นักศึกษา ชาวนา…ชายขอบระบอบอุปถัมภ์

ชายเกษียณชื่อ ‘ประภาส ปิ่นตบแต่ง’
กับการเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ที่ดินราว 1,800 ไร่ ชานเมืองกรุงเทพฯ ในจังหวัดนครปฐม แม้ยังมีนาข้าวและนาบัวเหลือให้เห็น แต่ก็ลดน้อยลงมากหากเทียบกับสิบกว่าปีก่อน

11 ปีที่แล้ว ชาวบ้านคลองโยงและลานตากฟ้า ในอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอนครชัยศรี ได้รับมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบกลุ่ม ตามนโยบายโฉนดชุมชน โดยมีการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ การจัดการที่ดินแบบนี้ช่วยการันตีว่าจะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรที่ดินหลุดมือได้

แต่ความท้าทายใหม่ที่พวกเขากำลังเผชิญ คือนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบขั้นบันได ที่แม้จะเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร แต่เมื่อเป็นการถือครองที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมแปลงใหญ่ อัตราการจัดเก็บภาษีเมื่อเฉลี่ยกับจำนวนชาวบ้านแล้ว บ้างก็ว่า แพงกว่าค่าเช่าที่นาเสียอีก

นี่เป็นเรื่องที่คนคลองโยงกำลังคุยกันอย่างซีเรียส ผู้นำชุมชนกำลังสุมหัวกันว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี โดยมี ‘อาจารย์ตุ๊’ หรือ ‘ประภาส ปิ่นตบแต่ง’ นักวิชาการลูกชาวนาร่วมคิดด้วย

ชาวนา

การเป็น “ลูกชาวนา” อาจเป็นต้นทุนที่ทำให้ ‘ประภาส’ ในวัย 60 ปี ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการด้วยการเป็นรองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานวิชาการและแสดงทัศนะต่อสาธารณชนหลายครั้ง เพื่ออธิบายเรื่องราวของคนยากคนจน ทั้งเกษตรกร ชาวนา รวมถึงคนจนเมือง

หลังเรียนจบเมื่อปี 2527 เขาเริ่มต้นทำงานพัฒนากับโครงการแด่น้องผู้หิวโหย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และงานวิชาการกับสถาบันวิจัยสังคม ของจุฬาฯ จากนั้นได้สัมผัสชีวิตของผู้คนในชนบทที่ไกลจากเมืองหลวงยิ่งกว่านครปฐมบ้านเกิดของเขา กับองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะนักพัฒนารุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่างมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส. กระทั่งคว้าปริญญามหาบัณฑิต จึงเข้าสู่ชีวิตการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ไม่นานนัก…ชีวิตของประภาส ก็เดินมาถึงจังหวะที่สำคัญ เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในนาม “สมัชชาคนจน”

การใช้ชีวิต กิน นอน ร่วมกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ทำให้ประภาสตกผลึกเป็นงานวิชาการชิ้นสำคัญ ที่บันทึกประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในครั้งนั้น และยังคงถูกอ้างถึง อย่าง “99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย”

ปี 2565 รองศาสตราจารย์ประภาส ก้าวสู่วัย 60 แล้วอย่างบริบูรณ์ ขณะที่นักวิชาการหลายคนเลือกต่ออายุราชการ เพื่อคงไว้ซึ่งตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาเลือกหยุดความเป็นทางการของอาชีพนักวิชาการไว้เพียงเท่านั้น แต่ใช่ว่าจะเป็นการกลับมารับบทลูกชาวนา แล้วเลี้ยงปากท้องจากที่ดินตกทอดของคนรุ่นพ่อแม่แค่เพียงอย่างเดียว…ตอนนี้เขายังสวมหัวโขนประธานมูลนิธิชุมชนไทอีกด้วย

เราเดินทางไปคุยกับอาจารย์ประภาส บนที่ดินโฉนดชุมชนผืนแรกของประเทศไทย แม้ยังเหลือบางวิชาที่ต้องสอนนิสิตให้เสร็จสิ้นในภาคการเรียนนี้ แต่ 1 เดือนเต็มหลังการเกษียณ อาจารย์ประภาสใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่แปลงนาแห่งนี้

เขารู้ดีว่าชีวิตชาวนาไม่ง่าย ไม่ง่ายมาทุกยุคทุกสมัย แล้วยิ่งบนที่ดินย่านปริมณฑลที่มีมูลค่าพุ่งสูง มิหนำซ้ำยังถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ทั้งหมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า และมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ยิ่งเป็นตัวแปรให้แปลงนาของชาวบ้านถูกคุมคามจากปัจจัยที่ยากเกินควบคุม รอบตัว


ชาวนา (เกือบ) เต็มตัว

“เอิ้ว เอิ้ววว…” เสียงไล่นกกระจาบ ที่กำลังเพลิดเพลินกับการแทะเล็มเมล็ดข้าว ที่ปักดำไว้เมื่อเดือนกรกฏาคม และกำลังออกรวงสีเข้ม สมชื่อพันธุ์นิลประภาสที่รอวันเก็บเกี่ยว

“ถ้าไม่ได้ทำนาเอง ไม่เห็นหรอกปัญหาเหล่านี้…ปีที่แล้ว นาพี่นัน (นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า) ปลูก 9 ไร่ ต้องจ้างคน 3 คนมาคอยไล่นกทั้งวัน จ้างวันละ 300 บาท เดือนหนึ่ง หมดไป 9,000 กว่า กำไรแทบไม่พอ สุดท้ายต้องนึกถึงเทคโนโลยี รัฐบาลพูดเองว่าข้าวทั่วไปตอนนี้ไปต่อไม่ได้แล้ว ก็ต้องมาปลูกข้าวแบบนี้ แต่การรองรับเรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องตลาด กลับไม่มีมารองรับเกษตรกร”

ปีนี้อาจารย์ประภาสเริ่มท้อใจ หวังแค่นาข้าวสองแปลงที่ปลูกไว้ อย่างน้อยให้เหลือแค่พอทำเมล็ดพันธุ์ต่อและแจกจ่ายก็ยังดี เพราะหากต้องลงทุนจ้างคนมาไล่นกทั้งแปลง คงกลายเป็นขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ได้ขาย นี่เป็นทุกข์ของชาวนาที่เขาสัมผัสได้มานานแล้ว หากแต่เปลี่ยนรูปแบบจากเอาเป็นเอาตายในการปลูกเพื่อขายให้ได้กำไร มาทำสิ่งที่เรียกว่าเกษตรแบบประณีต ต้องกัดฟันทำ เพื่อรักษาพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นของทุ่งนครชัยศรีเอาไว้ แต่ชาวนาส่วนใหญ่ ถ้าไม่คุ้ม ก็คงไม่ทำกัน

“ผมคิดว่ามันเป็นทางรอด แต่ต้องการการจัดการ ปีที่แล้วข้าวผมขายกิโลกรัมละ 80 บาท คนแย่งกันซื้อ เพราะข้าวอร่อย บางคนบอกว่าอร่อยกว่าไรซ์เบอร์รีเสียอีก (เสียงแบบกระซิบ) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ที่จะบอกคือเราควรมีข้าวหลากหลายแบบนี้ แต่นโยบายแบบนี้ พรรคการเมืองมันไม่คิด ส่วนข้าราชการ เกษตรจังหวัดก็ต้องใช้ความรู้ ใช้ความพยายามให้มากกว่านี้”

ชาวนา
การเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายไหนจะได้รับความนิยม เอามาขายประชาชน

เรื่องข้าว เรื่องชาวนา น่าจะเป็นนโยบายสำคัญ โยงกับเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย เพราะเป็นปัญหาที่หนักมาก ห้าหกปีที่ผ่านมา ข้าวราคาเท่าเดิม 5,000 – 6,000 บาท ช่วงแรกของรัฐบาลนี้ใช้นโยบายจำนำยุ้งฉาง ตอนนี้เปลี่ยนเป็นประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ต่างกันเท่าไร ใช้งบประมาณปีละ 1.7 แสนล้านบาทในการประกันพืชผล ถ้ายังใช้วิธีนี้ มันไปไม่ได้จริง ๆ คงต้องมาคิดว่าปัญหาข้าว ชาวนา เกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องรายได้ ราคาพืชผลตกต่ำมาก ๆ จะหาทางออกอย่างไร ให้เขาอยู่ได้

จากชีวิตที่ยากลำบากอยู่แล้ว มาเจอทั้งโควิด-19 ระบาด และปัจจัยการผลิตที่ราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ชาวนาจะมีเงินประกันรายได้ แต่ให้แค่ปีละครั้ง ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้นักการเมืองในพื้นที่จะรู้ว่าอะไรคือความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยเฉพาะการเป็นฐานเสียงที่กว้างที่สุด พวกเขาต้องคิดถึงเรื่องนี้ และขายนโยบายนี้อย่างกว้างขวาง คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการเสนอแน่ ๆ โยงไปกับเรื่องสวัสดิการรัฐ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจระดับล่าง ว่าจะสร้างรายได้อย่างไรให้คนรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ได้ แล้วทำให้มาซื้อนโยบายของพรรคการเมือง

อีกนโยบายคือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนจนเมือง นโยบายที่อยู่อาศัย ผมคิดว่าจะเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยแบบเช่า เพราะช่วงสถานการณ์โควิด กระทบกับคนเปราะบางที่สุด คนจนเมืองไม่สามารถบุกเบิกที่ใหม่ได้แล้ว สลัมใหม่แทบไม่มีโอกาสเกิด ก็ต้องไปอยู่บ้านเช่า หรือกลุ่มที่ทำมาค้าขายนอกระบบแบบรถเข็น รับจ้างนอกระบบ คิดว่าจะต้องมีนโยบายแบบนี้ออกมา เพราะที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ใช้นโยบายแบบพยายามไล่ที่ ไล่รื้อเพื่อเก็บกวาดทำความสะอาดเป็นหลัก

คนจนเมืองกลุ่มใหญ่เป็นประชากรแฝง การทำนโยบายระดับพื้นที่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนหนึ่งกลุ่มคนจนเมืองมีการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่กับญาติ บางส่วนก็ย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลาง แต่ส่วนที่จะมีผลอย่างมากคือความนิยมของพรรค ในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นข้อดีของบัตรสองใบ ที่คนจะเลือกจากนโยบายที่โดดเด่น เลือกที่ตัวพรรค หรือหัวหน้าพรรค หากมีนโยบายที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เลือกได้ อยู่บ้านเช่า มีชื่ออยู่ที่ต่างจังหวัดก็เลือกได้

นโยบายสวัสดิการ เคยเป็นนโยบายเพื่อเอาใจคนรากหญ้า แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็ศึกษาเรื่องพวกนี้มากขึ้น

ถ้าเป็นแบบถ้วนหน้าก็จะมีผล เพราะได้อานิสงส์ไปกับคนกลุ่มอื่น ๆ แต่ต้องพ่วงไปถึงเรื่องทรัพยากรด้วยว่ามาอย่างไร เพื่อนำมาจัดสวัสดิการ ไม่ว่าจะเรื่องฐานภาษี การจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดสวัสดิการต่าง ๆ ไม่สามารถพูดเรื่องเดียวโดด ๆ ได้

แต่ถ้าพูดในมุมมองของคนที่อยู่ในพื้นที่การเกษตรแบบนี้ คิดว่านโยบายข้าวและชาวนาคงหนีไม่พ้น เพราะมีคนได้รับผลกระทบมาก ราคาข้าวคงที่มายาวนาน แม้หันไปปลูกพืชอย่างอื่น แต่ก็ยังมีปัญหาราคาตกต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตสูง

แล้วนโยบายแบบไหนที่คนรุ่นใหม่จะซื้อ

คนรุ่นใหม่อาจไม่รับรู้ชีวิตแบบที่ผมสัมผัส ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับข้าว ชาวนา เกษตรกรรายย่อย คนชายขอบ ชาวเขา หรือคนในเขตป่า แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขา คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ การแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง พวกนี้เป็นหัวใจสำคัญในชีวิตของคนกลุ่มนี้ เขาถูกกระทบจากโครงสร้าง จากระบบ ถ้าย้อนดูชีวิตเขาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมมาตลอด ดังนั้น ประเด็นสิทธิเสรีภาพจะถูกใจเขามากที่สุด ชีวิตที่อยู่ในสังคมของความเป็นมืออาชีพ ต้องมีสิทธิเสรีภาพรองรับการแข่งขันแบบมืออาชีพ คนมีฝีมือควรจะเติบโตไปได้ ไม่ใช่สังคมแบบอุปถัมภ์ 

“ต้องยอมรับตรงไปตรงมา ระบอบการเมืองเราสร้างระบบอำนาจนิยม ไม่ได้สร้างสังคมแบบวิชาชีพ ในความหมายของ professional การแข่งขันกันด้วยทักษะ ฝีมือ สังคมไทยไม่ใช่แบบนั้น สังคมไทยเติบโตกันด้วยเส้นสาย พวกพ้อง พวกของตัวเอง คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ คนรุ่นใหม่จึงยี้รัฐบาล ยี้คนแบบนี้”

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นก่อน

ผมอ่านข้อสอบ สะดุ้งทุกครั้ง เรื่องนี้สำคัญกับเขาจริง ๆ มันถูกกดทับมาเป็นสิบปี เขาไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้ เสียดายที่คนที่มีอำนาจรัฐมองไม่เห็น เขาจะอยู่อีก 10 หรือ 20 ปีหรือเปล่าไม่รู้ แต่มันนำมาสู่ความขัดแย้งเป็นอย่างมาก เป็นรากเหง้าสำคัญ คนรุ่นใหม่ก็จะเป็นฐานเสียงของพรรคที่มีทิศทางแบบนี้ เขาต้องการการปฏิรูปการเมือง ทำให้ผู้คนมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพ คนเท่ากัน นโยบายแบบนี้ขายได้แน่ ๆ สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกพรรคแบบพลังประชารัฐแน่ ๆ

สมมติพรรคพลังประชารัฐทำนโยบายที่โดนใจคนรุ่นใหม่มาก ๆ

“เขาคงชอบ แต่คงมีทุกพรรค เพราะไม่ใช่สิ่งที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเสนอก่อนอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พรรคเหล่านี้เสนอตามก้นพรรคฝ่ายก้าวหน้ามากกว่า” 

ยกตัวอย่างนโยบายแบบค่าแรงขั้นต่ำ หรือการันตีเงินเดือนขั้นต่ำ คนรุ่นใหม่เขาได้เกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ความสามารถ ทักษะที่สร้างให้กับตัวเอง ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือการมีอาชีพ ไม่ได้เป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ คนพวกนี้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีได้ อีกอย่าง พรรคแบบอนุรักษ์นิยมอาจจะเสนอ แต่ทำไม่ได้จริง เช่นหลายเรื่องก็ประกาศไปแล้วไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ ยิ่งส่งผลลบให้พรรคเหล่านี้มากกว่า เพราะเขาคิดไม่ทะลุ ไม่ใช่นโยบายที่มาจากความคิดทางอุดมการณ์ แต่ขายความเป็นอนุรักษ์นิยม ขาย symbolic policy คือนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ชูความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ชูความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายแบบ redistributive policy คือนโยบายสาธารณะที่มุ่งไปสู่การกระจายทรัพยากร ความมั่งคั่งหรือกระจายทรัพยากรไปสู่ผู้คนในสังคม พรรคอนุรักษ์นิยมแบบพลังประชารัฐคงเสนอนโยบายเศรษฐกิจแบบโคกหนองนา หรือเศรษฐกิจแบบยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงคือความยั่งยืนผ่านระบบราชการ

“ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา ชาวบ้านเขามองว่าเป็นนโยบายแบบเล่นลิเก เพราะเหมือนดูลิเก ไม่ได้เป็นจริงสำหรับชีวิต ทรัพยากรก็จะถูกใช้ไปในทิศทางนี้ แน่นอนว่าอาจถึงเครือข่ายผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คนทำงานกับหน่วยงานราชการ ที่จะเข้าถึงงบประมาณ ซึ่งมันมีไม่กี่คน ชาวบ้านทำได้แค่นั่งดู แต่ไม่ได้กระจายทรัพยากรมาถึงชุมชน”


ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นอย่างที่เขาหลอกลวง

ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะหลัง ที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาท ประภาส อยู่ในฐานะอาจารย์ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกศิษย์หลายคนเป็นแกนนำคนสำคัญ และแน่นอนว่าจำนวนมากมีส่วนกับความเคลื่อนไหวในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงและมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ประภาส เลือกยืนอยู่ข้างเดียวกับนักวิชาการกลุ่มใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามด้วยการใช้ความรุนแรงตั้งแต่เริ่มต้น เพราะนั่นได้นำมาสู่ความรุนแรงที่ถูกยกระดับขึ้น เกินกว่าจะควบคุม

เมื่อถามว่า มีเรื่องที่คิดว่าไม่มีทางเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้เลยบ้างไหม…

“ผมไม่คิดว่าเขาจะกล้าขนาดนี้” คำตอบนี้ ไม่เกินความคาดหมาย เพราะนี่กลายเป็นสิ่งธรรมดาที่คนวัย 60 ปีอย่างเขาเห็นไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน

เขาบอกว่าตอนนี้ เราวิเคราะห์สังคมได้ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ ว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองหรือการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร คือสังคมแบบเผด็จการอำนาจนิยม กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้คน

“แต่เราขี้ขลาด เราในที่นี้หมายถึงผม เราคำนึงถึงหน้าที่การงาน การมีคดีความติดตัว หากเกษียณแล้วจะได้เงินชดเชยไหม ติดคุกไปจะมีเงินใช้ตอนแก่ไหม เมื่อคิดอย่างนี้ ก็ขีดเส้นข้อจำกัดของตัวเองเอาไว้ เห็นด้วย สนับสนุนในบางระดับ แต่ผมไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่จะทะลุมาถึงขั้นนี้ ผมไม่กล้าพอ”

ประภาสยอมรับ แม้ว่าจะมีหลายคนปลอบประโลมตัวเองว่า เพราะคนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็นของจริง ที่หมายถึงไม่เคยเจอคดีความ ไม่เคยเจอความโหดร้ายของรัฐไทย ซึ่งประภาสไม่เห็นด้วย เพราะคำอธิบายอีกแบบ คือ พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตเขา การเป็นคนอายุเพียง 20 ต้น ๆ ที่ยังต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 50-60 ปี ทำให้พวกเขาคิดเรื่องเหล่านี้เยอะ ตั้งคำถามว่าหากอยู่ในสังคมแบบนี้ แล้วจะทำให้มีความสุขในชีวิตมากน้อยแค่ไหน

“เราไม่อาจเข้าใจวิธีคิดแบบนี้ของเขาได้”

เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองก็ได้

ลูกผมก็อายุประมาณนี้… ส่วนผมเป็นลูกชาวนา ไม่กล้าทำอะไร แต่เด็ก ๆ รุ่นนี้ ทวงสิทธิมาก เช่น คะแนนสอบก็ต้องประกาศไม่ช้า ต้องตรงเวลา ต้องอธิบายหรือเปิดเผยได้ว่าแต่ละข้อให้เหตุผลอย่างไร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นนี้ และเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 5-6 ปี มันไม่ใช่แค่สิทธิในระดับมหาวิทยาลัย เขาคิดว่านี่เป็นมาตรฐานของสังคมการเมือง ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมของคนทุกอาชีพ ทุกมิติ

“ล่าสุด เขารณรงค์เรื่องไม่แต่งชุดนิสิต เป็นเรื่องใหญ่โตมาก ไม่เคยเกิดเลยในประวัติศาสตร์การทำงานมา 30 ปีของผม ก่อนหน้านี้ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คนอยากใส่ชุดนิสิต เพราะโก้ เก๋ ไม่เคยมีการตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันเป็นกระแสในทุกคณะ ไม่ใช่แค่ในรัฐศาสตร์”

ไม่คิดว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาจะแข็งแรงแบบตอนนี้ มันเคยฟื้นมาระยะสั้น ๆ ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย แค่ไม่กี่ปีแล้วก็ซบเซา อย่าง สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) มีภาพจำว่ามีเลขาธิการทำงานคนเดียว ไม่ค่อยมีสมาชิกหรือเครือข่ายที่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้กลับมาฟื้นตัวทุกที่ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น

คิดว่าเป็นแค่กระแสไหม หรือจริง ๆ ยังจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรนิสิตนักศึกษาแบบสมัยก่อนไหม

ไม่ใช่กระแสแบบฉาบฉวย ไม่ใช่แน่นอน แต่มันเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างด้วย เพราะเราอยู่ในสภาวะของสังคมแบบอำนาจนิยมมาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมา 2557 แล้วมันไปกดทับสถานะของผู้คน สิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เรื่องเหล่านี้ไม่มีทางหายไป ไม่ใช่แบบแฟชั่น แต่มีปัจจัย แม้จะมีแกนนำลี้ภัยบ้าง ถูกจับบ้าง แต่ไม่มีทางจบ เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นนี้ เขาไม่มีทางยอม ทุกเจเนอเรชันจะปรับตัว อาจเข้าสู่การเมืองแบบการเลือกตั้ง แต่ไม่มีทางจบแน่นอน

แต่ยังมีคนรุ่นเดียวกับอาจารย์ที่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ยอมไม่ได้ ที่จะให้เกิดความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่แบบนี้

ถ้ามองเฉพาะแค่ในจุฬาฯ ทั้งในส่วนของผู้บริหาร สภามหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ ส่วนใหญ่หรือส่วนที่มีบทบาทหลักมักสัมพันธ์กับเครือข่ายชนชั้นนำ เครือข่ายอำนาจ แต่คำว่าอนุรักษ์นิยม ก็มีความหมายในเชิงคุณค่าที่ดีด้วย กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งที่สืบทอดเป็นมาตั้งแต่ในอดีต ขนบจารีตประเพณีการเมือง และสถาบันการเมืองที่สืบทอดกันมา ปัญหาคือ เราต้องถกเถียงว่า จารีตประเพณีที่มีคุณค่าดังกล่าวนี้ควรจัดอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองปัจจุบันแค่ไหนอย่างไร นักวิชาการบางคนก็เสนอการจัดความสัมพันธ์ดังกล่าว จนดูเหมือนจะกลายเป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็คงไม่ต่าง มีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือเข้าใจพวกเขาได้ แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม คงมีทัศนะที่แตกต่างไปอีกแบบ

ชาวนา
จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างรุ่น หรือเป็นระบบที่หล่อหลอมมา

คนที่อยู่ในเครือข่ายแบบนั้น ก็คงคิดในแง่ของความดีความงาม รักษาสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องปกป้อง เป็นทัศนะผู้คนเหล่านี้ แต่หากมองอีกแบบ คนในเครือข่ายเหล่านี้ เป็นผู้บริหาร มีตำแหน่ง มีผลประโยชน์ เช่น เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อยู่ในสภาปฏิรูปกึ่งอัตโนมัติ เป็น ส.ว. เป็นกรรมการนู่นนี่เต็มไปหมด ไม่รู้กี่คณะ อยู่ในอุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ อยู่ในสภาปฏิรูปสังคมการเมืองทุกชุด

“ไม่ใช่มิติเชิงอุดมการณ์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเครือข่ายผลประโยชน์ การรักษาเครือข่ายอำนาจในระบบการเมืองเผด็จการอำนาจนิยม คุณได้ผลประโยชน์ แต่มันไปกระทบเสรีภาพ กระทบกับค่านิยมแบบนี้ของพวกเขา” (คนรุ่นใหม่)

ความขัดแย้งในระยะหลัง คนชอบพูดว่าเป็นเพราะความต่างระหว่างวัย

มันทำให้เราผิดประเด็น… ไม่ใช่เรื่องช่องว่างระหว่างวัยของคนอาวุโสกับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นช่องว่างของเครือข่ายอำนาจนิยม ที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ใช้ทุนทางสังคม แต่เครือข่ายเหล่านี้กลับไปส่งผลต่อคนอีกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จริง ๆ ไม่ใช่เรื่อง generation gap แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่มีผลประโยชน์กับชนชั้นที่ถูกกดทับ เรื่องแบบนี้เชื่อมโยงทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาล ส.ส. จนถึงข้าราชการระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ที่อยู่กับเครือข่ายแบบนี้ คุณได้งบประมาณจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มาทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็มีแต่ญาติพี่น้อง กำนัน ได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ ชาวบ้านถึงมองว่าเป็นการเล่นลิเก เพราะได้ผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน 

“นี่ไม่ใช่ช่องว่างระหว่างรุ่นคน แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผลประโยชน์ที่สร้างสานกันมา ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งไม่มีทางจบง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องว่าเด็กสติแตก เด็กไม่เข้าใจโลก มันยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ปัญหาเชิงโครงสร้างกดทับพวกเขาอยู่ ถ้าไม่เปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ความขัดแย้งนี้ก็ดำเนินไปอย่างถาวร”


จากการเมืองบนท้องถนน
สู่การเมืองภาคประชาชนในความหมายใหม่

20 กว่าปีก่อน งานเขียน “99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย” ทำให้ชื่อของประภาสมักถูกอ้างถึงในเวลาต่อมา ในฐานะนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้าน “การเมืองภาคประชาชน” 

อีก 10 ปีถัดมา ช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้งเสื้อสี ประภาส ได้นำเอาเรื่องราวของชาวบ้าน ชาวนา คนจน และคนชายขอบ ถ่ายทอดสู่การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ผ่านนิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ที่ชื่อ a day weekly

ไม่กี่ปีถัดมาหลังจากนั้น ช่วงวิกฤตการเมืองปี 2553 ปรากฏการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงใจกลางกรุง ก็ถูกอธิบายผ่านแว่นของเขาอีกครั้ง ว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เคยถูกหยิบยกมาอ้างบ่อยครั้งก่อนการรัฐประหาร 2549 ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงของสังคมได้อีกต่อไป พร้อมกับการวิพากษ์ดัง ๆ ว่าคำอธิบายชุดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ที่เข้าใจคนในชนบทอย่างแท้จริง

หลังการยึดอำนาจของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เมื่อปี 2534 ไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 15 ปีถัดมา จะเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่ถึง 10 ปี รัฐประหารอีกครั้งก็เกิดขึ้นตามมาโดย คสช. แม้จะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วเมื่อปี 2562 หากแต่กลิ่นอายของเผด็จการอำนาจนิยมยังปกคลุมสังคมไทย ดังที่ประภาสกล่าวกับเราตั้งแต่ช่วงต้นของการสัมภาษณ์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่จนครบวาระ 4 ปี ในฐานะนายกรัฐมนตรี…นี่คือคำกล่าวที่ไม่ห่างไกลจากความจริงนัก นั่นเพราะว่า การเลือกตั้งที่รออยู่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 กลายเป็นความหวังอีกครั้งของผู้คนที่ยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมฉบับที่ร่างโดยเครือข่ายของ คสช. ก็ตาม

ปฏิทินเลือกตั้งทั่วไปที่ค่อนข้างแน่นอน มีผลต่อความเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนช่วงนี้ไหม

คนรุ่นใหม่เขาคงประเมินแล้ว จากต้นทุนที่ต้องจ่ายไป การรวมตัวกันแบบเก่าไม่สามารถทำให้เกิดม็อบใหญ่ได้ มีแกนนำหรือระดับผู้จัดการการชุมนุมจำนวนไม่น้อยที่กำลังจะเข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภา พวกเขามีคดี มีต้นทุนที่ทำงานอย่างอื่นลำบาก ภายใต้บริบทสังคมไทยแบบนี้ มีการประเมิน ทบทวนกันเยอะ

วิธีการที่รัฐใช้ได้ผลแน่ ๆ อย่างการปราบปราม ทำให้ไม่เกิดความเคลื่อนไหวบางประเภท มีการพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะหายไป แต่มีจังหวะ มีศิลปะในการพูดมากขึ้น ซึ่งพูดควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง

ในอดีต แกนนำม็อบที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง เคยถูกเหน็บแนมว่าเป็นพวก “สู้แล้วรวย” ยุคนี้ยังเป็นแบบนั้นไหม

เมื่อก่อนมีคำขวัญถึงแกนนำแบบ “ถ้าไม่ตายก็ขายตัว” อย่างที่เกิดขึ้นกับครูประเวียน (แกนนำคัดค้านโรงโม่หินที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ถูกสังหาร) เพราะส่วนหนึ่งก็ไปอยู่กับรัฐ อย่าง กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) พรรคการเมือง ส่วนการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนก็ถกเถียงกันอย่างมากว่าควรตั้งหรือไม่ เคยถูกมองว่าการเมืองในระบบกับการเมืองแบบเคลื่อนไหวควรแยกจากกัน ปัจจุบันก็ยังเป็นประเด็นถกเถียง 

เมื่อก่อนผมก็อยู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการไปอยู่กับนักการเมือง เพราะพรรคการเมืองมันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหมือนเราไม่บริสุทธิ์ คนในสังคมก็จะมองว่ามีสังกัด มีเบื้องหลัง ไม่ใช่ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนต้นทุนที่กันไม่ให้เข้าสู่การเมืองในระบบ แต่ปัจจุบันเส้นแบ่งแบบนั้นมันไม่ได้เป็นขาวหรือดำอีกต่อไป

กรณีพรรคอนาคตใหม่ หรือก้าวไกล ก็เป็นการไปสร้างพรรคการเมืองที่มีฐานของประเด็นและผู้คนจำนวนหนึ่ง จากการเมืองแบบมูฟเมนต์ ซึ่งนำเอาประเด็นเคลื่อนไหวเข้ามาสู่การเมืองในระบบ ทำให้สองส่วนเชื่อมกัน ไม่ว่าประเด็นมาตรา 112 การแก้รัฐธรรมนูญ ชนเผ่า หรือ LGBTQ+ มันหลากหลาย เป็นขบวนการที่เชื่อมมูฟเมนต์กับการเมืองในระบบอย่างชัดเจน ไม่ใช่เชื่อมแค่คนจนกับพรรคการเมืองอย่างเดียว แม้ว่าจะมีประเด็นเกษตรกร ชาวนา แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทำให้เราไม่สามารถแยกได้อีกต่อไป ระหว่างการเมืองแบบพรรคกับความเคลื่อนไหว

ปรากฏการณ์การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทำให้เห็นพรรคแบบสามัญชน พรรคศิลปิน หรือพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พวกนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ดี ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาหลายประเทศ เช่น โบลิเวีย ที่ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส จากผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง ที่อาศัยความเคลื่อนไหวแล้วยกระดับเป็นพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี หรือลูลา (ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีบราซิล) ที่เป็นพรรคตัวแทนกลุ่มชาวนาไร้ที่ดิน ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ตอบคำถามคนที่เคยมองว่าการเมืองแบบพรรคกับการเมืองแบบเคลื่อนไหวต้องแยกออกจากกัน

กลุ่มทำงานทางความคิด ก่อตั้งพรรคเชิงอุดมการณ์ แต่เมื่อลงสนามแข่งกลับไม่ได้รับชัยชนะ

พรรคทางเลือก หรือพรรคอุดมการณ์ ต้องยอมรับว่าจำนวนหนึ่ง ไม่ได้หวังได้ ส.ส. หรือเข้าร่วมรัฐบาล แต่อาศัยการตั้งพรรคเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว ผลักดันประเด็นของตัวเอง อาศัยกระบวนการช่วงเลือกตั้งเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของตัวเองหรือการรณรงค์สาธารณะ แต่พรรคอีกจำนวนหนึ่ง อย่างพรรคอนาคตใหม่ หวังเรื่องการชนะเลือกตั้งตั้งแต่แรก มันจึงมีการจัดการทรัพยากร โครงสร้างองค์กร วางแผนกันเพื่อเชื่อมประเด็นของความเคลื่อนไหวไปสู่การเมืองในระบบ คล้ายกับพรรคกรีนในยุโรป เราจะเห็นได้ถึงการเตรียมการต่าง ๆ เพื่อให้พรรคเติบโต ให้ชนะเลือกตั้งจริง ๆ

พรรคการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหว ความแตกต่าง คือ พรรคการเมืองต้องได้รับเสียงสนับสนุนเป็นวงกว้าง จึงต้องมีประเด็นย่อย ๆ เพื่อกุมเสียงคนจำนวนมาก จึงจะได้รับเสียงสนับสนุนที่มากพอ แต่ถ้าชูประเด็นเดียว แม้จะแหลมคม แต่คนสนับสนุนก็อยู่ในวงจำกัด ถ้าคิดจะชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าจะไทยหรือทั่วโลก จะเป็นการเมืองแบบซ้ายสุด ๆ เหลือประเด็นเดียวไม่ได้ พรรคการเมืองจะต้องประนีประนอมกับหลายกลุ่มมาก เช่น อนาคตใหม่ ที่เล่นเรื่องมาตรา 112 การกระจายอำนาจ หนี้สินเกษตรกร ป่าไม้ ที่ดิน ชนกลุ่มน้อย LGBTQ+ ผู้หญิง คนชายขอบ การเมืองที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของผู้คน ต้องกุมหลายประเด็นเพื่อให้ได้ฐานเสียงสนับสนุนที่กว้าง พรรคการเมืองจะมีลักษณะแบบนี้ แต่ทั้งหมดมีจุดร่วม คือประเด็นแนวก้าวหน้า ไม่ได้เอาประเด็นอนุรักษ์นิยมเข้ามา เรื่องเหล่านี้ทำให้พรรคเติบโต ทำให้ได้กลุ่มสนับสนุนชัดเจน แต่ไม่ได้กว้างไปหมดทุกอย่างแบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนตัวของผู้เข้ารับการเลือกตั้ง

ทำไมพรรคแบบภูมิใจไทย จึงดึงดูดนักเลือกตั้งได้มากกว่า ปรากฏการณ์แบบนี้กระทบกับพรรคแนวอุดมการณ์ไหม

การเมืองแบบนี้ คือการเมืองแบบเก่า หวังแค่ตัวเองได้เป็น ส.ส. เมื่อได้เป็น ส.ส. ก็หวังได้อยู่ฝ่ายรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี อยู่ในเครือข่ายของผู้จัดตั้งรัฐบาล กรณีของภูมิใจไทยหรือพลังประชารัฐ ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าพวกเขาหวังจะอยู่กับกลุ่มผู้ได้อำนาจรัฐ ไม่ได้คิดไปในเชิงอุดมการณ์ คิดว่าตัวเองมีฐานเสียงมีทรัพยากรที่จะแข่งขัน มีพรรคสนับสนุนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง การเมืองลักษณะนี้มีอยู่เต็มไปหมด แต่อีกส่วนก็ไม่ใช่แบบนั้น

อย่างพื้นที่ที่เรานั่งอยู่ เป็นของ ส.ส. มิ้นท์ (สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา) ตอนลงเลือกตั้ง ต้องถามว่ามีใครรู้จักเขาไหม แต่เขาชนะเลือกตั้ง ชนะด้วยความเป็นอนาคตใหม่ ผมเห็นป้ายบนถนนใหญ่บ้าง แต่ไม่เคยเห็นบนถนนในซอยเข้าบ้าน ไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ได้

“อาจมีหลายปัจจัย คือ ไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบพรรคไป แต่คงไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด ขนาดเขตชาวนาคะแนนยังมากกว่าพลังประชารัฐ พอไปถามเพื่อนชาวนาของผม ทำไมเลือกอนาคตใหม่ เขาบอกว่า ‘ทหารไม่ไหว’”

เราจะได้เห็นอะไรในการเลือกตั้งปีหน้า (ปี 2566)

ภูมิทัศน์การเมืองในชนบทที่เปลี่ยนแปลง…

นักรัฐศาสตร์มักมีข้อสรุปว่า ชาวบ้านในชนบทตกอยู่ในวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ มีลักษณะเป็นเสมือนไพร่สังกัดมูลนาย วลีนี้ปรากฏในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ของท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. และความคิดเช่นเดียวกันนี้ ก็ยังปรากฏในหนังสือเล่มถัดมาคือ “ทักษิณาประชานิยม”

ปรากฏการณ์การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านหย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างมีสำนึกทางการเมือง สามารถเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางการเมือง ตลอดจนการสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายของพรรคใดเป็นนโยบายที่ดี นโยบาย โครงการพัฒนาของพรรคใดที่มีเครือข่ายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับหน่วยงานราชการ ไม่ได้กระจายทรัพยากรมายังกลุ่มตน แต่เล่นลิเกและแบ่งสรรกันแต่ในหมู่พรรคพวก เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น พวกเขาจึงไม่หย่อนบัตรเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองเหล่านั้น

คาดว่า พื้นที่และภูมิทัศน์การเมืองใหม่ที่ขยายกว้างออกไปไกลมากแล้วในชนบท น่าจะสะท้อนให้เห็นจากผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าอีกครั้ง

เราคุยกันเรื่องคนจน ชาวนา และคนรุ่นใหม่ อาจารย์คิดว่ายุคนี้ อะไรคือจุดร่วมของพวกเขา

จุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ที่เห็นภาพโครงสร้าง สถาบันทางการเมือง และการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ในปัจจุบัน สืบทอดมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แต่ปรากฏชัดเมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นมา ได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพ คุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของผู้คนในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับนำมาสู่การใช้กำลังปราบปรามของรัฐ รวมทั้งนิติสงครามที่รัฐใช้จัดการกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

ส่วนคนจน คนชายขอบ คนด้อยอำนาจ ด้อยโอกาส ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยต่าง ๆ หากมองจากชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบอบใหม่ เห็นภาพได้ชัดและใกล้ตัวที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 และผลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ช่วงระยะเวลาราว 8 ปีของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ สั่งสมปัญหาเหล่านี้มา มีปัญหาด้านนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการกระจายรายได้และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า คะแนนนิยมรัฐบาลตกต่ำอย่างมาก จนกระทั่งคาดเดาได้ไม่ยากว่า พลเอก ประยุทธ์ น่าจะขายไม่ออกแล้วในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายชาวบ้านคนชายขอบซึ่งเป็นชุมชนในเขตป่า ชาวเล ผู้คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 คือ นโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งผมเรียกว่า โครงการ คจก.2 (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) และผมเองเคยถูกทหารจับเมื่อร่วม “เดิน ก้าว แลก” ในปี 2558 ผลพวงดังกล่าวได้อพยพชาวบ้านออกจากเขตป่าและมีคดีความราว 20,000 คดี เมื่อปี 2562 รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายอนุรักษ์ 3 ฉบับคือ กฎหมายอุทยานฯ กฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ และกฎหมายป่าชุมชน ซึ่งสืบทอดความคิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า นำมาสู่ความขัดแย้ง ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เดินขบวนชุมนุมประท้วงหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา แต่ก็ยังคาราคาซัง

“ทั้งหมด ทำให้เห็นว่า ระบอบการปกครองใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นมาหลังรัฐประหาร 2557 ได้สร้างวิกฤตร่วมทั้งนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาตระหนักในประเด็นที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โลกและชีวิตของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ส่วนคนจน คนชายขอบ เกษตรกร ชาวนา ระบอบใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ”

พวกเขาได้ขยับเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน คือ กรณีการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าร่วมกับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย และยิ่งชัดเจนจากปรากฏการณ์ “ราษฎรหยุด APEC2022” ซึ่งเคลื่อนไหวคู่ขนานเอเปก เพื่อคัดค้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ให้ยุติบทบาทประธานที่ประชุม และยกเลิกนโยบายเอื้อนายทุน

8 ปีระบอบใหม่ภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จึงนำมาสู่สถานการณ์ของสังคมการเมืองที่เป็นวิกฤตเชิงโครงสร้างที่เผชิญร่วมกันของนิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนจน คนด้อยโอกาส ด้อยอำนาจในสังคม เหล่านี้เกิดเป็นความเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น คาดว่าหลังเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่กว้างขวางจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ณัฐพล พลารชุน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์