คนไร้บ้านหน้าใหม่: เมื่อถูกไล่ออกจากบ้านเช่า หลังติดเชื้อโควิด-19

: ศพคนไร้บ้านบนถนนกลางกรุง
ความหดหู่ที่มาพร้อมคำถามถึงปัญหาการจัดการวิกฤตระบบสาธารณสุข
และแนวทางดูแลกลุ่มเสี่ยง “คนไร้บ้าน”

1 ใน 4 ศพ ที่พบว่าเสียชีวิตในที่สาธารณะ คือ สมเกียรติ เรือนขาว อายุ 50 ปี ในค่ำคืนวันที่ 20 ก.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 21 ก.ค. 2564

วันรุ่งขึ้น…ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไปที่ 13,002 คน และมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 108 คน

แน่นอนว่าในจำนวนนี้ ยังไม่รวมพวกเขา…

สมเกียรติ คือ ศพที่เสียชีวิตอยู่กลางถนนในพื้นที่เขตพระนคร กรุงเทพฯ ใกล้กับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ใจกลางพระนคร

จากคำบอกเล่าของคนขับจักรยานยนต์รับจ้างในละแวกนั้น บอกว่า ชายคนนี้เป็นคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  

การพบศพในที่สาธารณะคืนเดียวถึง 4 ศพ นอกจากสร้างความสะเทือนใจและความหดหู่ให้กับผู้คน ที่มีการแชร์ภาพข่าวแสดงความเห็นผ่านโชเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ยังกลายเป็นคำถามต่อภาพสะท้อนปัญหาการจัดการวิกฤตระบบสาธารณสุข  และแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาส อย่างคนไร้บ้าน

เพราะนอกจากจะปิดความเสี่ยงการรับและแพร่เชื้อ เพื่อรักษาชีวิตคนไร้บ้านแล้ว หากทำได้ ยังถือเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย

คนไร้บ้านไม่ใช่คนอื่นคนไกล วิกฤตโรคระบาด อาจทำให้หลายชีวิตต้องกลายเป็นคนไร้บ้านได้เช่นกัน

มุมมองแบบเดิม ๆ ว่าคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีชีวิตสันโดษ รักอิสระ ไม่สุงสิงกับใคร หรือกระทั่งมองว่าวัน ๆ ไม่ทำอะไร ใช้ชีวิตขอเขากินไปวัน ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปลอดภัยในสถานการณ์นี้  

นี่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงและสถานการณ์ในปัจจุบัน ซ้ำร้าย ยังทำให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ถูกละเลยไป 

จากการลงไปติดตามพูดคุยกับคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมานานกว่า 10 ปี พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม เป็นฟันเฟืองหนึ่งของการขับเคลื่อนเมือง 

หลายคนมีอาชีพ และล้วนเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำ

เก็บกวาดขยะ พนักงานรักษาความปลอดภัย รับจ้างล้างจาน ทำความสะอาด…

แต่ด้วยมาตรการคุมโรค วิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเขาต้องตกงาน ขาดรายได้ และต้องมาเสี่ยงจากการเข้าแถวรับอาหารและสิ่งของที่ผู้คนนำมาบริจาค

ทำไมคนไร้บ้านจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว? นั่นเพราะข้อมูลจาก มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน พบคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 

โดยเฉพาะในระลอกล่าสุด (เม.ย. 2564 – ปัจจุบัน) เกือบ 300 คน ซึ่งล้วนเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโรคและวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้ตกงาน ขาดรายได้ ต้องหลุดจากบ้านเช่า มาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า หลังติดเชื้อโควิด-19 เตียงเต็ม ต้องมานอนในที่สาธารณะ ชีวิตบนความเสี่ยงคนไร้บ้านหน้าใหม่-เก่า

การใช้ชีวิตในที่สาธารณะของคนไร้บ้าน ที่ยากต่อการดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และยังไม่มีบ้านให้พักกักตัวเพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้ออย่างใครเขา 

การตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้านในที่สาธารณะและในศูนย์คนไร้บ้าน ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีคนไร้บ้านติดเชื้อรวมกว่า 10 คน 

แม้จะดูเป็นตัวเลขไม่สูงมาก แต่สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยง 

ในขณะที่การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังคนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ทั่วถึงและขาดการดำเนินการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเฝ้าระวัง 

ที่น่าตกใจ คือ ข้อมูลการสำรวจล่าสุดของเครือข่ายคนไร้บ้าน โดย สมพร หาญพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ยกระดับมาตรการเข้มข้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านหน้าใหม่  ที่เพิ่งจะถูกไล่ออกจากบ้านเช่าอย่างต่อเนื่อง 

ที่น่าเศร้าใจ คือ กรณีหญิงแม่ลูกอ่อน ที่ทันทีที่ผู้ให้เช่ารู้ว่าเธอติดเชื้อโควิด-19 ก็ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า เตียงเต็มไม่มีที่รักษา จึงต้องออกมานอนในที่สาธารณะกับลูกน้อยอีก 2 คน 

“เคสล่าสุดเป็นผู้หญิง มีลูกด้วย 2 คน วัย 5 ขวบ และ 1 ขวบ หลังแม่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เจ้าของห้องเช่า ก็ไล่พวกเขาออกมาทั้งครอบครัว เครือข่ายฯ เราไปพบ นั่งกันอยู่ 3 คน ใต้สะพานลอยแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ เราก็รีบประสานให้เข้าไปรับการดูแลรักษา ใน community isolation หรือระบบการดูแลในชุมชน ที่เครือข่ายฯ เราเตรียมไว้ ตอนนี้กำลังประสานเรื่องการตรวจเชื้อให้กับเด็กทั้ง 2 คน” 

ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ยังสะท้อนถึงข้อห่วงกังวล ต่อปัญหาความไม่เข้าใจและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดต่อการจัดตั้ง community isolation เพราะในขณะที่หลายชุมชน รวมทั้งเครือข่ายคนไร้บ้าน พยายามเดินหน้าเพื่อช่วยเหลือ ลดภาระหน่วยงานภาครัฐ ที่ตอนนี้วิกฤตหนัก ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งบางหน่วยงานบางพื้นที่ ยังอ้างข้อจำกัดระเบียบวิธีการ การที่ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน

เรื่องนี้ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า การรักษาชีวิตของผู้คน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ต้องก้าวข้าม ลดข้อจำกัดระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาต่อการรักษาชีวิตผู้คน

“ต้องก้าวข้ามเรื่องระเบียบวิธีการที่เป็นปัญหา ตอนนี้ต้องนึกถึงหลักมนุษยธรรม การช่วยชีวิตคนเป็นสำคัญก่อน ซึ่งการดำเนินการเร่งด่วนในตอนนี้ คือ ทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้าง community isolation เพื่อดูแลคนในชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งคนไร้บ้านที่เสี่ยงและติดเชื้อในเวลานี้ โดยการใช้สถานที่ที่ถูกปิดไว้ แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สนามกีฬา วัด ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งต้องทำโดยเร่งด่วน”

การรักษาชีวิตที่สำคัญ คือ การให้คนไร้บ้านเข้าถึงวัคซีนเร่งด่วนและครอบคลุม

แม้ว่าหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กทม. และเครือข่ายคนไร้บ้าน จะร่วมมือเดินหน้าตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้านเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังดำเนินการได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด และไม่มีการดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ย้ำว่า ทางออกสำคัญที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาตอนนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ก็คือวัคซีน เธอเรียกร้องให้เร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้เข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยอาจเป็นรถโมบายเข้าไปถึงพื้นที่

“คนทั่วไปที่เขามีสมาร์ตโฟน บางคนเขายังไม่รู้เลย ว่าจุดฉีดหน่วยไหน โรงพยาบาลไหนมีวัคซีนบ้าง คือ มันกลายเป็นว่าประชาชนต้องวิ่งหาวัคซีนว่ามีตรงไหน แต่เรากลับเห็นหลายประเทศ ที่การฉีดวัคซีนให้ประชาชน เขาจัดเป็นรถเคลื่อนที่เพื่อเข้าหาประชาชน คือถ้าจัดลักษณะเป็นโมบายแบบนี้มันง่ายกว่าและทั่วถึง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์