ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นมหันตภัยด้านมลพิษที่คุกคามคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ มากถึง 7 ล้านคน ซึ่งไทยเองก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน และฝุ่นคือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ จนทำให้คนไทยตายผ่อนส่งแบบไม่รู้ตัว
ฝุ่นพิษคร่าชีวิตคนไทย
WHO ระบุว่า คนไทยเสียชีวิต ด้วยสาเหตุที่มาจากมลพิษทางอากาศ กว่า 30,000 คนต่อปี และยังพบความเชื่อมโยงความรุนแรงของโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ข้อมูลWHO ชี้ชัดว่า เมื่อปี 2561 คนไทยเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ปีละ 33,456 คน โดยแยกออกกลุ่มโรค คือ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง, มะเร็งปอด, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดอุดกั้น ซึ่ง Dashboard ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารสุข ก็พบว่า อัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศต่อแสนประชากร ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ปี 2563 พบผู้ป่วย 10,509 คนต่อแสนประชากร ประเมินคร่าว ๆ มีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ประมาณ 1 คนต่อประชากร 10 คน หรือ ประมาณ 6.96 ล้านคน
ปี 2564 จำนวนผู้ป่วยขยับไปที่ 11,675 คนต่อแสนประชากร หรือ ประมาณ 7.73 ล้านคน
ปี 2565 ผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศอยู่ที่ 11,597 คนต่อแสนประชากร หรือ ประมาณ 7.66 ล้านคน
ปี 2566 พุ่งไปที่ 12,001 คนต่อแสนประชากร หรือ ประมาณ 7.93 ล้านคน
(โรค) ภัยเงียบ ที่ลอยมากับฝุ่นพิษ
กระทรวงสาธารณสุข ยังได้เก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพต่าง ๆ ทั่วประเทศในปี 2564 พบ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ รวมทั้งประเทศใกล้เคียงกัน คือ 5,415,262 คน ภาคเหนือตอนบน มีผู้ป่วย สูงสุด อยู่ที่ 602,373 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจอุดกั้น, กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
ขณะที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ถูกเก็บข้อมูลเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดจากฝุ่น โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เฉพาะช่วงระหว่าง เดือนสิงหาคม 2561 – 28 มิถุนายน 2562 พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทั้งสิ้น 2,303 คน นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตของประชากรที่ไม่ได้มาจากอุบัติเหตุจำนวน 4,240 คน
จากข้อมูลจากหลายแหล่งจึงพอบ่งบอกได้ว่า พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับโรคอื่น ๆ และแน่นอนว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
แล้วอะไร ? เป็นต้นตอของฝุ่นพิษ… การเผาในภาคการเกษตร ? ควันพิษจากอุตสาหกรรม โรงงาน ? หรือ มาจากไอเสียรถยนต์ ? ทุกปัจจัยที่กล่าวถึงอาจยังชี้ชัดลงไปได้ยาก แต่ที่ต้องยอมรับกันก่อน ก็คือไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรของการเกิดฝุ่น แต่มลพิษจากแหล่งกำเนิดเหล่านี้ ร่างกายทั้งนั้นที่รับผลกระทบไปเต็ม ๆ
The Active ชวน ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝุ่น PM2.5 คนแรก ๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด ให้ช่วยขยายความผลกระทบของฝุ่น ไล่มาตั้งแต่แหล่งกำเนิด ก็จะเห็นว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศไทย หลัก ๆ แล้วไม่ว่าฝุ่นจะมีแหล่งกำเนิดของฝุ่น มาจากการเผา, ควันเสียจากรถยนต์, อุตสาหกรรม, การก่อสร้าง และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ก็ตาม แต่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก็จะมีมลพิษที่ต่างกัน
เช่น ในป่าลึก ต้นไม้ก็ปล่อย PM2.5 ได้โดยจะเป็นการปล่อยสารระเหยที่เรียกว่า BVOC (Biogenic Volatile Organic Compounds) หรือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย แม้จะมีอนุภาคขนาดเล็กมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายมากเท่ากับ PM2.5 ที่มีองค์ประกอบของสารอันตราย หรือ สารก่อมะเร็ง อื่น ๆ
“แต่ถ้า PM2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาผลผลิตทางการเกษตร มาจากโรงงานอุตสาหกรรม และมาจากควันไอเสียรถยนต์ นอกจากปล่อยฝุ่น PM2.5 ออกมาแล้ว ยังเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง หลาย 100 ชนิด โดยเฉพาะ เบนโซเอไพลีน ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้”
ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญ ยังระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ยังพบสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่เรียกว่า PAHs ซึ่งมีหลายตัว โดยปกติสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ 16 ตัว และตัวที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ เบนโซเอไพรีน เพราะมันมีความเป็นพิษมากที่สุด จริง ๆ การปล่อยสารพิษออกมาจะมากน้อยไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นกับแหล่งกำเนิด อย่างไอเสียรถยนต์ดีเซล จะปล่อยมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็งมากกว่าแหล่งที่มีการเผาผลผลิตทางการเกษตร
เวลานี้หลายประเทศได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็ง PAHs ในชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ โดย WHO ได้กำหนดค่าสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่าง เบนโซเอไพรีน ในชั้นบรรยากาศ 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
หลายประเทศจึงกำหนดค่าเหล่านี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้พลเมืองของพวกเขาได้หายใจอากาศที่ถูกควบคุมคุณภาพจริง ๆ อย่าง เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ กำหนดว่า ต้องไม่เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, โครเอเชีย 0.1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, อินเดีย ไม่เกิน 5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อควบคุมคุณภาพอากาศในการหายใจของประชาชน
แต่สำหรับไทย ยังไม่กำหนดเรื่องการควบคุมค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศเลย ไทยมีเพียงค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่เพิ่งปรับเกณฑ์ให้มาใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานสากลมากขึ้น
เมื่อยังไม่กำหนดค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ ทำให้ยังไม่มีการกำหนดค่าการปล่อยสารมลพิษให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง ขนส่ง, อุตสาหกรรม ว่าต้องไม่เกินเท่าไร
ดังนั้นในฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มีผลกระทบเพียงตัวฝุ่นขนาดเล็ก แต่ยังมีสารพิษก่อมะเร็งที่มีความอันตรายมากกว่าที่คิดไว้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จึงเป็นอีกทางเลือก โดยเฉพาะหากได้กำหนดเรื่องความรับผิดชอบ ของผู้ก่อ และปล่อยมลพิษ
“สิ่งหนึ่งที่มีความชัดมาก ๆ คือ เมืองใหญ่ที่มีไอเสียจากยานพาหนะ จากเครื่องยนต์ดีเซล มีแนวโน้มที่จะปล่อยสาร PAHs ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ผมเคยทำการวิจัยทั้ง กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ พบว่า ค่าของสารก่อมะเร็งของเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ไม่ต่างกันมาก อย่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มี 7 ฉบับตอนนี้ แตะเรื่องมลพิษทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรมน้อยมาก ส่วนใหญ่จะพูด เพียง PM2.5, PM10, คาร์บอนมอนออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, โอโซน ซึ่งพวกนี้ไม่ต่างกับการวัดสุขภาพ วัดน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน ทุกอย่างผ่านตามเกณฑ์หมดปลอดภัย แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับสารก่อมะเร็ง ต้องมีค่ามาตรฐานที่ชัดเจน”
ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศ.ศิวัช ยอมรับด้วยว่า ถ้าไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสารก่อมะเร็ง ก็ไม่รู้ว่าสารก่อมะเร็งมีมากหรือน้อย เพราะไม่มีเกณฑ์มาตรฐานมาควบคุมภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องตรวจวัด ประชาชนก็ต้องอยู่ไปตามมีตามเกิด แล้วมารู้กันอีกทีว่าเป็นมะเร็งแล้ว ซึ่งก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
“เรากำลังสูญเสียโอกาสที่สำคัญ เพราะเรากำลังมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหน หรือ ของภาคประชาชนเอง ก็ไม่ได้ระบุถึงสารก่อมะเร็งเลย นี่เป็นคำถามในฐานะนักวิจัยไทย ว่าทำไมไม่ใส่เข้าไปด้วย”
ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ลืมอะไรไปหรือเปล่า ?
เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น ศ.ศิวัช จึงชี้ให้เห็นว่า ถ้าลองพิจารณาตีความ ‘แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ’ ที่ปรากฏอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทั้งหมด 7 ฉบับ จะพบว่า
- ประเด็นแรก มีเพียงร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ที่ตีโจทย์ปัญหามลพิษทางอากาศ ว่า ฝุ่น คือตัวการหลัก ซึ่งในความเป็นจริงนอกจากฝุ่นแล้วยังมี ก๊าซ ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพได้อย่างมหาศาล
- ประเด็นที่ 2 ไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับใด กล่าวถึงแหล่งกำเนิดทุติยภูมิ (secondary sources) ของฝุ่นพิษ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของ ปฏิกิริยาเอกพันธ์ หรือ ปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation reaction) สามารถทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้น (precursor) สำหรับการก่อตัวเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋ว
- ประเด็นที่ 3 ไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับใด กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 จากต้นไม้หรือป่า งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมา พบว่าค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกระหว่างช่วงปี 2554 – 2561 มีค่าค่อนข้างสูงอยู่รอบบริเวณเส้นศูนย์สูตร การที่ประเทศที่กำลังพัฒนาและไม่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่าง กลุ่มประเทศในแอฟริกามีค่า PM2.5 ในชั้นบรรยากาศสูงกว่ากลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เป็นการตอกย้ำว่า แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกิจกรรมมนุษย์เพียงอย่างเดียว สำหรับคำอธิบายที่ว่าเหตุใด PM2.5 ในชั้นบรรยากาศของประเทศเขตร้อนจึงมีค่าสูงกว่าประเทศที่อยู่ในเขตหนาว ซึ่งคำตอบน่าจะมาจาก ‘พันธุ์พืชในป่าเขตร้อน’ เนื่องจากต้นไม้ในเขตร้อนมีศักยภาพในการปลดปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจากพืช (Biogenic Volatile Organic Compound : BVOC) เช่น สารไอโซพรีน (isoprene) และ โมโนเทอพีน (monoterpene) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการก่อตัวเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋วอย่างเช่น PM2.5
- ประเด็นที่ 4 ไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับใด ที่กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 จากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในภาคการเกษตร จากผลงานวิจัยในประเทศจีน พบว่า แม้ว่าทางภาครัฐจะมีการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซน็อกซ์ (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากภาคคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด แต่ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ซึ่งมีแอมโมเนียมซัลเฟต (NH42SO4) และแอมโมเนียมไนเตรต (NH4NO3) ก็ไม่ได้ลดลงมากอย่างที่ควรเป็น ด้วยเหตุที่ว่าแอมโมเนีย (NH3) จากภาคการเกษตรมีผลอย่างมากต่อการสร้างฝุ่นทุติยภูมิในชั้นบรรยากาศของประเทศจีน
- ประเด็นที่ 5 ไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับใด ให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศในอาคาร (indoor air pollution) อย่างเช่น ธูป เครื่องถ่ายเอกสาร บุหรี่ ซึ่งในบางกรณีสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยได้มากกว่ามลพิษทางอากาศที่อยู่นอกอาคารเสียด้วยซ้ำ
จากข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษฝุ่น PM2.5 บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาด หนึ่งในคณะกรรมการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน และยังเป็น 1 ในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของสภาฯ เวลานี้ ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ชัด ๆ แต่อธิบายว่า ตามแผนแม่บทชาติแก้ปัญหาฝุ่นของรัฐบาล ตั้งเป้าว่า ปีหน้า (2568) จะกำหนดมาตรฐานมลพิษจากปลายปล่อง ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับรัฐบาลด้วย
ถ้าเทียบดูสาระหลักของร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่างกันแค่ บางร่างฯ เสนอให้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ กับอีกประเด็นคือ การใช้กองทุนเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปอภิปรายในชั้นกรรมาธิการ แต่เชื่อว่า ไม่กระทบต่อสาระหลักของกฎหมาย
ย้ำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับรัฐบาล เน้นแก้ปมปัญหาจากฐานภูเขาน้ำแข็ง
- ปัญหาการทำงานภาครัฐ ที่ขาดประสิทธิภาพในการทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง กฎหมายก็แยกย่อยหลายฉบับ งบประมาณก็ไม่บูรณาการกัน การทำงานจึงไม่มีประสิทธิภาพ
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของเกษตรกร เข้าไม่ถึงที่ดินทำกิน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูง ต้องปลูกพืชระยะสั้น และเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเผา
- ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกกำกับตลาดเสรี ทำให้เกิดปัญหาการรุกคืบของพืชระยะสั้น ที่เข้าไปทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำ โดยกฎหมายอากาศสะอาด จะช่วยตอบโจทย์เหล่านี้
“นโยบายตอนนี้คือการปรับปรุงระบบการทำงาน กลไกระบบราชการและนำไปสู่กลไกอย่างถาวรและนำไปสู่การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดที่จะเป็นตัวแก้ทั้ง 3 เรื่อง ตัวอย่างของการแก้ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกกำกับตลาดเสรี เราก็มีการออกแบบเครื่องมือใหม่ ๆ เข้าไปในกฎหมายอากาศสะอาด ที่มีทั้งการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง เรื่องของภาษีเรื่องค่าธรรมเนียม เรื่องการประกันความเสี่ยง ที่จะผลักดันเข้าไปใน พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหา”
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หากนึกภาพไม่ออกว่าชีวิตของเราอยู่กับฝุ่นพิษมากมายขนาดไหน ? ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ซึ่งอ้างอิงสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ล่าสุด สะท้อนชัดเจนว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา เฉพาะแค่คนกรุงเทพฯ มีอากาศดี ๆ ให้หายใจ คือ คุณภาพอากาศที่อยู่ในเกณฑ์เกณฑ์สีเขียว แค่ 31 วันเท่านั้น หรือ คิดเป็น 8.52% ของทั้งปี เพราะส่วนใหญ่ถึง 241 วัน มีอากาศคุณภาพปานกลาง คือ เกณฑ์สีเหลือง หรือคิดเป็น 66.21% ของทั้งปี
ที่น่าตกใจ คือมีถึง 78 วัน ที่คนกรุงต้องอยู่กับคุณภาพอากาศแย่ ๆ หรือในเกณฑ์สีส้ม หนักกว่านั้น คือวันที่อากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเกณฑ์สีแดง มีมากถึง 14 วันเลยทีเดียว
มลพิษเป็นปัญหาใหญ่ ที่กลไกการแก้ไขยังเดินตามไม่ค่อยทัน แต่ในเมื่ออากาศต้องหายใจทุกวัน จึงหนีไม่พ้นคำถามว่า เราต้องทนอยู่กับความเสี่ยงตายผ่อนส่งแบบนี้อีกนานแค่ไหน ?