ใคร? ต้อง “มีส่วนร่วม” บนเส้นทางสู่ “สันติภาพ” ชายแดนใต้

เกือบ 2 เดือน ที่หลายหน่วยงาน หลายองค์กร และคนหลายกลุ่ม ถูกเชิญเข้าพูดคุยให้ข้อมูล เพื่อเป็นจุดตั้งต้นการเดินหน้าทำงาน ของกลไก “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร” หรือ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

ตั้งเป้าหมายศึกษาเพื่อส่งเสริมการสร้างประสิทธิผลของกระบวนการเจรจาสันติภาพ แน่นอนว่าหนึ่งในงานสำคัญ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการ “มีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้น

แต่ตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ เรายังมีส่วนร่วมกันไม่พออีกหรือ? แล้วส่วนร่วมที่พูดถึงกันนั้น “ใคร” ต้องมีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง The Active เปิดประเด็นสนทนากับ “พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา” อดีต สส. และคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่วันนี้มาในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

การมีส่วนร่วมนับจากนี้ควรเป็นแบบไหน ทำอย่างไร การมีส่วนร่วมจะเป็นทางออกให้กับการสร้างสันติภาพได้จริง

ในฐานะของหนึ่งในกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ และเป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ เรื่องการมีส่วนร่วม จากการพูดคุยที่ผ่านมา เห็นประเด็นอะไรน่าสนใจ ในกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่สันติภาพ?

จริง ๆ การมีส่วนร่วม เป็นประเด็นหลัก และเป็นหัวข้อที่ใหญ่มากใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะทุกครั้งที่ถามว่ามีส่วนร่วมก็ต้องถามต่อเลยว่า “ใคร” คือคนที่มีส่วนร่วมบ้าง หลักคิดใหญ่ ๆ ของคณะอนุกรรมาธิการฯ การมีส่วนร่วม มี 3 หลักคิดด้วยกัน คือ

  1. ประชาชนทุกคนภายในประเทศ มีความคิดเห็นอย่างไร และจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
  2.  กลุ่มผู้เห็นต่าง ถือเป็นกลุ่มที่ต้องพูดคุย และเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
  3.  ความปลอดภัย ต้องทำให้มั่นใจ ว่า ถ้าเขาพูดมาต้องไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขา ต้องให้มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน

ฉะนั้นการมีส่วนร่วมจึงมี 3 หลักคิดใหญ่ ๆ ซึ่งจะโยงไปที่การทำงานของอนุกรรมาธิการฯ ว่าถ้าอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องออกแบบอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะปัญหาความไม่สงบ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้น เมื่อพูดถึงงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาถึง 5 แสนล้านบาทนั้น คืองบประมาณจากภาษีของคนไทยทั้งประเทศ นี่จึงเป็นปัญหาของประชาชนทั้งประเทศไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

“คำถามที่คนชอบถาม คือเกือบ 20 ปี มีเวทีต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นมามากมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผลลัพธ์ที่ได้มีอะไรบ้าง แล้วเรายังจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปอีกหรือไม่ ในเมื่อเราก็ฟังแล้วฟังอีก ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 8 สมัย แต่ก็ยังไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหาความไม่สงบในตรงนี้ได้”  

จาก 3 หลักคิด ที่ยกตัวอย่าง สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างจะทำอย่างไรให้ความเห็นของพวกเขาได้รับความคุ้มครอง ปกป้อง ตรงนี้มีความยากง่ายอย่างไร ?

ที่ผ่านมาก็พูดคุยกับผู้เห็นต่างหลายกลุ่ม แต่ในครั้งนี้ส่วนของรายละเอียดคงต้องออกแบบ และพูดคุยกันอีกครั้งให้สอดคล้องยุคสมัยในปัจจุบัน ต้องบอกว่าคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดการพูดคุย เพราะญัตติเน้นในเรื่องของการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ การพูดคุยที่ผ่านมาต้องมีกรอบที่ชัดเจน โดยจะพูดอยู่ใน 5 กรอบหลัก ดังนี้

  1. รูปแบบการปกครอง
  2. อัตลักษณ์วัฒนธรรม
  3. การศึกษา
  4. กระบวนการยุติธรรม
  5. เศรษฐกิจปากท้อง

การมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การมีสันติภาพ ในมุมมองของคุณหมอเป็นแบบไหน ?

การมีส่วนร่วมในมุมมองของดิฉันคือ อย่าทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง ยิ่งกลุ่มผู้เปราะบาง กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่รัฐจัดเตรียมให้ ฉะนั้นการมีส่วนร่วมต้องได้รับการออกแบบให้ดีเลย ว่าเราต้องไม่เว้นกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่งเลย

แสดงว่าการมีส่วนร่วมในมุมมองของคุณหมอ ไม่ใช่แค่การคุย แต่ยังมีหลายมิติใช่ไหม ?

ใช่ค่ะ เพราะถ้าแค่คุยแล้วก็ชี้แจงคงไม่ใช่แค่นั้น การมีส่วนร่วมต้องการกลุ่มเล็ก ๆ สัก 10 หรือ 20 คน แล้วแบ่งหน้าที่กันไปว่าใครถนัดด้านไหน แล้วก็ตั้งโจทย์ไปเลยว่าต้องการอะไรจากกลุ่ม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องมาดูว่า ต้องแก้อย่างไร อีกทั้งต้องมาดูที่โครงสร้าง หรือถ้าต้องออกเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.สันติภาพ ตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ สส. ที่ต้องพูดถึง ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมีกฎหมายโดยตรงก็ต้องมีข้อเสนอแนะให้เป็นรูปธรรม

พูดถึงมุมของกลุ่มคนที่หลากหลายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เกี่ยวกับประเด็นการปกครองในหลาย ๆ รูปแบบที่ถูกพูดถึงตรงนี้คุณหมอให้ความสมดุลกับเรื่องนี้อย่างไร ? มองว่ายากง่ายอย่างไรที่ต้องรับฟัง ?

จะยากหรือง่ายก็ต้องทำ ซึ่งจะพูดถึงรูปแบบการปกครองทั้ง 6 – 7 รูปแบบเลย และพูดคุยกันว่า 6 – 7 รูปแบบนี้เป็นอย่างไรเหมาะสมกับพื้นที่มากน้อยแค่ไหน โดยการเอางานวิจัยที่ทำมา รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Peace survey ที่เคยทำขึ้นมาถึง 7 ครั้งแล้ว ก็นำมาเป็นแนวทางให้ได้ทราบว่าจริง ๆ แล้ว สันติภาพที่ชาวบ้านอยากได้มีอะไรบ้างที่แตกต่างกัน

“จะพูดถึงเอกราชมากน้อยแค่ไหน และคนที่อยากจะพูดจริง ๆ มีโอกาสได้พูดหรือยัง อันนี้คงต้องมาประมวล รวบรวม และเรียบเรียงกันอีกครั้งหนึ่ง หรือว่ารูปแบบการปกครองที่ชาวบ้านอยากได้กันจริง ๆ ไม่ใช่รูปแบบการปกครอง แต่แค่ต้องการเรื่องปากท้องเท่านั้นเอง กินดี อยู่ดี การศึกษาดี ตามวิถีวัฒนธรรมที่เขาอยากได้แค่นั้นหรือไม่ เพราะรูปแบบการปกครอง การกระจายอำนาจพูดคุยกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่ปัจจุบันคงต้องมาดูอัพเดทแล้วว่ามีอะไรมาบ้าง”

ต้องมาวิเคราะห์ในแต่ละเรื่องว่าการปกครองแบบไหนที่ชาวบ้านอยากได้จริง ๆ ถ้าความต้องการของชาวบ้านไม่ตรงกับคนที่อยู่ภูมิภาคอื่น จะมีวิธีแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ได้วางแผนไว้เหมือนกันว่า จะไปคุยกับคนภูมิภาคอื่น ๆ ให้เขามีความเข้าใจ และทราบถึงปัญหา และเมื่อถึงเวลาที่อยากได้การปกครอง คนภูมิภาคอื่นจะมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่เขาก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะมาบอกว่าเขาต้องการรูปแบบการปกครองแบบไหน นี่ก็เป็นโจทย์ที่ต้องออกไปวิเคราะห์กันอีกครั้ง

ถ้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระจายอำนาจตามที่ประชาชนต้องการได้จริง ๆ จะขยายผลให้พื้นที่อื่นสามารถทำตามได้หรือไม่?

จริง ๆ หมออยากให้เริ่มจากที่อื่นก่อนด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดแล้ว จะมีเรื่องของความอ่อนไหว มิติของความมั่นคงมาครอบไว้ในทุกเรื่อง ถ้าจังหวัดจัดการตนเองในภูมิภาคอื่น ๆ สามารถทำได้ก่อน จะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า

“แต่ละพื้นมีความต้องการการปกครองไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่เองก็มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน แต่จะยากแค่ไหนก็ต้องพูดถึง อาจมีคนที่ไม่อยากจะฟังบางคำก็ต้องพูด เป็นพื้นที่ไม่ว่าคนอยากจะพูด อยากจะฝันอะไรก็พูดได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย”

โครงสร้างในพื้นที่ มีตรงไหนที่พอจะชี้ให้เห็นได้บ้างว่าเป็นปัญหา ?

งบประมาณ ก่อนหน้านี้เคยได้ข้อมูลจากสภาพัฒน์ เกี่ยวกับงบประมาณชายแดนใต้ และสำนักงบประมาณที่ให้งบประมาณของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม และยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งนั่นก็คือ งบประมาณบูรณาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อันนี้บูรณาการมาจะมีเจ้าภาพหลัก คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และ กอ.รมน. บูรณาการมาหลายปี แต่พอดิฉันนั่งอยู่ในอนุกรรมาธิการงบประมาณบูรณาการ จะเห็นได้ว่ายังไม่ได้บูรณาการกันเลย

ส่วนเรื่องของความซ้ำซ้อน งบประมาณในแต่ละปีของภาคใต้ ดูงบประมาณบูรณาการอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะต้องดูงบประมาณกระทรวง ของแต่ละกระทรวงที่ยังแอบซ่อนอยู่ ต้องแผ่ออกมาให้ดูทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญฯ คิดว่าต้องสอดคล้อง คู่ขนานกันไปด้วย และต้องอย่าลืมว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็จะมีกลุ่มภาคประชาสังคม มีกลุ่มต่าง ๆ ที่เขาทำงานในพื้นที่กันมานาน ข้อเสนอแนะของกลุ่มสตรี กลุ่มเด็ก ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ? เสนอไปแล้วกี่รัฐบาล แล้วทำไมถึงทำอะไรไม่ได้ ? ทำไม่ได้เพราะอะไร ? บอกว่ามีส่วนร่วมหมดแล้ว แต่พอมาถึงข้างบนมันแก้อะไรไม่ได้ หรือว่าไม่ทำเพราะอะไร ? สาเหตุอะไร ? แล้วคิดว่ามีเวลาไม่ยาวนัก จึงต้องพยายามทำให้กระชับและจับต้องได้ให้มากที่สุด

อยากบอกอะไรกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจเติบโตมากับปัญหาความไม่สงบ คิดว่าจะสามารถหาจุดจบ หรือไปสู่ทางออกได้อย่างไร?

คนรุ่นใหม่มีหลายกลุ่ม กลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาก็รวมกลุ่มกัน เขาสามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดกันค่อนข้างดี แต่จะมีอีกกลุ่มใหญ่ที่มีมากกว่าคือกลุ่มการศึกษานอกระบบ ซึ่งเขาก็เกิดในช่วงปี 2547 จนถึงวันนี้อายุ 20 ปี กลุ่มหนึ่งกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็อาจมีกลุ่มใหญ่ที่แม้แต่โรงเรียนก็ไม่ได้เข้าเรียน แต่ก็มีบางกลุ่มที่เขาอยู่ต่างประเทศ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ

ดังนั้น แต่ละกลุ่มต้องมาดูว่าความต้องการ และมุมมอง กระบวนการคิดของเขากับปัญหาชายแดนใต้เป็นอย่างไร และมีโอกาสได้พูดไหม ก็คิดว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ น่าจะมีบทบาทสำคัญ

ในฐานะที่คุณหมอเป็นคนในพื้นที่ และได้มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ในกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ คิดว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ หรือไม่ ?

คณะกรรมาธิการชุดนี้ก็คาดหวัง ไม่อยากให้เป็นการเล่นละคร หรือเป็นการซื้อเวลาแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถึงแม้ว่าปัญหา 3 จังหวัดไม่ใช่วาระเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ แต่เมื่อตั้งชุดกรรมาธิการฯ ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

“ถ้าย้อนกลับไปในปี 2548 ดิฉันเคยอยู่ใน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่มีท่าน อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน อันนี้ก็เป็นความคาดหวังของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ดิฉันก็มองว่ามีข้อเสนอที่ดีมาก ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งข้อเสนอหลายข้อตั้งแต่ปี 2548 จนถึงตอนนี้ก็สามารถนำมาต่อยอดได้ ฉะนั้นก็พูดได้ว่าการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ไม่ใช่การปาหี่ เรามั่นใจว่าคณะกรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการฯ ทุกท่านที่เราคัดเลือกกันมาอยู่ในชุดนี้ เป็นการกระตุ้นงานของเราเองให้เป็นรูปธรรมไปสู่ระดับนโยบายให้กับรัฐบาลชุดนี้”

แล้วจะไปยังไงต่อให้ถึงระดับสันติภาพได้จริง?

ข้อเสนอแนะต้องไปถึงรัฐบาล แล้วในระหว่างที่จะไปถึงรัฐบาล คณะของเราอาจจะอยู่อีกสัก 1 ปี ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าข้อเสนอสุดท้ายคือ ระหว่างทางที่ได้ทำงาน ที่ขับเคลื่อน ระหว่างทางที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ตรงนี้คือการเก็บเกี่ยวในสิ่งที่วาดฝันถึงสันติภาพให้เกิดขึ้น


Author

Alternative Text
AUTHOR

อับดุลฮากีม สะนิ

นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์