เมื่อเราทุกคนคือ “ครอบครัวออจุน” บทเรียนจากเรียลลิตี้เกาหลีใต้ สังคมไทยเรียนรู้อะไร

“เวลาที่พ่อโกรธ พ่อน่ากลัวมากฮะ”

“ผมอยากให้พ่อเรียกผมดี ๆ เรียกผมด้วยเสียงที่อ่อนโยนบ้าง

“ผมคิดว่า แม่ไม่ชอบผม..” 

“แม่ไม่เคยฟังผมเลย..ผมแค่อยากเล่นกับแม่”

นี่คือคำบอกเล่าของ “น้องออจุน” หนุ่มน้อยวัย 4 ขวบ จากรายการเรียลลิตี้ My Golden Kids ประเทศเกาหลีไต้ ที่นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ลูกชายคนโตมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเมื่อพ่อแม่เริ่มมีน้องคนเล็กเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน

เมื่อ “ออจุน” ผู้เป็นพี่ เริ่มเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ขว้างปาสิ่งของ พ่อแม่จึงส่งเรื่องเข้ามาให้รายการตามติดไปถ่ายทำชีวิตของครอบครัว แต่เรื่องราวที่นำเสนอกลับสร้างความสะเทือนใจต่อผู้ชม เสียงในโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงวิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่คู่นี้

ภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=Vvx2NGqRF8w&t=1s

The Active ชวนคุยกับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และ บี-ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการบริหาร Mutual ว่าภายใต้ความน่าเอ็นดูและความน่าสงสารของน้องออจุน นอกจะเรียกน้ำตาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ชมอย่างเรา ๆ แท้จริงแล้ว เราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้กันแน่ ?

ร่องรอยบนโลกดิจิทัล เมื่อหลักฐานวัยเด็กอาจหวนกลับมาทำร้าย

ทั้ง นพ.สุริยเดว และทิพย์พิมล ให้ความเห็นว่าการที่สื่อบันทึกเรื่องราวสุดสะเทือนใจในครอบครัวแล้วเผยแพร่สู่สาธารณะ จนมีการแชร์และแสดงความคิดเห็นมากมายเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำถึงบาดแผลของครอบครัว โดยเฉพาะกับตัวเด็กที่เมื่อเติบโตขึ้นสิ่งเหล่านี้อาจย้อนกลับมาทำร้ายครอบครัวในอนาคต

“สำหรับเด็กวัยนี้ แม้พ่อแม่จะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างกับเขา แต่ไม่มีใครมองพ่อแม่เป็นตัวร้าย แม้สิ่งที่น้องออจุนพูดออกมาคือความรู้สึกที่แท้จริง แต่จริงแค่ในช่วงเวลานี้เท่านั้น และในวันที่เขาเติบโต หากย้อนมาดูคลิปนี้อีก เขาคงไม่สบายใจแน่ ๆ ที่คนทั้งโลกมองว่าพ่อแม่เขาคือตัวร้ายจากคำพูดของเขาในวันนั้น” 

ทิพย์พิมล กล่าว

“อย่าลืมว่าวันนี้พ่อแม่เขาก็เจ็บปวดมากนะ และเมื่อเวลาผ่านไป คลิปนี้จะกลายเป็นหลักฐานในโลกดิจิทัลที่เผยแพร่ไปทั่วโลก เมื่อเขาโตขึ้น ภาพนี้อาจเป็นภาพจำที่ไม่ดีว่าทำไมตอนนั้นเขาถึงพูดให้พ่อแม่เจ็บปวดได้ขนาดนี้ หรือทำให้พ่อแม่กลายเป็นจำเลยสังคม ไม่ต่างจากบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาทำร้ายครอบครัวเขาอีกครั้ง

…แต่ละครอบครัวมีต้นทุนไม่เท่ากัน คนเป็นพ่อแม่แต่ละคนก็เติบโตมาไม่เหมือนกัน ไม่มีใครอยากบาดเจ็บ ไม่มีที่ยืน และตกเป็นจำเลยของสังคม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเด็กหรือพ่อแม่”

นพ.สุริยเดว กล่าวเสริม

จริยธรรมสื่อ – ผิดทุกด้านในทางหลักการ

แม้ว่าคลิปนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่สังคม พ่อแม่หลายบ้านย้อนกลับมาดูตัวเอง หรือทำให้หลายคนหวนนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก แต่แท้จริงแล้ว นพ.สุริยเดว ให้ความเห็นว่าการบันทึกและเผยแพร่สิ่งนี้ผิดในทางหลักการทั้งหมด ทั้งละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและหลักการทางจิตวิทยา

“วันนี้ พ่อแม่อาจคิดแทนเด็กว่าสิ่งนี้มันน่ารักจึงยอมให้มีการถ่ายทำ ในขณะที่ตัวเด็กก็ยอมทำไปโดยไม่รู้ประสา แต่แท้จริงแล้วกำลังละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างมาก และยังผิดหลักจิตวิทยาเนื่องจากการนำเสนอประเด็นเปราะบางอ่อนไหวในครอบครัวโดยไม่ปิดบังชื่อและใบหน้าถือว่าเป็นการไม่เคารพคนไข้ แม้ว่าจะเป็นรายการเรียลลิตี้หรือคอนเทนต์ที่ตั้งใจสร้างขึ้นก็ตาม ไม่ว่าแบบไหนก็ผิดหลักการทั้งหมด”

พ่อแม่อย่าอินดรามา – ลูกบอกไม่รัก ใช่ว่าจะไม่รักตลอดไป

“ผมคิดว่า แม่ไม่ชอบผม..”

“ผมอยากให้พ่อเรียกผมดี ๆ เรียกผมด้วยเสียงที่อ่อนโยนบ้าง”

หลายคำพูดจากน้องออจุนที่พูดออกมาผ่านทางรายการ ล้วนสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมอย่างหนักว่าเหตุใดกันเด็กวัยเพียง 4 ขวบ จึงได้รู้สึกเจ็บปวดมากมายเพียงนี้จนนำไปสู่การที่สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงการกระทำของพ่อแม่

นพ.สุริยเดว และ ทิพย์พิมล ชวนให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กวัย 3-4 ขวบ ว่าเบื้องหลังคำพูดเหล่านี้อาจมาจากอารมณ์ความรู้สึกของเขา ณ ขณะนั้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาจะรู้สึกแบบนั้นมาตลอด เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีการจำฝังใจเหมือนในวัยผู้ใหญ่

“เด็กในวัยนี้มีความจำแบบระยะสั้น (short-term memory) ส่วนมากเมื่อโตขึ้นก็ลืม ฉะนั้น เวลาเขาพูดหรือแสดงออกอะไรย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ ไม่ใช่ความรู้สึกหรือภาพจำที่สะสมมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วหรือเดือนที่แล้ว

“ถ้าวันนี้เขาบอกว่าไม่รักแม่ แปลว่าวันนี้แม่อาจทำให้เขาเสียใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาแม่ทำไม่ดีกับเขา (ยกเว้นเกิดซ้ำจนเป็นภาพจำ) แค่วันนี้ไม่พอใจจนอารมณ์พาไปจึงพูดคำนี้ออกมาแต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะรู้สึกแบบนั้นตลอด เด็กบางคนตอนเช้าบอกว่าไม่รักแม่ แต่ตอนเย็นวิ่งเข้ามากอด นั่นเพราะลืมหมดแล้ว ฉะนั้นคนเป็นพ่อแม่อย่าไปอินเวลาเด็กพูดแบบนี้ เป็นเรื่องปกติของช่วงวัยแต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลิกรักพ่อแม่”

นพ.สุริยเดว เล่า

ในขณะที่ ทิพย์พิมล ผู้ที่อยู่ในฐานะคุณแม่และสนใจศึกษาการเลี้ยงดูเด็กกล่าวว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่มี self-control หรือการควบคุมตัวเอง เขามีตัวเองเป็นศูนย์กลางและจะดื้อมากเพราะอยากมีตัวตนกับคนที่เขารัก รวมถึงเริ่มมี Phenomenalistic Causality หรือความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นสาเหตุกันและกัน แต่ด้วยพัฒนาการเขายังไม่รู้ถูกผิด ทุกอย่างปนรวมกันไปหมด 

“ฉะนั้นสิ่งที่น้องออจุนพูดมันทำให้คนดูอย่างเราชวนตีความไปว่าพ่อแม่ต้องทำไม่ดีกับน้องมาตลอดแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้บริบทที่แท้จริง มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เราจึงไม่ควรเอาอารมณ์ไปจับมากนัก”

“ทำไมลูกเราไม่เห็นเหมือนลูกบ้านนั้นเลย ?” “เสียสละให้น้องหน่อยไม่ได้เหรอ ?”

สุดยอดคำพูดแทงใจที่เด็กไทยทุกบ้านต้องเจอ

หลังพ่อแม่เริ่มมีน้องเล็ก ออจุนก็เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ทั้งดื้อซน ขว้างปาข้าวของ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับแทบทุกบ้าน การปูพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ถูกต้องระหว่างพี่น้องจึงเป็นกฎเหล็กที่พ่อแม่ต้องพึงระวัง โดยเฉพาะเรื่องการเปรียบเทียบ

“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว แต่เด็กแต่ละคนคือผ้าที่มีสีสันของตัวเอง บางคนเป็นสีเหลือง บางคนเป็นสีแดง บางคนใจเย็น บางคนใจร้อน อย่าเอาเด็กแต่ละคนไปเปรียบเทียบกันโดยเฉพาะกับพี่น้อง แต่ให้เปรียบเทียบกับตัวเขาเองในอดีต

…จากเดิมที่ทำไม่ได้ วันนี้เขาทำได้ มันจะทำให้เขาภาคภูมิใจ ไม่รู้สึกถูกแย่งความรักไปจากพี่น้องจนนำไปสู่ความอิจฉาริษยา”

นพ.สุริยเดว กล่าว

อีกสิ่งหนี่งที่สังคมไทยพร่ำสอนกันมาอย่างยาวนาน ทั้งคนพี่ต้องเสียสละให้น้อง หรือคนเป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่ แท้จริงแล้วผิดหลักการทั้งหมด เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง การสอนเรื่องการเสียสละอาจเข้าใจยากเกินไปในตอนนี้แต่ควรสอนให้รู้จักเคารพสิทธิ์ของคนอื่นก่อน

ในช่วง 3-4 ขวบ เด็กจะมี sense of property หรือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่รุนแรงมาก ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่เริ่มมีลูกคนถัดไปพอดี ทุกอย่างที่เขาเคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือเวลาจากพ่อแม่กลับกลายเป็นของน้องไปเสียหมด

“เด็กบางคนกลับมาติดขวดนมทั้ง ๆ ที่เลิกไปได้นานแล้วเพียงเพราะเลียนแบบน้องที่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่มากกว่า หรือบางคนเริ่มก้าวร้าว ขว้างปาข้าวของ เพื่อเรียกร้องความสนใจ เด็กจะยอมโดนตี โดนดุด่าเพียงเพื่อให้ได้เวลาจากพ่อแม่คืนมาแม้ต้องเจ็บตัวก็ยอม หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ยิ่งดุด่า ยิ่งทำให้เขารู้สึกสับสน นำไปสู่การอิจฉาริษยาหรือเกลียดชังน้องในที่สุด”

สำหรับเด็กในวัยนี้ การอธิบายเรื่องความเสียสละอาจยากเกินไป วิธีการหยุดพฤติกรรมเช่นนี้คือขอให้พ่อแม่วางเฉยโดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเอง ไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น และไม่ทำลายข้าวของ แล้วจะทำให้พฤติกรรมนี้ค่อย ๆ หายไป

และหากพี่น้องทะเลาะกันเอง นพ.สุริเดว แนะนำว่า อย่าจัดการด้วยวิธีสอนเดิม ๆ โดยการตัดสินว่าใครผิด-ถูก เพราะทำให้เด็กเข้าใจว่าคือการเข้าข้างอีกฝ่าย แต่ให้รับฟังทีละฝ่ายและพูดคุยอย่างใจเย็นเพื่อให้เด็กรู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเอง

“ถ้าแม่ตีทั้งคู่ หรือตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แบบนี้ทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะนำไปสู่ความริษยา ขอให้ตั้งหลักให้ดี คุยทีละคน ให้เด็กพรั่งพรูอารมณ์ออกมาโดยทำหน้าที่แค่รับฟัง จากนั้นจบด้วยคำถามเดียวว่า ‘แม่ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์นี้เอง ลูกบอกทีว่าจะแก้อย่างไร ?’ เพราะการไม่ตัดสินและไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้”

ท้ายที่สุด พึงระลึกเสมอว่าเด็กไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันและมีชีวิตเป็นของเขาเอง การสร้างพื้นที่ในบ้านให้เป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจและร่วมทุกข์สุขกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะในอนาคต ชีวิตของเขาต้องเจอสถานการณ์ยาก ๆ อีกมาก การมั่นใจว่าอย่างน้อยยังมีบ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยจะสร้างความมั่นคงทางใจให้เขาไปได้ตลอดชีวิต

เพราะเป็นพ่อแม่จึงเจ็บปวด เมื่อเราทุกคนเคยเป็น “ครอบครัวออจุน”

เพราะไม่มีใครเป็นพ่อแม่ตั้งแต่เกิด การเป็นพ่อแม่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเป็นลูก ครอบครัวของน้องออจุนจึงเหมือนกับอีกหลาย ๆ ครอบครัวในปัจจุบันที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบเพียบพร้อม ผิดถูกบ้างเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน หากเข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของแต่ละคน พร้อมให้อภัย และก้าวไปข้างหน้า ทุกคนก็ต่างมีครอบครัวที่ดีได้ในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับบ้านไหนเลย

“แม่ของน้องออจุนอาจมีพื้นฐานมาจากการขาดความรัก เมื่อไม่เคยเห็นหน้าตาของความรักก็ไม่รู้จะแสดงออกมาอย่างไร คนเป็นพ่อแม่จึงจำเป็นต้องได้รับความรัก จนรักตัวเองให้ได้เสียก่อนจึงจะส่งต่อความรักไปให้คนอื่นได้”

ความไม่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับแม่น้องออจุนนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่บางครั้งก็ผิดพลาด งี่เง่า ไร้เหตุผล แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับความเว้าแหว่งและบกพร่องของแต่ละคนในบ้านต่างหาก เปรียบเหมือนภาพตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ชิ้นไหนเว้าแหว่งไป ชิ้นข้าง ๆ ก็พร้อมจะเติมเต็มเสมอ

“สำหรับคนเป็นแม่ ทุกคนย่อมคาดหวังให้ตัวเองต้องเป็นแม่ที่ดี แต่ในความเป็นจริงชีวิตคนย่อมมีเงื่อนไขหลายอย่าง อย่าโบยตีตัวเองหรือเอาความเป็นแม่ของเราไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะจิ๊กซอว์ภาพสุดท้ายของแต่ละบ้านไม่มีทางเป็นภาพเดียวกัน แต่ต่างสวยงามกันคนละแบบ แค่ลองหมั่นสำรวจตัวเอง ใช้ลูกเป็นกระจกสะท้อนแล้วปรับไปให้ดีขึ้นไปพร้อมกับเขาทุกวัน เพียงเท่านี้ก็ดีมากแล้ว เพราะคำว่าแม่ที่ดีที่สุดมันไม่มีหรอก”

ทิพย์พิมล กล่าวทิ้งท้าย