ระดมทุน ‘บุญ’ แสนแพง… เมื่อประชาชนต้องจ่าย(ดูแลตัวเอง)ช่วยรัฐ ?

พุทธศาสนาถูกนำมาผูกโยงกับการใช้ชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย จนปัจจุบันความเชื่อมโยงนั้นก็เปลี่ยนไปตามบริบทสังคม ตามยุคสมัย โดยเฉพาะ การทำบุญ ที่วัดและพระถูกผูกไว้กับคำว่า ‘เรี่ยไร’ จึงหนีไม่พ้นที่พระพุทธศาสนาจะเข้าไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘การระดมทุน’

จากหัวข้อคัดสรรของพฤติกรรมการช่วยเหลือ และพฤติกรรมเอื้อต่อสังคม (Selected topics of helping behavior and prosocial behavior) โดย รศ.ธีระพร อุวรรณโณ ภาคีสมาชิกประเภทวิชาจิตวิทยา สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม ได้ระบุในหัวข้อ คนไทยมีการบริจาคเงินช่วยกากุศลมากน้อยเพียงไร ไว้ว่า การสำรวจ CAF ดัชนีการช่วยเหลือระดับโลก (WGI, 2017) ด้วยคำถามว่า “ท่านได้ทำสิ่งต่อไปนี้บ้างหรือไม่ในรอบเดือนที่ผ่านมา ? …บริจาคเงินช่วยเหลือการกุศล” (Have you done any of the following in the past month? Donated money to a charity?) ปรากฏว่า คนไทยบริจาคเงิน ช่วยการกุศลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ อันดับเป็นเลขตัวเดียวถึง 6 ปี จากที่รายงาน 8 ปี

น่าสังเกตช่วง 10 ปี (2550-2560) พบว่า คนไทยบริจาคเงินช่วยการกุศลมากที่สุดในโลก จาก 153 ประเทศที่สำรวจ แม้ในช่วงนั้นมีบางปีที่ประเทศไทยประสบปัญหา เช่น ปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยอย่างหนักก็ตาม

การกุศลเป็นหนึ่งในวิธีของคนไทยที่จะช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน แต่จริง ๆ แล้วการบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีงบประมาณ และในแต่ละปีรัฐบาลก็จัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนอยู่แล้ว

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หมวด 1 บททั่วไป ระบุโดยสรุปว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวงเงินจำนวนเงิน 3.48 ล้านล้านบาทบาท และจำแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุในพระราชบัญญัติ

แล้วทำไม ? ปัญหาการขาดแคลนที่ควรจะมีงบประมาณเข้าถึงประชาชน จึงยังไม่ได้เพียงพอ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่ากรณีที่ปรากฎเป็นข่าว ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์, อุปกรณ์การศึกษา, การช่วยเหลือผู้เปราะบาง คนพิการ ที่ยังสามารถพบเห็นในหลายช่องทาง

‘ระดมทุน’ ปัญหาที่ซ้อนอยู่ใต้ ‘บุญ’

การระดมทุนในประเทศไทยบางส่วนเป็นวัฒนธรรมที่อิงกับพระพุทธศาสนา เช่น การทอดผ้าป่า โดยจุดเริ่มต้นการทอดผ้าป่าแต่เดิมเป็นเพียงการที่พระสงฆ์เก็บผ้าที่ถูกนำไปทิ้งไว้นำมาเป็นผ้าจีวร เนื่องจากพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้รับจีวรจากญาติโยมที่นำมาถวาย แต่ในปัจจุบันทอดผ้าป่าถูกนำมาใช้เพื่อการระดมทุน และถูกพัฒนาไปตามสภาพของสังคมไทย

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.)

แต่การระดมทุนก็ต้องไม่บังคับ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และที่สำคัญต้องชวนให้ญาติโยมร่วมกันตรวจสอบการระดมทุนได้ นี่คือสิ่งที่ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) ย้ำเอาไว้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือ สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีกฎกติกา ระเบียบป้องกันเรื่องการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2548 ระบุใน มาตรา 6 “การเรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาล หรือสาธารณะประโยชน์ จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรเงินแล้ว” ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่การเรี่ยไรซึ่งกระทรวง ทบวง หรือกรมเป็นผู้จัดให้มี

สิ่งที่ต้องระวังก็คือคนที่หาประโยชน์จากความใจดี เช่น สิ่งที่เราอาจจะเคยได้ยินคือ วัดครึ่งนึง กรรมการครึ่งนึง หรือแม้สมัยใหม่นี้นั้นหลายคนที่เป็นมิจฉาชีพหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

พระมหานภันต์ จึงชวนตั้งคำถาม ว่าทำไมจึงยังต้องจัดการระดมทุน แล้วงบประมาณของรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้ใช่หรือไม่ ? ท่ามกลางช่องโหว่ของการทำบุญ ที่ในปัจจุบัน พระกับเงิน เป็นสิ่งที่จับตามากเหลือเกิน

“การทำบุญที่เกี่ยวข้องในแต่ละศาสนา มันไม่ได้เฉพาะแค่เรื่องของการบริจาค ในพุทธศาสนาเองมีอย่างน้อยสิบวิธี รักษาศีล เจริญภาวนา ไปจนแท้กระทั่งฟังธรรม หรือพระแสดงธรรมก็เป็นบุญ”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

“ทำบุญพื้นฐาน คือ ทำหมู่บ้านให้รมณีย์”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

นั่นแปลว่า อยู่ตรงไหนแค่ทำครอบครัวให้มีความสุข Head-Heart-Hand ต้องมาด้วยกัน Heart คือ ใจ, Head คือ ใช้สมอง คิดก่อน และ Hand คือ ลงมือทำ หลายคนหลายกลุ่มอ้างความเชื่อทางพระพุทธศาสนาปล่อยปู ปล่อยปลา แต่ปล่อยแล้วไปเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในที่นั้น ๆ ทำบุญแล้วจิตใจอิ่มเอมไม่พอ กรุณาทำด้วยความฉลาดทำแล้วฉลาดขึ้นด้วย

ระดมทุน ใช้ ‘บุญ’ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

พระมหานภันต์ บอกด้วยว่า ในส่วนของการระดมทุนเป็นการใช้ ทุนทางสังคม พระพุทธศาสนาอยู่ในส่วนของ ทุนวัฒนธรรม ช่วยเหลือคน เพราะมีความเชื่อว่าความเสียสละของทำให้เกิดคุณงามความดี ได้ช่วยเหลือคนอื่น คนที่พอมีกำลังทำให้คนอื่นมีความสุขขึ้นเพราะความเสียสละของเขา

“การทำบุญเพื่อการระดมทุน ถ้าหากทำอยู่บนความพอดี และไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั้นไม่มีทางผิด แต่หากลองมองในโครงสร้างใหญ่มันมีผลต่อกัน เหมือนเรามีรายการทำให้เห็นว่าคนนี้ทุกข์ยังไง แล้วมีคนบริจาคเข้าไปช่วย หรือมีผ้าป่าที่นี่ ที่นั่น เพราะต้องการความช่วยเหลือ มันก็มีคนไปช่วยแล้วสุดท้ายปัญหาก็ได้รับการแก้ไข แล้วสุดท้ายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่อยากให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ ในชุมชนของตัวเองก็ดี ปัญหาที่มันเป็นไปในระดับโครงสร้าง การสนใจระยะยาวด้วยจากรัฐบาลก็ได้รับการพูดถึงน้อยลง เพราะคนเดือดร้อนกับปัญหาเฉพาะแต่เมื่อปัญหาเฉพาะหน้าได้รับการแก้ไข มันไม่จำเป็นละที่จะไปดำเนินการอะไร”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

มีคนมากมายที่พร้อมจะช่วยเหลือคนที่ลำบากขาดแคลน เมื่อเห็นคนลำบากอยู่ตรงหน้า ยากนักที่จะมองข้ามความลำบากเหล่านั้น  แต่ในขณะเดียวกันเป็นคำถามที่น่าชวนคิดเหมือนกันว่า ภาษีที่ประชาชนเสียไปให้กับรัฐบาลนั้นถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ?

“ถ้ารอรัฐบาล รอผ่านงบประมาณ มันช้า แล้วมันเป็นไปได้ยาก ต้องแก้ปัญหาระยะสั้นโดยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปก่อนในส่วนที่ทำได้ แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยต้องชี้ให้เห็นว่า วันนี้ที่เราต้องทอดผ้าป่า เพราะบางคนไม่สนใจทำ ถ้าอย่างนั้นก็เชิญสมาชิกสภาเทศบาล เชิญ สส.มารับรู้ด้วย ไม่ใช่เชิญมาเป็นเกียรติอย่างเดียว แต่เชิญให้เขามารู้ว่าปัญหาแบบนี้มันมีอยู่ที่ชุมชนนี้ ถ้าเกิดคุณในฐานะผู้แทนของปวงชน จะสามารถไปออกกฎหมายหรือสร้างวิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงกลไกโครงสร้างได้ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อส่วนรวม ก็ต้องใส่ใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนว่า ในปัจจุบันการรอรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือประชาชน ยังคงเป็นเรื่องยาก และใช้เวลานานในสายตาประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นไม่ควรมองว่าการทำบุญช่วยเหลือกันในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ต้องถามกลับไปว่า แล้วทำไม ? รัฐบาลจึงไม่ทำ หรือปรับแนวทางแก้ปัญหาให้รวดเร็วได้ดังใจประชาชน

“สาธารณูปโภคบางอย่าง หรือบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ การศึกษา หรืออื่น ๆ มันก็ควรจะมีความพร้อมความฉับไว และทั่วถึงทุกคน อย่าให้มันเป็นสาธารณะทุกข์ ควรจะเป็นสาธารณะสุข”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ทิ้งท้าย

เมืองไทย เมืองแห่งการให้ คนไทยใจดี…คำพูดเล่านี้ มักได้ยินกันมาตลอด เพราะสังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน แต่ภายใต้ความใจดีนั้น กลับเป็นกระจกที่สะท้อนปัญหาที่อยู่ลึกลงไป

รัฐจำเป็นต้องย้อนกลับไปมองถึงโครงสร้างของการแก้ปัญหา ในเรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างจริงจัง เพราะถ้าประชาชนยังต้องดิ้นรน โดยอาศัยการระดมทุนอยู่วันยังค่ำ แล้วหน้าที่ของรัฐบาลคืออะไร ? หากทุกอย่างปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วิฆเนศ ตรีตรง

นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิชาโทภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่