เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน แบบคนเมืองขอนแก่น

2 นโยบาย จัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ที่คนขอนแก่นอยากเห็น
สู่การเป็นเมืองหลวงภาคอีสาน ที่เจริญทั้งเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น

การเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่ช้า เป็นเวลาที่หลายคนรอคอยจะได้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเองอีกครั้ง แต่นอกเหนือจากรับฟังนโยบายของนักการเมืองที่คอยมาหาเสียง ไทยพีบีเอส และ The Active ได้เปิดเวทีในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้นักการเมืองได้มองเห็นได้ยินเสียงว่าแท้จริงแล้วประชาชนอยากได้อะไร

บทความชิ้นนี้จึงจะพาไปทำความเข้าใจถึงข้อเสนอของชาวขอนแก่นจากในเวทีสาธารณะ จากบริบทความเป็นจริงของพื้นที่ พวกเขาเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินกันอย่างไร และมองการพัฒนาไปในทิศทางไหน ชวนอ่านพร้อมกัน…

‘แก่งละว้า’ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ แล้วแต่ผู้ใดสิลงไปหาเอา

นโยบายแรกที่อยากจะชวนอ่าน คือเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อีสานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง แต่มีพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งใหญ่แห่งหนึ่งเป็นเหมือนโอเอซิสของจังหวัดขอนแก่น นั่นคือ แก่งละว้า พื้นที่กว่า 17,000 ไร่ เป็นทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนใน อ.บ้านไผ่ และ อ.บ้านแฮด มาตั้งแต่อดีต จนมีคำกล่าวที่พูดกันต่อ ๆ มาว่า “เงินร้อยล้านอยู่ในแก่งละว้า แล้วแต่ผู้ใดสิลงไปหาเอา” เพื่อบอกลูกหลานให้รู้จักทำกิน และสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแก่งละว้า บางคนก็บอกว่า แก่งละว้าเปรียบเสมือนแหล่งน้ำมหัศจรรย์ที่ทรัพยากรไม่มีวันหมดไป

แต่ด้วยศักยภาพของพื้นที่แก่งละว้า จึงมีความพยายามต่อยอดโดยนโยบายภาครัฐ เพื่อกำหนดให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Hub ซึ่งเวลานี้เอกชนเริ่มกว้านซื้อที่ดินแล้วบางส่วน แต่ดูเหมือนการพัฒนา กำลังมาพร้อมความกังวลของชาวบ้าน ต่อการถูกแย่งชิงทรัพยากร ที่จะกระทบต่อวิถีดั้งเดิม และต้นทุนเชิงพื้นที่ของพวกเขา

จรูญพิศ มูลสาร หรือพี่โอ๋ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า บอกว่า ชาวบ้านไม่ปฏิเสธความเจริญ แต่พวกเขาก็อยากเห็นการพัฒนาที่สอดรับกับความต้องการ พร้อมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจจากต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ พี่โอ๋กับชาวบ้านจึงช่วยกันทำวิจัยไทบ้าน สำรวจคุณค่าจากในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันว่า ต้นทุนของพื้นที่มีความสำคัญ มีของดีอะไรบ้าง

พวกเขาค้นพบศักยภาพในชุมชนของตนเอง เริ่มจากการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wet land) ที่สำคัญของประเทศ ประกอบไปด้วยแหล่งน้ำทั้ง แม่น้ำ ลำห้วย หนอง คลอง บึง เป็นที่ตั้งของชุมชนซึ่งมีอัตลักษณ์ เช่น บ้านโคกสำราญ เป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารเคมี บ้านดอนปอแดง มีนาข้าวในพื้นที่ชุ่มน้ำ มีโรงสูบน้ำประปาไว้สำหรับใช้ในพื้นที่รอบแก่ง บ้านเป้า บ้านธาตุ พื้นที่เลี้ยงหอยเชอรี่ บ้านป่าแดงเป็นพื้นที่เลี้ยงควาย มีควายทาม กว่า 2,000 ตัว ในอดีตชาวบ้าน เลี้ยงควายเพื่อใช้แรงงานตามวิถีเกษตร ใช้ควายเป็นสินสอดแต่งงาน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การเลี้ยงควาย จึงเน้นจำหน่ายเป็นหลัก ทั้ง เนื้อควาย ขี้ควาย ชุมชนบ้านละว้า ยังเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอ ครบวงจรขนาดใหญ่ มีทั้ง ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ถักทอด้วยฝีมือชาวบ้าน ส่งขายทั่วประเทศ บางส่วนที่เป็นพื้นที่น้ำกร่อย ชาวบ้าน ก็ขุดบ่อเลี้ยงปลา ส่งขายเดือนละกว่า 3 ตัน สร้างรายได้หลายแสนบาทต่อเดือน และเมืองเพียซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเกิดเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน

“จากการศึกษาค้นพบว่าแก่งละว้าเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าเยอะมาก และเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก อย่างการเลี้ยงควาย สมัยก่อนคนอาจจะมองว่า ถ้าเรียนหนังสือไม่เก่งให้ไปเลี้ยงควาย แต่พอเราศึกษาจริง ๆ พบว่าคนเลี้ยงควายมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก บางคนมีควายร้อยกว่าตัว ส่งลูกเรียนปริญญาเอก ปริญญาโท รับราชการได้สบายโดยที่ไม่เดือดร้อนทั้งหมดนี้คือความภาคภูมิใจของชาวบ้าน เป็นความหวงแหนที่พวกเขาอยากจะรักษาพื้นที่ดั้งเดิมเอาไว้ พร้อม ๆ กับการประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นได้รับรู้ถึงทรัพยากรที่เรามี วิถีชีวิตที่ชาวบ้านเป็นอยู่”

ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า เล่าต่อว่า เธอพยายามเรียงร้อยผู้คนที่อยู่ในแก่งละว้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงควาย กลุ่มประมง กลุ่มเลี้ยงปลาแปลงใหญ่ กลุ่มผัก และต้นปีที่ผ่านมาเราเพิ่งจะจัดงานเปิดประตูสู่แก่งละว้า เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกเห็นว่าแก่งละว้ามีคุณค่า เป็นพื้นที่เศรษฐกิจท้องถิ่นและเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และพยายามนำผลผลิต นำเรื่องราวของเราไปสู่การรับรู้ภายนอก หากศาลากลางจังหวัดมีงานอะไรเราก็จะนำของดีไปนำเสนอ และกำลังเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสำนักงานเกษตร จังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อนำผลผลิตและเรื่องราวของเราไปสู่สาธารณะ เพราะการที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสาน โดยการสนับสนุนให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่แก่งละว้า ชูอนาคต Bio Hub แห่งใหม่ ทำให้มีการกว้านซื้อที่ดินในบริเวณนี้ถึง 4,000 ไร่ อาจจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศดั้งเดิม

“เราพยายามสื่อสารว่าแก่งละว้า เป็นมากกว่าแค่ภาชนะเก็บน้ำเหมือนอย่างที่ภาครัฐเข้าใจ การพัฒนากระแสหลักไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าและความเชื่อมโยงกับชุมชน มองแก่งละว้าเป็นเหมือนภาชนะใส่น้ำที่จะนำไปตอบสนองการเติบโตของเมือง อุตสาหกรรม เราเลยมองว่ามันไม่ใช่ อยากให้ภาครัฐมองเห็นตรงนี้ ซึ่งตอนนี้ออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยววิถียั่งยืน เชิญชวนนักท่องเที่ยว มาทำความรู้จักความเป็นแก่งละว้าให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดภาพฝันการร่วมปกป้อง รักษาทรัพยากร ก่อนที่การพัฒนา จะเปลี่ยนทุกอย่างไปจากเดิม”

โพรเจกส์ใหม่ล่าสุดของชาวบ้านแก่งละว้า คือออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยววิถียั่งยืน เชิญชวนนักท่องเที่ยว มาทำความรู้จักความเป็นแก่งละว้าให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดภาพฝันการร่วมปกป้อง รักษาทรัพยากร ก่อนที่การพัฒนา จะเปลี่ยนทุกอย่างไปจากเดิม

ยกระดับตลาดเขียว เชื่อมต่อห่วงโซ่อาหารเพื่อความยั่งยืน

นโยบายที่สอง ที่ชาวขอนแก่นเสนอ คือ การพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และการบริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่จะอยู่ดี กินดี ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตรด้วย ปัจจุบันแม้ว่าขอนแก่นจะมีพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่เกษตรอินทรีย์ก็มีสัดส่วนเพียงแค่ 5% จากเกษตรเคมีเท่านั้น และเติบโตด้วยการสนับสนุนแบบกันเองเป็นหลัก

จงกล พารา หรือ พี่กอล์ฟ ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดเขียว ขอนแก่น เล่าว่า ตลาดเขียวก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 จากการทำงานวิจัยร่วมกันของหลายฝ่าย เช่น สมาคมผู้บริโภค ชาวบ้าน เยาวชน โดยไปเก็บตัวอย่างผลผลิตทางการเกษตรในตลาด ทั้งพืช ผัก ผลไม้ มาทดสอบการปนเปื้อน ปรากฏว่ามีสารปนเปื้อนในระดับที่สูงมาก ทั้งผลผลิตที่จำหน่ายทั้งในตลาดและในห้างสรรพสินค้า ชาวบ้านจึงมีการปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรดี เพราะขอนแก่นก็เป็นเมืองใหญ่ และเทรนด์ของโลกก็เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นด้วย

ในด้านสุขภาพยังพบว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่ออย่าง NCD มากขึ้นทุกปี ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม จึงหารือกัน ผ่านการเปิดเวทีพูดคุยกว่า 10 เวที จนได้คำตอบว่าควรจะต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรม และสร้างตลาดทางเลือกให้กับผู้บริโภค

“ในช่วงแรกเน้นเรื่องข้าวอินทรีย์ก่อน แต่ก็พบว่าการเน้นพืชเชิงเดี่ยวไม่ใช่ทางออก แต่ยังต้องมีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการทำเกษตรผสมผสาน ต้องมีผัก พืช ปศุสัตว์ เมื่อชาวบ้านสามารถปรับเปลี่ยนวิถีทำกินจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ได้แล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วจะไปขายที่ไหน ก็เลยมีการเปิดตลาดเขียว หรือตลาดที่ขายสินค้าการเกษตรอินทรีย์ปลอดภัยขึ้นมา”

แผงค้าตลาดเขียวเป็นตลาดนัดเปิดเฉพาะวันศุกร์ ในพื้นที่เทศบาลอนุเคราะห์ให้ใช้ได้ ผู้ค้าที่สนใจจะขายในตลาดนี้ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้นคณะกรรมการตลาดเขียวก็จะสัมภาษณ์ และลงพื้นที่ตรวจแปลง เพื่อดูกระบวนการผลิตว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ โดยมาตรฐานนั้นเป็นการกำหนดกันเอง ประยุกต์จากฐานของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณารอบด้าน เช่น ระยะคันการเว้นคันดิน ลักษณะแปลง กระบวนการปรุงดิน และดูองค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพรวม และสรุปกันว่าจะให้ผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็จะอนุญาตให้มาขายในตลาดเขียวได้ โดยมีค่าสมาชิกปีละ 150 บาท ค่าแผง 20 บาท เพื่อสมทบทุนในการดำเนินโครงการ

“เราอาจจะไม่ได้ใช้มาตรฐานที่ทำให้เกษตรรู้สึกว่าเคร่งครัดหรือหนักเกินไป แต่โดยการพิจารณาหลัก ๆ จะมุ่งไปที่ความตั้งใจของเกษตรกรว่ามีความมุ่งมั่นเพียงใด บางอย่างที่ใช้ทำเกษตร เช่น น้ำที่ใช้รดต้นไม้ บางพื้นที่ใช้น้ำคลองโดยตรง เราก็อนุญาต ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีพื้นที่พักน้ำก่อนถึงจะปล่อยมาได้ แต่เราจะดูว่าไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงเลย เราก็โอเค โดยเรียกว่าเป็นมาตรฐานที่เรารับรองกันเอง แต่มีการตรวจสอบตั้งแต่ระดับกลุ่มขึ้นมา และมีคณะกรรมการตรวจเช็คอีกที และทุกเดือนจะมีฝ่ายความปลอดภัยอาหารจากเทศบาลมาสุ่มตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนด้วยระบบ Test Kit ในสินค้าเกษตรที่ขายในทุกแผง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนเลย”

ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดเขียว ขอนแก่น เล่าต่อว่า เริ่มแรกมีแค่ราว ๆ 20 แผงค้า แต่หลังจากดำเนินงานมา 9 ปี ปัจจุบันมีผู้ค้ากว่า 80 แผงค้า และมีผู้ค้าที่สนใจเข้ากลุ่มรอการพิจารณาอีกนับกว่า 10 ราย คาดว่าทั้งหมดน่าจะเกือบ 100 แผงค้า ซึ่งหล่อเลี้ยงสมาชิกเกษตรกรกว่า 400 ครัวเรือน ในแง่ของรายได้เกษตรกร พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับอาหารการกินเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“วันนี้คนที่ทำเกษตรอินทรีย์ มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเองได้ แล้วฝ่ายบัญชีเรามีการเก็บข้อมูลเชิงรายได้พบว่า จากช่วงแรก ๆ 700-3,500 บาทต่อครัวเรือน ต่อการขาย 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นรายได้ขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อครั้งที่ขาย แม้ว่าจะมาจากแปลงขนาดเล็กไม่ถึง 1 ไร่ ในเมือง บางเจ้าขายมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าก็มีรายได้สูงขึ้น พบว่าสูงสุด 25,000 บาท บางเจ้าขายหลายพื้นที่มีรายได้เดือนละ ราว ๆ 120,000 บาท นอกจากนี้เรายังพบว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นลูกมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสืบทอดธุรกิจด้วย ทำให้รู้ว่ามันช่วยเลี้ยงครอบครัวได้จริง ๆ”

ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดเขียว ขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้มีอำนาจ มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยผลักดันเพื่อความก้าวหน้าของระบบเกษตรอินทรีย์ ช่วยทำให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ให้ได้ ที่สำคัญต้องไม่ใช่นโยบายที่มองมาจากข้างบน แต่ต้องเป็นนโยบายที่ฟังเสียงของประชาชน คิดร่วมกัน และต้องอาศัยการนำนโยบายเหล่านั้นมาปฏิบัติจริงด้วย

ด้าน ถนัด แสงทอง กรรมการตลาดเขียว ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าไทยจะมียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก และยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น หากมีเกษตรกรที่ต้องการจะเปลี่ยนวิถีการผลิตให้เป็นอินทรีย์ หลายคนก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปที่หน่วยงานใดเพื่อขอรับการสนับสนุน ดังนั้นควรที่จะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านเกษตรอินทรีย์โดยตรงเพื่อดำเนินงานในแง่การสนับสนุนเกษตรกร ให้องค์ความรู้ คำปรึกษาด้านต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการที่ผ่านมามักเป็นการรวมศูนย์อยู่ในส่วนกลาง เช่น เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ซึ่งการทำงานก็ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้เข้าถึงยาก

“ข้อเสนอจึงอยากให้มีการกระจายอำนาจโดยเอาประเด็นเรื่องการเกษตร มาอยู่ที่ อบต.​ เพราะ อบต. จะรู้จักพื้นที่ของตัวเองดี ใกล้ชิดกับเกษตรกร และรู้ว่าควรจะให้การสนับสนุนอย่างไร คิดว่าเรื่องนี้สำคัญจึงอยากให้กระจายอำนาจมาในท้องถิ่นให้มากขึ้น สิ่งที่ท้องถิ่นจะทำได้คือการตั้งแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่น เช่น โคกหนองนา เกษตรยั่งยืน และเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงการจัดการตลาด ที่ผ่านมาถูกปล่อยเป็นกลไกตลาดเสรี แต่ถ้าท้องถิ่นทำเรื่องตลาดท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้ เช่น เครื่องจักรกลบตอซัง เครื่องผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์”

สำหรับข้อสังเกต พบว่า นโยบายที่หลายพรรคการเมืองใช้หาเสียงในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์น้อย ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีล้ำสมัย กับบริษัททุนขนาดใหญ่ แต่ยังขาดจากการเชื่อมโยงถึงเกษตรกรรายย่อย-ตัวเล็กตัวน้อย นโยบายหลายพรรคก็พูดเรื่องการใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนราคาผลผลิต แต่ยังขาดเรื่องของการจัดการลดต้นทุนตั้งแต่วัตถุดิบและปัจจัยการผลิต หรือการสนับสนุนในรูปแบบวิสาหกิจยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ช่วยให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์โดยตรง และสอดรับกับนโยบายการแบนสารเคมีที่เราพยายามผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแบนสารเคมีอัตรายจากการเกษตรแล้ว 3 สาร คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ยังพบว่ามีความพยายามที่จะนำเรื่องนี้กลับมาให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาใหม่ ซึ่งเราพยายามผลักดันเรื่องการแบนอยู่ตลอด เพราะชัดเจนแล้วว่าเป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

“ที่หนองบัวลำภู ก็มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีพาราควอต แล้วป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า บางรายเสียชีวิตเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว ซึ่งสมาคมเราพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอด มีการรวมกลุ่มเพื่อฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีรายใหญ่ เรายื่นฟ้อง ธันวา 2562 ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีการทำข้อตกลงให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่เหมาะสม แต่ก็มีความพยายามชดใช้ในระดับที่น้อยที่สุด ซึ่งเราน่าจะสู้คดีกันต่อเนื่อง เราจึงอยากเห็นนโยบายว่า พรรคการเมืองจะทำอย่างไรให้มีการนำเข้า จำหน่ายสารเคมีอันตรายให้น้อยที่สุด เรื่องของการแบนสารเคมีด้วย เพราะยังมีอีกหลายสารที่ยังไม่ได้แบนแต่มีอันตราย”

ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้มีนโยบายเรื่องการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ให้มากกว่านี้ อยากให้สนับสนุนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ที่ทำต่อเนื่องแล้วให้ได้รับการยกระดับมากขึ้น ทั้งเรื่องงบประมาณ และองค์ความรู้ในพื้นที่ด้วย ‘ให้แบนสารเคมี และเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์’

นี่คือหนึ่งในนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรที่คนขอนแก่นอยากเห็น ในฐานะจังหวัดที่มีแรงงานในภาคเกษตรเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาพยายามขับเคลื่อนแนวคิดกังกล่าวด้วยพลังประชาชน หากว่าหน่วยงานภาครัฐ หรือพรรคการเมือง รับนโยบายของพวกเขา ก็คงช่วยทำให้ขอนแก่นในฝันเกิดขึ้นได้ สู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์พื้นที่ และความมั่งคั่งยั่งยืนของท้องถิ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้