูปแบบที่ดีกับทุกประเทศทั่วโลก สถานะนี้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ 193 ประเทศ เราอาจจะเคยมีประเด็นขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบีย แต่ในระยะเวลาไม่เกินครึ่งปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กระโดดกลับมาที่สถานะปกติได้”

หากเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่มีศัตรูทั่วโลก ถ้าหากมีผู้ก่อการร้ายที่จะจับตัวประกัน เขาก็เลือกคนถือพาสปอร์ตอเมริกาก่อน หรืออย่างกรณีสิงค์โปร์ที่ดูเป็น Trading Nation เป็นประเด็นทางการค้า แต่สิงคโปร์ก็อยู่ใน Watchlist ของรัสเซีย เพราะว่าเคยไปประณามเขา ในขณะที่ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเด็นกับเกาหลีเหนือ ในห้องเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าไปดูในเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การที่เรารอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาจากช่วงล่าอาณานิคมได้ เป็นเพราะเรื่องของการทูต เป็นพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 4 การเตือนภัยเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว ในวันเสด็จสวรรคต ท่านเตือนว่า ในการศึกทางด้านพม่าไม่มีอีกแล้ว ถ้าจะมีก็มีทางฝั่งฝรั่ง นั่นแปลว่าท่านเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และส่วนหนึ่งมาจากท่านค้าขายระหว่างประเทศมาโดยตลอด รัชกาลที่ 3 ค้าขายสำเภากับจีนมาโดยตลอด เห็นว่ามหาอำนาจจีนที่แข็งแกร่งยังแพ้ยุโรป แพ้อังกฤษ พอถึงสมัยของรัชกาลที่ 4 การปฏิวัติอุสาหกรรมของฝรั่ง เป็นแกนกลางที่ทำให้เกิดการล่าอาณานิคม เป็นเพราะว่าเขาต้องการค้าขาย ต้องการทรัพยากรธรรมชาติ ต้องการตลาด การทำสงครามต้นทุนสูงมาก ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือ การเรียกผู้สำเร็จราชการของประเทศอังกฤษที่ไปดูแลฮ่องกง ที่ไปเป็นหูเป็นตาให้ คนนั้นคือ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง แล้วเราก็อวยยศให้เขาเป็น พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ ใช้เขาเป็นล็อบบี้ยิสต์ในการที่จะคุยกับอังกฤษ

“คุยกันไม่ต้องรบ เราพร้อมที่จะเปิดตลาดให้คุณ พร้อมที่จะขายทรัพยากรให้คุณเท่าที่คุณอยากได้ งั้นเรามาค้าขายกันดีกว่า รบมันแพงเกินไป”

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทุกประเทศทั่วโลกที่ต้องการสินค้า ต้องการค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ทำสนธิสัญญาแบบนี้กับประเทศไทย แล้วก็ไม่มีใครต้องการจะยึดไทยเป็นสนามรบอีกต่อไป หลังจากนั้นเราก็ปฏิรูป รัชกาลที่ 5 จึงปฏิรูปเรื่องของคลองรังสิต เปิดพื้นที่ใหม่ ทำให้กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา นครนายก สระบุรี กลายเป็นพื้นที่เกษตร แล้วเราก็กลายเป็นประเทศที่ขายข้าวได้มากที่สุดในโลก และเราเริ่มสร้างสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ทางรถไฟ ถนนต่าง ๆ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เราต้องสร้างแนวคิดความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่มีจุดร่วมกัน เมื่อถึงจุดนี้ Nation state หรือความเป็นรัฐชาติของไทยก็ถูกสถาปนาเรียบร้อย โดยรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้โดยตลอด

ความสำคัญทางการทูตในทุกมิติ รวมถึงประโยชน์และสิ่งที่จะได้รับจากการทูต?

เวลาเราพูดถึงการทูต คงไม่ใช่แค่เรื่องของการทูต แต่ยังมีเรื่องของ force policy ด้วย การทูตอาจจะเป็นคำที่ไกลตัวจากทุกคน  เพราะน่าจะเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่อง force policy หรือ force affair ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงต่างประเทศคนเดียวแล้ว ทุกหน่วยงานราชการที่ติดต่อกับต่างประเทศ ทุกบริษัทที่ลงทุนการค้ากับต่างประเทศ ประเทศไทยที่กิน ใช้ เดินทาง ออกไปต่างประเทศ หรืออยู่ในประเทศไทยแต่ได้ต้อนรับชาวต่างชาติ เรื่องเหล่านี้ก็เป็น force policy และหากเราสามารถสร้างความประทับใจ ให้กับผู้คนต่างประเทศที่เขามองประเทศไทยเรา เราก็จะมี Friends of Thailand 

“ยิ่งเรามีความ Thainess ที่มีแกนกลางอยู่ที่ความใจดี ใจบุญ ใจกว้าง คุณสมบัติแบบนี้ ทำให้เราพร้อมที่จะมีความพร้อมในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเป็นอย่างดี เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดการทูตสาธารณะ”

หากเราอยากจะสร้างมิตรประเทศ อยากทำให้คนทั่วโลกรู้สึกเป็นมิตรกับคนไทย ไม่ได้มองคนไทยแล้วรู้สึกหวาดระแวง เราจึงต้องช่วยกัน แล้วเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องเหล่านี้

หลายประเทศมีความโดดเด่นในการวางยุทธศาสตร์ทางด้านการทูต อย่างเกาหลีใต้มีการทูตสาธารณะ ไทยสามารถเอามาปรับใช้หรือผลักดันได้บ้างไหม

“ถ้าจะให้เท่าเกาหลีใต้คงไม่ได้ เพราะเขาเริ่มต้นมานาน เขามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในขณะที่ประเทศไทย คนไทยยังไม่รู้เลยว่าจริง ๆ Soft power คืออะไร  เรายังสบสนกับคำว่า Soft power กับความภาคภูมิใจของชาติอยู่เลย”

Soft power คือการทำให้เขาอยู่ใต้อำนาจ และทำให้เขาอยากทำในสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำ โดยที่เราไม่ต้องใช้อาวุธ โดยที่เราไม่ต้องใช้ Hard power โดยที่ไม่ต้องไปบังคับเขา อย่างนี้ถึงเรียกว่า Soft power แต่ถ้าคุณภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม คุณก็โปรโมท โดยที่คุณไม่เคยตั้งคำถามว่าคุณโปรโมทไปแล้วได้อะไร? อย่างนี้คือ Soft เฉย ๆ แต่ไม่ได้เป็น power ทั้งโลกมีหลากหลายประเทศมาก และเราก็ไม่ได้มีทรัพยากรเยอะขนาดที่หว่านแหได้ ฉะนั้นเราต้อง segment ว่าเราจะทำเรื่องนี้กับตลาดแบบนี้ อย่างแดจังกึมของเกาหลีที่ดัง ๆ เขาก็ไม่ได้ขายทั่วโลก เขาดีไซน์มาเพื่อขายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีอีกเยอะมากในกระบวนการการสร้าง Soft power ที่จะต้องไปสร้างความรู้ สร้างความเข้าใจใหม่ ตัวอย่างคลาสสิกอย่าง ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ลิซ่าคือความภาคภูมิใจของชาติ เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อประเทศไทย ทำ music video ก็แต่งตัวใส่ความเป็นไทย เธอเป็นความภาคภูมิใจของชาติไทย แต่ลิซ่าคือ Soft power ของเกาหลีใต้

มิวสิกวิดีโอที่คนไทยดูกันเป็นล้าน ๆ วิว รายได้เกิดที่เกาหลีใต้ คนไทยชอบลิซ่ามาก ๆ ก็ต้องซื้อเสื้อ ซื้อแท่งไฟ ซื้อสินค้าออฟฟิเชียล  หรืออย่างกรณีของ แจ็คสัน หวัง ไม่ใช่ Soft power  ของฮ่องกงและไม่ใช่ของจีน เขาเป็นความภาคภูมิใจของจีนและฮ่องกง แต่เขาเป็น Soft power ของเกาหลีใต้ และเกาหลีใต้ก็ลงทุนกับเขาเยอะมาก การดีไซน์วงดนตรีให้มีคนจากหลากหลายประเทศ อนุญาตให้เขาเอาความเป็นชนชาติของเขา ความภาคภูมิใจของเชื้อชาติเขาใส่เข้ามา แน่นอนส่วนหนึ่งสร้างมิตรภาพให้กับเกาหลี แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือการขยายฐานลูกค้า แล้วไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้เขาออกแบบมาแล้วหรอ? ขายคนเกาหลี คนเกาหลีมีกี่ล้านคน แต่ถ้าขายคนจีนได้ คุณมีอีก 1,400 ล้านคน ขายคนไทยได้ คุณมีอีก 70 ล้านคน ถ้าหากเราอยากจะทำแบบนี้ อย่างแรกสุดเลย เราต้องเลิกหวงอัตลักษณ์

“อย่าอะไรก็ต้อง ไทย ไทย ไทย เรานำเสนอความเป็นไทย โดยไม่คิดเลยว่า ลูกค้า ต้องการความเป็นไทยแบบนั้นไหม หรือเขาอยากได้ความเป็นไทยที่ป๊อปมากขึ้น ความเป็นไทยที่กินง่าย ย่อยง่ายมากขึ้น แล้วเราเสนอในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ”

เราอาจจะต้องพูดถึงคำว่า เอกลักษณ์ มากกว่าคำว่า อัตลักษณ์ เอกลักษณ์คือลักษณะร่วมของคนที่อยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน เราอาจไม่ได้พูดถึงไทยแท้ อาจจะพูดถึงความเป็นไทยในเวทีสากลที่ทั่วโลก Recognize หรือจดจำได้ อยากจะเข้ามากิน เข้ามาใช้ มาเป็น Friends of Thailand สนับสนุนการดำเนินนโยบายของเรา อยากจะเข้ามาทำงานที่ประเทศเรา มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล) ก็เป็นความภาคภูมิใจของชาติเช่นกัน เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่สามารถขึ้นเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกได้ และพยายามเอาความเป็นไทยเข้าไปและเป็นความเป็นไทยร่วมสมัยอย่างข้าวเหนียวมะม่วง การเต้นท่าออกกำลังกายในโรงเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ดีมาก แต่ว่าไม่ใช่ Soft power  นั่นคือปรากฏการณ์ที่คนแว๊บขึ้นมาว่ามีเรื่องแบบนี้ คนอาจจะสนใจอยู่สัก 3-4 วัน  แล้วก็จบ การจะมี Soft power ได้จะต้องมียุทธศาสตร์ การจะมียุทธศาสตร์ได้ ต้องชัดว่าอะไรคือเป้าหมาย เราต้องการอะไรกันแน่ วิธีการดำเนินยุทธศาสตร์ ขั้นตอนเรียงลำดับ 1-2-3-4-5 

“หากจะมีนักร้องคนนึงดัง แล้วไปกินข้าวเหนียวมะม่วง แล้วบอกว่านี่คือ Soft power ก็คงไม่ใช่”

เครื่องมือแบบไหน ช่วงเวลาไหนทำอะไร ใครเป็นคนทำ งบประมาณ การทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือความรู้เรื่อง Soft power เกาหลีเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 กลายเป็น Hallyu 2.0 korean wave เขาทำอย่างต่อเนื่อง เขามีระบบ เป้าหมายชัดเจน ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้

หากมองการผลักดัน ควรเริ่มอย่างไร

เริ่มจากทุกคนได้ อะไร อะไร ก็อย่าให้รัฐบาลทำเลย รัฐบาลก็เหนื่อยเหมือนกัน เราช่วย ๆ กันคิด ช่วย ๆ กันทำ แน่นอนแต่ละบริษัทก็มีเป้าหมายทางธุรกิจ ทำให้เป้าหมายนั้นเป็น Responsible Business Practices หรือการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบด้านหนึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าให้เกี่ยวข้องกับความภาคภูมิใจของชาติ และเอาความภาคภูมิใจของชาตินั้นมาทำเป็น Soft power บริษัทก็ได้กำไรด้วย อย่างนี้จะเริ่มยั่งยืน เพราะถ้าเกิดว่าคุณหวังพึ่งรัฐอย่างเดียว ปีงบประมาณหมดเดือนกันยายน ซึ่งเราไม่รู้ว่างบประมาณปีหน้าจะต่อเนื่องหรือเปล่า?

ติ่งเกาหลี

รศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับหนัง ละคร เพลงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน แต่เป็นนโยบายอันแยบยลของรัฐบาลผ่านการวางแผนและค่อย ๆ บ่มสร้างมาเนิ่นนาน แล้วไทยจะมีบทบาทและภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติอย่างเกาหลีใต้ได้อย่างไร?


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์