รัฐบาลผสมไปได้สวย? “ลดเกณฑ์ทหาร” ทิ้ง “ปฏิรูปกองทัพ”

กลาโหมใต้รัฐบาลพลเรือน กับความหวังเดินหน้าพัฒนากองทัพไทย

หลังมีกระแสข่าว อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศหนุนแนวนโยบาย “ปรับลดเกณฑ์ทหาร” ไปจนถึง “การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” โดยย้ำว่าเห็นด้วยกับนโยบายของ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ที่ต้องการลดขนาดกองทัพ ถ้ากองทัพมีความพร้อม ผบ.เหล่าทัพควรนำไปปฏิบัติทันที

ด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ส่งตรงถึงพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะแกนนำ “เพื่อไทย” ที่เคยหาเสียงเรื่อง “ยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ” แต่อีกด้าน ถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้านี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ เคยทำคลิปสงครามต่างขั้วระหว่าง “ก้าวไกล กับ รทสช.” ประเด็นหนึ่งที่แทบจะเห็นต่างกัน คือ เรื่องการเกณฑ์ทหาร ท่อนหนึ่งระบุถึง “ประเทศที่ไม่มีใครต้องเดือดร้อนจากการเกณฑ์ทหาร…”

แต่เนื้อหาในคลิป คือ การจำลองสถานการณ์กำลังทหารขาดแคลนในช่วงประเทศเกิดภัยสงคราม ซึ่งเป็นคลิปที่ รทสช. ใช้หลายประเด็นเสียดสี พรรคขั้วตรงข้ามช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง

เพราะอะไรท่าทีของ รทสช. จึงเปลี่ยนไป และนโยบายการเกณฑ์ทหารจะเกิดขึ้นจริงในรัฐบาลเศรษฐาหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ออกมาย้ำกับสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า จะไม่ใช้คำว่าปฏิรูปกองทัพ แต่จะใช้คำว่าพัฒนากองทัพร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ความยาว 52 หน้า ที่แห่แชร์กันอยู่ในโซเชียลมีเดียขณะนี้ เพราะมีการระบุว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ, ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารฯ เป็นแบบสร้างสรรค์ รวมถึงการปรับลดกำลังพลนายทหารระดับสูง ฯลฯ ซึ่งคงต้องติดตามกันว่าการแถลงนโยบายฯ ต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายน นี้ จะมีเนื้อหาเหมือนหรือต่างไปจากเอกสารดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

The Active สัมภาษณ์ 2 มุมมองจาก ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ พล.ท. พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ

รทสช. หนุน เพื่อไทย เดินหน้า “ลดเกณฑ์ทหาร” ทิ้งก้าวไกลไว้กลางทาง?

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต อธิบายถึง ทิศทางลมเปลี่ยนของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า เกิดจากนโยบายที่แตกต่างกันระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” มีความต่างกันในรายละเอียดของคำว่า “ปฏิรูปกองทัพ” เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้รีบเร่งในการปรับเปลี่ยน แตกต่างจาก “ก้าวไกล” ที่มาพร้อมกับการทำอะไรหลายอย่างกับ “กระทรวงกลาโหม” เช่น ยกเลิก พ.ร.บ.กลาโหม 2551 เรื่องการให้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายพล, การยุบ กอ.รมน. ฯลฯ กลายเป็นแพ็คเกจขนาดใหญ่ที่กระทบกับฝ่ายความมั่นคง ขณะที่พรรคเพื่อไทย มุ่งเพียงประเด็นเดียว คือ “ยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ” หรือ พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ได้สร้างแรงกดดัน และอยู่ในวิสัยที่ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพ ยอมรับได้

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

“แนวทาง เกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ เป็นแนวทางที่กองทัพทำมาอยู่แล้ว…พูดง่าย ๆ ว่านโยบายเพื่อไทย อยู่ในวิสัยที่ฝ่ายความมั่นคงยอมรับได้ ขณะที่ นโยบายของก้าวไกล มาพร้อมกับหลายแพ็คเกจขนาดใหญ่ที่กระทบฝ่ายความมั่นคง เช่น การยกเลิก พ.ร.บ.กลาโหม 2551 เรื่องการให้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายพล, การยุบ กอ.รมน.”

ส่วนการออกมารับลูกในช่วงเวลานี้ของ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจเกี่ยวถึงการอ้างเครดิตว่าเป็นผลงานรัฐบาล เพราะแนวทางการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ เป็นแนวทางที่กองทัพทำอยู่แล้ว จากเดิมรับเกณฑ์ทหารหลักแสนคน ลดลงเหลือหลักหมื่นต่อปี

  • ตัวเลขที่กองทัพคิดว่าเหมาะสม คือ 60,000 คนต่อปี
  • ฝ่ายการเมืองต้องการ 40,000 คนต่อปี

ตัวเลขที่ฝ่ายการเมืองพลเรือน และฝ่ายกองทัพรับได้ เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุย ตกลงกันต่อไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยากในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การลดจำนวนคนเกณฑ์ทหารต้องตามมาด้วยงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับคนที่ต้องการสมัครเป็นพลทหารสอดคล้องกับฝ่ายความมั่นคงพลเรือน เพราะ สุทิน คลังแสง เคยให้สัมภาษณ์เรื่องแผนการปรับลดกองทัพ ว่า กองทัพก็มีแผนเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะจำนวนนายพล และเชื่อว่าภายในปี 2570 จะได้เห็นกองทัพที่มีโครงสร้างต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่เรื่องการเกณฑ์ทหาร ตอนนี้กองทัพยังต้องการกำลังพล หากปรับเป็นเกณฑ์สมัครใจแต่ยังไม่เพียงพอ ก็ต้องเกณฑ์เพิ่ม ขณะที่กองทัพเองก็ยินดีจะปรับลด แต่ต้องลดแล้วไม่กระทบศักยภาพของกองทัพ​ จะทำได้ยังไง ก็ต้องสร้างแรงจูงใจ 2 เรื่อง คือ 1) ปรับสวัสดิการ 2) ปรับทัศนคติที่สังคมมีเชิงลบกับทหารเกณฑ์ ที่อาจยังติดภาพเดิม ว่าระบบฝึกทารุณโหดร้าย ขณะที่เงินเดือนก็ได้รับไม่ถึงจำนวนที่ต้องได้รับ

สุทิน ไร้ห่วง แต่ไม่ประมาท จากบาดแผล “เพื่อไทย” คุมกองทัพ

“ต้องไม่ลืมว่ากว่าจะมี บิ๊กทิน วันนี้ พรรคเพื่อไทย เคยถูกรัฐประหาร ในฐานะที่เป็นรัฐบาลมาถึง 2 ครั้ง คือ ในปี 2549 กับ 2557 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท้าทายความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่าง กองทัพ กับ พลเรือน”

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง

คอการเมืองบอกว่าดูจากท่าที “สุทิน คลังแสง” ไม่น่าห่วง เพราะน่าจะเป็นกลยุทธ์ของเพื่อไทย ที่ต้องการให้ภาพออกมาเป็น “พลเรือน คุมกองทัพ” แบบที่กองทัพไม่ต้องตกเป็นรอง อาจจะทำให้การทำงานราบรื่น แม้หากดูตามหลักการประชาธิปไตย กองทัพควรปรับท่าที ยอมรับการนำของพลเรือน คือให้ “พลเรือนมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจด้านความมั่นคง” (civilian supremacy) ต้องยอมรับว่า กองทัพกับการเมือง เป็นภาพที่แกะกันไม่ออก ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย เคยถูกรัฐประหาร ในฐานะที่เป็น รัฐบาล มาถึง 2 ครั้ง คือ ปี 2549 ปัจจัยหลักมาจาก รัฐบาลทักษิณ ล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้าย จนทำให้กองทัพไม่สนับสนุน นำมาสู่การรัฐประหาร

และ ปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปล่อยให้กองทัพ มีอิทธิพลเหนือการเมือง เป็นอิสระจนไม่สามารถควบคุมนโยบายที่ตัวเองชี้นำได้ มีระยะห่างกับกองทัพมากเกินไป เพื่อไทย จึงน่าจะถอดรหัส ได้บทเรียนจากการทำงานร่วมกันระหว่าง กองทัพ กับ พลเรือนมากขึ้น

แต่สิ่งน่าสนใจ คือทีมที่ปรึกษาและการเดินสายพบขอคำแนะนำจากอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม รวมถึง ภาพการไปนั่งโต๊ะจีน กับ ผบ.เหล่าทัพ ซึ่ง ผศ.วันวิชิต มองว่า คนที่ปรากฏในภาพเป็นผู้มีตำแหน่งสูง และผบ.เหล่าทัพส่วนใหญ่ ก็มีมุมมองที่ทันสมัยเพราะจบต่างประเทศหลายคน โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 24 ก็เป็นนายทหารที่ผลการเรียนดี มีทัศนะมุมมอง มองผ่านเลนส์ระดับโลก และมีท่าทีที่น่าจะรับลูกการเพิ่มศักยภาพกองทัพจิ๋วแต่แจ๋วได้ไม่ยาก

อีกคนสำคัญคือ พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ถูกทาบทามให้มานั่งเป็น “ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม” ก็มีฉายาว่า “เป็นนายทหารประชาธิปไตย” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 จบหลักสูตรทางทหารจากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นนายทหารที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี การได้มาร่วมงานในกระทรวงกลาโหมก็น่าจะปูทางเดินหน้านโยบายไปได้สวย รับสนองนโยบายได้ไม่ยาก

แต่นอกจากนโยบายปรับลดการเกณฑ์ทหาร ต้องไม่ลืมว่า รมว.กระทรวงกลาโหม คนใหม่ยังมีเผือกร้อนด้านความมั่นคงรออยู่อีกหลายเรื่อง ทั้ง งบฯ กลาโหม, เรือดำน้ำจีน และความมั่นคงชายแดนใต้ ที่สังคมยังคงรอคำตอบจากเจ้ากระทรวงกลาโหมคนใหม่

เศรษฐา ย้ำ ไม่ “ปฏิรูป” เน้น “พัฒนากองทัพร่วมกัน”

“การที่รัฐบาลเพื่อไทย ประกาศจับมือกับพรรค 2 ลุง จนในที่สุด มี สว. ฝั่ง 2 ลุง โหวตยกมือสนับสนุนคุณเศรษฐา จนได้นั่งนายกฯ สะท้อนชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องพึ่งพาทหาร…

จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้อเสนอ “ปฏิรูปกองทัพ” จะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้

พล.ท. พงศกร รอดชมภู

ท่าทีของ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมาย้ำกับสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า จะไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูปกองทัพ” แต่จะใช้คำว่า “พัฒนากองทัพร่วมกัน” ประกอบกับการเดินสายพบ ผบ.เหล่าทัพ กลายเป็นคำถามว่า เพื่อไทย จะปิดประตูปฏิรูปกองทัพ หรือไม่? สอดคล้องกับข้อสังเกตจาก พล.ท. พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลเพื่อไทย ประกาศจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ จนในที่สุด มี สว. ฝั่ง “2 ลุง” โหวตยกมือสนับสนุนนายเศรษฐา จนได้นั่งนายกฯ ก็สะท้อนชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องพึ่งพาทหาร จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ จะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เงื่อนไขหนึ่งที่พรรคก้าวไกล พยายามนำเสนอเป็นธงหลักในนโยบาย ตั้งแต่มี MOU ร่วมกัน คือ เรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นสมัครใจ เรื่องนี้น่าจะพอเห็นลู่ทางเป็นไปได้มากที่สุด ถ้าเพื่อไทยเอาจริง เพราะเพื่อไทยก็เคยประกาศนโยบายนี้

พล.ท. พงศกร ฝากข้อเสนอ “ก้าวไกล ถึง เพื่อไทย”

พล.ท. พงศกร อธิบายว่า เคยมีการเกณฑ์ทหารปีละไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคน ใช้เวลาฝึกจริงจังแค่ 6 เดือน จากนั้นรอปลดประจำการ การเกณฑ์ทหารแบบเดิม พล.ท. พงศกร อธิบายว่า ทำให้ประเทศได้แค่ปริมาณของทหารเกณฑ์ แต่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งเรื่องการฝึกฝน และ สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ไม่สามารถช่วยดึงดูดใจให้ชายไทยอยากเป็นทหาร

แต่สิ่งที่อนาคตใหม่ จนถึงก้าวไกล นำเสนอ พล.ท. พงศกร บอกว่า คือ การให้ลดจำนวนลงปีละ 2 หมื่นคน ให้สมัครเข้ามาโดยสมัครใจ แต่จะผ่านการฝึกฝนอย่างจริงจัง เข้มข้น เพื่อให้ตอบสนองการฝึกในยุคใหม่ ๆ แลกกับค่าตอบแทน เงินเดือน สวัสดิการที่ดีเหมาะสม จะทำให้ใน 5 ปี จะได้ทหารที่มีคุณภาพนับแสนนาย ซึ่งดีกว่าการฝึกจำนวนเยอะ ๆ แต่ใช้เวลาสั้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เสียงบประมาณ

ที่สำคัญคือ เรื่องนี้ มีร่างกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ก้าวไกลเคยเสนอรอไว้ในสภาฯ จึงสามารถผลักดันต่อโดยใช้กลไกสภาฯ ได้เลย เพราะถือว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นสมัครใจ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเองก็เคยนำเสนอต่อประชาชน เช่นเดียวกับทางฝั่งก้าวไกล จึงจำเป็นที่ต้องใช้กลไกสภาฯ ผลักดันเรื่องนี้ ​

โดย ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร หรือ ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็น 1 ใน 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศที่ สส. พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันเข้าสภาฯ โดยมีการยื่นเข้าสู่สภาฯ เมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลานี้อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ หลักการสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร หลายข้อสอดคล้องกับคำว่าปฏิรูปกองทัพ เช่น

  • ในยามปกติ ให้คัดเลือกบุคคล เข้ามาเป็นทหารกองประจำการ จากคนที่สนใจสมัครด้วยตนเองเท่านั้น
    โดยเปิดให้บุคคลทุกเพศ สามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้
  • แต่ในยามที่ประเทศอาจเผชิญสงคราม ก็เปิดช่องให้ ครม. ตราพระราชกฤษฎีกา เรียกและตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการได้
  • ห้ามนำทหารไปทำงานรับใช้ส่วนตัว (พลทหารรับใช้) หรือ กระทำการใดที่ละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ
  • กำหนดให้หลักสูตรฝึกวิชาทหาร ต้องส่งเสริมความรู้ ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
  • สนับสนุนให้ ทบทวนรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์
  • ปรับระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่พลทหารให้มีความยืดหยุ่น โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางอาชีพ

สุดท้ายท่าทีของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะเพื่อไทย จะรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาต่อหรือไม่ และจะประกาศแนวทางอย่างไรบนข้อจำกัดต้องประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างกองทัพที่ต้องถูกยกระดับ และสัญญาประชาชน การตัดสินใจของ สุทิน คลังแสง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นเหมือนการวัดฝีมือว่า จะสามารถเป็นนักประสานที่ดีได้อย่างไร โดยไม่เสียจุดยืนของพรรค และไม่เสียคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน