“การศึกษา” ที่เราเชื่อ คือ “การศึกษา” ที่ทำให้เรามีทักษะและความรู้ สามารถทำให้เราอยู่รอดได้ แล้วต้องทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสันติสุข มากกว่านั้นคือ อยู่อย่างมีความหมาย อยู่อย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม กล้าที่จะตั้งคำถามกับปัญหาที่พบเจอ กล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่นำ เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อส่วนรวม
ปัจจัยที่จะทำให้ภาพของ “การศึกษา” ที่เราเชื่อเกิดขึ้นได้ เริ่มต้นจากทัศนคติที่มองเห็นระบบนิเวศของการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ไม่ได้แยกส่วนจากกันเหมือนกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ที่ยังขาดการบูรณการ ตั้งแต่โครงสร้างที่แยกเป็นวิชา แยกเป็นชั้นเรียน แยกระดับการเรียนเป็นเกรด ประเมินการเรียนรู้หรือศักยภาพผู้เรียนที่ถูกตัดสินจากมุมมองหรือหลักเกณฑ์ที่ไม่หลากหลาย ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน จนทำให้มวลของความทุกข์อยู่กับระบบการศึกษาไทยที่มีตัวละครสำคัญอย่างนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง มาอย่างยาวนาน
“ก่อนที่หนูจะเข้ามหาวิทยาลัย หนูจำได้แม่นเลย พ่อหนูบอกว่าชีวิตที่อิสระเสรีมันอยู่ที่มหาวิทยาลัย อดทนรออีกแป๊บนะลูก และหนูก็เชื่อมั่นมาตลอดตั้งแต่ ม.4 จนได้เข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็พบความจริงว่าหนูโดนหลอก”
เรื่องเล่าจากมุมมองและประสบการณ์ตรงของสปีกเกอร์คนหนึ่งในช่วงไททอล์ก ที่เผชิญกับความจริงในมหาวิทยาลัยที่ถูกกำกับด้วยรัฐ ตอกย้ำให้เห็นว่า “การศึกษา” ที่เราเชื่อยังคงไม่ได้ทำหน้าที่ แต่เราจะไม่ลดละความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน
10-12 ธันวาคม 2564 มีกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยและคนรุ่นใหม่ร่วมตัวกันก่อตั้ง มหา’ลัยไทบ้าน ปี 1 ขึ้น ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
ต้องขอย้อนกลับไปเมื่อต้นปีนี้ ก่อนมี มหา’ลัยไทบ้าน เราเคยรวมตัวของครูและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ อ.สีชมพู อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และ อ.ภูกระดึง จ.เลย ในนามของกลุ่ม ก่อการครู3ภูพลัส ที่มีความเชื่อในการศึกษาแบบองค์รวม ทำการศึกษาที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่และบริบทด้านสิ่งแวดล้อม จึงขับเคลื่อนงานร่วมกันกับคนในชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อกหักจากการศึกษาในระบบที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต จึงกลับบ้านมาทำการศึกษาตามอัธยาศัย นอกระบบ ที่ตอบโจทย์ชีวิตและชุมชน และรวมพลังทำงานมาด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานในหน้างานตัวเองเพื่อการอยู่รอด เวิร์กช็อปสร้างเครือข่ายครูและคนรุ่นใหม่ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้กับเยาวชนในพื้นที่ งานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่มองเห็นในชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม และงานอื่น ๆ อีกหลากหลายมิติใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของเราเอง สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน
จากกลุ่มครูและคนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ ขยายออกผลจนเป็นคนกลุ่มใหญ่ เกือบ 1 ปีมานี้ เรามองเห็นศักยภาพของทีมงาน ผู้คนในชุมชน และศักยภาพของพื้นที่ จึงเกิดความท้าทายของการขยายพื้นที่ทางความคิดและต่อยอดปัญญาของคนในชุมชนกับคนนอกร่วมกัน จนกลายเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่เราให้ชื่อว่า มหา’ลัยไทบ้าน ที่จะทำการศึกษาเพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมายร่วมกัน
เปิดสูตรการศึกษา มหา’ลัยไทบ้าน
ห้องเรียน มหา’ลัยไทบ้าน ของเราได้แรงบันดาลใจมาจาก มหา’ลัยเถื่อน หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการไม่รับรอง แห่งมะขามป้อมอาร์ตสเปซ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่เชื่อว่าในความแตกต่างหลากหลายและศักยภาพของมนุษย์ สามารถสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ไร้กรอบ ขอบรั้วของมหาวิทยาลัยและโรงเรียน แต่เชื่อมโยงชีวิตเข้าสู่สังคม เข้าสู่ชุมชนที่เป็นจริง บนความสัมพันธ์แนวระนาบ ไม่ผูกขาดอำนาจในห้องเรียนที่ใครคนใดคนหนึ่ง สลับบทบาทกันเรียน เปลี่ยนกันสอน
ในปีแรกนี้ พวกเราได้ออกแบบการเรียนรู้ที่มีรูปแบบแทบจะเหมือนต้นฉบับ เพียงแต่ลดขนาด ลดเวลา ลดปริมาณ เพื่อให้ทีมของพวกเราได้ฝึกและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับทุกคน แต่เพิ่มความเป็นเราผ่านกิจกรรมตลอด 3 วัน 2 คืน เหล่านี้
ไทมุง
เราเริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่ของวงคิด คุย ฟุ้ง ที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์และพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดแรงบันดาลใจและไอเดียร่วมกัน มีตั้งแต่วงไทมุงแบบจัดตั้ง จริงจัง นั่งเก้าอี้ ปูเสื่อ และที่วงไทมุงแบบอิสระ ที่มี นเรศ เสวิกา (ไทม์) ผู้เข้าร่วมเรียนในครั้งนี้สลับบทบาทมาเป็นกระบวนกรนำวงได้อย่างสนุก มีพลัง และดึงศักยภาพของคนออกมา ผ่านคำถามเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมปลอดภัยที่จะแบ่งปัน ทั้งความรู้สึก และความคิด
กว่า 60 ชีวิต ต่างวัย ต่างภูมิลำเนา ทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง นักออกแบบ นักร้อง นักดนตรี สถาปนิก วิศวกร จิตรกร เกษตรกร นักการเมือง ครู อาจารย์ โปรแกรมเมอร์ ผู้สื่อข่าว นักธุรกิจ นักพัฒนา ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ชาวบ้าน ล้วนสนุกสนานกลมกลืนเรียนรู้ไปด้วยกันผ่านบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ ไทบ้าน เรียบง่าย อบอุ่น มาแลกเปลี่ยนมุมมองของชีวิต ประสบการณ์ และการเรียนรู้ของตน
ไททอล์ก
พื้นที่เปิดหน้าฮ่านให้เหล่าไทบ้าน ไทเมือง รุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ได้ผลัดเปลี่ยนกันเล่าเรื่อง แชร์ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจของบ่ายวันแรกและภาคเช้าวันที่สอง เราสร้างเวทีทอล์กด้วยรถอีแต๊ก ดัดแปลงจากรถไถเดินตาม มีฉากหลังเป็นภูเขาและป่าอ้อย พืชเศรษกิจในชุมชน ให้สปีกเกอร์ทั้งหมด 13 คน ผลัดกันเล่าโดยมี 3 กลุ่มประเด็นจากหลากหลายอาชีพและที่มา
ไททอล์กนักสร้างสรรค์
1. หิน – ชนะชัย แก้วผาง ผู้สื่อข่าวภาคสนามที่มาแบ่งปันงานสร้างสรรค์สื่อมีเดียออนไลน์ ผ่านภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บทเพลง บทกวี จากท้องทุ่ง สู่เมืองกรุง เมืองใหญ่ เมืองนอก ในเพจ “อีเก้ง” ให้คนอีสานพลัดถิ่นและพวกเรา ได้รู้สึกฟินกับความเป็นไทบ้านที่เขาเล่า และภาพที่เราเห็น
2. ป่าน – ปณิธาน คำภูธร นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปี 1 มาแบ่งปันงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะชุด “แอบME” ที่เธอกล้าวิพากษ์ต่อระบบการศึกษาในรั้วโรงเรียนผ่านประสบการณ์ตรงของตัวเอง เธอยังคงตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา โดยเฉพาะบทบาทของครูที่ไม่ค่อยเป็นพื้นที่ปลอดภัยพอกับนักเรียนให้ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง หรือช่วยต่อยอดสิ่งที่นักเรียนสนใจได้เท่าไร ป่านตั้งปณิธานมั่นว่าเมื่อเธอเป็นครู เธอจะทำนักเรียนของเธอรู้สึกปลอดภัย และไม่ต้อง แอบ ทำ ในสิ่งที่ตนเองรัก และป่านก็คือเจ้าของเรื่องเล่าที่เรานำเข้าเรื่องในบทเรียนนี้ช่วงแรก
3. ปั้น – ปฎิภาณ คำภูธร น้องชายของป่าน และยังเป็นนักเรียน ม.ปลาย ที่ลุกขึ้นมาทำงานสร้างสรรค์ผ่านตัวอักษร จนกลายหนังสือนวนิยายเล่มแรกชื่อว่า “สูญ” ที่เกิดจากแรงบันดาลใจในวันที่ สูญ เสีย เด็กสาวที่เขาหลงรัก เป็นทอล์กที่สนุกและผู้ฟังร่วมเอาใจช่วยกับเรื่องราวของเขาเป็นอย่างมาก ปั้นบอกว่า หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้เพราะการสนับสนุนของครอบครัวที่เห็นคุณค่าสิ่งที่ลูก ๆ ทำ ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และถ้าครูในระบบมีสายตาเหมือนกับครอบครัวที่มองเห็นคุณค่าของนักเรียนที่ตนเองดูแล เด็กไทยคงได้ฉายแสงในแบบที่ตนเองเป็น ดังเช่นปั้นที่บอกว่าตัวเองเป็นคนเก็บตัว แต่เมื่อได้มีเวทีสะท้อนความเป็นตัวเอง เขาก็ทำมันได้ดี และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราไม่น้อยเลย
ป่าน – ปณิธาน คำภูธร
สปีกเกอร์ไททอล์กผู้เรียนไททอล์ก
4. มาศ – นพมาศ คอดอุ้ย จิตกร และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย กับทอล์ก ดิบ เถื่อน ขำ และ จริงใจ ว่าด้วยการชวนชาวบ้านลุกขึ้นมาจักรสานไม้ไผ่ร่วมสมัยให้โลกจำ และช่วยทำให้ไม่อัลไซเมอร์
5. เป้ง – วัชพงษ์ วงสิม วิศกร กับทอล์กสุดมันส์ ขำ ฮา น้ำตาไหล ทรงพลัง ปลุกไฟ และสร้างภาคภูมิใจกับความเป็นไทบ้านที่ถูกถอดรหัสให้เห็นคุณค่า ภูมิปัญญา และอัจฉริยะ ผ่านวิถีไทบ้านทุกมิติ จากมุมมองคนใน ประสบการณ์ตรง ความแว่นตาแห่งคิดสร้างสรรค์ คนที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี และเล่าเรื่องได้อย่างสนุก มีพลัง พี่เป้ง ช่วยสะท้อนให้เราเห็นมิติของคนที่มีทัศนคติที่ดีมาก ๆ ต้องมีหูตาที่ไว เป็นนักสังเกต ตั้งคำถาม แสวงหาความรู้เป็น หากคนในระบบการศึกษาถอดรหัส ทั้งวิธีคิด และคุณค่ากับสิ่งใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องราวหรือวิถีในชุมชนได้อย่างพี่เป้ง นักเรียนเราจะมองเห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ของตนเองที่มีภูมิปัญญา มีจิตวิญญาณ จนเกิดความภาคภูมิใจ และเกิดความเคารพ
ไททอล์กผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนชุมชน
6. ปู – จงรัก จารุพันธ์งาม เจ้าของมีกินฟาร์ม ที่มาทอล์กเล่าประสบการณ์ของการกลับบ้านที่ไม่โรแมนติก ทอล์กที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของนักต่อสู้ บทเรียนการเอาตัวรอดในโลกธุรกิจ กับครอบครัว และความฝันของเธอ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนกลับบ้านและอยากกลับบ้านมากว่าครึ่งทศวรรษ
7. แนน – สิริรัตน์ ตู้ภูมิ เจ้าของกิจการเค้กภูผาม่าน ไร้หน้าร้าน กับทอล์กการกลับมาบ้านและทำธุรกิจที่เธอรักจนถูกกล่าวขวัญ ว่าเป็นเค้กที่อร่อยที่สุดและขายดีที่สุด แม้ไม่มีหน้าร้าน หลังทอล์กพวกเราก็ได้ชิมเค้กของเธอด้วย หอม หวาน อร่อยจริงงงงงงง ๆ
8. ดาว – ประกายดาว คันธะวงศ์ และ มล – จิราวรรณ คำซาว ตัวแทนจากพี่น้องแห่ง ถิ่นนิยม และ มหา’ลัยเถื่อน เดินทางมาเล่าเรื่องราว “เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้” การขับเคลื่อนชุมชนจากจุดเชื่อมโยงเล็ก ๆ ของคนเล็ก ๆ สู่ภาพฝันที่ยิ่งใหญ่และเป็นจริง ให้แรงบันดาลใจ ส่งพลังใจ ให้พวกเราเป็นที่สุด
9. กุล – กุลชาติ เค้นา โปรแกรมเมอร์ และเจ้าของฟาร์มคิดส์ หนึ่งในแกนนำของมหา’ลัยไทบ้านที่ขึ้นมาทอล์กและเล่าเรื่องการขับเคลื่อนชุมชนด้วยการท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีที่อยู่ในมืออย่างสมาร์ตโฟน เป็นทอล์กที่มีจังหวะ ชัดเจน เสียงหนักแน่น และยิ่งใหญ่ ผ่านร่างกายที่เล็กบางของเขา
ดาว – ประกายดาว คันธะวงศ์ และ มล – จิราวรรณ คำซาว
สปีกเกอร์ไททอล์กกุล – กุลชาติ เค้นา
สปีกเกอร์ไททอล์ก
ไททอล์กด้านการศึกษา และการสู้ชีวิต
10. นุ – อนุวัตน์ บับพาวะตา เจ้าหน้าที่งานป้องกัน อบต.ดงลาน กับทอล์กเว่าภาษาอีสาน ที่ชวนให้พวกเราเห็นมิติของชีวิตเขาผ่านเฉดสี่ต่าง ๆ ทั้ง ขาว เทา ดำ เขียว และสีชมพู ที่เป็นทั้งกายภาพชื่อของอำเภอและพื้นที่แห่งความรัก แห่งความสุข เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว
11. เกมส์ – อุทิศ จอดนอก ผู้บ่าวไทบ้าน ผู้ตามหาความหมายของชีวิต กับทอล์กเล่าเรื่องสบาย ๆ ของชีวิตในคราบพระสงฆ์ และการเดินทางออกสำรวจพื้นที่ธรรมชาติในชุมชน จนถึงประสบการณ์เดินป่าที่สวีเดน
12. แนท – จักรพล ปัญญาเหลือ วิศวกรหนุ่มที่ผันตัวเองมาเป็นนักร้องตามความฝัน และมอบบทเพลงสุดไพเราะกับเพื่อนรักของเขาให้เราฟัง ที่งดงามทั้งบทเพลงและประสบการณ์
13. สามแม่ลูก น้องฮารุโตะ ,ยูโตะ และแม่โอ๋ ชยานันท์ คงเจริญสุข มาแบ่งปันเรื่องราวของการเรียนรู้และเบื้องหลังหนังสือ “แมววัด” ผ่านการพูด การวาด และการแซวของทั้งสามคน ที่ทั้งสนุกและเห็นเบื้องหลังหนังสือดี ๆ ที่เป็นสร้างแรงบันดาลใจกับพวกเราไม่น้อย
น้องฮารุโตะ ,ยูโตะ และแม่โอ๋ ชยานันท์ คงเจริญสุข
สปีกเกอร์ไททอล์ก
ไททำ
ภาคบ่ายของวันแรก และวันที่ 2 เราสร้างห้องเรียนขึ้นมา 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ “ไททำ” เปิด 3 ห้องเรียน 3 พื้นที่ เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือและลงภาคสนามในพื้นที่ อ.สีชมพู ให้ผู้เข้าร่วมเลือกเรียน 1 ห้อง แต่ละห้องได้ถูกออกแบบเพื่อต่อยอดจากสิ่งที่ชุมชนมีและทำอยู่แล้ว (community based learning) โดยคนในชุมชนจะเป็นผู้นำกระบวนเรียนการสอนและชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดพัฒนา จากเสียงหรือประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมไปด้วยกัน
ห้องเรียนที่ 1 “ไททอม” นำโดย ครูทอม แห่งกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู ที่ชวนพวกเราออกไปตามหาหินสีที่ริมแม่น้ำพอง เสียงน้ำไหล และบรรยากาศช่วงบ่ายวันนี้ ผ่อนคลายและเยียวยาพวกเราดีแท้ ครูทอมให้สนุกกับการหาหินที่ให้สี ก่อนจะนำสีมาทำงานศิลปะเพื่อเป็นของขวัญแลกกันและกันด้วยบทสนทนาสะท้อนผลงานและความคิด โดยมี กุล โปรแกรมเมอร์หนุ่ม ชวนพวกเราบันทึกความรู้สึกและเรื่องราวผ่านการพิมพ์ด้วยเสียง และปิดท้ายด้วยทริป “ไทเที่ยว” ไปกินเหมี่ยงผักสด ปลอดสารเคมี ที่ไร่ของพี่แพรว เครือข่ายของพวกเรา
ห้องเรียน ครูทอม เป็นการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม บูรณาการหลากหลายมิติ ทั้งฐานกาย ฐานใจ ฐานคิด ผ่านกิจกรรมศิลปะ การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีในการบันทึกเล่าเรื่องและภาพธรรมชาติในชุมชน โดยมีเสียงลำธาร การลงมือทำงาน และวงสุนทรียสนทนา เป็นเครื่องมือช่วยให้เราได้เห็นเชื่อมโยงของโลกภายนอกที่เป็นสิ่งแวดล้อมตรงหน้ากับโลกภายไป คือ อารมณ์ จิตใจ และความคิด
ห้องเรียนที่ 2 “ไทโท” นำโดย ตาสนั่น พ่อของ อีฟ หนึ่งในทีมงานมหา’ลัยไทบ้าน ตาสนั่น เป็นครูภูมิปัญญาสอนพวกเราทำสาโทรสชาติดี มีรายละเอียดและองค์ความรู้ทุกขั้นตอน จากนั้นพวกเราก็หิ้วโหลสาโทฝีมือ ตาสนั่น ขึ้นรถอีแต๊ก นั่งชิล จิบสาโทโก้ ๆ เที่ยว เลาะดงลาน ชมเขา ชมทุ่ง และวิถีชุมชนยามเย็น เป็นห้องเรียนที่หลายคนประทับใจและมีผู้เข้าร่วมเรียนล้นหลาม ความน่ารักและความเป็นมืออาชีพของตาสนั่นปราญช์ชาวบ้านผู้นำกระบวนการทำสาโทอันเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น นอกจากช่วยให้เราได้เรียนรู้แล้ว ยังเป็นการ Empowerment Local ได้อีกด้วย
ห้องเรียนที่ 3 “ไทธนวัตน์” นำโดย บอล และ ต้น ธนวัตน์ เจ้าของไร่ปูริดา ที่ทำเกษตรผสมผสานทั้งเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และเปิดร้านอาหาร ชวนผู้เข้าร่วมลงจับปลาในไร่มาทำหลามปลาช่อนสูตรไทบ้าน ระหว่างรอหลามปลาสุก ผู้เรียนนั่งรถชมวิว และวิถีชีวิตชาวบ้านหาอยู่หากินริมอ่างเก็บน้ำห้วยลอมไผ่
ไททริป
เราเชื่อมาตลอดว่า การเรียนรู้ที่สนุก ทรงพลัง และมีความหมายมากที่สุด คือ เรียนแบบไม่รู้สึกว่ากำลังเรียน แต่คือการใช้เวลากับการเล่น เที่ยว เอาตัวเองออกไปสัมผัสและมีประสบการณ์ตรงกับที่ใหม่ ๆ ให้ผัสสะได้เปิดประตูการเรียนรู้หลากหลายมิติที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของมนุษย์ ผ่านการเล่น หรือ ท่องเที่ยว จึงทำหลักสูตร “ไททริป” เรียนรู้ ท่องเที่ยวแบบดิบ Deep กับเหล่าไทบ้านในพื้นที่ ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย
จุดแรก คือ โรงเรียนชุมชนผานกเค้า ที่ครูนักเรียนที่นั้นให้คุณค่ากับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่งดงามท่ามกลางการศึกษายุคโควิด-19 จากนั้นเราก็แยกกันเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเลือกเส้นทาง “ไททริป” เที่ยวบ้านเพื่อน
หนึ่ง คือ บ้านของครูปุ๊ค ครูชิน ที่เรียกว่า บ้านนัยซอกเล็กนกเค้าแมว เป็นบ้านริมเขาผานกเค้าสูงตระหง่านกับการล้อมวงสนทนาสุดประทับใจ ปลุกไฟความดื้อเพื่อศิษย์ที่ครูทั้งสอง แลกเปลี่ยนที่มาที่ไปของพื้นที่และความเชื่อด้านการศึกษาว่าทุกสามารถสร้างการเรียนรู้ และต่อยอดพลังการแสวงหาความรู้ หรือส่งต่อแรงบันดาลใจให้กันและกันได้
สอง คือ บ้านม้าไทย ของ อ.เกษม สมชาย นักบุกเบิกถากถางการท่องเที่ยวโดยชุมชน และนักพัฒนาเกษตรอินทรีย์ชีวิตงาม ที่เปิดบ้านย่างหมูต้อนรับพวกเรา และพาเดินชมพื้นที่จิบน้ำจุลินทรีย์สารพัดประโยชน์ที่อาจารย์พัฒนาขึ้นจากจุลรินทรีย์ในพื้นที่
และ สาม ไร่โนอาร์ 100 ไร่ ของ พี่ทอม ที่กำลังพัฒนาพื้นที่ติดเขาให้เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมี พื้นที่ของการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ตลอดกิจกรรมการเรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกัน 3 วัน 2 คืนใน มหา’ลัยไทบ้าน ปีที่ 1 นี้ คนในพื้นที่ 3 อำเภอ 2 จังหวัด แขกรับเชิญและผู้เข้าร่วมหลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ ตั้งแต่อายุ 4 ขวบที่น้อยสุด จนถึง 74 ปีที่สูงสุด ช่วยฉายภาพให้เราเห็นชัดขึ้นว่า การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ต้องจำกัดหรือแยกส่วนเสมอไป
วันนี้ จากจุดเริ่มต้นของกลุ่ม ก่อการครู ที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนตนเอง ได้ขยายอาณาเขต ไร้กรอบ ขอบรั้วโรงเรียน ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องตอบโจทย์ชีวิตและไม่แยกส่วนกับชุมชน สิ่งแวดล้อม เราขับเคลื่อนร่วมกันเป็นเครือข่ายต่อเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ 4 กับหมู่มิตรที่ไม่จำกัดอยู่ในเพียงแวดวงครูหรือแวดวงการศึกษาเท่านั้น จนกลายมาสู่การเป็น มหา’ลัยไทบ้าน ปี1 นี้ ที่ท้าทายและขยายความหมายมากยิ่งขึ้น
ก้าวต่อไปของ มหา’ลัยไทบ้าน จะไม่ใช้เพียงแค่กิจกรรมหรืออิเวนต์ที่ทำจบแล้วเลิกรากันไป แต่นี่จะเป็นเครือข่ายเพื่อนพี่น้องที่จะเป็นพลัง ให้กำลังใจ แรงบันดาลใจ ร่วมกันสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งการเรียนรู้ในระบบและไร้กรอบขอบรั้วโรงเรียนร่วมกันต่อไป
ขอขอบคุณ พอช. , โครงการก่อการครู , U2Tมหาลัยเกษตรศาสตร์ , สสส. ที่ร่วมสนับสนุนให้งานนี้เกิดขึ้นได้จริง และขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ด้วยรักและศรัทธาเพื่อการศึกษาสู่ความเป็นไท บนรากและฐานของภูมิปัญญาบ้าน ๆ สู่ความเป็นไท ยิ่งใหญ่สู่สากล