เรื่องราวจากปากแฟน One Piece ที่ไม่ใช่แค่การ์ตูน แต่คือกระจกสะท้อนโลก
เมื่อตัวเอกถูกเฉดเป็นสีเทา การศึกษาประวัติศาสตร์ถือเป็นโทษร้ายแรง การกดขี่ผู้ที่แตกต่าง เหล่าขุนนางที่ไม่อยากหายใจร่วมกับสามัญชน และอีกหลายเรื่องราวจากปากแฟนการ์ตูน “วันพีซ” (One Piece) ที่พวกเขาเชื่อว่าไม่ใช่แค่การ์ตูน แต่คือกระจกสะท้อนปัญหา การเมือง สังคม และระบอบชนชั้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ซึ่งกำลังถูกท้าท้ายจากยุคสมัยใหม่ ให้ชนชั้นปกครองรู้สึกหวาดหวั่น
The Active ชวนคุยกับแฟนมังงะและอนิเมะ จากการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา สร้างสถิติโลก มังงะหรือหนังสือการ์ตูนที่ทำยอดขายรวมทั้งหมดทั่วโลกมากกว่า 500 ล้านเล่ม โดยกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด และกำลังลอยลำเข้าสู่แผนที่สุดท้าย หลังดำเนินเรื่องราวมากว่า 25 ปี
[บทความนี้ไม่ใช่การวิเคราะห์เนื้อหา และมีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในเรื่องวันพีซ]
“ฉันจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดให้ได้เลย!!”
ประโยคประจำตัวของ มังกี้ ดี ลูฟี่ ตัวละครหลักจากการ์ตูนเรื่องนี้ ในวัยเด็กเขาไม่ได้มีฮีโร่เป็นทหาร แต่กลับเป็นโจรสลัดซึ่งถืออาชญากรร้ายแรง และต้องการออกเดินทางไปยังเกาะสุดท้าย ที่เชื่อกันตามคำบอกเล่าของอดีตราชาโจรสลัดว่ามีมหาสมบัติที่ชื่อว่า “วันพีซ” ซ่อนอยู่
บัณญพนธ์ ฮวดหนองโพธิ์ หรือ อาร์ม ปัจจุบันเป็นนักศึกษา เริ่มอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 12 ปี จากการอาศัยยืมอ่านต่อจากคนข้างบ้านจนเกิดเป็นความสนิทกัน โดยในช่วงเริ่มต้น เขาคิดว่าวันพีซเป็นการ์ตูนตลก เล่าเรื่องการผจญภัยของโจรสลัด จนเมื่อเขาเติบโตมาพร้อมกับการ์ตูนเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องไปพร้อมกับการไม่อยากให้ผู้คนหยุดที่จะต่อสู้เพื่อความฝัน หรือได้มาซึ่งโลกที่ดีกว่า โดยตัวละครที่ชื่นชอบคือ “ลูฟี่” เนื่องจากในเรื่องเขาออกเดินทางด้วยตัวคนเดียว ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะเป็นราชาโจรสลัด ทำให้รู้สึกเหมือนกับตัวเองที่เป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาหาความรู้ ความก้าวหน้าในชีวิต ส่วนสิ่งที่คิดว่าตรงกับเหตุการณ์จริงมากที่สุด คงเป็นเรื่องชนชั้นปกครอง
“การปกครองในบางเกาะ ถูกฝ่ายที่มีอำนาจยึดเอาทรัพยากรไปใช้หาประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว คนในเกาะอยู่อย่างลำบาก ตัวลูฟี่ที่ถูกรัฐบาลโลก และทหารเรือทำให้เป็นตัวร้าย ก็ต้องเข้าไปมีส่วนกอบกู้เกาะต่าง ๆ เหล่านั้น และคนที่ถูกทำให้มองว่าดี ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะเบื้องหลังเขายังมีการก่อการร้ายทำให้ประชาชนลำบาก”
บัณญพนธ์ ฮวดหนองโพธิ์
ปลายทางของการเป็นแฟนวันพีซ อาร์มบอกว่าอยากไปดู เรือเทาซันด์ ซันนี่ (Thousand sunny) ของโจรสลัดกลุ่มหมวกฟางที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะเข้าใจดีว่าในฐานะคนชนชั้นกลางที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ แต่ก็ยังเชื่อว่าถ้าขยัน อดทน ในยุคสมัยนี้จะสามารถทำให้ความฝันเป็นจริงได้
นิโค โรบิน นักประวัติศาสตร์ผู้ถูกตามล่า เพราะอาจเปิดเผยสิ่งที่รัฐไม่ต้องการให้รู้
“เก็บเจตนารมณ์ที่แท้จริงไว้ในใจ ปิดปากไว้
พวกเราคือผู้ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ดำเนินไป
พร้อมกับเสียงก้องกังวานของหอระฆังยักษ์”
อีกหนึ่งในลูกเรือกลุ่มหมวกฟาง ที่ดูลึกลับ น่าค้นหา แต่ประวัติของเธอกลับต้องพบกับความโหดร้ายจากการกระทำของรัฐบาลโลก และทหารเรือ ซึ่งอาจรวมถึงเผ่ามังกรฟ้า เหล่าขุนนางชนชั้นสูงอีกด้วย โดยในวัยเด็กเธออาศัยอยู่กับครอบครัวและคนอื่น ๆ บนเกาะโอฮารา ที่ซึ่งรวบรวมนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการที่อยากศึกษาอะไรก็ได้ ยกเว้น “ช่วงเวลา 100 ปีแห่งความว่างเปล่า” แต่เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งต้องการขุดคุ้ยว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลโลกจึงส่งทหารเรือพร้อมขุมกำลังระดับทำลายล้างทุกคนบนเกาะ ที่เป็นเพียงนักวิชาการไร้อาวุธ เหลือเพียงนิโค โรบิน ที่หนีรอดมาได้ และอาจจะเป็นผู้เปิดเผยปริศนาทุกอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลา 100 ปี ที่ถูกรัฐบาลโลกปกปิดไว้
ชิษณุชา เผือกศิลา เราได้พบกับเธอในลุคของนิโค โรบิน ในช่วงวัยสาว เธอเล่าว่าชื่นชอบการ์ตูนเรื่องวันพีซจากการอ่านหนังสือตามน้องชาย จนกลายเป็นงานอดิเรกที่ทำร่วมกับลูก และเป็นอีกหนึ่งคนที่ติดตามว่าบทสรุปที่แท้จริง “วันพีซ” อยู่ที่ไหน และคืออะไรกันแน่ โดยเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย ติดตามการ์ตูนเรื่องนี้นอกจากความสนุก คือการทำให้ปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องใกล้ตัวหลาย ๆ คน
“เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ คือพวกผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพล เช่น เผ่ามังกรฟ้า ที่ต้องย้ายตัวเองไปอยู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่อยากจะหายใจร่วมกับคนอื่น ๆ ใช้กำลังบังคับ กดขี่ คนที่ไม่มีอำนาจ”
ชิษณุชา เผือกศิลา
เผ่ามังกรฟ้า สายเลือดของตระกูลผู้สร้างโลก แต่ทำไมผู้คนอยากท้าทายกันจัง
อย่างที่บอกว่าเรื่องวันพีซ ไม่ได้มีแค่เรื่องราวของเหล่าโจรสลัดเท่านั้น แต่ยังมี “เผ่ามังกรฟ้า” ฝั่งผู้คุมอำนาจเหนือรัฐบาลโลกอีกชั้นหนึ่ง ว่ากันว่าสืบสายเลือดของตระกูลผู้สร้างโลก พวกเขาถูกมองว่าเป็นลูกหลานพระเจ้า อาศัยอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “แมรีจัวส์” โดยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ต่างจากคนทั่วไปคือการสวมหมวกดำน้ำที่เหมือนจะเสียดสีว่า พวกเขาไม่สามารถหายใจร่วมกับสามัญชนคนธรรมดาได้ รวมถึงการว่าคนที่ต่ำกว่าว่าไม่ต่างอะไรจากแมลงสาบ จะฆ่าหรือจับมาเป็นทาส ส่วนวีรกรรมที่ชวนให้แฟนการ์ตูนพากันหมั่นไส้จะเป็นอะไรบ้าง สามารถหาอ่านได้ในเล่มครับ
กันต์ฤทัย ชูกรณ์ เริ่มดูวันพีซมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 แล้ว เธอเล่าว่าพ่อเป็นคนแนะนำ ส่วนหนึ่งนอกจากพ่อจะเป็นแฟนวันพีซแล้ว ก็เพื่อไม่ให้เธอกับพี่ชายทะเลาะกัน โดยตัวละครโปรดคือ แชงคูส หรือแชงค์ผมแดง หนึ่งในสี่จักรพรรดิโจรสลัด ขั้วอำนาจของโลกเทียบเท่ากองทัพเรือ ผู้นำพาลูฟี่เข้าสู่เส้นทางการเป็นโจรสลัด ซึ่งการเริ่มต้นอ่านการ์ตูนก็ทำให้เธอต่อยอดในเรื่องของภาษา และการพูดถึงฉากต่าง ๆ ในเรื่องยังเป็นบทสนทนาในครอบครัวอีกด้วย โดยฉากที่สะเทือนอารมณ์ที่สุด คือการกดขี่ของเผ่ามังกรฟ้าต่อประชาชน
“ที่แมรีจัวส์ จะมีบันไดเลื่อนสำหรับเผ่ามังกรฟ้าที่ข้างในมีทาสเป็นแรงงานคอยหมุนอยู่ มันเหมือนว่าจริง ๆ ความสบายของเราเป็นความลำบากของคนอื่น ใช้ความเหลื่อมล้ำนั้นมาใช้ชีวิตเราอีกที”
กันต์ฤทัย ชูกรณ์
เธอยังเน้นย้ำกับเยาวชนในเรื่องของการอ่านว่า สนใจอ่านอะไร อ่านให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน นิยายประวัติศาสตร์ เพราะการเริ่มอ่านจะเป็นประตูบานแรกของหลาย ๆ อย่าง ทั้งการเรียนรู้ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับหลาย ๆ คน
มนุษย์เงือก เผ่าพันธุ์แห่งการถูกเหยียด
ในการ์ตูนวันพีซ ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีเผ่าพันธุ์อื่น ๆ อยู่ร่วมกันในสังคมแบบดีบ้าง ร้ายบ้าง หนึ่งในนั้นคือ “เผ่าเงือก” ที่แม้จะมีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ แต่การมีร่างกายใหญ่โต สีผิว และอวัยวะที่แตกต่าง ทำให้ถูกรังเกียจ และยังจะถูกซื้อขายในตลาดมืดเพื่อเป็นทาสหรือของเล่นให้กับชนชั้นสูงอยู่บ่อยครั้ง จนไม่สามารถกลับขึ้นมาใช้ชีวิตบนพื้นโลกได้อีกเลย มีบางส่วนที่ตัดสินใจเป็นโจรสลัดเพื่อแก้แค้นมนุษย์ ขณะที่ส่วนหนึ่งพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต
รัญชนา จันทร์จำปา คงเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องการเห็นความปรองดองระหว่างทั้ง 2 เผ่าพันธุ์ เพราะเธอมองว่าทุกชีวิตบนโลกมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งการแสดงความคิดเห็น หรือการมีรูปลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่ควรมีใครถูกเหยียด และหวังว่าคนที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับการอ่านการตูนเรื่องนี้ก็จะได้รับมุมมองนี้เช่นเดียวกัน
“ฉากที่จินเบ (เผ่าเงือก) ถ่ายเลือดให้ลูฟี่ (มนุษย์) มันประทับใจมากเลย เพราะในเรื่องจะมีกฎห้ามเงือกรับหรือให้เลือดกับมนุษย์เพราะความเกลียดชังต่อกัน แต่จินเบก็อาสาเพราะสู้มาด้วยกันกับลูฟี่ ฉากนี้ก็เลยทำให้เผ่ามนุษย์เงือกเปิดใจ คล้ายกับการทลายกำแพงเชื้อชาติ ศาสนา”
รัญชนา จันทร์จำปา
เกาะสุดท้ายที่ Laugh Tale ให้มันจบที่รุ่นเรา
เป็นที่รับรู้กันว่าการ์ตูนเรื่องวันพีซนั้น กำลังเข้าสู่บทสุดท้าย หลังดำเนินเรื่องราวมาถึง 25 ปี โดย อาจารย์เออิจิโร โอดะ (Oda Eiichiro) ผู้เขียน ระบุว่า เรื่องราวทั้งหมดจะจบลงภายใน 3 ปี ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ทำเอาแฟน ๆ รู้สึกใจหาย ขณะที่บางส่วนก็ลุ้นว่าแท้จริงแล้ว “วันพีซ” คืออะไรกันแน่ รวมถึงปมของหลากหลายตัวละครว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะหลายคนล้วนโตมาพร้อมกับวันพีซ
“ถึงตอนนี้ก็คืออยากรู้ว่าวันพีซคืออะไรก่อนตาย”
เรียกว่าเป็นคำขอ ของ เมธา สุดสวาสดิ์ รวมถึงแฟน ๆ ที่ติดตามการตูนเรื่องนี้มาตั้งแต่เล่มแรกก็คงจะไม่ผิดนัก โดยสิ่งที่ทำให้ยังคงความเหนียวแน่นได้ขนาดนี้ ส่วนสำคัญผู้เขียนขอนิยามว่าตัวละครในเรื่องมีคาแรคเตอร์ที่มี “ความเป็นมนุษย์สูง” เห็นได้จากกลุ่มแฟนคลับที่มีทั้งโจรสลัด ทหารเรือ คณะปฏิวัติ รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้จินตนาการได้ว่าเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่
เมธา อธิบายว่า สิ่งนี้น่าจะมาจากเนื้อเรื่องที่ อาจารย์โอดะ คิดไว้ที่ต้องการเล่าเรื่องของโจรสลัด เมื่อมีโจรสลัดก็ต้องมีฝ่ายตรงข้ามคือกองทัพเรือ ซึ่งมีทั้งคนที่ดีและคนเลวทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบัน ขณะที่โจรสลัดเป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง-กลาง ที่อาจจะถูกกดทับจากอะไรบางอย่าง ตัวละครลูฟี่ที่ต้องการจะปลดแอกจากทุกสิ่ง มีอิสระ เสรี การวันพีซจึงอาจเป็นโลกอีกใบของใครหลาย ๆ ซึ่งไม่แปลกหากหลายคนจะยังไม่อยากให้จบในเร็ว ๆ นี้
บทส่งท้าย
มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนในฐานะแฟนการ์ตูนวันพีซคนหนึ่ง (ที่กำลังไล่ตามอ่านให้จบในเร็ว ๆ นี้) ส่วนตัวชื่นชอบฉากการตายของเบลเมล แม่บุญธรรมของนามิ หนึ่งในลูกเรือหมวกฟาง ในตอนนั้นหมู่บ้านของนามิถูกรุกรานโดยโจรสลัดมนุษย์เงือก และยื่นข้อเสนอคือ ค่าไถ่ 1 แสนเบรีสำหรับผู้ใหญ่ และ 5 หมื่นเบรีสำหรับเด็ก ซึ่งเงินของเบลเมลพอสำหรับเธอคนเดียว แต่แทนที่จะโกหกว่าในบ้านมีเธอเพียงคนเดียว เธอกลับบอกโจรสลัดว่า
“1 แสนเบรี…นั่นเป็นส่วนของลูกสาวฉัน ส่วนของตัวฉันมีเงินให้ไม่พอ”
สิ่งนี้สะท้อนว่า เธอยอมตายดีกว่าจะไม่ยอมรับว่าเธอไม่มีลูกสาว ฉากนี้ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองในตอนอ่านว่า ความสัมพันธ์ลึกซึ้งชนิดแบบตายแทนกันได้ จำเป็นต้องสืบสายเลือดเดียวกันเท่านั้นหรือไม่ หรือเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น การรับบุตรบุญธรรม ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นนิยามครอบครัวในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยังอาจอนุมานได้ว่าตัวของ อาจารย์โอดะ อาจตั้งใจให้เหตุการณ์ในเรื่องมีนัยแฝง หรืออาจไม่มีก็ได้ เป็นสิ่งที่ผู้อ่านคิดไปเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือแนวคิดที่ได้หลังการอ่าน การตั้งคำถามต่อปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบัน รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เคารพในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งการ์ตูนถือเป็น Pop Culture ที่แท้จริง และอาจมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ควรยกระดับขึ้นมาพูดคุยในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ผ่านแง่มุมต่าง ๆ ผลักตัวเองจากสื่อบันเทิง กลายเป็นสื่อที่ทำให้เด็ก ๆ ความเข้าใจโลกที่ซับซ้อน ให้ง่ายมากขึ้นกว่านี้ได้