ระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันเท่าเทียม

ตระกูล แชบอล (재벌) = ระบบอุปถัมภ์? หรือคนต้องเท่ากันในทุกมิติ : สุพัชชา อินทุโศภน

มีคำกล่าวว่า Connection สำคัญกว่าเงิน…

ระบบอุปถัมภ์ หมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่หรือญาติมิตรของตน เป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับ ระบบความชอบธรรม

กลุ่มแชบอล คือ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มนายทุนบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ “คนในครอบครัว”

หากมองแล้วจะเห็นได้ว่าระบบอุปถัมภ์มีความคาบเกี่ยวกับตระกูลแชบอลในเรื่องของสิทธิพิเศษจากคนในครอบครัว ผลประโยชน์ต่างตอบแทน จากข้อมูลของ สถาบันการลงทุนของเกาหลีใต้ Korea CXO Institute เปิดเผยข้อมูลว่า “รายได้” จากกลุ่มธุรกิจแชบอล 64 กลุ่มบริษัท คิดเป็นสัดส่วนที่มากถึง 84.3% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ปี 2019 โดยเฉพาะแค่บริษัทซัมซุงอย่างเดียวก็คิดเป็น 16.4% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้

จากซีรีส์ 2 เรื่อง The Queen’s Umbrella และ Reborn Rich  ที่มีแกนหลักของเรื่องคล้าย ๆ กัน มีเหตุการณ์คล้าย ๆ ในบ้านเรา เมื่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต้องคอยหนุนหลังพรรคการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์บางอย่างระหว่างการดำรงตำแหน่ง หรือเรื่องชนชั้นศักดินา ซึ่งเป็นความบิดเบี้ยวที่ผูกพันอยู่ในระบบอุปถัมภ์มายาวนานไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือไทย

The Active ชวนมองสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีใต้ อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ กับ สุพัชชา อินทุโศภน หัวหน้าสาขาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

The Queen’s Umbrella ใต้ร่มราชินี

จากซีรีส์ 2 เรื่อง The Queen’s Umbrella และ Reborn Rich เราจะเห็นระบบอุปถัมภ์ในเกาหลีใต้เยอะมาก สะท้อนอะไร?

ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเกาหลีใต้จนกลายเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งถ้ามองในแง่ที่ว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นสังคมสมัยใหม่มีความทันสมัย เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและระบบความชอบธรรม ระบบอุปถัมภ์ในเกาหลีทั้งในรูปแบบการให้ความสำคัญหรือสิทธิพิเศษกับพวกพ้อง หรือระบบพรรคพวก การให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ของสายเลือด สายตระกูล สถาบันการศึกษา หรือถิ่นกำเนิด นี่ก็ดูเหมือนจะค่อนข้างขัดแย้งกันเหมือนกัน

อยากจะกล่าวถึงที่มาของระบบอุปถัมภ์ในเกาหลีใต้ น่าจะมีที่มาจากสังคม 2 ประการ  คือ

1) สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ยังมีค่านิยม แบบกลุ่มนิยม ซึ่งจะให้คุณค่าและความสำคัญกับกลุ่ม ความสัมพันธ์ของบุคคล และผลประโยชน์ของกลุ่ม มากกว่าตัวบุคคล โดยคนเกาหลีจะให้ความสำคัญอย่างมากกับสายเลือด ครอบครัว พวกพ้อง กลุ่มหรือองค์กรที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่

2) เกาหลีในสมัยก่อนเป็นสังคมที่มีระบบชนชั้น อย่างในสมัยโชซอน(ที่เห็นในละคร) โดยแบ่งชนชั้นออกเป็น 4 ชนชั้น (1) ชนชั้นยังบันที่เป็นชนชั้นสูง ขุนนางระดับกลางถึงระดับสูง (2) ชนชั้นชุงอิน หรือชนชั้นกลาง ที่เป็นข้าราชการระดับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ขุนนางระดับล่าง (3) ชนชั้นซังมิน ที่ประกอบไปด้วยชาวนาและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และ (4) ชนชั้นชอนมิน ที่มีสถานภาพต่ำสุดของสังคม ประกอบไปด้วย ทาส มูดัง-หมอดู, ร่างทรง  กีแซง-นักแสดง โดยแน่นอนผู้ที่มีสถานภาพทางชนชั้นที่ต่ำกว่าก็ต้องพึ่งพากับผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ทั้งในเรื่องการคุ้มครอง พึ่งพาทางทรัพยากรและเศรษฐกิจ ประกอบกับลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลในเกาหลีใต้สูงมาก ๆ ซึ่งขงจื้อเน้นคุณธรรมและการกตัญญู ฉะนั้นผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ หรือได้รับการช่วยเหลือ ก็ต้องตอบแทนการให้หรือการช่วยเหลือนั้นด้วย เช่นกัน ซึ่งต่างฝ่ายก็ได้รับประโยชน์

เกิดเป็นระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ที่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในรากฐานความสัมพันธ์ของคนเกาหลีทั้งในอดีตและปัจจุบัน กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่มีอยู่จริงถึงแม้ในปัจจุบันสังคมเกาหลีไม่มีระบบชนชั้นแล้ว แต่บุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูง ก็จะมีทั้งทรัพยากร อำนาจ และโอกาสที่จะสามารถเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ได้มากกว่าอยู่ดี และเครือข่าย

ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่เราอาจจะเรียกมันว่า Connection นี้ ก็ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีสถานภาพสูงในสังคม

Reborn Rich 재벌집 막내아들

จริง ๆ แล้ว ระบบอุปถัมภ์ ดีหรือไม่ดี?

ถ้าจะมองแบบเป็นกลาง มองแบบเราเป็นคนนอก ระบบอุปถัมภ์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยุคสมัยและบริบททางสังคมด้วย ระบบอุปถัมภ์ก็เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมในแบบสังคมสมัยเก่า

มองในแง่ดีก็อาจจะหมายถึง “การช่วยเหลือเกื้อกูล” น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า  “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” หรือ ความสัมพันธ์ในเชิงตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งในสังคมสมัยเก่า การพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูล และการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็น

เช่น ในสมัยโชซอน ก็จะมีรูปแบบการปกครองที่แม้การปกครองจะมาจากส่วนกลางก็จริง แต่กว่าจะไปถึงท้องถิ่น สมัยนั้นการคมนาคมยากลำบาก อำนาจปกครองจากส่วนกลางดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงมีขุนนางท้องถิ่น มีผู้มีอำนาจในแต่ละท้องถิ่น กรณีเร่งด่วนหรือจำเป็น ถ้าชาวบ้านต้องรอทรัพยากรและการช่วยเหลือจากส่วนกลาง กว่าจะมาถึงก็อาจจะสายเกินไป ขุนนางหรือผู้มีอำนาจในท้องถิ่นก็อาจจะต้องคอยช่วยเหลือปกป้อง ให้ความคุ้มครอง โดยชาวบ้านที่ได้รับการดูแลก็มีวัฒนธรรมการตอบแทนผู้ให้ ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนกันในท้องถิ่น  มอบของขวัญให้ความจงรักภักดี จนกลายเป็นวัฒนธรรมของเกาหลีไปแล้ว แต่ถ้ามองในบริบทของสังคมปัจจุบัน ระบบอุปถัมภ์ แน่นอนมันส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่ในเครือข่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น  ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์ ผลักดันหรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ที่อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นวงกว้างด้วยก็ได้

ผลเสียที่สำคัญของระบบอุปถัมภ์คือ มันได้กลายเป็นที่มาของการเลือกปฏิบัติต่อคนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของความสัมพันธ์นี้ เป็นแบบระบบเล่นพรรคเล่นพวก ให้คุณค่ากับคนในกลุ่มของตนเองมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเครือข่ายของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ และมีส่วนได้ส่วนเสียกันอยู่แค่ในวงจำกัด ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้รับผลประโยชน์ มันย่อมส่งผลเสียต่อส่วนรวม

ในสังคมปัจจุบันเราให้คุณค่ากับความเท่าเทียมและความชอบธรรมมากกว่า ระบบอุปถัมภ์ที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ และความสัมพันธ์ต่างตอบแทน การให้สิทธิพิเศษเฉพาะคนในกลุ่ม ก็สามารถมองได้ว่าเป็นรากฐานของวัฒนธรรมคอร์รัปชัน และการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

จากซีรีส์ Reborn Rich อาจจะมีความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ หรือที่เกี่ยวข้องกับตระกูลแชบอล

ในเรื่อง Reborn Rich จะดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงประมาณปลายยุค 80 ถึงยุคต้นปี 2000 หลังปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีได้มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ หลังจากมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1987 และเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนานาชาติ หลังจากโอลิมปิกปี 1988 และเป็นช่วงสำคัญที่เศรษฐกิจเกาหลีกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า

ถ้าจะพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลี ก็ต้องย้อนไปก่อนหน้าเรื่อง Reborn rich ประมาณซักเกือบ 20 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงปลายๆปี 60-70 ซึ่งเป็นยุคที่เกาหลีกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบเต็มกำลัง ในช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลเกาหลีกำลังเริ่มปรับตัวกับการลดบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้ จึงมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการส่งออกเป็นหลัก เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในการสร้างและบูรณะประเทศหลังช่วงสงครามเกาหลี ซึ่งในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีเป็นการพัฒนาที่นำโดยรัฐบาลเป็นหลักโดยรัฐกำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนา

โดยเลือกเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐคิดว่ามีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อการส่งออก ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นนำโดยประธานาธิบดีพัคจองฮี ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ เลือกที่จะสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์ รัฐบาลได้สนับสนุนผู้ประกอบการในการจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำ และลดอัตราภาษีให้กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีที่เน้นการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันเพียงบางกลุ่มนั้น ก็อาจสามารถมองได้ว่าเป็นการช่วยเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเน้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ซึ่งก็จะไม่น่าผิดอะไรเพราะทุกวันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ๆ หลังจากยุคนั้น

แต่หากมองอีกมุมการช่วยเหลือแบบเลือกปฏิบัตินี้เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการแค่บางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งอาจจะถูกมองได้ว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีมีผู้ประกอบการมากมายที่ต้องล้มเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มธุรกิจที่ถูกเลือกได้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเบาไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และภาคการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

นอกจากนั้นการช่วยเหลือของภาครัฐแบบเต็มกำลัง ทำให้ภาคธุรกิจต้องพึ่งพาการช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลในระดับที่สูงมากซึ่งมันก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเกาหลีในเวลาต่อมาอีกด้วยและผู้ประกอบการหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกในช่วงปี 70 ที่ หลาย ๆบริษัทก็ได้กลายมาเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีในวันนี้ ซึ่งก็คือกลุ่มบริษัท แชบอล 재벌 อย่างพวก Hyundai motors, LG, Samsung, SK ที่เรารู้จักกันดี

ตัวอย่าง แชบอล 재벌 ในเกาหลีใต้

แชบอล คือกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท แต่ลักษณะพิเศษที่สำคัญของแชบอลคือ บริษัทที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และผู้บริหารในตำแหน่งระดับสูงจะมีความผูกพันกันทางสายเลือด เป็นบริษัทที่ถือหุ้นและบริหารงานโดยสายตระกูลหรือกลุ่มเครือญาตินั่นเอง ซึ่งอาจจะมาจากทั้งการผูกพันทางสายเลือดหรือการแต่งงาน

ซึ่งในเกาหลีบริษัทที่ถูกเรียกว่าแชบอล หรือตระกูลแชบอล ก็ไม่ได้มีแค่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทชื่อดังที่เรารู้จักเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายบริษัทหรือสายตระกูลที่ถึงแม้มีขนาดที่เล็กกว่า ก็มีคุณสมบัติเป็นกลุ่มธุรกิจหรือบริษัทแบบแชบอลด้วย

คุณสมบัติพิเศษของบริษัทแชบอลที่เน้นความผูกพันทางสายเลือดหรือสายตระกูลนี้ สามารถสะท้อนลักษณะทางสังคมของเกาหลีที่ให้คุณค่ากับความผูกพันทางสายเลือด กลุ่มสายตระกูล และการแต่งงานระหว่างตระกูลเพื่อธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ซึ่งในช่วงปี 70-80 กลุ่มบริษัทแชบอลขนาดใหญ่เหล่านี้ก็ได้ผลประโยชน์จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และกลุ่มบริษัทเองก็ได้มีการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลมากมายทั้งในรูปแบบอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยอาจจะเรียกได้ว่ากลุ่มบริษัทแชบอลหรือตระกูลแชบอลนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ผู้บริหารประเทศ กลุ่มนักการเมือง และผู้มีอำนาจในเกาหลีใต้มาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่อาจจะมองว่าอยู่ในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ก็ว่าได้ นอกเหนือไปกว่านั้นด้วยการบริหารงานของบริษัทแชบอลที่เน้นสืบทอดและดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญ ๆ โดยคนในตระกูล ก็จะเห็นได้ว่าสังคมเกาหลีนั้นนอกจากระบบอุปถัมภ์แล้ว ยังมีการให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ทางสายเลือดมากกว่าความสามารถที่แข่งขันได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย

หากมองมาในปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ของเกาหลีใต้ พัฒนา หรือมีความหนักแน่นขึ้นอย่างไร ?

ถ้ามองสังคมเกาหลีปัจจุบันก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดและค่านิยมไปในทิศทางของสังคมสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งระบบอุปถัมภ์ไม่เป็นที่นิยมแล้ว

“ค่านิยมในสังคมสมัยใหม่ที่มองว่าระบบอุปถัมภ์เป็นที่มาของการคอร์รัปชัน การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม และไม่ยุติธรรม ทำให้คนในสังคมเกาหลีก็เริ่มมองว่าระบบอุปถัมภ์ที่เป็นวัฒนธรรม เป็นหลักปฏิบัติในเกาหลีนี้เป็นที่มาของปัญหาหลาย ๆ อย่าง”

ยิ่งในสังคมเกาหลีที่เป็นประชาธิปไตยสูง เปิดให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี คนส่วนใหญ่ที่ตระหนักได้ว่าระบบอุปถัมภ์นั้นมันสร้างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนขึ้น และมีการให้ประโยชน์ตอบแทนกันแบบเลือกปฏิบัติทำให้คนส่วนใหญ่เสียสิทธิและประโยชน์ที่ตนเองควรได้รับก็จะเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องสิทธิให้ตนเองมากขึ้น จนมีการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก หากผู้มีอำนาจประพฤติตนไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์แก่บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ด้วย เช่น วัฒนธรรมการให้ของขวัญหรือการเลี้ยงอาหารเพื่อตอบแทนที่เป็นวัฒนธรรมทั่วไปของคนเกาหลีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายถ้าเป็นการมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ความสัมพันธ์หรือมีอำนาจเกี่ยวข้องกับเรา (김영란법)

แต่อย่างไรก็ดีแม้ผู้คนส่วนใหญ่จะตระหนักถึงปัญหาของระบบอุปถัมภ์และต้องการจะเปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อมันฝังรากลึกอยู่ในสังคมและยังคงเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายของความสัมพันธ์นี้ ที่โดยส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมแล้ว การเปลี่ยนแปลงของระบบอุปถัมภ์ในเกาหลีก็คงเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างยาก

มองระบบอุปถัมภ์เกาหลีใต้ แล้วหากมาย้อนมองประเทศไทย มีความคล้ายหรือต่างหรือมีความข้องเกี่ยวต่อระบบยุติธรรม ประชาธิปไตย อย่างไร?

“แน่นอนถ้าพูดถึงตัวระบบที่มันเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ผลประโยชน์ต่างตอบแทนช่วยเหลือซึ่งกันและกันเฉพาะคนในกลุ่มตัวเอง การเลือกปฏิบัติต่อพวกพ้อง คิดว่าระบบอุปถัมภ์ที่ไหน ๆ ในโลกก็น่าจะมีความคล้ายคลึงกัน

แต่ถ้าจะมองประเทศไทยกับเกาหลี ก็ต้องพูดถึงที่มาของระบบอุปถัมภ์ด้วยที่ส่วนหนึ่งมันมีที่มาจากระบบชนชั้นที่เคยมีในอดีต ที่เรามีเหมือนกัน เราอุปถัมภ์ค้ำจุนกันระหว่างชนชั้นต่าง ๆ และมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีประโยชน์ต่างตอบแทนกันในชนชั้นและกลุ่มเดียวกัน และส่วนนึงมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมหรือหลักธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วก่อนที่ประชาธิปไตยจะได้เข้ามาสู่ทั้งสองสังคมเสียอีก ซึ่งการที่ระบบอุปถัมภ์มันได้ฝังรากลึกลงในสังคมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ค่านิยมแบบประชาธิปไตย และความเท่าเทียมยุติธรรมที่เป็นค่านิยมแบบสังคมสมัยใหม่นั้นจะมองได้ว่ามันเข้ามาทีหลัง

ซึ่งแน่นอนค่านิยมหรือระบบที่มันมีมาก่อนมันต้องส่งอิทธิพลต่อทั้งระบบยุติธรรมในสังคมสมัยใหม่ และประชาธิปไตยแน่นอน มันเป็นสิ่งที่ทั้งเกาหลีใต้ก็เห็นว่าเป็นปัญหาต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมและพยายามแก้ และคนที่ไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมก็ออกมาเรียกร้องเพื่อแก้ไข ก็เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นว่าระบบอุปถัมภ์มันเป็นปัญหา แต่มันก็อาจจะแก้ยากเพราะยังมีคนในสังคมอีกมากมายที่ยังพึ่งพาระบบอุปถัมภ์และยังได้ประโยชน์จากมัน ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาระบบยุติธรรมและประชาธิปไตยให้มันเป็นอย่างที่ควรเป็น

ระบบอุปถัมภ์ไม่ควรปรากฏอยู่ในสังคมสมัยใหม่ เพราะสังคมสมัยใหม่ควรเป็นสังคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนต้องเท่าเทียมกันในทุกมิติ

แน่นอนทุกคนคงหวังว่าสังคมสมัยใหม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่ระหว่างทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก จริง ๆ แล้วเราชอบมองกันแต่ภาพใหญ่ ๆ ว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นแทบจะเรียกได้ว่าแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของสังคม เราเห็นพวกพ้องเราดีกว่าคนอื่น เราเลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์แก่คนที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อเรา เราสร้างคอนเน็กชันเพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ นี่มันก็คือระบบอุปถัมภ์ประเภทหนึ่งเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าเราจะมองดูดี ๆ

“ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีคนคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในสังคม ระบบอุปถัมภ์ก็จะยังคงอยู่ได้ และความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมทุกมิติมันก็จะเป็นเรื่องที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้น”

และถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เริ่มจะตระหนักถึงปัญหาของระบบอุปถัมภ์และต้องการจะเปลี่ยนแปลง แต่ในกลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายของความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และยังพึ่งพาและได้รับผลประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์นี้ยังมีอยู่มาก ระบบนี้มันก็จะยังคงอยู่ในสังคมไปอีกนาน อาจจะเปลี่ยนแค่รูปแบบของมันเท่านั้นเอง

สุพัชชา อินทุโศภน หัวหน้าสาขาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สิ่งที่จะทำให้ระบบอุปถัมภ์อ่อนแอลง คือ ประชาธิปไตย หากมีการกระจายอำนาจ หยุดระบบวิ่งเต้น เส้นสาย ประชาชนน่าจะมีสวัสดิการที่ดีขึ้น แต่หากทุกคนยังมอง “สังคมอุปถัมภ์” เป็นเรื่องปกติ ภาพฝัน “คนเท่ากัน” ก็จะเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์