แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มายาวนานถึง 92 ปี แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ายังมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเรายังวนเวียน สับเปลี่ยนไปมา ผ่านความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ที่บางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต
“ประชาธิปไตยก็ยังไม่ลงหลักปักฐาน
ยังมีคนหวนอาลัยถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มากก็น้อย”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
ไม่ต่างจากความคิดของ ‘รศ.โคทม อารียา’ นักวิชาการด้านสันติวิธี ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ถึงหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างอุดมการณ์
The Active ชวนมองร่องรอยที่หลงเหลือผ่านกาลเวลา 92 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ส่งผลยาวนานมาถึงปัจจุบัน พร้อมหาทางลงของความขัดแย้งต่างอุดมการณ์ผ่านมุมมอง “นักสันติวิธี” เพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับการเมืองไทย
อำนาจนิยม-ราชานิยม-เสรีนิยม : วงจรที่ไม่รู้จบ
หากย้อนดูประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของ โคทม ประกอบกับบทความวิชาการ “อุดมการณ์ทางการเมือง : อุดมการณ์ทางการเมืองไทย” ของ รศ.พชรวัฒน์ เส้นทอง อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะพบว่าการเมืองของไทยที่ผ่านมานั้น อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะวนเวียนอยู่ระหว่าง “อำนาจนิยม-ราชานิยม-เสรีนิยม” จนเป็นวงจรที่เมื่อเข้ามาแล้วยากที่จะหาทางออกด้วยความสันติ
เมื่อจำแนกเป็นช่วงเวลาจะพบว่า 15 ปีแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2490 มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างคณะราษฎรและเหล่าขุนนางจากอุดมการณ์ที่ต่างกัน ซึ่งหากมองในภาพรวมจะเห็นว่าอุดมการณ์ในช่วงนี้ถูกแบ่งเป็นสองฝั่งคือ ‘เสรีนิยม’ และ ‘อนุรักษ์นิยม’ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของคณะราษฎรก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นรากฐานแห่งประชาธิปไตยให้มีอยู่ในสังคมไทยจนมาถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ถึงประมาณปี พ.ศ. 2516 จะเห็นว่าผู้นำที่มีอำนาจตลอด 26 ปีนี้ มาจากอำนาจของฝ่ายทหารทั้งหมด โดยมีการรัฐประหารถึง 6 ครั้ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงที่ต่างฝ่ายอุดมการณ์มีบทบาททางการเมืองและเกิดความขัดแย้งกัน
- ปี พ.ศ. 2490 ถึง ปี พ.ศ. 2494 มีนโยบายชาตินิยมที่ขัดแย้งกับฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายทุนนิยม จึงทำให้ช่วงนี้เกิดการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 3-5 ในประเทศไทย
- ปี พ.ศ. 2500 ถึง ปี พ.ศ. 2516 มีการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 6-8 อีกครั้ง โดยฝ่ายประชาธิปไตยถูกยึดอำนาจเบ็ดเสร็จจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่าง ‘วันเสียงปืนแตก’ และ ‘วันมหาวิปโยค’
ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวในปี พ.ศ.2516 หลังวันมหาวิปโยค และเรื่อยมาจนถึง ปี พ.ศ.2519 ซึ่งเรียกได้ว่า “อุดมการณ์สังคมนิยมเฟื่องฟู” และเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้น จนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การกลับมาของประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นมาเพียงไม่ถึง 2 ปี เพราะการเกรงกลัวต่ออุดมการณ์ก้าวหน้าของกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งอีกเช่นเคย จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ “เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ” จากอุดมการณ์ของฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เรียกว่า “อุดมการณ์ขวาพิฆาตซ้าย” โดยในช่วงนี้มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2520 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ 9-10 ของประเทศไทย และอำนาจจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ.2531 การสืบอำนาจจากฝ่ายทหารที่มีอยู่อย่างยาวนานก็สิ้นสุดลง เมื่อประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกครั้ง นั่นคือ “พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ” นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย
มาถึงปี พ.ศ.2535 นับว่าเป็นช่วงกึ่งประชาธิปไตย โดยมีการแบ่งฝ่ายเป็น ‘พรรคมาร’ ที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร และ ‘พรรคเทพ’ ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากอำนาจฝ่ายทหารเช่นเดียวกับพรรคเทพ
จึงมีการชุมนุมประท้วงที่เรียกว่า ‘พฤษภาทมิฬ’ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มาจนถึง ปี พ.ศ.2548 ก็มีการเกิดรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งนายกที่อำนาจมาจากประชาชน ซึ่งนับว่าประชาธิปไตยได้ขึ้นมาพัฒนาพอสมควร
แม้ที่มาของนายกฯ ซึ่งเกิดจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นแล้ว แต่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่เคยมีมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ก็ยังไม่หมดไป ในช่วงปี พ.ศ. 2549 เกิดอุดมการณ์ที่เรียกว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ซึ่งแอบอิงอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยมจาก “กลุ่มขวาใหม่” โดยมองว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งไร้ประสิทธิภาพในการทำงานและแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพรรคพวก จนเกิดวาทกรรม “ประเทศต้องการคนดี” ที่ โคทม มองว่าเป็นการด้อยค่านักการเมือง และเป็นการต่อต้านแนวคิดการเมืองแบบก้าวหน้า เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เราเห็นได้จากปัจจุบัน และยังส่งผลให้เกิดการชุมนุมหลายครั้งในไม่กี่ปีมานี้ จนเรียกได้ว่าปัจจุบันนี้ระบอบการปกครองของไทยกลายเป็นระบอบการปกครองแบบพันธุ์ทาง (hybrid regime) หรือการเมืองลูกผสม (hybrid politics) ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ยึดถืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเกิดขึ้นมาในกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวในสังคม
การเมืองของไทยที่วนเวียนอยู่ระหว่าง “อำนาจนิยม-ราชานิยม-เสรีนิยม” ใน 92 ปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางสิ้นสุดลงได้ง่าย และยิ่งทวีคูณความแหลมคมมากขึ้นจากผู้มีอำนาจที่ซ่อนอยู่อย่างไร้ตัวตน โดยอาศัยอุบายทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการกำจัดความเห็นต่างจากคนบางส่วนที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งวาทกรรมและข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ใช้เรื่อง “จิตวิทยา” โดยทางการทหารเรียกว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” เพื่อเป็นเครื่องมือชักจูงความคิดของคนในสังคมให้มีความเชื่อตามที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นต้องการให้เชื่อ
ต้นตอความขัดแย้งที่นอกเหนือจากความต่างในอุดมการณ์ คือ การมองคนตรงข้ามเป็นศัตรู
“มันซ่อนเร้นมานาน แต่เราไม่กล้าพูด เรามองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูมาตั้งแต่ พ.ศ.2475
เพราะยังมีคนไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
คงไม่ใช่เพียงความต่างของอุดมการณ์ที่คอยผูกรัดปมความขัดแย้งนี้ไว้จนยากที่จะหาทางแก้ หากปมนั้นไม่ได้ถูกมัดแน่นด้วยความต้องการเอาชนะจากคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดถือสิ่งเดิมไว้ โดยไม่ปล่อยให้อำนาจที่มีอยู่ไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย เสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ในขณะที่ยังมีคนเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงและต้องการให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะส่วนสำคัญในประโยคท้ายสุดอย่าง “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้ “มาตรา 112” กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในทางการเมืองที่จะเพิ่มความขัดแย้งและความรุนแรงจากอุดมการณ์มากยิ่งขึ้น
ทั้งการไร้ตัวตนของผู้มีอำนาจที่ครอบงำกฎหมายและการแฝงความคิด-ความเชื่อผ่านข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะนี้ โคทม มองว่า เป็นความรุนแรงที่หลายคนมองไม่เห็น ต่างจากความรุนแรงที่เราเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการรัฐประหาร ซึ่ง “ความรุนแรงซ่อนเร้น” ที่ว่านี้ ไม่ควรมองข้ามและต้องรีบแก้ไขเพื่อหยุดวงจรความขัดแย้งเช่นเดียวกับเหตุการณ์นองเลือดที่เคยผ่านมา
“อย่างน้อยมองไม่เห็นว่าใครคือผู้กระทำความรุนแรงหรือใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง แต่เราเห็นผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อ”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
ความรุนแรงที่ดูเหมือนว่าไม่มีทางสิ้นสุด ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีวันนั้น
แม้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแอบซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งต่าง ๆ จนหลายคนอาจมองข้ามหรือมองไม่เห็นมากพอที่จะช่วยกันหาทางออก อย่างไรก็ตาม การหาทางออกของปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้หมดหวังซะทีเดียว เพราะเมื่อเปิดดูตำราและจากประสบการณ์ของ โคทม จะพบว่ามี 5 วิธีในการหาทางออก เมื่อสังคมมีความขัดแย้ง ดังนี้
- การใช้กำลังในการบังคับ
- การให้ผู้มีอำนาจเหนือตัดสิน เช่น ส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
- การแช่แข็งปัญหา โดยแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ผู้อำนาจให้ความสำคัญมากกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ
- การประนีประนอม
- การทางออกร่วมกัน โดยการปรึกษาหาหรือตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของแต่ละฝ่าย
จาก 5 วิธีข้างต้น โคทม ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่ใช้ทางออกอย่าง “การประนีประนอม” หรือ “การหาทองออกร่วมกัน” อาจเพราะด้วยอุดมการณ์ที่ยึดถือและไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องยากในการแก้ไขหรือหาทางออก ซึ่งหากนำ 2 วิธีดังกล่าวมาใช้ในการแก้ปัญหาจะพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด
“ทำไมเรารออยู่ถึงขั้น 10-20 ปี สำหรับความขัดแย้งที่เราเห็น ทำไมเราไม่คุยกัน ผมก็ไม่แน่ใจ อาจจะต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ เพราะผมว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าพูดคุยกันและการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
ดังนั้น “ผู้นำหรือผู้มีอำนาจ” จึงมีส่วนสำคัญในการร่วมคลายปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ โดยทางหนึ่งในการแก้คือ “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่จะต้องเป็นหลักการซึ่งกว้างมากพอที่จะมีพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง รวมถึง “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่รวมการกระทำความผิดตามมาตรา 112” ไว้ด้วย เพราะการนิรโทษกรรม สำหรับ โคทม คือการ “เลิกแล้วต่อกัน” หรือการยุติความบาดหมางที่ผ่านมา
“นึกถึงชาวอินเดียนแดงเมื่อไม่สู้รบกันแล้ว เขาจะเอาขวานไปฝังและไม่หยิบขึ้นมาฆ่ากัน เราไม่อยากให้หยิบประเด็นทางการเมืองมาสร้างความวิวาท บาดหมาง ก็เอาประเด็นทางการเมืองบางอย่างฝังมันไปซะหน่อย เก็บไว้ซะ”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
แม้การรวมความผิดมาตรา 112 ไว้ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่จะทำให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการลดการป้องกันของพระมหากษัตริย์หรือเหล่าราชวงศ์จากการถูกละเมิด แต่สำหรับ โคทม เห็นต่างจากนั้น คือ ควรมีการรวมความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองไว้ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งในที่นี้รวมถึง มาตรา 112 ด้วย เพราะจะช่วยให้ลดความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างมาก
หลักการุณยธรรม ซึ่งหมายถึงการอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ จึงเป็นทางออกที่ โคทม ให้ความสำคัญในลบรอยแผลและสร้างความปรองดองกันและกัน ด้วยการพูดคุยและสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันท่ามกลางอุดมการณ์หรือความเห็นที่แตกต่างที่ไม่ใช่เป็นการประกาศจุดยืนในความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะคณะกรรมมาธิการในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญที่กำลังศึกษาข้อกฎหมาย จะต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่คิดต่างมากขึ้น เพื่อหาทางออกที่พอจะเห็นพ้องต้องกันและนำพาให้ความคิดที่หลากหลายเดินหน้าต่อไปได้ด้วยสันติสุข
“หวังว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นกระบวนการที่รวมคน รวมความคิดเห็น ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แหลมคมที่สุดและไม่จำเป็นต้องไปเอาความคิดก้าวหน้าที่สุดมาใส่ในรัฐธรรมนูญ แต่เอาความคิดที่เราได้ในบทเรียนจากประสบการณ์ของเราเองและเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ มาปรับใช้”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
ในส่วนของกระบวนการนิรโทษกรรมก็เช่นกัน โคทม เสนอการใช้หลักการุณยธรรมด้วยการให้พักการดำเนินคดีและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลา เช่น 3-5 ปี ซึ่งหากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการกระทำความผิดซ้ำและศาลรับฟ้อง ก็จะยุติกระบวนการนิรโทษกรรมและกลับมายกเลิกการพักการดำเนินคดี และหากไม่มีการกระทำผิดซ้ำในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กระบวนการนิรโทษกรรมจึงเป็นที่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม การใช้หลักการุณยธรรมในกระบวนการนิรโทษกรรมตามข้อเสนอของ โคทม ก็จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยจะต้องพยายามไม่ให้เป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ ๆ ซึ่งผู้ที่เคยกระทำความผิดก็จะต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ และอย่าให้เกิดความเข้าใจว่าเมื่อได้นิรโทษกรรมแล้ว หากในอนาคตกระทำความผิดในมาตรา 112 อีกก็จะไม่มีผลใด ๆ แต่จะต้องถูกดำเนินคดี
ในส่วนกฎหมายหรือผู้นำก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะคลายปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แต่ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คลายปมนั้นได้ง่ายขึ้นและเป็นภูมิคุ้มกันต่อความขัดแย้งในอนาคต นั่นคือ “มิตรภาพ” ตัวอย่างหนึ่งที่ โคทม ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงพลังของมิตรภาพคือนวนิยายชื่อดัง “เจ้าชายน้อย” ซึ่งมีตัวละครหลักคือเจ้าชายน้อยและสุนัขจิ้งจอก
เจ้าชายน้อยเป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งที่โลกใบนี้มีอยู่เป็นแสนเป็นล้าน
ไม่มีความสำคัญอะไรกับสุนัขจิ้งจอกอย่างฉัน
ทำนองเดียวกัน สุนัขจิ้งจอกก็เป็นหมื่นเป็นแสน ไม่มีความสำคัญใด ๆ ต่อเจ้าชายน้อย
..
แต่ถ้าเราจะเป็นเพื่อนกัน เราต้องอดทนนะ
ตอนแรก ๆ นั่งห่างกันหน่อย ไม่ต้องพูดมาก พูดแล้วเดี๋ยวเข้าใจผิด
แล้วค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้ ๆ เธอก็มาเยี่ยมฉันเป็นเวลา แล้วฉันจะรอคอยเวลาที่เธอจะมาเยี่ยม
แค่ฝีก้าวของเธอฉันได้ยิน ฉันก็รู้แล้ว
..
และเมื่อนั้น เธอจะเป็นเด็กคนเดียวในโลกสำหรับฉัน
และฉันจะเป็นสุนัขจิ้งจอกตัวเดียวในโลกสำหรับเธอ
เจ้าชายน้อย
ดังนั้น “ความเชื่อใจและความอดทน” จึงทำให้มิตรภาพไม่ได้มีความพิเศษเพียงแค่การช่วยเหลือหรือความชื่นชอบกันและกัน แต่มากไปกว่านั้นคือ “การให้อภัย” ที่เกิดจากความเชื่อใจและความอดทน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจตนเองก็ตาม ซึ่งก็จะต้องอาศัยความเข้าใจและความเป็นมิตรภาพที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนคนไทย เพื่อนร่วมโลก หรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“ยุติเรื่องที่บาดหมางไว้ก่อน แล้วให้เวลาเยียวยาซักนิด ถ้าเรื่องนี้ไปต่อได้ ก็จะให้อภัยกัน
วันหนึ่งเราคิดว่ามาตรา 112 ทำไม่ถูก พอเวลาผ่านไปต่างฝ่ายต่างสงบ อันนี้จะเอื้อต่อบรรยากาศการปรองดอง”
รศ.โคทม อารียา กล่าว
เพราะฉะนั้น เป็นเพื่อนกันคือคำตอบระดับหนึ่ง แต่หากจะให้ดีกว่านี้ โคทม ได้เสนอ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)” เพื่อเป็นการช่วยเหลือและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนในระดับปัจเจก โดยมี 17 ข้อ ดังนี้
1.ขจัดความยากจน (No Poverty)
2.ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
3.มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being)
4.การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education)
5.ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)
7.พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy)
8.การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)
9.อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)
10.ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities)
11.เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
12.แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
13.การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
14.การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
15.การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life and Land)
16.สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace, Justice and Strong Institutions)
17.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for The Goals)
สิ่งเหล่านี้ โคทม มองว่าไม่ใช่แค่เรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดการเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับประชาชนทั่วไปที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าอาจจะเป็นภาพที่ยังมองไม่ชัดมากนักที่จะนำทั้งการจัดรัฐธรรมนูญใหม่ การนิรโทษกรรม การใช้หลักการุณยธรรม และความเป็นมิตร มาเป็นตัวช่วยในการทลายกำแพงความขัดแย้งและความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างน้อยในเมื่อเราอยู่ในจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มีผู้คนที่พร้อมจะสร้างประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าแล้วนั้น สิ่งที่ทำได้คือการทำใจและก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ของสังคมการเมืองไทยให้สดใสยิ่งขึ้น