อารยะขัดขืนไม่เป็นผล เมื่อสังคมไทยแบ่งข้าง-ร้าวลึก

สารพัดวิธีประท้วงของประชาชนผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ

เมื่อกฎเกณฑ์ของผู้ปกครอง ไม่ได้ยุติธรรมสำหรับประชาชนเสมอไป

ความคับข้องหมองใจจึงถูกแสดงออกผ่าน “การประท้วง” อาวุธชิ้นสำคัญ ที่ถูกใช้มาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

การประท้วงครั้งแรก ๆ ของมนุษย์ที่ถูกบันทึกไว้ คือ “การประท้วงของคนงานก่อสร้างในอียิปต์โบราณ” (The First Recorded Strike) เมื่อ 1152 ปีก่อนคริสตกาล ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจและเรียกร้องความยุติธรรมเรื่องค่าจ้าง

หรือ “การกบฏในเมโสโปเตเมีย (The Gutian Rebellion)” เมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตกาล โดยชนเผ่าที่ต่อต้านการกดขี่และไม่เป็นธรรมของจักรวรรดิแอกแคด (Akkadian Empire)

มาถึงยุคสมัยปัจจุบัน การประท้วงยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ กรณีที่เราคุ้นเคยคงหนีไม่พ้น มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ที่ประท้วงด้วยวิธี “อดอาหาร” เพื่อประท้วงชาวอินเดียด้วยกันเอง ดังเหตุการณ์ที่เมื่อคนอินเดียฝ่ายฮินดูและฝ่ายอิสลามเกิดความขัดแย้งและฆ่าฟันกันเอง ที่สุดท้าย ความรุนแรงก็ยุติลงได้ด้วยความรักและนับถือต่อคานธีจากทั้งสองฝ่าย

หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ผู้นำการต่อต้านการเหยียดสีผิวในอเมริกา ในช่วงปี 1950-1960 ที่แม้จะไม่ได้ใช้การอดอาหารเป็นเครื่องมือหลัก แต่สนับสนุนการใช้วิธีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ในการตระหนักและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการประท้วงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองมาตั้งแต่อดีต และยังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังจนถึงทุกวันนี้

ประท้วง

The Active ชวนพูดคุยกับ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาประเด็นเรื่องการต่อต้านในเรือนจำ ว่าด้วยการประท้วงและการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ สิ่งนี้กำลังชี้ชะตาสังคมไทยไปในทิศทางใด สำเร็จ ล้มเหลวมาแล้วเท่าไหร่ อะไรคือปัจจัยความสำเร็จ และสิ่งใดคือทางออกของรัฐและประชาชนกันแน่ ? 

Act of Omission พลังของการ “ไม่ทำตาม”

เมื่อเชื่องหมอบ หรือยอมตามอำนาจรัฐอย่างว่าง่าย ก็อยู่ได้สุขสบายดีไม่ใช่หรือ แล้วเหตุใด ทำไมประชาชนยังต้องประท้วง ? 

ชญานิษฐ์ ชี้ชวนให้เราเห็นว่า โดยหลักการแล้ว สังคมจะสงบสุขได้นั้นก็ต่อเมื่อประชาชนเชื่อฟังรัฐและเคารพกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง กฎระเบียบของรัฐไม่ได้ชอบธรรมเสมอไป จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจ และจำเป็นต้องแสดงออกด้วยการ “ประท้วง” 

“สังคมจะสงบสุขได้ ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย เชื่อฟังรัฐ เช่น เจอไฟแดงแล้วหยุดรถ ทำตามกฎจราจร แต่ไม่ใช่ว่าทุกข้อกฎหมายที่ออกโดยรัฐจะชอบธรรมในสายตาประชาชน นั่นจึงทำให้เขาต้องแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย และต่อต้านผ่านการประท้วง”

เวลาเจอกฎระเบียบบางอย่างที่คิดว่าไม่เป็นธรรม ไม่ต้องการปฏิบัติตาม การใช้การประท้วงจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่ง่ายที่สุด และวิธีการประท้วงที่เราคุ้นเคย คือ “การทำ” อะไรบ้างอย่าง วิธีแบบนี้เรียกว่า “act of commission” เช่น การขึ้นไปยืนแถลงการณ์ของนักศึกษา

แต่ยังมีวิธีที่แสดงออกถึงความไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับอำนาจนั้นได้เช่นกัน นั่นคือ “การไม่ทำ” อะไรบางอย่าง หรือที่เรียกว่า act of omission ไม่ว่าจะเป็นการหยุดงานประท้วงของผู้ใช้แรงงาน (เพราะโดยปกติแล้ว คนงานย่อมถูกคาดหวังให้มาทำงาน การเลือกที่จะไม่ทำงาน จึงกลายเป็นการประท้วงโดยปริยาย)

หรือการที่ประชาชนทุกคนต้องเสียภาษีโดยหน้าที่ แต่มีบางประเทศที่ประชาชนประท้วงโดยการไม่เสียภาษี แม้กระทั่งนักเรียนที่มีหน้าที่เรียนหนังสือ แต่อยู่ ๆ ก็ประท้วงโดยการ walk out ออกจากห้องเรียน การประท้วงโดยการไม่ทำเหล่านี้ก็เป็นวิธีที่ทรงพลังไม่แพ้กัน

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ที่ผ่านมา เวลามีกฎบางอย่างไม่ชอบธรรม เรามักคิดว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น ลงถนนประท้วงบ้าง เขียนแถลงการณ์บ้าง แต่บางที ‘การละเว้นจากการกระทำ’ อาจมีพลังมากกว่าเสียอีก เพราะผู้มีอำนาจ (ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือรัฐ) ต่างไม่ได้มีอำนาจด้วยตัวของเขาเอง แต่มีอำนาจจากการที่ผู้อยู่ใต้ปกครองให้การเชื่อฟัง

“แต่หากวันใดที่ผู้ใต้ปกครองไม่ยินยอมพร้อมใจหรือปฏิบัติตามคำสั่งอีกต่อไป อำนาจของพวกเขาก็จะหมดไปในที่สุด เช่น อาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนหนังสืออาจดูมีอำนาจมากที่สุดในชั้นเรียน แต่ถ้าอยู่ ๆ นักเรียนบอกว่าสอนไม่ดี แล้วเดินออกจากห้องไปหมด อาจารย์ก็จะไร้อำนาจทันที” ชญานิษฐ์ เล่า

เมื่อ “อดอาหาร” คืออาวุธชิ้นสุดท้ายของประชาชน

จากตำรา “The Politics of Nonviolent Action” (1973) ของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักวิชาการด้านสันติวิธี กล่าวไว้ว่า การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงมีทั้งหมด 198 วิธี และหนี่งในนั้นคือ “การอดอาหาร” ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในกลุ่มคนที่ตกอยู่ในสภาวะไร้อำนาจ เพราะเมื่อเขาถูกพรากทุกสิ่งในชีวิตไปแล้วรวมทั้งอิสรภาพ อำนาจเดียวที่ยังคงเหลือไว้คงมีแต่เพียงการควบคุมร่างกายของตนเอง

และกว่า 7 ใน 10 พบว่า การอดอาหารประท้วงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการควบคุม เช่น เรือนจำ ค่ายผู้อพยพ ค่ายกักกัน หรือค่ายผู้ลี้ภัย เนื่องจากผู้ถูกคุมขังไม่มีช่องทางในการสื่อสารความต้องการมากนัก

“หากอยู่ข้างนอกสถานกักกัน ผู้ประท้วงอาจระดมคน แขวนป้าย กล่าวแถลงการณ์ ยื่นหนังสือได้บ้าง แต่ในบริบทที่ถูกจองจำแบบนี้ เขาแทบไม่มีทรัพยากรใดเลย สิ่งเดียวที่เขายังมีและสามารถควบคุมได้ก็คือ ‘ร่างกาย’ การใช้ร่างกายจึงกลายเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้ในการต่อต้าน”

เสกสิทธิ์ อธิบาย

สำหรับสถานการณ์การอดอาหารประท้วงในต่างประเทศก็มีให้เห็นไม่น้อย มีทั้งเรียกร้องได้สำเร็จ “ก่อน” ที่ผู้อดอาหารจะเสียชีวิต หรือสำเร็จ ”หลัง” จากผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิตไปแล้ว และแม้ผู้อดอาหารจะเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังไม่เกิดการเคลื่อนไหวใด ๆ เลยก็มี

เช่น ขบวนการสตรี ซัฟฟราเจ็ตต์ (suffragette) ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ ที่เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิง ในครั้งนั้น รัฐจับขังนักเคลื่อนไหวในเรือนจำ พวกเธอเลือกที่จะอดอาหารประท้วงจนกระทั่งข้อเรียกร้องการปล่อยตัวได้รับการยอมรับในที่สุด และเกิดเป็น “Cat and Mouse Act” หรือ พระราชบัญญัติ “แมวจับหนู”

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์
นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาประเด็นเรื่องการต่อต้านในเรือนจำ 

แม้การยอมรับข้อเรียกร้องนี้จะเป็นเพียงการแก้เกมของรัฐเพื่อยุติการอดอาหารของผู้ประท้วงโดยการปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ข้อเรียกร้องการปล่อยตัวของขบวนการด้วย

หรือ กรณีของ บ็อบบี้ แซด์ส (Bobby Sands) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army, IRA) กับกรณีพิพาทระหว่างไอร์แลนด์เหนือและอังกฤษ เขาเลือกที่จะอดอาหารในคุกลอง เคช (Longkesh) เพื่อเรียกร้องขอคืนสถานะนักโทษทางการเมืองแทนที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนักโทษอาชญากร

แม้ในช่วงเวลานั้น เขาจะได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภา แต่รัฐยังคงไม่ปล่อยตัว จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยการอดอาหารจนตายในปี ค.ศ.1981 ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานศพจำนวนมหาศาลถึง 70,000 คน เพื่อแสดงออกถึงการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของไอร์แลนด์เหนือ

หลังการเสียชีวิตของ บ็อบบี้ แซด์ส ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลอังกฤษเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทางการเมืองแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

เมื่อรัฐเริ่มชาญฉลาด การอดอาหารอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ?

จากประวัติศาสตร์บอกเราว่า วิธีการประท้วงโดยการอดอาหาร ถูกใช้มาอย่างยาวนาน บ่อยครั้งที่ฝ่ายประชาชนก็ได้รับชัยชนะ แต่บ่อยครั้งเช่นกัน ที่รัฐเองก็เริ่มกลไกและกระบวนการจัดการ จนทำให้ประชาชนต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด

แม้แต่ประเทศไทย…ยังปรากฏผู้ต้องขังคดีการเมืองคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงแล้วในพุทธศักราชนี้

จากงานศึกษาเรื่องการใช้สันติวิธีเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของภาคประชาชน พบว่า ช่วงก่อนราวปี  ค.ศ. 1990 การเรียกร้องด้วยวิธีอดอาหารประสบความสำเร็จอย่างสูงทั่วโลก ผู้อดอาหารจำนวนมากได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง

แต่หลังจากราวปี  ค.ศ. 1990  เป็นต้นมา อัตราความสำเร็จกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด และคำถามคือเพราะอะไร ?

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เสกสิทธิ์ เล่าให้เราเห็นสถิติเชิงภาพรวมของสถานการณ์การอดอาหารทั่วโลก โดยงานวิจัย พบว่า ผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วงมีอยู่ 4 แบบ ได้แก่

  1. ข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนอง (Concession)
  2. ยอมจำนน (Surrender)
  3. ถูกบังคับให้ยุติการประท้วง เช่น ถูกบังคับป้อนอาหาร หรือใช้ความรุนแรง (Forced End)
  4. เสียชีวิต (Death) 

งานวิจัย ในปี 2014 เรื่อง “Achieving justice by starvation: a quantitative analysis of hunger strike outcomes” ของ Hagesæter, M. จาก The University of Bergen ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งศึกษารวบรวมผลลัพธ์ของการอดอารหารประท้วงตั้งแต่ ค.ศ. 1906 – 2004 พบว่า ในช่วงท้ายของกรอบเวลาการศึกษาในปี 2004  มีผู้ประท้วงที่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องเพียงราว 30% ขณะที่ยอมจำนนราว 40% และอีกราว 20% คือการถูกบังคับให้ยุติหรือเสียชีวิต แต่หากย้อนไปในช่วง ค.ศ. 1990 มีผู้อดอาหารที่ได้รับการตอบสนองสูงกว่ามาก คือประมาณราว 50%

แล้วเหตุใดตอนนี้ความสำเร็จจึงลดลง ? 

หนึ่งในข้อสังเกตคือ หลังปี 1990 รัฐมีสิ่งที่เรียกว่า “smart repression” หรือการกดขี่ปราบปรามอย่างชาญฉลาด มีการใช้เครื่องมือที่แนบเนียนละมุนละม่อมมากขึ้น

พูดให้ง่ายคือ โดยปกติ พลังของการอดอาหารประท้วงจะเกิดขึ้นในช่วงพีคที่สุดตอนที่ผู้อดอาหารเข้าใกล้สภาวะวิกฤต ช่วงเวลานี้เองที่บีบให้รัฐเข้าสู่ช่วงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือที่เรียกว่า “decision dilemma” ทำให้รัฐต้องตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหรือไม่ หรือจะใช้การแทรกแซงบางอย่าง หรือจะปล่อยให้ผู้อดอาหารไปสู่สภาวะวิกฤตอย่างไม่ใยดี

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า หากช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าว รัฐเลือกแทรกแซงด้วยการใช้กำลัง ผลที่ตามมาคือทำให้ประชาชนและผู้สังเกตการณ์ภายนอกลุกฮือ รัฐจึงเลือกที่จะใช้วิธี smart repression ที่ละมุนกว่า เช่น ส่งผู้อดอาหารไปรักษาตัวใน รพ. และเมื่ออาการดีขึ้น ก็นำกลับไปคุมขังต่อ วิธีนี้จะทำให้ผู้อดอาหารจะถูกส่งเข้า-ออกระหว่างเรือนจำและ รพ. ไปเรื่อย ๆ จนทำให้ข้อเรียกร้องถูกละเลยไปในที่สุด

“สมัยก่อน เราจะเห็นวิธีการบังคับป้อนอาหาร โดยสอดสายอาหารเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร แต่ถูกประณามว่ารุนแรงป่าเถื่อน รัฐจึงหันไปใช้วิธีให้สารอาหารทางหลอดเลือดหรือผสมวิตามินในน้ำเกลือแทน

“ทั้งหมดก็เพื่อยืดสภาวะวิกฤตของผู้อดอาหารไว้ และทำให้สภาวะ ‘decision dilemma’ มาถึงช้าที่สุด จนสุดท้ายผู้อดอาหารจะยอมจำนนไปเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหลังปี ค.ศ. 2000 จึงมีผู้อดอาหารยอมจำนนสูงถึง 40%” เสกสิทธิ์ เล่า

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย เรียกได้ว่ามีสมการไม่ต่างกัน ชญานิษฐ์ ชวนให้มองกลับมาว่า รัฐไทยเลือกที่จะใช้วิธีที่ไม่ต่างกัน เห็นได้จากการสลายการชุมนุมในอดีตที่รัฐเลือกใช้ความรุนแรง ผลที่ตามมาคือการลุกฮือของประชาชน จนนำมาสู่การออกแถลงการประณามจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

“หลังจากนั้น คุณแทบไม่ได้เห็นการสั่งการสลายการชุมนุมอีกเลยใช่ไหม แต่นี่ไม่ได้แปลว่ารัฐไทยไม่กดขี่ประชาชนแล้ว แต่มันคือการเปลี่ยนจากการใช้ความรุนแรงทางกายภาพเป็นการใช้กฎหมายแทน เพราะหากเป็นกฎหมาย องค์กรกระหว่างประเทศจะแสดงความคิดเห็นได้ยาก เพราะนั่นหมายถึงการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่าภาคประชาชนทำไม่พอ แต่ต้องเรียนรู้เท่าทันรัฐด้วย”

เมื่อเสียงของ “ผู้ชม” เป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ?

การอดอาหารประท้วงไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างผู้ประท้วงกับรัฐเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมันคือปฏิสัมพันธ์ 3 ฝ่าย ที่มี “ผู้ชม” หรือ “สาธารณชน” มาเกี่ยวข้องด้วย และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของรัฐ

“เวลาผู้ประท้วงอาการเริ่มทรุดหนัก จะไปกระตุ้นเร้าความเห็นใจของสาธารณชน พันธมิตร ญาติสนิทมิตรสหาย และขบวนการเคลื่อนไหว ทำให้เขารู้สึกว่าจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง เราจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบการประกาศการชุมนุม เดินขบวน ยื่นหนังสือ หรือเรียกร้องให้ระหว่างประเทศมากดดันรัฐ” 

“เช่น การอดอาหารประท้วงใน ปี 63 ที่สามารถปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมบนท้องถนน สาดสีหน้าศาลได้ จนไปกระตุ้นรัฐว่าต้องรีบดำเนินการบางอย่าง เพราะหากปล่อยให้ผู้อดอาหารเสียชีวิต ประชาชนจะลุกฮือได้

“แต่ในทางกลับกัน หากการอดอาหารครั้งนั้นไม่สามารถปลุกระดมมวลชนหรือสร้างความกดดันได้ รัฐก็ย่อมจะนิ่งเฉย และอาจนำมาสู่ความล้มเหลวของการประท้วงในที่สุด” เสกสิทธิ์ อธิบาย

อารยะขัดขืนล้มเหลว เพราะสังคมกำลังไทยบิดเบี้ยว 

หากถามว่าการประท้วงด้วยการอดอาหารยังใช้ได้ผลในสังคมไทยหรือไม่ ? คงต้องชวนย้อนไปว่าสภาพสังคมไทยตอนนี้กำลังอยู่ในบริบทแบบไหน ชญานิษฐ์ มองว่า การประท้วงด้วยวิธีอารยะขัดขืนเช่นนี้ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคมมองเห็น ”ความไม่เป็นธรรม” ด้วยสายตาแบบเดียวกัน แต่สิ่งนี้กำลังกลายเป็นเรื่องยาก เพราะสังคมไทยกำลังบิดเบี้ยวจากการใช้อำนาจที่ผิดเพี้ยน

“เพราะสังคมไทยกำลัง ‘บิดเบี้ยวไร้รูป’ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน เห็นได้ชัดเจนจากกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ที่มีคนออกมาแสดงความเสียใจ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่แสดงความสะใจ

“ตอนนี้สังคมไทยกำลังเข้าสู่สภาวะ ‘สังคมแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึก (Deeply-Divided Societies)’ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เราแทบไม่แน่ใจว่ายังมีคนที่เป็นกลางทางการเมืองอยู่อีกหรือไม่ หรือคนในสังคมไทยถูกบังคับให้เลือกข้างใดข้างหนึ่งไปแล้ว

“เราเห็นคนมีความคิดว่า คนจากฝั่งที่ฉันเข้าข้าง ทำอะไรก็ดีไปหมด ถูกไปหมด และคนฝั่งตรงข้ามทำอะไรก็ผิดไปหมดแม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ฉะนั้น การทำอารยะขัดขืนจึงไม่สำเร็จ นั่นเพราะทุกคนเลือกข้างไปแล้ว”

“แต่ความยากของสังคมไทยยังไม่หมดแค่นี้ เราไม่ได้อยู่ในบริบทที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเท่านั้น แต่เรากำลังอยู่ในสังคมทุนนิยมที่ทุกคนต้องดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ เอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในบริบทที่ทำให้การมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่างมีพลังลดลง”

‘เตี๊ยมกันอย่างมีพลัง’ และ ‘ตีให้ตรงที่เจ็บ’

ชญานิษฐ์ เล่าว่า การประท้วงมีได้หลายวิธี ที่ล้วนมาจากการรวมพลังของมวลชนอย่างเข้มแข็ง หลายบทเรียนในต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่าพลังของประชาชนสามารถต่อรองกับอำนาจรัฐได้ เช่น การประท้วงหยุดงานในเมียนมา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ รัฐจึงจำเป็นต้องหันมามอง

“การใช้วิธีอารยะขัดขืนหรือสันติวิธีจะมีพลังได้ต่อเมื่อผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันได้อย่างแข็งขัน เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นว่า เขาไม่ได้มีอำนาจในตัวเองเท่านั้น แต่อำนาจของเขามาจากประชาชนด้วย

“หัวใจของการประท้วงคือ ‘การนัดแนะทำอย่างมีพลัง’ อาจไม่เพียงแต่การหยุดงานประท้วง แต่มีวิธีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับปริญญา หรือการไม่ซื้อสินค้าของนายทุนบางเจ้า เพราะสิ่งเหล่านี้คือการ ‘ไม่ให้ความร่วมมือ’ ในหลายมิติ กระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม 

“ในต่างประเทศ มีทั้งการประท้วงไม่เสียภาษี ประท้วงไม่เกณฑ์ทหาร และยังได้มีอีกสารพัดวิธี ที่ผู้ประท้วงต้องวางกลยุทธ์ว่า สำหรับผู้มีอำนาจแล้ว การประท้วงแบบใดที่จะ ‘ตีแล้วเจ็บ’ ได้อย่างตรงจุด”

ขณะที่ เสกสิทธิ์ เสริมว่า อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การประท้วงในเรือนจำ”

“การที่รัฐจับนักเคลื่อนไหวไปไว้ในเรือนจำ แม้ช่วยการเคลื่อนไหวภายนอกสงบลงได้ แต่นั่นหมายความว่ากำลังนำนักเคลื่อนไหวเข้าไปรวมกันอยู่ในพื้นที่ใหม่ หากพวกเขาสามารถจัดตั้งคนที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกันในนั้นได้ เรือนจำจะกลายเป็นพื้นที่แห่งการตื่นรู้และเกิดขบวนการ และการลุกฮือขึ้นอีกครั้ง ในต่างประเทศมีกรณีแบบนี้เช่นกัน ทำให้รัฐต้องเรียนรู้ว่า เรือนจำไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่แห่งการกดปราบได้อีกต่อไป”

และหากว่ากันในทางอุดมคติแล้ว เรือนจำไม่ควรมีนักโทษทางการเมือง แต่ในบริบทของการเมืองไทยกลับเป็นทางตรงกันข้าม เสกสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า ระบบยุติธรรมไม่ควรปล่อยให้รัฐเข้ามาแทรกกแซง และหากมีการคุมขังไปแล้ว ไม่ควรนำผู้ต้องขังทางการเมืองไปรวมกับผู้ต้องขังคดีอาญาอื่น และควรมีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนทั่วไปต่างหาก

“ตอนนี้ระบบยุติธรรมของไทยมีการแทรกแซงของรัฐอยู่มาก ในฝั่งของศาล ผมคิดว่าผู้ต้องหาคดีการเมืองควรได้รับสิทธิประกันตัวจนกว่าจะถึงศาลฎีกา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ระบบตุลาการสามารถทำได้เลย ในขณะที่ฝั่งสภา ควรให้การนิรโทษกรรมทางการเมือง รวมถึงนักโทษคดี 112 ซึ่งอยู่ในอำนาจของสภาโดยตรงเช่นกัน ไม่ควรปล่อยให้รัฐเข้ามาแทรกแซง” 

มาถึงตรงนี้แล้ว คำถามถัดไปคือ เมื่อวันนี้ประชาชนยังไร้อำนาจในมือ จะประท้วงอย่างไร หรือใช้เครื่องมือแบบไหนในการต่อรองกับรัฐ

ชญานิษฐ์ ยังยืนยันว่า เมื่อประชาชนรู้สึกว่าเกิดความไม่ชอบธรรม ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกได้ในแบบของตัวเอง เพราะการต่อต้านอำนาจก็มีได้หลายวิธี ควรเลือกตามที่ตนเองถนัด ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวกันทั้งหมด

“มีคำกล่าวที่ว่า ‘Resistance is not a one-lane street’ หรือ การต่อต้านไม่ได้มีแค่หนทางเดียว คุณถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้น เช่น อาจารย์ก็ต่อต้านด้วยการสอนหนังสือ นักข่าวอาจต่อต้านด้วยการเขียนข่าวตีแผ่ความจริง หรือนักวิชาการ ก็อาจต่อต้านด้วยการเขียนบทความ ทุกคนสามารถต่อต้านด้วยสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ในชีวิตประจำวัน”

บทส่งท้าย

การประท้วงที่เกิดขึ้นในบ้านเราซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า คงเปรียบเหมือนกับ “สัญญาณเตือน” ของความไม่ปกติของสังคม ที่เรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจ 

แต่ไม่ว่าจะเกิดการประท้วงสักกี่ครั้ง สูญเสียสักกี่หน ก็ดูเหมือนว่าสังคมไทยเรายังย่ำอยู่ที่เดิม แต่แท้จริงแล้ว ทุกการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวไปข้างหน้า 

“เรามักรู้สึกว่าในบ้านเรา ประชาชนเคลื่อนไหวมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีความเปลี่ยนแปลงเลยใช่ไหม แต่ตั้งแต่หลังการประท้วงปี 63 สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ทั้งในแง่โครงสร้างสังคม การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม และเชิงความคิด

“คนจำนวนหนึ่งเริ่มคิดว่า ตัวเองไม่ได้เป็นผู้น้อยที่ต้องก้มกราบกรานขอความเมตตาปราณีจากผู้ใหญ่กว่าอีกต่อไปแล้ว ถ้าจำได้ เราเคยมีแฮชแท็ก ‘ภาษีกู’ การที่คนกล้าเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบกับภาษีของพวกเขาเป็นการบอกชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของประชาชน กับ รัฐ หรือผู้คนที่เป็นข้าราชการและนักการเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว” ชญานิษฐ์ ทิ้งท้าย

แม้วันนี้ เราอาจยังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมนัก แต่ในแง่เชิงความคิด เราได้เห็นผู้คนมีความคิดต่อความสัมพันธ์ระหว่างตนเองในฐานะประชาชนกับผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนไป และแน่นอนว่า มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง