‘Hack BKK’ ประลองไอเดีย พัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรม

Open Data : Open Bangkok เคลื่อนเมืองด้วยข้อมูลเปิดสาธารณะ

Open Bangkok เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดข้อมูลสำคัญของการบริหารราชการ ให้ประชาชนได้รับทราบ ร่วมตรวจสอบ และสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อต่อยอดการพัฒนาในมิติต่างๆ แบ่งเป็น 5 หมวดเนื้อหา คือ 1. Open Data การเปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน 2. Open Contract การเปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เพื่อแสดงความโปร่งใส 3. Open Policy ประสานเครือข่ายสร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบาย 4. Open Innovation นวัตกรรมจากภาคประชาชนนำมาปรับใช้กับ กทม. และ 5. Open Service คือ การทำให้การทำงานบริการพื้นฐานของ กทม. มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและดำเนินงาน

หนึ่งกรณีตัวอย่างที่ถูกนำมาใช้นำร่องแล้ว คือ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) แอปพลิเคชันและไลน์ รับเรื่องร้องเรียน ในคอนเซ็ปต์ “รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม.” ซึ่งได้รับความสนใจและสร้างการมส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองโดยประชาชนอย่างมาก แม้จะเป็นแพลตฟอร์มทั่วไปที่ใช้กันมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2018 จากการพัฒนาของ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และทีมงาน แต่เมื่อนำมาใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ช่วยให้แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของเมืองได้อย่างทันท่วงที

ขณะเดียวกัน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ก็เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบทำงานด้วยกลไกราชการแบบเดิม เจ้าหน้าที่ต้องฝึกใช้แอปพลิเคชัน เพื่อรับเรื่องรายงาน ดำเนินการ และแสดงผลการแก้ไข หากมีการทำงานล่าช้าระบบจะแสดงข้อมูลทันที ขณะเดียวกันการดำเนินการที่แล้วเสร็จก็จะถูกแสดงผลเป็นผลงานของสำนักงานเขตนั้นๆ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่ฉับไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแบบที่คนกรุงฯ รับรู้ได้ หากประเมินความพึ่งพอใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ กทม. วันนี้ ก็คงได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากการใช้แอปพลิเคชันรับเรื่องร้องเรียน ยังมีแพลตฟอร์มบันทึกการทำงานและนโยบายของ กทม. ในด้านต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ ติดตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน “ปลูกอนาคต” เพื่อติดตามกาารเติบโตของต้นไม้ที่ร่วมปลูกในแคมเปญ ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น กับ ชัชชาติ’ หรือ การแสดงงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. ในรูปแบบของกราฟฟิก และยังมีอีกหลายเครื่องมือที่บ้างอยู่ระหว่างการพัฒนา บ้างก็เผยแพร่นำมาใช้งานแล้ว และยังมีแนวทางที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มและนวัตกรรมอีกมากมายเพื่อนำมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. ภายใต้การดำเนินงานของ ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล’ โดยการจัดตั้งของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และคณะ พวกเขากำลังจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

เมื่อนวัตกรคือทรัพยากรสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ กทม. จึงเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในแคมเปญ “บางกอกวิทยา” ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมทั่วกรุงเทพมหานคร และหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Hack BKK

Hack BKK เคลื่อนเมือง ด้วยนวัตกรรม

ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) เล่าว่า นับตั้งแต่ ‘ชัชชาติ สิทธิ์พันธ์ุ’ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาและสมาชิกสมาคมฯ หลายคน ก็อาสาเข้ามาเป็นทีมงานช่วยดูแลเรื่องการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลขับเคลื่อนการทำงานด้านต่าง ๆ ของ กทม. ในนาม ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล’ ในโอกาสที่ กทม.​จัดเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ ให้เดือนสิงหาเป็นเทศกาลของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทางสมาคมฯ และ กทม. จึงร่วมกันจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นคือ Hack BKK ระหว่างวันที่ 6-25 สิงหาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการได้มีส่วนร่วมในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทํางานเพื่อแก้ปญหาเมืองและขับเคลือนนโยบายให้ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม

Hack Bkk คือ Hackathon ในพื้นที่ Bangkok หรือ กรุงเทพฯ ซึ่งคำว่า แฮกกาธอน (Hackathon) ก็มีที่มาจากการรวมคำว่า “แฮก (Hack)” ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ กับ “มาราธอน (Marathon)” ที่หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน รวมกันแล้วให้ความหมายถึง การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ (Themes) ภายในระยะเวลาจำกัดตามที่ผู้จัดงานกำหนด ทั้งนี้ โดยบรรดานักนวัตกรรม นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยี นักออกแบบกราฟิก วิศวกร นักการตลาด และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในลักษณะทีมและตัวแทนของแต่ละทีมออกมานำเสนอผลงานเพื่อให้ผู้จัดงานตัดสินหาทีมผู้ชนะ

โดยกิจกรรม Hack BKK ครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน สำหรับประชาชนทั่วไป และสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์พร้อมให้บริการ

1. Public Track “Hack From Anywhere” เปิดกว้างสำหรับประชาชนที่สนใจนได้เสนอไอเดียแก้ปัญหาผ่าน นวัตกรรม ภายใต้โจทย์ 13 หัวข้อจากทาง กทม. ได้แก่
1) ระบบการจัดการและช่วยเหลือคนไร้บ้าน
2) การจัดทําฐานข้อมลู ห้องเช่าราคาถูก (1,000 – 2,000 บาท)
3) Crowdsourcing Risk Map เรื่องน้ำท่วมและการแจ้งเตือน
4) การขึ้นทะเบียนและการบำรุงต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการคํานวณ Carbon Footprint และข้อมูลทางนิเวศวิทยาอื่น ๆ
5) การจัดการฝุ่น PM2.5
6) ระบบดูตําแหน่งรถเมล์และการขนส่ง ธารณะ แบบ real-time ที่ใช้ง่ายและไม่มีค่าบริการ
7) ระบบการ track ทะเบียนสายไฟและสายระบบสื่อสารใน กทม. รวมถึงการบันทึกข้อมูลสายไฟใหม่และการป้องกันสายไฟถูกขโมย (รองรับการเอาสายไฟลงดิน)
8) ระบบช่วยประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยมีการเชื่อมฐานข้อมูลจํานวนชั้น และประเภทอาคาร ให้เข้ากับฐานข้อมูล GIS
9) แพลตฟอร์ม การมีส่วนร่วมและสื่อสารสําหรับสภาคนเมืองประจําเขต
10) สร้างแรงจูงใจคนกรุงเทพฯ รักสุขภาพ
11) นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ ง่าย รวดเร็ว
12) ติดเทคโนโลยีให้อาสาสาธารณสุข
13) ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ระหว่างโรงพยาบาล-กู้ภัย

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 19 สิงหาคม 2565 ทางลิงก์ bit.ly/ThaiStartup_Hackbkkform และจะมีการประกาศผล 10 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 12.00 น. ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Thai Startup – สมาคมไทยสตาร์ทอัพ

สําหรับ 10 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ทางหน่วยงานจะเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและโหวตผลงานที่สนใจ เพื่อเฟ้นหารางวัลขวัญใจมหาชน “Popular Vote” ตั้งแต่ วันที23-25 สิงหาคม 2565 ทางเฟซบุ๊กThaiStartup-สมาคมไทยสตาร์ท อัพ

“คือพอทำงานกับ กทม. มาสักพักเราก็เห็นว่ามีทั้งโอกาสและอุปสรรคในการเดินหน้านโยบาย 216 ข้อของ อ.ชัชชาติ ซึ่งพบปัญหาคล้ายๆ กันคือข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆ ของทางราชการ เป็นที่มาว่า Hack BKK อยากจะให้มีไอเดียใหม่ ๆ สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา และเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ในการสร้างภาคีความร่วมมือเปลี่ยนกรุงเทพฯ จึงจัดให้มีพื้นที่ pitch งานของทั้งภาคประชาชน และเป็นพื้นที่เรียนรู้ของข้าราชการ กทม. ด้วย”

ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)

ส่วนที่ 2 คือ Startup Track: “เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม” สําหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการพร้อม ร่วมพัฒนาแนวทางใน 7 หัวข้อ ได้แก่
1) ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ
2) ระบบการขึ้นทะเบียนและจัดการหาบเร่แผงลอย
3) แพลตฟอร์ม ส่งเสริม และจัดการร้านค้ารายย่อย
4) ระบบการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน
5) การเชื่อมต่อฐานข้อมูลชุมชนที่อยู่อาศัย และประชาชนสําหรับ OpenData
6) ฐานข้อมูล ห้องพัก ราคาที่เข้าถึงได้สําหรับ ผู้เริ่มต้นงาน
7) การบริการที่ทั่วถึงสําหรับคนพิการ

โดยทางทีมงานได้คัดเลือก 7 ทีมมาทําการแฮ็กหรือหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ จากทาง กทม. ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชัน 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กรุงเทพมหานคร และในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 จะมีการไลฟ์สตรีมมิ่ง การนําเสนอ ไอเดีย ของผู้ผ่านการคัดเลือก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการรับฟัง และแสดงความคิด เห็น ก่อนที่จะนำผลงานที่ได้รับการคัดเลือกไปเสนอในงาน Techsauce Global Summit 2022 ณ ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยามในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ต่อไป

”อย่างเรื่องการจองพื้นที่สาธารณะ สำหรับการทำกิจกรรม ก็มักจะเจอปัญหาข้อติดขัดเรื่องการขออนุญาต การทำเอกสารมากมาย แต่ถ้าเรามีฐานข้อมูลออนไลน์ บอกได้ว่าพื้นที่ที่ไหนว่าง อยู่ที่ไหนบ้าง ติดต่อที่ไหนยังไง ก็จะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างสะดวกมากขึ้น ในเรื่องนี้อาจต้องจัดให้มีตัวแทนข้าราชการจากสำนักพื้นที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ในส่วนพื้นที่ของ กทม. เข้าร่วมกิจกรรม Hack BKK ด้วย​ โมเดลนี้จะเป็น B2G (Business to Government -การประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ) ”

ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)

การส่งเสริม Startup ดีที่สุด คือการที่รัฐ เอา Startup ไปใช้

ธนกฤษณ์ ยกตัวอย่าง ระบบการขึ้นทะเบียนหาบเร่แผงลอย เดิมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำเขต ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องของการเจรจา การจัดระเบียบ และข้อครหาเรื่องการเก็บส่วยมาโดยตลอด เมื่อมีนโยบายจัดระเบียบโดยให้ขึ้นทะเบียบหาบเร่แผงลอยพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่อยากขึ้นทะเบียนเพราะกลัวจะต้องเสียภาษี แต่เมื่อไม่มีฐานข้อมูลทางการเงิน ก็มีผลเสี่ยงเรื่องการขาดโอกาสทางการลงทุน เช่น การขอกู้กับธนาคารเช่นกัน มีผลทำให้ต้องไปพึ่งพาระบบเงินกู้นอกระบบ และเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก

“เราต้องทำความเข้าใจให้เขารู้ว่าการขึ้นทะเบียนไม่ได้มีข้อเสียเพียงอย่างเดียว พ่อค้าแม่ค้าบางคนอาจไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่จะมีฐานข้อมูลที่ทำให้ขอกู้เงินกันธนาคาร กู้เงินในระบบได้นะ ปลอดภัยกว่าเงินนอกระบบตั้งเยอะ เราต้องเอาความต้องการของผู้ใช้เป็นที่ตั้ง ซึ่งหากเขาไม่มีความรู้ในการยื่นภาษีออนไลน์ ก็มีสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องการยื่นภาษีแบบง่าย ๆ ที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ต่อได้ หรืออาจมีโปรแกรมสำหรับช่วยให้ข้อมูลการจัดการหนี้นอกระบบที่มีอยู่เดิม แก้ปัญหาในชีวิตเขาได้ แบบนี้ก็จะทำให้ได้รับความร่วมมือมากขึ้น”

ธนกฤษณ์ อธิบายว่า การเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลจะเป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพจะได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้อำนวยความสะดวก และจะทำให้เกิดสตาร์ทอัพ มากมายขึ้นในไทย ซึ่งหากว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยเปลี่ยนจากการลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชันใช้เอง ซึ่งหลายครั้งทำออกมาก็ใช้งานไม่ได้ดี เกิดการใช้งานน้อย มาให้โอกาสสตาร์ทอัพเข้ามาร่วมจัดการอาจเกิดประโยชน์มากกว่าทั้งในแง่การบริหารราชการและการส่งเสริมธุรกิจเอกชน

“ที่อินโดนีเซียดีมาก สิ่งที่หน่วยราชการอินโดนีเซียทำ คือสร้างระบบเชื่อมต่อ ให้ภาคเอกชน เข้ามาหยิบข้อมูลส่วนกลางไปใช้พัฒนาแอปฯ เองได้ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียเงินจ้าง ทำไมถึงทำให้ฟรี เช่นในกรณี แอปฯ จำหน่ายตั๋วรถไฟ ผู้พัฒนาอาจสร้างรายได้จากทางอื่น เช่น หักเงินจากราคาตั๋ว ขายโฆษณา หรืออื่น ๆ แทน ถ้าเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพทำกี่เจ้าก็ได้ ก็จะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่หลากหลายขึ้นมา แบบนี้รัฐก็มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวน้อยด้วย”

ธนกฤษณ์ ย้ำว่า ในโอกาสที่มีการแข่งขัน Hack BKK นับเป็นโอกาสสำคัญมากที่จะช่วยทำให้สตาร์ทอัพของไทยมีจุดยืนในสังคมที่ชัดเจน และพิสูจน์ว่าสตาร์ทอัพในฐานะผู้ประกอบการเอกชนก็ทำงานร่วมกับราชการได้

“นวัตกรในฐานะประชาชนคนไทย ทุกคนอยู่ในเมืองไทยมีความต้องการอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น อยากเป็นนวัตกรที่สร้างผลงาน ตอบโจทย์คนไทย อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ใครจะแคร์นอกจากคนไทยด้วยกันเอง สตาร์ทอัพก็สร้างแพลตฟอร์ม ไทยสู้ภัย รวมตัวกันมาช่วย เราพยายามสร้างแรงขับเคลื่อนการทำงานระหว่างรัฐและสตาร์ทอัพ เป็นต้นแบบกระบวนการที่ไม่ใช่ว่ารัฐเป็นผู้คุมกฎทุกอย่าง แต่เราช่วยกันบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ ให้สตาร์ทอัพโต และมีการบริการมากขึ้น”

ปัจจุบัน นวัตกรรมในเมืองไทย ตามการจัดลำดับ GII หรือ Global innovation index ในปี 2021 ไทยอยู่ที่ลำดับ 43 จากทั่วโลก ขยับขึ้นมา 1 ลำดับจากที่ 44 ในปี 2020 แต่ยังพบว่าการลงทุนด้านนวัตกรรม และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เครือข่ายสมาคมสตาร์ทอัพไทย จึงหวังว่าหากความร่วมมือในการทำงานกับ กทม. สร้างรูปธรรมความสำเร็จ และโครงการ Hack Bkk เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ก็จะเป็นโอกาสที่เมืองใหญ่แห่งอื่น ๆ ของไทย จะหันมาใช้สตาร์ทอัพ และนวัตกรคนไทย ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเช่นกัน


The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้