โรงเรียนขนาดเล็กมักจะถูกตั้งคำถามถึง ‘คุณภาพ’ ด้วยข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนประมาณหนึ่งร้อยคนบวกลบ แถมยังมีแรงบีบที่ต้องมาคอยลุ้นว่าโรงเรียนจะโดนยุบหรือเปล่า ทำให้การพัฒนาเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยหนึ่งในเครื่องมือที่จะเข้ามาเสริมแรงให้กับคุณครูในโรงเรียนขนาดเล็กได้คือ SLC-PLC
The Active ชวนทำความรู้จักกับ SLC-PLC ว่าคืออะไร มีกระบวนการรูปแบบไหน แล้วจะเข้ามาแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างไร ผ่านมุมมองและการลงพื้นที่ทำงาน ของนักการศึกษา อย่าง ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรือ อ.ฮูก อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้เวลากว่า 6 ปี กับการทำงานที่นำ SLC-PLC มาใช้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ใน กทม. และหวังว่าจะเป็นต้นแบบที่ขยายผลไปยังอีกหลายพื้นที่
SLC-PLC คืออะไร?
ว่าด้วยตัวเรื่องตัวย่อภาษาอังกฤษ SLC หรือ School as leaning community โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1980 เครือข่ายอาจารย์ชาวญี่ปุ่น พบว่ามีโรงเรียนท้องถิ่นที่ไม่ค่อยโด่งดังจนถูกทิ้งขว้าง มีเด็กยากจน เด็กเกเรจำนวนมาก คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้รวมตัวลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้กัน เริ่มจากการลงไปทำงานกับโรงเรียนอย่างจริงจัง
ผศ.อรรถพล เล่าว่า ญี่ปุ่นมีระบบวัฒนธรรมการประชุมครู เป็นพื้นฐานอยู่ เขาใช้การประชุมครูเพื่อการพัฒนาบทเรียน หรือเรียกว่ากระบวนการ Lesson Study(LS) แล้ว SLC ต่อยอดมาจาก LS ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาบทเรียนเท่านั้น แต่คือการเอาบทเรียนเป็นเครื่องมือที่ทำให้รู้จักเด็กมากขึ้น จะให้น้ำหนักเรื่องการคุยกันเรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียน อาจเป็นการมานั่งคุยกันหลังจากเยี่ยมชั้นเรียนว่ากิจกรรมที่ออกแบบมา บทเรียนที่ออกแบบมา พอไปใช้จริง ๆ เด็ก ๆ เรียนรู้อย่างไร และการเรียนรู้ของเด็กเป็นเช่นไรในห้องเรียน ซึ่งนี้เป็นจุดเด่นที่แตกต่าง ซึ่งพื้นฐาน SLC อยู่บนปรัชญา 3 เรื่อง
- Public Philosophy ห้องเรียนเป็นพื้นที่สาธารณะ ต้องไม่ใช่พื้นที่ปิดที่ครูจะทำอะไรกับเด็กตามอำเภอใจได้ ต้องเป็นพื้นที่เปิดเพื่อการเรียนรู้ ครูสามารถนั่งคุยเรื่องของเด็กได้
- Excellence Philosophy เด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเด็กแต่ละคนสามารถเก่งคนละแบบได้ความเร็วช้าในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกัน เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะออกแบบห้องเรียนบทเรียน
- Democracy Philosophyไม่มีเด็กคนไหน ต้องถูกทอดทิ้งในห้องเรียนแม้แต่คนเดียว เด็กทุกคนล้วนสำคัญ
ฉะนั้นต่อให้เขาเป็นเด็กนักเรียนที่โตกว่าเพื่อนสองหรือสามปี หรือแม้แต่เป็นลูกหลานของแรงงานต่างด้าวมาเริ่มเรียนภาษาไทยช้ากว่าก็ต้องรู้ว่าเขากำลังเจอความยากในการปรับตัว ครูต้องช่วยทุกอย่างเพื่อให้เขาปรับตัวในห้องเรียนได้
ต่อด้วยอักษรอีก 3 ตัวคือ PLC หรือ Professional Learning Community ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยในแวดวงการศึกษา คือ การร่วมมือกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ PLC เป็นวงคุยคุณครู พัฒนาตัวเองเชิงวิชาชีพ ซึ่งคุยได้หลาย ๆ เรื่อง แต่ PLC ที่ใช้ในโรงเรียน SLC ใช้ในการคุยเรื่องเด็ก ฉะนั้นกิจกรรม คือการเอาเรื่องเด็กมาคุยว่า ใครเป็นอย่างไรอยู่ บางทีเด็กค่อนข้างเฉื่อย หรือเด็ก Active เกินไป เด็กไม่ค่อยมีส่วนร่วม โดยใช้สายตาของครูช่วยดู ในส่วนของครูจะได้เรียนรู้ว่าระหว่างสอนนักเรียน 20 คน เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร
กระบวนการจะเป็นการจับคู่ครูเพื่อที่จะดูแลเด็กควบห้อง และสลับกันดู เรียกว่าครูบัดดี้ กับครูโมเดล ในการทำงานจะต้องร่วมกันสังเกตุเด็ก ร่วมกันพร้อมกับออกแบบบทเรียนร่วมกัน
กระบวนการ 3 + 1 จากการทำงานโรงเรียนโมเดล
เรากำลังจะพูดถึงโรงเรียนวัดหัวลำโพงที่มีการดำเนินการทำ PLC มาเข้าปี ที่ 6 แล้ว ซึ่งระบบกิจกรรมหลัก ๆ มี 3 เรื่อง +1
หนึ่ง คือ ว่ามีการพัฒนาบทเรียนร่วมกันเรียกว่า LS Lesson study ซึ่งหนึ่งเทอมขอความร่วมมือว่าอย่างน้อยมี 3 บทเรียน 3 คาบที่ออกแบบร่วมกันครูโมเดล ก็ออกแบบเปิดห้องให้ครูบัดดี้มาเยี่ยมครูบัดดี้ ก็ไปเยี่ยมครูโมเดล คนละสามแสดงว่าหนึ่งเทอมคุณครูสองคนจะมีหกบทเรียนที่พัฒนาร่วมกันอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน
สอง คือ PLC ซึ่งจัดเป็นระยะโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถมเขาจะมีการประชุมครูประจำเดือนเพราะฉะนั้นจะมีการประชุมใหญ่เดือนละหนึ่งครั้งเรื่อง PLC แต่ที่จริงแล้วครูมีการคุยกันนอกรอบอยู่แล้ว เพราะทุกครั้งที่จะมีการเปิดชั้นเรียน นอกจากจะมีครูบัดดี้มาเยี่ยมก็จะชวนคุณครู คนอื่นมาคุยด้วย ก็เลยเหมือนมีกระบวนการนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาและตอนท้ายก็จะมานั่งถอดบทเรียนกันเพราะฉะนั้นกระบวนการแบบนี้มันทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดเวลา
สาม เป็นกิจกรรม OPEN CLASS ซึ่งปกติแล้วจะทำกันเองระหว่างบัดดี้ที่คู่กัน หรือเปิดรับคนนอก อย่างที่ผ่านมา อ.ฮูกเล่าว่ามีการเปิดรับครูจากโรงเรียนอื่นมาด้วย
เมื่อครูต่างโรงเรียนก็จะดี ครูต่างโรงเรียนมาดูก็จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างมาแบ่งปันกันกระบวนการแบบนี้ก็ทำให้คนนอกมาเรียนรู้ในโรงเรียน และขณะเดียวกันโรงเรียนก็เรียนรู้จักคนข้างนอกแต่ทั้งหมดทั้งมวลก็จะคุยกันเรื่องของเด็ก
โรงเรียนในเมืองไทยก็อาจจะพิเศษหน่อยเพราะมีการประชุมสรุปงานประจำปีเพื่อสรุปว่าในหนึ่งปีเรามีการเรียนรู้อะไรกันบ้าง ซึ่งก็จะมีการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับโรงเรียนพุทธจักรที่เป็นโรงเรียนมัธยม ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันกับโรงเรียนวัดหัวลำโพง สลับกันเป็นเจ้าภาพก็จะมาแบ่งปันกันว่าปีนี้ทั้งปีฝั่งโรงเรียนประถมทำอะไร ฝั่งมัธยมทำอะไรมีปัญหาอะไรที่เจอร่วมกัน
“ในมุมผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็มีการเข้ามาช่วยเวิร์คช็อปบ้าง หรืออาจจะมีการเชิญอาจารย์จากคณะมาคุยกับคุณครูเรื่องหัวข้อการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่นการไม่มีครูแนะแนว เราก็เชิญอาจารย์ที่สอนเรื่องแนะแนวจากคณะมาคุยว่าระหว่างที่หาครูแนะแนวมาประจำการไม่ได้ครูทุกคนต้องเป็นครูแนะแนวแล้วเขา ต้องทำอะไรบ้างก็ดึงจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมาสนับสนุน
หัวใจสำคัญของนวัตกรรม SLC-PLC
อ.ฮูก บอกว่า ต้องการให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ของครูในการเรียนรู้ในเรื่องของเด็ก จึงตั้งชื่อไทย อย่างย่อว่าเป็น โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนต้องมีคุณภาพมากขึ้นขณะที่ครูก็ต้องมีการเรียนรู้แต่การเรียนรู้ของครูไม่ใช่การเรียนรู้จากคนอื่นแต่ต้องกลับมาที่ห้องเรียนตัวเองห้องเรียนของเพื่อนครูด้วยกัน
อย่างเช่นครูโมเดลสอนภาษาอังกฤษแต่ครูบัดดี้สอนพละแต่เขารู้จักเด็กชุดเดียวกันเพียงแค่เจอกันคนละวิชาตอนเรียนพละเด็กคนนี้อาจจะแอคทีฟมาก ในการเรียนพละเพราะธรรมชาติของเขาเรียนรู้จากการเคลื่อนไหว อย่างภาษาอังกฤษในตอนเที่ยวเรียนแกรมม่าเด็กอาจจะไม่ชอบ เขาต้องนั่งฟังอย่างเดียวแต่หากมีกิจกรรมกลุ่มเด็กก็จะมีชีวิตชีวาซึ่งเป็นการที่ครูสอนวิชาสอนแตกต่างกันแต่แรกเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กรวมกันจะชวนให้เราเห็นเด็กในมุมที่ต่างกันมากขึ้น
“จริงๆไม่มีเด็กคนไหนที่สมบูรณ์แบบทุกมุมตั้งคนเก่งมากในตอนเรียนวิชาที่เป็นวิชาการแต่พอวิชาพละกลับไม่กล้า ลงมือทำไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้อาจจะมีปัญหาทักษะการอยู่ในกลุ่มเวลาเล่นกีฬาแต่หากในวิชาวิทยาศาสตร์เด็กบางคนไม่ชอบแต่ถ้าเป็นวิชาภาษาชอบมาก”
“แต่ถ้าครูได้คุยกันเรื่องเด็กมันก็เหมือนการเอ็กซเรย์เด็ก 180 องศาทำให้เห็นทุกมุมและพอเรามีการทำแบบนี้กับคุณครูจนเป็นวัฒนธรรมโรงเรียนหลายโรงเรียนคุยกันก็เลยกลายเป็นว่าครูทั้งโรงเรียนรู้จักเด็กหมดเพราะคุยกันเรื่องเด็กทุกวันจากการประชุมแบบ PLC”
โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถมครูไม่ได้แยกชั้นเรียน ครูหนึ่งคนอาจจะสอนหลายชั้นกลายเป็นว่าบางคนอาจจะรู้จักตั้งแต่ ป. 1 ตอนนี้มาเจอกันตอน ป.3 มาคุยกันอีกทีตอน ป.6 เห็นพัฒนาการเด็กมาโดยตลอด พอจับคู่กันจะเกิดการส่งต่อข้อมูลของเด็กที่ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเด็กยังไม่ได้ขึ้นไปชั้นที่สูงกว่านี้แต่คุณครูรู้จักเด็กไปแล้วเพราะเคยสังเกตุการณ์กันมาก่อน
ยิ่งทำไปเรื่อย ๆ บรรยากาศของการคุยกันในโรงเรียนคุณครูก็จะรู้จักเด็กมากขึ้น ปัญหาของเด็กในแต่ละคนถูกพูดถึงท่ามกลางบทสนทนาของคุณครูเหมือนกับเอาชีวิตเด็กคนนึงมาแล้วตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขามีปัญหาเรื่องนี้ที่บ้านเป็นอย่างไรต้องสนับสนุนเรื่องอะไรบ้าง ครูประจำชั้นไม่ต้องแบกเด็กคนเดียวไว้กลายเป็นครูทุกวิชาสามารถคุยกันเรื่องเด็กได้
SLC-PLC แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
เป็นทั้งจุดแข็งและความท้าทายในเวลาเดียวกันหลายคน มักจะคิดว่าโรงเรียนเล็กมีปัญหาเยอะเท่านั้น ซึ่งก็ปฏิเสธยากเหลือเกินที่จะไม่ยอมรับ แต่ อ.ฮูก ในฐานะของนักการศึกษาที่ลงไปทำงานในพื้นที่ พบว่า เจอครูหัวใจทองคำเยอะมาก
“คือเค้าอยู่กับเด็กและเด็ก 40-50 คน มีเด็กต่างชาติเยอะมากแต่กลายเป็นว่าโรงเรียนเหล่านี้คุณครูคุยกันเรื่องเด็กครบทุกคนอย่างทีมนักข่าวที่ลงกับผมก็จะเห็นว่าเดินสำรวจไป ด้วยกันครูจะรู้จักเด็กหมดทุกคน คือครูเห็นเด็กตั้งแต่อยู่ อนุบาลหนึ่ง จนจบ ป.6”
ด้วยที่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนเรื่องของความสัมพันธ์ในองค์กรที่พร้อมจะซัพพอร์ตเด็กอยู่แล้วและมีแรงบีบ เพราะโรงเรียนมันเล็กมันจะถูกตั้งคำถามเชิงคุณภาพ การทำงานเพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าโรงเรียนของมีคุณภาพ จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยความเข้มข้นและการคุยกันที่เยอะ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แล้วอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายโรงเรียน สเกลประมาณโรงเรียนเดียวกันที่มีเด็กประมาณ 100 ถึง 200
“ครูก็เห็นเด็กตั้งแต่วันแรกจนถึง ป.6 เพราะฉะนั้นครูแทบจะอยู่ในทุกช่วงชีวิตของเด็กจะรู้ว่าตอนนี้พ่อแม่เป็นอย่างนี้ตอนนี้บ้านมีปัญหาเรื่องการเงิน ตอนนี้เด็กกำลังเจอกับปัญหาอะไรอยู่คือเขารู้จักเด็กดีเพราะฉะนั้นโรงเรียนพวกนี้เวลาคุยเรื่อง SLC มันจะไปไวมาก”
เมื่อโรงเรียนก็ผูกพันกับเด็ก จะทำให้เด็กไว้ใจคุยกับโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นธรรมชาติ และถือว่าเป็นต้นทุนที่โรงเรียนขนาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ ยิ่งต้องทำโจทย์นี้จริง ๆ
อ.ฮูก เล่าเพิ่มเติมว่า อีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องของผู้อำนวยการที่ต้องเห็นความสำคัญของนวัตกรรมนี้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ยิ่งแรงบีบเรื่อง โดนยุบหรือเปล่ าซึ่งทำให้เขายิ่งต้องนำพาการทำงานเป็นทีมของครูให้ตอบโจทย์ เรื่องผู้ปกครองเรื่องความคาดหวังของสังคมให้ได้มากที่สุด
บวกกับว่าช่วงหลัง ๆ พอ นโยบายโอเน็ตไม่ได้บังคับแล้ว โรงเรียนเหมือนกับต้นไม้ได้ฝนที่แทบไม่ต้องมาบังคับแข่งขันกันด้วยคะแนนแบบนั้น ไม่รู้สึกกดดัน ต้องมานั่งบี้คะแนนวิชาการกับเด็ก และจะมาโฟกัสที่พัฒนาการของเด็กและจะมาดูเด็กเป็นรายบุคคลได้ง่ายมากขึ้นการกลับมาโฟกัสเรื่องเด็กตัวเองดีกว่า จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพหนึ่งในโรงเรียน
อ.ฮูก ยกกรณี ตัวอย่างว่า คนมักมองข้ามโรงเรียน กทม. ทั้งที่จริงโรงเรียนเหล่านี้ผลิตเด็กเก่งเข้า สพฐ. เยอะมาก แต่คนมักจะมองว่าโรงเรียน กทม. ไม่มีคุณภาพ แต่คำถามคือโรงเรียนเหล่านี้ใช่หรือไม่ ที่เตรียมความพร้อมเด็กตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง ถึง ป.6 จนกลายเป็น in put ที่ดีส่งไปยังโรงเรียนใหญ่ ซึ่งบางทีเรามองข้ามโรงเรียนเหล่านี้ไป
“โรงเรียนเหล่านี้จริง ๆ เป็นโรงเรียนของชุมชนเป็นโรงเรียนที่ปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังไม่ได้ พอเราได้ลงพื้นที่เสร็จไม่ต้องไปบุกป่าฝ่าดงขึ้นดอยที่ไหนอยู่กลางกรุงเทพเลยโรงเรียนที่มีนักเรียน 45 คนไม่ต้องไปชายขอบมาก อย่างเขตหนอง กทม. ก็ได้ ”
ซึ่งโรงเรียนแบบนี้ปิดไม่ได้เพราะโรงเรียน คือ ที่พึ่งสุดท้ายของชุมชนแล้ว เด็ก ๆ ที่อยู่ในชุมชน เดินไปเรียน เดินกลับบ้าน ถ้าไม่มีพื้นโรงเรียนแบบนี้รองรับเขา
“ผมว่าอันนี้ก็เป็นคำตอบสำคัญที่นโยบายของ กทม. ยุคนี้ก็จะเน้นว่าไม่ทอดทิ้งใครแม้แต่คนเดียว สร้าง inclusive city กัน การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญผ่านโรงเรียน กทม. ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ แล้วก็น่าจะเป็นเป้าหมายหนึ่งในการทำงาน”
อีกความท้าทาย อยู่ที่ว่า โรงเรียนเล็กในกรุงเทพฯ แอบยากกว่าโรงเรียนเล็กต่างจังหวัดตรงที่ว่า หลายครั้งที่ยุบไม่ได้ เพราะว่าเป็นผลมาจากความเป็นเจ้าของ โรงเรียนจะอยู่กับชุมชนสูง ชุมชนสร้างโรงเรียนมา พวกเขาเลยไม่ยอมให้โรงเรียนโดนยุบแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ใกล้กัน สำนักการศึกษาบอกว่าเคยลองมาหลายโมเดลแล้ว แต่มองลึก ๆ โรงเรียนใกล้บ้าน ความเป็นโรงเรียนกับชุมชนเป็นเนื้อเดียวกัน จากการลงพื้นที่ของนักการศึกษาพบว่าโรงเรียน กทม. เดินไปก็เป็นวัด ออกไปก็เป็นชุมชน เดินวนกันอยู่แค่นี้
โรงเรียนเล็กเหล่านี้ยิ่งต้องทำให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนให้มากขึ้นถ้ามันไม่ได้ขนาดรั้วติดกันก็อาจจะต้องมานั่งทบทวนเรื่องการยุบรวมกันแต่ถ้ามันยังอยู่คอมมูนิตี้ ใคร คอมมูนิตี้มันก็ยังต้องคงรักษาเค้าไว้แต่คงไม่ได้เป็นภาระขนาดที่ว่าต้องหาครูมา 9 คนเพื่อมาดูแลเด็ก 45 คน บางทีมันก็เป็นการลงทุนกับการศึกษาที่แพงมากแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ เช่น การจัดชั้นเรียนแบบห้องเรียนคละชั้น
ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็ต้องการสนับสนุน หลายอย่างมาก จะปล่อยให้ดิ้นรนลำพังไม่ได้ ซึ่งอันนี้ อ.ฮูก มองว่าก็เป็นโจทย์ที่คุยนอกรอบกันไว้กับทีม กทม. จะเอาอย่างไรดีกับเรื่องโรงเรียนเล็กในกรุงเทพฯ กำลังวางแผนร่วมกันว่าจะทำแบบไหนได้บ้าง
ก่อนหน้าเมื่อประมาณ 6 ปี นวัตกรรมนี้ถูกทดลองในโรงเรียนวัดหัวลำโพงซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดี กระทั่งเข้าปีที่ 3 – 4 มีการระบาดของโควิด – 19 โรงเรียนปิดไปแต่กระบวนการ PLC ของโรงเรียนวัดหัวลำโพงกHยังคงดำเนินไปในรูปแบบการสังเกตการณ์ และประชุมครูออนไลน์ เอาสิ่งที่ครูเจอจริง ๆ มาแลกเปลี่ยนและคุยกัน หลายโรงเรียนที่กระบวนการนี้ฟื้นคืนมาได้เพราะว่าเกิดการคุยกันนอกรอบและคุยกันจริงจังยิ่งช่วงโควิดสองปี กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะมาก เช่น การสอนออนไลน์ ช่วงสองเดือนที่เปิดเทอมมาครูจะคุยกันเรื่อง Learning loss เยอะมาก ซึ่งสิ่งที่ครูคุยกันไปไกลกว่านักวิชาการเยอะมากเพราะสิ่งที่เขาคุยมาจากห้องเรียนจริง ๆ ไม่ได้มาจากการอ่านเปเปอร์ภาษาอังกฤษ
“หลายโรงเรียนก็เห็นว่าโรงเรียนวัดหัวลำโพงทำเรื่องนี้ต่อเนื่องมาสามปีแล้วและโรงเรียนก็จะอัพเด็กๆ ขึ้นหน้า Facebook ตลอดว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ครูโรงเรียนอื่น ๆ รู้ข่าวก็อยากรู้ว่าทำแบบไหนกิจกรรมเหล่านี้คืออะไรจริง ๆ วางแผนการทำงานนี้ตั้งแต่ก่อนโควิดแต่พอมาเจอโควิดก็ต้องชะลอไว้ก่อนหลังจากโควิดซาก็ต้องเริ่มทำเรานั้นมีการนัดแนะกันเรียบร้อย
เมื่อโควิดบรรเทาลง ประจวบเหมาะกับ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เป็นผู้ว่าฯ กทม. พอดี ซึ่งมีนโยบายหนึ่ง ที่พูดถึงนโยบายการเรียนรู้ จึงมองว่านี่ถือเป็นโอกาสเพราะมีแรงส่งเสริมนโยบายโรงเรียนกรุงเทพมหานคร โรงเรียนที่สนใจทำเห็นถึงโอกาสและความพร้อมของตัวเอง จึงรีบคว้าและเร่งมือเริ่มโครงการเลยทันทีที่ผู้ว่าฯ ประกาศนโยบาย และคาดว่าจะทำทั้งเขต 5 โรงเรียน โดยให้โรงเรียนวัดหัวลำโพง เป็นแม่ข่าย และจะช่วยเชื่อมโยงทีมนักการศึกษา ก็เลยเกิดคอนเซ็ปต์ว่าถ้าอย่างนั้นมาทำให้มันเป็นโมเดลของเขตได้ไหม?
ตอนแรกเหมือนเป้าหมายของทีมนักการศึกษาที่ทำงาน SLC – PLC อยากทำกระบวนการนี้กับโรงเรียนใน กทม. ขนาดเล็กทำกับ สพฐ. ด้วย แต่พอดีว่าตอนนี้กรุงเทพมหานครเค้าเคลื่อนไหวก่อน
กลายเป็นว่าตอนนี้ตัวนวัตกรรม SLC – PLC กำลังถูกปั้นให้เป็นโมเดลการจัดการโรงเรียนใน กทม. เริ่มจากโรงเรียนขนาดเล็ก ในเขตบางรักและตั้งชื่อว่าเป็น บางรักโมเดล
บางรักโมเดลการจัดระบบการศึกษา ใน กทม. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ตอนนี้นอกจากบางรักโมเดลแล้ว จริง ๆ กทม. มีโรงเรียนที่ทำอะไรคล้าย ๆ แบบนี้อยู่แล้วเช่นการทำ PLC ทีมนักการศึกษาเลยคุยกันว่า ถ้าอย่างนั้น กลับมาทบทวนกันก่อนว่ามีโรงเรียนไหนที่ทำแบบนี้อยู่แล้วบ้าง ชวนปัดฝุ่นกันหน่อย เพราะโควิดที่ปิดโรงเรียนไป ไม่ได้ทำ จากการหาข้อมูลพบว่ามีอยู่กันประมาณ 12 โรงเรียน
“ถ้าเทอมหน้าพร้อมเราก็จะเคลื่อนไปด้วยกันระหว่างโรงเรียนเขตบางรักใหม่ 5 โรงเรียนกับโรงเรียนที่มีต้นทุนเดิมประมาณ 12 -13 โรงเรียน ก็จะกลายเป็นว่า กทม. อาจจะมีประมาณ 18 โรงเรียนแล้วช่วงประมาณมีนาคมปิดเทอมเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากันว่าจะขยับอย่างไรต่อ”
อ.ฮูก คาดว่า ภายในสองปี อยากให้มีโรงเรียนครบ 50 เขต ทั่ว กทม. ทุนในตอนนี้มี 11 เขตแล้ว ถ้าเริ่มทำไปต่ออีกซักประมาณ 15 เขต ภายในสองสามปีนี้ทุกเขตจะมีโรงเรียนแบบนี้ให้เห็นอยู่ และพอมีตัวอย่างแล้วโรงเรียนที่อยากเรียนรู้ก็มาร่วม
“เราคำนึงถึงต้นทุน อย่างสถาบันฝึกหัดครูเพราะว่าสำนักงานก็บอกว่ามีมหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกันอยู่เยอะ แถวปริมณฑลเพราะอย่างบางโซนแถวหนองแขมเขาก็ได้ราชภัฎนครปฐมมาช่วยหรือแถวที่ออกไปฝั่งลาดกระบังก็ได้ราชภัฎราชนครินทร์ซึ่งก็จะมีอาจารย์ที่ทำโครงการ PLC อยู่ เราก็เลยมองว่านอกจากการทำงานอยู่ในพื้นที่โรงเรียนแล้วเราก็อยากจะมีเครือข่ายสถาบันฝึกหัดครูที่มีต้นทุนทำงานเรื่องเหล่านี้มาร่วมกับโรงเรียนแล้ว”
ซึ่งก็หมายถึงว่าโรงเรียนจะมีพี่เลี้ยง ให้มีอาจารย์ฝั่งมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วยและเกาะกลุ่มเรียนรู้ไปด้วยกัน เหมือนกับเป็นการทำงานทั้งแนวดิ่งและแนวราบควบคู่ไปด้วย การเริ้มต้นด้วยโรงเรียนที่มีต้นทุนพร้อมอยู่เป็นตัวที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และชวนคนมาดูเวลา open class ว่ามีกระบวนการคุยกันแบบไหน และลำดับขั้นตอนอย่างไร แม้อาจจะมีบริบทโรงเรียนที่ไม่เหมือนกันแต่ไปด้วยเป้าหมายเดียวกันกิจกรรมหลัก ๆ อย่าให้ต่างกันมากนัก และก็เติบโตไปด้วยกัน
“เราไม่ได้คาดหวังว่า 437 โรงเรียนของกรุงเทพมหานครจะต้องเป็นแบบนี้ทั้งหมดภายในระยะเวลาสี่ปี อันนั้นมันคิดภาพฝันที่ไกลหน่อย แต่เราอยากเห็นอย่างน้อยน้อยทุกเขตมีโรงเรียนแบบนี้ปรากฏตัวให้เห็นเป็นหย่อมยอมขึ้นมาอย่างน้อยซักเขตละสองสามโรงเรียนปรากฏขึ้นมาที่แข็งแรงแล้วและเวลาขึ้นลูปใหม่ของการทำงาน ในสองสามปีนี้”
ด้วยปรัชญาของ SLC ที่ มาซาอากิ ซาโต อดีตครูใหญ่โรงเรียนประถมฮิโรมิ และโรงเรียนมัธยมต้นกักคุโย เมืองฟูจิ จังหวัด ชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SLC กล่าวว่า คือการคิดการออกแบบชั้นเรียนบทเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กเพื่อจะลดช่องว่างของความไม่เท่ากันในทางเชิงกายภาพความสามารถ มันเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพของการเรียนรู้และความเหลื่อมล้ำในเรื่องของคุณภาพชีวิตที่โรงเรียนจะช่วยกันอุดรูรั่วให้เด็ก
ก็กล่าวได้ว่ามันเป็นเครื่องมือสำคัญและมันทำผ่านงานของครูโดยตรงที่ไม่ใช่เรื่องการหาทุน คุณแค่นึกถึงห้องเรียนเรามีเด็กเรียนช้าอยู่สามคน มีเด็กไฮเปออีกสองคน จะออกแบบบทเรียนยังไงให้เด็กไปด้วยกันได้โดยไม่ต้องแบ่งเด็กไปห้องคิง ห้องกลาง หรือห้องอ่อน แค่นี้มันก็คิดแล้วว่าจะออกแบบยังไงให้เด็กเรียนรู้ไปด้วยกัน และไม่ให้เพื่อนรู้สึกเป็นภาระเวลาทำงานกับเพื่อนที่อาจจะต้องช้าในบางวิชาเพราะต่อให้เป็นเด็กที่ช้าในบางวิชาเช่นวิชาคณิตศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าเขาจะช้าทุกวิชา บางวิชาเขาอาจจะกลายเป็นตัวหลักก็ได้
ผศ. อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า รูปแบบนี้น่าจะเป็นทางออกของหลาย ๆ โรงเรียนซึ่งมองว่า วัฒนธรรมโรงเรียน มันกำลังล้า ครูไม่ค่อยมีพื้นที่ในการคุยกัน อาจหมดความหวังในการพัฒนาเด็กอะไรแบบนี้ ก็ลองมาใช้กระบวนการนี้ในการเรียนรู้ไปด้วยกัน
“ผมมองว่าโรงเรียนเหล่านี้เต็มไปด้วยครูหัวใจทองคำ เขาไม่ทิ้งเด็กจริง ๆ ให้เขาไล่ได้หมดว่าใครมีปัญหาเรื่องอะไรอย่างไรอยู่บ้าง ซึ่งถามว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเขาก็อยากได้โรงเรียนแบบนี้ใช่ไหมในการดูแลลูกหลานตัวเอง และสังคมไทยก็น่าจะต้องอยากให้โรงเรียนคืนเวลาของครูมาคุยกันเรื่องแบบนี้คุยกันเรื่องเด็กมากขึ้นจะได้ครูเป็นคุณครูจริง ๆ”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า SLC เป็นนวัตกรรมการศึกษา และมีกระบวนการ PLC เป็นเครื่องมือปฏิบัติ