“ครูปนัดดา” คนจนรุ่นสุดท้าย

มอบ ‘โอกาส’ ให้ลูกศิษย์หลุดพ้นจาก ‘ความยากจน’

“อยากเป็นคุณครูแนะแนว เราคิดว่าเราอยากจะทำตรงนี้ จึงตั้งใจเรียนให้จบ”

ปนัดดา ดวงภาค ครูแนะแนวโรงเรียนโขงเจียมวิทยาคม ชีวิตในวัยเด็กมาจากครอบครัวยากจน แม้จะใฝ่เรียนและครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ แต่บนเส้นทางการศึกษาที่มีค่าใช้จ่าย จึงแทบมองไม่เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา เวลานั้นเธอคิดมาตลอดว่า หากมีใครสักคนคอยให้คำปรึกษาคงจะดีไม่น้อย   

“ตอนที่เราเด็ก ๆ เราอยากได้คำแนะนำ อยากมีคนแนะแนวทางในเรื่องต่าง ๆ อยากปรึกษา อยากคุย อยากมีคนที่รับฟังเรา ตอนเด็ก ๆ ก็อยากเป็นคุณครูอยู่แล้ว พ่อแม่ก็ยากจน อาชีพเกษตรกร ก็ทำไร่ทำนา เราก็คิดว่าเราต้องเรียนให้มีความรู้ นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตัวเอง มาต่อยอด” 

ครูปนัดดา

วันนี้ครูปนัดดาทำความฝันสำเร็จแล้ว และกำลังเติมเต็มสิ่งที่ขาดในวัยเด็กให้กับเด็ก ๆ ในครอบครัวยากจนในฐานะ “ครูแนะแนว” แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ทุกอย่างไม่ง่าย เพราะหลังจากเรียนจบชั้น ปวส. ครูปนัดดาต้องไปเป็นสาวโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย กว่าความฝันจะเป็นจริง เส้นทางนี้เหนื่อยไม่ใช่เล่น

มันเหนื่อยมาก ล้มตัวลงนอนคืออยากนอนเลย ทำงานก็มีล่วงเวลาไปจนถึงวันเสาร์ และวันอาทิตย์หยุดวันเดียว แล้วต้องซักผ้าทำโน่นทำนี่ เราก็ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน มันก็เลยทำให้หลาย ๆ คนไม่อยากต่อตรงนี้ ไม่อยากอ่านหนังสือ พอเจอหนังสือแล้วไม่ไหว นอนดีกว่า พักดีกว่า ไปคลายเครียด ไปเล่นไปเที่ยว ให้มันผ่อนคลายตัวเองส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้”

แม้เหนื่อย แต่เพราะความมุ่งมั่น มีวินัย แบ่งเวลาเป็น และมีเป้าหมายที่ชัดเจน เส้นทางที่ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่ก็ถึงฝั่งฝันได้ในที่สุด

“อ่านหนังสือเยอะและหนักมาก เพราะว่าเราเรียนด้วยทำงานด้วย ทำงานทุกวัน ต้องแบ่งเวลามาอ่านหนังสือ พยายามมาก ฉันต้องเป็นแน่นอน ต้องเป็นครูให้ได้ สนุกดีมันท้าทายตัวเอง มันเหนื่อยก็จริงแต่ว่าคุ้มมาก ๆ”

ปัจจุบัน ครูปนัดดาสอนวิชาแนะแนวที่โรงเรียนโขงเจียมวิทยาคม ในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งโรงเรียนมีครูแนะแนว 1 คน มีนักเรียนทั้งหมด 850 คน หน้าที่หลักของครูปนัดดาคือการสอนวิชาแนะแนว หน้าที่พิเศษ คือ กิจกรรม ทุนการศึกษา และการแนะแนวเรื่องอื่น ๆ ตามที่เด็ก ๆ เข้ามาปรึกษา ครูปนัดดาเล่าว่าการสอนต้องใช้วิธีการในการเข้าถึงข้อมูลของเด็ก ๆ ผ่านเรื่องเล่า การเขียน กิจกรรม หรือแม้แต่การสังเกต ซึ่งจะทำให้เข้าใจเด็กและเข้าถึงปัญหาของครอบครัว 

ครูปนัดดา

“เวลาที่เข้าไปสอน คุณครูจะสังเกตพฤติกรรม เช่น ครูสังเกตเห็นนักเรียนมีอาการซึม ครั้งแรกทักนักเรียนว่าเป็นอะไรหรือเปล่า ทำไมถึงเงียบไม่เหมือนครั้งก่อนที่ได้พูดคุย พอเงียบคุณครูเข้าไปจับมือ แล้วพูดว่าเป็นอะไรไหมลูก นักเรียนก็ร้องไห้อย่างเดียว และค่อยมานั่งคุยกัน ถึงรู้ว่าคุณยายนักเรียนป่วยติดเตียง เกิดอุบัติเหตุจากการล้ม ส่วนคุณแม่ขายของที่ตลาด นักเรียนคนนี้ลำบาก ต้องไปหารายได้พิเศษ ไม่มีเวลาเลย เพราะจะต้องไปดูแลคุณยาย อาบน้ำหาอาหารให้คุณยาย ต้องรีบกลับ

คุณครูบอกว่าต้องแบ่งเวลานะ คุยกันว่าต้องทำอย่างไร ที่จะได้ทำงานตรงนี้ เพื่อไม่ต้องขอเงินคุณแม่ พอทำงานเสร็จสามารถไปช่วยคุณแม่ขายของที่ตลาดจนดึกและค่อยเดินทางกลับบ้าน ถ้าไม่ได้สัมผัสนักเรียนจริง ๆ และไม่มาเจอจริง ๆ จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย”

ครูปนัดดาบอกว่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ขาดแคลน พ่อแม่มีอาชีพหลักทำประมง เกษตร แต่ก็มีรายได้ไม่มาก บางครั้งสภาพอากาศไม่ดีก็ไม่มีปลาขาย มีพอเพียงแค่กินในครอบครัว แต่เด็ก ๆ ต้องใช้เงินทุกวัน เด็กต้องพยายามดื้นรนเยอะมาก แม้ปัจจุบันจะมีทุนการศึกษาสนับสนุนเด็กยากจน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ การกู้ยืมเงิน กยศ. จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ครูแนะแนวแนะนำสำหรับเด็ก ๆ ที่อยากเรียนต่อ ซึ่งจะคอยให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยดูแลตรวจทานความเรียบร้อยทางเอกสาร

ไม่เพียงแค่นั้น ครูแนะแนวยังลงเยี่ยมบ้าน พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เข้าใจช่องทางในการส่งบุตรหลานเรียนต่อ และยังตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เด็กบางคนที่เมื่อห่างหายจากการศึกษาก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าสู่เส้นทางนี้ได้อีกแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัว ฐานะทางบ้าน หรือการมองไม่เห็นอนาคตและความเป็นไปได้ จินตนาการที่เด็กและผู้ปกครองอาจจะยังคาดไม่ถึงหากปล่อยให้บุตรหลานหลุดออกจากระบบการศึกษา การปรากฏตัวของครูแนะแนวถึงบ้านจึงเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจที่ผู้ปกครองและเด็กสัมผัสได้ เกิดความไว้วางใจและสามารถดึงเด็กกลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาได้อีกครั้ง

“นักเรียนได้รับโอกาสก็ดีใจที่สุด โอกาสการศึกษา จะช่วยพัฒนาคนไปสู่อาชีพ สู่ความฝันที่นักเรียนต้องการ และนักเรียนต้องมีความพยายามด้วย ตั้งใจและพยายามจะสำเร็จ คุณครูก็เลยอยากจะช่วย อยากทำตรงนี้ ถ้านักเรียนคนหนึ่งได้เรียนก็ยังดี”

คนจนรุ่นสุดท้าย

ครูปนัดดายังมองหาโอกาสและประสบการณ์ชีวิตด้วยการหาอาชีพให้กับเด็ก ๆ ที่สนใจทำงานพิเศษ ซึ่งมากกว่ารายได้ที่เด็ก ๆ จะได้รับ คือการได้ทักษะอาชีพ ฝึกความอดทน ความพยายาม โรงเรียนโขงเจียมวิทยาคมจึงมีโครงการพิเศษขึ้นซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีไม่ว่าจะจากเด็ก ๆ และเอกชนในพื้นที่ซึ่งอำเภอโขงเจียมมีแหล่งท่องเที่ยว ที่พักหลายแห่งที่พร้อมจ้างงานเด็ก ๆ ให้ค่าจ้างวันละ 300 บาท  รวมถึงโครงการฝึกงานต่อยอดจากความสนใจของเด็ก ๆ ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่ครูปนัดดาพยายามหยิบยื่นให้เด็ก ๆ ด้วยหวังว่า โอกาสเหล่านี้จะนำพาให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน

ข้อมูลจากสมาคมครูแนะแนวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไทยขาดแคลนครูแนะแนวทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จาก 5 ปัจจัย คือ ความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าครูทุกคนคือครูแนะแนว การไม่ให้ความสำคัญต่อการบรรจุครูแนะแนวที่มีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิโดยตรงแต่กลับให้ความสำคัญในการบรรจุครูในสาขาวิชาอื่น ๆ ไม่มีมาตรการในการกำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อจำนวนนักเรียน สถาบันผลิตครูเลิกผลิตครูแนะแนวหรือผลิตน้อยลงเพราะไม่มีอาชีพหรืองานรองรับ

สุดท้ายการแก้ปัญหาโดยให้เรียนวิชาเอกจิตวิทยาการแนะนำคู่กับวิชาอื่นทำให้ความเข้มข้นของวิชาครูแนะแนวน้อยลง จึงเสนอให้มีหน่วยงานแนะแนวในทุกโรงเรียน กำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียนอย่างน้อย 1:500 คน รวมถึงเร่งพัฒนาคุณภาพครูแนะแนวที่มีอยู่แล้วซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีครูแนะแนวอยู่ประมาณ 200 คน

การศึกษาแก้จน? แต่หลายคนเข้าไม่ถึง

ข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จากการสำรวจ พบว่า มีเด็กยากจนถึงยากจนพิเศษ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 300,000 คน และเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา แต่ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้จนตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเหลืออยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 คน  

TSD Thailand Social Development Education เป็นหนึ่งในภาคีการศึกษา ที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้  โดยเชื่อว่า “การให้การศึกษาเท่ากับการให้ชีวิต” ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างประโยชน์และคุณค่าทางสังคม บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เล่าถึงแนวทางการทำงานว่า โครงการนี้จะให้การศึกษาตามศักยภาพสูงสุดที่เขาเป็นได้ เติมในสิ่งที่ขาด โดยจะทำ 3 เรื่องพร้อมกัน คือการให้ทุนการศึกษาเพื่อช่วยปะทังไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา มีทีมแนะแนวอาชีพและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ  ให้ทุนชีวิต สนับสนุนในการสอบเข้ามหาลัยไม่มีค่าใช้จ่าย โฟกัสแก้จนข้ามรุ่นให้รุ่นนี้อยู่ในระบบและมีโอกาสในการเรียนอยู่ในระบบให้ได้

“โอกาสที่เขาจะหลุดจากระบบการศึกษาสูงมาก  เราก็เลยไปทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น รับน้องฝึกงาน ช่วงปิดเทอม มีรายได้และได้เรียนไปด้วย เขามีทางเลือกอีกว่าถ้าเขาทำงานได้ดีในช่วงนั้น จบแล้วก็มีงานทำเลย  มันก็เลยเป็นกลไกโอกาสที่เขาจะสอบเข้ามหาลัย โอกาสสร้างรายได้ เกิดขึ้นพร้อมกัน”

ข้อมูลปี 2564 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 102 โรงเรียน นักเรียน 40,000 คน ใน 30 จังหวัด กรณีที่โรงเรียนโขงเจียมวิทยาคม  เบื้องต้นมีเด็กได้รับทุนเปลี่ยนชีวิต มัธยมปลาย 15 คน และมีเด็กสมัครสนใจทำงานในโรงแรมโขงเจียม 8-9 คน ขณะที่ ธานินทร์ มองว่า ประเทศไทยมีหลายภาคส่วนทั้ง รัฐ เอกชน ชุมชน และสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องนี้ ขอเด็กมีความตั้งใจ โรงเรียนมีความพร้อม เอกชน ชุมชนให้การสนับสนุน มีอีกหลายคนที่พร้อมไปช่วยเพื่อหยุดวังวนความยากจนข้ามรุ่น

“คนที่เห็นโอกาสน้อยจะเห็นโอกาสมากขึ้น แล้วเปลี่ยนชีวิตเขาได้จริง ๆ นี่เป็นการเปิดโอกาสสร้างรายได้ ฝึกความรู้ ทักษะ เป็นฐานสำคัญ เพิ่มโอกาสให้เขาไม่หลุดจากระบบ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ยิ่งมีเอกชนมาร่วมมากเท่าไหร่ ยิ่งเปิดโอกาสมากเท่านั้น

การศึกษาถ้าเข้าถูกจุด บริบท ก็จะช่วยแก้ปัญหาระยะกลางได้ อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่เราสามารถทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้ จนกว่าเขาสามารถมีศักยภาพที่สูงขึ้น มีรายได้ที่สูงขึ้น ไม่ใช่จบแค่ ม.3 รับค่าแรงขั้นต่ำ มีเงินบางส่วนส่งกลับมาบ้าน มีหลานส่งให้คุณตายายเลี้ยง ถ้าเกิดไม่หยุดวังวนนี้ก็อาจติดกับดักตรงนี้ต่อไปอีก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส