‘พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล’ กับจุดเปลี่ยนสู่การบ่มเพาะประชาธิปไตยเสรี
หากจะพูดไป ชีวิตของคน ๆ หนึ่งอาจมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ที่ทำให้ใครคนนั้นเติบโต หรือไม่ก็ตกต่ำ เมื่อเราเฝ้าสังเกตชีวิตในระยะเวลาที่ยาวนานสักหน่อย
สำหรับพี่แมรี่เมื่อเท้าความกลับไป ชีวิตของเธออาจจะเริ่มต้นจริง ๆ เมื่อเธออยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ถูกท้าทายในชั้นเรียนปริญญาโทที่สหราชอาณาจักร ด้วยสายตาเย้ยหยันหรืออาจจะเป็นการดูแคลนในห้องเลคเชอร์ที่มหาวิทยาลัย ได้เปลี่ยนเด็กสาวคนหนึ่งที่ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของเธอคืออะไร ให้กลายมาเป็น ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ภายในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
กรุงเทพฯ
พี่แมรี่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง และถูกฟูมฟักจากพ่อแม่ที่มีทัศนะที่เปิดกว้าง จึงมีอิสระพอควรในการเรียน เล่น และเที่ยวกับเพื่อน ความเข้มงวดและแรงกดดันในการเรียนมีไม่มาก เธอจึงมีชีวิตวัยรุ่นที่สนุกสนาน จนบางครั้งเป้าหมายในชีวิตจึงไม่ถูกตั้งปักหมุดหมายเอาไว้ การเรียนจนกระทั่งจบปริญญาตรีในเมืองไทยจึงเป็นไปอย่างเรื่อย ๆ ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ ไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการเป็นอะไร ชีวิตทางการงานดูแล้วก็ราบรื่น เพราะมีธุรกิจของครอบครัวให้สานต่อ การเรียนบริหารธุรกิจก็ตอบโจทย์ในตัวมันเองอยู่แล้ว และพี่แมรี่ก็พอใจในชีวิตแบบนี้พอสมควร เว้นเสียแต่ว่าเธอชื่นชอบ ดู และอ่านข่าวต่างประเทศเป็นชีวิตจิตใจ เธออาจไม่ได้ให้ความสนใจนี้เป็นสิ่งพิเศษ แต่พ่อและน้องสาวของเธอสังเกตเห็น
มองในมุมตัวตนภายใน บรรยากาศในครอบครัวดูเหมือนจะบ่มเพาะหล่อหลอมความเป็นเธอในอนาคต และรวมไปถึงบุคคลิกภาพของเธอเอาไว้อย่างมีขั้นตอน พ่อของพี่แมรี่เป็นนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองเก่าแก่ เธอจึงมีโอกาสได้พบปะ แม้จะไม่ได้คลุกคลีอย่างจริงจัง แต่เธอก็ได้รับรู้ผ่านสัญชาตญาณที่เธอค่อย ๆ สั่งสม จากบทสนทนาบางบท ประเด็นทางการเมืองบางประการ ความขัดแย้ง การต่อรอง และการสร้างสมดุลของสายสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้ที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศของมิตรสหาย และการทำงาน
พ่อเป็นคนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทในการให้ความรู้ ประวัติศาสตร์ทางการเมือง และประวัติความเป็นมาของบุคคลผ่านเรื่องเล่า ที่ในวัยเด็กซึ่งเธอรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน สิ่งเหล่านั้นคงแทรกซึมเข้าไปอยู่ในความเป็นตัวเธอไม่มากก็น้อย
สหราชอาณาจักร
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยในเมืองไทย น้องสาวของเธอได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว และได้แนะนำให้พี่แมรี่สนใจวิชารัฐศาสตร์ เพราะความสนใจข่าวต่างประเทศตั้งแต่เด็กและบรรยากาศการเมืองที่ล่องลอยอยู่รอบตัว เธอเห็นว่ามันก็น่าสนใจดีและไม่เสียหายอะไรหากจะลองดู
วันหนึ่งเธอก็พบตัวเองอยู่ในห้องเลคเชอร์มหาวิทยาลัยในมิดแลนส์ ท่ามกลางนักศึกษาจำนวนหนึ่ง และโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชารัฐศาสตร์
โปรเฟสเซอร์มองมาที่เธอ, นักศึกษาสาวชาวเอเชีย, ในห้องเลคเชอร์ว่าด้วยวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วถามว่า “ได้อ่านตำราเล่มไหนมาบ้างในลิสต์หนังสือที่ต้องอ่าน”
คุณเข้าใจความรู้สึกนี้ไหม – นักศึกษาที่ผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ภาษาอังกฤษพอได้ และเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้องเรียนภาษาเพิ่มเติมที่ประเทศเจ้าของภาษาอีกอย่างน้อยหกเดือนถึงหนึ่งปี ที่มหาวิทยาลัยในเวลส์เธอเข้าห้องเลคเชอร์ปริญญาโทวันแรก คนละสาขากับที่คุณเคยเรียนมา แล้วถูกโปรเฟสเซอร์ถามท่ามกลางนักศึกษาชาวต่างชาติเต็มห้อง ต่อให้คุณเป็นคนเรียนดีก็เถอะ คุณคงนึกสภาพเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญกว่านั้น ลิสต์หนังสืออะไร พี่แมรี่ไม่รับรู้ และไม่ได้อ่านอะไรไปสักเล่มเดียว
ความเงียบ – เป็นคำตอบของนักศึกษาสาวชาวเอเชียคนนั้น
สายตาของเพื่อนร่วมห้องมองมาที่เธอหรือเปล่าเธอไม่ได้รับรู้ เพราะสายตาของคนที่ถามมองมาอย่างว่างเปล่า อาจเป็นการตำหนิติเตียน เป็นความอิดหนาระอาใจ หรือเป็นการดูแคลนก็แล้วแต่ และถึงแม้จะไม่ชอบสายตาที่มองมาแบบนั้น แต่ส่วนหนึ่งมันก็เป็นความจริงที่ว่าเธอไม่ได้เตรียมตัวไปอย่างที่ควรจะทำ พี่แมรี่มองว่ามันเป็นความท้าทายที่เธอจะเอาชนะสายตาแบบที่มองมา วันรุ่งขึ้นเธอพบตัวเองในห้องสมุดตั้งแต่เช้าจนค่ำ อ่านหนังสือทุกเล่มที่อยู่ในลิสต์ และหนังสืออื่น ๆ ประกอบความเข้าใจ กระทั่งผ่านปริญญาโทมาได้อย่างราบรื่น และกลายมาเป็นก้าวแรกของความเป็น ดร.พิมพ์รภัช ในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อมา
อินเดีย
เธอไม่ชอบอินเดีย ความสกปรก ความเจ้าเล่ห์ ต่าง ๆ นานาที่เป็นมายาคติ ทำให้เธอไม่คิดว่าชีวิตนี้จะไปอินเดีย แต่ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นโยบายความมั่นคง การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานกลับเป็นความสนใจหลักในการศึกษาขั้นปริญญาเอกของเธอ
ยิ่งอ่านยิ่งอยากรู้ ยิ่งรู้ยิ่งอยากรู้มากขึ้น พี่แมรี่ยื่นหัวข้อศึกษาปริญญาเอกไปที่มหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์ ซึ่งมีศิษย์เก่าเป็นคนมีชื่อเสียงในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โปรเฟสเซอร์ชาวฝรั่งเศสตอบรับหัวข้อศึกษาของเธอ สามปีที่เธอค้นคว้าอยู่ในห้องสมุดและสอบผ่านการยื่นวิทยานิพนธ์ในคราวเดียว โดยมีความท้าทายต่อมาว่าเธอต้องไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายความมั่นคงและการฑูตของอินเดีย
“เราไม่ชอบการท้าทาย ถ้ามีใครมาท้าทาย เราต้องเอาชนะ”
เธอเดินทางไปอินเดีย เริ่มต้นจากคอนเน็กชันบุคคลในฝ่ายความมั่นคงที่โปรเฟสเซอร์แนะนำให้สัมภาษณ์ จากนั้นเครือข่ายบุคคลขยายออกไปผ่านการแนะนำจากบุคคลหนึ่งไปอีกบุคคลหนึ่ง เธอทำงานในห้องสมุด, สำนักงานความมั่นคง, สถานฑูต, สโมสรกีฬา เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม เหมือนกับการพล็อตจุดเพื่อโยงให้เกิดเป็นภาพ
สามเดือนในอินเดีย ด้วยการเป็นต่างชาติและเป็นผู้หญิงที่มาศึกษาวิจัยในวงล้อมของผู้มีอำนาจของฝ่ายความมั่นคง นักการฑูต และนักวิชาการ อาจเป็นข้อยกเว้นในโลกของชายเป็นใหญ่ พี่แมรี่ได้รับการเอื้อเฟื้อและช่วยเหลืออย่างที่ควรจะได้รับ จากที่เคยเกลียดกลายเป็นหลงรักอินเดีย นอกเหนือไปจากมิตรภาพของผู้คนและอาหาร พี่แมรี่บอกว่าการเข้าถึงคนในอำนาจในปัจจุบัน และคนที่เคยมีอำนาจนั้นง่ายกว่าที่คิด อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการดูแลต้อนรับผู้มาเยือน และการให้คุณค่ากับการศึกษาวิจัย
ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ
หลังเรียนจบ พี่แมรี่พบว่าตัวเองไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะทุกอย่างดูยากลำบากไปหมด การจะเดินทางไปแต่ละที่นั้นลำบากยากเย็น การจะปรับตัวก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายเพราะเคยชินกับระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในยุโรปซะแล้ว เธอเลือกที่จะทำงานในต่างจังหวัดมากกว่า
ด้วยสายสัมพันธ์อันดีของคนรุ่นพ่อ เธอได้ทำงานในแวดวงธุรกิจ ในสายงานของการบริหาร นับตั้งแต่โรงแรมในจำปาศักดิ์ที่เป็นเมืองมรดกโลก เรือสำราญในภูเก็ต และบริหารจัดการ เปิดเส้นทางใหม่ ๆ ของสายการบิน เธอได้ฝึกฝนทักษะการเจรจาต่อรอง และร่วมงานกับคนในหลายระดับ ซึ่งรวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
มาเลเซีย
การทำงานในสายธุรกิจในช่วงเวลาราวสี่ปี เหมือนการพักผ่อนก่อนที่จะกลับเข้ามาในแวดวงรัฐศาสตร์ ที่ซึ่งต้องยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน ต้องมองหลายชั้น และต้องมองให้ทะลุ ซึ่งความคิดมันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด เธอบอกว่ามันค่อนข้างใช้พลังงานมากเพราะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าไม่นานนัก เธอก็กลับเข้ามาทำงานในองค์การระหว่างประเทศ เป็นเจ้าหน้าที่ในมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย
ในช่วงเวลาที่ภาคการเมืองของมาเลเซียอยู่ในระหว่างการก่อร่างสร้างตัวอีกครั้ง พี่แมรี่มีส่วนเข้าไปพัฒนาประชาธิปไตย การสร้างสมดุลในอำนาจ และช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้นำ โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานภาคธุรกิจในการประสานหาความร่วมมือจากหลายฝ่ายกับคนหลากหลายอาชีพ
ความคุ้นชินกับคนในอำนาจตั้งแต่วัยเด็กซึ่งเป็นธรรมชาติของเธอ ความเข้าใจถึงภาพรวมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ทำให้เธอเห็นความเป็นไปของกลไกที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจและการเมือง และพยายามสร้างสมดุลของอำนาจบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพตามคุณค่าของประชาธิปไตยเสรี ซึ่งเป็นแกนหลักของมูลนิธิฟริดริช เนามัน
ในช่วงเวลาที่บ่มเพาะประชาธิปไตยในมาเลเซีย นอกจากจะเข้าใจคนในอำนาจภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม พี่แมรี่ได้ทำความรู้จักกับอำนาจของสื่อ – ฐานันดรที่สี่ ซึ่งในขณะนั้นมีองค์กรสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้น พวกเขามีส่วนอย่างมากในการสร้างความเข้าใจในหลักการของประชาธิปไตย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
กรุงเทพฯ
แม้จะรักมาเลเซีย มีความสุขกับงานที่ทำ แต่ถึงที่สุดแล้วก็ถึงเวลากลับบ้าน พี่แมรี่ย้ายมาสำนักงานฟรีดริช เนามัน ที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ ในปี 2554
Thailand Talks คือโครงการล่าสุด ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และเอเชีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อให้คนเห็นต่างได้มีพื้นที่และโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะได้อย่างตรงไปตรงมา และครั้งที่สอง กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2565 นี้
“คนเห็นต่างคุยกันได้ไหม” คงเป็นคำถามที่คนไทยท่ามกลางวิกฤตการเมือง และวิกฤตศรัทธา ที่ยาวนานเกือบสองทศวรรษควรจะเป็นคนตอบ
- The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening
- ฟังสัมภาษณ์พี่แมรี่ ใน คนต่างหรือความต่าง…จริง ๆ แล้วเราแตกต่างกันขนาดนั้นจริงไหม?