แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เป็นนายกฯ หญิง คนที่ 2 ของประเทศไทย ถ้าย้อนดูรายชื่อจะพบว่า นายกฯ แพทองธาร มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และติดอันดับนายกฯ หญิงอายุน้อยที่สุดในโลก
เวลานี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่ามีอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่มีผู้นำประเทศอายุน้อย สะท้อนถึงการขึ้นมามีบทบาทนำของกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y มากขึ้น และหลายคนก็ทำบทบาทของตัวเองได้ดีในสนามการเมือง ก่อนหน้านี้หลายสื่อเอ่ยถึงบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ เพื่อจัดอันดับผู้นำอายุน้อยที่สุดในโลก อายุเฉลี่ย ไม่เกิน 40 ปี เช่น
- แกเบรียล อัททาล นายกรัฐมนตรี ประเทศฝรั่งเศส อายุ 35 ปี
- อิบราฮิม ตราโอเร ประธานาธิบดี บูร์กินาฟาโซ อายุ 36 ปี
- แดเนียล โนบัว ประธานาธิบดี ประเทศเอกวาดอร์ อายุ 36 ปี
- มิลอยโก สปายิช นายกรัฐมนตรี ประเทศมอนเตเนโกร อายุ 36 ปี
- ไซมอน แฮร์ริส นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ อายุ 37 ปี
ถ้านับเฉพาะ นายกฯ ในประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ส่วนมากอายุอยู่ระหว่าง 40-60 ปี คนที่มีอายุน้อย หรือ ต่ำกว่า 45 ปี ลงมา มีอยู่แค่ 7 คน เริ่มจากที่ใกล้ที่สุด ประกอบด้วย
- แพทองธาร ชินวัตร เริ่มวาระ 2567 อายุ 37 ปี
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มวาระ 2554 อายุ 44 ปี
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มวาระ 2551 อายุ 44 ปี
นอกนั้น เป็นบุคคลในยุคประวัติศาสตร์ เช่น
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม อายุ 41 ปี
- ควง อภัยวงศ์ อายุ 42 ปี
- ทวี บุณยเกตุ อายุ 41 ปี
- หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อายุ 40 ปี
- พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อายุ 45 ปี
แต่ละคนล้วนมีบทบาทสำคัญ และได้รับการยกย่องในทางการเมือง ขณะที่นายกฯ แพทองธาร ยังจำเป็นต้องรอบทพิสูจน์ตัวเองอีกไม่น้อย
ในฐานะที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่สังคมทั้งตั้งคำถาม และตั้งความหวัง The Active ชวนวิเคราะห์บทบาทผู้นำคนรุ่นใหม่ ผ่านมุมมอง ปุรวิชญ์ วัฒนสุข จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ไม่เพียงการโฟกัสเฉพาะคนที่เป็นผู้นำเท่านั้น ถ้าดูคนที่เข้ามาทำงานทางการเมืองจะเห็นได้ว่า คนหนุ่มสาวจะเข้าสู่วงการการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งในสากลและในไทย
ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 จะเห็นว่าในสภาผู้แทนราษฎรมี สส. รุ่นใหม่ที่มีความคิดใหม่ ๆ วิธีการทำงานการเมืองใหม่ ๆ อยู่ไม่น้อยจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา
อ.ปุรวิชญ์ ยังชวนมองผู้นำฝ่ายบริหาร อย่าง นายกฯ แพทองธาร และผู้นำฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ที่อายุใกล้เคียงกัน จึงเห็นว่าปัจจัยเรื่องอายุไม่ใช่สิ่งที่ควรโฟกัส เพราะถ้าจะดูการทำงานทางการเมืองต่อจากนี้ อยากให้ไปดูที่ทีมงานมากกว่า จะออกมาเป็นการเมืองของคนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน
รัฐบาล – ฝ่ายค้าน ภายใต้การนำ ผู้นำคนรุ่นใหม่
สำหรับฝ่ายค้านรับรู้กันมาอยู่แล้ว อาจเปลี่ยนแค่พรรค โดยบทบาทก็จะเห็นว่าทีมฝ่ายค้าน มักออกมาจุดประเด็นทางสังคม เปิดประเด็นอภิปรายในเรื่องต่าง ๆ แต่ทางฝั่งรัฐบาล ต้องรอดูว่าการจัดคณะรัฐมนตรี ที่เชื่อมโยงเรื่องการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้จริงหรือไม่ ?
“คุณทักษิณในฐานะพ่อที่คุณแพทองธาร บอกว่า ปรึกษาอย่างใกล้ชิด และมีทีมงานที่อยู่กับคุณทักษิณมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย กลุ่มนี้ก็จะยังโลดแล่นอยู่ในการเมือง แต่มีอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มของคุณแพทองธารเอง ถ้าเราสังเกตปรากฏการณ์การเมืองในสภาฯ ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงของการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะมีภาพปรากฏในสื่อโซเชียลว่าพรรคเพื่อไทย มีการฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และมีคุณแพทองทองธารอยู่ตรงกลาง”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย การเป็นผู้นำของ แพทองธาร คือการทำให้คนทุกคนทำงานร่วมกันได้ ฉะนั้นการกล่าวสุนทรพจน์แรก ก็บอกว่าต้องการให้คนทุกรุ่นทุกวัยทำงานร่วมกันได้ ซึ่งนี่เป็นบทบาทของผู้นำไม่ว่าจะเป็นผู้นำในองค์กรใดก็ตาม
“ผมคิดว่าคำพวกนี้มันก็คือนโยบายของของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงนั่นแหละ ผมฟังสปีชแรกของคุณแพทองธาร ให้อารมณ์เหมือนตอนปราศรัยพรรคเพื่อไทย ว่าจะรวมพลังคนทุกรุ่นขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผมอยากจะใช้คำว่าเป็นคำที่เขาพูดอยู่แล้ว”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
การเปลี่ยนแปลง จากจุดเริ่มต้น ‘รัฐบาลแพทองธาร’
แต่การก้าวเข้ามาของผู้นำรุ่นใหม่ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน อ.ปุรวิชญ์ มองว่า รัฐบาลนี้ตั้งแต่วันแรก จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ฮันนีมูน” เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ถึงมีการโยนคำถามว่าตกลงดิจิทัลวอลเล็ตจะทำยังไงต่อ
“จริง ๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยคุณเศรษฐา มันมีความรู้สึกอยู่ไม่น้อยในหมู่ประชาชนว่าไม่ค่อยมีผลงาน”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านโพลหลายสำนัก พบว่า ช่วงที่คุณเศรษฐายังไม่พ้นจากตำแหน่ง จะเห็นว่า คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เพิ่ม และเสี่ยงต่อการลดลงด้วย
นโยบายที่เร่งด่วน คือ เรื่องเศรษฐกิจ เพราะทำให้คนเห็นได้ว่ารัฐบาลมีผลงาน ปากท้อง ค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ถ้าคนรู้สึกว่าเรื่องปากท้องเรื่องสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น คนก็จะรู้สึกว่ารัฐบาลทำงาน ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ประเด็นคือตอนนี้ เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต คือเดินต่อก็มีปัญหาสุ่มเสี่ยงเรื่องผิด พ.ร.บ. วินัยทางการคลัง หรือว่าเรื่องกฎหมายต่าง ๆ ไปต่อก็อาจมีปัญหา
คิดว่าอย่างไรเสียในวันแรกที่ นายกฯ แพทองธาร เข้าทำเนียบฯ ยังไงก็ต้องเดินเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตต่อ พูดได้ว่าคือโลโก้ คือลายเซ็นของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นมีเดิมพันสูงมากทั้งเดินหน้าต่อ หรือถอยกลับ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดจะเดินต่อ แต่เดินต่อยังไง ? ก็เป็นเรื่องที่คิดว่ามีรายละเอียดที่ต้องทำอีกเยอะมาก
“ผมคิดว่าคุณแพทองธาร เผชิญโจทย์ที่ยากมาก ๆ ทั้งการบริหารการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ครม.ชุดใหม่ ต้องมองย้อนไปที่เรื่องรัฐบาลผสมก็คือเรื่องการเมือง เรื่องโควตา ฉะนั้น คิดว่า ณ ตอนนี้ถ้าดูจากสัญญาณที่เขาจับมือกัน ข้อตกลงยังคงเดิม โควตาที่ได้ไปจะยังเป็นรัฐมนตรีคนเดิมหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องที่แต่ละพรรคไปบริหารจัดการ การเมืองที่ดำเนินด้วยระบบโควตาแบบนี้ เราคงคาดหวังการเปลี่ยนแปลงหน้ามือเป็นหลังมือไม่ได้”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
‘ภาวะผู้นำ’ ต้องสร้างเอง
สำหรับภาพการเป็นผู้นำของ นายกฯ แพทองธาร นั้น อ.ปุรวิชญ์ ยอมรับว่า ยังไม่ค่อยเห็นชัด ที่ผ่านมาบทบาทของ แพทองธาร คือบทบาทที่มีเงาของคุณทักษิณอยู่ตลอดวลา เช่น การถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนมีคำเรียกว่าเป็น “นายน้อย” หรือ การเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนเรื่องซอฟพาวเวอร์ ภาวะการเป็นผู้นำในทางวิชาการ หรือสิ่งที่เห็นกัน คือการแสดงให้ความพยายามนำคนทุกคน ขับเคลื่อนทำงานไปด้วยกัน
“ภาวะผู้นำต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเราเอง คุณแพทองธาร เป็นคุณแพทองธาร ไม่ใช่คุณแพทองธาร คือลูกสาวคุณทักษิณ แล้วคุณจึงมาทำ อย่างที่ทำ”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ในฐานะพ่อ คุณทักษิณ เป็นห่วงลูกสาวมาก และคุณทักษิณ ยังต้องเป็นเงาของ คุณแพทองธารต่อไป เพราะสถานการณ์ที่เข้ามาเป็นนายกฯ ตอนนี้คือการไต่เส้นลวด ต้องเดินแบบสลับเท้า ถ้าเดินไม่ตรงสับหว่าง ก็สามารถตกได้เลย โจทย์ทั้งการบริหารการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่คุณแพทองธารกำลังไต่เส้นลวดอยู่
“แต่ผมยังไม่อยากประเมินว่าคุณแพทองธาร มีภาวะความเป็นผู้นำมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านั้นเดี๋ยวให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ ภาวะผู้นำจะเห็นได้จากการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ซึ่งเดี๋ยวเราจะเห็นว่าหลังจากนี้จะมีเรื่องที่รอการตัดสินใจสำคัญ ทั้งในทางการเมืองทั้งในทางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่เยอะมาก และเราจะเห็นได้ว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งมันสะท้อนภาวะผู้นำในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ทักษะสำคัญ ตอบโจทย์ผู้นำรุ่นใหม่
เมื่อมองไปถึงเรื่องภาวะผู้นำ หากยกตัวอย่างนักการเมืองในต่างประเทศ อ.ปุรวิชญ์ มองว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาร่วมด้วย คือ ภาวะการเป็นผู้นำ ต้องทำให้คนทุกคนทำงานด้วยกันได้ ฉะนั้นการเป็นผู้นำไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมากสำคัญที่สุด คือ การทำให้คนทุกคนทำงานร่วมกันได้ แต่การเป็นผู้นำที่อายุน้อยจะมีแรงกดดันมากกว่า เพราะต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในทั้งเรื่องการเมืองและการบริหาร
ในต่างประเทศจะสังเกต ได้ว่าประเทศที่มีผู้นำรุ่นใหม่ สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ตามระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้ง มักเป็นประเทศที่ไม่ใช่เอเชีย จะเป็นประเทศแถบตะวันตก เพราะสังคมตะวันตก กับตะวันออกไม่เหมือนกัน
ประเทศแถบตะวันออก จะมีค่านิยมเรื่องการเคารพผู้อาวุโสการ มีลำดับช่วงชั้นทางสังคม แต่ในตะวันตก การจัดตำแหน่งช่วงชั้นทางสังคม ไม่ได้เข้มข้นเท่าตะวันออก ซึ่งตะวันออกไม่ได้หมายถึงแค่ในไทย แต่จะเห็นได้ว่าเป็นค่านิยม เป็นวัฒนธรรมร่วมในสังคมตะวันออก
แต่ก็มีผู้นำอายุน้อยขึ้นมาอย่าง คุณแพทองธาร และ ฮุน มาเนต ฮุนเซน จากกัมพูชา ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ เปรียบเทียบกับผู้นำในฝั่งตะวันตกได้ยาก เพราะมาจากตระกูลการเมือง
“การเป็นผู้นำที่อายุน้อย หรือแม้การเป็นผู้นำที่เป็นผู้หญิงในโลกตะวันออกท้าทายมาก ถ้าไม่มีทุนทางสังคม ต้นทุนทางสังคมฝั่งครอบครัว มีความมั่นความมั่งคั่ง มีคอนเนกชั่นต่าง ๆ นานา ที่เสริมหนุนคุณอยู่ข้างหลัง คุณก็ไม่สามารถขึ้นมาอยู่จุดสูงสุดของการเป็นผู้นำได้”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ส่วนในโลกตะวันตก ถ้ามีความสนใจการเมือง ต้องเริ่มทำงานการเมืองตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ก็สามารถไต่ลำดับช่วงชั้นในพรรคการเมืองแล้วขึ้นมาเป็นผู้นำในพรรคการเมืองได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศนิวซีแลนด์ อดีตนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น จบมหาวิทยาลัยก็ไปทำงานกับพรรคแรงงาน ทำงานการเมืองตั้งแต่เรียนจบ ได้เป็น สส. จนถึงจังหวะเวลาพรรคกระแสไม่ดีเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ในกลุ่มผู้หญิง คนรุ่นใหม่ คนรู้สีกว่าเป็นของใหม่ คาดหวังการเปลี่ยนแปลงได้ จนก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ในโลกตะวันตก ต้นทุนที่ช่วยสนับสนุนให้คนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงอายุน้อยขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ผมว่าต้นทุนมันก็ต้องมีพอสมควร แต่อย่างน้อยก็เปิดกว้าง คุณอยากเป็นนักการเมืองคุณก็เข้ามาทำงานกับพรรค แล้วก็เติบโตไปเรื่อย ๆ”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ทุกที่ในโลกมีความต้องการเปลี่ยนแปลง
“บทพิสูจน์ว่าคนคนหนึ่งจะมีภาวะผู้นำมากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่การเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากแล้วคุณต้องตัดสินใจ ซึ่งสถานการณ์ที่ยากกำลังรอคุณแพทองธารอยู่เต็มไปหมดเลย”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
เพื่อความเป็นธรรมตามความเห็นของ อ.ปุรวิชญ์ จึงยังไม่ควรไปมองว่า ประเทศไทยภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร จะมีหวังหรือสิ้นหวัง จำเป็นต้องรอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ เพียงแต่สิ่งที่วิเคราะห์ ต้องการจะชี้ว่า มีสถานการณ์ที่ยากอยู่รายล้อมเต็มไปหมด ทั้งการจัดการทางการเมือง การจัดการบริหารราชการแผ่นดิน
หลังจากนี้มีหลายเรื่องที่หนักมาก ๆ แล้วถ้าเทียบเป็นเหมือนธุรกิจยังมอง ว่า คุณแพทองธารไม่ได้กำไร ก็เท่าทุน หรือเลวร้ายที่สุด คือขาดทุน
“คุณไม่สามารถทำให้ทุกคนรักคุณได้ คุณจะไม่สามารถทำให้คน ที่เขาไม่ชอบหันมาชอบได้ แต่ก็จะมีคนที่กลาง ๆ ที่รอดูผลงานอยู่ ให้ลองทำงานดูสักพัก แต่ถ้าจังหวะมันไม่เป็นใจ แล้ววิธีการที่ทำไม่เวิร์คขึ้นมาก็มีคนพร้อมซ้ำอีก เพราะนี่เป็นเดิมพันสำคัญของคนในตระกูลชินวัตร“
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข ทิ้งท้าย