โลกหมุนไว ใจพัง! ท้าทาย ‘นักจิตวิทยา’ สร้างนวัตกรรม…’พยุงใจ’

หลายคนคงมีคำถามกับตัวเองว่า “เราเกิดมาทำไม” หรือ อาจจะมีอีกหลายคำถามที่ไม่สามารถตอบตัวเองได้ ส่วนหนึ่งมาจากโลกที่หมุนเร็ว ระบบสังคมที่ไม่เอื้อให้เราคิดใคร่ครวญกับตัวเองมากพอ…

หนักที่สุดบางคนไม่สามารถหาทางออก หรือ แก้ปัญหาให้กับชีวิตได้ ทางเลือกสุดท้ายของคนสิ้นหวังมักจบลงด้วยการจบชีวิตตัวเอง เพราะมองไม่เห็น “คุณค่าในตัวเอง” เพราะตอบไม่ได้ว่า จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เพื่ออะไร ?

โลกที่ผุพัง เทคโนโลยีที่หมุนเร็ว และแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดันมาพร้อมกับ ผู้ช่วยพยุงใจ ที่อ่อนกำลัง บุคลากรทางการแพทย์ นักจิตวิทยา ที่พอจะเป็นกำลังสำคัญช่วยกอบกู้ เยียวยาจิตใจมนุษย์กลับมีไม่เพียงพอ ตอบสนองไม่ทันต่อความต้องการของผู้คนที่เต็มไปด้วยความทุกข์ และปัญหา การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจตัวเอง หรือ การมีนวัตกรรมทางจิตวิทยา จึงเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนโลกใบนี้

องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาควรเป็นศาสตร์พื้นฐานที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ‘นักจิตวิทยา’ แต่ควรสอดแทรกอยู่ในผู้คนทุกแวดวงทุกอาชีพ หรือ อีกนัยหนึ่ง นักจิตวิทยา ควรทำงานข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกับแขนงวิชาอื่น พยุงให้มนุษย์มีภูมิคุ้มกัน ในยุคที่โลกกำลังผุพัง และท้าทายความอยู่รอดด้านจิตใจของผู้คน

นั่นคือบทสรุปบางส่วนจากความเห็นของ นักคิด-นักเขียน และนักวิชาการด้านจิตวิทยา ที่เห็นตรงกันว่า บทบาทของ นักจิตวิทยา ในโลกยุคใหม่ได้เปลี่ยนไป การสร้างนวัตกรรมเชิงจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมทางความคิด ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในโลกที่กำลังหมุนเร็ว

The Active ชวนตกผลึกเนื้อหาสำคัญจากงานประชุมวิชาการเชิงจิตวิทยานานาชาติ ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในเวทีเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมทางจิตวิทยา เพื่อสุขภาวะ : การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และโอกาส”

“จิตวิทยา ควรเป็นความรู้พื้นฐานในการทำความเข้าใจมนุษย์ และควรมีอยู่ในทุกศาสตร์ ในโลกที่เทคโนโลยี ช่วยทำให้ง่ายขึ้น ผู้คนจะกระทำต่อกัน จะบาดเจ็บทางจิตใจลึกมากขึ้น บทบาทของนักจิตวิทยาจึงท้าทายมากขึ้น ผมไม่มีกำลังใจให้ แค่อยากจะบอกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีคุณค่ามากจริง ๆ”

เปิดบทสนทนาโดยเริ่มที่ความท้าทายของนักจิตวิทยาในยุคนี้ ผ่านมุมมองของ เอ๋ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา นิ้วกลม ครีเอทีฟโฆษณา ผู้กำกับ นักเขียน พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ Podcast “ความสุขโดยสังเขป” ชวนตั้งคำถามกับชีวิต ว่า “เราเกิดมาทำไม เข้าใจตัวเองแค่ไหน ?” ในสังคมที่ต้องเร่งสร้างกำไร ตักตวงประโยชน์จากมนุษย์ด้วยกันเอง และเมื่อถามลงไปถึงรากลึกกว่านั้น คือสถาบันการศึกษาที่มุ่งสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวภายนอก มากกว่าความเข้าใจภายในจิตใจของตัวเอง

คุณเอ๋ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)

“ผมเชื่อว่าคนไทย 70 ล้านคน มีคนที่เข้าใจตัวเองเกิน 5 คะแนน ไม่ถึง 1 ล้านคน เพราะไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจตัวเอง จะโทษตัวเองก็ไม่ถูก แต่ต้องโทษระบบสังคมทั้งหมด ที่ไม่เอื้อให้เราเข้าใจตัวเอง ระบบการศึกษาไม่เอื้อ ให้เราเข้าใจตัวเอง มีสักกี่สถาบันที่สอนให้เราทบทวน ใคร่ครวญตัวเอง มีคุณครูกี่คนที่เปิดพื้นที่รับฟังความทุกข์ บาดแผลในใจ เด็กถูกสอนให้เรียนรู้แต่เรื่องภายนอก แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ความสุขในใจฉัน คืออะไร ?”

“ระบบสังคมไม่เอื้อ ไม่มีใครพร้อมจะทำความเข้าใจกัน เรามองคนเป็น ทรัพยากรมนุษย์ คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จาก มนุษย์ ด้วยกันได้มากที่สุด”

“เทคโนโลยีก็ไม่เอื้อ ทำให้เราต้องอวดแต่ด้านสว่าง มากกว่าการทำให้เกิดบทสนทนาที่จริงใจต่อกัน แท้จริง ความเข้าใจตัวเอง คือ เข้าใจทั้งด้านมืด และด้านสว่างของตัวเอง”

นิ้วกลม อธิบาย

ลงทุนกับชีวิตเพื่อ ‘เงิน’ – ‘ชื่อเสียง’
แต่ ‘ความสุข’ เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี คือ ‘การรับฟัง’

สอดคล้องกับ อ.เอเชีย – สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา และผู้อำนวยการร่วมโครงการวิถีพัฒนาจิต สสส. มองว่า คนยุคปัจจุบันตั้งใจลงทุนเพื่อเงิน และการสร้างชื่อเสียง แต่แท้ที่จริงแล้วความสุขไม่ได้มาจากทั้ง 2 ปัจจัย แต่ความสุขมาจากคำว่า ‘ความสัมพันธ์คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดี คือ คนที่มีความสุข

นวัตกรรมชิ้นแรก คือ การกลับไปดูเรื่องความสัมพันธ์ สิ่งนี้คือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ผู้คน 70 ล้านคนในประเทศไทย หรือมวลมนุษยชาติ 7,000 ล้านคนทั่วโลก ได้หวนกลับมาดูแลเรื่อ ความสัมพันธ์ มากขึ้น

ยกตัวอย่างคนสูงวัย ที่มีความสุขในหลายประเทศทั่วโลกในเขต Blue zone คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่อาหารดี แต่มีเพื่อนที่เดินไปด้วยกันได้ งานวิจัยชี้ชัดว่า คนที่อายุยืนจะมีอวัยะ 3 ส่วนที่แข็งแรง คือ “หัวใจ, ปอด, และกล้ามเนื้อ” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า “กล้ามเนื้อต้นขาที่ดีจะทำให้เราเดินไปหาเพื่อนได้ และมีความสุข”

“เพื่อนในที่นี่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเราทุกอย่างเหมือน AI แต่เราต้องการคนที่เข้าใจ สามารถเห็นต่างกับเราได้ต่างหาก การรับฟัง จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญทำให้เราเกิดเพื่อน และสิ่งนี้ถือว่าเป็น ‘นวัตกรรมทางความคิดเชิงจิตวิทยา’ ที่ทำให้สังคมไทยเกิดการรับฟังกันมากขึ้น”

อ.เอเชีย ขยายความ
อ.เอเชีย – สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา
และผู้อำนวยการร่วมโครงการวิถีพัฒนาจิต สสส.

ส่วนความเครียดจนเป็นเหตุผลให้ผู้คนไม่มีทางออกจนต้องเลือกจบชีวิตตัวเองนั้น อ.เอเชีย เชื่อว่า เพราะเขารู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง

“คนที่รู้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร มันจะทนอะไรก็ได้…” การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย จึงเป็นคีย์สำคัญ โดยมีหลายโครงการที่เน้นการฝึกจิตอาสา เพื่อให้คนที่มาลองทำงาน ‘อาสา’ ได้เข้าใจความหมายของชีวิต ได้อยู่เพื่อช่วยเหลือคนอื่น และมีความหวังว่า วันหนึ่งสังคมจะดีไปด้วยกัน ซึ่งเป็น นวัตกรรมทางความคิดสำคัญ ที่ช่วยลดความสูญเสียจากภาวะซึมเศร้า สิ้นหวังได้

การทำงานด้านการให้ความรู้พื้นฐานในลักษณะแบบนี้ จึงจำเป็นที่นักจิตวิทยา จะต้องทำงานเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรม ที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ทันสถานการณ์ อ.เอเชีย ยังอ้างถึง Thomas Kuhn (นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน) ที่เคยบอกว่า นวัตกรรม คือ สิ่งที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) เกิดจาก คนที่ทำงานข้ามศาสตร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

“ผมเชื่อว่า โลกนี้ไม่ได้ขาดแคลน และไม่คิดว่าเงินเป็นปัจจัยจำกัด เงินไม่เคยขาด เราขาดแค่ไอเดีย และทีมงานของหลายบริษัท ขาด นักจิตวิทยา… ส่วนใหญ่คนเลือก ลงทุนเพื่อ เงิน และ ชื่อเสียง แต่แท้ที่จริงแล้ว ความสุขไม่ได้มาจากทั้ง 2 อย่าง แต่ความสุขมาจาก ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ และพื้นฐานสำคัญความสัมพันธ์ที่ดี คือ การรับฟัง

Thomas Kuhn บอกว่า นวัตกรรม จะสามารถเปลี่ยน กระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ได้ นักจิตวิทยาจึงต้องทำงานหนักขึ้น และ ‘ข้ามศาสตร์’ เพื่อให้เกิด ‘นวัตกรรม’ โดยใช้ ‘การฟัง’ อาวุธสำคัญ คิดใหญ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

อ.เอเชีย ให้รายละเอียด

‘Chat bot จับใจ’ ใช้ นวัตกรรมพยุงใจ ในโลกที่หมุนเร็ว เสี่ยงใจพัง

อ.ดาว – พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก สาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ Chief Psychological Researcher ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย ผู้พัฒนา ‘แชทบอทจับใจ’ มองในฐานะนักจิตวิทยา ว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพจิตมีความเหลื่อมล้ำสูง ประชาชนเข้าไม่ถึงการให้บริการ หลายครั้งที่กว่าจะพบกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาก็สายเกินไป

เช่น การสอนจิตวิทยาคลีนิกของ ม.มหิดล พบว่า ภายใน 1 ปี สามารถสร้างนักจิตวิทยาคลีนิกได้เพียง 100 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่การบำบัดคนไข้ใช้เวลาอย่างเร็วสุด 2-3 เดือน สะท้อนว่า การดูแลไม่ทันต่อความต้องการ จึงมีข้อเสนอ ว่า ในระยะสั้น ต้องเน้นการ สร้าง มากกว่า ซ่อม โดยการให้ความรู้การดูแลตัวเองเบื้องต้น ผลิตเครื่องมือ คนที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าถึงได้ทันที ระยะยาวค่อยสร้างความเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันใจให้เรื่องจิตวิทยาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ในอนาคต

อ.ดาว – พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลีนิก สาขาจิตวิทยาคลินิก
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ Chief Psychological Researcher ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย ผู้พัฒนาแชทบอทจับใจ

อ.ดาว ยังให้ความหมายของคำว่า ‘นวัตกรรมสุขภาพจิต’ ว่า เป็นวิธีคิดการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ รูปธรรมหนึ่งคือ เทคโนโลยี บางอย่างที่เข้ามาสร้างเสริม สุขภาพจิต เช่น แชทบอทด้านสุขภาพจิต การทำงานด้านนวัตกรรมที่ดี ควรทำงานกันอย่างข้ามศาสตร์ เช่น Chat bot จับใจ ที่มีผู้ใช้สูงถึง 2 แสนคน มีคนร่วมทำจากหลายศาสตร์ เป็นความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

นวัตกรรม Chat bot จับใจ มีจุดเริ่มมาจากความรู้สึกว่าทำงานเหนื่อย ทำงานทั้งวันดูได้แค่ 6 เคส เมื่อยอมรับแล้ว เราก็ต้องมีความกล้าทำ และพร้อมที่จะรื้อทิ้ง เริ่มใหม่ พร้อมที่จะล้มเหลว และรับฟังคำวิจารณ์ อ.ดาว ยังบอกว่า กว่าจะสร้างนวัตกรรมได้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสายวิชาการอย่างนักจิตวิทยา จะเน้นงานวิจัย ความละเอียดอ่อน อาจทำให้ช้าและไม่เกิดสิ่งใหม่ แต่การทำงานร่วมกันนวัตกรรมสายเทคโนโลยี จะเน้นการลงมือทำทันที ทำให้เกิดนวัตกรรมได้เร็วขึ้น หัวใจสำคัญคือ ทำไปก่อนแล้วเราสามารถแก้ไข ปรับปรุงระหว่างทางได้ เพื่อให้นวัตกรรมเกิดขึ้นจริง

ผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปคุยกับแชทบอทจับใจ ได้ทางไลน์ @psyjaibot “เป็นนวัตกรรมเน้นที่คนใช้งานแล้วได้ประโยชน์” มีตั้งแต่การ ประเมินภาวะสุขภาพจิต และให้การดูแลประคับประคองตามหลักจิตวิทยา

อ.ดาว เชื่อว่า จิตวิทยาทำให้เข้าใจพฤติกรรมของคน ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในวงจิตวิทยา รู้สึกดีใจ เมื่อได้ยินว่า ลูกศิษย์ ไม่ได้ได้ทำงานเป็น ‘นักจิตวิทยาคลินิก’ แต่ทำอย่างอื่นที่ทำให้ศาสตร์นี้ได้ถูกกระจายไปในแวดวงอื่น ๆ 

“จิตวิทยาไม่ควรอยู่ในวงแคบ สิ่งที่เราภูมิใจไม่ใช่การได้รับรางวัลจากการทำ ‘Chat bot’ แต่ภูมิใจเมื่อเขาประกาศ ว่า รางวัลนี้ มีนักจิตวิทยาร่วมสร้าง ทำให้ “ศาสตร์ของจิตวิทยา” เป็นที่รู้จัก ได้แก้ปัญหา และดูแลผู้คน แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ เราต้องไม่ลืมกลับมาดูแลใจของตัวเองให้เข้มแข็งก่อนจะช่วยผู้อื่นเสมอ”

อ.ดาว เน้นย้ำ

AI โจทย์ท้าทาย ‘นักจิตวิทยา’

นิ้วกลม ยังฝากความคาดหวังไปถึง บทบาทของนักจิตวิทยาที่ควรเป็นนักจิตวิทยาให้น้อยลง แต่เป็นอย่างอื่นให้มากขึ้น รวมถึงคนที่เรียนคณะอื่น ๆ ให้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเรียนให้น้อยลง เพื่อขีดเส้นแบ่งไม่ให้เชี่ยวชาญบางสาขามากจนเกินไป และ จิตวิทยา ควรจะเป็นความรู้พื้นฐานในการทำความเข้าใจมนุษย์ ที่ควรมีอยู่ในทุกศาสตร์ เพราะโลกอนาคต ผู้คนจะกระทำต่อกัน ในโลกที่ เทคโนโลยี ช่วยทำให้ง่ายขึ้น คนจะบาดเจ็บทางจิตใจลึกมากขึ้น บทบาทของนักจิตวิทยาจึงท้าทายมากขึ้น

อย่างการเข้ามาของเทคโนโลยีที่กระทบมนุษย์มากขึ้น เช่น การเอาใบหน้าคน ไปแปะในคนอื่น, คนที่เลิกกันและเอาหน้าแฟนไปแปะลงบนนางแบบหนังโป๊ แม้สุดท้ายจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวจริง แต่บาดแผลในใจยังคงอยู่

“เราจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ เช่น การจะทำอย่างไรให้เรามีวิธีการใหม่ ๆ ที่จะเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านจิตวิทยา ความเข้าใจตัวเองผ่านทุกศาสตร์ คุณครูเองก็สามารถเป็นนักจิตวิทยาในบทบาทหน้าที่ของตัวเองได้ ส่วนตัว มองว่า ทุกอาชีพร่วมสร้างนวัตกรรมทางจิตวิทยาได้ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจกลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของนักจิตวิทยา เพราะ AI ถูกดีไซน์มาให้รับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ทำร้าย ไม่ว่าคนที่คุยด้วยจะมีความรู้แค่ไหนก็ตาม”

บทบาทสำคัญของนักจิตวิทยา คือ การทำให้ผู้คนมีความรู้มากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น และทำให้ AI รับฟังได้มากขึ้น ผมไม่มีกำลังใจให้ แต่แค่อยากจะบอกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีคุณค่ามากจริง ๆ”

นิ้วกลม ฝากความเห็นทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน