‘ลิเกเร่’ เชื่อมชุมชน สู่ข้อเสนอนโยบายขนส่งสาธารณะ

กลไกเข้าถึงผู้คน เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม

“โลกใบโต โอ่โถง เหมือนโรงละคร ยึกยักยอกย้อน ซับซ้อนและแสนวกวน

เกิดเป็นหญิงเป็นชายตะเกียกตะกายวุ่นวายวกวน

จะมั่งมีดีจน กระเสือกกระสน ดิ้นรนปนเป มาสิเถิดมา มาดูลิเก… ”

เสียงร้องลิเก ดังขึ้นในชุมชนเมืองกลางกรุงเทพมหานคร  คำร้องสอดรับกับจังหวะดนตรี จนให้ผู้คนที่ได้ยินลุกขึ้นโยกใส่จังหวะอย่างสนุกสนาน สิ่งนี้แสดงถึงการเปิดโรงลิเกอย่างเป็นทางการเพื่อนำเข้าสู่การแสดง 

ลำดับต่อไป เราจะพาทุกท่าน เข้าสู่เรื่องราว ‘มนต์รักรถไขว่คว้า’ 

ทันทีที่สิ้นเสียงประกาศจากผู้ดำเนินเรื่อง เสียงปรบมือดังก้องไปทั่วบริเวณที่จัดแสดง…

กว่าหนึ่งเดือนของการเดินทางเร่ลิเกในท้องเรื่อง มนต์รักรถไขว่คว้า เป้าหมายไม่ใช่แค่การเข้าไปสร้างความบันเทิงให้กับประชาชนในชุมชนเมือง  แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อไปรับฟังเสียงสะท้อน ความเจ็บปวดในประเด็น “สวัสดิการระบบขนส่งสาธารณะ” ของคนชุมชนออกมาสื่อสารและส่งต่อเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ” เป็นความร่วมมือ สภาองค์กรผู้บริโภคร่วมกับ เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหภาพคนทำงาน กลุมดินสอสี และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ 

ลิเกเตร็ดเตร่ “มนต์รักรถไขว่คว้า” จากประสบการณ์ร่วมของผู้คนหลายชีวิต สู่บทที่ถูกเขียนขึ้น

แค้นเมืองหลวงที่เหลื่อมล้ำ คนจนเจ็บจำจนตาย

เนื้อหาลิเกที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นถึงภาพของความไม่เป็นธรรมกับคนที่อาศัยอยู่ในเมือง  นี่คือบทของชายหนุ่มที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ชื่อว่า เพชร เปล่งออกมาหลังจากที่ก่อนหน้าเขาได้มีความพยายามเดินทางไปทำงานเพื่อที่จะได้มาซึ่งค่าแรง 500 บาท แต่ต้องเดินทางไกลและใช้เงินเดินทางในจำนวนที่สูงเกือบเท่ากับค่าแรงที่ได้ ท้ายสุดด้วยอุปสรรคในการเดินทาง ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปที่ทำงานได้ทันเวลา จึงทำให้เขาเสียโอกาสที่จะได้เงินก้อนนั้นไป รวมถึงยังต้องจ่ายค่าเดินทางที่แพงอีก  

“ต้นทุนของเราไม่เท่ากันการแข่งขันไม่แฟร์ ท้อแท้กับค่าโดยสาร ไม่มีเจือจานพอจ่าย จะออกจากบ้านแต่ละครั้งต้องนับสตางค์อดออม ถ้าการเดินทางมันดีพร้อม ฉันจะไม่ยอมแพ้ใคร” 

อีกเสียงของ กัญญา ภรรยาของเพชร ที่กำลังเดินทางไปทำตามความฝัน นั่นคือการประกวดร้องเพลง ซึ่งมีเงินรางวัลสูงถึง 5,000 บาท แต่ก็พบปัญหาไม่ได้ต่างไปจากเพชรสักเท่าไร จะต่างไปเพียงแค่คนละเส้นทาง  เขาทั้งสองออกจากบ้านพร้อมกันด้วยต้นทุนการเดินทางที่เท่ากัน ต่างคนต่างก็เดินทางไปด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงจุดหมาย ตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์ รถเมล์ เรือ รวมถึงการตัดสินใจขึ้นรถไฟฟ้าที่เขาทั้ง 2 รู้ดีว่าราคาแพง แต่เพื่อแลกกับการเดินทางที่เร็วจึงต้องยอมจ่าย ท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องผิดหวังเมื่อการเดินทางไม่ได้จบเพียงแค่การนั่งรถไฟฟ้าแล้วถึง แต่ต้องต่อรถอีกเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย 

นี่เป็นเพียงบทตัวอย่างที่ถูกสื่อสารด้วยลิเก ซึ่งประพันธ์ โดย ตั้ว- ประดิษฐ ประสาททอง อดีตนักแสดงลิเกซึ่งในครานี้ ได้เป็นผู้เขียนบทและกำกับลิเก เรื่องมนต์รักรถไขว่คว้า ออกแบบร่วมกันกับกลุ่มดินสอสี และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีเนื้อหาในแนวสะท้อนปัญหาการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพ โดยเฉพาะ เรื่องรถไฟฟ้า เรื่องคู่รักที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตดิ้นรนทำมาหากินอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ เพื่อปากท้องเพื่อความอยู่รอดและเพื่อความฝันของพวกเขา 

ตั้ว  เล่าว่า บทประพันธ์นี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงร่วมด้วย ในขณะที่ตัวเขาเดินทางมาขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อที่จะเดินทางไปทำงาน เขาก็พบกับผู้คนอีกมากมายที่อยู่ตามรายทางที่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงการสัมภาษณ์ประชาชนทั่วไปภาคีที่ทำงานเกี่ยวกับ คนจนเมือง เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ อาจด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน 

“กลุ่มดินสอสีระบุว่า อยากให้เป็นสื่อลิเกมันจะได้เข้าถึงคนในชุมชนต่าง ๆ ได้  แต่มันอาจจะไม่ใช่ ลิเก๋ ลิเก จริง ๆ  แต่จะมีความเป็นหมอลำ ความเป็นคอมเมดี้ปน  มีหลาย ๆ อย่างผสม ๆ อยู่ในงานชิ้นเดียว”

ประเด็นสำคัญที่ ตั้ว เห็นด้วยกับดินสอสี คือการมองว่าลิเกเป็นศิลปะที่ไม่ได้เบ็ดเสร็จอยู่ในตัวของมันเอง แต่มองว่ามันจะต้องพัฒนาและถักทอขึ้นในแต่ละคืนที่แสดง และเป็นผลงานร่วมกันของศิลปินและผู้ชม เพราะระหว่างที่แสดง ศิลปินจะสามารถพูดคุย ตอบโต้กับผู้ชมหน้าเวทีได้ตามสถานการณ์ ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของ ลิเก และถือเป็นจุดสำคัญที่จะสามารถได้มาซึ่งการพูดคุย เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในประเด็น เพราะลิเกสามารถที่จะผันแปร สามารถพลิกเพลง เพิ่มเรื่องบางส่วนบางตอนไปตามสถานการณ์

“เราอยากรู้ว่าความทุกข์ ความสุข ความใฝ่ฝัน ความสิ้นหวังสมหวังของผู้คนที่เราไปเจอในแต่ละชุมชนเขาอยู่ในระดับไหนแล้ว เขาคิดเห็นอย่างไรในชะตากรรมของเขา หรือในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในวันนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่เมืองน่าจะอำนวยให้เขาได้”

อีกส่วนสำคัญที่ไม่แพ้กัน คือ ‘ทีมทำงาน’ พยายามไม่ทำให้ตัวโครงการ หรือตัวทีมทำงานเองเป็นศูนย์กลาง โดยเอาตัวเองขยับมาตามชุมชนย่อย ๆ เพื่อให้คนในชุมชนเหล่านั้นรู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่ง และส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่นี้ 

จุดเชื่อมต่อถึงชุมชน 

ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ กำหนดกลุ่มเป้าหมายอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน โดย กลุ่มแรก กลุ่มนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ชวนเขามาทำโพลตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ที่สำคัญสำคัญของสารสีเขียวที่มองว่ามันเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้

กลุ่มที่ 2  คือกลุ่มคนทำงานออฟฟิศซึ่งก็จะไปจัดคล้าย ๆ ปิกนิกสภากาแฟที่สวนสาธารณะตามรางรถไฟสายสีเขียว ทำเป็นวงเล็ก ๆ 15-20 คนมานั่งปรับทุกข์ เอาอาหารมาแชร์กันน้ำดื่มหรืออาจจะมีดนตรีเล็กๆอันนี้ก็จะคุยเรื่องการเดินทางในคนเมืองมันมีปัญหาอะไรบ้างและรถไฟฟ้ามันควรจะเป็นอย่างไร

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนจนเมืองกลุ่มคนชายขอบซึ่งมันถูกละเลย ซึ่งจริง ๆ เขาก็อาจจะไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า และไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคาแพง เพราะเขาอาจไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะขึ้นรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ลิเกเป็นเครื่องมือสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับชุมชน 

วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี เล่าว่า การนำลิเกเข้าไปสะท้อนและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสวัสดิการรถไฟฟ้า เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพ ยิ่งโดยเฉพาะกรณีของรถไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้  เป้าหมายนอกจากเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามสถานีรถไฟต่าง ๆ ในประเด็นขนส่งสาธารณะ ที่ควรลดความเหลื่อมล้ำทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งกิจกรรมเช่นนี้ความคาดหวังคือการเข้าถึงคนจนเมืองชุมชนชายขอบ ซึ่งจะเตร็ดเตร่ไปตามชุมชนต่างๆ ทุกเสาร์-อาทิตย์ ของเดือนกรกฎาคม 

“ถ้าเราทำให้เกิดกิจกรรมแบบนี้ต่อเนื่องมันก็จะทำให้รู้สึกว่าคนที่อยู่ในเมืองใจกลางเมืองเขาก็ได้มีพื้นที่สาธารณะเป็นของตัวเองคนที่อยู่ในชุมชนก็มีพื้นที่ของตัวเองที่จะเกิดสิ่งตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำก็จะน้อยลงด้วยตัวมันเองอยู่แล้วว่าให้ทุกคนเข้าถึงความสุข เข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้” 

อีกทั้ง วรพจน์ เล่าต่อว่ามีความตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากจะทำอะไรที่ให้ความสุข ให้ความบันเทิงมาถึงหน้าบ้านของคนในชุมชน คนจนเมือง คนชายขอบ เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นกันว่า แม้จะมีกระแสดนตรีในสวนหรือหนังกลางแปลง ที่เป็นกิจกรรมสาธารณะจัดในพื้นที่สาธารณะ แต่มันเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนชนชั้นกลางในเมืองเขาถึงได้ 

“ก็ต้องยอมรับว่ามันก็เป็นความสุขของเขาในอีกรูปแบบนึง แต่พอมองกับคนที่อยู่ชุมชนที่เดินทางไปไหนก็ลำบาก เราก็เลยคิดว่าเราควรที่จะเข้ามาหาเขาถึงชุมชนและพยายาม อยากที่จะสร้างแนวทางที่ว่า เวลาที่เราคิดจะทำเทศกาลดนตรีหรือเทศกาลอะไรก็แล้วแต่ควรจะเข้าถึงทุกระดับที่อาศัยอยู่ในเมือง”

วรพจน์ เล่าเสริมว่า จริง ๆ แล้วคนที่อยู่ชานเมือง หรือที่เราเรียกกันว่าเป็น คนจนเมือง คนชายขอบ ทุกวันคนเล่านี้ ต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองเขา เป็นตัวหล่อเลี้ยงเมือง อย่างที่ ผู้ว่าฯ  ชัชชาติ เรียกว่าเป็นเส้นเลือดฝอย แต่กลับไม่มีกิจกรรมอะไร ที่มาถึงเขาที่จะมาแบ่งให้เขาด้วยที่จะมามอบความบันเทิงความสุขให้เขา และขณะเดียวกัน แคมเปญนี้ก็เอาเสียงของพวกเขาออกไปด้วย 

“มันก็เลยเป็น 2 อย่างผสมกันว่าถ้าอย่างนั้นเราอยากจะพูดเรื่องรถไฟฟ้าเราอยากฟังเสียงของคนจนเมืองชุมชนชายขอบขณะเดียวกันเราก็อยากให้เขามีเทศกาลของตัวเองอยากให้เขามีความสุขในแบบของเขาเองได้เพราะฉะนั้นอะไรที่จะมาถึงเขาได้ เขาเข้าถึงได้ง่ายและเป็นวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้วก็นำมาสู่การแสดงลิเก” 

พูดปัญหาซ้ำ ๆ ด้วยการออกแบบเครื่องมือใหม่  

การพูดถึงปัญหารถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งสาธารณพที่ผ่านมาถูกนำเสนอผ่านพื้นที่สืออย่างหนาตามาก แต่จะมีสักกี่คนที่มองว่า การเคลื่อนไหวรถไฟฟ้าเป็นเรื่องของสาธารณะในมุมของ อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ เครือข่าย Feel Trip และเป็นหนึ่งในทีมเครือข่ายที่ร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้เล่าว่า ที่ผ่านมาเราทุกคนจ่ายค่าเดินทางด้วยราคานี้มาเสมอ บางทีเราอาจจะจ่ายจากความเคยชินจนไม่รู้ต้วว่า  จริง ๆ แล้วเราจ่ายแพงมาก ๆ 

ด้าน สภาองคือกรผู้บริโภค(สอบ.) ก็มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วราคารถไฟฟ้าที่เป็นธรรม จะมีราคาที่เท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของภาคประชาชนก็มาจากกระบบวนการหาข้อมูลมากมาย  แต่ข้อมูลที่มากมายนี้อาจจะทำให้ข้อมูลนี้มันไหลไปหาประชาชนได้ยาก  หรือแม้ประชาชนจำนวนมากเลยอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีข้อมูลชุดนี้อยู่ เพราะฉะนั้นกระบวนการ การสร้างข้อมูล หรือพื้นที่ข้อมูลทุอย่างมันไหลมาหากัน  อินทิรา มองว่า โพลน่าจะเป็นเครื่องมือที่น่าจะทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้

“เราสร้างพื้นที่เล็กๆที่เอาโพลไปเป็นตัวตั้งที่ทำให้คนได้มีส่วนร่วมออกความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างประเด็นต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าได้  ดังนั้นกระบวนการพวกนี้นำมาสู่ การออกแบบตัวคำถาม”  

อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ เครือข่าย Feel Trip

อีกทั้งโพลก็ยังทำงานสอดรับกับลิเก ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเคาะระฆังปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ ให้ดังและซึมเข้าไปในชุมชน ทำให้ประชาชนได้ตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาและออกแบบนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพวกเขา

นโยบายขนส่งสาธารณะ

การทำกิจกรรม ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการทำโพลกับคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปตามสถานีรถไฟฟ้ากว่า 20 สถานี การจัดกิจกรรมปิกนิกคุยกับคนวัยทำงาน ที่ใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทางไปทำงาน  ไปจนถึงการจัดกิจกรรมลิเกในชุมชนที่เป็นคนจนเมือง เครือข่ายที่ร่วมจัดกิจกรรมเล่าให้กับเราฟังว่าระหว่างทางได้เกิดบทสนทนาขึ้นมากมาย ได้ยินเสียงและปัญหาที่ไม่เคยได้ยิน และยังได้ข้อเสนอกลับมาอีกมากมายเช่นกัน 

เรามาจัดในครั้งนี้ที่ทำเรื่องรถไฟฟ้า เราก็หวังว่ามันจะถูกพูดคุยแล้วเรามีโพลบันทึกความคิดเห็นแล้วเอาเสียงจากคนชายขอบ หรือคนจนเมือง เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของความคิดเห็นที่จะเสนอกับผู้ว่าฯ กทม. อีกทีนึงว่าพวกเขาเหล่านี้มีความรู้สึกอย่างไร

วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี

“สิ่งสำคัญคือการทำพื้นที่ปลอดภัยพื้นที่ ที่คนทุกคนสามารถที่จะออกความคิดเห็นตัวเองมาคุยกันได้ จึงมีบทสนทนาเกิดขึ้น เกิดกระบวนการ และขณะเดียวกันเราอาจจะได้ยินเสียงบางเสียงที่มันไม่เคยถูกพูด เราก็เชื่อว่าเสียงนี้จะเกิดข้อเสนอชุดนึงจะไปส่งตรงต่อกลไกบางอย่างเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าประชาชนมีการตั้งคำถามและเราเองก็อยากมีส่วนร่วมในการออกแบบ”

อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ เครือข่าย Feel Trip

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ