ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการขยายอิทธิพลของทุนจีน สินค้าราคาถูกทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยจำนวนมหาศาล ทั้งของใช้ในครัวเรือน อย่าง ทิชชู่ 1 บาท ไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ EV
ปรากฏการณ์นี้ชวนสั่นคลอน และสร้างความหวาดระแวงให้กับผู้ประกอบการและสภาพเศรษฐกิจไทยทั้งรายใหญ่ รายย่อย แต่จะสภาพเศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไร และถึงเวลาหรือยังที่รัฐไทยต้องวางนโยบายใหม่
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ปูพื้นให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงถึงความสัมพันธ์การค้าไทยจีน ว่า มีความจริง 5 ประการต้องรู้ก่อน ได้แก่
- ช่วงปี ค.ศ. 2001 จีนเข้าสู่ WTO จีนเริ่มเปิดประเทศในยุคสมัยของ เติ้ง เสี่ยวผิง โดยมีเป้าหมายคือการเชื่อมโลก จีนเริ่มผลิตได้มากขึ้นและเกินดุลการค้ากับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
- GDP Growth ของจีนผ่านช่วงเติบโตสูงสุดมาแล้วในปี ค.ศ. 1988-2007 โดยสูงถึง 14% จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 ก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังถือว่าเติบโตอยู่
- หลังสถานการณ์โควิด สินค้าคงเหลือ (สินค้าค้างสต๊อก) ของจีนคงเหลือแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
- จีนขาดดุลทางการค้าแบบก้าวกระโดดกับ 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดมีอัตราเร่งสูงมากขึ้น โดย “ไทย” คือประเทศที่มีอัตราเร่งสูงสุด
- FTA (เขตการค้าเสรี) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามา แต่ต่อให้ไม่มี สินค้าจีนก็มีราคาต่ำกว่าสินค้าไทยมากอยู่ดี
หากดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน สินค้าจีนกินตลาดในประเทศไทยสูงมาก ครอบคลุมสินค้าในชีวิตประจำวันแทบทั้งหมด โดยในปี 2566 ไทยนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศจีนสูงที่สุดถึง 43.3% รองลงมาคือ ผลไม้ 10% เสื้อผ้า 9.3% ของใช้ในบ้าน 9.1% และของใช้ในครัว 9% และเมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าแล้ว สินค้าจีนถูกกว่าไทยแทบทั้งหมด
พัฒนาการค้า ไทย -จีน
วีระยุทธ ยังลงรายละเอียดว่า หากจะเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ต้องเข้าใจเส้นทางการค้าไทย-จีนเสียก่อน โดยจากการวิเคราะห์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 เฟส ดังนี้
เฟสที่ 1 จีนกลับมาเชื่อมโลก (ค.ศ. 1999 – 2010)
ในช่วงเวลานี้เองที่จีนเริ่มรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีน โดยเฉพาะในสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และอิเล็กทรอกนิกส์
เฟสที่ 2 จีนเป็นโรงงานโลก (ค.ศ. 2011 – 2018)
จีนขยายฐานการผลิตจนกลายเป็นโรงงานโลก ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้น 3-4% ของ GDP/ปี มีการขาดดุลของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นกว่าในเฟสแรก และเริ่มมีการนำเข้าเครื่องจักรจากจีนแทนที่จะมาจากญี่ปุ่นเหมือนในอดีต
เฟสที่ 3 เข้าสู่สงครามการค้า (ตั้งแต่ ค.ศ. 2018)
ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 6-7% ของ GDP/ปี สินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ พลาสติกเข้าสู่ภาวะขาดดุล (ทั้งที่ในอดีตไทยเคยดีกว่าจีนมาก) โดยจีนเน้นการส่งออกและเข้ามาแข่งขันธุรกิจกับไทยโดยตรง ยังคงเหลือไว้เพียงสินค้าทางการเกษตร (ทุเรียน) ที่เกินดุลการค้า แต่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นสินค้าที่มาจากผู้ค้าชาวไทยจริง ๆ หรือเพียงแค่ผ่านจากดินแดนไทยเท่านั้น
โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมชี้ว่า อีก 1 ปีข้างหน้า จะมี 25 อุตสาหกรรม (จาก 46 อุตสาหกรรม) ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีราคาตกต่ำ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์, หัตกรรมสร้างสรรค์, อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, สิ่งทอ, ปูนซีเมนต์, เยื่อ และกระดาษ เป็นต้น นำมาสู่ที่สินค้าไทยจะถูกแทนที่ด้วยสินค้าจากจีน ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานและผู้ประกอบการ SMEs มีโอกาสเกิดหนี้เสีย และยังเกิด zombie firms ด้วย
“สถานการณ์ตอนนี้ แม้เราจะขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังเกินดุลการค้ากับประเทศอื่นอยู่ แต่ถ้าไทยยังขาดดุลการค้ากับจีนไปเรื่อย ๆ มันจะเกิน overall ของไทยกับโลก และใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะเกิดภาวะขาดดุลการค้าในที่สุด และส่งผลต่อค่าเงินที่อ่อนลงของไทยไปโดยปริยาย”
วีระยุทธกาญจน์ชูฉัตร
สอดคล้องกับ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเสริมว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยตอนนี้มีการพึ่งพาจีนสูงมาก และเหตุที่สินค้าจีนทะลักเข้าไทยจำนวนมาก มีผลมาจาก GDP ของจีนเติบโตน้อยลง ทำให้มีสินค้าคงเหลือค้างสต๊อกเหลือเยอะขึ้น การกระจายสินค้าออกนอกประเทศจึงเป็นความจำเป็นในการหาตลาดมารองรับ
แต่คำถามสำคัญคือจะถอนตัวได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเองยังมีกรณีศึกษาเช่นนี้น้อย
“ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีแต่เครื่องมือที่รัฐใหญ่ใช้ต่อรองกับรัฐใหญ่ด้วยกัน ไม่ใช่รัฐเล็กต่อรองกับรัฐใหญ่ โจทย์สำคัญของไทยตอนนี้คือ ต่อให้เราขึ้นภาษีสินค้า หรือมีการตั้งมาตรฐานการนำเข้าเหมือนยุโรป เราก็อาจจะไม่สามารถต่อรองกับประเทศขนาดใหญ่ได้อยู่ดี”
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
“จีนมีเป้าหมายว่า อีก 10 ปีต่อจากนี้ จะต้องมีการเติบโตให้ได้อย่างน้อยปีละ 5% แต่น่าจะเป็นไปได้ยาก นั่นหมายถึง รัฐจีนที่เป็นทุนนิยมจะไม่สามารถทำตามแผนที่ตัวเองวางไว้ได้ รวมถึงการถดถอยของอสังหาริมทรัพย์ในจีน และส่งผลต่อรายได้ของคนในประเทศในอนาคต”
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
ตอนนี้ รัฐจีนมีการสนับสนุน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียม และพลังงานลมและแสงอาทิตย์ สิ่งนี้ส่งผลให้จีนมีการเติบโตด้านการผลิต แต่สิ่งที่ไม่สอดคล้อง คือ เมื่อ GDP ลดลง คนก็มีหนี้อสังหาริมทรัพย์เยอะขึ้น และกลายเป็นว่าไม่มีกำลังซื้อในประเทศ
“เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดูว่า มาตรการของรัฐจีนเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคของจีนได้หรือไม่ หากทำได้ จะทำให้สินค้าจีนทะลุมายังประเทศอื่นลดลง และตอนนี้ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่หากนโยบายนี้ทำได้แต่เพียงกระตุ้นเพียงการผลิต แต่ไม่ได้กระตุ้นการบริโภค สุดท้ายสินค้าจากจีนก็ทะลักไปสู่ประเทศอื่นอยู่ดี”
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ สรุปความเห็น
รถ EV จีน กำลังทำลายฉายา ‘ดีทรอยด์แห่งเอเชีย’ ของไทย ?
ขณะที่ เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงรถอีวีจากจีนที่กำลังทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้านี้สอดรับกับเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่มุ่งสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และนี่เองอาจเป็นยุทธศาสตร์ของจีนที่วางไว้
“ก่อนหน้านี้ บ้านเราแทบไม่รู้จักรถจากจีนเลย จนกระทั่งการมาถึงของรถยี่ห้อเอ็มจี (MG) เมื่อ 10 ปีก่อน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องกลไกภาษีอีกต่อไป แต่นี่คือเทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จากน้ำมันสู่พลังงานไฟฟ้า และจะมีผลต่อการผลิตเทคโนโลยีโลกด้วย”
เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์
เกรียงศักดิ์ ยังเสริมว่า การเข้ามาของรถ EV จีนจำนวนมากเช่นนี้ สอดคล้องกับความต้องการรถที่เป็นพลังงานสะอาดของโลก ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้ไทยถูกลดบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก หรือสูญเสียการเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ หรือไม่ ? อย่างไรก็ตาม วันนี้ไทยยังคงมีฐานการผลิตรถยนต์อยู่ในอันดับ 10 ของโลก ที่ไม่ใช่แค่การผลิตในประเทศแต่รวมถึงการส่งออก
“ไทยประสบความสำเร็จในการดึงผู้ประกอบการมาลงทุนในบ้านเรามาก ตอนนี้ เราเห็นรถจากจีนมาลงทุนในบ้านเราแล้วอย่างน้อย 7 ค่าย และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต อย่างน้อยก็ชี้ชัดว่า เรายังไม่สูญเสียความเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชีย แน่นอน แต่ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง เพราะจีนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเนื่องมาจากปัญหา geopolitic ในตลาดโลก”
เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ยังย้ำอีกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นความภูมิใจของทุกประเทศในโลก และไม่ใช่แค่เท่านั้น ที่อยากจะเป็น ‘ดีทรอยด์แห่งเอเชีย’ แต่รวมถึงหลาย ๆ ประเทศเพื่อนบ้านด้วย นี่จึงเป็นสิ่งท้าทายและมีการบ้านที่ประเทศไทยต้องทำต่ออีกมาก แต่ยังยืนยันว่าเรายังอยู่ในกระแสและมีกำลังผลิตได้สูงถึง 5-7 แสนคัน/ปี ตามเป้าหมาย
เปิด 6 โมเดล ควบคุมสินค้าจีนทะลักไทย!
ในเมื่อสินค้าจีนทะลักเข้าไทย สร้างความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจให้ประเทศไม่น้อย การพยายามเสนอทางออกเพื่อแก้วิกฤตนี้จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้เปิดข้อมูลของคณะกรรมการพิจารณาเศรษฐกิจ ที่แนะนำ 6 โมเดลเพื่อแก้ปัญหาคลื่นสินค้านำเข้าจากจีน โดยเรียงลำดับจากระดับแรงที่สุดไปสู่ระดับเบาที่สุด โดยแต่ละวิธีมีความเป็นไปได้ต่างกัน ดังนี้
โมเดล 1 Current Measures
เมื่อ 3 ก.ย. 67 รัฐบาลไทยเสนอ 5 มาตรการสกัดสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ได้แก่
- ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการกค้าในอนาคต
- เก็บภาษีออนไลน์ผู้ขายสินค้าจากต่างประเทศ และ platform การขายของออนไลน์ต้องจดทะเบียน VAT
- ช่วยเหลือ ส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรมแก่ SMEs เพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce
- เพิ่มประเทศคู่ค้า
- ให้ไทยไปแข่งขันกับโลก
โมเดล 2 Level Playing Field – ใช้กฎหมายแข่งขันสร้างกติกาใหม่
เป็นการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในการตรวจสอบ nominee ให้เข้มข้นขึ้น เพราะตอนนี้ มีผู้ค้าจากจีนล้นทะลัก ไม่ว่าจะเป็นล้งจากจีนที่กว้านซื้อสินค้าทางการเกษตร ทุนจีนบุกตลาดอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้ว ไทยมีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมอยู่
หนึ่งในนั้น คือ “มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD)” นั่นคือ หากมีกรณีที่ผู้ค้าเข้ามาในตลาดและขายสินค้าในราคาที่ถูกมาก ๆ เพื่อตัดราคาผู้ค้าในตลาดเดิมจนผู้ค้ารายเก่าตายไป จากนั้นเมื่อได้ครองตลาดแล้วก็ฉวยโอกาสขึ้นราคา กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งผิดมาตรฐานขององค์การการค้าโลกด้วย ซึ่งกฎระเบียบข้อนี้ต้องดูแลรับผิดชอบโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายภาครัฐจึงควรไฟเขียวเรื่องนี้ด้วย
โมเดล 3 Proactive Screening – ตรวจมาตรฐานเชิงรุก เพิ่มอำนาจ มอก. ควบคุมมาตรฐาน
ที่ผ่านมา การสุ่มตรวจสอบมารตฐานสินค้านำเข้ามีความหย่อนยาน จึงควรตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าให้มีมาตรฐานเดียวกับสินค้าไทย เพิ่มอำนาจ กำลังคน และความถี่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง
ปัจจุบัน มอก.สามารถตรวจสอบสินค้านำเข้าตามมารตฐานได้ 144 มาตรฐานเท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมสินค้านำเข้าในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากจีน เช่น เครื่องสำอางปนเปื้อนสารเคมี น้ำยาล้างไตปลอม หรือแม้แต่พาวเวอร์แบงค์ที่สอดไส้ด้วยทราย
โมเดล 4 Pawut’s Solutions
คือการมี one-stop service กำกับดูแล หรือศูนย์ร้องเรียนส่วนกลางแบบ Traffy Fondue เพื่อการตรวจสอบสินค้าจากจีน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าแก้ปัญหา ชี้ให้ชัดว่าใครรับผิดชอบ มีศูนย์เฉพาะกิจหรือตั้ง war room เพื่อตรวจสอบโดยเฉพาะ
โมเดล 5 China Rules – จีนทำอย่างไร ไทยทำอย่างนั้น (ตาต่อตา ฟันต่อฟัน)
ตอนนี้ จีนใช้ AI ในการตรวจสอบการขายของแบบ e-commerce และ ต้องมีการยืนยันตัวตนผู้ขาย หากพบการผิดปกติจะแบนทันที แต่ข้อจำกัดคือ ความรู้และเทคโนโลยี AI ในไทยจะน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่
โมเดล 6 Indonesia Model – ช่วยธุรกิจภายใน โดยมีอินโดนิเซียเป็นแบบ
กรณีของ อินโดนีเซีย มีนโยบายชัดเจนว่าต้องการช่วยผู้ประกอบการในประเทศตนเอง เช่น การไม่อนุญาตให้ TikTok เข้ามาทำการค้าในประเทศทางตรงแต่ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น
สำหรับโมเดลนี้เสนอให้มีมาตรการ
- ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในบางรายการ สูงสุด 200%
- ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องขึ้นทะเบียนกับท้องถิ่น ห้ามขายสินค้า House Brand ห้ามเชื่อมโยงข้อมูลไปแพลตฟอร์มอื่นเพื่อไม่ให้ตัดราคา
- ห้ามผู้ใช้บริการ E-commerceใช้ระบบชำระเงินเข้าในแพลตฟอร์มตัวเอง (แบน TikTok Shop)
- มีมาตรฐานการปฏิบัติ คือ ต้องระบุแหล่งกำเนิดสินค้า ต้องใช้ภาษาอินโดนีเซียในการอธิบายสินค้า
ทั้ง 6 โมเดลนั้น ตอนนี้รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในโมเดล 1 ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการชี้วัดว่าวิธีดังกล่าวจะกู้วิกฤตนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่โมเดลที่เหลือยังคงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และอาจเป็นทางออกที่ทำให้ดุลการค้าของประเทศไทยกลับมายืนหยัดเหนือจีนได้อีกครั้งก็เป็นได้
มุมมองและข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในที่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา “20 Years Thailand ประเทศไทยในรอบ 20 ปี” ในหัวข้อ “ทิชชู่ 1 บาท หมาล่า และรถอีวี” ปัญหาเศรษฐกิจไทยใต้อำนาจทุนจีน ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้