ความต่าง แรงผลัก “แลนด์บริดจ์”

พยายามกันมาหลายยุคสำหรับการพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้” แต่จะผ่านด่านการต่อสู้ คัดค้านของภาคประชาชนคงไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่าง โครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่ – ขนอม สมัยรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ยังไม่สามารถสร้างท่าเทียบเรือได้

มาถึงยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้กำหนดพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ครม. มีมติเห็นชอบให้พื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และมีเอกสารหลายชุดที่ระบุถึงแนวคิด “แลนด์บริดจ์” ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

โดยเฉพาะการระบุให้เป็น “การศึกษาพัฒนาภาคใต้ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์” แน่นอนทางฝั่งภาคประชาชนอาจไม่ได้คิดคล้อยตามกับสิ่งที่รัฐบาลวาดฝันเอาไว้ เพราะสิ่งที่พวกเขากังวลมากกว่า คือ การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจ นักลงทุน จากกฎหมาย SEC, ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนภาคใต้อย่างมหาศาลในหลายมิติ

จนแล้วจนรอด “แลนด์บริดจ์” ก็ยังไม่ได้ถูกตั้งไข่ ตั้งแต่ยุคลุงตู่ แม้ถูกมองว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วก็ยังผลักดันไม่สำเร็จ

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ประชุม ครม. นอกสถานที่ จ.ระนอง (22-23 ม.ค. 67)

มาจนถึงภาพการหอบ ครม. ทั้งคณะลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อประชุม ครม. นอกสถานที่ของ “นายกฯ เศรษฐา” หลายฝ่ายก็มองว่ายิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลนี้ “เอาแน่” กับแลนด์บริดจ์

เพราะก่อนหน้านี้ทำตัวไม่ต่างจาก “เซลล์แมน” ตระเวนจูงใจนักลงทุนให้เหลียวมองโครงการขนาดยักษ์ที่ภาคใต้ แม้ปากจะยังแบ่งรับแบ่งสู้ ย้ำว่ามาระนองเที่ยวนี้มา “รับฟัง” กลุ่มค้านแลนด์บริดจ์ด้วยก็ตาม แต่ไม่รู้ว่าชาวบ้าน และกลุ่มคัดค้าน จะเชื่อหรือไม่ ?

นักวิชาการ วิเคราะห์เหตุ 59 สว. ร่วมซักฟอก “แลนด์บริดจ์”

ดูผิวเผินการรับไม้ต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าสานต่อ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจใต้ “แลนด์บริดจ์” น่าจะไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการทำงานร่วมของ “รวมไทยสร้างชาติ” กับ “เพื่อไทย” แต่ รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ว่า สว. ที่ออกมายื่นอภิปรายเรื่องแลนด์บริดจ์ทั้งหมด 98 คน มีถึง 59 คน ที่เป็น สว. ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ท่าทีที่เปลี่ยนไปอาจมาจากเหตุผลสำคัญ ที่ รศ.ธนพร ใช้คำว่า “รัฐบาลกำลังเหลิง ไม่ฟังใคร!” ตั้งแต่กรณี “ทักษิณ ชินวัตร”, “ดิจิทัลวอลเล็ต”, จนมาถึง “แลนด์บริดจ์”

รศ.ธนพร ประเมินท่าทีของนายกฯ จากการลงพื้นที่ระนองรอบนี้ ก็ถือว่า มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ที่จะผลักดันแลนด์บริดจ์ เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “พรรคภูมิใจไทย” เป็นเจ้าของพื้นที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และเป็นเขยระนอง หาเสียงไว้ชัดเจนจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อม 2 ฝั่งทะเล เปลี่ยนระนองเป็น “เมืองเศรษฐกิจระดับโลก” ยังมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงคมนาคม สานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่ง รศ.ธนพร ใช้คำว่า เป็น “ลูกศิษย์ก้นกุฏิ” ของ มนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหอกคนสำคัญในการขับเคลื่อน “โครงการโฮปเวล” ที่ถูกมองว่าเอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับผู้รับสัปทาน จนถูกขนานนามว่าเป็นโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือ จนรัฐบาลต้อง #เสียค่าโง่ นั่นทำให้ รศ.ธนพร คาดว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ก็อาจมีรูปแบบไม่ต่างกัน

รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

มุมต่าง แนวคิด “แลนด์บริดจ์ชุมพร – ระนอง” ในกระดาษ กับ ความจริง ?

แต่สิ่งที่น่าจับตาคือสิ่งที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยศึกษาประเด็นการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคใต้ เวลานี้กำลังกลับมาตรวจสอบ รัฐบาลเศรษฐา อยู่หรือไม่ ?

มีเอกสารหลายชุดที่ชี้ชัดว่า รูปแบบของการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์นั้นแตกต่างกัน รัฐบาลเศรษฐา มีโครงการย่อยถึง 4 โครงการ เช่น ท่าเทียบเรือ, ท่าหลวง, ทางรถไฟ, อุโมงค์ ขณะที่ เอกสารราชการในยุค พล.อ.ประยุทธ์ พบหลายมติ ทั้งยังระบุให้ พื้นที่ภาคใต้พัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องเชื่อมโยงกับประโยชน์ของชุมชน

ยกตัวอย่าง หนังสือราชการ ลงวันที่ 21 ส.ค.61 ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งถึง เลขาธิการสภาพัฒน์ เรื่องกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ระบุว่า 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ประชากร และวัฒนธรรม เป็นพื้นที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 2 รองจาก กทม.

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในระยะต่อไป จำเป็นต้องพิจารณารูปแบบการพัฒนาที่จะสามารถกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่อื่นในภาคใต้ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ สร้างกลไกที่จะทำให้ชุมชนได้ประโยชน์จากการพัฒนา เป็นต้น

หรือ หนังสือราชการ ลงวันที่19 ต.ค.66 ส่งถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่าง อ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ที่ เสนอให้กระทรวงคมนาคมควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ป่า เพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พื้นที่จังหวัดระนอง ที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง พร้อมชี้แจงไปยังกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบกรอบแนวคิดดังกล่าวด้วย

หากเปิดมติ ครม. ก็จะพบว่ามีหนังสือราชการอีกหลายฉบับที่มีเนื้อหาโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ที่มุ่งเน้นการสร้างนิเวศการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงกับชุมชน และหลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และอ้างอิงผลการศึกษาจากสภาพัฒน์ฯ ซึ่งแตกต่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ในปัจจุบัน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการศึกษาที่ไม่รอบด้าน รวมถึงเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนที่รู้สึกผิดหวังจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นในเวที ค.1 และ ค.2 ของ กมธ.ที่ศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ จนนำมาสู่ข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส

แต่ก็ใช่ว่า การเดินหน้าแลนด์บริดจ์ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อได้ ภาคประชาชนในพื้นที่ ยังกังวลบทเรียนจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่าง EEC ที่แปลงร่างสู่การใช้กฎหมายพิเศษ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน นำมาสู่ความเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” รวมศูนย์กลางอำนาจอย่างเข้มข้น ยากที่ประชาชนคนในพื้นที่จะตรวจสอบ หรือเรียกร้องได้ และหากเดินหน้าแลนด์บริดจ์ได้จริง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กฎหมายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC จะถูกหยิบยกมาใช้ และอาจซ้ำรอย EEC จนทำให้โครงการนี้ ไม่สามารถเดินต่อได้

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

“จุดอ่อนโครงการ” ความจริง ช่วยสกัด “แลนด์บริดจ์”

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ติดตามแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้มาในอย่างต่อเนื่อง มองว่า แลนด์บริดจ์เป็นมหึมาโปรเจค ที่ทุกรัฐบาลพยายามเดินหน้ามาโดยตลอด แต่น่าตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในยุครัฐบาลที่มีอำนาจเต็มอย่าง คสช.ยังต้องยุติหรือทบทวนโครงการ นั่นอาจเป็นเพราะว่าในยุค คสช.มีความร้อนแรงในเรื่องการเมืองหนักมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ กับการไม่เห็นด้วยในมิติทางการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 

ดังนั้นแทนที่จะเปิดศึกหลายด้าน จึงต้องทบทวนโครงการนี้ไปก่อน แต่หากมองภาพรวมจริง ๆ ที่ทำให้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มต้องยุติโครงการแลนด์บริดจ์ ในช่วงของ สตูล – สงขลา ไม่ใช่แค่การประเมิน หรือต้องระมัดระวังในเชิงประเด็นทางการเมือง แต่การออกมาทักท้วงคัดค้านของคนในพื้นที่มีนัยยะสำคัญ ไม่ใช่แค่ความหมายแค่การประท้วง แต่สะท้อนชัดว่า ในกระบวนการขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ของยุคพลเอกประยุทธเองยังมีจุดอ่อน 

ที่เห็นได้ชัดเจนมาก คือเรื่องกระบวนการศึกษาโครงการ ซึ่งตอนนั้นทำแค่เรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตามกฎหมายต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) ด้วย

คือต้องทำมากกว่านั้น ไม่ใช่ศึกษาผลกระทบแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ต้องทำเรื่องสุขภาพด้วย ซึ่งทางโครงการเองก็ยอมรับ และปรับไปตั้งงบประมาณใหม่ และก็ทำ EHIA แต่พออนุมัติงบประมาณมาราว ๆ 165,000,000 บาท ในกระบวนการ ก็มีจุดอ่อนเยอะมาก เช่นการตัดงบประมาณส่วนหนึ่งไปให้กลุ่มสนับสนุนโครงการ และกลุ่มสนับสนุนก็ไปทำกระบวนการนี้ที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดการโจมตีในพื้นที่ รวมทั้งการปิดกั้นการมีส่วนร่วม นำเสนอข้อมูลเพียงเฉพาะด้าน อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ พอประชาชนเอาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ไปให้อธิบดี หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดู เขาก็เห็นตรงว่า โครงการมีจุดอ่อนจริง 

นอกจากนี้ การลุกขึ้นมาของคนในจังหวัด ที่อยากออกแบบการพัฒนาของตัวเอง เป็นกระบวนการของสมัชชาจังหวัด และทำข้อเสนอให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทำเรื่องฐานศักยภาพจังหวัดสตูล 3 มิติ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการประมง การเกษตรให้ดีขึ้น และก็อาจจะมีเรื่องอื่นๆที่เป็นเรื่องงานบริการ สามารถสร้างเศรษฐกิจได้ กลายเป็นผู้ประกอบการเอาด้วย เลยกลายเป็นกระแสที่สร้างจุดเปลี่ยน  

“ก็เหมือนกับการดันกระแสคนเมืองระนองปัจจุบัน ที่อยากได้แลนด์บริดจ์ สตูลเมื่อก่อนก็ไม่ต่าง แต่สุดท้ายก็ลุกขึ้นมายืนยันว่าไม่เอาแลนด์บบริดจ์  และอยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องข้อเสนอในการมีส่วนร่วมออกแบบการพัฒนาให้จริงจัง ซึ่งเขาคิดว่าจะได้ประโยชน์ทั่วถึงกับคนในพื้นที่มากกว่าแลนด์บริดจ์”

สมบูรณ์ คำแหง

ประธาน กป.อพช. ยังชวนย้อนบทเรียนจากสตูล ในยุคหนึ่งก็มีวิวาทะกันที่ค่อนข้างแรงของทั้งฝ่ายที่ต้องการ และไม่ต้องการแลนด์บริดจ์  พีคสุดคือแทบปะทะกัน แต่พอถึงจุดหนึ่งก็มีสติ มีกระบวนการภายในที่ได้มีส่วนร่วม ได้พูดคุยกัน โดยแกนหลักของฝ่ายสนับสนุน และแกนของฝ่ายค้าน มานั่งคุยกันก็เกิดการพูดคุยหาแนวทางต่าง ๆ ที่จะเป็นทางออก และการพัฒนาที่หลากหลายมากขึ้น จนสุดท้ายรัฐบาลต้องยุติโครงการไป

“ถ้ามาดูรัฐบาลเศรษฐา ดูมีความมั่นใจว่า เขามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเขาเองอาจจะแบกความหวังในเรื่องของความซบเซาทางเศรษฐกิจตลอดช่วง 8 – 9 ปี ที่ผ่านมา พอมาแบกความหวังตรงนั้น ผมคิดว่า สิ่งที่เขาต้องทำให้บรรลุให้ได้คือ ต้องสร้างอะไรใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นความหวัง ในมหภาคในภาพใหญ่ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องการแบกความหวังอย่างเดียว เขาอาจจะคิดถึงอีก 3 ปีข้างหน้า ว่าเขาจะผงาดมาเป็นพรรคอันดับ 1 แทน พรรคก้าวไกลให้ได้ อันนี้น่าจะเป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่เลย ดังนั้นเวลาเขาคิด อาจเป็นวิสัยการเป็นเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคนายกฯ ทักษิณ  เวลาเขาคิดอะไรก็คิดแต่เรื่องใหญ่ ๆ”

สมบูรณ์ คำแหง

ปักธง “แลนด์บริดจ์” สั่นคลอนอนาคตรัฐบาล ?

ดังนั้นการลงพื้นที่มาเหยียบ จ. ระนอง ของนายกฯ เศรษฐา และคณะรัฐมนตรี ก็ยิ่งทำให้ภาพการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ชัดขึ้น แม้จะเดินสายรับฟังเสียงประชาชนที่ออกมาคัดค้านด้วย แต่ สมบูรณ์ เชื่อว่า ยังไงรัฐบาลก็ต้องการปักธงโครงการฯ เห็นได้จากการลงไปที่ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ซึ่งเป็นจุดที่สำรวจว่าจะเป็นที่ตั้งของท่าเรือฝั่งระนอง และยังอนุมัติ ให้ศึกษา ออกแบบโครงการนี้อย่างน้อย 3 เรื่อง ไปแล้ว ทั้ง การออกแบบท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่างฝั่งระนอง, การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร และออกแบบเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อม 2 ท่าเรือนี้เข้าด้วยกัน

อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีข้อสรุปรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการแลนบริดจ์ โดยรัฐสภา ที่ตั้งมาไม่กี่เดือน นอกจากนี้ยังชัดเจนจากการเดินสายโรดโชว์ไปหลายประเทศ นายกฯ ก็พูดชัดว่า ไปนำเสนอโครงการนี้ให้ผู้นำประเทศ นักธุรกิจชั้นนำในแต่ละประเทศ จึงแน่นอนว่าจะผลักดันแลนด์บริดจ์กันจริง ๆ เรียกว่าชัดเจนกว่ารัฐบาลทุกยุค ที่พยายามผลักดันกันมา ทั้ง ๆ ที่มีเสียงของประชาชนที่ออกมาคัดค้าน 

“หากนายกฯ และรัฐบาล ยังเดินหน้าแลนด์บริดจ์ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน และหลายภาคส่วนที่ออกมาคัดค้าน รวมทั้งไม่ตั้งกลไกการมีส่วนร่วมที่รอบด้านครอบคลุมกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมือง เพราะมีบทเรียนจากโครงการแลนด์บริดจ์ ใน 2 ยุคที่เกิดขึ้นมาหน้านี้ อย่างยุคแรกการจัดสร้างเส้นทางเซาท์เทิร์นซีบอร์ด กระบี่ – ขนอม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการย่อยของแลนด์บริดจ์ อนุมัติงบฯ ไปราว ๆ 3,500 ล้านบาท เวนคืนพื้นที่ประชาชน ทำให้ชาวบ้านเสียประโยชน์ เสียโอกาสในชีวิตจำนวนมาก แต่ก็สร้างได้แค่ถนน ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐบาลถัดมาประชาชนก็ออกมาคัดค้านหนัก สุดท้ายโครงการต้องถูกพับไป จึงถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลว”

สมบูรณ์ คำแหง

ยุคที่ 2 คือ การเดินหน้า โครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนปากบารา จ.สตูล เชื่อมตรงสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา โครงการนี้ใช้เวลาผลักดันศึกษาร่วม 10 ปี ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ หมดงบประมาณศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสุขภาพ กว่า 1,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายไปต่อไม่ได้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ไม่เห็นด้วย และออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องสั่งยกเลิกโครงการนี้ไป ในที่สุด และหลังจากนั้นในการเลือกตั้ง แทบไม่มีพรรคไหนกล้าประกาศว่าจะเดินหน้าโครงการฯ นี้เพื่อหาเสียงอีก 

เช่นเดียวกันกับครั้งนี้ที่ฝั่งระนอง น่าตั้งข้อสังเกตคือไม่ใช่แค่ประชาชนที่ออกมาคัดค้าน แต่มีนักวิชาการมหาวิทยาลัยชื่อดัง รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่จัดเวทีคัดค้านจริงจัง รอบนี้เห็นชัดแล้วหลายฝ่ายเขาคัดค้าน มองว่าได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคมและฐานทรัพยากร

หากรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย ไม่ฟังเสียงคัดค้านประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ และเดินตามเกมของพรรคภูมิใจไทย ที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.ระนอง และภาคใต้ตอนนี้ ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีจุดจบไม่ต่างจากพรรค ที่เคยมีฐานเสียงใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้มายาวนาน 

ถึงตรงนี้ ประธาน กป.อพช. ก็ยังเชื่อมั่นว่า ในช่วงเวลาที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวแบบนี้ การเดินหน้าโครงการพัฒนาใด ๆ โดยไม่ยืนอยู่บนหลักการมีส่วนร่วม และการพัฒนาบนความยั่งยืน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยน์ร่วมกัน ก็คงยากที่จะไปต่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

นภัทร น้อยบุญมา