ราชาผลไม้ที่มีมูลค่าราคาแพงที่สุด
ปลูกลงบนผืนดินของจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด
ความเย้ายวน กลิ่นหอมหวาน จะนำพาความขัดแย้งไปได้ถึงขั้นไหน
แม้ภาพยนตร์ “วิมานหนาม (The Paradise of Thorns)” พล็อตเรื่องหลักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ความไม่เท่าเทียม ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะด้านกฎหมายก่อร่างสร้างครอบครัว เมื่อ “ทองคำ” และ “เสก” วางแผนมีชีวิตคู่ร่วมกัน จนเกิดศึกแย่งชิงที่ดินสวนทุเรียน จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
ในรอบพิเศษของหนัง วิมานหนาม นอกจากรับชม เรายังได้ฟัง บอส – นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ เล่าถึงปมเนื้อหาภายในเรื่องทั้งหมดยืนยันได้ว่า วิมานหนามคือหนังที่เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชายขอบ เข้าไม่ถึงทรัพยากร นโยบาย และโอกาสด้านต่าง ๆ
สิ่งที่ได้อ่านต่อจากนี้จึงเป็นบทวิคราะห์ที่อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง ซึ่ง The Active ไม่มีเจตนาสปอย แต่ต้องการสะท้อนมุมคิดของหนัง ไปสู่ภาพความจริงของสังคมไทย
แน่นอนว่าการเปิดเรื่องด้วยความรักที่สุกงอมของคู่รักชาย-ชาย ระหว่าง “ทองคำ” และ “เสก” ทำให้เห็นชัดเจนถึงความจำเป็นของ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่สภาฯ ได้ผ่านร่างฯ และหลายฝ่ายตั้งตารอว่าจะบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้
คู่รักเพศหลากหลาย สิทธิ์ที่(ยังไม่)เท่าเทียม
แต่ในเวลาที่เราวิเคราะห์อยู่นี้ อาจมีบางคู่ บางครอบครัวเพศหลากหลาย ที่เสียคนรักไปเพราะไม่สามารถตัดสินใจเซ็นยินยอมการรักษากรณีฉุกเฉิน หรือ ต้องหมดตัวเพราะที่ดิน บ้าน ทรัพย์สิน ที่สร้างมาร่วมกัน ต้องตกเป็นของผู้สืบสันดานตามกฎหมาย เมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต เช่นเดียวกับสิ่งที่ ทองคำ ตัวละครเอกของหนังวิมานหนาม เผชิญอยู่จนเลยเถิดเกิดเป็นความขัดแย้ง นำไปสู่โศกนาฎกรรม โดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากในวันที่ ทองคำ ใช้เงินก้อนใหญ่ทั้งหมดในชีวิตไถ่ถอนที่ดินให้เสก ด้วยการทำนิติกรรม เพิ่มชื่อทองคำเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน หรือ รวบรวมพยานหลักฐานการเป็นคู่รัก ใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกัน เฉกเช่นสามีภรรยา เช่น การเปิดบัญชีร่วมกัน, รายการเดินบัญชีธนาคารในการทำนิติกรรมร่วมกัน (Statement) เพื่อยืนยันต่อศาลกรณีมีการฟ้องร้อง แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คู่รัก LGBTQIAN+ ต้องมีเงื่อนไขมากกว่าคู่สมรสชาย-หญิง ที่กฎหมายให้สิทธิ์โดยอัตโนมัติ
ความคับแค้นใจของทองคำที่ไม่รู้กฎหมาย ยังอาจสะท้อนได้ถึงความเชื่อว่า คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ทองคำ ถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งตักเตือน ที่ไม่รู้จักศึกษากฎหมายให้ดี ทำให้ไม่ได้พูดคุยกัน เพื่อวางแผนจัดการเรื่องมรดก
“เกิดมาฉันไม่เคยมีบุญวาสนาเหมือนคนอื่นเขา เซ็นยกบ้านให้ฉันหน่อยได้ไหม”
อีกประโยคที่เป็นประเด็นปัญหาหล่อเลี้ยงตลอดทั้งเรื่องนี้ คือ การเข้าไม่ถึงที่ดิน และที่อยู่อาศัย ที่ทำให้เกิดศึกแย่งชิงพื้นที่สวนทุเรียน ของ ทองคำ, แม่แสง และ โหม๋ ที่ทุกคนล้วนมีเหตุผลร่วมกันคือ ต้องการความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และหลุดพ้นจากความยากจน
- ทองคำ ทิ้งบ้าน และเงินเก็บทั้งหมดไถ่ที่ดินให้กับเสกหวังเริ่มต้นชีวิตด้วยกันบนที่ดินผืนนี้
- แม่แสง หญิงพิการสูงวัย อาศัยในกระท่อมเล็ก ๆ บนพื้นที่เกษตรกรรม ต่อมาเสกที่เป็นลูกคนเดียวเสียชีวิต
- โหม๋ เด็กกำพร้า ที่รับใช้ดูแลแม่แสงมา 20 ปี และหวังว่าจะได้มรดกที่ดินในฐานะลูกบุญธรรม และเมียของเสกอีกคนหนึ่งที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ทั้ง 3 คน ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันติดตัว เมื่อเสกที่เป็นเจ้าของที่ดินมาด่วนจากไป สวนทุเรียน 5 ไร่ พร้อมบ้านสังกะสี ก็เปรียบเสมือนวิมานที่ต่างก็หาเหตุผลมาฟาดฟันกัน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แม้เหตุผลนั้นจะบิดเบี้ยวแค่ไหนก็ตาม
มองมุมหนัง กับวิถีทางเพื่อหลุดพ้น ‘ความจน’
ถ้าย้อนมองความจริง พื้นที่พิพาททั้งหมดของหนังซึ่งถูกเซ็ตว่าเป็น จ.แม่ฮ่องสอน ในปี 2566 สภาพัฒนาและแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ รายงานว่า แม่ฮ่องสอนคือจังหวัดที่ยากจน บางปีอยู่ในลำดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมายประมาณ 98 % ชุมชน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สำหรับจัดทำโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถสร้างพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้
และยิ่งเด่นชัดในปัญหาความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน ระหว่างคนรวย คนจน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่แค่สาธารณูปโภค แต่รวมถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อครอบครองในผืนดินที่มีโฉนดของตัวละครทั้ง 3 คน ก็เพื่อไปสู่จุดมุ่งหวังของการหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยความมั่นคงในที่ดิน และที่อยู่อาศัยนั่นเอง
“ลูกคือสมบัติของแม่ ของของลูกก็คือของของแม่”
ไม่น่าเชื่อว่าประโยคนี้ของแม่แสง จะทำให้ผู้ชมวิมานหนามรอบเดียวกับเรา ถึงกับ “ซู้ดปาก” ถอนหายใจแทบจะพร้อม ๆ กัน จนได้ยินชัด ภายใต้ความเงียบในโรงหนัง
นี่อาจสะท้อนวาทกรรม “พ่อแม่ไม่มีบุญคุณกับลูก” “ลูกไม่ได้ขอมาเกิด” “ลูกที่ดีต้องกตัญญู” ที่กระแสโซเชียลถกกันอย่างร้อนแรง ทีมลูกที่ดีต้องตอบแทนคุณพ่อแม่ ปะทะ ทีมพ่อแม่หยุดทวงบุญคุณลูก แม้หลายคนอาจมองว่า นี่เป็นแนวคิดที่อันตราย ทำลายรากเหง้าของสังคมไทย แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นผลมาจากความเปราะบางของสายสัมพันธ์ในครอบครัว และความกังวลว่าวัฒนธรรมที่ดีงามกำลังถูกท้าทาย
ในหนังไม่ได้บอกว่า เสก ถูกแม่แสงเลี้ยงดูมาอย่างไร ? มีแค่คำบอกเล่าจากแม่แสงเองว่า ต้องข้ามเขาเก็บผักกาดขายจนตกลงมาพิการ นอกจากชีวิตที่สูญเสียไป แหวนหมั้น บ้าน สวนทุเรียน และสมบัติของลูกชายทุก ๆ ชิ้น คือสิ่งที่ต้องทวงคืนกลับมา ขณะที่การตอบแทนของเสกนั้น ก็ไม่ได้แสดงออกมาว่าเต็มใจหรือไม่ ?
เมื่อชีวิตต้องอยู่อย่างไร้แต้มต่อ
ไม่เว้นแม้แต่ โหม๋ ในฐานะคนอาศัย ลูกบุญธรรม คนรับใช้ แล้วแต่ใครจะนิยามให้ ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้เช่นเดียวกัน เธอต้องสูญเสียโอกาสในชีวิตหลาย ๆ อย่าง เพราะคำสัญญาจากเสก และหวังว่าการดูแลตลอด 20 ปี จะทำให้เธอได้เป็นลูกของแม่แสงจริง ๆ เสียที
ความกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นข้อถกเถียงในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความสมัครใจ การทิ้งโอกาสเพื่อกลับมาดูแล หรือแม้แต่สวัสดิการดี ๆ เพื่อผู้สูงอายุ คนพิการ 1 คน ครบในทุกมิติอย่างเพียงพอ จะช่วยให้คน ๆ หนึ่งที่ต้องการทำตามความฝัน ไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญูได้หรือไม่ ?
“กูยังไม่เคยเจอใคร ที่น่าสงสารเท่ากูมาก่อนเลย”
เสก ตัวละครที่ด่วนจากไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ก็อาจเป็นคนที่ผู้ชมกำหมัดมากที่สุดหลังชมภาพยนตร์จบ เพราะทิ้งปมความขัดแย้งไว้ให้คนที่รักเขา โดยเฉพาะ โหม๋
แม้การปรากฏตัวของโหม๋ตั้งแต่ที่เสกตายวันแรก อาจจะทำให้คนดูหมั่นไส้ตัวละครนี้ แต่เมื่อชมจนจบหรือกลับมาดูอีกรอบ เรากลับรู้สึกโกรธตัวละครนี้ไม่ลง แม้เธอจะใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงสวนทุเรียนมาเป็นของตัวเอง กระทั่งตัวเองก็ยังกล่าวกับน้องชายว่าไม่เคยเห็นใครน่าสงสารเท่าตัวเองมาก่อน
ทั้งการเป็นเด็กกำพร้า คนชาติพันธุ์ ขาดโอกาสทางการศึกษา เลี้ยงน้องชาย แต่สิ่งที่ทำให้โหม๋ไร้แต้มต่อในการเลื่อนสถานะขึ้นมาเป็นลูกจริง ๆ ของแม่แสง คือ เธอไม่สามารถบวช เป็นหัวหน้าครอบครัวที่จะช่วยดูแลสวนทุเรียน ในแบบที่พ่อแม่คาดหวังได้
เมื่อแต้มต่อมีไม่เท่ากับทองคำที่เป็นผู้ชาย ทางเลือกเดียวของโหม๋ จึงงัดไม้ตายความเป็นภรรยาของเสกในช่วงกลางเรื่องขึ้นมา แต่การที่เธอไม่มีทะเบียนสมรส หมากเกมนี้ก็ถูกทองคำ และแม่แสง เขี่ยทิ้งลงจากกระดานลงได้ง่าย ๆ
โหม๋ จึงเปรียบเสมือนเหยื่ออีกคนหนึ่งของเสก และการที่เธอมีต้นทุนติดลบมาตั้งแต่เกิด โอกาสในอาชีพสำหรับคนต่างจังหวัดมีน้อยที่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ จะยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง การได้แต่งงานกับผู้ชายที่เลี้ยงดูเธอได้จึงเป็นตัวเลือกที่เหมือนตลกร้าย
หรือแม้ตอนที่เธอแต่งงานกับปลัดอำเภออย่างไม่เต็มใจ ถึงจะได้รับมรดกจากแม่แสงแล้ว นัยหนึ่งยังสะท้อนถึงความเชื่อว่า การได้ตกร่องปล่องชิ้นกับข้าราชการ จะช่วยประคับประคองความสุขนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง คือ การได้รับสิทธิ สวัสดิการ และอำนาจเล็ก ๆ ของข้าราชการท้องถิ่น ดังฉากในวันแต่งงาน ที่คนทำพิธีพยายามพูดว่าการแต่งงานในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งสิทธิอะไรให้กับทั้งสองบ้าง
แต่ในท้ายที่สุด โหม๋เองก็ยังถูกทำให้เป็นเหยื่อของสังคมชายเป็นใหญ่อีกครั้ง ด้วยการถูกปลัดหลอกแต่งงานเพื่อหวังสุขสบายไปกับสวนทุเรียนเช่นเดียวกัน หรืออีกด้านอาจเป็นโชคดีที่โหม๋ไม่ได้ท้อง เพราะนั่นอาจเท่ากับภาระที่เพิ่มขึ้น และบริการ สวัสดิการช่วยเหลือผู้หญิงท้อง หรือยุติการตั้งครรภ์ของภาครัฐยังมีข้อจำกัด ไม่ได้ช่วยให้โหม๋ได้ทำงาน ร้ายแรงที่สุดคือต้องกลับไปสู่วังวนความจนอีกครั้ง
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่า แม้หลายภาคส่วนจะพูดถึงทั้งเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่กลับกลายเป็นว่า ตลาดแรงงานไทยยังคงให้การเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยทั่วไปและถูกกฎหมาย ทั้งที่ผู้สมัครควรจะได้รับการประเมินจากความสามารถแท้จริงเป็นหลัก ไม่ใช่มาจากหลักความคิดตามบรรทัดฐานทางสังคมเดิมที่ว่า ผู้ชายต้องแข็งแรง ผู้หญิงต้องอ่อนโยน ช่างปรนนิบัติ หรือมีอคติจากอดีตว่าอายุเกิน 35 ปีนับว่าแก่เกินเริ่มงานใหม่
จากประสบการณ์ที่เรามีโอกาสได้ชม วิมานหนาม ในรอบพิเศษ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งล้วนแต่มีความเห็นต่อความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่แตกต่างกัน จากที่เคยขายไว้ว่ามีพล็อตหลักมาจากความเท่าเทียมของคู่รัก LGBTQIAN+
ที่เห็นได้ชัดคือแม้จะมีฉากเลิฟซีนให้ผู้ชมฟินจิกเบาะแบบซีรีส์วายอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงซีนอารมณ์ ก็ทำให้เห็นความทุกข์ การปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอดของมนุษย์ โลกที่ไม่ยุติธรรมทำให้คนธรรมดาคนหนึ่ง ต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตที่สุขสบายโดยไม่สนใจใคร อย่างที่ อิงฟ้า วราหะ ผู้รับบท โหม๋ กล่าวว่า
แม้คนดูอยากให้เสกฟื้นขึ้นมามากที่สุด แต่ก็อาจไม่ช่วยให้ ทองคำ, โหม๋ และ แม่แสง มีอนาคตที่ดี หลุดพ้นจากความยากจน หากโลกนี้ยังไม่สามารถลดช่องว่างทางโอกาส และความเหลื่อมล้ำลงได้
เพราะคนที่มีต้นทุนติดลบ ไม่ต่างจากมีแผลที่ปวดระบมอยู่ตลอดเวลา ถ้ายิ่งถูกกดทับด้วยความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม สักวันแผลที่ว่าจะกลายเป็นฝีหนองที่รอวันแตก ท้ายที่สุดจึงต้องหาของแหลมคม มาบ่งหนองให้หายจากความเจ็บปวด โดยไม่เลือกวิธีการ
อ้างอิง :
“แม่ฮ่องสอน” เมืองแห่งความสุขแต่ยากจนที่สุด! : กับความฝันการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขความยากจน
รัฐถือครองที่ดินเกินจำเป็น ไม่เอื้อประชาชนอยู่ดีกินดี
โอกาสที่ไม่เท่าเทียมของการหางานในตลาดแรงงานไทย: หลักฐานจากประกาศงาน online