‘ผ้าป่าการศึกษา’… จะให้ ‘บุญ’ ช่วยโรงเรียนไปอีกนานแค่ไหน ?

“หิตายะ สุขายะ…” คำกล่าวภาษาบาลีปิดท้ายในคำถวายสังฆทาน ถวายบุญผ้าป่า นำมาแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุข”

แต่ทว่าการทำผ้าป่าในความเป็นจริงนั้น อาจจะไม่ได้มีความสุข และไม่ได้ประโยชน์อย่างถูกวิธี ถ้าเป็นแบบนั้นยังเรียกว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ได้อีกหรือไม่

เมื่อการระดมทรัพยากร การลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน โดยเฉพาะหากพุ่งไปที่ประเด็นด้านการศึกษา ก็ต้องยอมรับว่า มีหลายวิธี และหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นการระดมทุนผ่าน ผ้าป่าการศึกษา ซึ่งรวบรวมเงินให้แก่โรงเรียนเพื่อนำไปพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจัดหาครูให้แก่นักเรียน อุปกรณ์ทางการศึกษา การปรับปรุงหรือสร้างอาคารเรียน รวมไปถึงทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในครอบครัวยากจน

ผ้าป่า คำนี้โดนขยายความหมายให้กว้างขึ้น จากการทอดผ้าป่าที่เป็นเพียงการบอกบุญเรี่ยไรจตุปัจจัยจากพุทธบริษัท เพื่อนำเงินทองสิ่งของทะนุบำรุงพุทธศาสนา สู่การถูกนำมาเป็นอีกตัวเลือกในการระดมทรัพยากรด้านการศึกษาในปัจจุบัน

ตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2542  หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา ดังนี้

  1. ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษีเพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

  2. ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัด และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สิน และทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วม กับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสม และความจำเป็น

ทั้งนี้ ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุน และใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามความเหมาะสม และความจำเป็น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ถ้ามองตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2542 สรุปได้ว่า การทำผ้าป่าการศึกษานั้นสามารถทำได้ และการจัดงานผ้าป่าของโรงเรียนในประเทศไทยนับว่าเป็นเรื่องปกติ

ดารารัตน์ ผิวผัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ดารารัตน์ ผิวผัน หรือ ผอ.กุ้ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ยอมรับว่า โรงเรียนมีการจัดผ้าป่าการศึกษา เพื่อช่วยในส่วนงบประมาณของโรงเรียน เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าโรงเรียนจำนวนครูไม่พอ จำเป็นต้องหาเงินจ้างครูเพิ่ม เพราะจำนวนเด็กน้อยมีการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว ทำให้ถ้าจำนวนเด็กน้อย จะได้งบฯ น้อยตามไปด้วย

ในส่วนของการสร้างอาคารหรือสร้างห้องน้ำนั้น ผอ.กุ้ง บอกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดสรรงบประมาณที่จะได้เป็นรายปี แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็จะได้งบประมาณแบบรายหัว ซึ่งตรงส่วนนี้ทำให้เกิดความลำบากแก่โรงเรียนขนาดเล็กในเรื่องงบประมาณ

โดยโรงเรียนของ ผอ.กุ้ง ได้จัดผ้าป่าการศึกษาเพียงหนึ่งครั้ง ที่ทำในนามชมรมผู้ปกครอง ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา หนึ่งในคณะกรรมการสถานศึกษาจะเป็นองค์กรศาสนา คือ พระครู ของวัดที่อยู่ใกล้เคียง ในส่วนของการจัดสรรยอดเงินที่ได้มา จะประชุมคณะกรรมการฯ แล้วจึงสามารถนำไปใช้บริหารได้

‘ผ้าป่าการศึกษา’ ระดมทุนไม่ใช่ทางออกเดียว

ในเมื่อการระดมทรัพยากรไม่ได้มีแค่ผ้าป่า และมีช่องว่างมากมาย แล้วทำไม ? หลายโรงเรียนจึงเลือกที่จะทำผ้าป่าการศึกษา อย่างกรณีโรงเรียนของ ผอ.กุ้ง ได้นำเสนออีกวิธีการระดมทรัพยากร ที่ไม่ใช่การทำผ้าป่าว่า โดยเห็นว่า เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้านที่ครอบครัวของนักเรียนไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ทำนา และ จ.แม่ฮ่องสอนเองไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจ ไม่สามารถระดมทรัพยากรได้มากพอ จึงเห็นว่าการทำผ้าป่าการศึกษาไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และเป็นการรบกวนผู้ปกครอง จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการขอช่วยเหลือในเรื่องของแรงงานคนในพื้นที่มาช่วยพัฒนาโรงเรียน และเลี้ยงข้าวเป็นการตอบแทน

จะเห็นว่ายังมีกิจกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยน การระดมทุนการศึกษา ให้เป็นไปตามบริบทของโรงเรียน ที่จะสามารถทำให้คนที่จัดงานระดมทุน และคนบริจาคเงินเองได้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่แค่นำเงินมามอบให้อย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งในประเทศไทย จัดผ้าป่าการศึกษาเนื่องจากความขาดแคลน

เมื่อมีเรื่องของ เงิน เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส จากข่าวที่เห็นกันทั่วไปในโซเซียลมีเดีย ทั้งการทุจริต การขาดเงินงบประมาณ รวมถึงการทำให้ซองผ้าป่ากลายเป็นภาระของครู และ นักเรียน

เงินเดือนครูไม่ใช่เงินรัฐ แต่มาจากเงินผ้าป่า”

“ฉันเกลียดการที่โรงเรียนให้ครูไปหาผ้าป่า”

“ฉันเคยโดนบังคับให้เอาซองมา 10 ซองไปแจกคนรู้จัก”

“บังคับให้ใส่ซองผ้าป่าไม่ต่ำกว่าร้อย แจกที 5 ซอง”

“บอกให้ใส่ตามกำลังทรัพย์แต่ต้องได้คนละร้อย”

“ผอ.คนหนึ่งเรียกเก็บแต่ผ้าป่า บังคับจำนวนต้องได้ห้องละเท่านี้ ๆ”

นั่นคือข้อเท็จจริงบางส่วนจากหลากหลายความคิดเห็นของผู้ใช้ x (Twitter) และเว็บไซต์ Pantip เกี่ยวกับ ผ้าป่าการศึกษา ที่กำลังสะท้อนว่าบุญผ้าป่า อาจไม่ต่างอะไรจากการสร้าง ภาระ ให้กับครู และนักเรียน

แล้วการระดมทุนควรเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ? ในช่วงเวลาที่เด็กนักเรียน และครู อีกจำนวนมาก อาจตกอยู่สถานการณ์ของความกระอักกระอ่วน ที่ต้องนำซองผ้าป่าไปเรี่ยไร

วัดศักยภาพ ‘ครู’ ด้วยยอดเงินผ้าป่าการศึกษา

แต่ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน ที่ต้องแบกรับภาระผ้าป่า ครูเองก็ต้องเจอสภาพไม่ต่างกัน ร่มเกล้า ช้างน้อย หรือ ครูกั๊ก ครูชำนาญการโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ บอกว่า ในบางยุคบางสมัยของผู้บริหารที่อยากได้ยอดเงินจากผ้าป่าการศึกษา จะใช้วิธีการให้คุณครูแต่ละคนส่งยอดเงินเข้ามา หากครูคนไหนไม่สามารถหาได้จะมีการแจ้งชื่อ แจ้งจำนวนเงิน ถ้าหายอดได้น้อยก็อาจถูกเปรียบเทียบในสังคมโรงเรียนด้วยกัน ว่า ครูอีกคนหาได้ 20,000 แต่อีกคนหามาได้ 200 จึงเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า การโดนบังคับเป็นทอด ๆ

ร่มเกล้า ช้างน้อย (ครูกั๊ก) ครูโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์

คุณครูจึงเป็นเหมือนไส้แซนวิชที่อยู่ตรงกลางระหว่างเด็กกับผู้บริหาร ถ้าคุณครูพร้อมจะสู้ หมายความว่าต้องยอมเสียอะไรบางอย่าง การทำเพื่อองค์กร ที่ครูจะต้องเลือก และต้องแลกมา ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณครูทุกคนจะโดนบังคับ และโรงเรียนทุกโรงเรียนจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้”

ครูกั๊ก สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องย้อนกลับมาคิดว่าการทำผ้าป่าการศึกษา ที่ถือได้ว่าเป็นการทำบุญ แล้วทำไม ? ครูถึงต้องตกอยู่ในสถานะที่ต้องเสียสละ แล้วยอมแลกถึงขนาดนั้น

การประเมินคุณครูที่ยึดโยงกับค่าตอบแทนที่เรียกว่า เงินเดือน จึงเป็นสิ่งที่ครูต้องแบกรับไว้หรือไม่ ? ถึงแม้ว่าครูสามารถเรียกร้องว่ามีการบังคับขู่เข็ญ แต่จะมีครูสักกี่คน ที่กล้าจะทำอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะยังสามารถเรียกว่าการทำบุญได้อีกหรือไม่ ? ถ้าภายใต้การทำบุญนั้น มีคนอีกมากมายที่ต้อง ทุกข์ เพราะคำว่า บุญ ที่กำลังทำอยู่

‘ผ้าป่าการศึกษา’ กับหลักคิดในพุทธศาสนา

เมื่อพูดถึงบุญในทางพระพุทธศาสนา พระครูสิทธิสรกิจ (พิศุทธิ์ วิสุทฺโธ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ย้ำว่า ต้องไม่ผ่านเรื่องของอำนาจ ความกลัว ซึ่งจะผิดวัตถุประสงค์ของการสร้างกุศลอย่างแท้จริง ไม่ต่างจากการฉุดรั้งหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาให้ผิดเพี้ยนไป หรือบิดเบือนเพราะกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่หวังเอาสิ่งที่เรียกว่าทุน หรือ เงินเท่านั้น

พระครูสิทธิสรกิจ

“การจัดระดมทุน คนจะจัดก็จัดได้ คนจะทำบุญก็ทำได้ หากมีคนกลุ่มที่มีทรัพยากรเห็นโอกาสอยากสนับสนุน แล้วมาเจอกันทำให้งานนั้นสำเร็จขึ้นมาด้วยดี ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่การฝืน ไม่ใช่การบังคับ ร่วมแรงร่วมใจเราถึงเรียกผ้าป่าสามัคคี”

พระครูสิทธิสรกิจ

สำหรับคนไทยแล้ว พุทธศาสนา คือสิ่งยึดโยงสำคัญตั้งแต่เกิดจนถึงตาย จนบางครั้งศาสนายังถูกใช้เป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาในสังคม เมื่อบอกว่าเป็นการทำบุญ เป็นการทำทานเพื่อประโยชน์ คนไทยหลาย ๆ คน จึงไม่อาจจะปฏิเสธมันได้ ถึงแม้การปฏิเสธต้องเป็นสิ่งที่เราทำได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิดก็ตาม

อีกมุมมองสำคัญ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) ได้บอกไว้เช่นกันว่า เมื่อมีคนบริจาคเข้าไปช่วย สุดท้ายปัญหาก็ได้รับการแก้ไข แต่ปัญหาที่อยู่ในระดับโครงสร้าง ก็ต้องการความสนใจระยะยาวจากรัฐบาลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถูกพูดถึงน้อยลง เพราะคนเดือดร้อนกับปัญหาเฉพาะหน้า แล้วเมื่อปัญหาเฉพาะหน้าได้รับการแก้ไข ก็ไม่จำเป็นที่จะไปดำเนินการอะไรต่อ

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

“การที่ประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองพุทธ และยังเป็นประเทศที่ชอบช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ หรือบริจาคเงิน จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาความลำบาก และปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอของประชาชนจริง ๆ ให้หายไปสักที”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

ในเมื่อเมืองไทย ยังตัดไม่ขาดกับเรื่องการให้ และการทำบุญ แต่สิ่งที่กำลังสะท้อนผ่านผ้าป่าการศึกษา ก็กำลังชี้ให้เห็นช่องโหว่สำคัญของการจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเช่นกัน และที่ผ่านมาก็แทบไม่เคยได้รับการหาทางออก

ผ้าป่า-ระดมทุนเพื่อการศึกษา แก้แบบไหน ? ให้ยั่งยืน

ในฐานะของผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ผอ.กุ้ง มองว่า โรงเรียนต้องได้รับการบริหารจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม หรือได้รับการดูแลจากรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้การบริหารจัดการที่เหมือนกันได้ ผ้าป่าการศึกษาจึงไม่น่าจะเป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียน โรงเรียนน่าจะมีหน้าที่แค่วางแผนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่มากกว่า

ดังนั้นเห็นว่าต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างเป็นหลัก ถ้าหากโครงสร้างของการจัดสรรงบประมาณนั้นมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับระบบของโรงเรียนที่แตกต่างกัน เช่นในโรงเรียนขนาดเล็ก แม้ในส่วนการจัดผ้าป่าการศึกษานั้นไม่ได้กำหนดว่า ห้ามทำ หรืออาจจะมองว่าเป็นการช่วยเหลือกันไปก่อนในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นการทำผ้าป่าการศึกษา ควรจะออกมาในลักษณะใดได้บ้าง เพื่อไม่ให้ผ้าป่าการศึกษาเกิดช่องว่างของการทุจริต ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ไม่ต่างจาก ครูกั๊ก ก็แนะนำว่า ถ้าจะทำผ้าป่าการศึกษากันจริง ๆ ต้องทำให้โปร่งใส ต้องมีการตรวจสอบได้ทั้งขาเข้า และขาออก ทุกที่ต้องทำให้เหมือนกัน และเปิดให้คนสามารถตั้งคำถามได้ เหมือนกับที่ขู่เข็ญครูว่าทำโครงการ ใบเสร็จต้องถูกต้อง ของผู้บริหารก็ต้องถูกต้องเหมือนกันหรือไม่

ถึงแม้การจัดผ้าป่าการศึกษา จะถูกตรวจสอบจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่เรื่องราวการตั้งคำถามถึงความไม่โปร่ง ก็ยังมีให้เห็นบนหน้าสื่ออยู่เสมอ

แต่หากดูกันดี ๆ การจัดผ้าป่าการศึกษาไม่ใช่การแก้ปัญหางบประมาณของโรงเรียนไทยที่ยั่งยืน เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ยังต้องทำผ้าป่าการศึกษาในทุก ๆ ปี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐยังจัดสรรงบประมาณไม่ดีพอหรือไม่ ?

ดังนั้นถ้าหากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนโรงเรียนในสังกัดอย่างเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องจัดผ้าป่าการศึกษา และการจัดผ้าป่าการศึกษาควรเป็นประเด็นที่เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า ทำไม ? ถึงยังมีอยู่ ในเมื่อรัฐยืนยันมาตลอดว่าจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสมให้กับโรงเรียนทุกปี


ข้อมูลอ้างอิง

ทอดผ้าป่า

ผ้าป่าตามความความหมายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2542

ข่าว : ทั้งโรงเรียนมีครูแค่ 2 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วิฆเนศ ตรีตรง

นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิชาโทภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล