“แอนนา เสือ” ตัดวงจร คนจนข้ามรุ่น ด้วยการศึกษา

แต่เด็ก 1.8 ล้านยังเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา 
กับนโยบายเรียนฟรี ที่ยังไม่ฟรีจริง 

“แอนนาจะเลือกบริจาคให้กับการศึกษาค่ะ ทุกคนรู้มั้ยคะ ว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง การศึกษาทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆเริ่มต้นจากการศึกษา เพราะฉะนั้นแอนนาอยากให้ทุกคนใส่ใจ”

คำตอบของ แอนนา เสืองามเอี่ยมในรอบ 5 คนสุดท้ายมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์2022 หลังได้รับคำถามว่า “ถ้าคุณต้องการเลือกบริจาคโดยการหยอดเงินลงกล่องเพื่อการสมทบทุน และคุณมีสิทธิ์เลือกเพียงแค่หนึ่งกล่องเท่านั้น คุณจะเลือกกล่องใดระหว่าง สาธารณสุข การศึกษา หรือสิ่งแวดล้อม และเพราะเหตุใด?” 

การให้น้ำหนักด้านการศึกษาของแอนนา สะท้อนเบื้องหลังชีวิตที่ต้องการ ตัดวงจร “คนจนข้ามรุ่น” ด้วยความพยายามให้ตัวเองได้อยู่ในระบบการศึกษาในทุกวิถีทาง แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านการเงินของครอบครัว 

แอนนา เคยเปิดเผยชีวิตวัยเด็กไว้ว่าเป็นคนที่เติบโตมาในกองขยะ พ่อและแม่ของเธอเป็นพนักงานเก็บขยะของ กทม. แม้แต่ของเล่นต่างๆ ที่ได้ในวัยเด็ก ก็คือขยะที่พ่อกับแม่เก็บมาซ่อมให้

ในช่วงที่ต้องเรียนหนังสือ พ่อและแม่ต้องทำงานหนักจึงต้องฝากแอนนาไว้กับทวดซึ่งเป็นแม่ชีที่วัด 

เธอจึงเติบโตมาจากข้าวก้นบาตรพระ แม้เป็นชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็สามารถเรียนจนจบปริญญาตรี จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ1 

“แอนนาเปรียบตัวเองเป็นดอกบัว ทุกคนทราบว่าแม้ดอกบัวจะเกิดมาจากโคลนตม แต่สุดท้ายแล้วดอกบัวก็สามารถสวยสง่าบนผืนน้ำได้ แอนนาอยากบอกกับทุกคนว่า อย่ายึดมั่นว่าเราเกิดมาจากอะไร แต่จงยึดมั่นว่าเราเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้” 

อีกคำตอบของ “แอนนา” บนเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 ที่ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าที่ตอบคำถามจากพิธีกรที่ว่า ถ้าต้องเปรียบตัวเองเป็นดอกไม้หนึ่งชนิด แอนคิดว่าเป็นดอกไม้อะไร” เท่านั้น แต่สะท้อนทัศนคติส่วนตัวที่ผลันดันตัวเอง จนเป็นหนึ่งในผู้ที่หลุดพ้นจากความจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ 

ในมุมมองของ ​ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา  มองเห็นว่ากรณีของ ‘แอนนา” เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าการศึกษาช่วยยกระดับชีวิตพ้นจากความยากจนที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้ 100% 

แม้แอนนาจะมีเบื้องหลังชีวิตที่ติดลบ แต่เธอมองอย่างเข้าใจ เตือนสติตัวเองและไม่อายที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่แท้จริงว่ามาเติบโตจากโตกองขยะด้วยรอยยิ้มที่ไร้ปมด้อย สิ่งนี้คือความสามารถในการผลักดันเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต่างจากเด็กยากจนคนอื่นที่ไปต่อยาก เพราะยอมจำนนให้กับชะตาชีวิต

“เด็กส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ยากจนจะจบชีวิตทางการศึกษาของตัวเอง แต่ต้องชื่นชมในพ่อแม่ของแอนนาที่ทำงานหนัก แม้แต่ละครอบครัวจะมีต้นทุนต่างกัน แต่การจบชีวิตการศึกษาของเด็กควรเป็นทางเลือกสุดท้าย”

อ.สมพงษ์ ยังบอกอีกว่าความยากจนคือ “พรขับดัน” ของแอนนา ที่ตกผลึกทางความคิดจนนำมาสู่การแสดงความคิดเห็น หรือการตอบคำถามอย่างฉลาด และแหลมคม 

แอนนา น่าจะเป็นไอดอลของเด็กยากจนที่สิ้นหวังได้ ถ้าแอนนาออกมาพูดให้กำลังใจกับเด็กๆ แบ่งปันประสบการณ์ของความพากเพียร ความกตัญญู สร้างแรงบันดาลใจ

แต่ต้องยอมรับว่าในบรรดาเด็กยากจนทั้งประเทศจะมีเพียง 15% เท่านั้นที่จะจบในระดับอุดมศึกษาเหมือนอย่างแอนนา 

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2564 มีเด็กถึง 238,707 คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษามักจะเป็นช่วงรอยต่อช่วงชั้นเรียน ชั้นอนุบาล 1 ขึ้น ป.1 หลุดจากระบบ 4% ชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 หลุดออกจากระบบ 19% ชั้นม.3 ขึ้น ม.4 หลุดออกจากระบบถึง 48% และอย่างที่กล่าวไปคือมีเพียง 15% ของเด็กยากจนที่ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย 

คนจนข้ามรุ่นคืออะไร ?

คำว่า “คนจนข้ามรุ่น” ปรากฎใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่พบว่า 13.5 % ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก ไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำ และอัตราการพึ่งพิงสูง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม รองลงมาคือ ความขัดสนทางการศึกษา 

การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพของเด็ก จากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ยังจะส่งผลทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานกึ่งมีทักษะเท่านั้น  

ปัจจุบัน “คนจนข้ามรุ่น” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความยากจนอย่างเฉียบพลันในปี 2563 สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12.7% ในไตรมาสที่ 1 และ 14.9% ในไตรมาสที่ 2  

เด็กไทย 1.8 ล้านเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 

สำหรับ แอนนา ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาไปจนจบปริญญาตรี แต่เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 

จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำไว้ในปี 2563 โดยประมวลจากจำนวนนักเรียนยากจนที่สมัครคัดกรองใหม่ ภาคเรียนที่ 1/2562 และ 1/2563 ซึ่งระบุว่า นักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส 1.8 ล้านคน ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

ขณะที่ตัวเลขล่าสุด ปีการศึกษาล่าสุด 1/2564 ของ กสศ. มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน 

ปัญหาหลักมาจากรายได้ของครอบครัวที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 1,094 บาทต่อเดือนหรือ 36 บาทต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ตั้งเป้าหลุดพ้นความจนข้ามรุ่น ปี 2570 

สถานการณ์ขณะนี้ดูสวนทางจากตัวชี้วัดของแผนฯ 13 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ การทำให้เด็กครัวเรือนยากจนเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ต่ำกว่า 90% มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่า 80% และเด็กครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเติบโตไปเป็นแรงงานที่มีทักษะ หรือสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% และทุกครัวเรือนที่มีสถานะยากจนข้ามรุ่นในปี 2566 ต้องหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นภายในปี 2570 

สิ่งที่แวดวงการศึกษากำลังพยายามอยู่ในเวลานี้ คือการตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้ง ทัศนคติภายในครอบครัวแบบแอนนา และ “นโยบายรัฐ

เสนอปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีให้ฟรีจริง

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า นโยบายเรียนฟรีในความเป็นจริงยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะว่าศักยภาพของแต่โรงเรียนแตกต่างกัน แม้จะไม่มีการเก็บค่าเทอม แต่โรงเรียนต้องใช้เงินในการดำเนินกิจการต่างๆทำให้พ่อแม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นเดิม

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความ​เสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

อย่างไรก็ตาม ดร.ภูมิศรัณย์ เสนอว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงในส่วนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คือการเงินอุดหนุนนักเรียนพื้นฐานยากจน แม้ว่าปัจจุบัน กสศ. จะมีทุนเสมอภาคนักเรียนยากจนพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้มีเด็กประมาณ 60 % หรือประมาณ 4 แสนคนที่ยากจน แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งหากต้องการขยายนโยบายให้ครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้จะใช้งบประมาณ ปีละ 800 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS