ไม่มีทางลัด สำหรับคุยกับคนเห็นต่าง

อย่าคิดเปลี่ยนใจใคร เพียงครั้งแรกที่คุย…เพราะคุณจะไม่มีวันทำได้

หากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมานี้ “พรรคอนาคตใหม่” เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น

สิ่งที่ตามมาด้วยจากความเปลี่ยนแปลงนั้น คือ การนำเสนอเรื่องใหม่ ๆ ในทางการเมือง และการสื่อสารในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ต้องทำความเข้าใจกับคนที่ “เห็นต่าง”

The Active x Thailand Talks พูดคุยกับ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังโลดแล่นและอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองผ่าน “คณะก้าวหน้า” แม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่การให้คำปรึกษา “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” กว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ยังคงเติมไฟ และสร้างบทเรียนให้เธอได้เรียนรู้ว่า “ประเทศไทยยังดีกว่านี้ได้” หากไม่ยอมจำนนกับอุปสรรค และมองหาความเป็นไปได้ใหม่เสมอ

คนการเมืองกับ DNA “อยู่ไม่เป็น” 

พรรณิการ์เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล และการทำงานของคณะก้าวหน้า ยังคงใช้คำว่า “อยู่ไม่เป็น” มาตลอด คำนี้ไม่ใช่การขวางโลก แต่คำนี้ หมายถึง การที่เราไม่ทนกับความไม่ถูกต้อง ถ้าคนเราพอใจกับเกวียน ในวันนี้เราอาจจะไม่มีเครื่องบินที่เดินทางข้ามทวีปได้อย่างรวดเร็ว หรือถ้าเราพอใจกับยาต้มสมุนไพร (ซึ่งหลายอย่างดีมาก) วันนี้เราอาจจะยังไม่มียาต้านไวรัส HIV ก็ได้ เพราะเราเชื่อว่าอนาคตที่ดีกว่านี้เป็นไปได้เสมอเชื่อในความเป็นไปได้ หากเราพอใจเพียงแค่นี้ โลกก็จะหยุดอยู่แค่นี้ และมนุษย์ก็จะไม่มีวิวัฒนาการ 

“เรารู้ว่าคนไทยชอบอะไรที่ประนีประนอม ชอบรอยยิ้ม และไม่อยากขัดแย้ง แต่เราก็มาถามตัวเองว่า เราอยู่เป็นกันมากไปไหม ยิ้มให้กันแก้ไขปัญหาอะไรได้หรือเปล่า มันห้ามไม่ได้หรอก เวลาบางครั้งที่เราเห็นความเฮงซวยมาก ๆ ของประเทศนี้… มันห้ามไม่ได้ที่จะเกรี้ยวกราด”

ถ้าคุณเฉยชากับความอยุติธรรมในประเทศนี้ เราคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แน่นอนว่าเรื่องท่าทีและการสื่อสาร เป็นสิ่งที่เรารับฟังมาเสมอ และพยายามอย่างยิ่งที่จะระมัดระวังในประเด็นที่ร้อนแรง หรืออาจจะขัดกับความรู้สึกของคนส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบ แต่บ่อยครั้ง ที่ท่าทีซึ่งดูเหมือนจะก้าวร้าวรุนแรงนั้น มาพร้อมความโมโหว่า ประเทศเราเดินมาขนาดนี้ได้อย่างไร ถ้าวันหนึ่งที่คุณเคยน้ำตาไหล เพราะความอยุติธรรม คุณอาจจะเข้าใจเรา

นักประชาธิปไตย ที่ชอบคุยกับ “คนเห็นต่าง”

เมื่อถามว่าเธอชอบคุยกับคนที่เห็นต่าง หรือเห็นด้วย? พรรณิการณ์ ตอบว่า ชอบคุยกับคนเห็นต่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็น DNA ของเธออย่างที่ว่ามาแล้ว อีกส่วนหนึ่ง คือ รู้สึกว่าถ้าสามารถเปลี่ยนใจใครได้ จะมีความสุขมาก ซึ่งนี่เป็นนิสัยส่วนตัว ที่ชอบโน้มน้าวให้คนเข้าใจในสิ่งที่เราคิด แต่ไม่ใช่การกดดัน เป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล ว่า เราเชื่อในเรื่องนี้เพราะอะไร หรืออะไรที่ทำให้คุณไม่เห็นด้วยกับเรา นี่คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น คือ เรามีภาษาและการใช้เหตุผล 

“คุณสามารถใช้เหตุผลในการต่อสู้กันได้ มันสนุก และสวยงามมาก และเวลาที่เราโตขึ้น จึงรู้ว่า นี่คือหลักการของประชาธิปไตย คุยกันว่าที่เห็นไม่ตรงกันเพราะอะไร พยายาม Convince เขา ให้มาเห็นตรงกับเรา มันคือชัยชนะในระบบประชาธิปไตย หากคุณเป็นเสียงส่วนน้อย ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มาเชื่อคุณได้ คุณก็ชนะ…”

แต่ปัญหาสำคัญ คือ วัฒนธรรมของสังคมไทย “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือเป็นเด็กต้องเชื่อฟังคุณครูนะ” ทั้งหมดนี้ พรรณิการ์อธิบายว่า คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นวัฒนธรรมของคนที่ “อยู่เป็น” ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ตนเล่ามาเมื่อสักครู่ เป็นสิ่งที่ไม่สนับสนุนความเห็นต่าง แต่สนับสนุนให้เราเชื่อฟังผู้ใหญ่ แล้วจึงจะได้ดี เธอมองว่าประชาธิปไตยไม่สามารถงอกงามได้บนความเชื่อนี้ หากแต่ต้องเป็นความเชื่อมั่นในความคิด และการแสดงออกของตนเอง คนที่มีเหตุผล คือ คนที่ถูกต้อง แต่เมื่อความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เราจึงต้องคุยกัน

ก่อนจะอธิบายต่อว่า หลักการของ “ประชาธิปไตย” เป็นหลักมนุษยนิยม คือ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในความคิด ความเชื่อ และมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ถ้าเขาจะต้องทำอะไรสักอย่าง เขาต้องเชื่อด้วยเหตุผลว่ามันดี จึงทำ ไม่ใช่ทำ เพราะคนที่มีอำนาจกว่าสั่งมา โดยธรรมชาติแล้ว คนเรามักจะไม่เชื่อคนที่ต่ำกว่าเรา แต่เชื่อกรอบความคิด ระบบธรรมเนียม ประเพณีนิยม ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยสิ่งที่สูงกว่าคุณค่า คือ อำนาจ ศักดิ์ศรี และสถานะ สังคมไทยโดยส่วนใหญ่ ยังพยายามกดคนให้ “เชื่อ” และ “เชื่อง”

“จริง ๆ แล้ว ในสังคมที่เท่าเทียมกัน คุณต้องเชื่อในประชาชน ที่มีจำนวนมากมายหลายล้านคน นั่นหมายความว่า ต้องเชื่อในความแตกต่างหลากหลาย และสิ่งนี้จะมีคุณค่าได้ ต้องมีการรับฟัง และมีพื้นที่ของการพูดคุย เป็นสายธารที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน…” 

พัฒนาการของสังคมไทย และธรรมชาติของพื้นที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์มองว่า ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพัฒนาการในเรื่องนี้แบบก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เราไม่สามารถหยุดกาลเวลาได้ คนรุ่นนี้เขาไม่ได้เชื่องเหมือนสมัยก่อน และเข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง เราไม่สามารถกำหนดเขาได้แล้ว และเมื่อสิ่งที่ถูกกดทับเอาไว้ระเบิดออก จึงทำให้ประชาชนออกมาแสดงความรู้สึกว่า “เขาเป็นเจ้าของประเทศ” พร้อมตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ 

“แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า เขายังอยากแสดงออกว่าคิดและเชื่ออะไร นี่คือสิ่งที่สวยงามที่สุดของประชาธิปไตย ถ้าคุณกล้าจะประกาศออกมาว่าคิดอย่างไร และพร้อมที่จะปะทะสังสรรค์กับความคิด และความเชื่อแบบอื่น การปะทะกันทางความคิดนี้เอง เป็นดินที่ประชาธิปไตยจะงอกงามได้ ตราบใดที่เรามีพื้นที่ของการแสดงออกนี้…” 

ในขณะที่พรรณิการ์มองว่า คนส่วนหนึ่งเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างมากขึ้น

เรายังตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วคนที่ยังเชื่อ และอยู่กับความคิดที่เหมือนกับตัวเอง 

โดยไม่เปิดรับ ความคิดที่แตกต่าง…ผิดหรือไม่ ?

ถามว่าผิดไหม คงไม่ใช่ เพราะจริง ๆ แล้ว มันเป็นธรรมชาติที่คนต้องอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) เหมือนกับการที่เราคบเพื่อน ก็มักคบกับคนที่นิสัยคล้ายกัน และไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่า คุณต้องรู้ตัวเองว่าโดยธรรมชาติของคนเป็นแบบนี้ ถ้าคุณอยากให้สังคมของเราก้าวหน้า อาจต้องบังคับตัวเอง ให้ไปเปิดรับความเห็นที่แปลกใหม่บ้าง เพราะในปัจจุบันอัลกอริทึมของโลกออนไลน์ กำลังปิดคนให้อยู่กันในกรอบความคิดที่เหมือนกัน 

“ช่อเปิด TOP NEWS มากกว่า Voice TV นะคะ (หัวเราะ) ยิ่งในฐานะนักการเมือง เรายิ่งต้องรับฟังความเห็นต่าง บางครั้งมันก็ Toxic แต่เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง และแน่นอนถ้ามั่นใจเกินไป ก็อาจนำไปสู่ความตาย เราต้องฟังฝั่งตรงข้ามเราเยอะ ๆ เพราะคนที่รักเรา ทำอะไร เขาก็เห็นดีเห็นงามไปหมด หมั่นเอาตัวเองไปหาคนที่คิดตรงข้ามเราเสมอ…”

คำถามที่คิดว่าคุยยากที่สุด ของ Thailand Talks 2022

ส่วนตัวคิดว่า เรื่อง การจบชีวิตตัวเอง พรรณิการ์ตอบ เพราะ ใกล้เคียงกับเรื่องศาสนามากที่สุด เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราพบว่า คนบางคนหัวก้าวหน้ามากในอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ในทางศาสนาและจิตวิญญาณ เขาจะมีความคิดอีกอย่างเลย เรื่องนี้อาจจะยากในการพูดคุย ยิ่งถ้าต้องเจอกับคนที่มีความเชื่อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมา จะเลือกจบชีวิตตนเองไม่ได้

แต่สำหรับพรรณิการ์เอง มองว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พิเศษที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะเราเชื่อในประชาธิปไตย ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในความคิด และความเชื่อ ในเมื่อชีวิตเราเลือกทุกอย่างเองได้ ทำไมการตายเราจึงให้คนอื่นกำหนด เหตุใดเราจึงเลือกที่จะตาย หรือยุติชีวิตตัวเองไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้แล้ว จะอยู่ไปทำไม 

แต่ในขณะที่คนบางกลุ่มก็มีความเชื่อในเชิงศาสนาที่ไปสุดทางมาก แม้เรื่องการเมืองจะเปิดกว้างมากแค่ไหน แต่เมื่อเป็นเรื่องการให้คุณค่าของชีวิตมนุษย์ มันไม่สามารถไปท้าทายเขาได้เลย พรรณิการ์ จึงมองว่า เรื่อง ศาสนา และความเชื่อทางจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่คุยกันได้ยาก หาจุดที่จะเห็นเหมือนกันได้ยาก 

“สถาบันพระมหากษัตริย์” ไม่ได้คุยยากในสังคมไทยหรือ 

พรรณิการ์ ตอบทันทีว่า “ไม่ยากขนาดนั้น” ส่วนใหญ่คนที่เคยพบเจอ และมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้คุยกันได้ เขาอาจจะไม่เห็นตรงกับเรา แต่ก็มีบางเรื่อง บางปัญหาที่เขาเห็นตรงกับเรา เพียงแต่มีความรู้สึกว่าเวลาพูดเรื่องนี้แล้วชวนทะเลาะ แต่เราก็อธิบายได้ว่า นี่ไง เรากำลังคุยกันอยู่ ตราบใดที่ยังยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน บนข้อเท็จจริง มันจะไม่เกิดความขัดแย้ง 

“เดินจากกันไป ไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นตรงกัน แต่ไม่เดินจากกันไป ด้วยความเกลียด หลายคนบอกว่าดีใจที่ได้คุยเรื่องสถาบันฯ กัน อย่างน้อยเขาได้หายข้องใจไปบ้าง แม้ไม่ได้เปลี่ยนใจกัน คนจำนวนมากเห็นปัญหาจริง ๆ เขายังยอมรับในส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงนี้ แต่อยู่ในระดับที่จะปรับแก้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง…”

สมัยยังสาว ๆ (หัวเราะ) ก็เป็นคนที่ชอบเอาชนะคน ชอบการถกเถียง และอยากเปลี่ยนความคิดเขาให้ได้ในการคุยครั้งเดียว รู้สึกว่าฉันคิดถูก แต่แกคิดผิด จนได้เรียนรู้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มต้นแบบนี้ คือ จบ เพราะเราจะไม่มีทางเปลี่ยนใจคนที่เรารู้สึกเกลียดกันตั้งแต่วินาทีแรกได้ และเขาก็จะไม่ฟังและเชื่อในตัวคนที่ทำให้เขารู้สึกไม่ชอบได้ มีเพียงวิธีเดียว คือ ต่อให้คนเห็นต่างกันแค่ไหน ทำให้เขาเชื่อให้ได้ด้วยเหตุผล  

“ไม่มีทางลัดสำหรับการคุยกับคนเห็นต่าง คุณต้องอดทน ใจเย็น และเข้าใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มต้นด้วยการเอาชนะ คือ ปิดประตูตาย คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ แต่เราลองอธิบายให้เขาฟังได้ไหม ว่าทำไมเราถึงคิดแบบนั้น ถึงบางคนเขายังคิดเหมือนเดิม ไม่เป็นไร แต่เราแง้มประตูได้แล้ว เพียงแค่ไม่ได้เปิดกว้างพอให้เราเข้าไปเท่านั้นเอง…”

ก่อนพรรณิการ์ จะสรุปว่า ในสิ่งที่เราเชื่อและตั้งใจ ก็ต้องไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำแบบนั้น เราต้องมีความเชื่อจริง ๆ ว่าคนเรามีความเชื่อที่แตกต่างได้ เราอาจจะเชื่ออีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะเชื่ออีกแบบหนึ่ง เรามาลองอธิบายให้ฟังกันได้ไหม ว่าทำไมแต่ละคนจึงเชื่อแบบนั้น บางคนเขาจะยังคิดแบบเดิมก็ไม่เป็นไร แต่เราได้แง้มประตูของกันและกันได้แล้ว และสักวันหนึ่ง เขาจะยอมรับในความคิดของคุณ นั่นคือ ชัยชนะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์