Pride Month ฟังเสียง(สี)ที่หายไป…ในธงรุ้ง

บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 (Bangkok Pride Festival 2024) ที่เพิ่งผ่านไป แม้บรรยากาศงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน จากผู้เข้าร่วมเฉลิมฉลองไพรด์พาเหรดจำนวนมาก แต่กลับมีคนบางกลุ่มที่อัตลักษณ์ของพวกเขา ยังไม่ได้รับการฉายภาพในสื่อ หรือความสนใจจากสังคมมากเท่าที่ควร

The Active มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาบางส่วนที่อยากสื่อสาร และสะท้อนการมีตัวตนในชุมชน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+)

ชัญชกร วีรวัฒน์

ชัญชกร วีรวัฒน์ ร่วมเดินขบวนในนามของ กลุ่มชายข้ามเพศ (Trans Man) เขาสวมผ้าคลุมแถบสีฟ้า ชมพู และขาว ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ของ บุคคลข้ามเพศ (Transgender) พร้อมถือป้ายที่ระบุข้อความว่า “ผู้ชายก็ท้องได้ Seahorse Dad”

Seahorse Dad หรือ Seahorse คือ คำที่ใช้เรียก Trans Man รวมไปถึง บุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่สอดคล้องกับเพศกำหนดแรกเกิด (Non-Cisgender) ที่ต้องการตั้งครรภ์ สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยคำนี้มีที่มาจากธรรมชาติของม้าน้ำที่ตัวผู้จะทำหน้าที่อุ้มท้อง และคลอดลูก

ชัญชกร บอกว่า มาร่วมเดินขบวนเพื่อแสดงตัวตน และการมีอยู่ของ Trans Man ให้สังคมได้เห็น อีกทั้งต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่า Trans Man ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก

ตัวแทนจากกลุ่ม Sapphic Union

ในขบวนไพรด์พาเหรด เรายังพบกับ กิ๊ก ตัวแทนจากกลุ่ม Sapphic Union ที่มาพร้อมถือธงแถบสีชมพูและขาว สะท้อนอัตลักษณ์ของกลุ่มแซฟฟิก (Sapphic) หรือกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง คำว่า Sapphic นี้จึงเป็นคำที่ให้ความหมายครอบคลุมตั้งแต่บุคคลที่นิยามว่า ตนเองเป็นผู้หญิง ไปจนถึงบุคคลที่รู้สึกรักผู้หญิง

กิ๊ก บอกกับเราว่า มาร่วมงานเพื่อเรียกร้องสิทธิ กฎหมาย การยอมรับทางสังคม และการฉายภาพตัวตนของ LGBTQIAN+ ในสื่อต่าง ๆ ทั้งในเพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือ พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อประโยคที่ว่า สังคมไทยโอบรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว

“ส่วนตัวมองว่า สังคมยังไม่ได้โอบรับอย่างจริงจัง คือ สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ห้ามทำอะไรที่จะไปกระทบสิทธิ หรือประโยชน์ของกลุ่มคนตรงเพศ (Cisgender) คือ เขายังไม่ได้ยอมรับเราอย่างเต็มที่”

ตัง เป็นอีกคนที่มาร่วมขบวนไพรด์ด้วยธงแถบสี 7 แถบ ไล่จากสีน้ำตาลไปสีดำ แทนสีขนของหมีสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ประทับด้วยรอยเท้าหมีสีดำ ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ของ Bear Community

ตัง ตัวแทนจากกลุ่ม Bear Community

เขาอธิบายว่า Bear Community เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “เกย์หุ่นหมี” ซึ่งมักโดนดูถูก หรือเหยียดในเพศสภาพ และรูปร่างภายนอก จึงมาร่วมเดินขบวนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตน และเท่าเทียมกับทุกคน

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนเพียงส่วนหนึ่งที่เราสัมผัสได้ จากการร่วมงานไพรด์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งหลายคน สามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจนผ่านรูปลักษณ์ภายนอก แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รูปลักษณ์อาจแตกต่างจากภาพจำของสังคม แล้วพวกเขาได้รับการมองเห็นมากน้อยเพียงใด ?

LGBTQIAN+ กับตัวอักษรที่(อาจ)หายไป

The Active ได้พูดคุยกับ ภารวี อากาศน่วม จาก เครือข่ายนอกกล่องเพศ : Non-Binary ในประเด็นการหายไปของบางอัตลักษณ์ในช่วง Pride Month โดยให้ความเห็นว่า ไพรด์พาเหรดให้พื้นที่กับอัตลักษณ์ G (Gay) และ T (Transgender) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง T ส่วนใหญ่ก็จะเป็น หญิงข้ามเพศ (Trans Woman) ด้วย แต่สำหรับเพศอื่น ๆ ที่มองจากภายนอกแล้วไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ทางเพศได้ คนก็จะไม่ให้ความสนใจมากนัก

เมื่อไม่มีการพูดถึงเพศหลากหลายอื่น ๆ ปัญหาที่ตามมาคือ สังคมไม่รู้ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น การบริการด้านสุขภาพ การรับรองเพศสภาพ และการยอมรับทางสังคมที่พวกเขาสมควรจะได้รับ

พร้อมเสริมว่า การเริ่มทำให้คนเห็นอัตลักษณ์อื่น ๆ โดยเริ่มจากไพรด์พาเหรดอาจไม่ได้ผลมาก แต่ต้องเริ่มจากการที่คนในกลุ่ม LGBTQIAN+ มองเห็นอัตลักษณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากอัตลักษณ์ของตัวเองก่อน

“บางครั้งคนในคอมมู (Community) เองก็ไม่ได้สนใจอัตลักษณ์อื่น กลายเป็นว่า ขนาดคนในคอมมูด้วยกันยังไม่เห็นกันเองเลย แล้วคนข้างนอกจะเห็นได้ยังไง”

ภารวี อากาศน่วม

การถูกมองเห็น = การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

ภารวี บอกด้วยว่า การพูดถึง หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ จะช่วยให้เกิดการสื่อสาร และการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเพศในสังคม อีกทั้งการได้รับการมองเห็นจะสามารถนำไปสู่คุณภาพชีวิตหรือนโยบายอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตของกลุ่ม LGBTQIAN+ ได้

พร้อมยกตัวอย่างถึงประเด็นการเข้าถึงสิทธิว่า บางคนคิดว่า กลุ่มนอน-ไบนารี่ (Non-Binary) ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่ Transgender สมควรได้รับ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะ Non-Binary ไม่ได้เหมือนกันทุกคน บางคนอาจจะอยากข้ามเพศ

เมื่อไม่มีสวัสดิการรองรับ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดจะค่อนข้างสูง วัยทำงานอาจไม่ได้เดือดร้อนมาก แต่สำหรับเยาวชนที่ยังทำงานไม่ได้ ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ และไม่ใช่ทุกครอบครัวที่พร้อมมีเงินให้ลูกหลานตัวเองไปรับฮอร์โมนบ่อย ๆ ถ้าเด็กเข้าถึงบริการทางการแพทย์ส่วนนี้ไม่ได้ ก็จะส่งผลให้เกิดความเครียดกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา เด็กอาจไปหายาใช้เอง หรือจนถึงขั้นเลือกจบชีวิตตัวเอง

“การจะสร้างการยอมรับ นโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ก็ต้องยอมรับเพศหลากหลายด้วย ถ้านโยบายและกฎหมายไม่ยอมรับ ก็อาจจะมีการอ้างว่า เธอจะเป็นเพศนี้ได้ยังไง กฎหมายยังไม่ได้ยอมรับเลยว่า เธอมีตัวตนอยู่”

ภารวี อากาศน่วม

เข้าใจความหลากหลายในสีรุ้ง

นอกเหนือจากการพูดถึง และการมองเห็นแล้ว ความเข้าใจและการยอมรับกลุ่มเพศหลากหลายอื่น ๆ จากคนในสังคมก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ภารวี สะท้อนว่า สังคมไทยยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศบางอัตลักษณ์อยู่ เช่น กลุ่ม Asexual จะมีครอบครัวและลูกไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว Asexual เป็นสเปกตรัมที่กว้างมาก และครอบคลุมตั้งแต่คนที่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อคนอื่นน้อยมากถึงไม่มีเลย มีอย่างไม่สม่ำเสมอ หรือไปจนถึงมีแบบมีเงื่อนไข

นอกจากนี้บางครั้งคนในสังคมอาจมองว่า ทำไมต้องมีชื่อเรียกแยกย่อยแต่ละอัตลักษณ์ให้วุ่นวาย ประเด็นนี้ ภารวี ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์มักจะซับซ้อนอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และเรื่องเพศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราแค่ต้องการให้คนเห็นว่า
มีเพศที่หลากหลาย มีมากกว่าแค่ชายหญิง
มีมากกว่า LGBT ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันแล้ว” 

ภารวี อากาศน่วม

การปรากฏตัวของกลุ่มเพศหลากหลายที่อัตลักษณ์ของพวกเขาแทนด้วยตัวอักษรตัวต่าง ๆ นอกเหนือจากที่เรารู้จักกันทั้งในสื่อ อาจเพิ่มมากขึ้นจนจำไม่หมด

แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นเปิดเผยตัวตน ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ ก็เกิดขึ้นแล้วภายในขบวนไพรด์พาเหรดปีนี้

หลายคนสะท้อน และเน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ มนุษย์ล้วนแตกต่าง หลากหลาย… และเมื่อมีความหลากหลายไปมากกว่าสิ่งที่เคยรู้ สิ่งที่ควรแสวงหาร่วมกัน คือ พยายามยอมรับความหลากหลายนั้นให้ได้ แม้กระทั่งคนในชุมชม LGBTQIAN+ เอง

เพื่อให้การเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศ เกิดขึ้นเพื่อทุกอัตลักษณ์ ไม่ใช่เพื่อตัวอักษรใดตัวอักษรหนึ่ง แล้วทิ้งให้บางตัวอักษรตกหล่นหายไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล