กัญชา=ยาเสพติด ? ผู้ป่วย-หมอพื้นบ้าน…ยังไงต่อ

”หลังจากนี้คงต้องแอบกิน รักษาชีวิตตัวเองไปก่อน“ 

คงเป็นเสียงสะท้อนที่บ่งบอกถึงความกังวลได้เป็นอย่างดีว่าจากนี้ ทางเลือกที่ บุญสม สุขคติ ชาว อ.บ้านธิ จ.ลำพูน วัย 52 ปี ตัดสินใจใช้กัญชา เพื่อยื้อชีวิตของตัวเองจากโรคมะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย อาจกำลังเดินมาถึงทางตันอีกครั้ง ?

‘กัญชา’ ยื้อชีวิตจากโรคร้าย

7 ปีก่อน บุญสม ติดสินใจยุติการรักษาโรคร้าย ตามแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบันทั้งที่ โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลมหาราช (สวนดอก) จ.เชียงใหม่ เพราะเธอต้องทนทุกข์ทรมานจากเคมีบำบัด

บุญสม สุขคติ

จนมีคนแนะนำให้รู้จักกับ กัญชา ภายใต้แนวทางการรักษาโดยแพทย์แผนไทย ทั้งที่ในเวลานั้นกัญชา คือ ยาเสพติด เธอจึงต้องแอบใช้มาตลอด

เมื่อกัญชาถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เธอสามารถใช้กัญชาเพื่อการรักษาได้อย่างเปิดเผย แต่สำหรับวันนี้ เธอกลับเริ่มไม่แน่ใจ เพราะหากกัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ผู้ป่วยอย่างเธอ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และจะโดนตำรวจจับหรือไม่ ?

บุญสม ปลูกกัญชาไว้หลังบ้าน 2 ต้น ตัดช่อดอกสด ๆ มาต้มกินทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้าและก่อนนอน​

แม้ยังมีข้อถกเถียงว่ากัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ ? แต่อย่างน้อยก้อนเนื้อร้ายที่บริเวณมดลูกของเธอ ก็ไม่ลุกลามอีก หลังจากเลือกรักษาด้วยกัญชา ​ 

“เหมือนเราปลูกยาเสพติดไว้หลังบ้าน แล้วมันยังไม่ชัดเจน พี่ก็กลัวตำรวจจะจับถ้ากลับไปเป็นยาเสพติด ก็อยากให้ทบทวน ถ้าคุณป่วยแล้วใช้กัญชาอยู่แล้วดีขึ้น อยากให้มาเจอกับตัวเอง คนที่ต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ถ้าญาติคุณป่วยแบบดิฉัน เจอแบบดิฉันจะทำอย่างไร” 

บุญสม สุขคติ

ในละแวกบ้านของบุญสม ยังมีชาวบ้านอีกหลายสิบคน ที่ใช้กัญชารักษาตัวเอง ทั้งจากโรคพาร์กินสัน, เบาหวาน, โรคนอนไม่หลับ

รวมไปถึง ประพัฒน์ มณเฑียรทอง ผู้ป่วยโรคต้อกระจก ที่ใช้น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น และดวงตา ทุกวันก่อนนอน จนทำให้อาการต้อกระจกไม่รุนแรง และหมอระบุว่ายังไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัด

ประพัฒน์ มณเฑียรทอง

อาการนอนไม่หลับที่ ประพัฒน์ เผชิญอยู่ก็รักษาด้วยน้ำมันกัญชา เขายอมรับว่า การใช้กัญชาแบบนี้ ไม่ส่งผลให้เกิดอาการทางจิต และไม่เกิดการเสพติด จึงไม่เห็นด้วยหากกัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง จึงอยากให้พิจารณาโทษจาก ”เหล้า – บุหรี่“ ว่า อาจมีโทษรุนแรงกว่ากัญชา 

อย่าให้กัญชาทางการแพทย์ ถอยหลังลงคลอง ?

นฤดีคลินิกแพทย์แผนไทย จ.ลำพูน ถือเป็นเป็นศูนย์กลางการรักษาโดยใช้กัญชาของผู้ป่วยแถบนี้ หลายคนมาเรียนรู้วิธีการใช้ยาสมุนไพร เพื่อกลับรักษาตัวเองที่บ้าน

พท.นฤดี ศรีศฤงคาร

ความความสำเร็จในการรักษาตัวของผู้ป่วยที่ใช้กัญชา ในมุมมองของ พท.นฤดี ศรีศฤงคาร เชื่อว่า เพราะกัญชาทำให้นอนหลับสนิท และกินอาหารได้ ร่างกายจึงสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเต็มที่ จนสุขภาพแข็งแรงขึ้น 

พท.นฤดี อธิบายเพิ่มเติมว่า ตำรับยาแผนไทยที่ใช้กัญชามีถึง 16 ตำรับ แนวทางรักษาของ นฤดีคลินิกแพทย์แผนไทย จึงให้ผู้ป่วยลงทะเบียนมาก่อนว่าป่วยด้วยโรคอะไร โดยให้ความรู้เป็นกลุ่มโรค เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, มะเร็ง อธิบายการใช้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสอนสกัดน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยกลับไปทำเองที่บ้าน สอนให้รู้โดส หรือขนาดของยา ที่เหมาะสมกับการรักษารายบุคคล 

พท.นฤดี มองว่า แพทย์แผนไทยที่มีใบอนุญาต และใบประกอบโรคศิลป์ อาจไม่ได้รับผลกระทบหากกัญชากลับเป็นยาเสพติด แต่ยอมรับว่า การเข้าถึงวัตถุดิบจะยากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มาเรียนรู้วิธีการใช้กัญชา แล้วกลับไปรักษาตัวเองที่บ้าน

“จะกลับไปเป็นยาเสพติดอีก ก็คิดว่าเรามาไกลมากแล้ว จะเป็นการถอยหลังกลับเข้าคลอง ตอนนี้มันแปลก ความเห็นแตกต่างได้ แต่ต้องเอาประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อก่อนบอกหมอพื้นบ้านไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราหมอพื้นบ้าน เรียกร้องงานที่เป็นวิทยาศาสตร์“ 

พท.นฤดี ศรีศฤงคาร

มุมมองของแพทย์ทางเลือก ยังเชื่อว่า ในทางการแพทย์กัญชามีประโยชน์ต่อการรักษาโรค และบรรเทาอาการได้หลากหลาย แก้อาการไอ อ่อนล้า โรคข้อ ใช้บรรเทาหอบหืด เพราะขยายหลอดลม และลดการหดตัวของหลอดลม แก้อาการสั่น เพ้อ ปวดหัวไมเกรน และปวดประจำเดือน 

กัญชา ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน จากการทำเคมีบำบัด ใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหาร กัญชา ช่วยชะลอน้ำหนักลดลงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ หรือ การใช้รักษาโรคต้อหิน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพคุณพืชกัญชา

‘กัญชา’ เป็นยาเสพติด ไม่กระทบการแพทย์ 

ท่ามกลางเสียงสะท้อน และความกังวลหากกัญชาจะต้องกลับไปเป็นยาเสพติด ทำให้กระทรวงสาธารณสุข เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มคัดค้านการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดด้วย

“รัฐบาลจะให้ใช้ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจสุขภาพ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ส่วนจะมีข้อห้ามอะไรบ้าง ก็เป็นไปตามข้อห้ามยาเสพติด แต่จะเปิดโอกาสให้ทำได้ ด้วยการขออนุญาต
เช่น สถานบำบัด”

เป็นคำยืนยันจากปาก สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอกย้ำมุมมองของฝ่ายนโยบาย ต่อประเด็นการเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ส่วนในเรื่องกัญชาทางการแพทย์นั้น ระบุว่า ต้องมีแพทย์ หรือ แพทย์แผนไทยควบคุม โดยจากนี้จะออกกฎกระทรวงตามมาอีก ซึ่งดำเนินการ 1 ใน 3 ที่ต้องทำ คือ   

  1. ประกาศเป็นยาเสพติด

  2. กฎกระทรวงวิธีใช้

  3. การอนุญาต 

”ผมยืนยันว่า เข้าใจธุรกิจ แต่อะไรที่ปล่อยเสียหาย เช่น เด็ก ก็จะปล่อยไม่ได้ เราต้องเข้มงวดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งต้องห้ามสันทนาการ โดยให้ใช้ทางการแพทย์” 

สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จากท่าทีของ สมศักดิ์ สร้างความงุนงงให้กับ ”เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย“ ซึ่งคัดค้านกัญชาเป็นยาเสพติด และต้องการให้ใช้ พ.ร.บ.กัญชาฯ กำกับควบคุมมากกว่า

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ยอมรับว่า งงมากกับการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายฯ กับ รมว.สธ. โดยตั้บข้อสังเกตถึงการปล่อยให้แต่นายทุนมานั่งบัญชาการเอง บอกว่า กัญชาเป็นยาเสพติดถูกต้องแล้ว เพราะยังปลูกได้  

”พวกคุณเท่านั้นแหละที่จะปลูกได้ ชัดแจ้งกันหรือยังครับ ที่ผลักกัญชาสู่ยาเสพติดมีเป้าหมายอะไร ถึงบางอ้อหรือยังครับ เขาขังกัญชาแต่ปล่อยยาบ้า พวกเขามีเป้าหมายอะไร ห่วงเยาวชนตามที่กล่าวอ้างเช่นนั้นหรือ“ 

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

สำหรับการออกมาคัดค้านของกลุ่มที่ อยากใช้กัญชาเป็นยา รมว.สธ. ก็ยืนยันว่า ทำได้ไม่ได้ห้าม แต่ต้องควบคุม ส่วนประเด็นกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ ก็เป็นช่องทางหนึ่ง

”ผมทำกฎหมายไม่ได้ เนื่องจากมีเวลาน้อย เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องทำกฎหมายอื่นให้เสร็จ ภายใน 2 ปี แต่ขณะนี้เลยมาแล้ว ต้องขอสภาฯ ต่ออีก 2 ปี ซึ่งจะครบ พ.ย.นี้” 

“ในนามกระทรวงฯ เราต้องทำไม่ให้เกิดความวุ่นวายเสียหาย ซึ่งผมทำเร็วสุดคือ ประกาศกฎกระทรวง เป็นแนวทางยาเสพติดแบบอ่อน ๆ และเขียนใช้ทางการแพทย์ โดยไม่ได้ตัดสิทธิประชาชนทำกฎหมาย ซึ่งถ้าทำจบ ประกาศกระทรวงก็ตกไป“ 

รมว.สธ. ย้ำทิ้งท้าย